Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (20)

สถานการณ์อนุสรณ์สถานแห่งชาติและวิกฤตโรงพยาบาลจุฬาฯ

เวลาประมาณ 09.30 น. วันที่ 28 เมษายน 2553 นายขวัญชัย ไพรพนา หนึ่งในแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ประกาศภายหลังการประชุมแกนนำว่า ในเวลา 10.30 น. จะเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปให้กำลังใจมวลชนคนเสื้อแดงที่ปักหลักอยู่ที่ตลาดไท โดยให้มวลชนเสื้อแดงที่ต้องการจะร่วมขบวนไปรวมตัวที่ศาลาแดงแล้วร่วมเดินทางไปกับรถปิคอัพจำนวน 150 คัน เหตุผลสำคัญคือได้รับการรายงานข่าวว่าจะมีการขนอาวุธเข้ามาในกรุงเทพฯเพื่อสลายการชุมนุมและปราบคนเสื้อแดง การเคลื่อนขบวนครั้งนี้จึงเป็นภารกิจในการเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมที่จะสกัดกั้น

เวลา 13.00 น. คนเสื้อแดงเคลื่อนขบวนถึงฐานทัพอากาศดอนเมือง ปรากฏว่ามีด่านสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอยู่ในสภาพเตรียมพร้อม ตั้งแนวพร้อมอุปกรณ์ปราบจลาจล นายขวัญชัยได้สั่งให้ขบวนหยุด และให้หน่วยมอเตอร์ไซค์โฉบเข้าไปสังเกตการณ์ โดยกำชับให้ถอนตัวอย่างเร็ว ทั้งสองฝ่ายวางกำลังประจันหน้ากันในระยะห่างประมาณ 2 กิโลเมตร ทั้งนี้ฝ่ายทหารทหารประกาศขอความร่วมกับสื่อมวลชนให้ถอนตัวออกนอกพื้นที่ปฏิบัติงาน หลังจากนั้นกลุ่มคนเสื้อแดงเคลื่อนขบวนออกจากหน้าฐานทัพอากาศดอนเมืองมุ่งหน้าสู่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ซึ่งเปิดการเจรากันอีกครั้งหนึ่งแต่ไม่สามารถทำความตกลงเปิดทางได้ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ยิงกระสุนยางเข้าใส่ทำให้ผู้ชุมนุมต้องถอยร่น

ขณะเดียวกันที่เวทีการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ได้ขึ้นปราศรัยและประกาศขอให้ผู้ชุมนุมไม่ต้องตกใจกับสถานการณ์ที่ดอนเมืองและรังสิต พร้อมกับแจ้งมติแกนนำผ่านไปยังนายขวัญชัยให้นำมวลชนเดินทางกลับมาตั้งหลักที่ราชประสงค์ร่วมประชุมกับแกนนำทั้งหมดเพื่อกำหนดท่าทีต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่แล้วในเวลา 14.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเริ่มปฏิบัติการรุกคืบหน้าในพื้นที่ที่ยันกันอยู่บริเวณอนุสรณ์สถานฯ มีการจับกุมผู้ชุมนุมบริเวณโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยากว่า 10 คน

ตามมาในเวลา 14.40 น. เจ้าหน้าที่ทหารเริ่มยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมหลายสิบนัดตั้งแต่อนุสรณ์สถานแห่งชาติถึงโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยาดอนเมือง ขณะที่ประชาชนที่จอดรถสัญจรไปมาบนถนนวิภาวดีรังสิตได้ลงมาจากรถเพื่อหาที่ปลอดภัยหลบกระสุนยางของเจ้าหน้าที่

เสียงปืนจากฝ่ายเจ้าหน้าที่สงบลงในเวลาประมาณ 15.00 น.

เวลา 16.10 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์บริเวณหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติว่า จากรายงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเบื้องต้น มีผู้บาดเจ็บ 16 ราย ในจำนวนนี้ 10 รายส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีสาหัส 1 รายบาดเจ็บที่ช่องทองต้องเข้ารับผ่าตัด และอีก 3 ราย เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ซึ่งก็มีสาหัส 1 รายที่ต้องผ่าตัดจากบาดแผลถูกยิงที่หน้าอก

จนถึงเวลา 17.00 น. ที่ถนนวิภาวดี 47 ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารพยายามผลักดันผู้ชุมนุมรอบที่ 2 ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารชุดเคลื่อนที่เร็วขับรถมอเตอร์ไซค์ลงมาจากโทลล์เวย์ทำให้เจ้าหน้าที่ทหาร ทางด้านล่างเกิดการเข้าใจผิดยิงปืนกระสุนจริงและกระสุนยางเข้าใส่จนทำให้ทหารบาดเจ็บ 1 นาย คือ พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ขณะที่ทหารบางส่วนได้ถอยร่นกลับไปที่หน้าโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยาดอนเมือง ฝั่งขาออกซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 1 ช่องทาง เพื่อให้รถขาออกได้เคลื่อนตัวไปได้

สำนักข่าวต่างประเทศ เช่น ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีรายงานเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณเปิดเผยมีจำนวนผู้ชุมนุมบาดเจ็บอย่างน้อย 16 รายระหว่างการปะทะกัน ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 ราย จากกระสุนปืนของทหารอีกหน่วยหนึ่งจากการเข้าใจผิด

ความตึงเครียดระหว่างผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่นำโดย แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน กับฝ่ายรัฐบาลผ่านศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความกดดันทั้ง 2 ฝ่าย โดยในวันที่ 29 เมษายน นายพายัพ ปั้นเกตุ แกนนำ นปช. แถลงว่าจากการเข้าไปตรวจสอบภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่าภายในอาคารโรงพยาบาลมีกำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามและปืนซุ่มยิงอยู่ครบมือ รวมทั้งในพื้นที่สวนลุมพินี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 7 กองร้อยและในถนนสีลม ไม่ว่าจะเป็นตึกซีพี หรือธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลมก็มีกำลังทหารจำนวนมาก ซึ่งสำหรับในบริเวณโรงพยาบาลจุฬาฯ หากไม่ถอนกำลังทหารออกไปให้หมดภายในคืนนี้ ตนพร้อมจะนำสื่อมวลชนและกลุ่มคนเสื้อแดงไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อไปขอพื้นที่โรงพยาบาลคืนให้กับประชาชน

เวลา 19.00 น. นายพายัพและกลุ่มคนเสื้อแดงเดินและการ์ดของ นปช. ทางไปถึงโรงพยาบาล เพื่อขอตรวจสอบอาคารต้องสงสัยในโรงพยาบาล และภายหลังการเจรจากัน เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลยินยอมให้การ์ดเดินแถวเรียงหนึ่งตรวจอาคารที่อ้างว่าอยู่ในข่ายความสงสัย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่อนุญาตให้เข้าไปการ์ดเสื้อแดงกลุ่มใหญ่กระจายเข้าค้นทั่วโรงพยาบาล

จากการเข้าตรวจค้น พบว่าไม่ได้มีกำลังทหารตามที่ได้ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด

รุ่งขึ้นวันที่ 30 เมษายน นพ.เหวง โตจิราการ ในฐานะแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดินได้ออกมาขอโทษเหตุการณ์ดังกล่าว โดยอ้างว่าไม่ใช่มติของแกนนำ และเป็นการกระทำไม่เหมาะสม พร้อมทั้งระบุว่ายินดีให้ความสะดวกกับทางโรงพยาบาลในทุกด้าน รวมทั้งจะไม่มีการเข้าไปภายในโรงพยาบาลเพื่อตรวจค้นอีก สำหรับการเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลนั้นเนื่องจากต้องการตอบคำถามของสื่อมวลชน และแก้ข้อกังขาของมวลชนคนเสื้อแดงจากกรณีที่มีข่าวว่าทหารซุ่มอยู่ในอาคาร นายพายัพจึงเข้าไปเพื่อตรวจดูว่ามีทหารอยู่จริงหรือไม่ ตัว นพ.เหวงและแกนนำอีกหลายคนคิดว่าจะเป็นการเข้าไปตรวจสอบร่วมกับสื่อมวลชน โดยไม่คิดว่าจะมีคนเสื้อแดงหรือการ์ดเข้าไปด้วย ต่อจากนี้ขอยืนยันว่าจะห้ามคนเสื้อแดงที่ไม่ได้มีอาการบาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลจุฬาฯ เด็ดขาด โดยยังยึดแนวทางไม่เข้าไปรบกวนโรงพยาบาลหรือสถานที่ราชการ

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน แถลงขออภัยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมทั้งประชาชนอีกครั้ง ยืนยันจะไม่มีการเข้าไปภายในโรงพยาบาลอีก แต่ขอชี้แจงเหตุที่เข้าไปตรวจค้นภายในโรงพยาบาลจุฬาฯ เนื่องจากไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมยอมรับเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของหลายฝ่าย ยืนยันไม่มีความตั้งใจจะสร้างให้เกิดภาพเหมือนเป็นการข่มขู่ อยากให้เข้าใจความรู้สึกของคนที่ตกเป็นเหยื่อ จึงมีความจำเป็นต้องดูแลความปลอดภัยของประชาชนให้ดีที่สุด.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 4-10 มิถุนายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8