Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รัฐธรรมนูญที่ปราศจากองคมนตรี (2)

รัฐธรรมนูญที่ปราศจากองคมนตรี:
ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (2)

ในอดีต มีรัฐธรรมนูญถึง 3 ฉบับในยุครุ่งอรุณของระบอบประชาธิปไตยของสยามประเทศ นั่นคือ ฉบับ 2475 (ทั้งฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน และฉบับถาวร 10 ธันวาคม) และฉบับ 2489 หาได้มีบทบัญญัติถึง "อภิรัฐมนตรี" (รัฐธรรมนูญ 2490 และเปลี่ยนเป็น "องคมนตรี" ในรัฐธรรมนูญ 2492) หรือ "องคมนตรี" ไว้แต่อย่างใด

ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน (ชั่วคราว) 27 มิถุนายน 2475 บัญญัติไว้ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชภาระได้ไว้ดังนี้

มาตรา 5 ถ้ากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ใช้สิทธิแทน

ทั้งนี้บทบัญญัติว่าด้วย "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 10 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว

ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2489 บัญญัติว่า...

มาตรา 10 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ให้รัฐสภาปรึกษากันตั้งขึ้นและในระหว่างที่รัฐสภายังมิได้ตั้งผู้ใด ให้สมาชิกพฤฒสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคน ประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว

นั่นคือ ใน การปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (แห่งรัฐ) นั้น องค์กรทุกองค์กร รวมทั้งองค์กรที่ปฏิบัติพระราชภาระแทนพระองค์ ล้วนมาจากกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น กล่าวคือ

ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน (ชั่วคราว) 27 มิถุนายน 2475 บัญญัติถึง "คณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี)" (แม้ว่าบทบัญญัติที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้เป็น 3 สมัย ซึ่งเป็นการวางเงื่อนไขการเลือกตั้งโดยสมบูรณ์ในสมัยที่ 3 ทำให้ดูเหมือนเป็น "บทเฉพาะกาล" ของส่วน "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" ก็เป็นที่เข้าใจได้ถึง "รอยต่อ" ของการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง) ไว้ดังนี้

มาตรา 32 คณะกรรมการราษฎรประกอบด้วยประธานคณะกรรมการราษฎร ๑ นาย และกรรมการราษฎร 14 นาย รวมเป็น 15 นาย

มาตรา 33 ให้สภาเลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้ 1 ขึ้นเป็นประธานกรรมการ และให้ผู้เป็นประธานนั้นเลือกสมาชิกในสภาอีก 14 นายเพื่อเป็นกรรมการ การเลือกนี้เมื่อได้รับความเห็นชอบของสภาแล้ว ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับเลือกนั้น ๆ เป็นกรรมการของสภา ในเมื่อสภาเห็นว่ากรรมการมิได้ดำเนินกิจการตามรัฐประศาสโนบายของสภา สภามีอำนาจเชิญกรรมการให้ออกจากหน้าที่ แล้วเลือกตั้งใหม่ตามที่กล่าวในตอนนั้น


ในกรณีรัฐธรรมนูญ 2475 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี มีที่มาดังนี้

มาตรา 47 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกสิบสี่นายต้องเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกนั้นจะเลือกจากผู้ที่เห็นว่ามีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ แม้มิได้เป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่อาจดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

และสำหรับพฤฒสภาในรัฐธรรมนูญ 2489 บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 24 พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งมีจำนวนแปดสิบคน สมาชิกพฤฒสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยทางอ้อมและลับ

ประเด็นที่น่าสนใจถัดมา จาก "ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า" ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า คือการกล่าวถึง "กลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม" คือการฟื้นองค์กร "องคมนตรี" ซึ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) 2490 ดังนี้

มาตรา 9 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำหรับถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดิน

มาตรา 10 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้จะได้แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ทันที


ที่น่าสังเกตคือ บทบัญญัติในเรื่ององคมนตรีนี้มีการกำหนดลงไปในรายละเอียดยิ่งขึ้น ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2492 ซึ่งในเวลาต่อมาเรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม" (http://www.thaipoliticsgovernment.org/wiki/รัฐประหาร_พ.ศ._2494) ซึ่งมีบัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 19 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา 20 ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความ ในมาตรา ๑๙ ก็ดี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดี ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นั้นเป็น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มาตรา 21 ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา 20 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน


จะเห็นว่า นับจากรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2490 ซึ่งได้มาโดยการรัฐประหาร เป็นต้นมา มีบทบัญญัติว่าด้วยบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ "องคมนตรี (อภิรัฐมนตรี)" มากยิ่งขึ้นทุกที.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 20-26 สิงหาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

ปรับปรุงเพิ่มเติมจาก โพสต์ครั้งแรก 18 ธันวาคม 2009, 21:30:55
http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=8964.0

พิมพ์ครั้งแรก Voice of Taksin
ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 ปักษ์หลัง ธันวาคม 2552
คอลัมน์ รั้งม้าริมผา ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8