การปิดล้อมไทยคมและการเข้าสลายม็อบราชดำเนิน 2553
ภายหลังการเจรจาระหว่างตัวแทนแกนนำ นปช. กับรัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่อาจบรรลุข้อตกลงกันได้ ในวันที่ 3 เมษายน 2553 แกนนำผู้ชุมนุมจึงมีมติขยายเวทีการชุมนุม โดยมีการเคลื่อนขบวนมาปักหลักบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้ชุมนุมจำนวนมากกระจายกันอยู่เต็มผิวจราจร ตั้งแต่แยกประตูน้ำ ด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ต่อเนื่องไปจนถึงถนนราชดำริ
และในขณะที่ดูเหมือนว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงจะยกระดับตามคำกล่าวของแกนนำ โดยมีการขยายพื้นที่ชุมนุมจากบริเวณถนนราชดำเนินกลางและราชดำเนินนอกไปยังบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ต่อมาในวันที่ 7 เมษายน 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปแจ้งให้ไทยคมระงับการแพร่สัญญาณภาพและเสียงของสถานีประชาชน หรือ D-Station ที่แพร่ภาพการชุมนุมและข่าวความเคลื่อนไหวของคนเสื้อมาตลอดหลายเดือน
จากคำสั่งดังกล่าวนำไปสู่การเคลื่อนมวลชนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเข้าปิดล้อมกดดันเจ้าหน้าทหาร ซึ่งเข้าปฏิบัติงานภายใต้คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่กลางดึกของคืนวันที่ 7 ซึ่งสถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นตลอดเวลาจนถึงเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันที่ 8 เมษายน กำลังทหารจำนวน ประมาณ 200 นายนั่งรถบรรทุกเดินทางมายังสถานีไทยคมอีก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นอย่างมาก มีการตั้งแถวหน้ากระดานประจันหน้ากับกำลังทหาร แต่เมื่อแกนนำคนเสื้อแดงได้เข้าเจรจากับทางฝ่ายทหารขอให้เดินทางกลับ ซึ่งทางฝ่ายทหารก็ยินยอมถอนกำลังออกไปในที่สุดโดยไม่มีการประทะกันแต่อย่างใด
วันที่ 9 เมษายน 2553 สำนักข่าวเอ เอฟพีรายงานว่า องค์กรผู้ สื่อข่าวไร้พรมแดนออกแถลงการณ์ประณามการปิดกั้นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีเพิลแชนแนลและเว็บไซต์ 36 เว็บไซต์ของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยระบุว่าการปิดกั้นสื่อมวลชนที่ทั้งเป็นกลางและสื่อที่มีความเห็นไปในทา เดียวกับฝ่ายค้าน ทำให้อาจเกิดความรุนแรงได้ ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสถานีไทยคม ซึ่งตั้งอยู่ถนนสายลาดหลุมแก้ว-วัดเจดีย์หอย อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้ยุติการระงับการเผยแพร่สัญญาณการออกอากาศของสถานีประชาชน โดยได้มีการนำกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา แต่ไม่บรรลุผล จากนั้นเหตุการณ์ได้สงบลงภายในเวลา 15 นาที โดยแกนนำพยายามควบคุมมวลชนไม่ให้บุกเข้าไปภายในตัวอาคาร จนกระทั่งมีการเจรจาให้ทหารถอนกำลังเดินแถวออกจากสถานีไทยคม ท่ามกลางเสียงโห่ร้องดีใจของผู้ชุมนุม
นอกจากนี้ได้มีการนำอาวุธที่ได้ยึดมาจากทหาร ที่ประกอบด้วยปืนเอ็ม 16, ปืนลูกซองยาว พร้อมลูกระเบิดแก๊สน้ำตา หมวกกันน็อค เสื้อเกราะ โล่ กระบอง มาให้สื่อมวลชนได้ถ่ายภาพเอาไว้ รวมทั้งยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาอีกจำนวนหนึ่งจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม
หลังจากที่มีการยืนยันว่าทางสถานีประชาชนจะมีการออกอากาศอย่างแน่นอน กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนขบวนกลับไปยังที่ตั้ง
แต่แล้วในเวลา 22.20 น. เจ้าหน้าที่ทหารก็เข้าระงับการออกอากาศของทางสถานีอีกครั้ง
สถานการณ์สำคัญที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงมาถึงในวันที่ 10 เมษายน เมื่อรัฐบาลตัดสินใจส่งกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยในเวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำออกจากกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 และพยายามปิดประตู พร้อมขึงรั้วลวดหนาม นอกจากนี้มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตายิงด้วย ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ถอยร่นออกมาบริเวณสนามเสือป่า พยายามปาท่อนไม้และสิ่งของตอบโต้ นอกจากนี้ยังเกิดเสียงดังขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งภายหลังมีการชี้แจงว่าเป็นระเบิดเสียง หากมีผลทำให้ผู้ชุมนุมแตกตื่นวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น
จากนั้นเวลา 13.45 น. เกิดเหตุชุลมุนที่แยกพาณิชยการใกล้ทำเนียบรัฐบาลและกองทัพภาคที่ 1 โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้น้ำฉีดผู้ชุมนุมที่บริเวณแยกดังกล่าว มีการยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมเป็นระยะ ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงบางคนได้รับบาดเจ็บ จากนั้นทหารนำรถที่กลุ่มผู้ชุมนุมจอดขวางออกนอกพื้นที่ และเดินจากแยกพาณิชยการมุ่งหน้าเข้าถนนราชดำเนิน
15.00 น. มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมปืนลูกซอง ปืนเอ็ม16 พกโล่พร้อมอาวุธครบมือ ได้ยืนตั้งแถวอยู่ตรงบริเวณสวนสาธารณะเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งอรุณอมรินทร์
เมื่อเวลา 17.50 น. มีเฮลิคอปเตอร์บินวนบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และปล่อยแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ลงมาเพื่อสลายการชุมนุม ขณะที่แกนนำได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกมารวมตัวกันที่หน้าเวที พร้อมกับปลุกระดมให้ต่อสู้และดูสถานการณ์ต่อไป ขณะที่ผู้ชุมนุมได้มีการปล่อยลูกโป่งและโคมลอยเพื่อรบกวนการบินของเจ้าหน้าที่บนเฮลิคอปเตอร์ แต่ไม่เป็นผล
หลังจากนั้นจนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐในบริเวณต่าง ๆ ใกล้กับที่ชุมนุม เช่น ถนนดินสอ ช่วงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนตะนาว ช่วงแยกคอกวัว ฝั่งเชื่อมต่อถนนข้าวสาร โดยมีผู้บาดเจ็บ 864 ราย เสียชีวิต 25 ราย
ในจำนวนผู้เสียชีวิต ที่ยังคงเป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยสามารถให้คำตอบแก่ประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกประชาธิปไตย คือการเสียชีวิตของ นายฮิโรยูกิ มูราโมโต ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกยิงที่หน้าอก และจนถึงบัดนี้ (เดือนเมษายน 2554) รัฐบาลไทย โดยการปฏิบัติการของ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยังไม่สามารถให้ความกระจ่างแก่ต้นสังกัดงานในหน้าที่ภาคสนามและแก่ตัวแทนของรัฐบาลญี่ปุ่น
นอกจากนั้น ในการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลต้องพบกับการสูญเสียที่ยังไม่อาจสรุปหรือบ่งชี้ข้อเท็จจริงได้ คือการเสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสธนาธิการ พล.ร 2 รอ. ในฐานะคณะนายทหารผู้นำหน่วยในการเข้าสลายการชุมนุม และเป็นกำลังสำคัญในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงเมื่อเดือนเมษายน 2552 อีกด้วย ขณะเดียวกันนายทหารที่รับบาดเจ็บอีกนายหนึ่งคือ พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาในการนำกำลังทหารเข้าปฏิบัติการ
ทั้งนี้ พล.ต.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงว่า "มีคนชี้เป้าแน่นอน เพราะมีการรายงานว่า คนร้ายมีการยิงเลเซอร์ชี้เป้ามาที่กลุ่มนายทหารระดับสูงอยู่ จากนั้นยิงเครื่องยิงเอ็ม 79 เข้าใส่ ทำให้นายทหารระดับสูงหลายนายบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการตั้งใจลอบสังหารนายทหารระดับสูงเหล่านี้"
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 21-28 พฤษภาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน