Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปูมชีวิตองคมนตรี "นายพลากร สุวรรณรัฐ"

ปูมชีวิตองคมนตรี "นายพลากร สุวรรณรัฐ"


นายพลากร สุวรรณรัฐ เป็นที่รู้จักกล่าวขวัญในฐานะที่อยู่ในพื้นที่ในตำแหน่ง ผอ.ศอ.บต. อย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับ "พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" และเป็นหนึ่งใน "ลูกป๋า" ที่ร่วมลงพื้นที่ดูแลปัญหาภาคใต้

นายพลากรป็นบุตรของนายพ่วง สุวรรณรัฐ อดีตปลัดและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ครั้งแรกสมัยรัฐบาลจอมพลถนอนม กิตติขจร (18 ธันวาคม พ.ศ. 2515 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516) และครั้งที่ 2 สมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ (16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2517) และ ท่านผู้หญิงประสารสุวรรณ สุวรรณรัฐ (นามเดิม ม.ร.ว.ประสารสุวรรณ ทองแถม ธิดาหม่อม เจ้าทองเชื้อธรรมชาติ ทองแถม และหม่อมเจ้าหญิงพันธุ์สิหิงค์ ทองใหญ่) สมรสกับท่านผู้หญิงทัศนียา สุวรรณรัฐ

สำหรับหม่อมเจ้าทองเชื้อ ธรรมชาติ ทองแถม ทรงเป็นพระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระนามเดิม พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ธิดานายศัลยวิชัย (ทองคำ ณ ราชสีมา)

ตระกูล "สุวรรณรัฐ" มีเชื้อสายของเจ้าเมืองฉวี ซึ่งเป็นเมืองตรี ขึ้นกับเมืองชุมพร และลูกหลานรุ่นต่อๆมาล้วนรับราชการฝ่ายปกครอง โดยในอำเภอสิชล นครศรีธรรมราชก็มี ประมาณ 2-3 ชั่วอายุคน จนมาถึงรุ่นปู่

เดิมทีใช้นามสกุล "ฉวีภักดี" ต่อมาขอพระราชทานตั้งชื่อสกุล ที่ พลโท สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลคำธร กรมหลวงลพบุรีราเมศ อุปราชปักษ์ใต้ นายพลเสือป่ารักษาดินแดน ได้โปรดคิดนามสกุลนี้ให้เมื่อปี 2460 ว่า "สุวรรณรัฐ" โดย "หมื่นสุตสุวรรณรัฐ" (พระยาเจริญราชภักดี) เป็นบิดานายวุฒิ สุวรรณรัฐ หมื่นสุตคีรีรัฐ ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2461 อายุได้ 81 ปี นายลื่น สุวรรณรัฐ เป็นบุตรคนโตของหมื่นสมุทรคีรีรัฐ เมื่อลาอุปสมบทแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นทหารกับเจ้าพระยานคร เคยไปตีเมืองมาลายูหลายครั้งและลาออก นายลื่นมีบุตรธิดากับนางทองอยู่ 3 คน คือ ขุนสุวรรณรัฐราช (เดิม), นางแก้ม ณ นคร  และ นายพ่วง สุวรรณรัฐ สมรสกับ ท่านผู้หญิงประสารสุวรรณ สุวรรณรัฐ (หม่อม ราชวงศ์หญิงประสารสุวรรณ ทองแถม บุตรี หม่อมเจ้าทองเชื้อธรรมชาติ ทองแถม พระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา สังวาลย์ เสด็จในกรมรับราชการสนองพรเดชพระคุณพระบทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยโปรกเกล้าฯเป็นหนึ่งใน 4 นายทหารราชองครักษ์ประจำพระองค์ ทั้งยังทรงเป็น องคมนตรี ในเวลาต่อมาอีกด้วย)

"ข้าหลวงพ่วง" รับราชการในสาย "ปกครอง" มาโดยตลอด ทั้งยังเคยเป็นทหารในกองทัพและเป็น"เสรีไทย" ในช่วงสมัยสงครามโลก, เคยเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดสงขลา (2501), รัฐมนตรีสังกัดกระทรวงมหาดไทย 14 ก.พ. 2501, ประจำกองอำนวยการฝ่ายพลเรือน กองบัญชาการคณะปฏิวัติ (2502), ได้รับการแต่งตั้งจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากปี 2502 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2511 ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร, รองเลขานุการกองบัญชาการกองปราบปรามคอมมิวนิตส์ฝ่ายพลเรือน, สมาชิกวุฒิสภาสามัญชุดกรมการปกครอง (2511), ปลัดกระทรวง-รองผู้อำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์ หรือ กอ.ปค. (2515), ปลัดกระทรวงใช้อำนาจแทนรมว.มหาดไทย, สมาชิกสภานิติบัญญัติ, รมช. มหาดไทย (19 ธันวาคม 2515 - 14 ตุลาคม 2516 และ 1 ตุลาคม 2516 - 22 พฤษภาคม 2517) ฯลฯ

ประวัติการรับราชการและตำแหน่งสูงสุดในรัฐวิสาหกิจของนายพลากร มีดังนี้ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.), ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี,ประธานกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, ประธานกรรมการการไฟฟ้านครหลวง, กรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย, กรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ กรรมการธนาคารออมสิน

ภารกิจในหน้าที่การงานปัจจุบัน ได้แก่ กรรมการบริหารมูลนิธิอานันทมหิดล, กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา, กรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย, กรรมการมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชและ รองประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อ วันที่ 18 กรกฎาคม  2544

พี่น้องร่วมบิดามารดาของนายพลากร สุวรรณรัฐ
1. ท่านผู้หญิงพรรณวดี จุฑารัตนกุล นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ สมรสกับ นายจเร จุฑารัตนกุล อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก 2 สมัย และอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ทีเอ็มบี แมคควอรี (ประเทศไทย)
2. นางพิยดา สุวรรณรัฐ ประกอบอาชีพอิสระ สมรสกับนาย เฮนริค แลงเฟลด์
3. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี สมรสกับท่าน ผู้หญิงทัศนียา (โฆวินทะ) กรรมการ บริษัท สหวัฒนาประกันภัย จำกัด
4. นางภราไดย สุวรรณรัฐ สมรสกับ นายทินกร หิรัญพฤกษ์ กรรมการ บริษัทโชว์ไร้ขีด จำกัด (Show No Limit) ซึ่งมีลูกชายเป็นดารานักแสดงหนุ่มชื่อดัง "ภูริ หิรัญพฤกษ์"
5. นาย พระนาย สุวรรณรัฐ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับราชการในสายมหาดไทยเคยเป็นผู้ว่าราชการหลายจังหวัด และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.)

โพสต์ ครั้งแรก 6 ตุลาคม 2009, 23:23:31
ปรับปรุงเมื่อ 9 ธันวาคม 2009, 01:49:37
http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=7942.0

"วิญญาณหนังสือพิมพ์" : เราไม่ใช่และไม่มีวันเป็นแค่ "แมลงวัน"

"วิญญาณหนังสือพิมพ์" : เราไม่ใช่และไม่มีวันเป็นแค่ "แมลงวัน"


"...สูคนหนังสือพิมพ์
มาแปลงเพศเป็นคนพาล
ทรยศอุดมการ
วิชาชีพอันลือชา
อาวุธหนังสือพิมพ์
คือปลายคมแห่งปากกา
เป็นทวนอันคมกล้า
และโคมทองอันวาววาม
.........
...ในมือสูถือทวน
แต่เดินทวนกระแสธาร
ถือทวนพิทักษ์มาร
แลทิ่มแทงผู้เทิดธรรม"


***********

คอลัมน์กวีในหนังสือพิมพ์ "ประชาธิปไตย" ฉบับประจำวันที่ 9, 11, 12, 14, 15 สิงหาคม 2507 ลงตีพิมพ์บทกวี ชื่อ "วิญญาณหนังสือพิมพ์" ประกอบด้วยฉันทลักษณ์ 3 แบบ โคลงสี่สุภาพ-กาพย์ยานีลำนำ-โคลงห้าพัฒนา ภายใต้นามปากกา "กวี ศรีสยาม" และในเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีว่า คือ จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชน-นักคิด-นักเขียน-ฝ่ายประชาชนคนสำคัญของไทยหลังกึ่งพุทธกาล และในเวลาต่อมามีเหตุจำเป็นต้องจากบ้านเกิดเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ในวันนี้คงเหลือแต่ชื่อ และความทรงจำหลากหลายแง่มุม

สาเหตุหลักเพียงประการเดียว สำหรับผู้คนส่วนข้างมาก ไม่เฉพาะจิตร ภูมิศักดิ์ พาตัวเองไปสู่สิ่งที่ใครหลายๆคนเชื่อว่าเป็นการไป "ตกระกำลำบาก" คือ ความบีบคั้นจากน้ำมือของระบอบเผด็จการทหารที่สืบเนื่องยาวนานในสังคม ประชาธิปไตยกระท่อนกระแท่น

วันเวลาอย่างนั้น จึงจะอธิบายคำจำกัดความ "จำกัด-ละเมิด-คุกคามสื่อ" ได้ชัดเจน

วันเวลาที่ "เสรีชน" ไม่มี "เสรีภาพ" หรือเกือบจะตั้งคำถามกันได้ว่า "มีเสรีชนจริงหรือไม่?"... เสรีชนเป็นๆ ตัวจริงเสียงจริง ที่พูดได้อย่างที่คิด ไม่ใช่หุ่นชักไร้ชีวิตที่คอยขยับปากและอวัยวะอื่น ตามความประสงค์ของ "นายหุ่น"

กวีนิพนธ์หลายชิ้น บทความหลายบท ของนักคิดนักเขียนร่วมสมัยกับจิตร ภูมิศักดิ์ ผลิตขึ้นภายใต้สถานการณ์ลำเค็ญ... บ้างอยู่ในเรือนจำหรือที่คุมขังอื่นของรัฐเผด็จการทหาร บ้างอยู่ใต้ "พร่างพรายแสง... ดาวดวงน้อยสกาว" (จากเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" โดย จิตร ภูมิศักดิ์ เช่นเดียวกัน)

จากปี 2544 ตรงกันข้ามกับสถานการณ์คุกคามสื่อจากอำนาจรัฐ หัวโจกสื่อ "ฝ่ายตรงข้าม รัฐบาล" ซึ่งในรัฐประชาธิปไตยที่ไหนก็ไม่เคยมี แพร่ข้อความชนิด "หนัก หน่วงรุนแรง" ตามแรงเชียร์ของ "พันธมิตรฯ" และ "บริษัทบริวาร" ขนาดไหนก็ได้ ชุมนุมผู้คนที่แสดงอากัปกิริยา "ก้าวร้าว-ต่ำทราม" ขนาดไหนก็ได้ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น "exhibitionist")

ก็เห็นจะจะ กับสองตากลางสนามหลวงเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 ผู้คนจำนวนหนึ่งไปด้วยความอยากเปิดกว้างทางความคิด แล้วมีอันให้ต้องผงะ หันหลังกลับแทบไม่ทัน เมื่อสองหูสองตามีอันต้องเสพรับอย่างเลี่ยงไม่ได้ กับความ "กักขฬะหยาบช้า" เข้าเต็มเปา โดยอาศัยใบปะหน้า "ประชาธิปไตย" ที่สีสันเจื่อนเพี้ยนกระดำกระด่างเต็มทีแล้วในพ.ศ.ปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ช่างซ้ำรอยเพื่อประจานภาวะพายเรือในอ่างของกระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกบิดเบือนครอบงำ โดยกลุ่มปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่แปลงรูปมากจากนักประชาธิปไตยในห้วงเวลาไกลโพ้น บางคนถึงกับเผลอหลุดคำสารภาพกึ่งรำพึงถึง "ความเย้ายวนของอำนาจ" ที่ยากปฏิเสธ

ทุกวาทกรรม ทุกคำกล่าวหา ตลอดเวลาครึ่งทศวรรษมานี้ หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนและเป็นธรรม จะเห็นการย้อนรอยในลักษณะ "ขโมยร้องจับโจร" ยังไงยังงั้น

จะเป็นปราชญ์หรือปาดก็ดี จะเป็นนักวิชาการหรือนักวิชาเกินก็ดี จะมีอาวุโสหรืออ่อนอาวุโสก็ดี จะเป็นพลเมืองหรือเป็นราษฎรก็ดี ที่ประสานเสียงแปร่งปร่าของคำว่า "ทักซิโนมิกส์" นั้น คือต้นทางของการแบ่งแยกผู้คนในสังคมให้เป็นฝักเป็นฝ่ายไปเรียบร้อยแล้ว

"ปฏิกูล" จากสนามหลวงเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นั้นเอง ที่ดึงดูดฝูงแมลงวันนับร้อยนับพันให้ลงเสพกลืน อาศัยเป็นภักษาหารเลี้ยงชีวิต และยังเพาะเชื้อความเน่าเหม็น สั่งสมนำมาเสพกลืนต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

"หยุดก่อน... หยุดก่อน... หยุดก่อน..." (จากวรรคนำเพลง "หยุดก่อน" ของ กลุ่มคนดนตรี "คาราวาน" เมื่อครั้งอยู่บ้านเช่ากินข้าวแกงข้างถนน ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาสามัญชน)

วลีอย่างนั้นใน 3 ปีของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ควรที่จะหวนนำกลับมาเรียกร้องกันอีกหน ด้วยความหมายเดิม และมีเป้าหมายเดิมไปที่กลุ่มอำมาตยา-อภิชนาธิปไตย-เผด็จการทหารทุกรูปแบบ

ที่ สำคัญอย่างยิ่งในโลกสื่อสารไร้พรมแดน คือเน้นการเรียกร้องไปที่ "กระบอกเสียง" ทุกรูปแบบ สื่อทุกสื่อ ให้ "หยุด" สร้างความชอบธรรม-เสริมความแข็งแกร่ง ให้แก่ระบอบอำมาตยาธิปไตย

"หยุด-ถือทวนเดินทวนกระแสธาร หยุด-ถือทวนพิทักษ์มาร"

นั่นคือ สื่อทั้งหลายจง "หยุด" เพื่อพิจารณาทบทวนจุดยืนและบทบาทในชั่วเวลา 3 ปีมานี้ โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนส่วนข้างมากเป็นที่ตั้ง เหลียวหาบรรดาผู้คนที่ "เป็นเพื่อนทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น" และ...

ปฏิเสธการรับใช้กลุ่มอำนาจทั้งมวล ที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย

นั่นคือ กลับมายืนอยู่ข้างเดียวกับประชาชนเถิดครับ ถ้าเรารักประชาธิปไตยอย่างที่ปากพูดและอย่างที่ปากกาเขียน

หยุดมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อสนองประโยคเลื่อนลอย-เก่าคร่ำคร่า-เร่อร่า-ล้าสมัย-ไร้ จุดยืน อย่าง "แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้  ศุกร์ 9 พฤษภาคม 2551
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
การนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง คัดลอก ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

'บิ๊กบราเธอร์' ใน '1984' ของ จอร์จ ออร์เวลล์ กับทฤษฎียึดครองและปกครองผ่านสื่อ

'บิ๊กบราเธอร์' ใน '1984' ของ จอร์จ ออร์เวลล์
กับทฤษฎียึดครองและปกครองผ่านสื่อ


Eric Arthur Blair (พ.ศ.2446 - 2493) เจ้าของนามปากกา จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) 

ในรายการวงราชดำเนินเสวนา เรื่อง "ส่องกระจก บทบาทสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง" เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2551 จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วิทยากรเสวนาท่านหนึ่ง คือ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอแนวคิดต่อสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงทางด้านสื่อมวลชนไว้น่าสนใจอีกครั้ง 

"โจทย์เรื่องสื่อมวลชนกับความรุนแรง องค์ความรู้ที่สรุปได้คือ 1.สื่อมวลชนในฐานะเป็นอาวุธ ทำหน้าที่ผลิตความเกลียดชังและความกลัว เกลียดอีกฝ่ายหนึ่ง กลัวว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่จะถูกทำลายทั้งหมด... 2.สื่อเปลี่ยนหน้าที่ไปจากการเป็นตัวถ่ายทอดเรื่องกลายเป็นศูนย์บัญชาการ อันนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ความรุนแรง ศูนย์บัญชาการแปลว่าเป็นตัวเชื่อมระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับเครือข่ายท้องถิ่นทั้งหลาย คอยบอกว่าคนนั้นจะไปตรงนั้นเวลานี้... 3. สื่อทำให้สังคมนี้รู้สึกว่ามันไม่มีทางออกต้องฆ่ากันอย่างเดียว ต้องใช้ความรุนแรงอย่างเดียว"


นั้นเป็นความต่อเนื่องของปรากฏการณ์นับจากกรณี 6 ตุลาคม 2519 มาจันถึงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

จะว่าไปปรากฏการณ์นี้เคยมีนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญชาวอังกฤษ Eric Arthur Blair (พ.ศ.2446 - 2493) เจ้าของนามปากกา จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ผู้เขียนนิยาย Animal Farm (พ.ศ.2488) ที่ใช้ปศุสัตว์เป็นตัวเดินเรื่อง เป้าหมายคือเสียดเย้ยการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตในยุคสตาลิน นิยายเรื่องนี้ถือว่าเป็นที่รู้จักมากในประเทศไทย เข้าใจว่าเคยเป็นหนังสืออ่านประกอบของนักเรียนนักศึกษามาสมัยหนึ่ง

แต่นวนิยายเรื่องสำคัญของออร์เวลล์ในบรรณพิภพนั้น น่าจะเป็นนวนิยายที่เสียดเย้ยระบอบการปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จ โดยผู้นำที่เรียกกันว่า Big Brother หรือ "พี่เบิ้ม" เรื่อง Nineteen Eighty-Four (พ.ศ.2492) เคยมีผู้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยมาครั้งหนึ่งแล้วหลังคนป่าคืนเมืองจากนโยบาย 66/2523) ในชื่อเรื่อง 1984

ทฤษฎีทางด้านสื่อ ที่ "บิ๊กบราเธอร์" พัฒนามาจนเป็นหลักการปกครอง "โอเชียเนีย" (Oceonia ) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ค่ายอภิมหารัฐ นั้น ไม่เพียงวางไว้บนพื้นฐาน "ผู้ใดควบคุมปัจจุบันได้ ก็จะควบคุมอนาคตได้" เท่านั้น ระบอบการปกครองของ "อิงซ็อค" (English Socialism) ยังประกาศหลัก "ผู้ใดควบคุมอดีตได้ ก็จะควบคุมปัจจุบันและอนาคตได้" โดยเข้าไปขัดการข้อมูลข่าวสารทุกรูปแบบ "ทั้งหมด" ในประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งตามเก็บ-ทำลายข่าวทุกข่าว สื่อทุกสื่อในอดีต และจัดทำย้อนหลังขึ้นมาใหม่ บังคับให้ประชาชนทุกคนใต้การปกครองถือว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นจริง

เพียงเพื่อพิสูจน์ว่า "รัฐ" หรือโดยเฉพาะเจาะจงไปว่า "พี่เบิ้ม" ไม่เคย "ทำความผิดพลาด"

ใน 1984 ออร์เวลล์จัดตั้ง "กระทรวงแห่งความจริง" หรือ Ministry of Truth หรือในชื่อย่อแดกดัน (อีกหน) ว่า Minitrue หรือ "จริงน้อย" เพื่อสร้าง "ความจริงประดิษฐ์" ขึ้นมา

และในขณะเดียวกัน ประชาชนทุกชีวิตในการปกครอง "โอเชียเนีย" นั้นจะอยู่ภายใต้ระบบสื่อสารมวลชน 2 ทาง เนื่องจากมีกฎหมายให้ประชาชนเปิดโทรทัศน์ไว้ 24 ชั่วโมง โดยที่รัฐจะสอดส่องพฤติกรรมเกือบจะทุกเวลานาที ผ่านระบบ CCTV พิเศษนี้เอง คำขวัญที่ประชาชนทุกคนจะต้องจำใส่ใจคือ "Big Brother is watching you (พี่เบิ้มกำลังจับตาพวกแกอยู่)"

น่ากลัวนะครับ ถ้าบังเอิญไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์เดือนตุลา เพราะดีไม่ดี วีรชนประชาธิปไตยในสมัยนั้น และอีกหลายๆสมัยในเวลาต่อมา อาจจะกลายเป็น "อาชญากรผู้บ่อนทำลายชาติ" ไปแล้วก็ได้

แต่ถึงอย่างไร สภาวการณ์ที่เป็นจริงในโลกทุกวันนี้ ก็สะท้อนกระบวนการที่นำไปสู่การสร้างความชอบธรรมในปฏิบัติการหลากหลายโดย อาศัยสื่อเป็นเครื่องมือมานักต่อนักแล้ว ถ้าเราไม่มีผู้สื่อข่าวที่รักความถูกต้องและมีมนุษยธรรมพอ อาจจะได้เห็นเพียงภาพความเด็ดเดี่ยวเด็ดขาดของพลพรรคเวียดกงที่ลุกขึ้นต่อสู้กับจักรวรรดินิยม 2 รุ่น โดยไม่มีโอกาสรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่หมู่บ้านไมลาย ทั้งอีกหลายปีให้หลังยังรับรู้ซ้ำด้วยว่าฆาตกรในเครื่องแบบอย่าง "ร้อยโทเคลลี่" ที่ 2 มือเปื้อนเลือดเด็ก-ผู้หญิง-และคนแก่ 200 ชีวิต โดนลงโทษจากกองทัพบกสหรัฐเพียง "กักบริเวณ"...กักบริเวณนะครับ ไม่ใช่ติดคุก นึกถึงกรณี "ถีบลงเขา-เผาลงถังแดง" ขึ้นมาตะหงิดๆ

ยิ่งนึกยิ่งน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 500,000 ชีวิตชนเผ่าตุ๊ดซี่ในรวันดาอย่างที่ดร.ชัยวัฒน์พูดถึง คิดถึงกรณี 14 ตุลาคม 2516 ที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเชื่อเต็มที่ว่า นักเรียนนักศึกษาคือภัยร้ายของชาติ กรณี 6 ตุลาคม 2519 ที่ผู้คนถูกปลุกระดมความป่าเถื่อนเพียงเพื่อเข้าไปสังหารโหดไอ้เลวทั้งหลายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้แต่ฝูงชนผู้พิฆาต "ไอ้หน้าเหลี่ยม" ที่ยังสานต่ออุดมการณ์อันกระเหี้ยนกระหือในวันนี้...

อย่าให้ข่าวมันลวงตาประชาชนอย่างเราเลยครับ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้  ศุกร์ 23 พฤษภาคม 2551
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
การนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง คัดลอก ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

"เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่" : จาก 'เดส์การ์ตส์' ถึง 'จอร์จ ออร์เวลล์'

"เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่" : จาก 'เดส์การ์ตส์' ถึง 'จอร์จ ออร์เวลล์'



คำขวัญการอภิวัฒน์ฝรั่งเศส 1789 (พ.ศ.2332) ที่ว่า "เสรีภาพเสมอภาค ภราดรภาพ หรือความตาย" ซึ่งมาต่อถูกยกขึ้นเป็นคำขวัญของประเทศตามรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี พ.ศ.2489 และ 2501 "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" มีการตัดวลีสุดท้ายออกไปเนื่องจากภารกิจการต่อสู้สรรค์สร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จลุล่วง ไม่ใช่เพียงชัยชนะขั้นพื้นฐานเฉกเช่นเมื่อ 200 ปีนั้น หากเป็นชัยชนะโดยเด็ดขาดอย่างถาวร มีผลทำให้คำประกาศเจตนารมณ์อย่างถึงที่สุด ไม่ถอยหนียุบเลิกหรือทิ้งการต่อสู้เสียกลางคัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องคงไว้อีกต่อไป

นับจากการติดตามข่าวสารการรัฐประหารตัวเอง 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะตัวแทนรุ่นสุดท้าย 1 ใน 3 คน ที่รับช่วงระบอบเผด็จอำนาจสีเขียวยุคคาบเกี่ยวกึ่งพุทธกาลของเครือข่าย แปลก-เผ่า-สฤษดิ์ จนกระทั่งเข้ามาข้องเกี่ยวมีส่วนร่วมโดยตรงในขบวนนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่ยิ่งใหญ่...

ผมหมดข้อกังขาโดยสิ้นเชิง ว่าเหตุใดสำหรับความเป็นประชาธิปไตยแล้ว "เสรีภาพ" จึงมาก่อนสิ่งอื่นๆทั้งหมด

ถอยไปไกลก่อนแนวคิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะอุบัติขึ้นในเส้นทางยาวไกลของอารยธรรมมนุษย์ พลโลกดั้งเดิมที่ผู้คนต่างเผ่าพันธุ์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้ระบบคิดและระบอบการปกครองอันหลากหลาย และต้องใช้เวลาอีกนับพันปีจึงจะมีโอกาสสัมผัสวิถีแห่งโลกาภิวัตน์ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือผู้คนเหล่านั้นล้วนต้องก้มหน้าให้กับหน้าที่เพียงเชื่อฟังอย่างปราศจากข้อแม้ยอมรับในชะตากรรมที่เลือกไม่ได้ เพื่อสร้างและสะสมโภคทรัพย์ให้แก่ผู้ปกครอง ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นมรดกตกทอดจากชั่วคนสู่ชั่วคน

บรรพบุรุษของเราใช้เวลานับหมื่นปีกว่าจะวิวัฒน์เผ่าพันธุ์ของตนจนพ้นสภาพสัตว์มาเป็นมนุษย์ และใช้เวลาอีกหลายศตวรรษเพื่อที่จะได้ตระหนักถึง "เสรีภาพ" ของขวัญพิเศษจากธรรมชาติที่หยิบยื่นให้แก่เผ่าพันธุ์ที่เดินด้วยสองขาหลังบน กระดูกสันหลังที่ตั้งฉากกับพื้นโลก และนั่นเองที่ทำให้เราต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ที่ล้วนแล้วแต่ไปทางขวาง คือกระดูกสันหลังนั้นขวางโลก...

ที่ว่าเป็นของขวัญพิเศษก็เนื่องจากธรรมชาติหาได้หยิบยื่นสิ่งนี้แก่สิ่งมีชีวิตอื่นใดอีกไม่นอกจากมนุษย์ ทั้งนี้เนื่องจากเสรีภาพที่ว่านี้ เป็นการตระหนักรู้ เป็นสำนึก ไม่ใช่สัญชาตญาณ แต่เป็นการตระหนักรู้ หลังจากอารยธรรมมนุษย์ล่วงเลยมาถึงปลายศตวรรษที่ 16 เมื่อ เรอเน เดส์การ์ตส์ (Rene Descartes : ค.ศ.1596-1650) ได้นำเสนอแนวคิดทางด้านปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อนักปรัชญารุ่นต่อๆมาในกลุ่ม เหตุผล นิยม (rationalism) ซึ่งเป็นแนวคิดปรัชญาหลักในยุโรปอยู่ถึง 2 ศตวรรษ

เดส์การ์ตส์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักคิดแห่งยุคสมัยใหม่คนแรก เนื่องจากเป็นผู้วางรากฐานทางปรัชญาให้กับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติโดยใช้วิธีการ ที่เรียกว่า กังขาคติเชิงวิธีวิทยา (Methodological Skepticism) อธิบายว่ามนุษย์มีสิทธิสงสัยกับทุกๆความคิดที่สามารถจะสงสัยได้ ไม่มีความเชื่อแบบจารีต หรือความเชื่อทางเทววิทยาใดที่ไม่ถูกตั้งคำถามและตรวจสอบด้วยหลักของเหตุและ ผล วาทะสำคัญที่ยืนยงมาตลอดประวัติอารยธรรมคือการประกาศ "cogitoergo sum (เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่)" ซึ่งปรากฏในงานเขียน Discourse on Method อันเป็นข้อสรุปว่า  แท้ที่จริงแล้วมนุษย์เป็นเพียงอะไรบาง สิ่งที่กำลังคิด

สำหรับเดส์การ์ตส์ ในท่ามกลางการต่อสู้กับความคิดเก่าที่มีลักษณะล้าหลังกับความคิดใหม่ที่มีลักษณะก้าวหน้ากว่า ต้องเผชิญอุปสรรคอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากการที่เขาเริ่มงานเขียนชื่อ The World ในปี ค.ศ. 1629 แต่ไม่กล้าจัดพิมพ์ผลงานชิ้นนี้ เนื่องจากทราบข่าวการตัดสินคดีของกาลิเลโอ ที่มีขึ้นในปี ค.ศ. 1633 เมื่อกาลิเลโอมีอายุได้ 69 ปี คณะตุลาการศาสนาของประเทศอิตาลีได้มีมติบังคับให้กาลิเลโอถอนคำพูดของเขาที่ว่า "โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์" แต่กาลิเลโอปฏิเสธ เขาถูกผู้คนประณามหยามเหยียดว่าเป็นพวกนอกรีต และถูกทรมานจองจำจนตาบอดสนิททั้งสองข้าง ก่อนจะละสังขารจากโลกโดยมีคำสาปแช่งของศาสนาติดตัวไปยังปรโลก

งาน เขียนทั้งของกาลิเลโอและเดส์การ์ตส์ถูกอำนาจอัตตาธิปไตยของศาสนจักรโรมัน คาทอลิกประกาศไว้ใน รายการหนังสือต้องห้าม (Indexof Prohibited Books) และห้ามตีพิมพ์เผยแพร่อยู่นับร้อยปีหลังจากเดส์การ์ตส์เสียชีวิตด้วยโรคปอด บวมในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1650 (พ.ศ.2193) ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน อีก 16 ปีต่อมา ศาสนจักรโรมันคาทอลิกได้ใส่รายชื่องานเขียนทั้งหมดในชั่วชีวิตของเขาเข้าไปในรายการดังกล่าว

กล่าวสำหรับสังคมอารยะนับจากศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เสรีภาพในทางความคิดถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติ

ในวรรณกรรมสำคัญกลางศตวรรษที่ 20 เรื่อง "1984" (ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1949) ของนักคิดนักเขียนคนสำคัญของอังกฤษ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell : ค.ศ.1903-1950) เขียนถึงกฎหมายที่เลวร้ายที่สุดของรัฐเผด็จการ "โอเชเนีย" ที่รัฏฐาธิปัตย์ควบคุมความรู้ ความคิด ของประชาชนไว้โดยสิ้นเชิงอาชญากรรมที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดก็คือ อาชญากรรมทางความคิด (Thoughtcrime) อันเป็นข้อกล่าวหาสำหรับการคิดต่าง นั่นเอง

ดูเหมือนว่าเวลาผ่านไป 60 ปีข้อหาแบบนั้นกำลังคืบคลานเข้ามาครอบงำสังคมในอีกซีกโลกหนึ่งที่มันได้ถือกำเนิดขึ้นมาอีกหนหนึ่งแล้ว.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
การนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง คัดลอก ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สำนึกแห่งการสร้างประชาชาติที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

สำนึกแห่งการสร้างประชาชาติที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์


-1-
ให้ทุกวันเป็นวันเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ให้ทุกวันเป็นวันไว้อาลัยต่อวีรชนประชาธิปไตย ให้ทุกลมหายใจเป็นลมหายใจแห่งการกำจัดระบอบเผด็จอำนาจทุกรูปแบบ... ให้ทุกทุกลมหายใจเป็นลมหายใจของผู้คนที่ใฝ่หาและลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และความเป็นธรรมเพียงมาตรฐานเดียว...

ให้ทุกสำนึกเป็นสำนึกแห่งการสร้างประชาชาติที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ทุกคนที่ตื่นตัวทางประชาธิปไตย ร่วมก้าวออกมาเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ม็อบจะมีหรือไม่ไม่สำคัญ จากนี้ไปให้วิญญาณประชาธิปไตยก่อรูปและซึมซ่านโดยตลอดในคำพูดทุกคำ ในการกระทำทุกอย่าง ทุกลมหายใจเข้าออกและทุกกิจกรรม ล้วนดำเนินไปล้อมรอบพันธกิจใจกลาง คือสร้างชาติไทยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์... ทุกฝ่ายยุติวาทกรรมในลักษณะทีเล่นทีจริง "ขอพื้นที่คืน" "กระชับวงล้อม" เพราะวาทกรรมเหล่านั้นแฝงความตายของกว่า 80 ชีวิตและบาดเจ็บเกือบ 2000 รวมตลอดจนการสิ้นอิสรภาพของอีกร่วมร้อย และการถูกคุกคามสอบปากคำอีกหลายร้อย

ประชาชนจำเป็นต้องสร้างสำนึกประชาธิปไตยแบบ "อานาปาณสติ" ให้ตระหนักในประชาธิปไตยแบบ "รู้ตัวทั่วพร้อม" แม้ในความฝันก็ใฝ่ฝันถึงสรรพชีวิตภายใต้ดวงอาทิตย์ดวงเดียวกัน กับบรรยากาศประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ทุกรูปนามที่ตื่นตัวแล้ว ล้วนมีภาระหน้าที่ส่งผ่านคบไฟประชาธิปไตยต่อๆกันออกไป พันธกิจนี้ไม่ใช่ของผม ของคุณ หรือของใครคนใดคนหนึ่ง หากคือพันธิกิจของประชาชาติที่พร้อมแล้วที่จะก้าวออกมาสร้างโลกใหม่นี้ด้วยสองมือ

เร่งศึกษาหลักคิด/ทฤษฎีทางประชาธิปไตยที่มีลักษณะร่วมทางสากล ในเวลาเดียวกันทบทวนเส้นทางพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของประชาชาติ "สยาม" ที่ไปพ้นอคติทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ พร้อมกับพิจารณาแนวทางประชาธิปไตยนับการการอภิวัฒน์สยาม 2475

เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนทํศนะทางประชาธิปไตยกับทุกกลุ่มที่มีความเห็นแตกต่าง สร้างนโยบายหลักของขบวน "แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ" บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ทั้งเหมือนและแตกต่าง

ขจัดแนวคิดคับแคบ ของ "ลัทธิอัตตาธิปไตย" ในแนวร่วม ขจัดแนวทางเคลื่อนไหวแบบเอกเทศของ "ลัทธิอนาธิปไตย"

นั่นคือ ขบวนประชาธิปไตยที่เป็นเอกภาพจักต้องบังเกิดเพื่อนำการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่ ยิ่งใหญ่นี้ไปสูชัยชนะในที่สุด.

ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนจงเจริญ

-2-
หยุดเพ้อฝัน "ลัทธิเลือกตั้ง" และความงมงายใน "ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม" โดยหันมา "โค่นเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน"

การยอมรับ "กฎโจร" ก็เท่ากับการยอมรับความถูกต้องชอบธรรมของ "โจรกบฏ"

ทิศทางหลักของขบวนประชาชนคือการขับเคลื่อนพลังประชาธิปไตยทั้งมวลไปสู่การล้ม "รัด-ทำ-มะ -นูน 2550" เร่งสร้างขบวนแนวร่วมขนาดใหญ่ ผ่านการศึกษาทำความเข้าใจวิญญาณของปรัชญาประชาธิปไตย สถาปนาระบบคิดและระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น ก่อนอื่นในรูปการจิตสำนึกทางจินตภาพ เพื่อผลักดันไปสู่การเคลื่อนไหวที่เป็นจริง สถาปนาระบอบประชาธิปไตยทางกายภาพให้ได้ในที่สุด

ไม่มีใครปฏิวัติประชาธิปไตยได้สำเร็จ หากไม่คิดถึงการปฏิวัติทุกลมหายใจเข้าออก ทั้งยามหลับและยามตื่น และกระทั่งในความฝัน... ไม่มีใครหน้าไหนจะหล่อหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับมวลชนอันไพศาลได้ ตราบใดที่ใครคนนั้นยังไม่สลายอคติทางชนชั้นที่ได้เปรียบมวลชนทั้งหลายเหล่านั้นเป็นมรดกสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ... จงเหลียวกลับไปมองเบื้องหลังบนเส้นทางของสหายหญิงชายที่วีระอาจหาญ แล้วจึงหันมองอนาคตอันรุ่งโรจน์ ของประชาชน

-3-
ถึงอย่างไรในเวลานี้ หลังจากประสบการณ์ 38 ปี ผมไม่มองการสร้างประชาธิปไตยด้วยวิถีทางการใช้ความรุนแรง ด้วยกำลังอาวุธหรือจะด้วยการสร้างขบวนมวลชนขึ้นกดดันอีกต่อไป นั่นหมายความเช่นที่ผมประกาศมาแล้วในหลายกรรมหลายวาระ ว่า ผมไม่เชื่อว่าประชาธิปไตยสร้างขึ้นจากความเกลียดชัง ความอาฆาตมาดร้าย และความกระเหี้ยนกระหือกระหายเลือด

และอีกครั้งหนึ่งขอประกาศคัดค้านการใช้ความรุนแรงในการสร้างประชาธิปไตย บนพื้นฐานที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรมหาใช่เป็นผู้เลือก วิถีแห่งวิหิงสาเช่นที่ฝ่ายเผด็จอำนาจปฏิปักษ์ประชาธิปไตยใช้มาโดยตลอดประวัติศาสตร์การเมืองในสยามประเทศนี้

จากความพยายามสร้างวาทกรรม "ปรองดอง" "สมานฉันท์" หรือล่าสุด "ปฏิรูปประเทศ" ไม่เพียงสะท้อนนัยความเป็น "ตอแหลแลนด์" ที่ปิดหูปิดตาประชาชน มอมเมา ผูกขาดความถูกต้องชอบธรรมไว้แต่ฝ่ายเดียว หากคือตัวบ่งชี้ว่าประชาชนไม่อาจฝากความหวังไว้กับ "วาทกรรมตอแหล" (อีกครั้งหนึ่ง) ที่ว่าด้วยภาคประชาสังคม นั่นคือ NGOs ในประเทศนี้ทำงานแบบ "ลัทธิขุนนาง" หรือ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" มาหลายสิบปีแล้ว นับจากการสถาปนาความเป็นปึกแผ่น แบบ "เปี๊ยก ซัมเมอร์ฮิลล์" ที่มีคนใหญ่ๆถูกลากไปการันตี และไม่เพียง "ลัทธิเอ็นจีโอขุนนาง" แม้แต่ "ลัทธิสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจขุนนาง" ก็ทำลายขบวนสู้รบของผู้ใช้แรงงานทั้งประเทศไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกรณีล้อมสังหาร 6 ตุลาคม 2519

โค่นเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน

วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความคิดเห็นส่วนตัวกรณีขอนิรโทษกรรม

ความคิดเห็นส่วนตัวกรณีขอนิรโทษกรรม



(ถอดความและเรียบเรียงจาก CBOX newskythailand วันที่ 29 มิถุนายน 2552 ประมาณเวลา 16.00 น.)

แสดงความเห็นนะครับพี่น้อง... ผิดถูกรับฟังด้วย... การขอให้ยกโทษ ก่อนอื่นคือยอมรับว่าทำความผิด... ในกรณีนี้ หลัง 19 กันยา ผู้รักประชาธิปไตยตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ได้ใช้สัญลักษณ์เสื้อแดง เช่น กลุ่ม 24 มิถุนาฯ กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเด็จการ และ กลุ่ม นปก. ที่ยืนยันเรียกร้อง "ไม่เอา 2 มาตรฐาน" "ไม่เอา '50" และอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่ององค์กรอิสระก็ดี เรื่องตุลาการวิบัติก็ดี ล้วนไร้ความหมายไปทั้งหมด

พี่น้องครับ... ผมอยู่หน้าสวนจิตรฯเช้าวันที่ 14 ตุลา 2516 ถูกแก๊สน้ำตาด้วยครับพี่น้อง และมาถึงวันนี้ผมไม่ต้องการกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งกับนักเรียนนิสิตนักศึกษา และไม่ต้องการกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ทรราชและสมุนของมันครับ การนิรโทษกรรมทำให้ ไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ ครับ ในเมื่อเราสู้บนความถูกต้อง ผมว่าเราควรยืนหยัดให้ถึงที่สุดครับ... ใช่มั้ยครับพี่น้อง ผมไม่ต้องการให้เกิดปรากฏการณ์ "ซุกขยะใต้พรม" อีกแล้วในประเทศนี้ครับ

เราจะไปขอให้ยกในโทษที่เราไม่ได้ทำได้อย่างไรกันครับ วีรชน 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ สงกรานต์เลือด เค้าจะรู้สึกอย่างไรครับ ... จิตร ภูมิศักดิ์ - นายผี อศนี พลจันทร์ - ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน - พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง – และ ฯลฯ ทั้งหมดนั้นจะรู้สึกอย่างไรครับ ผมเชื่อว่าพวกเค้าเหล่านั้นไม่เคยหวังว่าพวกเราจะหาความเป็นธรรมด้วยการเรียกร้องนะครับพี่น้อง

36 ปีในขบวนแถวประชาธิปไตย ผมยืนยันมาตลอดว่าผมไม่ได้ทำผิด... ถ้าการสร้างประชาธิปไตยเป็นความผิด... ประเทศสหรัฐอเมริกาต้องไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว... สาธารณรัฐที่ 5 ของฝรั่งเศสต้องไม่มีอยู่แล้ว.... อารยประเทศทั้งหมดในซีกโลกตะวันตกต้องกลับไปมีชีวิตเหมือนในยุคกลางสิครับ

ถ้าเป็นไปได้ ขอประชามติของฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหมดครับ... ถ้าเป็นไปได้ ผู้อยู่บนเวทีเคลื่อนไหว ช่วยยืนยันวิสัยทัศน์ จุดยืน นโยบาย และทิศทางการเคลื่อนไหวของขบวนประชาธิปไตยด้วยครับ..... เราสู้เพื่อประชาธิปไตยใช่มั้ยครับพี่น้อง..... เราต้องฟังกันใช่มั้ยครับพี่น้อง

และสำหรับ "ผู้นำ" ขอความชัดเจนด้วยครับ ว่า ท่านทั้งหลายจะนำพาประเทศชาตินี้ ประเทศที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ไปสู่จุดไหนของประวัติศาสตร์ และในสถานะไหนในสังคมอารยะประเทศ....

แต่ขอยืนยัน...ว่าการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ไม่เป็นความผิดครับ... จะเป็นมากที่สุดคือผิดใจผู้เผด็จอำนาจเท่านั้นเอง ฉะนั้น การขอโทษก็อาจจะนำมาซึ่งการขอประชาธิปไตยก็ได้นะครับ ผมพูดและเขียน "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" มาหลายเดือนก่อน "สงกรานต์เลือด 52" ว่าอยู่ในบริบทเดียวกับของหัวหน้าผู้ก่อการฯฝ่ายพลเรือน นายปรีดี พนมยงค์ครับ นั่นคือ ประชาธิปไตยทั้งทางเศรษฐกิจ และในทางการเมือง นั่นคืออีกเหมือนกัน ว่าทั้ง 2 อย่างนั้น ไม่มีใครเคยยกให้ใครเปล่าๆแม้แต่ครังเดียวครับพี่น้อง ไม่อย่างนั้นไม่ต้องรอถึงคณะราษฎรหรอกครับ คณะเก๊กเหม็งหรือคณะ ร.ศ.130 เรื่องก็คงจบไปแล้วนะครับพี่น้อง

ถามจริงๆนะครับพี่น้อง จิตร ภูมิศักดิ์ ในสายตาประชาชนผู้รักประชาธิปไตย รักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ กับ สายตาของพวกปฏิปักษ์ประชาธิปไตยนั้น เหมือนกันหรือแตกต่างกันหรือไม่อย่างไรครับ

แล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ ตายในสถานะคอมมิวนิสต์ใช่มั้ยครับพี่น้อง... มีใครคิดกอบกู้ชื่อเสีียงของคุณจิตรอย่างเป็นทางการบ้างครับพี่น้อง..... ความตายของคุณจิระ บุญมาก เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 มีคุณค่าเฉพาะในทางจิตใจของผู้รักประชาธิปไตยเท่านั้นเองครับ ในแบบเรียนประวัติศาสตร์สักเล่มมีพูดถึงมั้ยครับ......พี่น้องงงงงงง

มีใครคิดกอบกู้ชื่อเสียงของคุณจิตรอย่างเป็นทางการบ้างครับพี่น้อง

ผมยังขอยืนยันนะครับพี่น้อง ว่าการเคลื่อนไหวที่พัฒนามาจากการต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้น เนื้อแท้คือการ… "โค่นระบอบอำมาตย์ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน"

ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนจงเจริญ ด้วยภราดรภาพครับพี่น้อง

รบกวนด้วยครับ พี่น้องและมิตรสหายทั้งหลาย ใครมี authority รบกวนด้วยแล้วกันครับ คนตัวเล็กๆอย่างผมได้ทำหน้าที่แล้วครับ และคงไม่มีแกนนำคนไหนบังเอิญได้ยินหรอกครับ รบกวนพี่น้องที่นำเสนอด้วยก็แล้วกันครับ ขอบคุณสำหรับการรับฟังอย่างมีสติ ใช้เหตุผล และจริงใจต่ออนาคตของชาติบ้านเมืองที่จะต้องตกถึงมือของลูกหลานเราอย่างไม่ มีทางเลี่ยงครับ


โพสต์ครั้งแรก 29 มิถุนายน 2009, 17:26:49
http://www.newskythailand.us/board/index.php?topic=6397.0
ปัจจุบัน ดูที่ http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=6397.0

ผลักดัน 5 ล้าน 4 แสน เจตจำนงเสรี ไปสู่การสร้างชาติไทยใหม่

ผลักดัน 5 ล้าน 4 แสน เจตจำนงเสรี ไปสู่การสร้างชาติไทยใหม่



ทันทีที่การประกาศจำนวนประชาชนที่ร่วมลงชื่อใน "ฎีการ้องทุกข์" ว่าสูงถึง 5,363,429 คน ความเคลื่อนไหวจากปีกปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ก็ดาหน้ากันออกมาแสดงอาการร้อนรุ่มทุรนทุรายไปตามๆกัน กระทั่งล่าสุดจากข่าว มติชนออนไลน์ ที่พาดหัวแบบจุดพลุว่า จม.เปิด ผนึก อ.จุฬาฯกว่า1500 คนค้านฎีกาอภัยโทษ "แม้ว" ชี้อันตราย กดดัน-กระทบศรัทธาสถาบัน หากในเนื้อหาข่าวกลับโอละพ่อ เป็น "จนกระทั่งเย็นวันที่ 4 สิงหาคม มีคณาจารย์จุฬาฯลงชื่อแล้วกว่า 300 คนและบุคคลากรรวมกว่า 1,500 คน และคาดว่า ในวันที่ 5 สิงหาคมซึ่งมีการประชุมคณบดีจะนำจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวให้คณบดีที่เห็นด้วยลงนาม"

ตลอดระยะเวลาประมาณ 1 เดือน นับจากการประกาศในที่ชุมนุมกลางพายุฝน ณ เวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดงท้องสนามหลวง เมื่อวันนี่ 27 มิถุนายน จนช่วงเวลาก่อนและหลังวันดี-เดย์ เพื่อนับจำนวนผู้ร่วมลงรายชื่อ ปฏิกิริยาแทบจะในลักษณะรายวันจากผู้คนทุกๆฝ่าย ล้วนพุ่งเป้าไปที่ "จุดมุ่งหมาย" ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการเคลื่อนไหวรอบนี้ของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน

ฝ่ายรัฐ อาศัยเครื่องมือประชาสัมพันธ์สำเร็จรูป นั่นคือฟรีทีวีทั้งระบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานี "หอยม่วง" ที่เกิดจากภาษีอากรของประชาชนล้วนๆ พุ่งเป้าโจมตีไปที่ความ "ควร-ไม่ควร" "ทำได้-ไม่ได้" อยู่แทบจะตลอดเวลา ทั้งโหมประโคมเภทภัยทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่ร่วมลงชื่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พร้อมกับความพยายามที่จะรุกกลับด้วยการใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆนานา ให้ประชาชนถอนรายชื่อ "อย่างเป็นทางการ"

มีสภาวะน่าจับตามองในช่วงเวลาท้ายๆ ก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม ปรากฏอยู่ตามเว็บบอร์ดและห้องสนทนาทุกรูปแบบในโลกไซเบอร์ของพลังประชาธิปไตย คือคำถามระหว่างกัน ว่า "ถ้าได้จำนวนผู้ลงรายชื่อสัก 5 ล้าน แล้วไม่เกิดผลอะไรขึ้น จะทำอย่างไรกันต่อไป" และยิ่งกลายเป็นคำถามดังขึ้นทุกที ตามเวทีปราศรัยของคนเสื้อแดงตามภูมิภาค

แต่สำหรับฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยแล้ว เป้าหมายของการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงหนนี้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป อาการลุกลี้ลุกลน หรือแทบจะเรียกได้ว่าพล่านนั้น อยู่ที่ปริมาณของประชาชนที่เดินเปิดหน้าออกมาแสดงเจตนารมณ์ ด้วยการให้ทั้งชื่อและรายละเอียดระบุบุคคล ในการสะท้อนความคับข้องใจกับกระบวนการยุติธรรมชนิด 2 มาตรฐาน

หากย้อนกลับไปครั้งการลงประชามติ "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" ที่ผลออกมาว่า มีผู้เห็นชอบ 14,727,407 คน และไม่เห็นชอบ 10,747,310 คน ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า แม้ในจำนวนผู้เห็นชอบเอง ก็ลงคะแนนไปโดยจุดยืนที่เชื่อถือการโฆษณาชวนเชื่อจากฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า รับไปก่อนแล้วค่อยแก้กันทีหลัง

นั่นหมาย ความว่า เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ประเทศนี้ ประชาชนที่ใส่ใจกับปัญหาทิศทางและการพัฒนาการของชาติบ้านเมืองที่มีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตนนั้น มีจำนวนถึงครึ่งต่อครื่งที่แสดงเจตจำนงต่อต้านระบอบเผด็จการและผลิตผลของระบอบเผด็จการ ซึ่งก็คือกฎหมายสูงสุดของระบอบการปกครอง

คำถามคือ ก็ในเมื่อฝ่ายประชาธิปไตยเชื่อมั่นในพลังประชาชนที่เปี่ยมล้นไปด้วยจิตใจกล้าสู้กล้าชนะ เริ่มจากกลุ่มคนจำนวนหยิบมือเดียวแสดงตัวคัดค้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และต่อมาขยายจำนวนเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งหลัง "สงกรานต์เลือด 2552" ซึ่งยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ "กฎอัยการศึก" หรือ "สถานการณ์ฉุกเฉิน" นั้นหมายความว่า ประชาชนได้ยกระดับความเข้าใจและจิตสำนึกต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์

เป็นไปได้ไหม ที่พลังฝ่ายประชาธิปไตยจะร่วมกันอีกครั้ง ระดมสรรพกำลังแสดงเจตจำนงในฐานะเสรีชน ขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับพัฒนาการทางการเมืองของปิตุภูมิไปสู่ความมีอารยะ ด้วยการสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ หลังจากถูกแย่งยึด บิดเบือนไปโดยฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย อันประกอบไปด้วยกลุ่ม "อำมาตย์-อภิชน-ขุนศึกฟาสซิสต์" นับจากวินาทีแรกของการทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่นำโดยขุนศึก ผิน ชุณหะวัน

สร้างขบวนแถวผู้รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรม ออกมาสำแดงกำลัง รณรงค์ไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจอธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ด้วยการผลักดันให้สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน ที่ประชาชนสามารถ "เลือกผู้นำฝ่ายบริหาร" หรือ "นายกรัฐมนตรี" ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เช่นนานาอารยะประเทศ และใช้การลงคะแนนเสียงในกระบวนการยุติธรรมด้วยระบบ "ลูกขุน" ที่อำนาจในการพิพากษาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ตกอยู่ใน "กำมือ" ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่ผู้เดียว

ถ้าเราไม่ตั้งต้นริเริ่มออกแบบสังคมที่พึงปรารถนาสำหรับอนุชนที่เป็นลูกหลานของเรา ให้พวกเขาเกิดและเติบโตขึ้นมาในสังคมอารยะ อย่างไม่ต้องเผชิญกับ "การปกครองแบบเผด็จอำนาจ" ที่กดหัว-ปิดปาก จนเสรีชนไม่อาจมีชีวิตเยี่ยงเสรีชนได้อย่างที่เห็นและเป็นอยู่

จะมีประโยชน์อะไรกับการเรียกขานปิตุภูมิของเราว่า "ไทย" ตามเสียงพ้องของที่มาของชนชาติบรรพบุรุษที่เรียกตนเองว่า "ไท".

ด้วยภราดรภาพ



โพสต์ ครั้งแรก 5 สิงหาคม 2009, 01:55:38
http://www.newskythailand.us/board/index.php?topic=6948.msg22212#msg22212
ปรับ ใหม่หลังถูกบล็อก
http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=6948.msg22212#msg22212

ระลึก 75 ปีธรรมศาสตร์ ระลึกผู้ประศาสน์การ

ระลึก 75 ปีธรรมศาสตร์ ระลึกผู้ประศาสน์การ


เรียนมิตรสหายทุกคน,

บังเอิญมีชื่อเป็น "ครึ่งศิษย์" น่ะครับ เสนอความเห็นเล็กน้อยเท่านั้น

คือการรำลึกการเกิดขึ้น-ดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศ ที่เกิดขึ้นหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 โดยละเลยการกล่าวถึง "ผู้ประศาสน์การ" และหัวหน้าคณะผู้ก่อการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือในเวลาต่อมาใช้ชื่อว่า "คณะราษฎร" นั้นทำให้ผมรู้สึกทะแม่งๆเสมอมา แม้เมื่ออำนาจรัฐในสมัยหนึ่งลงทุนกร่อนชื่อมหาวิทยาลัยสำหรับ "รากหญ้า" หรือ "ประชาชนชั้นล่าง" เมื่อ 75 ปีที่แล้ว จากชื่อที่สะท้อนความเกรียงไกรเท่าที่ประชาสามัญชนจะมีโอกาสลิ้มลองเกียรติภูมิในระดับนั้น นั่นคือ "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง"

ประการหนึ่งสำหรับนักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนรหัส 159xxx หรือ 158xxx ก็ดี จะจำได้คือ ครั้งนั้น ค่าหน่วยกิตของธรรมศาสตร์อยู่ที่ 25 บาท/หน่วยกิต ในขณะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงอยู่ที่ 10 บาท/หน่วยกิต ซึ่งสะท้อนโอกาสที่เปิดค่อนข้างกว้างสำหรับการศึกษาของมหาชนชาวสยามนับจาก การประกาศ "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร" ซึ่งชาวธรรมศาสตร์ทุกยุคทุคสมัยสมควรภาคภูมิใจอย่างลึกซึ้งว่า ร่างโดยผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย

แต่ยิ่งบ้านเมืองก้าวมาไกลเพียงใด นับจากการอภิวัฒน์ครั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสถาปนาสถาบันอุดมศึกษาที่มีกำเนิดเพื่อที่ลูกหลานของสามัญชนชาวสยาม อาจได้พัฒนาศักยภาพ ความรู้ความสามารถ เพื่อประโยชน์ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม การณืกลับปรากกว่า แหล่งผลิตบัณฑิตสำหรับสามัญชนกลับตกอยู่ในสภาพกู่ไม่กลับ เสียยิ่งกว่าบางมหาวิทยาลัยที่หาได้มีจุดกำเนิดที่เต็มไปด้วยเกียรติภูมิและมีประวัติศาสตร์เคียงข้างพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใดไม่

ความภาคภูมิใจประการถัดมาสำหรับชีวิตครึ่งๆกลางๆในฐานะครึ่งศิษย์ คือการได้มีโอกาสมีชีวิตร่วมสมัยกับอธิการบดีอย่าง นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ทั้งชีวิตปราศจากรอยด่างแม้สักจุดเท่าจุลินทรีย์

และความภาคภูมิใจประการสุดท้าย คือ การได้ประกาศความเป็นนักศึกษาที่นี่ เข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทหารที่ครอบงำและฉุดรั้งพัฒนาการของสังคมทั้งระบบในห้วงเวลาคาบเกี่ยวก่อนหน้าและหลังจาก "เหตุการณ์เดือนตุลา" ทั้ง 2 ครั้ง

ณ เวลานี้และไม่ว่าเวลาไหนๆ ผมไม่เคยคิดเสียใจที่ตัดสินใจก้าวออกจากห้องพักนายเสน่ห์ จามริก ช่วงต้นปี 2519 หลังจากปฏิเสธการศึกษาในระบบโดยสิ้นเชิง

แต่สิ่งที่ผมแลกได้มาคือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่แม้มาถึงปัจจุบันนี้ ยังตกอยู่ในสภาพต่ำต้อยน้อยหน้า ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกแย่งยึดไปแม้กระทั่งสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ นั่นคือ "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"

ผมหวังว่า พี่น้องเหลืองแดงครึ่งเลือดอย่างผม ยังมีศักดิ์ศรีพอสำหรับเพลง "มาร์ชธรรมศาสตร์" ซึ่งมีที่มาจากบทเพลงแห่งการอภิวัฒน์ใหญ่ในฝรั่งเศส

และปัจจุบันคือ เพลงชาติฝรั่งเศส "ลามาร์แซแยส" (La Marseillaise) ดนตรีต้นฉบับโดย โคลด โจเซฟ รูเชต์ เดอ ลิสล์ (Claude Joseph Rouget de Lisle) เมื่อ ค.ศ. 1792 (พ.ศ. 2335) ประพันธ์เนื้อร้องภาษาไทยโดย "ทวีป วรดิลก" หนึ่งในลูกที่ดีที่สุดของแม่โดม บนเส้นทางการสร้างชาตินับจากการอภิวัฒน์ประเทศ 24 มิถุนายน 2475

ขอสดุดีชีวิต เลือดเนื้อ จิตวิญญาณ และเจตนารมณ์ ของทุกรูปนาม ที่เดินตามรอยเท้าผู้ประศาสน์การ นายปรีดี พนมยงค์ สามัญชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ประวัติศาสตร์ไทยเคยรู้จัก
 
สร้าง ประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน
ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนจงเจริญ
ด้วยภราดรภาพ


หมายเหตุ : ด้วยความเป็นครึ่งศิษย์ และได้รับจดหมายเวียนเชิญชวนร่วมงาน และโดยสำนึกใน 37 ปีของการปวารณาตัวเป็นศิษย์ในปีการศึกษา 2515 ขอพูดในสิ่งที่คิดว่ามีสิทธิจะพูด...สักครั้ง.

โพสต์ครั้งแรก 21 มิถุนายน 2009, 09:17:01 [เว็บถูกบล็อกและเปิดใหม่ ->]
http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=6302.0

หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร หนึ่งในเส้นทางขายหุ้นชินคอร์ป

หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร หนึ่งในเส้นทางขายหุ้นชินคอร์ป


หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ในปี 2549 ในฐานะตัวแทนบริษัทซี ดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และ บริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้รายงาน (14 มีนาคม 2549) ผลการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.-9 มี.ค.49 ปรากฏว่า มีผู้แสดงเจตนาขาย 46.91% ของจำนวนหุ้นที่ทำคำเสนอซื้อทั้งหมด 50.01% ทำให้ภายหลังจากการเสนอขายครั้งนี้แล้ว ซีดาร์ โฮลดิ้งส ถือหุ้นชิน คอร์ป 1,571 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 51.98% และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นชิน คอร์ป 1,334 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 44.14% รวมทั้ง 2 บริษัทถือหุ้นชิน คอร์ป อยู่ 2,905 ล้านหุ้น หรือ 96.12% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ส่วนใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นสามัญของชินคอร์ป (SHIN-W1) มีผู้แสดงเจตจำนงขาย 159,121,700 หน่วย หรือ 5.26% จากจำนวนที่เสนอซื้อ 159,416,441 หน่วย หรือ 5.27% ซึ่งหากซีดาร์ และแอสเพน ใช้สิทธิ์แปลงสภาพ จะมีจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มขึ้นจาก 2,905 ล้านหุ้น เป็น 3,064 ล้านหุ้น หรือ 96.31%

ทั้งนี้มีรายงานผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2550 ของ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด พบว่า มีกำไรสุทธิ 193.09 ล้านบาท ลดลงจาก 6 เดือนแรกของปี 2549 ที่มีกำไรสุทธิ 500.06 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานงวดปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่ บล.ไทยพาณิชย์ ทำดีลบิ๊กล็อตหุ้นชินคอร์ป พบว่ามีกำไรสุทธิ 596.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่มีกำไร 388.90 ล้านบาท ขณะที่ด้านส่วนแบ่งตลาดนายหน้าซื้อขายหุ้น พบว่า ปี 2548 บล.ไทยพาณิชย์มีมาร์เก็ตแชร์ 5% เพิ่มขึ้นเป็น 6.41% ในปี 2549 แต่ลดลงเหลือ 5.10% ในปี 2550 และล่าสุดช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 มีมาร์เก็ตแชร์ 4.91%

หม่อมหลวงชโยทิตสมรสกับ มนทกานติ์ กฤดากร (ปราโมช) บุตรสาวของ หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช องคมนตรี และท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา มีบุตรชาย 1 คนคือ ปิยกร กฤดากร ณ อยุธยา

หม่อมหลวงชโยทิต เป็น 1 ใน 17 พระประยูรญาติผู้อัญเชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องพระอิสริยยศ ประกอบริ้วขบวนเชิญพระโกศ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยรับหน้าที่อัญเชิญพระสุพรรณีศรีทองคำลงยา เป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับสมเด็จเจ้าฟ้า สร้างขึ้นมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร เป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์ยงสวาสดิ์ กฤดากร อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โอรสของ หม่อมเจ้าเสริมสวาสดิ์ กฤดากร (พระโอรสองค์ใหญ่ใน พระบรมวงศ์ เธอพระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศวรฤทธิ์ กับ หม่อมเจิม) กับ หม่อมหลวงแส กฤดากร (สกุลเดิม สนิทวงศ์ โดยมีศักดิ์เป็นพี่ของ หม่อมหลวงบัว กิติยากร พระราชชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ)

พระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ต้นราชสกุล "กฤดากร" ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 17 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแด่เจ้าจอมมารดากลิ่น หรือ ส้อนกลิ่น หรือ ซ่อนกลิ่น ธิดา พระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) หลานปู่ของ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย) ทรงว่าราชการกรมพระนครบาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นเรียกชื่อว่า "คอมมิตตี กรมพระนครบาล" ต่อมาได้พัฒนามาเป็นกิจการตำรวจไทย

นอกเหนือจากหม่อมเจิมแล้ว พระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ากฤษดาภินิหารยังมีพระโอรส-ธิดากับหม่อมสุภาพ 7 องค์ พระโอรสองค์ที่ 2 คือ พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระโอรสองค์ที่ 4 คือ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร

และพระโอรส-ธิดากับหม่อมแช่ม 4 องค์ พระธิดาองค์สุดท้องคือ หม่อมเจ้าหญิงลีลาศหงษ์ กฤดากร เษกสมรสกับหม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล ซึ่งทรงมีหม่อมอีกหนึ่งคน คือ หม่อมแตงไทย เดชผล และมีโอรส คือ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ "หม่อมอุ๋ย" (อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล พล.อ.สุ รยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมาด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ต่อมาได้ยื่นใบลาออกเนื่องจากไม่พอใจที่ต้องร่วมงานกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หนึ่งในคณะรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธรมีบุตรชายซึ่งเป็นที่รู้จักของสังคม คือ หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ "คุณปลื้ม"

หม่อมราชวงศ์ยงสวาสดิ์สมรสกับ ท่านผู้หญิงวิยะฎา กฤดากร ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ผู้ตามเสด็จตกที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ. 2541 มีบุตรธิดาคือ หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี และ หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร

หม่อมราชวงศ์ยงสวาสดิ์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 สิริรวมอายุ 82 ปี

บุตรีของหม่อมราชวงศ์ยงสวาสดิ์กับท่านผู้หญิงวิยะฎา คือ หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี สมรสกับ นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ทายาทของนายจำนงค์ ภิรมย์ภักดี และคุณหญิงสุภัจฉรี ภิรมย์ภักดี มีบุตร 3 คนคือ จิตภัสร์ นันทญา และณัยณัพ

หม่อมหลวงปิยาภัสร์เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปจากการรับบทเป็น "สมเด็จพระสุริโยทัย" ในภาพยนตร์ "สุริโยไท" ของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ในชีวิตจริงหลังการเสียชีวิตของท่านผู้หญิงวิยะฎาผู้เป็นมารดา จึงเข้าถวายงานบางส่วนในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

พิมพ์ครั้งแรกใน คอลัมน์ "คือใครในแผ่นดิน"
นิตยสาร THAIFREEDOM ฉบับที่ 3, มีนาคม 2553

วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ร่าย "โองการสาปแช่งฟ้าดิน"

ร่าย "โองการสาปแช่งฟ้าดิน"


เหยเหยมหาบท บรรจงจดดินเดือด เหือดโหยหาปรานี ราชธานีปริเทวษ เทื้อผีเปรตครองนคร ผองอมรเข้าด้วย ทวยราษฏรจ่อมจม อกขื่นขมแน่นร้าว เลือดท่วมด้าวธรณินทร์ ลินลาศล้วนรถศึก อึกทึกเสียงกัมปนาท ประชาชาติลุกตื่น ยืนหยัดท้าเผด็จมาร สูดลมปราณโถมสู้ ปราบริปูราญรอน เกียรติกำจรก้องหล้า พฤษภาประกาสิต อำมหิตเข่นพิฆาต แหลกใต้บาทภูตพราย อสุรกายฟาสซิสต์ อิทธิฤทธิ์กระเดื่องเดช ถ้วนไทยเทศประจักษ์ บ่มิพักเวทนา ทั้งพาราแดงฉาน ดั่งท้องธารเลือดทา ผู้รักประชาธิปไตย เกรียงไกรประกาศกล้า ให้โลกหล้าระบือไกล ว่าคือไทใช่ทาส สู้อุบาทว์ใจทราม ลุเหยียดหยามเสรี เข้าต่อตีกวาดล้าง ตัดหนทางสร้างชาติ เอกราชอธิปไตย ด้วยจิตใจหยาบช้า ทั้งสามานย์หลุดโลก เสียงวิปโยคห่อนยิน เปรียบเพียงดินธุลีเถ้า เป็นดั่งเป้าลองปืน ผู้โหดหื่นอาธรรม กรรมนั้นจงปรากฏ ไป่ประณตสองมือ ด้วยยึดถือสัจจะ แหละธรรมะมนุษย์โลก โบกโบยบินเสาะแสวง จวบฟ้าแจ้งกระจ่างใส ผองจังไรจงประสบ พบวิบากแห่งกรรมชั่ว ก่นมัวเมาละศีล ปาณาติบาตนั้นแล ฯ

นายชั้น ทุนน้อย
2 มิถุนายน 2553

"ยศช้าง ขุนนางพระ"

"ยศช้าง ขุนนางพระ"



ผมนั่งอยู่หน้าตู้สีเหลี่ยมผืนผ้า
ที่มีภาพผู้คนเดินไปมาขวักไขว่
ผู้คนหญิงชาย ผู้คนชราฉกรรจ์
ล้วนยิ้มย่องผ่องใสหน้าระรื่นชื่นมื่น
ผมเห็นผู้คนสะพายแถบแพรไหม
ไขว้สะพายแล่ง ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง
สีสันสองแม่สีเป็นหลักแซมสีอื่น
ผมไม่รู้ความหมายในความแตกต่าง
ก็แค่คนนอกของสังคมสายสะพาย
อย่างดีก็แค่หนีพ้นสังคมสนตะพาย

บนแถบแพรและอกเสื้อสองข้าง
ผมเห็นสรรพเหรียญและสรรพแถบ
บ้างมีโบเล็กเล็กหลากสีห้อยเป็นแฉก
หาไม่ก็เคียงข้างหรือประดับบนล่าง
ด้วยสัญญาณแห่งนักรบไร้สนาม
โอ... ช่างเมลืองมลังอลังการ์
หลายคนจืบดื่มเมรัยหอมหวาน
ที่ผู้คนทั่วไปไม่คุ้นชื่อรู้จักที่มา

ทุกคนเหล่านั้น...
ไม่ได้พูดเรื่องต้องทนแกร่วกระเสือกกระสน
ไม่ได้พูดถึงอาหารจานน้อยที่ต้องกินให้อิ่ม
ไม่ได้พูดแค่ชีวิตที่อยู่เพียงผ่านวันคืน
เพื่อจะได้ลืมตาตื่นในรุ่งอีกคืนวัน
อีกวัน... และอีกวัน... กับลมหายใจ
ที่ไม่มีวันเข้าใจถ้อยคำของพระอริยะ
ที่ว่าไว้... "ยศช้าง ขุนนางพระ"

เออสิวะ... "ยศช้าง ขุนนางพระ".

นายชั้น ทุนน้อย
00.42 นาฬิกาก่อนเที่ยง
8 พฤษภาคม 2553

ข่มขืนประชาธิปไตย..แม่งซะเลย

ข่มขืนประชาธิปไตย..แม่งซะเลย



ผมเอียนท่าทีอันธพาล
ไม่ว่าจะมาจากฝั่งไหน
ผมเอียนท่วงทำนองขุนศึก
ไม่ว่าจะเป็นของพวกใด
ผมอยากอ้วกเวลาใครสักคนพูด
อยากสำรอกจนสิ้นไส้เมื่อเขาสำราก
ว่าคนของผมจะทำโน่นทำนี่
ถ้าคุณไม่ทำตามที่ผมต้องการ
ผมนึกไม่ถึงว่าจะมีคนสติดีที่ไหน
ลากคนไม่เกี่ยวข้องมาเป็นเดิมพัน
ผมไม่เข้าใจว่าทำไมประชาธิปไตยต้องหยาบคาย
และผมอยากรู้ ประชาธิปไตยของคุณกับผม
หรือของคุณกับเขา
มันเป็นประชาธิปไตยแบบเดียวกันไหม
ที่ไม่มีใครได้ ไม่มีใครเสีย
คุณจะเกลียดผมก็ได้
ถ้าเพียงเพราะรู้สึกไม่ชอบสิ่งที่ผมคิด
แต่คุณไม่มีสิทธิเกลียดผม
ถ้าจะกล่าวหาว่าผมไม่เป็นประชาธิปไตย
คุณมาแล้วก็ไปพวกนั้นมาแล้วก็ไป
ขณะที่ผู้คนมากหลายจมปลักอยู่
แต่ผมจะอยู่ตรงนี้ อยู่ร่วมกับผู้คน
ที่พวกคุณยกอ้างกันจนชินปาก
คงสักวัน ที่ผมจะเกิดความละอายอย่างสุดซึ้ง
ที่จะกล่าวคำ "ประชาธิปไตย"
"ฟัคยู".

โพสต์ครั้งแรก 6 เมษายน 2010 เวลา 23:59 น.
http://www.facebook.com/profile.php?id=1792040961&v=app_2347471856&ref=profile#!/note.php?note_id=378799099351

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ตำนานเด็กดื้อ : ระลึก 15 ปี 14 ตุลาฯ

ตำนานเด็กดื้อ : ระลึก 15 ปี 14 ตุลาฯ


หนึ่ง บทเกริ่น
หวนรำลึกคืนวัน "กลางฝนกรรชากกรากเชี่ยว"


ช่วงเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2531 เผอิญผมมีโอกาสดูแลส่วนวรรณกรรมของนิตยสารการเมืองรายสัปดาห์ (สู่อนาคต) ฉบับที่นิทานเรื่องนี้ลงตีพิมพ์เป็นครั้งแรก จำได้ว่าห้วงระยะนั้น "คน เดือนตุลา" ที่ออกหน้าออกตาในวันนี้ ยังอยู่กันอย่างกึ่งดิบ ดูเหมือนว่าการนำช่วงชีวิตของการมีส่วนร่วมมาอ้างเอาเกียรติภูมินั้น ยังเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ และ/หรือไม่น่าจะทำ ผมเองจึงอาศัยอำนาจของบรรณาธิการส่วนหลังจัดรายการประกวดบทกวี "รำลึกสิบห้าปีสิบสี่ตุลา" และเขียน "ตำนานเด็กดื้อ" นี้ขึ้น ด้วยความรู้สึกที่ยังคงตามติดตัวมาตราบวันนี้ถึง 30 ปีแล้ว

ความรู้สึกอย่างนั้น แม้มาถึงวันนี้ ยังส่งให้ผมปฏิเสธความเป็น "ผู้หลงผิด" หรือ "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" ความรู้สึกอย่างนั้น ที่ยังคงทำให้ผมคิดถึง เชียง บัณฑราภิวัฒน์ ผู้ซึ่งบอกเล่ากันมาว่ายิงตัวตายในฐานที่มั่นจังหวัดตาก ยังทำให้ผมคิดถึง ดำรง คำนาคแก้ว หนึ่งในกลุ่มฟันเฟืองพิทักษ์ขบวนนักศึกษาประชาชนช่วงตุลาคม 2516 นั้น และร่วมรับบริจาคเงินช่วยเหลือจากประชาชนที่ผ่านมือเราวันหนึ่งแต่ละหน่วยนับแสนบาท ที่แม้ในเวลาต่อมาจะถูกกีดกันออกไป (จะด้วยเหตุผลใดก็ตามที) กระทั่งยืนอยู่คนละฝ่ายกับผม...

นอกเหนือจากนั้นผมยังคิดไปถึง ลุงลำยวง ซ่องสกุล ที่อำเภอเดิมบางนางบวช น้าไช่ วังตะกู จากพิษณุโลก ประสิทธิ์ ไชโย ผู้นำกรรมกรจากอ้อมน้อย คิดถึงคนอย่าง วรเชษฐ์ พูนพิทยานันท์ (ถ้าจำไม่ผิด) ผู้ล้มละลายทางความคิดไปโดยสิ้นเชิง และรวมตลอดไปจนถึงผู้กล้านิรนามอีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่โชคดีกว่าผม ด้วยละจากโลกนี้ไปพร้อมกับความใฝ่ฝันแสนงามซึ่งยากจะหวนคืนสู่ความคิดคำนึงอีกต่อไปหลายปีภายหลัง "เหตุการณ์เดือนตุลาสองหน"

โดยอาชีพคนหนังสือ ผมสัมผัสงานเขียนในพากย์ไทยหลายเล่มโดย เฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse) หนึ่งในจำนวนนั้นคือ "ท่องตะวันออก" (อังกฤษ "Journey to the East" และเยอรมัน "Die Morgenlandfahrt") เฮสเสเขียนถึง "สันนิบาตท่องตะวันออก" ที่พันธกิจศักดิ์สิทธิ์ของสมาชิกมีเพียงประการเดียว คือ มุ่งไปสู่ตะวันออก มิไยว่าสมาชิกอื่นจะยังดำรงอยู่หรือไม่ กระทั่งตัวสันนิบาตเองจะยังอยู่หรือล่มสลายไปแล้ว

เฮสเสประกาศอย่าง ชัดแจ้งว่า "สมาชิกสันนิบาตท่องตะวันออกนั้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเคยเป็น มีแต่เป็นหรือไม่เป็น เพียงสองทางเท่านั้น"

สำหรับผมแล้ว "คนเดือนตุลา" นั้นต้องมีวิญญาณของคนเดือนตุลาตลอดไป วิญญาณที่สืบช่วงความรู้สึกของบทกวีที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล "เราชุบด้วยใด" ของ "อุชเชนี (ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา)" สำหรับคนหนุ่มสาวที่ว่า


ฉันใคร่เห็นเธอก้าวไป
กลางไพรเกลื่อนพฤกษ์ลึกหนา
กลางแดดแผดเผามรรคา
กลางป่าปริปรวนครวญครืน
กลางน้ำกรรชากกรากเชี่ยว
กลางเกลียวฝนกราดฟาดฝืน
กลางโคลนคลุกครูดดูดกลืน
กลางคืนครอบคิดมิดมูล
ก้าวไปแม้ไฟล่มโลก
ก้าวไปแม้โชคดับสูญ
ก้าวไปแม้ไร้คนทูน
ก้าวไปแม้พูน คนชัง...


รวมทั้งกวีนิพนธ์ของหลู่ซิ่น ที่แปลโดยจิตร ภูมิศกดิ์

แม้นคนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย
จงขวางคิ้วเย็นชาเฉยเถิดสหาย
ต่อผองเหล่านวชนเกิดกร่นราย
จงค้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน


นั่นแหละ วันเวลาอย่างนั้นจึงอุบัติขึ้นมาเป็นเหตุในประเทศนี้.

นิรันดร์ สุขวัจน์
ตุลาคม 2546

**********************************************************************


สอง ตำนาน
นิทานพิสดารแห่งราศีตุลย์


ครั้งหนึ่งยังไม่นานเท่าใดนัก แต่ก็เพียงพอที่ผู้คนจะจดจำเรื่องราวเหล่านี้เกือบไม่ได้แล้ว แม้กระทั่งหลายคนเคยโลดแล่นมีชีวิตชีวาเป็นส่วนหนึ่งในตำนานนี้ ยังพลอยเข้าใจไปว่าเรื่องราวแปลกประหลาดทำนองนี้ไม่เคยมีอยู่จริง มิหนำซ้ำบางคนถึงขนาดทำทีเป็นว่าหาได้เกิดเรื่องราวนี้ขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งในชีวิตของเขาไม่

ครั้งนั้น ในดินแดนภาคใต้ของแผ่นดินซึ่งปรากฏตัวเป็นผืนเดียวกันโดยตลอดอันกว้างใหญ่ที่สุดบนดาวเคราะห์ที่เรียกกันว่าโลกราหู ยังมีสวนป่าแห่งหนึ่งอุดมด้วยรุกชาติและธัญญาหารนานาพันธุ์ เป็นที่อาศัยของสรรพสัตว์น้อยใหญ่และผู้คนเผ่าพันธุ์หนึ่ง สวนป่าแห่งนี้จะดำรงอยู่บนพื้นพิภพมาแต่สมัยใดไม่มีใครรู้แน่ชัด เพียงร่ำลือสืบทอดกันมาว่าถึงวันที่ตำนานพิสดารเรื่องนี้อุบัติขึ้น สวนป่าแห่งนี้มีอายุร่วม 7 ศตวรรษแล้ว

ใน 700 ปีนั้น มีผู้คนเกิดมาและตายไปนับจำนวนไม่ถ้วนหลายร้อยชั่วคน มีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นและดับสูญไปตามตามธรรมดาโลก แต่กระนั้น เกือบจะกล่าวได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่พอใจและยอมรับวิถีทางแห่งสวนป่าแห่งนั้นตามที่เป็นมาช้านานโดยดุษณี

กาลล่วงเลยมาจนถึงสมัยที่เป็นจุดกำเนิดของตำนานนี้ บังเอิญมีเด็กๆกลุ่มหนึ่ง ค่อนข้างจะมีนิสัยดื้อรั้น ไม่ค่อยอยู่ในร่องในรอยเชื่อฟังคำสอนของผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ทั้งยังมักซุกซน เล่นหัวกันแปลกๆ เป็นที่ขวางหูขวางตาเหล่าชนผู้เกิดก่อนอยู่เป็นนิจศีล เด็กกลุ่มนี้มีทั้งเด็กชายและเด็กหญิง ชอบที่จะแยกตัวออกจากผู้คนทั้งหลาย เล่นหัวสนุกสนานแต่ในหมู่เฉพาะพวกตน

วันหนึ่ง ขณะที่เด็กๆกลุ่มนี้กำลังเล่นการละเล่นแบบเด็กๆที่พวกเขาคิดค้นกันขึ้นมาเองอยู่เช่นเคย เรื่องราวประหลาดพิสดารของเราอุบัติขึ้น เมื่อเด็กคนหนึ่งวิ่งเข้าไปชนโครมเข้ากับอะไรบางอย่างเข้า จนถึงกระเด็นหงายท้องร้องลั่นให้เพื่อนช่วย เมื่อเด็กอื่นๆมาถึงที่นั้น เห็นแต่เพื่อนนอนจุก หน้าผากบวมปูดอยู่กลางลานโล่งหย่อมหนึ่ง ไม่มีใครเลยในกลุ่มจะเชื่อว่าเด็กคนนั้นจะวิ่งไปชนอะไรแถวนั้นเข้าได้ มิไยว่าเขาจะพูดชี้แจงเป็นตุเป็นตะอย่างไร จนเด็กอีกคนซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ยืนล้อมร่างของเขาอยู่ ขยับถอยหน้าถอยหลัง ปากก็ร่วมวงวิพากษ์วิจารณ์ความแปลกประหลาดร่วมกับเพื่อนๆ เกิดถอยหลังกระทบบางอย่างเข้า ความสนใจของเด็กทุกคนจึงหันมองหาความว่างเปล่าที่มีตัวตนตรงนั้น เด็กๆค่อยๆเอื้อมมือไปสัมผัสความว่างเปล่าเบื้องหน้าด้วยความประหลาดใจระคนอยากรู้อยากเห็น อันที่จริงถ้าเป็นเด็กปกติอื่นๆ คงหวาดกลัวสิ่งที่ไม่รู้ได้นี้ และคงพากันหันหลังกลับไปเล่าให้พวกผู้เฒ่าผู้แก่ฟัง เรื่องราวต่อจากนั้นก็คงไม่เกิดขึ้นและเป็นไปตามที่ปรากฏในตำนานนี้เสียแต่ตอนนั้นแล้ว

แต่ก็อย่างที่บอกไว้แต่แรก เด็กดื้อพวกนี้มีหรือจะหวาดกลัวกับเรื่องทำนองนี้ กลับยิ่งเร้าความกระหายใคร่รู้ของพวกเขาเข้าไปอีก หลังจากลูบคลำสัมผัสกันอยู่พักใหญ่ พวกเขาก็พบว่าที่ตรงนั้นมีอะไรบางอย่างอยู่ จริงๆ แล้วเมื่อค้นคว้าต่อไป อะไรที่ว่านั้นก็หาใช่บางอย่างเล็กน้อยเสียแล้ว ดูเหมือนมันจะแผ่ขยายกว้างไกลไปไม่รู้จบ ทางด้านสูงนั้นเล่า ทั้งที่พยายามต่อตัวกันขึ้นไปถึง 3-4 ช่วงตัว ก็ยังไม่ถึงขอบบนสุดของมันอยู่นั่นเอง

ทั้งกลุ่มสรุปลงความเห็นตามประสาเด็กๆ หลังจากถกเถียงกันหน้าดำหน้าแดงสุ้มเสียงแหบแห้ง ว่าอะไรที่พวกเขาและเธอเจอเข้าโดยบังเอิญนี้ ต้องเป็นกำแพงอย่างแน่นอน เป็นกำแพงที่มองไม่เห็น คำถามที่ผุดขึ้นในใจเด็กทุกคนก็คือ มีอะไรอยู่เบื้องหลังกำแพงนั้นหรือ

ไม่ช้าไม่นาน ข่าวเล่าลือเกี่ยวกับการค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ของพวกเด็กดื้อ ก็แพร่กระจายไปทุกซอกทุกมุมของสวนป่าแห่งนี้ ทีแรกเฉพาะในหมู่เด็กๆ ที่สุดก็ถึงหูบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่จนได้

เช่นเดียวกับข่าวลือในสิ่งที่รู้ไม่ได้หรือยังไม่รู้ทั้งหลายนั่นแหละ ความเย้ายวนใจในเรื่องราวที่อยู่พ้นกำแพงมหัศจรรย์นั้น กลายเป็นหัวข้อพูดคุยประจำวันของผู้คนทั้งสวนป่าไปโดยปริยาย ไม่ว่าหัวหงอกหัวดำ ความสนใจของผู้คนรวมศูนย์ไปที่โลกอันรื่นรมย์ สวยงาม ดินแดนที่เด็กทั้งหลายจะมีอิสรเสรี เป็นเสมือนโลกในความฝันอันทุกรูปทุกนามในนั้นดำรงชีวิตอยู่อย่างปราศจากความวิตกใดๆ ความระทมทุกข์ทรมานที่เป็นซีกหนึ่งของชีวิตในฟากนี้ของกำแพง กลายเป็นสิ่งแปลกประหลาดสำหรับผู้คนอีกฟากหนึ่ง สรรพชีวิต ทั้งคน สัตว์ และพืช อยู่ร่วมกันอย่างสุขสันติ รักใคร่ปรองดองซึ่งกันและกัน ต่างพึ่งพิงและเอื้อประโยชน์แก่กันอย่างพิสดารจนยากแก่การเข้าใจ

ผู้คนเริ่มหันมาพิจารณาวิถีชีวิตเก่าก่อนซึ่งดำรงอยู่ในสวนป่าแห่งนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์ ช่างตรงกันข้ามกับวิถีทางที่ร่ำลือถึงในดินแดนที่อยู่อีกฟากหนึ่งของกำแพงมหัศจรรย์เสียนี่กระไร โดยเฉพาะในหมู่เด็กๆ โลกจินตนาการของพวกเขาดูจะรับรู้เรื่องราวแปลกประหลาดนี้ได้รวดเร็วยิ่งนัก ทีละน้อยทีละน้อย บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่แห่งสวนป่าเริ่มตระหนักถึงแรงขับมหาศาลที่กำลังชักนำพวกเด็กๆไปสู่ความใฝ่ฝันในชีวิตเบื้องหลังกำแพง พ่อแม่จำนวนไม่น้อยมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวลูกหลานของตน ที่ชักจะเลิกเล่นหัวอย่างไร้สาระตามประสาเด็กกันแล้ว เด็กๆมีการละเล่นอย่างใหม่ สะท้อนความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อโลกนิมิตของตน

หลายคนไม่ไว้ใจพฤติกรรมของเด็กๆ หลายคนคิดเลยเถิดไปว่าพวกเด็กๆกำลังทำให้แบบแผนชีวิตของสวนป่าง่อนแง่นลง จากการเฝ้ามองอยู่ห่างๆในตอนแรก พวกผู้เฒ่าผู้แก่ก็ค่อยยื่นมือเข้ามาในปัญหานี้ โดยหารู้ไม่ว่ายิ่งขัดขวางแทรกแซง ยิ่งเท่ากับเป็นการยั่วยุ ในชั้นต้น คณะผู้เฒ่าประกาศยืนยันว่ากำแพงที่ร่ำลือกันนั้นหาได้มีอยู่จริงไม่ เป็นเรื่องของเด็กนอกคอกสติไม่ดีไม่กี่คนกุกันขึ้นมาเอง สร้างความปั่นป่วนให้กับดินแดนสวนป่านี้ แต่ความพยายามของพวกผู้ใหญ่ไม่เป็นผล ด้วยว่าพวกเด็กๆพิสูจน์กันได้เสียแล้ว ว่ามีกำแพงที่มองไม่เห็นล้อมรอบสวนป่านี้ไว้ทุกด้าน

ขั้นต่อมา คณะผู้เฒ่าจึงเปลี่ยนมาเป็นการชี้แจงว่าโลกเบื้องหลังกำแพงมหัศจรรย์ (ตามที่พวกเด็กเรียก) ไม่ได้สวยงามไปกว่าโลกด้านนี้เลย มิหนำซ้ำดูจะเลวร้ายยิ่งไปกว่ากันอีกด้วย เป็นดินแดนที่มีฝูงยักษ์สุดโหดหินทมิฬชาติคอยจับผู้คนกินเป็นภักษาหาร พวกผู้ใหญ่ยังช่วยกันสำทับต่อไปอีกว่า ใครก็ตามที่ปล่อยข่าวโลกเบื้องหลังกำแพงดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ คนนั้นคือสมุนบริวารของยักษ์ มีหน้าที่ตะล่อมเหยื่อไปป้อนให้พวกมัน

กระนั้น เด็กๆส่วนหนึ่งก็โตเกินกว่าจะงมงายไปกับนิทานเรื่องยักษ์ใจร้ายอีกต่อไปแล้ว ในที่สุด ท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่นของความขัดแย้งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่และคณะผู้เฒ่า เด็กจำนวนหนึ่งจึงตัดสินใจทลายกำแพงลง เพื่อจะพิสูจน์ว่าแท้ที่จริงแล้ว ฟากโน้นเป็นอย่างไรกันแน่

ว่ากันว่าในช่วง 7 วัน 7 คืน ที่พวกเด็กๆพยายามเจาะทลายกำแพงให้ทะลุทะลวงแตกเป็นช่องอยู่นั้น เป็นช่วงเวลาที่สวนป่าทั้งสวนสับสนอลหม่านไปหมด เด็กหลายสิบหลายร้อยคนสาบสูญไปเพราะการนั้น ท่ามกลางการพยายามขัดขวางอย่างรุนแรงแข็งขันที่นำโดยคณะผู้เฒ่า แต่แล้วด้วยความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเด็กทุกคนและผู้ใหญ่บางคน ที่หันมาคล้อยตามสนับสนุน กำแพงมหัศจรรย์ที่มองไม่เห็นก็ถูกเจาะเป็นช่องจนได้

เป็นครั้งแรกที่ผู้เฒ่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้พวกเด็กๆ ความงุนงงสับสนและความระส่ำระสายครอบคลุมชีวิตของพวกผู้ใหญ่อยู่ระยะหนึ่ง พวกเด็กๆกลายเป็นวีรบุรุษแห่งสวนป่า ผู้คนส่วนใหญ่ชื่นชมพวกเขาอย่างออกหน้าออกตา แต่เด็กๆก็คงเป็นเด็กอยู่นั่นเอง แม้จะสัตย์ซื่อบริสุทธิ์เพียงใด ก็อดหลงใหลได้ปลื้มในชัยชนะของตนครั้งนี้ไม่ได้ พวกเขาไม่รู้หรอกว่า พวกผู้ใหญ่มีหรือจะปล่อยให้ความพ่ายแพ้ตกอยู่แก่พวกตนนานนัก คณะผู้เฒ่าและพวกผู้ใหญ่จัดแจงซ่อมแซมรอยโหว่นั้นอย่างประณีตอีกครั้งหนึ่ง เป็นกำแพงที่มองไม่เห็นเช่นเดิม หลังจากนั้นก็ทำทีว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น พวกผู้ใหญ่เข้าใจดีว่าเด็กๆจะต้องเติบโตขึ้น รับรู้และเข้าใจอะไรๆแบบ ผู้ใหญ่มากขึ้น และเมื่อถึงวันนั้น พวกเขาย่อมคิดได้อย่างคนที่เติบใหญ่เต็มที่แล้วจะพึงคิด ซึ่งก็คือวิธีและความคิดแบบที่คณะผู้เฒ่าพอใจนั่นเอง

"เฮอะ" พวกผู้ใหญ่แอบแค่นเสียงในใจอย่างแค้นเคือง

"ชีวิตหลังกำแพงรึ โลกที่สวยงามรึ ฝันไปน่ะไม่ว่า แล้วสักวันมันต้องสำนึก ไอ้พวกเด็กดื้อ แกจะต้องคลานกลับมาซบแทบเท้าข้า" พวกผู้เฒ่าผู้แก่พากันคิดอย่างนี้

เวลาผ่านไป 10 ปี นับจากเหตุการณ์ทลายกำแพง ที่สุดก็ถึงทีของพวกผู้ใหญ่เข้าจริงๆ เด็กๆหลายคนรู้สึกผิดหวังกับโลกฝันหลังกำแพง ซมซานกลับมา บ้างก็คลานอย่างสำนึกผิดไปสารภาพกับผู้ใหญ่ ขอกลับเนื้อกลับตัวในสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว พวกประดานี้ได้รับการต้อนรับอย่างดี แม้จะมีบางคนถูกทำโทษ เป็นต้นว่าตีมือบ้าง ตีก้นบ้าง ก็ทำเพียงพอเป็นพิธี แล้วเมื่อเห็นว่าเลิกดื้อเด็ดขาดแล้ว พวกนี้ก็ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมวงผู้ใหญ่ได้ ด้วยว่าส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาเริ่มคิดอย่างผู้ใหญ่เป็นแล้วนั่นเอง

และก็ตามประสาเด็กที่ยังติดตัวอยู่ในตัวทุกคน เด็กๆหลายต่อหลายคนลงทุนประจบเอาใจผู้ใหญ่เป็นพิเศษ ถึงขนาดกล่าวร้ายการค้นพบกำแพงเมื่อครั้งกระโน้นอย่างสาดเสียเทเสีย เต็มปากเต็มคำ ยังมีบางคนอาสาสมัครอย่างเอาการเอางาน ลงมือสร้างความแข็งแกร่งให้กำแพงนั้นยิ่งขึ้นไปอีก คิดค้นพัฒนาการซ่อนพรางการดำรงอยู่ของกำแพงได้แนบเนียนยิ่งขึ้น พบเห็นได้ยากเย็นเข้าไปอีก

พวกนี้ได้รับรางวัลกันถ้วนหน้า มาถึงตอนนี้หน้าที่หนึ่งของใครก็ตามที่ได้รับอนุญาตเข้าร่วมวงไพบูลย์ในสังคมผู้ใหญ่ ก็คือ กลบเกลื่อนเหตุการณ์นอกคอกครั้งนั้นสุดกำลัง หรือไม่ก็ทำให้เรื่องราวของมันผิดไปจากความเป็นจริง ทำได้แนบเนียนเท่าไรยิ่งเป็นการดีทั้งแก่พวกเขาเอง และทั้งแก่ความเป็นสวนป่าที่สงบสุข (ตามสายตาของผู้ใหญ่)

แต่ยังหรอก ตำนานของเราไม่ได้จบอย่างมีความสุขทำนองนั้น ไม่ใช่เด็กทุกคนที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของผู้ใหญ่ผู้พิทักษ์กำแพง แม้เด็กพวกหลังนี้จะพบว่าอีกฟากหนึ่งของกำแพงก็ไม่ได้มีสภาพดีไปกว่าฟากนี้เท่าใดนัก อะไรที่ฟากนี้มี ฟากโน้นก็มี ฟากนี้มีผู้หลักผู้ใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่ ฟากโน้นก็มีเช่นกัน และความพยายามที่ไม่ผิดไปจากกันไกลเลย ในอันที่จะสงวนกำแพงนั้นไว้อย่างดีที่สุด จนถึงขั้นทำได้ทุกอย่างเพื่อให้กำแพงคงอยู่

สำหรับเด็กพวกหลังนี้ สิ่งที่แฝงอยู่เบื้องหลังการทลายกำแพงคราวนั้น ถือว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่กว่าการค้นพบกำแพงโดยบังเอิญอย่างชนิดเทียบกันไม่ได้ พวกเขาค้นพบจิตใจในขณะที่ร่วมไม้ร่วมมือกันทลายกำแพงมหัศจรรย์ ที่มองไม่เห็น เป็นจิตใจวัยเยาว์แห่งมนุษยชาติ ที่ด้านหนึ่งประกอบด้วยศรัทธาในความดีงามสูงสุด และอีกด้านหนึ่งเป็นความมุ่งมั่นอันบริสุทธิ์ต่อความดีงามนั้น พวกเขาตระหนักท่ามกลางวันเวลาของวิถีชีวิตที่พลิกผันใน 10 ปีที่ผ่านไป ว่าจิตใจเช่นนั้นนับวันสูญหายไปในเส้นทางก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ทีละน้อย

เด็กพวกหลังรู้ในที่สุดว่าเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็นเสียยิ่งกว่าจะให้พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก ที่จะให้ผู้ใหญ่สักคนอุทิศตัวแก่ศรัทธาอย่างนั้นโดยตลอดรอดฝั่งได้ จำเป็นที่คนเราจะต้องจดจำรักษาวิญญาณของจิตใจแห่งเยาว์วัยเอาไว้ ด้วยการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมัน ด้วยตัวของตัวแต่ละคนเอง เหนือสิ่งอื่นใด พวกเด็กๆกลุ่มที่เล็กกว่าเล็กนี้ เกิดความสำนึกลึกซึ้งลงไปอีกระดับหนึ่งว่าสิ่งที่พวกตนและเด็กทั้งหลายจะต้องทำ ไม่เพียงแค่ฝ่าจากฟากหนึ่งไปสู่อีกฟากหนึ่งของกำแพงเท่านั้น ต่อเมื่อทุบทำลายทุกกำแพงที่ดำรงอยู่ในโลก ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นลงให้หมดสิ้นแล้วต่างหาก โลกนิมิตที่พวกเขาเคยใฝ่ฝันถึงจนโถมตัวเข้าแลกเพื่อให้ได้มา จึงจะปรากฏเป็นจริงขึ้นมาได้

แต่จนแล้วจนรอด ทุกวันนี้จำนวนเด็กดื้อในสวนป่าแห่งนี้หรือแห่งไหนๆก็ตาม ลดน้อยลงไปทุกทีแล้ว กระทั่งตำนานเด็กดื้อทลายกำแพงที่ปรากฏอยู่ในที่นี้ ก็เป็นเรื่องที่น้อยคนปรารถนาจะกล่าวถึง

หลายคนหลงลืม หลายคนพยายามลืม และมีบ้างทำเป็นลืม ว่าสวนป่าแห่งนี้ สูญเสียเด็กดื้อที่ดีที่สุดไปหลายคนคราวนั้น.


นิรันดร์ สุขวัจน์
ตุลาคม 2531

**********************************************************************


สาม บทรำพึงนอกตำนาน :
สามทศวรรษหลังการก่อ เกิด


สิบห้าปีผ่านไปอย่างที่แทบไม่เคยมีใครรับรู้ว่าตำนานชิ้นนี้ปรากฏขึ้นในโลก กระทั่งเพื่อนพ้องน้องพี่บางคนอยากเห็น และนำมาสู่การจัดพิมพ์อีกครั้ง สถานการณ์ที่ต่างออกไปคือ ในบางมิติของสังคมไทยใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์คราวนั้นได้อย่างผสมกลมกลืนกับผลประโยชน์ชนิดที่ ณ วันเวลาของปรากฏการณ์ไม่มีใครสักคนกล้าแม้แต่จะคิด หลายต่อหลายคนเป็นคนของกำแพงอย่างเต็มอกเต็มใจ หลายต่อหลายคนทุรนทุรายพาตัวไปสู่ความเป็นคนของกำแพง

ผมคิดถึงเด็กดื้อผู้จากไปแล้วทั้งหลายที่อุทิศตัวเพียงเพื่อเป็นอิฐปูทาง ผมอายุมากพอที่จะตระหนักว่า การไม่เป็นที่ยอมรับของอะไรหลายๆ อย่างนั้น หาใช่สาระของชีวิตแม้แต่น้อย...

ไม่รู้เหมือนกันว่าผมจะมีชีวิตอยู่เห็นสภาวะเดือนตุลากับฝูงเหลือบไปอีกนานแค่ไหน.


นิรันดร์ สุขวัจน์
กันยายน 2546

วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553

"โลกธาตุ"

"โลกธาตุ"


ดุจบ่อน้ำดึกดำบรรพ์
ไร้สายลมพัดพาก่อเกิดระลอกคลื่น
ความสงบนิ่งที่ไม่อาจยืนยง
ด้วยอุบัติการณ์ดุจฟ้าฟาด
ไม่อาจต้านทาน ไม่อาจแข็งขืน
ถั่งโถมโหมแรงดั่งลมสุริยะ
เจิดจ้าและกราดเกี้ยว
ครืนครั่นกัมปนาทกรีดเสียง
โลกธาตุมีหรือจักอาจดุษณี
ทั้งปฐพีและห้วงหาวล้วนเป็นพยาน
ว่าความเงียบงันแห่งบ่อโบรา
ถึงกาลแห่งความเปลี่ยนแปลง
ในลักษณาการมิอาจบรรยาย
ของภาวะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน.

นายชั้น ทุนน้อย
14 มิถุนายน 2553

ปูมชีวิตสายเลือด "เฉกอะหมัด" : จากประธาน "คมช." สู่หัวหน้าพรรค "มาตุภูมิ"

ปูมชีวิตสายเลือด "เฉกอะหมัด" :
จากประธาน "คมช." สู่หัวหน้าพรรค "มาตุภูมิ"



ชีวิตและงาน

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นบุตรของ พันเอกสนั่น (เดิมนามสกุล อหะหมัด จุฬา) และ นางมณี บุญยรัตกลิน เติบโตในครอบครัวมุสลิมในจังหวัดปทุมธานี (บิดานับถือนิกายชีอะห์) แต่ตัวพลเอกสนธินับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีย์ตามมารดา ต้นตระกูลคือเฉกอะหมัด หรือ เจ้าพระยาบวรราชนายก ขุนนางเชื้อสายเปอร์เซีย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีและสมุหนายกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ลูกหลานบางส่วนเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ เช่น ตระกูลบุนนาค ตระกูลจุฬารัตน์ โดยนามสกุลบุญยรัตกลิน (อ่านว่า บุน-ยะ-รัด-กะ-ลิน) จริงๆแล้วคือบุณยรัตกลิน แต่พิมพ์ผิดเป็น "ญ" นั้น เป็นนามสกุลพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ลำดับที่ 2798 มีที่มาจากการที่หนึ่งในสาแหรกฝั่งย่าเป็นทหารเรือสังกัดพรรคกลิน คือ น.ต.หลวงพินิจกลไก (บุญรอด) หรือชื่อมุสลิมว่า อับดุลเลาะห์ อหะหมัดจุฬา

พล.อ.สนธิมีภรรยาทั้งหมด 3 คนภรรยาคนแรกชื่อ สุกัญญา จดทะเบียนสมรสขณะที่ พล.อ.สนธิยังเป็นพันโท ภรรยาคนที่สองชื่อ ปิยะดา จดทะเบียนสมรสเมื่อเป็นนายพล ภรรยาคนที่สามชื่อ วรรณา ปัจจุบันอาศัยอยู่ด้วยกันทั้งหมดแม้ว่าการมีภรรยาสามคนจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศไทยก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 พล.อ.สนธิให้เหตุผลที่ไม่ยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินของภรรยาคนที่ 3 ต่อ ป.ป.ช. เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางกฎหมาย

พล.อ.สนธิเข้าศึกษาต่อโรงเรียนเตรียมทหาร (รุ่นที่ 6) และศึกษาต่อโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เหล่าทหารราบ (รุ่นที่ 17) และได้ศึกษาในระดับอุดมศึกษาสำหรับปริญญาโท สาขาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (การทหาร) โรงเรียนเสนาธิการทหารบก สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูงและวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (รุ่นที่ 42) และระดับปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ (สาขาวิชาการเมือง) มหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่นแรกของคณะ โดยมีพลเอกสนธิเป็นประธานรุ่นที่มีอายุมากที่สุดคือ 63 ปี

เริ่มต้นชีวิตการรับราชการจากผู้บังคับหมวดปืนเล็กกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบ ศูนย์การทหารราบ, พ.ศ.2512 เป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็กกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กองพลอาสาสมัครเสือดำ, พ.ศ.2513 เป็นรองผู้บังคับกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 9 กาญจนบุรี นายทหารคนสนิทแม่ทัพภาคที่ 4 (พล.ท.ปิ่น ธรรมศรี ในขณะนั้น), พ.ศ.2526 เป็นผู้บังคับกองพันรบพิเศษที่ 2 กรมรบพิเศษที่ 1 รองผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1, พ.ศ.2530 เป็นผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 รองผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1, พ.ศ.2542 เป็นผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ, พ.ศ.2545 เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษและในปี พ.ศ.2548 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารบก

ที่สำคัญ นับเป็นผู้บัญชาการทหารบกไทยคนแรกที่นับถือศาสนาอิสลาม

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 พล.อ.สนธิประกาศตัวเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วจึงแปรรูปคณะรัฐประหารและเปลี่ยนฐานะไปเป็น ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

หลังเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2550 พล.อ.สนธิได้รับพระราชทานโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่คณะรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ตั้งมาเองกับมือ

ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยื่นบัญชีทรัพย์สินเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีมีทรัพย์สิน 38,796,977 บาท ประกอบด้วยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ 10,241,195 บาท เงินฝากในสถาบันการเงินอื่น 13,355,541 บาท หลักทรัพย์รัฐบาล และรัฐบาลค้ำประกัน 142,600 บาท หลักทรัพย์จดทะเบียนและรับอนุญาต 6,393,240 บาท หลักทรัพย์และเงินลงทุนอื่น 4,664,400 บาท สิ่งปลูกสร้าง 1 หลัง มูลค่า 4 ล้านบาท สำหรับภรรยาทั้ง 2 คนที่จดทะเบียนสมรสคือ นางสุกัญญามีทรัพย์สินกว่า 14 ล้านบาท และ นางปิยะดา 42 ล้านบาท บุตรสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกว่า 3 แสนบาท

รวมทั้งครอบครัว มีทรัพย์สินกว่า 94 ล้านบาท

วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 พล.อ.สนธิจัดแถลงข่าว ประกาศเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ซึ่งก่อตั้งโดยนักการเมืองมุสลิมจาก 3 จังหวัดชายภาคใต้ ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายที่ฐานเสียงในพื้นที่

สาแหรกบรรพบุรุษ

หนังสือ "ชีวิตและผลงาน พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก" เขียนถึงที่มาที่ไปของนามสกุลนี้ว่า เป็นการขอยืมมาเพราะเดิมนั้น บิดาของพลเอกสนธิ คือ พันเอกสนั่น บุญยรัตกลิน ใช้นามสกุล "อหะหมัดจุฬา" แต่เนื่องจากนโยบายของรัฐสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่กำหนดให้ข้าราชการที่ใช้ "...นามสกุลที่ไม่คล้ายกับคนไทยให้เปลี่ยน ห้ามใช้" พันเอกสนั่นจึงมาใช้นามสกุลแม่โดยในหนังสือบันทึกไว้ตามคำพูดของพลเอกสนธิ ว่า "นามสกุลจริงๆของคุณย่าคือ 'บุณยรัตกลิน' ในสมัยก่อนเป็น 'ณ' แต่ไม่รู้ว่าพิมพ์ผิดอย่างไร เลยกลายมาเป็น 'ญ' ฉะนั้นอาน้องของคุณพ่อทั้ง 2 คน ก็ยังใช้ 'ณ' อยู่ มันผิดมาเรื่อย จนกระทั่งผมเลยกลายเป็น 'ญ' ทาง คุณพ่อพี่เกาะ (พลเอกสมทัต อัตนันทน์) เป็นคนให้คุณพ่อผมใช้นามสกุลนี้ คุณพ่อก็เลยไปขอจากน้องย่าหรือพี่ของย่าไม่ทราบขอมาใช้นามสกุลนี้ แล้วก็ใช้มาโดยตลอด..."

พลเอกสนธิเป็นมุสลิม "ชีอะห์อิสนาอะชะรี" (นิกายสิบสองอิหม่าม) สายเฉกอะหมัด ซึ่งมาแต่อาณาจักรเปอร์เซีย-อิหร่านและรับราชการจนได้เป็นที่ "เจ้าพระยาบวรราชนายก" เพราะความดีความชอบในการปราบปรามกบฏแขกปักษ์ใต้สมัยแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง

เฉกอะหมัด มีเชื้อสายต่อมาคือ เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) มีลูกต่อมา คือ เจ้าพระยาชำนาญภักดี (สมบุญ) ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ต่อมามีลูกคือ พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) จางวางกรมล้อมพระราชวัง และให้ว่าที่กรมอาสาจามและอาญาญี่ปุ่นในแผ่นดินพระเจ้าอยู่บรมโกศ

"พระ ยาเพ็ชรพิไชย" นี่เอง ที่ตอนหลังได้เข้ามานับถือศาสนาพุทธทำให้ลูกสืบสายสกุลแบ่งแยกออกเป็น 2 สาย คือ สายของพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) ที่นับถืออิสลามต่อไป และสายของเจ้า พระยามหาเสนา (เสน) ที่นับถือพุทธตามพ่อ โดยสายพุทธนั้นต่อมา ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "บุนนาค" และต่อมายังมีการแตกจากสายนี้ไปเป็นหลายสาย เช่น นามสกุล "จุฬารัตน" "ศรีเพ็ญ" "บุรานนท์" "จาติกรัตน์"

เชน บุตรชายคนที่ 2 ของเจ้าพระยาเพชรพิไชยยังคงนับถือศาสนาอิสลาม จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้เป็นพระยาวิชิตณรงค์ แล้วเลื่อนเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี มีบุตรชื่อ ก้อนแก้ว (มุฮัมมัตมะอซูม) เป็นต้นตระกูล อหะหมัดจุฬา, อากาหยี, จุฬารัตน, ช่วงรัศมี, ชิตานุวัตร, สุวกูล ฯลฯต่อมาถวายตัวต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รับตำแหน่งสืบทอดจากบิดาเป็นพระยาจุฬาราชมนตรีคนที่ 1 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์และได้รับพระราชทานที่ดินสร้าง กุฎีเจ้าเซ็น (กุฎีหลวง) ขึ้นเป็นแห่งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

ส่วนบุตรชายคนที่ 3 ของเจ้าพระยาเพชรพิไชยกับคุณหญิงแฉ่ง ที่ชื่อ เสน ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับบิดา และเข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเสน่หาภูธร ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาจ่าแสนยากร ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) มีบุตรธิดา 5 คน ธิดา 3 คนถูกพม่าจับเป็นเชลยส่วนบุตร 2 คน ได้แก่ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนมา) และเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) รอดพ้นการถูกจับเป็นเชลยเพราะถูกส่งตัวให้ไปอยู่กับญาติที่ราชบุรีก่อนหน้า นั้น เป็นต้นสกุล ศรีเพ็ญ, บุนนาค, บุรานนท์, จาติกรัตน์, ศุภมิตร, วิชยาภัย, บุนนาค, ภาณุวงศ์ ฯลฯ

จนในสมัยรัตนโกสินทร์ถือว่าผู้สืบเชื้อสายเฉกอะหมัดนับเป็นสายวงศ์สกุลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการบริหารราชการแผ่นดินโดยสายมุสลิมส่วนใหญ่ลูกหลานจะสืบตำแหน่ง "จุฬาราชมนตรี" จางวางกรมท่าขวา ซึ่งรับผิดชอบงานด้านการค้าขายทางเรือและการต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง...ส่วนสายพุทธ ส่วนใหญ่ก็จะได้ครองตำแหน่ง "สมุหนายก" หรือ "สมุหพระกลาโหม" ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดี ดูแลทั้งฝ่ายเหนือ และฝ่ายใต้...นอกจากนั้นเหล่าบุตรีของวงศ์เฉกอะหมัด ยังได้เป็นทั้งหม่อมห้าม นางใน พระสนมอยู่หลายองค์

ส่วนบิดาของพลเอกสนธิ คือพันเอกสนั่นนั้น สืบเชื้อสายมาจากท่านสง่า อะหะหมัดจุฬา ลูกของท่านช่วง ซึ่งเป็นลูกของท่านครูชื่น ที่นับถือกันเป็นนักปราชญ์ของมุสลิมฝ่ายชีอะห์โดยสาแหรกนี้ถูกบันทึกไว้อย่าง ชัดเจน ในศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรีโดยนายทำเนียบ แสงเงิน ปรากฏอยู่ที่มัสยิดต้นสน

สำหรับสายสกุลบุนนาคนั้น เป็นตระกูลอำมาตย์เก่าแก่ที่รับราชการต่อเนื่องกันมาตลอดจนได้ครองตำแหน่งเสนาบดีที่ทรงอำนาจในหลายรัชกาลจนได้รับพระราชทานตำแหน่งสูงสุดคือ "สมเด็จเจ้าพระยา" หรือเทียบเท่าตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ถึง 3 คน

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นบุตรเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี (บุนนาค) กับเจ้าคุณนวล เริ่มรับราชการเป็นนายสุด จินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก ในรัชกาลที่ 1 และเลื่อนตำแหน่งตามลำดับจนถึงรัชกาลที่ 4 จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์" ให้สำเร็จราชการตลอดทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ใช้ตราสุริยมณฑลเทพบุตรชักรถ คนทั่วไปนิยมเรียกว่า "สมเด็จเจ้าพระยา องค์ใหญ่" และเป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์แรกของวังหลวง มีอำนาจและอิทธิพลมากที่สุดในพระราชอาณาจักรรองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินและเจ้าชีวิต

ถัดมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติฯ (ทัด บุนนาค) คนทั่วไปนิยมเรียกขานว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย" เป็นน้องชายของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ซึ่งเป็นบุตรชายคนสุดท้องของ เจ้า พระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) อีกคนหนึ่งที่เกิดกับเจ้าคุณนวล เข้ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นนายสนิทหุ้มแพรมหาดเล็ก จนถึงรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งจากพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา ขึ้นเป็น "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติฯ"

สำหรับตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยาคนสุดท้ายของสกุลบุนนาคคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นบุตรคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ เข้าถวายตัวเป็นมหาเล็กในรัชกาลที่ 2 เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เลื่อนเป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก โดยรัชกาลที่ 3 รับสั่งให้เข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด

หลังจากที่รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคตกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคซึ่งนำโดย 3 พระยา คือ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค) เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา (ทัด บุนนาค) รวมทั้งพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้พากันไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะที่ทรงครองสมณเพศเป็นวชิรญาณภิกขุเพื่อให้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติด้วยความพร้อมใจเป็นหนึ่งเดียว

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าที่สมุหพระกลาโหม หลังจากรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ได้ทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์กรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จเสวยราชย์ แต่เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์มีพระชนม์เพียง 15 พรรษา ดังนั้นที่ประชุมจึงลงมติแต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนปี พ.ศ.2416 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะ ขณะนั้นพระยาศรีสุริยวงศ์มีอายุได้ 64 ปีเศษ จึงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และนับเป็นสมเด็จเจ้าพระยาคนสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงดารานพรัตน์ดวงดารามหาสุริยมณฑล ปฐมจุลจอมเกล้า

สำหรับสายสกุลบุนนาคอีกคนที่มีความสำคัญใน ช่วงคาบเกี่ยวการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือเจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) เป็นบุตรพระยาไพบูลย์สมบัติ (เดช บุนนาค) กับคุณหญิง สวน (สกุลเดิม ศิริวิสูตร) ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษในพระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เข้าฝึกหัดรับราชการในกรมบัญชีกลาง กระทรวงยุติธรรม ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ และอุปนายกสภากาชาดไทยหลายสมัย ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 ได้เป็นผู้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของราชอาณาจักรไทย.

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ผมก็มีความฝัน

ผมก็มีความฝัน



3 วันมานี้ผมมีนัดหมายสนทนาในวงเสวนาย่อมๆ 2 วัน; ผมมาถึงบ้างอ้อ... แต่เป็นบางอ้อที่อาจมีหลายคนหมั่นไส้ผม; เมินผมพลางเบ้ปาก; หันขวับมาโต้แย้งปากคอสั่น; หรือหนักข้อกว่านั้น คือหันหลังให้ผมแล้วเลิกพูดกันไปเลยก็ได้ อย่างที่ใน 8 เดือนมานี้มีบางคนทำไปแล้ว...

บางอ้อที่ว่าคือ เราเข้าใจแค่ไหนกับคำว่า ลัทธิการปกครองในระบอบประชาธิปไตย; ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม; ลัทธิเลือกตั้ง; เราพอจะมองออกไหมถึงความแตกต่างระหว่างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน 2 ระบบ คือ "ระบบรัฐสภา" กับ "ระบบประธานาธิบดี"

ก็แล้ว "การอภิวัฒน์สยาม 2475" ตั้งใจจะสถาปนาอะไรกันละหรือ? แล้วเมื่อมาถึงตอนนี้ เกิดอะไรขึ้นกับเจตนารมณ์คณะราษฎร?

ผมเขียนไว้ในหมวดบทความว่าด้วย "พุทธปรัชญาที่เป็นอเทวนิยม" ว่า "ทิฏฐิ" นั้นเป็นองค์ประกอบพื้นฐานชี้ขาดขององค์ประกอบอีก 7 ประการส่วนที่เหลือของ "มรรค" นั่นคือผมพยายามอธิบายว่า หาก "ทิฏฐิ" เป็น "มิจฉา" เสียแล้ว อีก 7 ประการจะเป็น "สัมมา" ไปไม่ได้

การล่วงทุกข์ของบุคคลเป็นเช่นนั้นฉันใด การล่วงทุกข์ของสังคมย่อมเป็นไป เช่นนั้นด้วยฉันนั้น

ผมเสนอว่าเรามาพิจารณา "อริยสัจ 4" ของสังคมไทยกันดูทีหรือ เพื่อจะได้กำหนด "มรรค" สำหรับสังคมไทยกันเสียที...

หยุดพฤติกรรม "ตาบอดคลำช้าง" กัน ด้วยว่าไหนๆก็ประดิษฐ์วาทกรรม "ตาสว่าง" กันมาร่วมครึ่งค่อนปีกันแล้ว

ผมเคยเสวนาในวงสนทนาเล็กๆของคนเขียนหนังสือ หรือจะพูดให้เจาะจงลงไปคือคนเขียนหนังสือในสาย "สัจจสังคม" ว่า เรามาพินิจตัวเราแต่ละคนว่าเรากล้ายอมรับ "ความจริง" ส่วนตัวของเรา โดยการ "พิจารณา" ร่างเปลือยของเราเองต่อหน้ากระจกกันหรือไม่; นั่นคือ เรากล้าเผชิญหน้ากับความเป็นจริงตามภาพปรากฏเป็นเบื้องต้นหรือไม่ สำหรับตัวเราเอง ทุกความเป็นธรรมดา ทุกความอัปลักษณ์ และทุกๆประการที่ประกอบกันเข้าเป็น "สังขาร" ก่อนที่จะไปพิจารณา "ขันธ์" อีก 4 ประการซึ่งยากและลึกซึ้งยิ่งกว่า

"อัตตา" ของเราก็แค่นั้นแหละครับ; และเราคงก้าวไปไม่พ้นวงวัฏฏะของ "พระ ไตรลักษณ์" ได้เลย เพียงเพราะเรามัวหลงใหลได้ปลื้มกับการฝืนกฎ "อนตฺตลกฺขณ" อยู่นั่นแล้ว; ซึ่งเมื่อเป็นดังนั้น เราจะก้าวข้าม "อนิจฺจลกฺขณ" และ "ทุกฺขลกฺขณ" ได้อย่างไรกัน

พูดให้ถึงที่สุด เราจะล่วงทุกข์ของสังคมได้อย่างไร เมื่อเราไม่เข้าใจสภาะแห่งทุกข์ของสังคม ซึ่งย่ิอมไม่มีทางเข้าใจหนทางแห่งการล่วงทุกข์ได้อย่างจริงแท้แน่นอน

3 วันมานี้ ผมแสดงทัศนะค่อนข้างมากในวงเสวนา มีทั้งการรับฟังและอภิปราย และมีทั้งคอแข็งและตั้งแง่;  จุดอ่อนอยู่ที่ผม ที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่น และน้อมใจไปสู่การรับฟัง

ผมมีเวลาปรับตัวเองมากกว่านี้อีกขนาดไหน ในเมื่อแรงไฟในเตาเผาเหล็กกำลังโหมกระพือยิ่งกว่ายุคใดสมัยใด... ข้อสำคัญผมมีเวลาให้ทำอย่างนั้น แค่ไหนกัน?

เราจะสร้างประชาธิปไตย หรือจะสางบุญคุณความแค้นส่วนตัว หลังการนองเลือด 19 พฤษภาคม 2553 เราแต่ละคนทำอะไรกันบ้างครับ... กบฏวังหลวง; กบฏแมนฮัตตัน; กบฏสันติภาพ; กรณี 6 ตุลาคม 2519; กรณีพฤษภาทมิฬ 2535; กรณีสงกรานต์เลือด 2552; กรณีล้อมสังหาร 2553; ฝ่ายประชาธิปไตยเราไปถึงไหนกันแล้วครับ... เราพูดถึงประชาธิปไตยกันแค่ไหนแล้ว

เรายังหายใจอยู่ใต้ "กฎโจร" ซึ่งเป็นผลผลิตของ "โจรกบฏ" อยู่หรือมิใช่ แล้วเรารู้สึกรู้สาอะไรบ้าง นอกจากเต้นไปตาม "กรอบ" ที่เป็นปฏิปักษ์กับ "เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม" เราไปไกลจากจุดมุ่งหมายยิ่งขึ้นทุกที และหลายเดือนมานี้ ก็เราเองนั่นแหละ ที่ไม่เคยทบทวน "ประชาธิปไตย" ว่ามีมิติที่เป็นเป็นทั้ง "จุดมุ่ง หมาย" และ "วิธีการ" ในเวลาเดียวกัน

ผมทบทวนสุนทรพจน์ของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้นำการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคผิวสีผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกันที่ ว่า...

เมื่อเราลั่นระฆังแห่ง เสรีภาพ จากทุกหมู่บ้านและทุกชุมชน จากทุกรัฐและทุกเมือง นั่นหมายความว่าพวกเรานั้นเองที่ได้ปลุกเร้าลูกหลานของพระเจ้า ทั้งคนดำและคนขาว ทั้งที่เป็นชาวยิวและมิใช่ชาวยิว ทังโปรแตสแตนท์และแคทอลิก ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจักประสานมือเข้าด้วยกัน แล้วขับขานถ้อยคำแห่งจิตวิญญาณเก่าแก่ของนีโกร "เสรีในที่สุด! เสรีในที่สุด! ขอบคุณพระผู้ทรงมหิทธานุภาพ, สุดท้ายเราก็เป็นอิสระ"; มาร์ติน ลูเธอร์ คิง, 28 สิงหาคม 1963

ด้วยความน้อมใจต่อจิตใจที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์คนเล็กๆคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ผมขออนุญาตแทนที่ความหมายบางส่วนซึ่งสอดคล้องกับความใฝ่ฝันส่วนตัวของผมเอง ลงไปในวาทกรรมอันยิ่งใหญ่ ดังนี้...

นั่นหมายความว่าพวกเรานั้นเองที่ได้ปลุกเร้าผู้คนพลเมืองของปิตุภูมินี้ ทั้งคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดง ผู้คนทุกตรอกซอกซอยของมหานครและชนบททุกขอบเขตปริมณฑลของประเทศ ทุกเชื้อชาติและศาสนา ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจักประสานมือเข้าด้วยกัน แล้วขับขานถ้อยคำแห่งจิตวิญญาณเก่าแก่ในความหมายของเผ่าไทว่า "สุดท้ายแล้วเราคือไทใช่คือทาส"; รุ่งโรจน์ วรรณศูทร, 14 มิถุนายน 2010


ปรับปรุงจากโพสต์ข้อความใน facebook; ช่วงรอยต่อของวันที่ 13-14 มิถุนายน 2553

วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปูมชีวิต อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี "ผู้ดีรัตนโกสินทร์"

ปูมชีวิต อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี "ผู้ดีรัตนโกสินทร์"


สังเขป ครอบครัว


นายอานันท์ ปันยารชุน เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2475 เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 12 คนของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) และ คุณหญิงปรีชานุสาสน์ (ปฤกษ์ โชติกเสถียร) นายอานันท์สมรสกับหม่อมราชวงศ์สดศรีสุริยา จักรพันธุ์ ธิดาหม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ (พลโท หม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ ทรงเป็นโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ กับ หม่อมหวน จักรพันธุ์ ณ อยุธยา) มีธิดา 2 คนคือ นางนันดา ไกรฤกษ์ (สมรสกับ ไกรทิพย์ ไกรฤกษ์) และนางดารณี เจริญรัชตภาคย์ (สมรสกับ ชัชวิน เจริญรัชตภาคย์)

ประวัติ ฝ่ายพ่อ

มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ มีนามเดิมว่า เสริญ ปันยารชุน เป็นบุตรของ พระยาเทพประชุน (ปั้น) และ คุณหญิงจัน เกิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2433 ณ บ้านคลองบางหลวง จังหวัดธนบุรี

ได้รับการศึกษาอย่างดีแต่วัยเด็กจากโรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ สอบได้ทุนเล่าเรียนหลวงของกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เมื่ออายุเพียง19 ปี เมื่อปี 2452 ในวิชาครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สอบได้คะแนนดีเยี่ยม จนได้รับรางวัลพิเศษ คือเหรียญรัชมังคลาภิเษกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

กลับมารับราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นครูอยู่หลายโรงเรียน อาทิ เทพศิรินทร์ สวนกุหลาบ มหาดเล็กหลวง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ตำแหน่งสุดท้ายคือ ปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ.2476 ขณะมีอายุเพียง 43 ปี เป็นปลัดกระทรวงอยู่เพียงปีเดียวก็ลาออก ขอรับบำนาญ เพื่อไปประกอบอาชีพส่วนตัว คือธุรกิจด้านหนังสือพิมพ์

จากนั้นได้ก่อตั้ง บริษัทสยามพาณิชยการ (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทยพาณิชยการ) ขึ้นเมื่อปี 2478 นอกจากรับจ้างงานพิมพ์ทั่วๆไปแล้ว ยังออกหนังสือพิมพ์ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ครบทั้ง 3 ภาษา คือ สยามนิกร และ สุภาพสตรี ในภาษาไทย, ไทยฮั้วเซี่ยงป่อ ในภาษาจีน, และ บางกอก โครนิเกิล ในภาษาอังกฤษ ฯลฯ

ทังนี้ถือเป็นแหล่วงรวมนักหนังสือ พิมพ์สำคัญในยุคนั้น อาทิ เฉลิม วุฒิโฆษิต สมญานาม "บรรณาธิการมืออาชีพ", โชติ แพร่พันธุ์ เจ้าของนามปากกา "ยาขอบ", มาลัย ชูพินิจ เจ้าของนามปากกา "น้อย อินทนนท์" "แม่อนงค์" และ "เรียมเอง" และ สุภา ศิริมานนท์ ปูชีนยบุคคลและนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายประชาธิปไตยคนสำคัญ เป็นต้น

ร่วมกับเพื่อนๆนักหนังสือพิมพ์ก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2484 โดยรับตำแหน่งเป็นนายกสมาคมคนแรก และเป็นติดต่อกันมา 2 สมัย ถึงปี 2485 พร้อมกับการวางมือด้านกิจการหนังสือพิมพ์โดยโอนบริษัทไทยพาณิชยการ ให้ นายอารีย์ ลีวีระ (ต่อมาเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ สยามนิกร และ พิมพ์ไทย ซึ่งหลังจากถูกปล่อยตัวในคราว กบฏสันติภาพ 10 พฤศจิกายน 2495 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ก็ได้เข้าพิธีมงคลสมรสกับ นางสาวกานดา บุญรัตน์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ และเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ชายทะเลบ้านหนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกยิงเสียชีวิตที่เรือนพัก โดยตำรวจยศสิบตำรวจโทและพลตำรวจอีก 4 นาย จากกองกำกับการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอ้างคำสั่งของ พ.ต.ท.ศิริชัย กระจ่างวงศ์ หนึ่งในนายตำรวจอัศวินแหวนเพชร ลูกน้องของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์) ดำเนินการสืบแทน ต่อมาโดยท่านหันไปประกอบอาชีพด้านธุรกิจท่องเที่ยวแทน

พระยาปรีชานุสาส์น ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2517 สิริอายุได้ 85 ปี

สาแหรกข้างแม่

พันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ (2 ธันวาคม 2426 - 12 สิงหาคม 2478) อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ประสูติแต่ หม่อมราชวงศ์สว่าง จักรพันธุ์ (ศิริวงศ์) พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าออศคาร์นุทิศ เป็นพระนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระนามของสมเด็จพระราชาธิบดีออศคาร์ที่ 2 แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ เพื่อเป็นที่ระลึกในเหตุการณ์ที่เจ้าชายออสคาร์ แบร์นาด็อต พระราชโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีออศคาร์ที่ 2 เสด็จฯ เยือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2427 ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีฯ ได้ถวายการรับเสด็จ

พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ ทรงเสกสมรสกับ หม่อมจำรัส จักรพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม ปิยะวัตร) และ หม่อมหวน จักรพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม บุนนาค) มีพระโอรสธิดาดังนี้

1. หม่อมเจ้าหญิงดวงตา (14 ต.ค. 2448 - 22 ต.ค. 2485) สมรสกับ หม่อมเจ้าสวัสดีประดิษฐ์ สวัสดิวัตน์

2. หม่อมเจ้าคัสตาวัส (10 ส.ค. 2449 - 23 ก.พ. 2526) สมรสกับ หม่อมเจ้าทิตยาทรงกลด รพีพัฒน์

3. หม่อมเจ้าหญิงสรัทกาล (? - 4 ก.ค. 2454)

4. หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ หรือในเวลาต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ (27 ก.ค. 2452 - 13 ต.ค. 2536) สมรสกับหม่อม วิภา [ธิดาของ พลโทหลวงกาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) สมาชิกผู้ก่อการอภิวัฒน์สยาม 2475 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปรากบฏบวรเดช (ตุลาคม 2476) หากต่อมาเป็นรองหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2490 ซึ่งมีพลโทผิน ชุณหะวันเป็นหัวหน้า] และหม่อมประพาล (รจนานนท์) มีธิดาคนเดียวคือ หม่อมราชวงศ์เพ็ญศิริ กรัยวิเชียร (สมรสกับ นิติกร กรัยวิเชียร บุตรชายคนโตของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร)

5. หม่อมเจ้าหญิงลุอิสาณ์ (18 ม.ค. 2453 - 23 ธ.ค. 2537) สมรสกับ หม่อมเจ้าดิศศานุวัติ ดิศกุล

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ทรงปลงพระชนม์เองเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478 เนื่องจากทรงคับแค้นพระทัยที่ถูกอำนาจการเมืองในขณะนั้น (พระยาพหลพลพยุหเสนา) บีบคั้นให้กดดัน และฟ้องร้องดำเนินคดี ดำเนินการริบทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสละราชสมบัติไปก่อนหน้านั้น

ชีวิตราชการ

นายอานันท์จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จากนั้นไปศึกษาต่อที่ลอนดอน กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร จากดัลลิชคอจเลจ และปริญญาตรีด้านกฎหมาย (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อปี 2498

หลังจบการศึกษา เข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2510 จากนั้นย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศแคนาดา ประจำประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ

ใน ปี พ.ศ. 2518 เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เดินทางไปเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเดินทางไปสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2519 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิชียร ก่อนจะถูกสั่งพักราชการในปี พ.ศ. 2520 ด้วยข้อหาพัวพันและฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ และถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก่อนจะลาออกจากราชการในปี 2522 หันมาทำงานด้านธุรกิจกับกลุ่มบริษัทสหยู เนี่ยนฯ จนกระทั่งเป็นประธานกรรมกลุ่มบริษัทเมื่อปี 2534 และดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นายอานันท์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถือเป็นคนที่ 19 สมัยแรกระหว่างวันที่ 2 มีนาคม 2534 ถึง 22 มีนาคม 2535 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 จากการเสนอชื่อโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร (ศิษย์เก่าร่วมโรงเรียนอำนวยศิลป์) และเคยร่วมงานกับนายอานันท์ เมื่อ พ.ศ. 2514 ขณะพันโทสุจินดา (ยศขณะนั้น) เป็นรองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน และนายอานันท์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา

คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอานันท์ ประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงทางด้านการเงินการคลัง เช่น นายนุกูล ประจวบเหมาะ นายเสนาะ อูนากูล นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ขณะที่นายอานันท์เองได้รับฉายาว่า "ผู้ดีรัตนโกสินทร์"

นายอานันท์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม 2535 ซึ่ง พรรคสามัคคีธรรมได้รับเลือกตั้งมากที่สุด 79 คน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคกลับไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ หลังจากนางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ เป็นหนึ่งในบัญชีดำ ผู้ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับการค้ายาเสพติด

พรรคร่วมเสียงข้างมาก ซึ่งประกอบด้วย พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร จึงสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ซึ่งเป็นที่มาของวาทกรรมสีดำทางการเมือง "เสียสัตย์เพื่อชาติ" และนำมาสู่การชุมนุมคัดค้านโดยประชาชนจำนวนมากในกรุงเทพ และรัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบ ใน เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 17 พฤษภาคม 2535

พลเอกสุจินดาลาออกจากตำแหน่งนายก รัฐมนตรีจากการกดดันทางการเมืองภาคประชาชน ฝ่ายพรรคร่วมเสียงข้างมากร่วมกันสนับสนุนให้ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่แล้ว นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ มีการ "พลิกโผกลางอากาศ" เสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ ในวินาทีสุดท้าย

นายอานันท์ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐมนตรีส่วนใหญ่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยแรก

นายอานันท์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองในวันที่ 23 กันยายน 2535 ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด และ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 20

พี่น้อง

พี่น้องของนายอานันท์ ปันยารชุนมีดังนี้

1. สุธีรา เกษมศรี ณ อยุธยา สมรสกับ หม่อม ราชวงศ์ระพีพรรณ เกษมศรี มีบุตร-ธิดาดังนี้
1.1หม่อมหลวงพีระพงศ์ เกษมศรี สมรสกับ หม่อมราชวงศ์รำพิอาภา สวัสดิวัตน์ เกษมศรี  ธิดา หม่อมเจ้านนทิยาวัด สวัสดิวัตน์ พระอนุชาในสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
1.2 หม่อมหลวงสุรธี อิศรเสนา สมรสกับ พชร อิศรเสนา ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์

2. ปฏดา วัชราภัย สมรสกับ กระแสร์ วัชราภัย
2.1 จรัสศรี วัชราภัย

3. กุนตี พิชเยนทรโยธิน สมรสกับ เกริกอิทธิ์ พิชเยนทร์โยธิน (บุตร พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) มีบุตร-ธิดา
3.1 อาภา พุกกะมาน สมรสกับ สหัส พุกกะมาน ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง
3.2 อิทธิ พิชเยนทรโยธิน อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ สมรสกับ ถวิดา (คอมันตร์) พิชเยนทรโยธิน - ธิดา พันเอกถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับท่านผู้หญิงโมลี

4. จิตรา วรวรรณ ณ อยุธยา สมรสกับ หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ มีบุตร 1 คน
4.1 หม่อมราชวงศ์ชาญวุฒิ วรวรรณ สมรสกับ คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ธิดา ศาสตราจารย์นายแพทย์กษานและท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช)

5. ดุษฎี โอสถานนท์ สมรสกับ ศ.นพ.ชัชวาลย์ โอสถานนท์ มีบุตร-ธิดา
5.1 ทิพย์สุดา สุวรรณรักษ์ สมรสกับ นายแพทย์จินดา สุวรรณรักษ์
5.2 นายแพทย์ระพินทร์ โอสถานนท์

6. กรรถนา อิศรเสนา ณ อยุธยา สมรสกับ อายุศ อิศรเสนา ณ อยุธยา บุตร พระยาภรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา)
6.1 ชุติมา ลี้ถาวร สมรสกับ วิทย์ ลี้ถาวร บุตร นายชาญชัย ลี้ถาวร อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กับ นาง ประมวล

7. สุภาพรรณ ชุมพล ณ อยุธยา สมรสกับ นายแพทย์ พัชรีสาร ชุมพล ณ อยุธยา

8. ดร.รักษ์ ปันยารชุน สมรสกับ จีรวัสส์ (พิบูลสงคราม) ปันยารชุน  ธิดาจอมพล ป.พิบูลสงครามและท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม

9. กุศะ ปันยารชุน สมรสกับ สุพรรณี เบญจฤทธิ์ และ นฤวร ทวีสิน

10. พันตำรวจเอกประสัตถ์ ปันยารชุน สมรสกับ สุขศรี ปันยารชุน

11. ชัช ปันยารชุน สมรสกับ มัลลิกา (สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) ปันยารชุน ธิดาหม่อมหลวงเต่อ สนิทวงศ์
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8