Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (19)

รัฐประหาร 6 เมษายน 2491:
ฉากแรกของระบอบฟาสซิสต์

ผู้มีอำนาจในการรัฐประหารทั้งสองครั้งที่แท้จริงก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารบก

คณะรัฐประหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ประกาศแต่งตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 สำหรับพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในชั้นแรกหลบไปเก็บตัวอยู่ในฐานทัพเรือสัตหีบ โดยหวังจะอาศัยความคุ้มครองและสนับสนุนจากกลุ่มนายทหารเรือ จนวันที่ 23 ธันวาคม คณะรัฐประหารจึงออกหมายจับพล.ร.ต.ถวัลย์ในข้อหามีแผนการต่อต้านรัฐบาล ทั้งยังจับกุมอดีตรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาล อีกหลายคน เช่นนายทองเปลว ชลภูมิ และนายวิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นต้น

จนถึงวันที่ 6 มกราคม 2491 รัฐบาลรักษาการ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะรัฐประหาร จึงจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงสูงสุดในสภาฯ นายควง อภัยวงศ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค จึงได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มกราคม

ระหว่างนั้น ความไม่พอใจรัฐบาลไทยของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ก่อตัวมานับแต่การยกเลิกระบบสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองนครมาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 และทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งความอดอยากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามเห็นว่าพวกตนไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกับราษฎรที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากภายนอก โดยอังกฤษสนับสนุน ตนกู มะไฮยิดดิน อับดุลกาเดร์ บุตรของรายาปัตตานีองค์สุดท้ายให้แยกตัวออกจากไทย เพื่อแก้แค้นที่ไทยหันไปร่วมมือกับญี่ปุ่น แกนนำในการต่อต้านรัฐบาลยุคนั้นคือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ซึ่งมีบทบาทในการคัดค้านการตั้งดะโต๊ะยุติธรรม เรียกร้องให้แยกศาลศาสนา และเสนอ คำขอ 7 ข้อต่อรัฐบาล ถูกจับด้วยข้อหากบฏเมื่อวันที่ 16 มกราคม ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรอย่างกว้างขวาง อันนำไปสู่ "กบฏดุซงญอ" ระหว่างวันที่ 25 - 28 เมษายน

ใน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ฉากแห่งการไล่ล่าเพื่อกวาดล้างและทำลายกลุ่มการเมืองที่มีความสัมพันธ์แนบ แน่นกับนายปรีดีก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง มีการออกหมายจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสานหลายคน เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายฟอง สิทธิธรรม, นายจำลอง ดาวเรือง, นายถวิล อุดล, นายเตียง ศิริขันธ์ และนายทิม ภูริพัฒน์ ในข้อหากบฏ ที่เรียกกันว่า "กบฏแบ่งแยกดินแดน" โดยตั้งข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ มีแผนการที่จะแบ่งแยกดินแดนในภาคอีสาน เพื่อสถาปนาเป็น "สมาพันธรัฐแหลมทอง" แต่ก็ต้องปล่อยตัวไปในเวลาไม่นาน เนื่องจากมีเอกสิทธิคุ้มครองทางการเมืองด้วยสถานภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แต่สภาพกดดันเหล่านี้ทำให้ผู้นำฝ่ายพลเรือนที่สนับสนุนนายปรีดี เช่น พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, นายทองเปลว ชลภูมิ, นายไสว สุทธิพิทักษ์, นายทอง กันฑาธรรม, นายพึ่ง ศรีจันทร์ และนายทวี บุญเกตุ เป็นต้น ต้องกบดานหรือไม่ก็ลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศ และไม่อาจที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ระยะหนึ่ง สำหรับนายกรัฐมนตรีคนแรกและคนเดียวที่มาจากทหารเรือ พล.ร.ต.ถวัลย์หลบหนีไปลี้ภัยอยู่ที่ฮ่องกง ก่อนจะเดินทางกลับมายังประเทศไทยในเวลาต่อมาและถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2531 ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ทว่าแม้จะมีการประกาศใช้รัฐ ธรรมนูญ มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป คือ ผู้มีอำนาจที่แท้จริงก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารบกนั่นเอง หลังจากนั้นมีคณะบุคคลที่เรียกตัวเองว่า "คณะประชาธิปไตย" ประกอบด้วยนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง นำโดย พล.ท.พระยาเทพหัสดิน รวมทั้ง ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายเลื่อน พงษ์โสภณ, นายฟอง สิทธิธรรม, นายเลียง ไชยกาล ได้ร่วมกันสนับสนุน จอมพล ป. ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยประกาศว่าจะขอ "สนับสนุนจอมพล ป.ตลอดกาล" มีการเคลื่อนไหวรวมตัวกันที่สนามหลวงและสวนลุมพินี มีการล่ารายชื่อสนับสนุนจอมพล ป.

จากนั้นในวันที่ 6 เมษายน เวลา 8.00 น. กลุ่มนายทหาร ประกอบด้วย พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวท, พล.ต.สวัสดิ์ สวัสดิรณชัย สวัสดิเกียรติ, พ.อ.ขุนศิลปศรชัย และ พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ แต่งกายเต็มยศขัดกระบี่ถือปืนเข้าพบ นายควง อภัยวงศ์ ยื่นข้อเสนอขอให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใน 24 ชั่วโมง โดยอ้างว่า "คณะทหารแห่งชาติ" ที่ทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เห็นว่ารัฐบาลนายควงไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาวะตกต่ำของบ้านเมืองในทุกๆด้านลง ได้

เมื่อนายทหารกลุ่มนี้กลับไปแล้ว ในเวลา 12.00 น. นายควงได้ส่งนายทหารคนสนิทเข้าพบนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นแกนนำในการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน เพื่อขอคำยืนยันที่ฐานบัญชาการ ณ วังสวนกุหลาบ ซึ่งก็ไม่ได้คำชี้แจงที่ชัดเจนแต่อย่างใด กระทั่งเวลา 14.00 น. พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เดินทางมายืนยันถึงความต้องการของคณะนายทหารต่อนายควงด้วยตัวเองถึงบ้านพัก

นายควงพยายามติดต่อกับผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการทหารอากาศ เพื่อขอความคุ้มครองแต่ไม่เป็นผล จึงเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการฉุกเฉินที่บ้านพัก แม้นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะแจ้งว่า พร้อมสั่งการให้ตำรวจเข้าดำเนินการจับกุมคณะนายทหารกลุ่มนี้เสียในฐานะเป็นกบฏ แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย ด้วยเกรงว่าจะเป็นเหตุให้เกิดการนองเลือด ที่สุดในเวลา 16.00 น. ที่ประชุมได้ร่างหนังสือกราบบังคมทูลลาออกของนายควง และมีมติให้นายควงพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 เมษายน และปลายเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เนื่องจากเป็นปฏิบัติการที่กระทำกันเป็นการภายใน ใช้นายทหารเพียงไม่กี่คน โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายกำลังพลใดๆ ทำให้ได้ชื่อว่า "รัฐประหารเงียบ" สื่อมวลชนในขณะนั้นถึงกับใช้ข้อความว่าเป็น "การจี้นายกรัฐมนตรี" ในหน้าหนังสือพิมพ์และวิทยุ

การรัฐประหารครั้งนี้พลิกโฉมหน้าการเมืองไทยไปโดยสิ้นเชิง เพราะจากนั้นเป็นต้นมา อำนาจที่แท้จริงถูกแย่งยึดมาอยู่ในมือฝ่ายทหารสืบเนื่องมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ แม้จะมีบางช่วงบางขณะที่ดูเหมือนว่า ชาติบ้านเมืองจะมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การรัฐประหารและการฉีกรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่บังคับใช้อยู่ในแต่ละห้วงเวลา โดยไม่มีการต่อต้านขัดขวางที่เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นจริง ล้วนเป็นข้อพิสูจน์ยืนยันลักษณะเผด็จการทหารอยู่เสมอมา

และที่สำคัญเป็นการขจัดกลุ่มอำนาจของคณะราษฎร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายปรีดี พนมยงค์ ให้สิ้นไปจากเวทีการเมือง ส่งผลให้นายปรีดี ต้องขอลี้ภัยการเมืองที่ต่างประเทศตราบจนถึงแก่อนิจกรรม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 25 - 31 กรกฎาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8