Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (19)

เสื้อแดงยุติเวทีราชดำเนิน และเหตุระเบิดสถานีศาลาแดง

12 เมษายน 2553 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปะทะกันของเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบมีคนเดียว คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นบุคคลที่ขาดสำนึกความเป็นผู้นำ ปฏิเสธที่จะเข้าใจถึงปัญหาของคนในชาติ ทั้งนี้ พล.อ.ชวลิตเน้นในตอนท้ายว่า ไม่เคยพบเห็นการใช้กำลังติดอาวุธเข้าปราบปรามประชาชน ไม่เคยเห็นความรุนแรง และกระทำอย่างขาดความสำนึกเช่นนี้

จากนั้นในวันที่ 14 เมษายน แกนนำ นปช. มีมติให้ยุบเวทีใหญ่ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และเคลื่อนย้ายการชุมนุมจากถนนราชดำเนินทั้งหมดไปรวมกันที่แยกราชประสงค์ เพื่อเป็นการเปิดเส้นทางจราจร เนื่องจากทางแกนนำไม่ต้องการให้เกิดการปะทะ และเป็นการคืนพื้นที่ให้รัฐบาล

รุ่งขึ้นวันที่ 15 เมษายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงว่า การที่ผู้ชุมนุมยื่นเวลาให้ยุบสภาภายใน 24 ชั่วโมง ในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลและผู้แทนพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือ ผลการหารือมีความเห็นร่วมกันว่าไม่ควรมีการยุบสภา ขณะที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่ออกมาตรการบังคับให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ถนนราชดำริ โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมที่เกินกว่าขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ม.34 และ 63 บัญญัติไว้ ดังนั้นเมื่อ ผอ.รมน. (ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) โดย ผอ.ศอ.รส. (ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย) รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่แทน ได้อาศัยอำนาจตาม มาตรา 18 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดและข้อประกาศห้ามแกนนำทั้งห้าและผู้ชุมนุมทั้งหมดออกจากพื้นที่ ที่ชุมนุมแล้ว ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวจึงมีสภาพบังคับอยู่ในตัว และเมื่อมีประกาศใช้แล้วย่อมมีผลบังคับได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมาร้องขอให้ศาลออกคำบังคับตามข้อกำหนดดังกล่าวอีก ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องฝ่ายสนับสนุนการชุมนุม

ทันทีทันควันสนองรับคำวินิจฉัยของศาล ช่วงเช้าวันที่ 16 เมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยอรินทราช บุกเข้าปิดล้อมโรงแรมเอสซีปาร์ค ล้อมจับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ประกอบด้วย นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์, นายพายัพ ปั้นเกตุ, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และนายวันชนะ เกิดดี

แต่นายอริสมันต์ได้โรยตัวออกทางระเบียง โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 100 รายคอยให้ความช่วยเหลือได้สำเร็จ หลังจากนั้นนายอริสมันต์นำกลุ่มคนเสื้อแดงปิดล้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไป ปฏิบัติการในครั้งนี้อีกชั้น และให้กลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าช่วยเหลือเหล่าแกนนำอีก 5 คนที่เหลือ จนสามารถช่วยเหลือนายสุภรณ์ และนายเจ๋งออกมาได้ ระหว่างนั้นการจราจรโดยรอบต้องปิดไปโดยปริยาย

เมื่อการชุมนุมของคนเสื้อแดงมีแนวโน้มที่จะไม่ยอมสลายตัว ในวันที่ 18 เมษายน กลุ่มคนเสื้อหลากสี ที่ประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนพิทักษ์ชาติ และเครือข่ายเฟซบุ๊ค เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สนับสนุนให้รัฐบาลทำหน้าที่ พร้อมทั้งคัดค้านการยุบสภา และแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง

ตามมาด้วยในวันที่ 21 เมษายน พนักงานบริษัทและวิสาหกิจขนาดใหญ่ย่านสีลมส่วนหนึ่ง พากันรวมตัวกันภายใต้ชื่อ เครือข่ายประชาคมชาวสีลม ออกมาชุมนุมในช่วงเวลาพักเที่ยงต่อต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดง มีการบริจาคเงินซื้ออาหารและน้ำมามอบให้กับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่รัฐบาลส่งมาควบคุมพื้นที่ สำหรับคนที่ไม่ให้ความร่วมมือกับการกระทำดังกล่าวถูกมองว่าเป้นผู้สนับสนุนเสื้อแดง ซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยกในสถานที่ทำงานหลายแห่ง

วันเดียวกันกลุ่มคนเสื้อแดงรวมตัวชุมนุมบริเวณสถานีรถไฟขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อสกัดไม่ให้ขบวนรถไฟลำเลียงทหาร อาวุธและยานพาหนะกว่า 20 โบกี้ออกจากสถานี เนื่องจากเกรงทหารจะเข้าร่วมสลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ อันเป็นที่มาของคำว่า "ขอนแก่นโมเดล" ที่แกนนำบนเวที นปช. เสนอต่อคนเสื้อแดงสำหรับการต่อต้านการเคลื่อนกำลังทหารจากภูมิภาค

สัญญาณการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นในคืนวันที่ 22 เมษายน 2553 เมื่อเกิดเหตุระเบิด 5 ครั้งบริเวณถนนสีลม โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมตัวการชุมนุมอยู่แยกศาลาแดงฝั่งถนนสีลม ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของตำรวจ โดยเสียงระเบิดดังขึ้น 3 ครั้ง ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง หลังเสียงระเบิดดังขึ้น ประชาชนที่อยู่บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดงได้วิ่งหลบหนีออกจากบริเวณดังกล่าว ขณะที่ด้านล่าง จุดที่มีการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านนปช.ก็เกิดความโกลาหลเช่นกัน เวลาประมาณ 20.30 น. ระเบิดลูกที่ 4 ได้ระเบิดขึ้นบริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี ใต้ทางเดินลอยฟ้าเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือสกายวอล์ก และในเวลา 20.45 น. ระเบิดลูกที่ 5 ก็ระเบิดขึ้นที่หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาศาลาแดง

เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน ผู้บาดเจ็บทั้งหมด 87 คน ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 3 คน ทั้งหมดถูกส่งไปรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยรอบบริเวณการชุมนุม

วันที่ 24 เมษายน เวลา 18.00 น. นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. กล่าวบนเวทีปราศรัยว่าจะปรับยุทธวิธีตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคงยึดแนวทางสันติวิธี ตามมาด้วยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวต่อว่า หลังจากที่ทาง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เลือกที่จะไม่เจรจากับทาง นปช. จึงชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีไม่หันหลังให้กับแนวทางสันติวิธีแล้ว ขอประกาศขอให้นายกรัฐมนตรียุบสภาทันที พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากกลุ่มคนเสื้อแดง

  1. ให้ถอดเสื้อสีแดง และวางสัญลักษณ์ของ นปช. จนกว่ารัฐบาลจะประกาศยุบสภา
  2. อาสาสมัครจักรยานยนต์ไปประจำด่าน ทั้ง 6 ด่าน จำนวนด่านละ 2 พันคัน
  3. ให้คนเสื้อแดงทั่วประเทศคอยสังเกตการณ์กองกำลังทหาร และตำรวจที่พยายามจะเข้ามาในกรุงเทพมหานคร หากพบให้ทำการขัดขวางอย่างสันติ
  4. ให้กลุ่มคนเสื้อแดงกระทำและปฏิบัติตัวอย่างใดก็ได้อย่างอิสระ
  5. ให้ทุกคนจับกลุ่มย่อยละ 5 คน แลกเบอร์โทรศัพท์มือถือ และทำความรู้จักกันไว้ เพื่อเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกัน

ทั้งหมดเป็นมาตรการที่เตรียมไว้รับมือกับอภิสิทธิ์ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลเตรียมการที่จะสลายการชุมนุมภายใน 48 ชั่วโมง (24-26 เมษายน) พร้อมทั้งเรียกร้องให้กลุ่มคนเสื้อแดงทั่วประเทศเดินทางเข้ามาชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อแสดงความไม่ต้องการรัฐบาลอำมาตย์.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 28 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8