Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (20)

กบฏเสนาธิการ 2491:
กบฏทหารประชาธิปไตย

จากการรัฐประหารซ้ำซ้อนในห้วงเวลาสั้นๆ ส่งผลให้กลุ่มนายทหารสายเสนาธิการก่อรูปแนวความคิดไม่ยอมรับกับการที่ฝ่ายคณะรัฐประหารหนุนให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และเห็นว่าการที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้าไปแทรกแซงทางการเมืองนั้นทำให้กองทัพเสื่อมเสียเกียรติภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ต้องการให้กองทัพตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใครหรือกลุ่มบุคคลใด จึงร่วมปรึกษาหารือหาทางล้มอำนาจของคณะรัฐประหาร เพื่อให้ทหารกลับเข้ากรมกอง

ผู้คิดก่อการที่เรียกกันว่า "กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491" นับได้ว่าเป็นนายทหารกลุ่มแรกในกองทัพบกที่ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามและต้องการปฏิรูปกองทัพบกเสียใหม่ให้มีประสิทธิภาพทันสมัยและขจัดการเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งในขณะนั้นการเลื่อนยศและตำแหน่งมีลักษณะตอบแทนผู้เข้าร่วมรัฐประหาร มิได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของกองทัพโดยรวมแม้แต่น้อย

คณะผู้วางแผนก่อการประกอบด้วยนายทหารฝ่ายเสนาธิการ นำโดย พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต (หลวงศรานุชิต) รองเสนาธิการกลาโหม พล.ต.เนตร เขมะโยธิน รองเสนาธิการทหารบก และ พล.ต.หลวงรณกรรมโกวิท (เพิ่ม ศิริวิสูตร) นายทหารประจำกรมเสนาธิการทหารบก นอกจากนั้นก็เป็นครูหรือนักเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหาร เช่น พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์, พ.อ.จรูญ สิทธิเดชะ, พ.อ.สงบ บุณยเกศานนท์ (ขุบสงบระงับศึก) เป็นต้น และยังมีนายทหารจากหน่วยอื่นเข้าร่วม เช่น พ.อ.หลวงจิตรโยธี (จาด รัตนสถิตย์) พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม (โลม ศิริปาลกะ) เจ้ากรมพาหนะทหารบก และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ เป็นต้น

ผู้ ก่อการกำหนดเอาวันที่ 1 ตุลาคม 2491 เวลา 20.00 น. อันเป็นเวลาที่คณะรัฐประหารและรัฐบาลจะมาอยู่พร้อมหน้ากันที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเลี้ยงส่งนายทหาร และร่วมแสดงความยินดีในงานพิธีมงคลสมรสของ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ นางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ โดยวางแผนที่จะจู่โจมเข้าสังหารกลุ่มผู้นำทางทหารและนายกรัฐมนตรีแบบทำลายล้างด้วยการระดมขว้างระเบิดมือและยิงกราดเข้าไปในงาน ต่อจากนั้นจะยกกำลังเข้ายึดสวนพุดตาล ให้ พ.ต.เจริญ พงศ์พานิชย์ ไปควบคุมตัว พล.ต.หลวงสถิตย์ยุทธการ เสนาธิการกองทัพที่ ๑ ผู้ควบคุมกำลังป้องกันกองบัญชาการทหารบก ณ วังสวนกุหลาบ พร้อมกับให้ พล.ท.โพยม จุฬานนท์ ควบคุม พ.อ.บัญญัติ เทพหัสดิน ผู้บังคับกองทหารราบที่ ๑ ส่วน พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ ให้นำนายทหารเสนาธิการเข้ายึดกระทรวงกลาโหมไว้ เพื่อตั้งเป็นกองบัญชาการ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการครั้งนี้ประสบความล้มเหลว เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลได้ข่าวก่อการมานานพอสมควรและเกาะติดความเคลื่อนไหวมาเป็นระยะ ดังนั้นก่อนที่แผนการจะเริ่มเพียงไม่กี่ชั่วโมง พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจส่งกำลังไปจับกุม พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์และ กำลังส่วนใหญ่ของฝ่ายเสนาธิการได้ที่กระทรวงกลาโหมในคืนวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2491 ก่อนเวลาลงมือปฏิบัติการ และเช้าวันรุ่งขึ้นได้จับตัว พล.ต.หลวงรณกรรมโกวิท และ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต, พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม, ร.อ.หิรัญ สมัครเสวี, ร.อ.สุรพันธ์ ชีวรานนท์, ร.ท. บุญช่วย ศรีทองบุญเกิด เป็นปฏิบัติการที่ทำอย่างเงียบเชียบที่สุด เพื่อไม่ให้ข่าวเล็ดลอดไปสู่ผู้ก่อการคนอื่น ทว่า พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ก็หนีรอดไปได้

จากนั้นต่อเนื่องไปถึงเวลากลางคืน กองกำลังตำรวจและทหารจึงยกกันเข้าล้อมกระทรวงกลาโหมที่ถูกยึดเป็นกองบัญชาการ พล.ต.ต. เผ่า ได้เรียกร้องให้ฝ่ายกบฏออกมามอบตัว แต่ฝ่ายกบฏไม่ยอมเพราะไม่ไว้ใจในความปลอดภัย เมื่อตำรวจบุกเข้าใกล้ที่ตั้งศูนย์บัญชาการของฝ่ายกบฏกบฏก็ถูกยิงตอบโต้ออกมา ฝ่ายรัฐบาลต้องถอยร่นกลับออกจากตัวตึก ทั้ง ผบ. กองพล ๑ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งห้ามใช้อาวุธและกำลังเข้าปราบหากไม่จำเป็นจริงๆ เนื่องจากไม่ต้องการให้ทหารบกต้องเสียเลือดเนื้อกันเอง และความเสียหายที่อาจเกิดแก่ทรัพย์สินของทางราชการ คงมีแต่การใช้กำลังล้อมเอาไว้เฉยๆ

ในที่สุดรุ่งเช้าวันที่ 2 ตุลาคม ฝ่ายกบฏจึงยอมจำนนต่อฝ่ายรัฐบาล พากันเดินแถวออกจากห้องประชุมกระทรวงกลาโหม ยอมให้ทหารรัฐบาลปลดอาวุธในตอน 2491 อย่างสงบ

แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่ลดละในการไล่ล่าผู้ร่วมก่อการ จนกระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม ก็สามารถตามจับกุมผู้ที่หลบหนีไปได้อีก 7 คน รวมทั้ง พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ส่งฟ้องศาลรวม 22 คน ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี 9 ราย คือ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ พ.อ.หลวงจิตรโยธี พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม พ.ท.ประสบ ฐิติวร พ.ต.ชิน หงส์รัตน์ ร.อ.หิรัญ สมัครเสวี ร.อ.สุรพันธ์ อิงคุลานนท์ ร.ท.บุญช่วย ศรีทองเกิด ส่วนที่เหลือได้รับการปล่อยตัวไป

ถึงกระนั้น ยังมีผู้ก่อการชั้นหัวหน้าหลบหนีไปได้หลายคน และฝ่ายทหารยังเชื่อรายงานข่าวกรองในทางลับว่า การพยายามก่อรัฐประหารครั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ น่าจะอยู่เบื้องหลัง เพราะนายทหารที่ก่อการและหลบหนีไปได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายปรีดี

หลัง กบฏเสนาธิการสิ้นสุดลง คณะรัฐประหารพิจารณาว่ากลุ่มเสรีไทยที่มีนายปรีดีเป็นหัวหน้า เป็นรากเหง้าของภัยต่อความมั่นคงของอำนาจการปกครองที่เกิดจากการรัฐประหาร 6 เมษายน 2491 และพร้อมจะก่อการปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อมีโอกาส จึงคิดกวาดล้างให้สิ้นซากด้วยข้อหากบฏซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่สามารถอาศัยเป็นข้ออ้างในการจัดการตามกฎหมายของผู้เผด็จอำนาจได้

ผลกระทบที่สำคัญของกบฏนี้คือ ทำให้ฝ่ายคณะรัฐประหารแทบจะเข้าควบคุมอำนาจในกองทัพบกได้อย่างเบ็ดเสร็จ นายทหารสายเสนาธิการที่เหลือต้องตกอยู่ใต้การบังคับบัญชาของ พล.ต.เดช เดชประดิยุทธ์ ซึ่งเป็นคนของคณะรัฐประหาร รวมทั้งการส่งคนมาดำรงตำแหน่งสำคัญระดับนายพัน เท่ากับว่ากองทัพบกต้องเสียนายทหารระดับหัวกะทิที่มีแนวโน้มประชาธิปไตยมากที่สุดในกองทัพไปในกบฏครั้งนี้ และทำให้กองทัพมีแนวโน้มไปในทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้น

สำหรับกรณี พ.ท.พโยม จุลานนท์ หลังจากหลบหนอยู่นานจนเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารส่งผลให้จอมพลป.และพล.ต.อ.เผ่า มีอันต้องลี้ภัยในต่างประเทศ พ.ท.พโยมจึงกลับเมืองไทยในช่วงเวลาสั้นๆ โดยปี 2500 ลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.เพชรบุรี ครั้นเมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารอีกครั้งในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2501 มีการกวาดล้างจับกุมนักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง จึงต้องหลบลง "ใต้ดิน" นานหลายปี และลุกขึ้นมาจับอาวุธสู้รบร่วมกับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีนามเรียกขาน คือ "สหายคำตัน" นับตั้งแต่ปี 2510-2511 เป็นต้นมา จนกระทั่งปี 2518 จึงได้ดำรงตำแหน่ง "เสนาธิการ" ของ กองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.) และใช้ชีวิตอยู่เขตรอยต่อชายแดนไทย-ลาว ในพื้นที่ จ.น่าน ก่อนที่เดินทางไปรักษาตัวเนื่องจากปัญหาสุขภาพยังสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2523 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 1 - 7 สิงหาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8