Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาชนสร้างอุดมการณ์ อุดมการณ์สร้างพรรค พรรคสร้างนโยบาย นโยบายสร้างชาติ

ประชาชนสร้างอุดมการณ์ อุดมการณ์สร้างพรรค
พรรคสร้างนโยบาย นโยบายสร้างชาติ


ผลจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในเขต กทม. เมื่อไม่นานมานี้ และมาจนถึงผลการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 คน 5 เขต ในเดือนก่อนสิ้นพุทธศักราช 2553 บ่งบอกนัยทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสำคัญ ถึงเวลาแล้วที่การเมืองแบบ 2 ขั้วอำนาจแย่งกันบริหารงบประมาณจะต้องยุติลง เพื่อยกระดับไปสู่สร้างพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง จากรากฐานประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

จากบทความ "ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนต้องสรุปบทเรียน" ในคอลัมน์ "พายเรือในอ่าง" นี้เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2551 ผู้เขียนได้เสนอไว้ว่า

**********

ถึงที่สุดแล้วประชาชนไม่เพียงต้องการพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ทำหน้าที่แค่เป็นตัวแทน หรือเป็นปากเสียงเข้าไปบริหารจัดการบ้านเมือง เพื่ออำนวยประโยชน์สุขอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมแก่ทุกกลุ่มผลประโยชน์ในสังคม

ประชาชนต้องการพรรคการเมืองที่ตรวจสอบได้ นักการเมืองที่เลือกตั้ง-ถอดถอนได้ พรรคการเมืองที่มีจุดยืนและนโยบายที่มาจากระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง เป็นพรรคการเมืองที่สมาชิกพรรคทุกคนเป็น "เจ้าของ" มีสิทธิมีเสียง สามารถวิพากษ์วิจารณ์ และก้าวเดินร่วมกันเพื่อสร้างสังคมตามอุดมการณ์ของพรรคอย่างมีพลัง

เป็นพรรคการเมืองที่ "รับฟัง" เสียง "เจ้าของประเทศ" หรืออย่างน้อยในระดับ "เจ้าของพรรค" ที่นักการเมืองพึงสดับตรับฟัง แทนที่จะ "ดึงดัน" เดินหน้าแม้จนถลำลงไปสู่ห้วงเหวที่พลั้งพลาดสร้างเอาไว้ด้วยตัวเอง หรือติดบ่วงกับดักที่ฝ่ายตรงข้ามสร้างขึ้น

**********

และหลังจากนั้นในหลายกรรมหลายวาระ ผู้เขียนเสนอให้ประชาชนต้องสร้างการเมืองจากระดับถนน-ตรอก-ซอก-ซอย หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และระดับชาติ ที่ผู้แทนหน่วยพรรคขึ้นไปเลือกตัวแทนพรรคเข้าไปทำหน้าที่ "ฝ่ายนิติบัญญัติ" จากนั้นจึงให้ผู้แทนหน่วยพรรค เลือกตัวแทนไปชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะ "ประมุขฝ่ายบริหาร" ทั้ง 2 ประการ จะทำให้อำนาจอธิปไตย 2 อำนาจ คือ ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แยกจากกันและสามารถนำไปสู่การตรวจสอบและคานอำนาจกันได้ ในเวลาเดียวกัน "ประมุขฝ่ายตุลาการ" ก็ผ่านการเสนอโดยฝ่ายบริหารและตรวจสอบรับรองโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้อำนาจตุลาการ "ยึดโยง" กับประชาชนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เริ่ม ต้นที่การสร้างหน่วยพรรคพื้นฐานจากอุดมการณ์ที่ชัดเจน ตามมาด้วยตั้งสาขาพรรคประจำตำบล ระดับอำเภออำเภอ สู่ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ พรรคการเมืองเช่นนี้จะเข้มแข็ง ไม่อาจทำลายได้

ก่อนอื่น จำเป็น "ต้อง" มีระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริงเป็นเบื้องต้น จึงจะมีรัฐธรรมนูญของประชาชนได้ จะมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ ก็ต้องสร้าง "สำนึกประชาธิปไตย" ในหมู่ประชาชน เพียง 51% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง และที่สำคัญ "ต้อง" ขจัดเสียซึ่ง "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งใต้กติกาเผด็จอำนาจ" ลงไปให้ได้ ไม่อย่างนั้น "วงจรอุบาทว์" ทางการเมือง นับแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่เป็นการจงใจฉีกทำลายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 9 พฤษภาคม 2489 ก็จะไม่หมดไปจากสังคมไทย

ขบวนประชาธิปไตยควรทบทวน และวางแผนใช้เวลาและทรัพยากรที่มีทั้งหมด "วางเป้าหมายแนวทางการเมือง" และ "การให้การศึกษาทางประชาธิปไตย" ที่ลงลึก และแพร่ขยายให้กว้างไกลตามสภาวการณ์ที่ประชาชนตื่นตัวกันในขอบเขตทั่วประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

และถึงเวลาแล้วอีกเช่นกัน ที่ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ได้ต้องการมี "ผู้นำพรรคการเมือง" ที่มีเพียงเป้าหมาย "ชนะเลือกตั้ง" เข้าไปบริหาร "งบประมาณแผ่นดิน" โดยไม่พยายามชี้แจงแก่ประชาชนว่า "ประชาธิปไตย" มีหลักการอย่างไร เราจะสร้างประชาธิปไตยสำหรับประเทศเราด้วยรูปแบบไหน แล้วถึงมาร่วมกันคิดว่า "เราจะทำอย่างไรจึงจะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริง"

พลเมือง อเมริกันรุ่นบุกเบิกสร้างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ชาติแรกในประวัติ อารยธรรมของมนุษย์ รู้ว่าสู้เพื่ออะไร ต้องใช้เวลาถึง 8 ปีจึงได้ชัยชนะในที่สุดใน "สงครามประกาศอิสรภาพอเมริกัน" (American Revolutionary War หรือ American War of Independence; ค.ศ. 1775-1783)

ข้อสรุปเบื้องต้นคือ ประชาชาติไทยจำนวนไม่น้อย ยังขาดความรู้ความเข้าใจการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนระบบการศึกษาก็ทำได้แค่ให้คนสอบผ่านใบรับรองวุฒิ เพราะแม้แต่นักวิชาการเอง ยังขาดความรู้ความเข้าใจใน "ปรัชญาประชาธิปไตย" ที่มีรากฐานอยู่ที่ "ปรัชญามนุษยนิยม" ทั้งนี้เพราะระบบคิดดั้งเดิมของเราเป็น "เทวนิยม"

ฝ่ายประชาชนต้องเร่งสร้าง "นักคิด" เพื่อลุกขึ้นท้าทายระบบคิดของอำมาตย์/อภิชนให้ได้โดยเร็วและมีความหนักแน่นเป็นปึกแผ่นพอ ที่จะรับการ "โจมตี" ทางปรัชญาได้ทุกรูปแบบ

จากนี้ไปท่าทีชนิดหนึ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยควรทบทวนและตระหนักเพื่อเร่งสร้างในระดับจิดสำนึก คือ "การสันทัดในการฟัง" ซึ่งในเวลานี้ จะเจาะจงลงไปด้วยซ้ำว่า คือ "การสันทัดในการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง" ทั้งในระหว่างมิตรสหายในแนวร่วมของขบวนประชาธิปไตยประชาชน และแม้กระทั่งความเห็นต่างขั้วจากประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่มีความหลากหลายในสังคม

ประเด็นหนึ่งที่ดูเหมือนว่าในขบวน "สร้างประชาธิปไตย" หรือขบวนที่อ้างเป้าหมายดังกล่าวหากสนับสนุนระบอบ "เผด็จการ" ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ยังคงไม่สามารถทำความเข้าใจและยืนยันจุดยืนในการ "สร้าง" ยิ่งกว่าการ "ทำลาย" ด้วยการละเมิดหลักการที่ผู้เขียนเคยเสนอไว้ในโลกไซเบอร์หลายครั้งในรอบปีที่ผ่านมา นั่นคือหลักคิดที่ว่า "ประชาธิปไตยไม่อาจสร้างได้ด้วยความเกลียดชัง ความอาฆาตมาดร้าย และความกระเหี้ยนกระหือกระหายเลือด" สิ่งเหล่านั้น จะสร้างได้ก็เพียง "ระบอบทรราชย์(ใหม่)" ขึ้นมาเท่านั้นเอง

สำหรับในสถานการณ์เบื้องหน้าท่าทีต่อการเลือกตั้งที่อาจมีขึ้นเมื่อฝ่ายปฏิกิริยาเห็นช่องทางที่ได้เปรียบ ขอเสนอจุดยืนที่ให้ "ประชาชนสร้างอุดมการณ์ อุดมการณ์สร้างพรรค พรรคสร้างนโยบาย นโยบายสร้างชาติ"

เป็นพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นในปิตุภูมิ ที่อำนาจอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง สามารถตรวจสอบ เลือกตั้งและถอดถอนได้ และพลเมืองมีเสรีภาพในการคิดและแสดงความคิดเห็น (Freedom of Speech) ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 25-31 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8