Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

ศักราชใหม่ของขบวนประชาธิปไตย เป้าหมายชัดเจน จังหวะก้าวมั่นคง

ศักราชใหม่ของขบวนประชาธิปไตย
เป้าหมายชัดเจน จังหวะก้าวมั่นคง


โลกหลังสหัสวรรษ ที่วิถีชีวิตสมัยใหม่ นวัตกรรมใหม่ ระบบคิดใหม่ ไม่มีพรมแดนทางเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรมกีดกั้นอีกต่อไป ผลแพ้ชนะในความขัดแย้งระหว่างจารีตแห่งวัฒนธรรมเก่าแก่ของประชาชาติหนึ่ง กับพลังแห่งเยาวภาพที่เกิดขึ้นใหม่ คือตัวบ่งชี้ทิศทางแห่งอนาคตของอารยธรรมของประชาชาตินั้นๆ ไม่มีแม้สักประชาชาติเดียวที่จะจองจำตนเองอยู่ได้กับอดีตอันรุ่งเรืองในช่วงเวลาหนึ่งๆ

กล่าวอย่างถึงที่สุด สรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีชีวิตและไร้ชีวิต ทั้งที่เป็นปัจเจก หรือเป็นหน่วยทางสังคม ล้วนไม่อาจหนีพ้นกฎอนิจจลักษณ์ อันได้แก่ การเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป

ทุกความพยายามที่จะฝืนการก้าวพัฒนาไปเบื้องหน้า จะต้องแบกรับมลทินแห่งความบาปในฐานะตัวถ่วงดุลยภาพ ที่ธรรมชาติกำหนดเป็นเส้นทางที่ไม่อาจบิดเบือนได้ ผลพวงจากหายนพิบัติภัยอย่างมีเจตนา จะต้องสนองตอบหรือตามหลอกหลอนมนโนธรรมสำนึก - หากว่ายังมีมโนธรรมสำนึก - ของพลังปฏิกิริยาทั้งปวง ที่ขัดขวางพัฒนาการทางสังคมแห่งมหายุคนี้...

หน้าไหนก็ไม่อาจหนีพ้น!!!

พัฒนาการของสังคมใดๆ ย่อมไปพ้นอคติสี่ (การกระทำอันทำให้เสียความเที่ยงธรรม ประกอบไปด้วย ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่ โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา และ ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว) และย่อมอยู่เหนือเจตจำนงเสรีหรืออารมณ์ของปุถุชน (อิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนา ตรงข้ามกับ อนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) หรือแม้แต่มวลมหาประชาชน ด้วยหน่ออ่อนของสังคมที่จะเกิดใหม่นั้น ในทุกยุคทุกสมัยล้วนก่อรูปและเติบโตกล้าแข็งขึ้น กระทั่งในความพยายามบีบกดจากสังคมดั้งเดิมที่มันก่อกำเนิดขึ้นมานั้นเอง

รูปธรรมของการเปลี่ยนผ่านระยะทางประวัติศาสตร์ของทุกระบบสังคม ล้วนไม่ขึ้นต่อความเกลียดชัง ความอาฆาตมาดร้าย ความกระเหี้ยนกระหือกระหายเลือด ซึ่งฉาบทาเพียงผิวเผินบนเปลือกของความเปลี่ยนแปลงนั้น

ดูเหมือนว่า แม้ในส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของพลังที่ปฏิกิริยาที่สุด ครั้งหนึ่งอาจเคยยึดกุมรากฐานทางความคิดดังกล่าว อาจกำจัดทำลายเยาวภาพของการเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดรนั้น ด้วยความเกลียดชังยิ่งกว่า ความอาฆาตมาดร้ายที่ลึกซึ้งกว่า และความกระเหี้ยนกระหือที่โหดหืนกระหายเลือดยิ่งกว่า

แต่ประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงน้อยใหญ่ ได้ให้บทเรียนอันเป็นข้อสรุปที่ไม่อาจปกปิดบิดเบือนเป็นอย่างอื่น ว่า ด้วยจุดยืนและการกระทำเช่นนั้น รังแต่จะนำความรุนแรงอันไม่อาจควบคุมได้ยิ่งขึ้นทุกทีมาสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างมิพักต้องสงสัย

นัยหนึ่ง เมื่อประวัติศาสตร์เองย่อมถูกจดจารด้วยผู้ชนะในที่สุด ยังไม่มีบันทึกหน้าไหนในประวัติอารยธรรมมนุษย์ ที่ชี้ว่า ผู้ปกครองที่เป็นทรราชย์คือฝ่ายธรรมะ แม้สักหน!

ชั่ว เวลา 4 ปีเศษ สังคมไทยเพียงหยุดยั้งในห้วงเวลาสุกดิบเพื่อตระเตรียมการขยับครั้งสำคัญ สำหรับการอภิวัฒน์ครั้งใหม่ด้วยแรงขับดันอันมหาศาลที่สั่งสมมาในตลอดวันวารก ว่า 6 ทศวรรษช่วงรอยต่อของกึ่งพุทธกาล

ณ เวลานี้ สรรพชีวิตทั้งที่เป็นปัจเจก และทั้งที่เป็นหน่วยเนื้อน้อยใหญ่ของเผ่าพันธุ์ที่หลอมรวมขึ้นเป็นสยามประเทศ มีหนทางให้เลือกน้อยลงไปทุกทีแล้ว... หรือหากจะกล่าวอย่างถึงที่สุด คือทางเลือกระหว่าง พลังประชาธิปไตย กับ พลังปฏิกิริยาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย

และก่อนอื่น สำหรับในฝ่ายพลังประชาธิปไตย ข้อเท็จจริงที่ถูกมองข้ามมาตลอด คือการขาดความใส่ใจในประเด็น "ยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" ที่มักถูกยัดเยียดการตีความว่า "รู้ๆกันอยู่แล้ว" "ไม่จำเป็นต้องพูด" หรือที่หนักหนาสาหัสไปกว่านั้น คือ "พูดไม่ได้"

ขบวนประชาธิปไตยจึงต้องกลับมาทบทวนว่า "ประชาธิปไตย" ที่มวลชนนับล้านคนประกาศว่าจะ "สร้าง" นั้น คือ "อะไร" ทั้งนี้ทั้งในลักษณะที่เป็นสากลที่นานาอารยะประเทศรับรอง และที่มีลักษณะเฉพาะ สอดคล้องกับสังคมไทย ทั้งในทางจารีต และในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงผ่านโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคไร้พรมแดนของ "โลกาภิวัตน์"

ประชาชนในฝ่ายประชาธิปไตย จำต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดและหดหู่ ในประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่เพียง 4 ปีหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และไม่เพียง 9 ปีหลังการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ในทางปฏิบัติเป็นครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 เราไม่เพียงไปไม่ไกลจากการอภิวัฒน์สยาม 2475 หากถึงที่สุดแล้วการเมืองของประเทศนี้ถอยหลังไปไกลก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่นำโดย "นอมินีรุ่นต้นธาร - ผิน ชุนหะวัน" เสียด้วยซ้ำไป

ความจริงนั้นคือ เราถูกทำลายวิญญาณประชาธิปไตยมาตลอด 63 ปี นับจากการ "กบฏประชาธิปไตย" หนนั้น และสถาปนา "ระบอบเผด็จการอำมาตย์-อภิชน-ขุนศึกฟาสซิสต์" ต่อเนื่องมาโดยตลอด และถูกทำให้เข้มแข็งเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้นหลังการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 โดย "จอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง - สฤษดิ์ ธนะรัชต์"

ระบบคิด ระบบปรัชญาประชาธิปไตยที่นำมาสู่สังคมสยามเมื่อ 78 ปีที่แล้วถูกกัดกร่อนบ่อนทำลายลงไปทุกทีตามกาลเวลา

ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาในอดีต แม้จะมีรัฐธรรมนูญสักกี่ฉบับ แม้จะมีการเลือกตั้งสักกี่ครั้ง ก็หาได้หมายความว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นประชาธิปไตยได้แต่อย่างใด... ตราบใดที่ทั้ง 2 บริบทนั้น ไม่มีรากฐานหรือจิตวิญญาณแห่งความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

และนั่นนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ยุทธศาสตร์ใหญ่ของฝ่ายประชาชนชนคือการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริงขึ้นให้จงได้ ทั้งนี้ก็โดยการกำจัดอุปสรรคสำคัญเพียงประการเดียวในกระบวนการนี้ ที่เป็นเป้าหมายไปในเวลาเดียวกัน นั่นคือ "ระบอบเผด็จการ"

ทั้งนี้ประชาชนต้องตอบโจทย์ให้ได้ในเวลานับจากนี้ไป คือ ประชาธิปไตยคืออะไร และเหตุใดประชาธิปไตยจึงมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับระบอบการปกครองในโลกยุคโลกาภิวัตน์หลังสหัสวรรษ ส่วนจะสร้างอย่างไร หรือจะใช้วิธีการอย่างไหน/รูปแบบใด ซึ่งรวมเรียกว่า "ยุทธวิธี" ในการต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยนั้น ยังมีความสำคัญรองลงไป หากต้องมีการพิจารณาต่อเนื่อง และบนพื้นฐานความคิดชี้นำหรือรูปการจิตสำนึก ซึ่งไม่อาจละทิ้งหลักการที่ว่า

"ประชาธิปไตยเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 1-7 มกราคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8