สถานการณ์สร้างได้ เป้าหมายคือจุดวิกฤต
รัฐบาลชุดที่ 37 ที่มี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าคณะก็ประสบปัญหาตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาล แม้บางเรื่องจะเป็นเป็นปัญหาค้างมาแต่รัฐบาลชุดก่อน เช่น การจับกุมตัวผู้ต้องหา 5 คน คดีเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่รัฐบาลชุดนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2518
เพียงเวลาไม่กี่เดือนของรัฐบาลสัญญา 1 หรือที่ได้รับสมญาจากสื่อมวลชนในเวลาต่อมาว่า "ฤาษีเลี้ยงลิง" การเคลื่อนไหวหยั่งกำลังเพื่อเป็นการปูทางไปสู่ปฏิกิริยาและการตอบโต้ปฏิกิริยา ที่มีเกิดขึ้นต่อขบวนการประชาธิปไตยที่พัฒนามาพ้นขอบข่ายของนิสิต นักศึกษาแล้ว หากลงสู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะการผนึกกำลังของ 3 กลุ่มพลังในสังคม คือ "นักเรียน นิสิต นักศึกษา และชาวนากับกรรมกร" ซึ่งกล่าวได้ว่ามีขอบเขตทั้งในระดับกว้างและระดับลึกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในระบอบการเมืองการปกครองไทยหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475
กรณีสำคัญคือจอมพลประภาส จารุเสถียร ลอบเดินทางเข้าประเทศเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม โดยอ้างว่าจะเข้ามารักษาตา ฝ่ายนักศึกษารณรงค์ให้มีการชุมนุมประชาชนในบริเวณสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ เพื่อเรียกร้องให้นำตัวจอมพลประภาสมาลงโทษ มีกลุ่มอันธพาลการเมืองลอบเข้ามาขว้างระเบิดใส่ที่ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 38 คน ทั้งนี้แม้จะเป็นการสร้างสถานการณ์ยั่วยุให้ฝ่ายนักศึกษาตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่ปรากฏว่าไม่มีการตกหลุมพรางของฝ่ายที่สูญเสียอำนาจ จึงทำให้เงื่อนไขการออกมายึดอำนาจการปกครองด้วยข้ออ้างรักษาความสงบเรียบร้อยต้องเป็นหมันอีกครั้งหลังกรณีพลับพลาชัย และการเดินขบวนไปสถานทูตสหรัฐก่อนหน้านั้น ผลที่สุดรัฐบาลเสนีย์จึงต้องผลักดัน หรืออย่างน้อยแสดงว่าเป็นการผลักดัน ให้จอมพลประภาสเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 22 สิงหาคม โดยก่อนออกเดินทางได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย
กรณีนี้ทำให้พล.อ. ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องจากถูกโจมตีว่าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และโดยไม่มีใครคาดฝัน หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเอง นับเป็นรัฐมนตรีกลาโหมพลเรือนคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
แต่แล้วความพยายามระลอกใหม่ของฝ่ายสูญเสียอำนาจที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกันอย่างชัดเจนกับฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิไตย ที่ไม่ต้องการให้บ้านเมืองมีพัฒนาการทางการเมืองเยี่ยงอารยประเทศ เริ่มด้วยการออกข่าวว่า ในวันที่ 3 กันยายน จอมพลถนอม กิตติขจร ติดต่อเข้ามาว่าจะขอกลับประเทศไทย เพื่อมาเยี่ยมบิดาคือ ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) ซึ่งมีอายุ 90 ปี ศูนย์นิสิตฯได้เรียกประชุมกลุ่มต่างๆ 165 กลุ่ม เพื่อคัดค้านการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม โดยระบุความผิดของจอมพลถนอม 11 ข้อ จากนั้นในวันที่ 7 กันยายน ก็มีการอภิปรายที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ "ทำไมจอมพลถนอมจะกลับมา" และมีข้อสรุปว่า การเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของก่อรัฐประหาร
ในที่สุดผลการประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติไม่อนุญาตให้จอมพลถนอมเข้าประเทศ
แต่แล้วในวันที่ 19 กันยายน จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งบรรพชาเป็นสามเณรที่ประเทศสิงคโปร์ ก็ลอบเดินทางทางกลับเข้าประเทศจนได้ ซึ่งทันทีที่ลงจากเครื่องบินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพฯ ก็ตรงไปยังวัดบวรนิเวศเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาส เป็นอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า สุกิตติขจโรภิกษุ ขณะที่กลุ่มยุวสงฆ์ก็ออกคำแถลงคัดค้านสถานะภิกษุของจอมพลถนอม โดยขอให้มหาเถรสมาคมตรวจสอบการบวชครั้งนี้ว่าถูกต้องตามพระวินัยหรือไม่ และถวายหนังสือต่อสังฆราชให้สอบสวนพระญาณสังวรด้วยในฐานะที่ทำการบวชให้แก่ผู้ต้องหาคดีอาญา ปรากฏว่าสมเด็จพระสังฆราชยอมรับว่าการบวชนั้นถูกต้อง ส่วนเรื่องขับไล่จอมพลถนอมจากประเทศนั้นเป็นเรื่องทางโลก ที่ทางมหาเถรสมาคมไม่อาจเกี่ยวข้องได้
ระหว่างนั้น สถานีวิทยุยานเกราะได้นำคำปราศรัยของจอมพลถนอมมาออกอากาศ มีสาระสำคัญว่า เป็นการกลับเข้ามาเพื่อเยี่ยมอาการป่วยของบิดา จึงได้บวชเป็นพระภิกษุตามความประสงค์ของบิดา และไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองอย่างใดเลย พร้อมกับประกาศเป็นเชิงข่มขู่มิให้นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน
การข่มขู่ที่เริ่มต้นโดยแม่ข่ายของ "ชมรมวิทยุเสรี" จากสถานีวิทยุยานเกราะ ในการกำกับดูแลของ พ.ท. อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ไม่มีผลต่อการชุมนุม เกิดการชุมนุมต่อต้านอย่างกว้างขวาง โดยมีจุดเริ่มตันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการเคาะประตูบ้าน เพื่อขอความเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับการต่อต้านพระถนอม และส่งตัวแทนเข้ายื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ต่อมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 23 กันยายน สมาชิกสภาก็ได้เสนอให้มีการประชุมในเรื่องการกลับมาของจอมพลถนอมโดยตรง และได้ลงมติคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอม ให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้โดยทันที ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เกิดอาการละล้าละลังไม่กล้าตัดสินใจเด็ดขาดตามมติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับประกาศลาออกจากตำแหน่งกลางสภาฯ และในเวลา 21.30 น.วันเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ก็เสด็จไปที่วัดบวรนิเวศเพื่อสนทนาธรรมกับสมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเคยเป็นพระพี่เลี้ยงเมื่อพระองค์ทรงผนวช
นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า การลาออกของนายกรัฐมนตรีเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งจะมีผลให้กระทู้ถามต่างๆ ตกไป ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ลงความเห็นว่า หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ยังเป็นบุคคลที่สามารถรวบรวมพรรคการเมืองจัดตั้งรับบาลผสมได้อีก
ในคืนวันนั้น ขบวนการนิสิตนักศึกษาในนามแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติได้ ออกติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอมทั่วประเทศ ปรากฏว่านิสิตจุฬาฯที่ออกติดโปสเตอร์ถูกชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งดักทำร้าย และนำเอาโปสเตอร์ที่จะติดนั้นไปทำลาย นอกจากนี้ นายชุมพร ทุมไมย และ นายวิชัย เกษศรีพงศา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม และเป็นสมาชิกแนวร่วมประชาชน ได้ออกติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม ถูกคนร้ายฆาตกรรมแล้วนำไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรบริเวณหมู่บ้าน 2 ตำบลพระประโทน ปรากฏจากการชันสูตรว่าทั้งสองคนถูกซ้อมและฆ่าอย่างทารุณก่อนที่จะนำศพไปแขวน ซึ่งเป็นกรณีที่สร้างความสะเทือนใจอย่างมาก ศูนย์นิสิตฯจึงได้ตั้งข้อเรียกร้องเพิ่มต่อรัฐบาล ให้จับคนร้ายมาลงโทษโดยเร็ว ทางฝ่ายรัฐบาลได้ตั้งให้ พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ เป็นผู้ควบคุมคดี.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน