"คำพิพากษา": ยึดทรัพย์ทักษิณ
ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 หนึ่งในข้อกล่าวหาและเหตุผลแฝงที่นำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็เดินทางมาสู่จุดสิ้นสุดทันทีที่ในเวลา 13.30 น. องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติและได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตกเป็นของแผ่นดิน โดยศาลมีคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นเจ้าของหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่แท้จริง และใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ป เอไอเอส และชินแซทฯโดยตรง อันมีผลทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทชินคอร์ปสูงขึ้น รวมทั้งได้เงินปันผลจำนวนดังกล่าว จึงมีคำพิพากษาให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเงินปันผลจำนวนทั้งสิ้น 46,373,687,454.64 บาทให้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้คืนทรัพย์สินที่มีมาก่อนจะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จำนวนทั้งสิ้น 30,247,915,606.31 บาท
และในช่วงเย็นวันนั้นเอง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกคำแถลงผ่านการออกอากาศทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งรับชมได้ทาง http://www.thaksinlive.com/2010/02/now/739 (ปัจจุบันถูกบล็อกโดยกระทรวง ICT ไปแล้ว) โดยสรุปในตอนท้ายดังนี้
"ผมเคยบอกว่าจะแสวงหาความยุติธรรมให้ได้ ไม่ว่าความยุติธรรมนั้นจะอยู่ในนรกหรือสวรรค์ ในหรือนอกประเทศ ผมถือว่าวันนี้ผมไม่ได้รับความยุติธรรม ผมจะแสวงหาต่อไป
ขอให้ทุกท่านใช้วิจารณญาณต่อไป อย่าดูหนังม้วนเดียว ขอให้ดูย้อนไปตั้งแต่ผมทำงานมาเป็นอย่างไร แล้วก่อนถูกปฏิวัติเจออะไร มีการใช้สถาบันต่างๆ เข้ามาจัดการการเมืองอย่างไร ศึกษาให้ดีแล้วจะรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราไม่ปกติ ขอให้พี่น้องผู้รักประชาธิปไตยต่อสู้ต่อไปด้วยสันติ อนาคตลูกหลานของเราจะเติบโตมาในสังคมประชาธิปไตยที่มีความยุติธรรมและความเสมอภาค
ขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมวันนี้ ขอให้เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับการเมืองไทยที่จะพัฒนาต่อไป ผมเจ็บคนเดียวไม่เป็นไร ขอขอบคุณทุกท่านที่เป็นห่วงและอวยพรผมมา ขอขอบคุณในน้ำใจที่ผมจะไม่มีวันลืม ขอโทษคุณหญิงและลูกที่ผมดันทุรังเข้าการเมือง เสียใจครับ ขอบคุณครับ"
จากนั้นในวันที่ 11 มีนาคม 2553 กลุ่ม 5 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย รองศาสตราจารย์.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, รองศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร และ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ออกเอกสาร "บทวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรณีขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน" โดยเขียนอารัมภบทไว้ว่า
"คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนห้าคนดังมีรายนามตอนท้าย ได้ศึกษาคำพิพากษาของศาลซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2553แล้ว เห็นว่าเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการด้านนิติศาสตร์ต่อสาธารณชนทั่วไป เป็นการสมควรที่จะเสนอบทวิเคราะห์เบื้องต้นทางกฎหมายเพื่อแสดงความคิดเห็น ต่อคำพิพากษาของศาลในเรื่องดังกล่าว"
โดยในตอนท้ายเอกสารดังกล่าวได้ให้ข้อสรุปว่า
"คณาจารย์ทั้งห้ายืนยันว่า ความเห็นต่างของเราเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ยอมรับรัฐประหาร หลักการเคารพกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรม หลักดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายตุลาการ หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะและคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจต่อการดำรงอยู่ของกฎหมาย หลักการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ซึ่งหลักการทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และคณาจารย์ทั้งห้ายืนยันที่ปกป้องหลักการทั้งหลายเหล่านี้อย่างสุดกำลัง ด้วยความบริสุทธิ์ใจ"
หมายเหตุ: สามารถดาวน์โหลดไฟล์ pdf แถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่ : http://www.mediafire.com/?5vwomnmzuju และไฟล์ pdf แถลงการณ์ฉบับสรุปย่อได้ที่ : http://www.mediafire.com/?ymwtn5cbzjy
ทั้งนี้ก่อนหน้าที่คณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้ง 5 จะออกเอกสารดังกล่าวต่อสาธารณะ การวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยในคดีที่เรียกกันว่า "คดียึดทรัพย์" นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนเห็นด้วย และฝ่ายที่เกิดความรู้สึกถึงสิ่งที่เรียกว่า "กระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน" โดยเฉพาะความรู้สึกที่สะท้อนผ่านสื่อนานาชนิดของคนเสื้อแดง ซึ่งในเวลานั้นยังประกอบไปด้วยสื่อสิ่งพิมพ์หลายรูปแบบทั้งที่เป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และรวมทั้งสิ่งพิมพ์เฉพาะกิจ
นปช. ประกาศชุมนุมใหญ่ก่อนวิกฤตนองเลือด
ในที่สุด แกนนำกลุ่ม นปช. ก็มีมติให้มีการชุมนุมทางการเมืองในเดือนมีนาคม โดยวันที่ 8 มีนาคม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน แถลงยืนยันว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพมหานครในวัน ที่ 14 มีนาคม โดยยึดหลักประชาธิปไตย ไม่สร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง โดยการชุมนุมครั้งนี้ยึดหลักสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง และได้จัดวางกำลังหน่วยรักษาความปลอดภัยไว้อย่างรัดกุม
ซึ่งถัดมาในวันที่ 9 มีนาคม นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้อ่านแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ฉบับที่ 4/2553 ว่ารัฐบาลจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่กับผู้ชุมนุม เพื่อป้องปรามความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยระบุว่ากลุ่มพันธมิตรฯจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆในช่วงเวลาดังกล่าว
ต่อมาในวันที่ 11 มีนาคม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง เสนาธิการทหารบก พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 และ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมกองอำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยนายสุเทพกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่จะดูแลความสงบเรียบร้อยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประกาศเป็นพื้นที่ความมั่นคง ซึ่งทุกคนไม่พกพาอาวุธ นอกจากอุปกรณ์ป้องกันตัว แต่จะมีเพียงชุดสายตรวจ ชุดสายตรวจ ชุดปฏิบัติการพิเศษหรือหน่วยสวาท ชุดจู่โจมเคลื่อนที่เร็ว หรือชุด ปะ ฉะ ดะ ที่จะมีอาวุธติดตัว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยจะมีเครื่องหมายเลขชัดเจน ในช่วงประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ระหว่างวันที่ 11-23 มีนาคม 2553
สำหรับการถวายอารักขาที่บริเวณรอบโรงพยาบาลศิริราช จะอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บัญชาการทหารเรือ และจะมีทหารเรือและทหารบกแต่งเครื่องแบบรักษาความสงบเรียบร้อย โดยใช้กำลังทั้งสิ้น 5 กองร้อย.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 23-29 เมษายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน