Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (17)

การชุมนุมบนถนนราชดำเนินและการเจรจา 28-29 มีนาคม 2553

วันที่ 27 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 7.00 น. ที่เวทีชุมนุมหลักสะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนิน คนเสื้อแดงจัดพิธีตักบาตรพระสงฆ์ โดยแกนนำและผู้ชุมนุมร่วมกันถวายอาหารและปัจจัยแก่พระสงฆ์ที่มาร่วมประมาณ 200 รูป จากนั้นในตอนสาย คนเสื้อแดงที่เดินทางมาสมทบกับผู้ชุมนุมในกรุงเทพจากจังหวัดต่างๆ เริ่มทยอยเดินเท้าจากลานพระรูปทรงม้าและถนนราชดำเนินเข้าสู่เวทีหลักสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนที่เวลา 10.00 น. แกนนำ นปช. จะประกาศมาตรการเคลื่อนผู้ชุมนุมไปเจรจาทหารที่ตั้งจุดประจำการรอบที่ชุมนุม ทั้ง 7 จุด ให้ถอนกำลังกลับกรมกอง สำนักข่าว AFP (Agence France Presse) ของฝรั่งเศส ระบุว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 80,000 คน และมีรายงานข่าวจากสื่อกระแสหลักว่ามีการยึดอาวุธปืนจากเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่ง ในระหว่างความพยายามเจรจาและผลักดันกันอยู่นั้น แม้ว่าจะมีการส่งคืนในภายหลัง แต่ทางศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ออกคำแถลงว่ายังมีอาวุธสูญหาย

พลตำรวจตรีปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล แถลงในเวลาประมาณ 14.20 น. ว่า ขณะนี้ ทหารทยอยถอนกำลังออกจากจุดพักกำลังพลต่าง ๆ แล้ว อาทิ สนามม้านางเลิ้ง วัดตรีทศเทพ วัดบวรนิเวศวิหาร และจะทยอยถอนกำลังออกจนหมด เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกับกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ส่งกำลังตำรวจเข้าไปแทนที่ เพื่อป้องกันมือที่ 3 และการกระทบกระทั่งกับผู้ไม่เห็นด้วย

ในขณะที่คนเสื้อยังคงปักหลักชุมนุมและมีการหมุนเวียนผู้ชุมนุมผลัดเปลี่ยนจากจังหวัดต่างๆ และจังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร โดยมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายข้อเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาภายใน 15 วัน และจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดนั้น ในวันที่ 28-29 มีนาคม 2553 จึงมีการเปิดการเจรจาโดยใช้สถานการณ์เจรจาทิ่ห้องประชุมสภาพัฒนาการเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้าสถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ทั้งนี้ระบบรักษาความปลอดภัยโดยรอบบริเวณได้ใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประมาณ 1 กองร้อย

ทั้งนี้ฝ่ายแกนนำ นปช. นำโดยนายวีระ มุสิกพงศ์ ร่วมด้วยนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายแพทย์เหวง โตจิราการ กับฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเดินทางมาด้วยรถยนต์ประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะประกอบด้วยนางอัญชลี วาณิชเทพบุตร รองเลขาธิการนายกฯ และนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์

แต่ผลการเจรจาต่อเนื่องทั้ง 2 วัน ไม่ได้ข้อสรุปจนประกาศเป็นข้อตกลงกันได้แต่อย่างไร โดยเนื้อหาสำคัญของฝ่าย นปช. คือ ขอให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 15 วันเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนทั้งประเทศได้ตัดสินใจทางการเมืองว่าต้องการให้พรรคใดมาบริหารประเทศและต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาทาสัตยาบันร่วมกันว่าจะยอมรับผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งทางนปช.รับประกันว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกดดันเรียกร้อง รัฐบาลอีกต่อไป

ในขณะที่ข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาลคือ กำหนดกรอบเวลาในการยุบสภาภายในเวลา 9 เดือน เพื่อพิจารณางบประมาณแผ่นดิน และประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การพิจารณางบประมาณแผ่นดินเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องงบประมาณ ไม่อยากให้ตารางปฏิทินงบประมาณถูกกระทบ สาหรับการทำประชามติเพื่อถามประชาชนทั้งประเทศว่ารัฐธรรมนูญมีเรื่องใดที่เห็นควรต้องแก้ไขประชาชนกำหนดอย่างไรก็จะดาเนินการตามนั้น นอกจากนี้ ต้องการทาบรรยากาศบ้านเมืองให้เป็นปกติ การชุมนุมก็เป็นไปตามกติกา ไม่มีการปิดล้อมข่มขู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

สำหรับการเจรจาในวันที่ 28 กระบวนการเจรจาใช้เวลา 16.30-19.00 น. ส่วนวันที่ 29 ใช้เวลาระหว่าง 18.30-20.30 น. โดยทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าให้เลื่อนการเจรจาครั้งต่อไปออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่อาจหาข้อยุติถึงกำหนดระยะเวลาในการยุบสภาได้

จากรายงานที่จัดทำโดยเจ้าภาพฝ่ายสถานที่ คือ สถาบันพระปกเกล้า ให้ข้อสรุปในส่วนความเห็นที่สอดคล้องกันไว้ 5 ประเด็น ประกอบด้วย

          1. การพูดคุยกันขอให้พูดกันในเรื่องอนาคต ไม่ควรไปพูดถึงอดีตมาก
          2. ต้องการให้เกิดสันติสุขในประเทศเพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าไปได้ อยากเห็นประเทศไทยเป็นผู้ชนะ ยุติความแตกแยกในสังคม
          3. ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เห็นด้วยกับการใช้สันติวิธีในการเจรจาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันในลักษณะ นี้
          4. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร ต้องการให้รัฐและสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
          5. เห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถือเป็นกติกาของประเทศ ต้องมีการแก้ไขเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น


ทางด้านเวทีปราศรัย นปช. บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งพื้นที่การชุมนุม มีการตั้งเตนท์สองฝั่งถนนตั้งแต่ถนนราชดำเนินนอกไล่มาตั้งแต่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ผ่านถนนราชดำเนินกลางทั้งสายจนเชิงสะพานปิ่นเกล้าบริเวณโรงแรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งตลอดเวลาการเจรจาที่ถ่ายทอดขึ้นสู่จอภาพขนาดใหญ่ มีเสียงโห่ร้องแสดงความไม่พอใจการเจรจา โดยเฉพาะกับคำพูดของนายอภิสิทธิ์ หรือแม้เมื่อการเจรจาไม่สามารถไปสู่ข้อสรุปตามข้อเรียกร้องของฝ่าย นปช.

หลังยุติการเจรจาในวันที่ 29 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงเรื่องการเลือกตั้งในปลายปี 2553 หากเสื้อแดงและ นปช. ต้องร่วมมือกับรัฐบาล โดยในเวลา 9 เดือนก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลจะพยายามพัฒนาเศรษฐกิจ แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเร่งการฟื้นฟูระเบียบสังคม เพื่อให้ประเทศฟื้นสู่ภาวะปกติก่อนการเลือกตั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม แกนนำ 3 คนของนปช. ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอข้อที่ 2 เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งไม่พอใจที่รัฐบาลต้องใช้เวลานานถึง 9 เดือนยุบสภา ในที่สุด นายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำคนหนึ่งของนปช. ได้ปฏิเสธกำหนดเวลา 9 เดือนและต้องการให้รัฐบาลยุบสภาภายในเวลา 15 วัน

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ประกาศต่อผู้ชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศว่า การเจรจาระหว่าง นปช. กับรัฐบาลสิ้นสุดลง นปช. จะยกระดับการชุมนุมต่อไป.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 14-20 พฤษภาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8