Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (44)

รัฐบาลสัญญา 2: ห้วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง

หลังจากที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐมนตรีร่วมคณะ 31 คน แล้วจึงเปิดประชุมแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นับเป็นรัฐบาลชุดที่ 34 นับจากการอภิวัฒน์สยาม 2475

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าสถานการณ์โดยรวมของประชาชนกลุ่มๆต่าง โดยเฉพาะกลุ่มที่ในปัจจุบัน ใช้คำว่า "คนรากหญ้า" ซึ่งได้แก่ กรรมกรผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ชาวไร่ชาวนาในชนบท และกลุ่มคนจนหรือผู้มีรายได้น้อยในเมือง เช่น พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่-แผงลอย กลุ่มชาวสลัม และกลุ่มอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่สำคัญคือนับจากการเดินขบวนคัดค้านเลือกตั้งสกปรกในปี 2500 เป็นต้นมา จนถึงการชุมนุมเดินขบวนประท้วงคำตัดสินของศาลโลกกรณีเขาพระวิหารในปี 2505 จนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการชุมนุมทางการเมืองและการเดินขบวนเรียกร้องทางด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ที่มีขนาดใหญ่ และมีขอบเขตทั่วประเทศ มีผู้คนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย

ทั้งนี้ปัจจัยหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือบทบาทของนิสิตนักศึกษาที่ เข้าไปรับรู้สภาพปัญหาของกรรมกร ชาวไร่ ชาวนา และกลุ่มคนยากจนในเมือง ทั้งในเขตกรุงเทพฯและในภูมิภาค มีการประสานตัวเองเข้าไปร่วมเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมจากรัฐบาล เช่น ร่วมประท้วงกับชาวนาในจังหวัดต่างๆ ให้รัฐบาลช่วยไถ่ถอนและจัดที่ทำมาหากินให้ร่วมประท้วงเจ้าของโรงเรียนราษฎร์ที่ไล่ครูออก คัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ประท้วงเรื่องเหมืองแร่ของบริษัทเทมโก้ จังหวัดสงขลา และร่วมขับไล่ฐานทัพสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในสงครามอินโดจีนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ขณะเดียวกันสิ่งที่ต่อเนื่องจากขบวนเผยแพร่ประชาธิปไตยของสหพันธ์นักศึกษาเสรีฯ ดังได้กล่าวมาแล้ว นำไปสู่โครงการสำคัญที่ฝ่ายนิสิต นักศึกษาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนายสัญญา นั่นคือ โครงการเผยแพร่ ประชาธิปไตย ในเดือนเมษายน 2517 โดยใช้งบประมาณหลายล้านบาท นำประชาธิปไตยไปสู่ชนบทถึง 580 ตำบล ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายความรู้ความเข้าใจในสภาพชนบท และสังคมไทยในหมู่นิสิต นักศึกษาได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน อาจกล่าวได้ว่าส่งผลสะเทือนด้านจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งทางด้านกว้างและด้านลึก เมื่อเทียบกับโครงการค่ายอาสาพัฒนาชนบทแบบดั้งเดิม นิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการรณรงค์เผยแพร่ประชาธิปไตยทั้ง 2 ครั้ง เริ่มมองเห็นความล้าหลังของชนบทอันเกิดจากการละเลยของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา

จุดเปลี่ยนประการสำคัญ คือ นิสิต นักศึกษาส่วนหนึ่งเกิดแนวความคิดต้องการเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม มีการค้นคว้าหาความรู้และจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่ลัทธิสังคมนิยม ซึ่งกลายเป็นที่สนใจและเป็นจุดเพ่งเล็งของพลังทางการเมืองที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม เห็นว่าเป็นการปลุกระดมให้กรรมกร ชาวไร่ชาวนา รวมตัวกันเข้าเพื่อเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ หากแต่ถูกกดบีบไว้มาโดยตลอด

ช่วงนี้เองที่เป็นฉากโหมโรงของการที่ชาว ไร่ชาวนา จากจังหวัดต่างๆ เช่น พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อ่างทอง สุโขทัย มหาสารคาม ชัยนาท ฯลฯ เดินทางเข้ามาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปแก้ปัญหาอย่างขนานใหญ่และจริง จังเป็นครั้งแรก

นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ใช้แรงงานหรือ "กรรมกร" ที่ถูกกำจัด/จำกัดภายหลังการรัฐประหาร 2 ครั้งของ "จอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง" ก็กล้าก้าวออกมาเคลื่อนไหว ประท้วงความไม่เป็นธรรมในสภาพการจ้างงาน เพียงเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2516 มีรายงานว่ามีการนัดหยุดงานถึง 353 ครั้ง แม้ว่าในระยะแรกๆจนถึงกลางปี 2517 ยังไม่มีการรวมกลุ่มกันเข้าเป็นเครือข่ายหรือมีลักษณะที่เป็นองค์กรอย่าง ชัดเจน แต่โดยการประสานงานของนิสิตนักศึกษาบางส่วนที่ผ่านประสบการณ์โดยตรงในช่วงคาบเกี่ยวของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ซึ่งได้นำองค์ความรู้ทางด้านสิทธิในแรงงานและเสรีภาพในการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตยลงสู่ "มวลชน" ซึ่งเป็นคำเรียกที่ริเริ่มในเวลานั้นและใช้สืบเนื่องมาตลอด

จากจุดนี้เอง หน่ออ่อนขององค์กรที่มีลักษณะ "ศูนย์กลาง" การเคลื่อนไหวของกลุ่มคน "รากหญ้า" ทั้ง 2 กลุ่ม เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ก่อนจะพัฒนาเป็น "สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย" ในเดือนพฤศจิกายน 2517 และเกิดผู้นำชาวนาขึ้นจำนวนหนึ่ง เช่น นายลำยวง ซ่องสกุล นายอินถา ศรีบุญเรือง (ต่อมาถูกลอบสังหาร) นายใช่ วังตะกู และนายวิชัย พิกุลขาว พร้อมกันนั้นทางฝ่ายแรงงานก็มีการก่อตั้ง "ศูนย์ประสานงานกรรมกร" ซึ่งพัฒนามาจากกรณีประท้วงอย่างยืดเยื้อของคนงานทอผ้า เมื่อเดือนมิถุนายน 2517 และส่งให้บทบาทในฐานะผู้นำกรรมกรของนายเทิดภูมิ ใจดีและนายประสิทธิ์ ไชโย โดดเด่นขึ้นมา

เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้งในปีถัดมา คือ เหตุการณ์จลาจลพลับพลาไชย เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 3-8 กรกฎาคม 2517 เมื่อฝูงชนจำนวนหนึ่งเข้าล้อมสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย พยายามจะจุดไฟเผา ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 24 คน บาดเจ็บ 120 คน ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน ใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม จับกุมผู้ต้องหาได้เป็นจำนวนมาก

สำหรับการในเรื่องรัฐธรรมนูญ หลังจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ร่างเสร็จแล้วได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา คณะรัฐมนตรีได้เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและรับหลักการเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2517 จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงส่งร่างฯดังกล่าวให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 35 คน พิจารณา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงได้ลงมติเห็นชอบเมื่อ 5 ตุลาคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 กำหนดให้มีสภา 2 สภา คือ วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากเลือกตั้ง ห้ามข้าราชการประจำเป็นข้าราชการการเมือง

นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ที่ในเวลานั้นยอมรับกันว่ามอบอำนาจให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งยังได้วางหลักประกันและเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างกว้างขวาง และประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พุทธศักราช 2517 เท่ากับว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นการเลือกตั้งในระบบพรรค

มีพรรคการเมืองมาจดทะเบียนก่อตั้งพรรคมากเป็นประวัติการณ์รวม 42 พรรค กำหนดการเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นในวันที่ 26 มกราคม 2518.



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 16-22 มกราคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8