ผ่าทางตันรัฐบาลเลือกตั้ง 2548-2549
ท่ามกลางที่อุณหภูมิการเมืองเริ่มร้อนระอุ ภายหลังการคัดค้าน โจมตีการบริหารราชการแผ่นดินอย่างกว้างขวางนับจากช่วงปลายรัฐบาลไทยรักไทยที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 กระทั่งการเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 โดยพรรคไทยรักไทยของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่รวมพรรคต่าง ๆ อันได้แก่ พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคกิจสังคม, พรรคเสรีธรรม, พรรคเอกภาพ เข้ากับไทยรักไทยก่อนหน้านั้น ได้เบอร์ 9 ใช้สโลแกนหาเสียงว่า "4 ปีสร้าง 4 ปีซ่อม" ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ได้ 377 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคชาติไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้เบอร์ 1 หาเสียงด้วยสโลแกน "สัจนิยม" ได้ 26 ที่นั่ง ต่อมาภายหลังได้เป็นฝ่ายค้าน ส่วนฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ ได้เบอร์ 4 หาเสียงด้วยสโลแกน "ทวงคืนประเทศไทย" ได้ 96 ที่นั่ง แต่พื้นที่ภาคใต้ได้ถึง 52 ที่นั่ง จากทั้งหมด 54 ที่นั่ง และพรรคมหาชน ได้เบอร์ 11 ซึ่งเพิ่งก่อตั้งก่อนหน้าการเลือกตั้ง ได้เพียง 3 ที่นั่ง
บทความจากหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ในเวลานั้นเขียนไว้ว่า "พ.ต.ท .ทักษิณได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทรงอำนาจที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือกตั้งผู้นำประเทศมา" หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยที่ดำรงตำแหน่งในวาระครบ 4 ปี และชนะการเลือกตั้งได้รับเสียงข้างมากอย่างสมบูรณ์ในสภามากที่สุดเป็นครั้ง แรกของการเลือกตั้งปกติ
แต่แล้วในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีนักวิชาการบางกลุ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าอยู่ภายใต้ "ระบอบทักษิณ" คือ ละเลยเจตนารมณ์ประชาธิปไตย พัวพันกับผลประโยชน์แอบแฝงและทับซ้อนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวงจนเกิดวาทกรรม "คอร์รัปชันเชิงนโยบาย" นอกจากนี้ยังไม่สามารถควบคุมความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการกวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติดในปี 2546 ที่สื่อมวลชนกระแสหลักและองค์กรพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) สร้างวาทกรรม "ฆ่าตัดตอน" จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 2,500 คน
กลุ่มพลังทางการเมืองในฟากตรงข้ามกับรัฐบาลพรรคไทยรักไทยต่างๆ ดังกล่าว อาศัยวาทกรรม "ระบอบทักษิณ" สร้างความชอบธรรมในการขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการเคลื่อนไหวนอกสภาเป็นขบวนการและเป็นระลอก และขึ้นสู่กระแสสูงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 เมื่อนายสนธิ ลิ้มทองกุล นำประชาชนที่ชุมนุมประท้วงหลายหมื่นคนบริเวณพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต ประกาศ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ "พระราชทานผู้นำในการปฏิรูปการเมือง" โดยอ้างมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
นอกจากนั้นในระหว่างการประท้วงในคืนวันที่ 4 ต่อเนื่องถึงรุ่งเช้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549 นายสนธิขอเข้าพบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกโดยเรียกร้องให้ "ทหารออกมายืนข้างประชาชน"
ตามมาด้วยการประกาศตัวเป็นทางการของ "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์
จากความขัดแย้งทางการเมืองและการเคลื่อนไหวกดดันส่งผลให้การบริหารประเทศของรัฐบาลเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในที่สุด พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงประกาศยุบสภาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 ทั้งนี้พรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์, ชาติไทย, มหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขัน
ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้ แทนราษฎรครั้งที่ 24 วันที่ 2 เมษายน 2549 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 29,088,209 คน (64.77%) คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 44,909,562 คน มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน (โนโหวต) 9,051,706 คน (คิดเป็น 31.12%) มีบัตรเสีย จำนวน 1,680,101 ใบ (คิดเป็น 5.78%) บัตร และมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 28,998,364 คน (64.76%) คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 44,778,628 คน มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน (โนโหวต) 9,610,874 คน (คิดเป็น 33.14 %) มีบัตรเสีย จำนวน 3,778,981 ใบ (คิดเป็น 5.78%)
พรรคไทยรักไทยได้รับที่นั่งในรัฐสภาถึง 460 ที่นั่ง ด้วยคะแนนเสียง 56% ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวอ้างว่าได้รับเสียงถึง 16 ล้านเสียง แต่จากผลการเลือกตั้งนั้นปรากฏว่ามีผู้สมัครหลายเขตที่มีคะแนนเสียงไม่เกิน ร้อยละ 20 ตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ วันที่ 23 เมษายน 2549 จำนวน 40 เขตเลือกตั้ง ใน 17 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดตรัง จังหวัดปัตตานี จังหวัดพังงา จังหวัดสตูล จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดกระบี่
2 วันหลังจากการจัดการเลือกตั้งซ่อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะผู้พิพากษาในวันที่ 25 เมษายน 2549 ความว่า "ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้"
สำหรับการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 กรณีการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ วันที่ 23 เมษายน 2549 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งเพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดการพิจารณาวินิจฉัยในวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม 2549.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 10-16 กันยายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน