Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (12)

คดีสลายม็อบพันธมิตร 7 ตุลาคม 2551

ปลายปี 2552 ต่อต้นปี 2553 มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2 เหตุการณ์ที่นำไปสู่ข้อถกเถียงที่ยกจะมีข้อยุติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับ "กระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน"

เหตุการณ์แรกคือ สิ่งที่สังคมการเมืองไทยจับตามองมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีขาดไปเพียง 1 เดือนเต็มก็มาถึง ในวันที่ 7 กันยายน 2552 เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อพิจารณาคดีสั่งการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งในที่สุดที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดนักการเมืองและนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง ตามข้อกล่าวหา ดังนี้ คือ

1.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 โดยมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้สั่งการ และเปิดทางให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าสู่รัฐสภา ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1

2.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ และสั่งการให้ตำรวจผลักดันผู้ชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 6 ต่อ 3

3.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ เมื่อเกิดเหตุรุนแรงจนถึงขั้นผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัส ถึงขนาดขาขาดแขนขาด ก็ต้องยับยั้งมิให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป และมีการให้การจากพยานว่า เป็นผู้สั่งการสลายการชุมนุม จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีความผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1

4.พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ และเป็นเจ้าของพื้นที่ มีความผิดวินัยร้ายแรงและอาญา เช่นกัน โดยที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1

สำหรับ พลตำรวจตรี ลิขิต กลิ่นอวล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี เอกรัตน์ มีปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี วิบูลย์ บางท่าไม้ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ออกปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุมครั้งนี้ ทั้งหมด เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในความควบคุมรับผิดชอบและสั่งการของผู้บัญชาการตำรวจ นครบาล ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พฤติการณ์และพยานหลักฐานยังไม่พอฟังว่ามีมูลเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ราชการ จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป

ส่วน พลตำรวจเอก วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ามีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้นดังกล่าว ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป

ที่ประชุม ปปช. ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว ต่อไป

การมีมติดังกล่าวย่อมหมายความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก ปปช. เห็นว่า ผู้สั่งการคืออดีตนากยกรัฐมนตรี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ พลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ และนายตำรวจผู้รับคำสั่งไปปฏิบัติ นั้น มีความผิดตามกฎหมายและมีความผิดวินัยร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา

กรณีที่ดินเขายายเที่ยงกับพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

เหตุการณ์สำคัญถัดมาคือรับปีใหม่พุทธศักราช 2553 คือ ปรากฏการณ์ "เขายายเที่ยง" ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความไม่ชอบธรรมในการครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการรัฐประหารอัปยศ 19 กันยายน 2549 ขณะที่ประชาชนผู้ยากไร้บริเวณเดียวกันกลับถูกจับกุมคุมขังในการเข้าใช้พื้นที่

ซึ่งในวันที่ 7 มกราคม 2553 ที่ รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. สรรหา แถลงกรณีที่แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) ประกาศจะไปชุมนุมที่เขายายเที่ยง จ.นครราชสีมาในวันที่ 11 มกราคม เพื่อโจมตีการถือครองที่ดินเขายายเที่ยงของพล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เปิดเผยว่า อัยการจังหวัดได้ทำหนังสือถึงกรมทรัพยากรธรรมชาติ ไปยังสำนักงานป่าไม้เพื่อให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 29 เมษายน 2518 กรณี ที่ราษฎรได้รับจัดสรรที่ดินทำกินจะต้องเป็นที่ดินทำกินของราษฎรผู้นั้น กรณีที่ตกทอดจะต้องตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมเท่านั้น ไม่มีสิทธิขายหรือโอนให้บุคคลอื่น กรณีเช่นนี้จึงมีผลให้เจ้าของที่ดินทั้ง 150 แปลง และพล.อ.สุรยุทธ์จะไม่มีสิทธิถือครองที่ดินนี้ต่อไป พร้อมทั้งปกป้องว่า พล.อ. สุรยุทธ์ไม่มีความผิด

ในขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวคงไม่ใช่แค่นั้น พล.อ.สุรยุทธ์ ทำผิดกฎหมายมาหลายปีจะคืนที่ดินแล้วจบกันคงไม่ได้ เพราะในทางกฎหมายถือว่าได้ทำความผิดสำเร็จไปแล้ว ดังนั้นพล.อ.สุรยุทธ์ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายด้วยสถานะความเป็นองคมนตรีและสถานะของผู้มีคุณธรมและจริยธรรม นอกจากนี้พล.อ.สุรยุทธ์ต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่าการคืนที่คือ 1 . ต้องทบทวนว่าเหมาะสมว่าจะดำรงตำแหน่งองคนตรีต่อไปหรือไม่ 2.มีความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิอนุรักษ์ผืนป่าเขาใหญ่หรือไม่ เพราะพล.อ.สุรยุทธ์ ทำตัวเป็นสมภารกินไก่วัดครอบครองป่าสงวนเสียเอง และ3.มีความสง่างามเพียงพอที่จะเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมอย่างที่เคยเป็นมาหรือไม่

และในวันที่ 11 มกราคม คนเสื้อแดงก็เดินทางไปชุมนุมกันในเขตป่าอนุรักษ์เขายายเที่ยงซึ่งเป็นภูเขาที่มีทัศนียภาพสวยงาม มีรีสอร์ตและวิลล่าที่สร้างอย่างผิดกฎหมายกระจายตัวอยู่ทั่วไปและถือครองโดยคนที่รวยมากอย่างเห็นได้ชัด เวลาเย็นก่อนเริ่มต้นการชุมนุม คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งเข้ายึดพื้นที่ตรงข้ามกับอาณาเขตบ้านหลังใหญ่ของพล.อ.สุรยุทธ์ ซึ่งมีเพียงถนนกั้นกลาง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่จำนวนมากในถนนทุกสายบนภูเขานั้น และหลังจากคนเสื้อแดงจำนวนมากมาถึงที่หมาย ก็มีเหตุการณ์ตึงเครียดเล็กน้อยเกิดขึ้น เมื่อคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งพยายามเข้าไปประชิดแต่ถูกขอร้องโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาการณ์ตรงปากทางเข้า และการ์ดเสื้อแดงก็ตั้งแถวขึ้นมากั้นระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจและจัดการให้พวกผู้ชุมนุมสงบลง แถวสองแนวนี้ตรึงอยู่ตลอดทั้งวัน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 2-8 เมษายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8