เคลื่อนพลแดงทั้งกรุงเทพฯ 20 มีนาคม 2553
เส้นทางราบ 11 บางเขน
การดำเนินการขั้นต่อไปตามกำหนดการของแกนนำ นปช. คือการเดินทางไปเทเลือดที่บริเวณหน้าบ้านพักของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ซอยสุขุมวิท 31 ในวันที่ 17 มีนาคม หลังจากจัดขบวนเป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงเช้าจึงเริ่มเคลื่อนขบวน จนถึงเวลาประมาณ 11.50 รถปราศรัยของแกนนำจึงเคลื่อนมาถึงสี่แยกด้านหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรีซึ่ง กำลังมีฝนตกลงมาอย่างหนัก โดยนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง เป็นตัวแทนเดินลงมาบริเวณรั้วลวดหนามพร้อมด้วยภาชนะบรรจุเลือดประมาณ 5-6 แกลลอน ซึ่งมี พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมสถานการณ์ พร้อมกันนั้นกองบัญชาการตำรวจนครบาล 5 ได้นำรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงประกาศให้ผู้ชุมุนมจัดตัวแทนมาเจรจาร่วมกัน ว่าจะเข้าจัดกิจกรรมในจุดใด ตำรวจพร้อมให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวก โดยยืนยันว่าจะไม่ใช้กำลังและความรุนแรงใดๆกับผู้ชุมนุม
หลังจากนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เจรจากับ พล.ต.ต.วิชัย ตำรวจจึงขยับแนวถอยออกไปเป็นระยะทาง 5 เมตร ซึ่งเท่ากับยังมีระยะห่างกว่า 200 เมตร แต่ในที่สุดนายอริสมันต์ก็นำกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าวงล้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกเข้าไปเทเลือดกองบนพื้นถนนถึงหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรีท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก โดยนายณัฐวุฒิได้ประกาศบนรถปราศรัยขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เปิดทางให้กลุ่มคนเสื้อแดงเทเลือดบริเวณดังกล่าวด้วย ระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมบางคนระดมปาถุงบรรจุเลือดและอุจจาระเข้าใส่บริเวณบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์อยู่ด้านในนำสายยางมาฉีดน้ำโต้ตอบ
หนังสือพิมพ์ Christian Sciene Monitor ของสหรัฐอเมริกา ได้ให้จัดการเทเลือดของกลุ่มนปช. เป็นอันดับ 1 ของการประท้วงสุดพิสดาร
ในวันที่ 20 มีนาคม กลุ่มผู้ชุมนุมจัดขบวนรถจำนวนมากเคลื่อนขบวนไปรอบกรุงเทพมหานครตามเส้นทางสายสำคัญต่างๆ โดยจะเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งหมดจะไม่มีการดาวกระจาย เริ่มตั้งขบวนตั้งแต่ 10.00 น. หัวขบวนจะอยู่ที่แยกยมราช มีขบวนมอเตอร์ไซค์ 2,000 คันนำขบวน พร้อมกับทีมการ์ดของการชุมนุมที่เรียกตัวเองว่านักรบพระองค์ดำ จากนั้นจะเป็นขบวนรถยนต์ชนิดต่างๆของคนเสื้อแดง โดยจะเคลื่อนขบวนไปตามถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถึงแยกอโศกจะเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรัชดาภิเษกผ่านแยกฟอร์จูน ไปตามถนนรัชดาฯ จนถึงแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว จะเลี้ยวขวาเข้าถนนลาดพร้าว ตรงไปถึงบางกะปิ ถึงแยกบางกะปิจะเลี้ยวขวา ไปถึงแยกลำสาลี แล้วจะเลี้ยวขวาอีกครั้งเข้าถนนรามคำแหงตรงไปตามถนนรามคำแหงจนถึงแยกพระราม 9 ตรงไปแยกคลองตัน แล้วตรงไปแยกพระโขนง เลี้ยวขวาเข้าถนนพระราม 4 จากนั้นตรงไปจนถึงสีลม แล้วเข้าวงเวียนโอเดียน เยาวราช ผ่านพาหุรัด แล้วเคลื่อนขบวนไปฝั่งธนบุรี ก่อนที่จะกลับเข้าเวทีปราศรัยที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน ในเวลา 18.00 น. กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ประเมินตัวเลขจำนวนผู้ชุมนุมในวันนี้ไม่น้อยกว่า 100,000 คน รถจักรยานยนต์ ประมาณ 10,000 คัน และรถยนต์ประมาณ 7,000 คัน
นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงการเคลื่อนขบวนของกลุ่มเสื้อแดงว่า เน้นคอนเซปต์ว่าเป็นการขอบคุณและปลูกต้นรักให้แก่คนกรุงเทพฯ ที่ต้อนรับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่มาจากต่างจังหวัด จึงจะเป็นขบวนที่ผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่มีการปราศรัยทางการเมืองที่เข้มข้น จะเป็นการตีกลอง ร้องเพลงแบบฉิ่งฉาบทัวร์ เพื่อสร้างความสนุกสนาน สลับกับการขึ้นปราศรัยขอบคุณคนกรุงเทพฯ เน้นความรื่นเริงเถิดเทิงไปตลอดการเคลื่อนขบวน
ในเวลา 18.30 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แถลงว่าการเคลื่อนพลของกลุ่มคนเสื้อแดงถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ที่มีมวลชนออกมาเคลื่อนไหวมากที่สุด มีชาวกรุงเทพมหานครแสดงความตอบรับเป็นอย่างดียิ่ง สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าคนกรุงเทพมหานครไม่เอานายอภิสิทธิ์ เวชาชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการนี้ขออภัยชาวกรุงเทพหมานครที่ทำให้ไม่สะดวกบ้าง และขอขอบคุณที่ให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง ยืนยันว่าที่ทำลงไปก็เพื่อให้ลูกหลานมีสิทธิเสรีภาพ ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าถูกขว้างขวดบนถนนระหว่างการเคลื่อนพล ยืนยันว่าไม่มีเพราะมีการขว้างก่อนหน้านี้ พอตนไปถึงก็ได้พูดจาทำความเข้าใจจนเหตุการณ์สงบลง
นายณัฐวุฒิกล่าวด้วยว่า นปช.ไม่ปิดประตูการเจรจาเพราะการเจรจาเป็นแนวทางที่ดีที่สุด แต่ไม่ต้องการเจรจากับนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยจะขอเจรจากับผู้มีอำนาจสูงสุดคือนายอภิสทธิ์ในเงื่อนไขเดียวคือยุบสภาทันที หลังจากยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่จึงมาเริ่มกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ โดยจะเริ่มจากการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ
ถัดจากการเคลื่อนพลแดงทั้งกรุงเทพฯ ได้ 2 วัน คือในวันที่ 22 มีนาคม 2553 นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน อ่านแถลงการณ์เรื่อง "ยืนยันข้อเรียกร้องยุบสภา พร้อมเจรจากับนายกฯ"
"นปช.ยืนยันให้ยุบสภาทันทีเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน นปช.ไม่มีข้อเรียกร้องอื่นใดนอกเหนือจากนี้ นปช. ยินดีให้มีการเจาจาโดยผู้เจรจาคือผู้มีอำนาจเต็มของแต่ละฝ่าย ฝ่ายรัฐบาลต้องเป็นตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะมีอำนาจตัดสินใจยุบสภา เมื่อยุบสภาแล้ว ทุกกลุ่มทุกฝ่ายต้องสลายตัวทันทีเพื่อให้ประเทศชาติกลับสู่ปกติ และต้องเปิดโอกาสให้ทุกพรรคหาเสียงเต็มที่โดยไมมีกีดขวางให้การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นเครื่องตัดสินความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายต้องยอมรับ เพื่อให้ประเทศต้องเดินหน้าต่อไปได้"
รุ่งขึ้นวันที่ 23 มีนาคม นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังธรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการกลุ่มสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ให้ชาวกรุงเทพมหานครรวมตัวกันเพื่อต่อต้านความรุนแรง รวมทั้งให้อยู่ในที่ตั้งเพื่อเฝ้าระวังเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง
จากนั้นในวันที่ 25 มีนาคม 2553 นายสุพร อัตถาวงศ์ หรือ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ (แรมโบ้อีสาน) แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) พร้อมแกนนำคนอื่น อาทิ นักร้องเพลงลูกทุ่ง นายวันชนะ เกิดดี และอดีตดาวตลกคาเฟ่ นายเจ๋ง ดอกจิก รวมทั้งผู้ชุมนุมทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กที่สมัครใจได้ทำการโกนศีรษะเพื่อประท้วงนายกรัฐมนตรีและขับไล่รัฐบาล รวมทั้งทำพิธีสาปแช่งนายกรัฐมนตรี โดยมีนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงโกนผมให้นายสุพร ขณะที่พระสงฆ์ประมาณ 15 รูป โกนผมให้แก่ผู้ชุมนุม บนเวทีหลักสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 30 เมษายน-6 พฤษภาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน