Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (18)

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490:
รากฐานระบอบเผด็จการขุนศึก

พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ซ้าย) ขณะเดินสนทนากับ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ในงานเปิดสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2484

เมื่อรัฐบาลพรรคแนวรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคสหชีพเข้าบริหารประเทศ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจด้วยการจัดตั้ง "องค์การสรรพาหาร" ขึ้นมาซื้อของแพงมาจำหน่ายในราคาถูกเพื่อตรึงราคาสินค้า เรียกเก็บธนบัตรที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำเข้ามาใช้จ่าย และออกธนบัตรใหม่ให้แลก รวมทั้งนำเอาทองคำซึ่ง เป็นทุนสำรองของชาติออกขายแก่ประชาชน

ทว่ารัฐบาลและรวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรีกลับถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในการส่งข้าวชั้นดีออกขายนอกประเทศ เหลือแต่เพียงข้าวหักสำหรับเลี้ยงสัตว์ไว้ให้ประชาชนบริโภคเองในประเทศ ทำให้ฝ่ายค้านโดยพรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน ติดต่อกัน คือระหว่างวันที่ 19 - 26 พฤษภาคม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุ แม้จะได้รับความไว้วางใจ แต่กระแสกดดันที่รุนแรงทั้งในและนอกสภาฯ ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออกในวันรุ่งขึ้น และได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อทันทีในวันถัดมา

จากความแตกแยกกันเองในหมู่นักการเมืองและประชาชนหลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 ประกอบกับมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ แม้ว่าบทบาทของ พล.ร.ต. ถวัลย์ในช่วงนี้ คือ การเจรจาทำความเข้าใจกัน เพื่อประสานรอยร้าวระหว่างขั้วการเมืองทั้งสองฝ่าย จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "นายกฯลิ้นทอง" แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้นจนนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

กลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ น.อ.กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ.สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ นำกำลังทหารยึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล

เดิมทีแผนการรัฐประหารกำหนดให้เริ่มดำเนินการในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 8 พฤศจิกายน แต่ทว่า พล.อ.หลวงอดุยเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก ทราบเสียก่อน จึงมีคำสั่งเรียกให้นายทหารทุกชั้นเข้ามารายงานตัว คณะรัฐประหารจึงร่นเวลาเข้ามา เริ่มตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน กองกำลังรถถังส่วนหนึ่งบุกเข้าไปที่ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เข้าควบคุมตัว พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และรถถังอีกส่วนหนึ่งบุกเข้าไปประตูทำเนียบท่าช้างวังหลวงเพื่อควบคุมตัว นายปรีดี พนมยงค์ แต่นายปรีดีได้หลบหนีไปทางเรือก่อนหน้านั้นไม่นาน เหลือเพียง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และลูกๆเท่านั้น

เช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร แถลงในนาม "คณะทหารแห่งชาติ" ต่อสื่อมวลชนด้วยน้ำตาว่าทำไปเพราะความจำเป็น จนได้รับฉายาว่า "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา" หรือ "บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล" ถึงสาเหตุของการรัฐประหารในครั้งนี้ ซึ่งต่อมาปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 หรือที่เรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม" (เนื่องจากมีเรื่องเล่าลือกันว่าซ่อนไว้อยู่ใต้ตุ่มแดง ร่างโดย น.อ.กาจ กาจสงคราม รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร) ที่ประกาศใช้ในวันถัดมา ว่า

"บัดนี้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤตการณ์ ประชาชนพลเมือง ได้รับความลำบากเดือดร้อน เพราะขาดอาหาร เครื่องนุ่งห่มและขาดแคลนสิ่งอื่น ๆ นานัปการ เครื่องบริโภคอุปโภคทุกอย่างมีราคาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมทรามในศีลธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อน…ผู้บริหารราชการแผ่นดินและสภาไม่อาจดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้กลับสู่ภาวะดังเดิมได้…เป็นการผิดหวังของประชาชนทั้งประเทศ…ถ้าจะคงปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ก็จะนำซึ่งความหายนะแก่ประเทศชาติ…"

จากนั้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน คณะทหารแห่งชาติจึง "แต่งตั้ง" ให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้สัญญาว่าจะไม่แทรกแซงการทำงาน ซึ่งคณะทหารแห่งชาติได้ตั้งสภาขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า "คณะรัฐมนตรีสภา" และจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงข้างมาก นายควง อภัยวงศ์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นรัฐบาลพลเรือน

ผลจากการรัฐประหาร 2490 ประการสำคัญที่เกิดขึ้นคือ เนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์มากขึ้นและมีการรื้อฟื้นองค์กรในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชกลับมาอีกครั้ง (พลเรือตรีสังวรยุทธกิจ, "เกิดมาแล้วต้องเป็นไปตามกรรม คือ กฎแห่งธรรมชาติ", อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 29 ธันวาคม 2516, กรุงเทพฯ:ชวนพิมพ์, หน้า 161 เรียกรัฐบาลชุดของนายควงนี้ว่า รัฐบาลประเภท "จับแพะชนแกะ", และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550, หน้า 105-106) ที่สำคัญคือ "อภิรัฐมนตรี" (สุชิน ตันติกุล, "ผลสะท้อนทางการเมืองของรัฐประหาร พ.ศ.2490", วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517, หน้า 103) อภิรัฐมนตรีชุดแรก ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต, พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ, พระยามานวราชเสวี และ พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมา เรียกเป็น "องคมนตรี" ทั้งนี้ คณะ รัฐมนตรีของรัฐบาลนายควงที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารประกอบขึ้นจาก พระราชวงศ์ และขุนนางเก่า มากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475

กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงเรียกบรรยากาศทางการเมืองหลังการรัฐประหารว่า "วันใหม่ของชาติ" (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (2512), เจ็ดรอบอายุกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, พระนคร : พระจันทร์, หน้า 118.) ในขณะที่ พลเรือตรีถวัลย์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นล้ม ได้วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ว่า "รัฐธรรมนูญใหม่นี้เป็นเรื่องถอยหลังเข้าคลอง...อำนาจสิทธิ์ขาดไปอยู่ที่พระมหากษัตริย์ อย่างนี้คุณเรียกได้หรือว่าประชาธิปไตย" (การเมืองรายสัปดาห์, 29 พฤศจิกายน 2490, ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550, หน้า 176)

นอกจากนั้นฐานะการดำรงอยู่ในทางการเมืองของขบวนการเสรีไทยก็ถูกคณะรัฐประหาร 2490 และกลุ่มอนุรักษ์นิยมตั้งข้อระแวงสงสัยอย่างเห็นได้ชัด แต่กลุ่มอดีตเสรีไทยที่สนับสนุนนายปรีดียังไม่ถูกปราบปรามลงในทันที เนื่องจากคณะรัฐประหารจำเป็นต้องจัดการปัญหาอำนาจทับซ้อนในกองทัพเสียก่อน ทั้งต้องการฟื้นบทบาทอันเนื่องมาจากถูกลดความสำคัญภายหลังสงครามกลับคืนมา

ไล่ตั้งแต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้บัญชาการทณฑลทหารบกที่ ๑ พันเอกเผ่า ศรียานนท์ไปควบคุมกรมตำรวจในตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ แม้ว่า พล.ท.ชิด มั่นศิลปสินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะไม่เห็นชอบ และด้วยสถานภาพนี้เองที่พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ใช้เป็นฐานเริ่มต้นในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามตลอดระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่รัฐประหาร 2490

จากนั้นคณะรัฐประหาร โดยอาศัยอำนาจตาม "พระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุขเพื่อให้การดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490" ก็เปิดฉากกวาดล้างพลพรรคเสรีไทยสายนายปรีดี เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถูกจับกุมพร้อมพรรคพวกรวม 21 คนในข้อหาครอบครองอาวุธโดยมิชอบ จับกุมนายจำลอง ดาวเรือง และนายทอง กันฑาธรรม ในข้อหาฆ่าคนตาย จับนายวิจิตร ลุลิตานนท์ และนายทองเปลว ชลภูมิ ในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ทว่าก็ต้องปล่อยตัวไปทั้งหมดในเวลาต่อมาเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐาน นอกจากนี้ยังมีการติดตามพฤติการณ์ของอดีตนักการเมือง-เสรีไทย เช่น นายอ้วน นาครทรรพ นายพึ่ง ศรีจันทร์ ร.ท.กระจ่าง ตุลารักษ์ นายทิม ภูริพัฒน์ และนายเยื้อน พานิชย์วิทย์ เป็นต้น

ส่วนผู้ที่ยังไม่ถูกจับกุมนั้น ก็พยายามแสวงหาหนทางที่จะต่อต้านคณะรัฐประหาร เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ ได้รวบรวมกำลังอาวุธและพลพรรคหลบหนี ไปซุ่มซ่อนตัวอยู่บนเทือกเขาภูพานเป็นผลสำเร็จ.


ปรับปรุงจาก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 18 - 25 กรกฎาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8