Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (17)

เส้นทางสู่จุดจบคณะราษฎร:
คืนสุกดิบก่อนยุคทมิฬ


หลังจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2489 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม โดยพันตรีควง อภัยวงศ์ ได้รับเสียงสนับสนุนจากสภา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มกราคม แต่แล้วในวันที่ 18 มีนาคมก็กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสภาฯ ได้ผ่านร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน (พ.ร.บ.ปักป้ายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ "พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว") ที่เสนอโดย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี ฝ่ายค้าน (ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย เขตอุบลราชธานี) ด้วยคะแนน 65 ต่อ 63 เสียง

ต่อมาในวันที่ 24 มีนาคม นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการสนับสนุนจากสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และต่อมาได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2488 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกขึ้นในนาม "พรรคก้าวหน้า" ก่อนจะยุบรวมเข้ากับพรรคประชาธิปัตย์ในปีต่อมา ซึ่งมีการประชุมกันก่อตั้งโดยนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่บริษัทของนายควง อภัยวงศ์ ที่ย่านเยาวราช ในวันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2489 จุดประสงค์เป็นฝ่ายค้านคานอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์

ผู้บัญญัติชื่อ "ประชาธิปัตย์" คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช รองหัวหน้าพรรคคนแรกและหัวหน้าพรรคคนที่สอง โดยมี นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค และ นายชวลิต อภัยวงศ์ เป็นรองเลขาธิการพรรค

ในเวลาไล่เรี่ยกันทางด้านผู้สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ก็มีการเคลื่อนไหวจัดตั้งพรรคการเมืองเช่นกัน หนึ่งคือ "พรรคแนวรัฐธรรมนูญ" มี พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎรสายทหารเรือ เป็นหัวหน้าพรรค สมาชิกส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 2475 และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 (แต่งตั้ง) ได้แก่ พลเอกอดุล อดุลเดชจรัส นายสงวน จูฑะเตมีย์ นายดิเรก ชัยนาม หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม เป็นต้น โดยมี นายทองเปลว ชลภูมิ เป็นเลขาธิการพรรค

และอีกพรรคหนึ่งคือ "พรรคสหชีพ" ซึ่งประกอบด้วยอดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทยส่วนหนึ่งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล เป็นต้น กับกลุ่มนักการเมืองฝ่ายพลเรือนอื่นๆ ที่สนับสนุนนายปรีดี เช่น นายจรูญ สืบแสง นายสงวน ตุลารักษ์ โดยมี นายเดือน บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรค

มีข้อสังเกตคือทั้ง 2 พรรคมีลักษณะเป็นกลุ่มการเมืองในสภา มากกว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานการเมืองนอกสภาหรือพรรคในแนวมวลชน

ในวันที่ 9 พฤษภาคม รัฐสภามีรัฐพิธีลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ของประเทศ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โปรดเกล้าฯ ให้นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กล่าวกัน ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า 2 ฉบับก่อนหน้านั้น แต่ได้มีการบังคับใช้เพียง 18 เดือน (10 พฤษภาคม 2489 - 8 พฤศจิกายน 2490)

การที่อดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทยที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์สามารถรวบรวมกำลังเป็นปึกแผ่นได้เช่นนี้ ส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในเวลานั้นมีความเข้าใจกันว่า "เสรีไทย" หมายถึงกลุ่มของนายปรีดี และเป็นอริกับฝ่ายทหารบก ดังนั้นเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศว่าจะเข้ามาในวงการเมืองอีกครั้ง โดยร่วมมือกับหลวงวิจิตรวาทการ และพลเอกมังกร พรหมโยธีจัดตั้ง "พรรคธรรมาธิปัตย์" ก็มีการประชุมลงมติต่อต้านคัดค้านจากสมาชิกพรรคสหชีพจากภาคอีสาน

รัฐบาลภายใต้การนำของนายปรีดีสามารถเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกับอังกฤษ เรื่องสัญญาสมบูรณ์แบบ และการเจรจาให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งเพิกถอนเงินซึ่งได้ถูกกักกันไว้ในสหรัฐฯ ทำให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขสถานะผู้แพ้สงครามได้สำเร็จอย่างละมุนละม่อม จนในเวลาต่อมาสามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้เป็นผลสำเร็จในวันที่ 15 ธันวาคม 2489

ในระหว่างการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ผสมจากพรรคการเมืองที่ประกอบขึ้นจากคณะราษฎรบางส่วนและอดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายในประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ได้หยิบยกประเด็นการดำเนินงานของขบวนการเสรีไทยขึ้นมากล่าวหา-โจมตีฝ่ายนายปรีดี อย่างหนักถึง 5 ประเด็น ทั้งโดยการเคลื่อนไหวในรัฐสภาคือการตั้งกระทู้ถามผ่านรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการวิสามัญสะสางเงินในงบสันติภาพของเสรีไทย และการโจมตีภายนอกรัฐสภาผ่านสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อดิสเครดิตขบวนการเสรีไทยและตัวนายปรีดีเอง

แล้วจุดหักเหทางการเมืองไทยที่มีความสำคัญต่อรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สืบเนื่องมาอีกกว่า 50 ปีจนถึงทุกวันนี้ก็มาถึง จากเหตุการณ์เสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ทำให้ศัตรูทางการเมืองของนายปรีดี ซึ่งเชื่อกันว่าประกอบด้วยกลุ่มทหารที่สูญเสียอำนาจและพรรคการเมืองฝ่ายค้านฉวยโอกาสนี้ในการเคลื่อนไหวทำลายนายปรีดี โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมทั้งมีมือมืดจ้างวานคนไปตะโกนในโรงละครศาลาเฉลิมกรุง (ในเวลานั้น) ว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" ซึ่งกลายเป็นหัวข้อพูดคุยในวงกว้างออกไปทุกที เกิดเป็นกระแสกดดันการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐบาล

เมื่อนายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 สิงหาคม 2489 พรรคแนวรัฐธรรมนูญได้เป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคสหชีพโดยมีพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในภาวะที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤต เศรษฐกิจฝืดเคือง สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน มหาอำนาจกดดันให้ชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม ทหารบกจำนวนมากไม่พอใจที่ถูกปลดประจำการ และปัญหาประสบความยากลำบากจนไม่สามารถคลี่คลายคดีสวรรคต

รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคแนวรัฐธรรมนูญที่บริหารประเทศได้เพียง 1 ปี 2 เดือนก็ถูกรัฐประหารโค่นล้มอำนาจ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยคณะรัฐประหาร ซึ่งมี พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้า.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 11-17 กรกฎาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8