Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (47)

ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นก่อนรัฐบาลเสนีย์ 1

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 4 เมษายน 2519 ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะด้วยเสียงมากที่สุดจากจำนวนพรรคการเมืองที่ได้ผู้แทนราษฎรทั้ง 19 พรรค คือ 114 ที่นั่ง รองลงมาคือพรรคชาติไทยได้ 56 ที่นั่ง ในจำนวนนี้พรรคการเมืองที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เข้ามานั่งในสภาหินอ่อนเพียง 1 คนถึง 9 พรรค ส่วนสมาชิกวุฒิสภายังคงเป็นชุดเดิม มี 100 คน รวมสมาชิกรัฐสภา 379 คน แม้กระทั่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม นายกรัฐมนตรี ก็พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ดังนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งรัฐบาลผสม 4 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำร่วมกับพรรคชาติไทย ที่นำโดย พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร พรรคธรรมสังคม นำโดย พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ และ พรรคสังคมชาตินิยม นำโดย นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์

และจากขบวนการ "ขวาพิฆาตซ้าย" ในช่วงที่ผ่านมาปีเศษ ผลการเลือกตั้งในคราวนี้ปรากฏว่าพรรคการเมืองในแนวทางสังคมนิยมทั้ง 3 พรรคได้รับเลือกเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพียง 6 คนเท่านั้น คือ พรรคพลังใหม่ 3 คน พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 2 คน และ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม 1 คน

ทั้งนี้ในขณะที่ปัญหาการทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ที่มีลักษณะ "เปิดปากแผล" ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการลุกขึ้นเรียกร้องความเป็นธรรมและชุมนุมรวมตัวกันเคลื่อนไหว ทั้งในส่วนชาวนาในทุกภูมิภาค กรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมที่เติบโตขยายตัวเพิ่มมากขึ้นหลังการนำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมมาใช้ เพื่อผลักดันในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่มีแรงงานราคาถูกกรองรับการขยายกำลังการผลิตของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม ปัญหาแรงงานจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญในเมืองใหญ่ที่มีการประกอบการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

ประกอบกับสมมติฐานด้านการข่าวของฝ่ายรัฐและความหวาดกลัวการเติบโตของพลังประชาชน ขบวนการ "ขวาพิฆาตซ้าย" จึงดูเหมือนจะเร่งมือหนักขึ้น โดยหวังจะทำลายขวัญและกำลังใจ หรือกำราบจิตใจลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จนมีลักษณะ "ประชาธิปไตยเบ่งบาน" จากต้นปี 2519 การสังหารทางการเมืองจึงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีลักษณะอุกอาจหวังกดขวัญการเคลื่อนไหวและยับยั้งขบวนการประชาชน

เริ่มจากวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายปรีดา จินดานนท์ นักศึกษามหิดลและนักดนตรีวงดนตรีกรรมาชน ถูกรถชนเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำที่หน้ามหาวิทยาลัย ถนนพระรามหก

ต่อมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ มีคนร้ายพยายามขว้างระเบิดเข้าใส่ที่ทำการพรรคพลังใหม่ในกรุงเทพฯ แต่เกิดความผิดพลาดทำให้นายพิพัฒน์ กางกั้น เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และนายประจักษ์ เทพทอง บาดเจ็บสาหัสจนต้องถูกตัดแขน ทั้งนี้จากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบบัตรสมาชิกกระทิงแดงในตัวของบุคคลทั้งสอง จึงทำให้มีหลักฐานอย่างชัดเจนว่ากระทิงแดงคือผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิบัติการเช่นนี้ แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการอย่างไรเลยต่อกลุ่มกระทิงแดง ในทางตรงข้าม พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี กลับแถลงว่า เป็นการจงใจสร้างสถานการณ์เพื่อหาเสียงในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 4 เมษายน

ขณะที่ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายเผด็จ ดวงดี ที่ปรึกษาของกระทิงแดง ก็ประกาศหลักการทำงานของกลุ่มกระทิงแดง ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนอาชีวะที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในกรณี 14 ตุลาฯ แต่ในเวลาต่อมามีหน่วยงานบางหน่วยที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคงของรัฐเข้าไปมีอิทธิพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ้างวานให้ปฏิบัติงานในลักษณะก่อความรุนแรงอย่างต่อเนื่องว่า "...จำเป็นต้องใช้ระเบิดเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้คงอยู่ในประเทศไทยต่อไป"

18 กุมภาพันธ์ นายอมเรศ ไชยสะอาด นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายการเงินของศูนย์นิสิตฯ ถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างไปออกค่ายฯที่อำเภอด่านขุนทด นครราชสีมา

และมาถึงกรณีสังหารอย่างอุกอาจที่บ่งชี้ถึงความรุนแรงทางการเมืองที่หวนกลับมาอีกหลังยุคกวาดล้างในสมัย ป.พิบูลสงคราม คือ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นายบุญสนอง บุญโยทยาน อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งลาออกจากราชการมาร่วมก่อตั้งและดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคสังคมนิยม ถูกคนร้ายดักยิงเสียชีวิตที่หน้าประตูบ้านขณะกลับจากงานเลี้ยง

ตามมาด้วยการวางระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คนที่โรงเรียนช่างกลพระรามหก ในวันที่ 3 มีนาคม ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนคือ นายดิลกชัย สุนาถวณิชย์กุล นั้นถูกกล่าวมาตลอดว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา และเคยถูกลอบยิงได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2518 มาก่อนหน้านั้นแล้ว และคนร้ายได้ประกาศว่าเป็นการ "สั่งสอนฝ่ายซ้ายให้รู้สำนึก"

วันที่ 21 มีนาคม มีการขว้างระเบิดใส่ขบวนของนักศึกษาประชาชนที่เดินขบวนต่อต้านฐานทัพอเมริกา ที่บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์สยาม มีผู้เสียชีวิต 4 คน คือ นายกมล แซ่นิ้ม นายนิพนธ์ เชษฐากุล นายแก้ว เหลืองอุดมเลิศ และ นายเธเนศร์ เขมะอุดม

และก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่กี่วัน คือในวันที่ 24 มีนาคม มีการขว้างระเบิดอีกครั้ง ขณะที่นายสมหวัง ศรีชัย ผู้สมัครพรรคพลังใหม่ กำลังปราศรัยหาเสียงที่วัดหนองจิก อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท โดยมีประชาชนสนใจร่วมฟังอยู่ราว 200 คน ปรากฏว่าระเบิดไม่ถูกนายสมหวัง แต่กลับทำให้ประชาชนที่ฟังการหาเสียงเสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บอีก 10 คน

ผลต่อเนื่องอีกประการหนึ่งจากความพยายามก่อเหตุความรุนแรง คือขบวนการ "ปลุกผีคอมมิวนิสต์" ทั้งนี้เนื่องจากพื้นฐานในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยใน ช่วงดังกล่าว เป็นการเปิดมิติทางความคิดในด้านสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้คน "ชั้นล่าง" ของสังคมไทย ที่ถูกกดไว้ใต้แอกเผด็จการมานานนับจากการรัฐประหาร 2490 ที่มุ่งโค่นล้มการอภิวัฒน์สยาม 2475 โดยพุ่งเป้าไปที่นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าผู้ก่อการสายพลเรือนดังได้กล่าวถึงมาก่อนหน้านี้แล้ว

หลังจากที่บวนการนิสิตนักศึกษามีทิศทางลงสู่และเชื่อมประสานตนเองเข้ากับกลุ่มผู้ใช้แรงงานในเขตอุตสาหกรรมเมืองและกลุ่มชาวไร่ชาวนาในชนบท ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยในเวลานั้นจึงพุ่งเป้าไปที่ "การแทรกซึมของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์" และเหตุการณ์สำคัญก็มาถึงในวันที่ 23 เมษายน เมื่อมีการจับกุมวิชาการและกรรมกร 9 คน ที่เขตโรงงานอุตสาหกรรมอ้อมน้อยและสามพรานในข้อหาคอมมิวนิสต์ บุคคลที่ถูกจับนำโดยนายสุภาพ พัสอ๋อง ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมทอผ้า นางสาวนิภาพรรณ พัฒนไพบูลย์ หรือปัจจุบันคือ นางสุณีย์ ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไปหมาดๆ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 6-13 กุมภาพันธ์ 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8