Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (46)

มีความตายมาหยิบยื่น ราคาของสิทธิเสรีภาพ

"ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย" มีการดำเนินการในทุกกลุ่มการเคลื่อนไหวในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร ชาวนา หรือแม้กระทั่งนิสิตนักศึกษา ซึ่งมีมาอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2517 ดังกรณีการลอบสังหารนายเมตตา อุดมเหล่า ผู้นำชาวนาแห่งมาบประชัน เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2517 ซึ่งเป็นผู้นำตัวแทนประชาชนจากหลายหมู่บ้านจำนวนรวมกว่า 2,000 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลโป่ง อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งตระหนักว่าเป็นโครงการที่หาได้มีจุดมุ่งหมายมาใช้เพื่อการชลประทานในทางเกษตรกรรม หากเป็นการหล่อเลี้ยงเมืองพัทยาซึ่งกำลังจะมีการสร้างโรงแรมหลายแห่ง รวมทั้งสนามกอล์ฟ ทั้งนี้เกษตรกรและประชาชนรากหญ้าในพื้นที่ได้เดินทางเข้ามาประท้วงรัฐบาลโดยขอพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 กรกฎาคม และต่อเนื่องมาอีกหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ต้องระงับโครงการไประยะหนึ่ง

ถัดมาในวันที่ 23 สิงหาคม 2517 คือการลอบยิง นายแสง รุ่งนิรันดรกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีต 1 ใน 9 นักศึกษา อันได้แก่ แสง รุ่งนิรันดรกุล, วันชัย แซ่เตียว, บุญส่ง ชเลธร, วิสา คัญทัพ, สมพงษ์ สระกวี, สุเมธ สุวิทยะเสถียร, ชำนิ ศักดิเศรษฐ, ประเดิม ดำรงเจริญ และ กุลปราณี เมฆศรีสวัสดิ์ ที่ถูกคำสั่งของ ดร. ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ อธิการบดี ลบชื่อจากสถานภาพความเป็นนักศึกษาในกรณี "ทุ่งใหญ่นเรศวร" ซึ่งนำไปสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2516 ดังได้กล่าวมาแล้ว

สำหรับกรณีที่เป็นเหตุการณ์รุนแรงต่อเนื่องและมีผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง ซึ่งมีผลกระทบไปถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัดก็คือ การชุมนุมประท้วงคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ให้ย้ายนายธวัช มกรพงศ์ ผู้ว่าราชการการจังหวัดพังงาไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เนื่องจากนายธวัชมีบทบาทอย่างสำคัญในการสนับสนุนการต่อสู้ของฝ่ายนักศึกษาที่มุ่งพิทักษ์ทรัพยากรของประเทศในกรณีสัมปทานเหมืองบริษัทเทมโก จึงถูกกล่าวหาเสมอว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ นักศึกษา ประชาชนชาวพังงา รวมตัวกันชุมนุมประท้วงที่หน้าศาลากลางเพื่อคัดค้านคำสั่งในวัน ที่ 23 กันยายน 2518 การชุมนุมยืดเยื้อไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ก็เกิดเหตุร้ายเมื่อมีการวางระเบิดกลางที่ชุมนุม ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 15 คน และบาดเจ็บ 17 คน โดยที่ก่อนหน้านี้ผู้นำกรรมกรที่เปิดประเด็นความไม่ชอบมาพากลของเหมืองบริษัทดังกล่าว คือ นายสนอง ปัญชาญ ถูกยิงเสียชีวิตที่พังงาในวันที่ 25 มกราคมมาแล้ว

ครั้นถึงวันที่ 2 เมษายน 2518 นายนิสิต จิรโสภณ อดีตนักศึกษาผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม "วลัญชทัศน์" มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อดีตหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ "มาตุคาม" ช่วงปี 2517 และหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ "อธิปัตย์" ของศูนย์นิสิตฯ เกิดเหตุตกรถไฟเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2518 ขณะไปทำข่าวการต่อสู้ของประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งนำไปสู่กรณี "เผาจวนฯ" ตามมาด้วย นายมานะ อินทสุริยะ ผู้นำนักเรียนโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ถูกยิงตายขณะออกติดโปสเตอร์ต่อต้านฐานทัพสหรัฐที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน

แต่เหยื่อการลอบสังหารที่เป็นไปในลักษณะเป็นขบวนการมากที่สุด และไม่มีคดีใดได้รับการคลี่คลายอย่างถึงที่สุดแม้แต่คดีเดียว คือ ผู้นำชาวนาในสังกัด "สหพันธ์ชาวนาชาวไร่" ซึ่งมีการประสานร่วมมือกับ "สหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย" อันเป็นกลุ่มนักศึกษาที่แยกตัวเป็นเอกเทศและมีบทบาทค่อนข้างสูงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เท่าที่พอมีบันทึกเป็นทางการ มีดังนี้

5 เมษายน นายเฮียง สิ้นมาก ผู้แทนชาวนาสุรินทร์ ถูกยิงเสียชีวิต
10 เมษายน นายอ้าย ธงโต ถูกยิงเสียชีวิต
18 เมษายน นายประเสริฐ โฉมอมฤต ถูกยิงเสียชีวิต
21 เมษายน นายโง่น ลาววงศ์ ผู้นำชาวนาหมู่บ้านหนองบัวบาน ซึ่งนำชาวบ้านคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อุดรธานี ถูกรัดคอและทุบศีรษะเสียชีวิต
5 พฤษภาคม นายมงคล สุขหนุน ผู้นำชาวนานครสวรรค์ถูกฆาตกรรม
20 พฤษภาคม นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่อำเภอห้างฉัตร ถูกยิงเสียชีวิต
22 มิถุนายน นายพุฒ ปงลังกา ผู้นำชาวนาเชียงรายถูกสังหาร
3 กรกฎาคม นายจา จักรวาล รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่บ้านดง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต
18 กรกฎาคม นายบุญทา โยธา ถูกยิงเสียชีวิตที่ลำพูน
31 กรกฎาคม นายอินถา ศรีบุญเรือง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือถูกยิงเสียชิวิต
4 สิงหาคม นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ ผู้นำชาวนาดอยสะเก็ด ถูกยิงเสียชีวิต
11 สิงหาคม นายพุฒ ทรายดำ ชาวนาตำบลแม่บอน อำเภอฝาง ถูกจ่อยิงเสียชีวิตในห้องคนไข้ ที่สถานีอนามัยอำเภอฝาง
22 ตุลาคม นายบุญรัตน์ ใจเย็น ผู้นำชาวนาอำเภอสารภี ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิต

แม้จะมีความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นการลอบสังหารให้เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว แต่กระนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ถึงขนาดจัดรายรายการเพื่อชี้แจงต่อประชาชนทางสถานีโทรทัศน์ในวันที่ 8 สิงหาคม ถึงสถานการณ์ "ขวาพิฆาตซ้าย" ที่เพิ่งจะเริ่มต้น โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะปราบปรามประชาชน แต่ยอมรับว่า "การลอบสังหารผู้นำชาวนานั้น คล้ายมีขบวนการล่าสังหาร"

ขณะเดียวกันปัญหาสำคัญตลอดระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปีที่รัฐบาลผสมพรรคกิจสังคม นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เข้ามาบริหารประเทศ ที่มีแต่ความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากการต่อรองผลประโยชน์ไม่ลงตัว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งเข้าชื่อกันเสนอญัตติขออภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงใช้อำนาจประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2519 โดยแถลงเหตุผลเน้นว่า ความสับสนในสภาผู้แทนราษฎรมีแนวโน้มอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน มีผลกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงปลอดภัยของชาติ จึงเห็นควรให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกผู้แทนอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 4 เมษายน 2519.



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 30 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8