Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

หลัก 12 ประการของระบอบประชาธิปไตย

หลัก 12 ประการของระบอบประชาธิปไตย:
ทัศนะคนหนุ่มสาวยุคหลังพฤษภาทมิฬ 2535

ในระหว่างการเขียนคอลัมน์ "พายเรือในอ่าง" นับจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนมีการติดต่อปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนทัศนะความเห็นทางการเมืองกับมิตรสหายฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง ที่น่าสนใจคือหลายคนเป็นคนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 30 ปี และหนึ่งในจำนวนนั้นส่งจดหมายอิเล็กโทรนิกส์มาถึงผู้เขียน แสดงจุดยืนในระบอบประชาธิปไตยไว้อย่างน่าสนใจ และโดยการอนุญาต ขอนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะ ดังนี้:

1. อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (popular sovereignty) ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือระบบที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตย และมอบหมายให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่แทนตน การเลือกตั้งจึงเป็นการแสดงออกถึงสิทธิและอำนาจของประชาชน จนมีคำกล่าวว่า เสียงของประชาชนคือเสียงของสวรรค์ (vox populi, vox dei)

2. สิทธิเสรีภาพ (rights and freedom) เป็นหัวใจสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย สิทธิดังกล่าวต้องกำหนดในรัฐธรรมนูญและการบังคับกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารและข้าราชการประจำที่มีอำนาจตามกฎหมาย จะต้องยึดถือตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

3. ความเสมอภาค (equality) ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยถือว่าทุกคนเสมอภาคเท่ากันหมด หนึ่งคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้หนึ่งเสียง (one man one vote) ความเสมอภาคดังกล่าวนี้หมายถึงความเสมอภาคทางการเมือง และความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (equality before the law) การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลอันใดก็ตามถือว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตย

4. หลักนิติธรรม (the rule of law) ได้แก่ การใช้กฎหมายในการบริหารประเทศ โดยกฎหมายนั้นต้องผ่านกระบวนการร่างอย่างถูกต้อง และหลักของกฎหมายนั้นต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยกระบวนการยุติธรรม (due process of law) จะต้องเป็นไปตามครรลอง หลักนิติธรรม (the rule of law) จึงต่างจาก the rule by law ซึ่งหมายถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศโดยไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย และบ่อยครั้งก็กลายเป็นการบริหารงานโดยตัวบุคคล (the rule by men) มากกว่าหลักการ

5. ค่านิยมและจิตวิญญาณความเป็นประชาธิปไตย (the democratic ethos) ซึ่งหมายถึงค่านิยมที่ได้รับการอบรมตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา และทางสังคม ให้มีความเชื่อและศรัทธาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีพฤติกรรมที่เป็นประชาธิปไตย มองคนอื่นด้วยสายตาที่เสมอภาค ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาจิตวิญญาณประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการพัฒนาและธำรงไว้ซึ่งระบอบ ประชาธิปไตย

6. ความอดทนอดกลั้น (tolerance) ความใจกว้าง (open-mindedness) และความมีน้ำใจนักกีฬา (sporting spirit) เป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกัน เพราะในสังคมประชาธิปไตยนั้นจะต้องยอมรับความแตกต่างทั้งในเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี จุดยืนและความคิดเห็นทางการเมืองของคนในสังคม การรู้แพ้รู้ชนะ เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ แม้กระทั่งความเห็นที่แตกต่าง ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อสิทธิของผู้คนอื่นๆ เพื่อนำมาประมวลใช้ให้เป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อส่วนรวม

7. ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือกรรมวิธี (means) เพื่อเป้าหมายทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันระบบประชาธิปไตยก็เป็นเป้าหมายอันสูงส่ง (noble end) ในตัวของมันเอง การมองว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นเฉพาะกรรมวิธีหรือ means จึงไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่า end คือผลประโยชน์จะตกแก่สังคมก็ตาม เพราะถ้าทำลายกระบวนของความถูกต้องแม้จะส่งผลในทางบวกต่อสังคม แต่ถ้ามีผลกระทบในทางลบต่อระบบก็จะเป็นการทำลายเป้าหมายอันสูงส่งของระบอบประชาธิปไตย อันเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง ประชาธิปไตยจึงเป็นทั้งกรรมวิธี (means) และเป้าหมาย (end) ในตัวของมันเอง ทั้งสองส่วนนี้ต้องไปด้วยกัน

8. บุคลากรในอำนาจอธิปไตยทั้งสามในระบอบประชาธิปไตย ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ จะต้องตระหนักว่าตนเป็นผู้ซึ่งได้รับอาณัติจากประชาชน ดังนั้น ผลประโยชน์สูงสุดจะต้องเป็นผลประโยชน์ที่เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ การกระทำอันใดขัดต่อผลประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยการนั้นย่อมไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นยังต้องมีความรู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำอยู่นั้นเป็นการประกอบภารกิจศักดิ์สิทธิ์ (sacred mission) หรือหน้าที่อันสูงส่ง (noblesse oblige) เพื่อประชาชน เพื่อชาติและแผ่นดิน

9. ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับสูงทั้งในอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จำเป็นอย่างยิ่งต้องยึดถือหลักจริยธรรมทางการเมือง รวมตลอดทั้งมารยาททางการเมือง โดยจะต้องทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต คำนึงถึงผลดีผล เสียที่จะเกิดต่อประชาชน ชาติ และบ้านเมือง เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม เพราะงานการเมืองเป็นงานอาสาสมัครที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน

10. ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การกระทำอันใดก็ตามต้องคำนึงถึงหลัก การใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้ คือ ความถูกต้องตามกฎหมาย (legality) ความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) ความถูกต้องเหมาะสม (decency) ความน่าเชื่อถือ (credibility) เพื่อให้บรรลุภารกิจ การเน้นไปที่ตัวบทกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรแต่เพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งที่ไม่พอเพียง การกระทำอันใดที่ไม่เหมาะสมแม้จะถูกต้องตามกฎหมายก็จะขาดความชอบธรรมทางการเมืองอันจะส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในที่สุด

11. การบริหารบ้านเมืองจะต้องอิงหลักธรรมรัฐาภิบาล (good governance) ซึ่งได้แก่ ความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) ความโปร่งใส (transparency) การมีส่วนร่วมของประชาชน (participation) ความรับผิดชอบเปิดให้ไล่เบี้ยได้ (accountability) และความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (efficiency and effectiveness) ซึ่งหมายถึงการกระทำนั้นต้องส่งผลในทางบวกทั้งในแง่ผลได้ (output) และผลลัพธ์ (outcome)

12. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูง ต้องประกอบไปด้วย 4 คุณสมบัติพื้นฐาน อันได้แก่ การมีอุดมการณ์ทางการเมือง (political ideology) การมีจริยธรรมทางการเมือง (political ethics) การมีความรู้ทางการเมือง (political knowledge) การมีประสาทสัมผัสทางการเมือง (political sense) และการเข้าใจอารมณ์ทางการเมือง (political mood) ของประชาชนอย่างถูกต้อง นอกเหนือจากหลักนิติธรรมและคุณสมบัติอื่นๆ ที่กล่าวมา 11 ข้อข้างต้น เพื่อจะธำรงไว้ซึ่งความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งบริหารและการใช้อำนาจรัฐ (moral authority)

ผู้ใดก็ตามที่ขาดหลักการข้อที่ 12 ดังกล่าวมานี้ย่อมจะเสียความชอบธรรมทางการเมืองในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 8-14 มกราคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8