การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา:
วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย?
วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย?
ก่อนปลายเดือนกรกฎาคม 2553 ภายหลังการเคลื่อนไหวของ "คนเสื้อแดง" ภายใต้การนำของ "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" ถูกปฏิบัติการ "การสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ 10 เมษายน 2553" และ "การสลายการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ พฤษภาคม 19 พฤษภาคม 2553" มีคำถามมากมายในสังคมไทย เกี่ยวกับวาทกรรม "การต่อสู้แนวทางสันติ อหิงสา" ผู้เขียนได้นำเสนอกระทู้ที่มีลักษณะบทความบนโลกไซเบอร์ ซึ่งเดิมทีวางโครงไว้ให้เป็นบทความ 5 ตอนจบ แต่มีเหตุความจำเป็นให้บทความชุดนี้ ค้างอยู่เพียง 3 ตอน
ถึงกระนั้น แม้เมื่อความคลี่คลายของสถานการณ์จนรัฐบาล ที่นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การประกาศยกเลิก "พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" ในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร คำถามเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว "สันติ อหิงสา" รวมตลอดถึงบริบทที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ก็ยังคงไม่มีบทสรุปสำหรับสังคมไทย ในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีที่มาจาก "การรัฐประหาร" ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จากรัฐบาลเลือกตั้งเสียงข้างมากที่นำโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่นับวันขยายตัวจนดูเหมือนการหันหน้ามาพูดคุยกันกลายเป็นเรื่องไกลตัวยิ่งขึ้นทุกที
เมื่อเป็นดังนี้ ผู้เขียนจึงเห็นความจำเป็นที่จะนำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อสาธารณะนอกเหนือจากโลกไซเบอร์ โดยจะเขียนให้จบสมบูรณ์ตามเค้าโครงที่ได้วางไว้ในเบื้องต้น และรวมทั้งบนพื้นฐานการพัฒนาของสถานการณ์ในระยะใกล้
แนวทางจำลองและรูปแบบพฤษภาทมิฬ 2535
ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2535 การประกาศและเริ่มอดอาหารของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง (หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น) รวมทั้งการออกโรงสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ ตามมาด้วยการสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้านประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเอกภาพ พรรคความหวังใหม่ และพรรคพลังธรรม โดยมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเสนอว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง นำไปสู่การชุมนุมที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ยืดเยื้อมาจนถึงเดือนพฤษภาคม
ในวันที่ 14 พฤษภาคมแกนนำในการชุมนุมประท้วงจัดให้มีการประชุมร่วมที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพบว่าการชุมนุมในช่วงแรก (4-11 พฤษภาคม) นั้นแกนนำมีความแตกต่างทางแนวคิดและไม่สามารถหาข้อยุติได้ ด้วยขาดองค์กรนำ ที่ประชุมจึงลงมติจัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตยขึ้น ประกอบด้วยกรรมการเจ็ดคน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล, น.พ.เหวง โตจิราการ, น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร (ภายหลังได้ถอนตัว และให้ น.ส.จิตราวดี วรฉัตร ทำหน้าที่แทน) นอกจากนี้ยังได้ออกแถลงการณ์ ใบปลิวชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมในเย็นวันที่ 17 ด้วย กระทั่งคืนวันที่ 17 พฤษภาคม แกนนำจึงมีมติให้เคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมจากสนามหลวงมุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล
ในช่วงของการเคลื่อนไหวที่ประกอบไปด้วยการอดอาหรและการใช้วิธี "ไม่พูด" ประสานกับการเสนอภาพพล.ต.จำลอง ในฐานะสมาชิกสำนักสันติอโศกผู้ บริโภคอาหารมังสวิรัติ และมีชีวิตอย่างสมถะ โดยมีการนำไปเปรียบเทียบกับ มหาตมะ คานธี ผู้นำทางจิตวิญญาณคนสำคัญที่นำอินเดียไปสู่การได้รับเอกราชจากรัฐบาลสหราช อาณาจักร โดยแนวทาง "สัตยาเคราะห์" (Satyagraha) หรือ การดื้อแพ่ง หรือ การขัดขืนอย่างสงบ (civil disobedience)
มีข้อที่น่าสังเกตอย่างยิ่งประการหนึ่ง สำหรับการนำของพล.ต.จำลอง และกลุ่มการเมืองสายสำนักสันติอโศก (สายพรรคพลังธรรม) ในการประกาศจุดยืนขับเคลื่อนการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยและสร้างความถูกต้องชอบธรรมขึ้นโดยเน้นเฉพาะประเด็น "นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง" ด้วยการประกาศ "อหิงสา" นั้น เป็นการบิดเบือนแนวทางของมหาตมะ คานธีอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ในการนำการเรียกร้องเอกราชของอินเดียจากจักรวรรดิอังกฤษ คานธีใช้การอดอาหารเพื่อยุติความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นกองทหารจักรวรรดิอังกฤษกระทำต่อชาวอินเดีย (รวมทั้งปากีสถาน ซึ่งเวลานั้นยังไม่แยกออกมาตั้งเป็นประเทศที่ใช้หลักศาสนาอิสลามปกครองประเทศ) หรือความรุนแรงที่ชาวฮินดูกระทำต่อชาวมุสลิม หรือชาวมุสลิมกระทำต่อชาวฮินดู
หากการอดอาหารและการไม่เอ่ยปากพูดของ พล.ต.จำลองนำไปสู่การชักนำมวลชนในขบวนประชาธิปไตย สร้างข้อเรียกร้องโดยใช้ท่าทีก้าวร้าวและยั่วยุ จนแม้เมื่อเกิดการสลายการชุมนุมโดยกำลังทหารของฝ่ายรัฐบาล ก็มีลักษณะการก่อจลาจลโดยกลุ่มบุคคล แทนที่จะเป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชน
นั่นคือปฐมบทแห่งการประกาศ "สันติ อหิงสา" ที่เป็นเพียงวาทกรรมว่างเปล่า ในการขับเคลื่อนขบวนประชาธิปไตยก่อนยุคปฏิรูปการเมืองของไทย หลังการล่มสลายของการประกาศสู้ด้วยกำลังอาวุธ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ ไทย ภายใต้นโยบาย 66/2523.
จาก "ท้าก...สิน...ออกไป" ถึง รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
จากกลางปี 2547 เกิดการรวมตัวของ "กลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์" โดยมีแกนนำประกอบด้วย นาวา อากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ, นายเอกยุทธ อัญชันบุตร, นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์, ดร.อัมรินทร์ คอมันตร์, พลโทเจริญศักดิ์ เที่ยงธรรม, นายสมาน ศรีงาม, นายประพันธ์ คูณมี และ นายเพียร ยงหนู จัดการชุมนุมปราศรัยที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2547 และมีการจัดรายการวิทยุ ทางคลื่นวิทยุชุมชน FM 92.25 MHz ของนายประชัย และเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ของนายเอกยุทธ
และนับจากเดือนเมษายนเป็นต้นไป ความเข้มข้นของระดับการปลุกระดมการ "กำจัด" นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทุกช่องทางสื่อสารมวลชน เริ่มจากสื่อในเครือ "ผู้จัดการ" ซึ่งย่อมหมายรวมทั้ง ASTV และช่วงต้นของการขับเคลื่อนผ่านรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ดำเนินรายการโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ เริ่มออกอากาศเมื่อปี 2546 ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี โดยในช่วงแรกเป็นรายการที่สนับสนุนรัฐบาลกละตัวนายกรัฐมนตรีอย่างออกหน้าออกตา ต่อมากลางเดือนกันยายน 2548 ได้ถูกระงับจากทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ดำเนินรายการได้วิจารณ์รัฐบาลและพาดพิงสถาบันเบื้องสูง โดยผู้ผลิตได้เปลี่ยนชื่อรายการเป็น "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" ตามมาด้วย "เมืองไทยรายสัปดาห์ คอนเสิร์ตการเมือง" ซึ่งเป็นการจัดรายการนอกสถานที่ มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV NEWS1 และผ่านทางอินเทอร์เน็ต.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 15-21 มกราคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน