Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (32)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(1)

จอมพลสฤษดิ์เจรจากับนิสิตจุฬาฯ ที่สะพานมัฆวาน - The LIFE Picture Collection

อารัมภบท

การสิ้นสุดความพยายามสถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของสยาม/ไทยมาถึงแทบจะในทันทีทันใด ที่อำนาจทางการเมืองของประเทศไทยถูกครอบครองและครอบงำโดยกองทัพบกโดยสิ้นเชิง เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำทหารกองทัพภาคที่ 1 ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยอาศัยความไม่พอใจของประชาชนผสมโรงกับการแพร่ข่าวลือและการปลุกระดมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก "การเลือกตั้งสกปรก" ภายหลังการเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี หนีไปราชอาณาจักรกัมพูชา ขณะที่สมุนมือขวา พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลี้ภัยไปสวิตเซอร์แลนด์ จอมพลสฤษดิ์ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นผู้รักษาพระนคร มีการประกาศยุบสภาและนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 (ฉบับแก้ไขใหม่ 2495) มาปรับใช้เป็นการชั่วคราว

การรัฐประหารครั้งนี้ มีลักษณะพิเศษยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คือเป็นการเข้ายึดอำนาจรัฐโดยมีผู้นำเป็นนายทหารที่ "ไม่มี" ส่วนร่วมแต่อย่างใดในฐานะผู้นำในคณะราษฎร ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชาธิปไตยสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ (เรียกกันในเวลานั้น)

เส้นทางสู่อำนาจเด็ดขาด

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ที่บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด จังหวัดพระนคร (ในเวลานั้น) เป็นบุตรของพันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) กับนางจันทิพย์ ธนะรัชต์ (สกุลเดิม วงษ์หอม) เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดมุกดาหาร และศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดมหรรณพารามในปี พ.ศ. 2462 จากนั้นจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก สำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2471 เข้ารับราชการเป็นนักเรียนทำการนายร้อย กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472

ในปี พ.ศ. 2476 ขณะที่ติดยศร้อยตรี เกิดกบฏนำโดยพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และ ร้อยตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหนึ่งในผู้บังคับหมวดปราบปรามกบฏของฝ่ายรัฐบาล มีพันเอกหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับบัญชา จนได้รับชัยชนะ ได้รับพระราชทานยศร้อยโท จากนั้นอีก 2 ปีก็ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก

ในปี พ.ศ. 2484 ร้อยเอกสฤษดิ์เข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพาขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทัพทหารราบที่ 33 จังหวัดลำปาง ได้รับการเลื่อนยศเป็นพันตรี จนช่วงปลายสงครามจึงได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2488

หลังสงครามโลกสงบ แม้ว่าอำนาจทางการเมืองจะถูกเปลี่ยนมือ ส่วนหนึ่งเนื่องจากไทยเคลื่อนไหวเพื่อให้พ้นจากการเป็นประเทศร่วมรบกับฝ่ายอักษะในทวีปเอเชียที่นำโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่สำคัญคือไทยมีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น คือ "ขบวนการเสรีไทย" ที่เคลื่อนไหวอย่างจริงจังในช่วงที่ถูกยึดครองและถูกบังคับให้เซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ. 2487 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกบีบด้วยข้อเสนอให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้อำนาจอำนาจทางการเมืองเสื่อมถอยลง แต่พันเอกสฤษดิ์กลับเติบโตขึ้นในอาชีพรับราชการทหารโดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังสำคัญ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2490 คณะนายทหารนำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ก่อการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน และด้วยความเคารพเลื่อมใสที่มีต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ พันเอกสฤษดิ์จึงเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมคณะรัฐประหาร ผลจากการรัฐประหารครั้งนั้น เป็นการกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นกำลังสำคัญที่แทบจะมีลักษณะส่วนตัวยิ่งกว่าผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา

จากการเป็น "ผู้ใกล้ชิด" หรือ "ลูกน้องคนสนิท" นี้เอง ชีวิตราชการของพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2492 ได้รับพระราชทานยศพลตรี ดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ 1 และรักษาการผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ผลงานที่สร้างชื่อคือการเป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวงในปีเดียวกันนั้น หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลโท ตามมาด้วยการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 ในปี พ.ศ. 2493 และเพียงในปี พ.ศ. 2495 ก็สามารถขึ้นครองตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกพร้อมได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็นพลเอก

สำหรับตำแหน่งในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

ต่อมาในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก และได้รับพระราชทานยศจอมพล โดยที่คงไม่มีใครคาดคิดว่าในเวลาอีกเพียง 3 ปี ลูกน้องคนสนิทหนึ่งในสองคนนี้ จะกล้าลุกขึ้นยึดอำนาจขากลูกพี่ที่ติดสอยห้อยตามกันมาหลายปี

วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลชุดสุดท้ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่อยู่ในตำแหน่งนั้นได้เพียง 10 วัน ก็ลาออก จากสาเหตุการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ซึ่งจัดว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรกมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในจังหวัดพระนคร มีการจัดตั้งกลุ่มอันธพาลหรือที่เรียกว่า "ผู้กว้างขวาง" เข้าร่วม เกิดบัตรผีที่เรียกว่า "ไพ่ไฟ" และการย้ายเข้าเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิที่เรียกว่า "พลร่ม" รวมทั้งการสวมใช้สิทธิซ้ำหลายครั้งที่เรียกว่า "เวียนเทียน" ซึ่งผลก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก จึงสามารถดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนัก จากการเดินประท้วงของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนเป็นจำนวนมากในจังหวัดพระนคร จอมพล ป. จึงแต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เข้าควบคุมสถานการณ์

ในวันที่ 1 มีนาคม กลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมตัวกันประมาณ 2,000 คน เดินขบวนไปที่กระทรวงมหาดไทย มุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลาออกจากตำแหน่ง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้มีคณะกรรมการประกอบด้วยนิสิตในการควบคุมการลงคะแนน จอมพลสฤษดิ์สั่งการไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง ทั้งยังเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีซึ่งกล่าวแก่นิสิตและผู้ชุมนุมว่า การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อศาลสั่ง นิสิตสลายตัวตามที่จอมพลสฤษดิ์ เสนอ และได้กล่าวคำคมในประวัติศาสตร์ไว้ที่สะพานมัฆวานว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ" ซึ่งทำให้จอมพลสฤดิ์กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า "วีรบุรุษมัฆวาน"

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 17-23 มกราคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (31)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (14)

จอมพล ป. พิบูลสงคราม หัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา ขึ้นกล่าวคำปราศรัยก่อนการรัฐประหาร 2500

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (14)

บทความเรื่อง "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" ในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500) โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ให้บทสรุปไว้ในตอนท้าย เพื่อเป็นการสะท้อนความแหลมคมของสถานการณ์ทางการเมืองช่วงปลายทศวรรษ 2490 ช่วงรอยต่อการยึดอำนาจการปกครองอันยาวนานของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยหนึ่งในสองของผู้ใต้บังคับบัญใกล้ชิดและอาจไว้ใจได้มากที่สุดคือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2500 ไว้ดังต่อไปนี้:

จากการแสดงท่าทีของหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ดังกล่าวส่งผลทำให้กรณีเรื่องนโยบายต่างประเทศเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามดูไม่น่านิยมชมชื่น และเป็นจุดที่สร้างปัญหาให้แก่รัฐบาลมากที่สุดกรณีหนึ่ง ซึ่งใน พ.ศ. 2499 มีประเด็นหลายเรื่องที่หนังสือพิมพ์ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยต่างแสดงท่าทีคัดค้านต่อนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม เช่น หนังสือพิมพ์สยามนิกรได้วิจารณ์การที่รัฐบาลไทยรับเป็นเจ้าภาพในการจัดการซ้อมรบขององค์การสปอ. อย่างกระทันหันไว้ว่า สถานการณ์ในเอเชียอาคเนย์ก็มิได้มีแนวโน้มที่จะเกิดสงครามและการรุกรานใด ๆ การซ้อมรบจึงไม่น่าที่จะเป็นเรื่องจำเป็น หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยก็วิจารณ์ว่า ทำไมรัฐบาลไทยต้องซ้อมรบตามคำโฆษณาของประเทศโลกเสรีที่โจมตีจีนแดงว่าจะรุกราน ทั้ง ๆ ที่รู้กันว่าจีนไม่สามารถทำได้ นอกจากจะทำสงครามป้องกันตนเอง และผู้นำจีนก็มีนโยบายผูกมิตรกับทุกประเทศอยู่แล้ว ต่อมาปรากฎว่าเรื่องนี้ได้บานปลายออกไป เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีสปอ.ได้แถลงว่า เรื่องการซ้อมรบที่จะมีขั้นตอนตามกำหนดการนั้น ไทยมิได้ปรึกษาฝรั่งเศสและประเทศอื่น ๆ ในสปอ.เลย นอกจากปรึกษาแต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวเท่านั้น นอกจากนี้หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์รายสัปดาห์ ก็ได้ลงบทนำวิจารณ์ว่า การซ้อมรบครั้งนี้ฝ่ายไทยต้องเสียเงินถึง 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นการฟุ่มเฟือย อีกกรณีหนึ่งที่หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยแทบทุกฉบับต่างวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม คือ การที่รัฐบาลแสดงท่าทีเกรงใจและแก้ต่างแทนอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเป็นมิตรร่วมภาคสปอ. ในเรื่องที่อังกฤษและฝรั่งเศสใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยส่งกองทัพเข้าบุกและโจมตีอียิปต์ในวิกฤตการณ์คลองสุเอช ทั้ง ๆ ที่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและแอฟริกาต่างประณามการกระทำของอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างรุนแรง หนังสือพิมพ์สยามนิกรได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเป็นตัวของตัวเองในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่หนังสือพิมพ์มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง พ.ศ. 2498-2499 คือ การเรียกร้องเรื่องสิทธิประชาธิปไตย โดยเฉพาะเรื่องการยกเลิกส.ส.ประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นประเด็นที่หนังสือพิมพ์เริ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างจริงจังภายหลังจากที่รัฐบาลมีการเปลี่ยนนโยบายไปสู่ประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์มีการรณรงค์ว่า จอมพลป.พิบูลสงครามควรจะปฎิรูปประชาธิปไตยให้มากยิ่งขึ้นโดยยกเลิกส.ส.ประเภทที่ 2 ตั้งแต่ในระดับชาติและระดับท้องถิ่น และต่อมาเมื่อรัฐบาลจับกุมกบฏอดข้าว หนังสือพิมพ์สยามนิกรได้เสียดสีว่า เหตุการณ์เรื่องนี้เป็นเรื่องชวนหัวของประชาธิปไตยที่ว่า การที่ผู้อดข้าวประท้วงเพราะต้องการให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้น กลับกลายเป็นการก่อกบฏที่จะมีโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต นอกจากนี้หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยยังได้วิจารณ์ว่า การมีบทเฉพาะกาลและสมาชิกประเภทที่ 2 ในระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย มิใช่ว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นการกุมอำนาจไว้เฉพาะพรรคหนึ่งหรือรัฐบาลใดแต่เพียงอย่างเดียว ปรากฎว่าถึงเกี่ยวกับการปฏิบัติก็ไม่สามารถจะทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยเป็นไปโดยสมบูรณ์ตามความหมายที่แท้จริง

นอกจากนี้ กลุ่มหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย-สยามนิกรยังมีความตระหนักพอสมควรในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ของประชาชน เพระเมื่อปลายเดือนสิงหาคาม พ.ศ.2499 หนังสือพิมพ์ได้วิพากษ์วิจารณ์เหตุผลของนายเพทาย โชตินุชิต ส.ส.ธนบุรีซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการเคลื่อนไหวสันติภาพ เป็นส.ส.ฝ่ายสังคมนิยมในสภาผู้แทนราษฎร และเป็นหัวหน้าขบวนการไฮด์ปาร์ค ได้ตัดสินใจย้ายจุดยืนไปเป็นสมาชิกพรรคมนังคศิลา (เสรีมนังคศิลา?) โดยอ้างว่าเพื่อจะทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นและเข้าไปยับยั้งรัฐบาลจากวงใน จากเหตุผลข้างต้นหนังสือพิมพ์สยามนิกรได้เสนอว่า เหตุผลของนายเพทาย โชตินุชิตฟังไม่ขึ้น และได้เสนอข้อความตอนหนึ่งว่า "เพทาย โชตินุชิตจากไปแล้ว แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนยังคงอยู่ต่อไป ไม่มีอำนาจใด ๆ จะมายับยั้งไว้ได้ การจากไปของบุคคลหนึ่งก็คือ บทเรียนในการวินิจฉัยตัวบุคคลในกาลต่อไปข้างหน้า ข้อสำคัญที่ควรจดจำก็คือ เราจะตั้งตนเองเป็นวีรบุรุษกันนั้นไม่ได้ เพราะวีรบุรุษไม่ได้สร้างประชาชน แต่ประชาชนต่างหากที่สร้างวีรบุรุษ"

บทบาทของหนังสือพิมพ์ในการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2490-2500 มีบทบาทอย่างสูงในการเป็นผู้นำสังคมที่สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยและกระตุ้นความสำนึกทางการเมืองของประชาชน ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขการบริหารประเทศให้เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตย ตลอดจนการทำหน้าที่ต่าง ๆ ของนักหนังสือพิมพ์ เช่น เป็นคอมลัมนิสต์ นักเขียนนวนิยาย ปัญญาชน ผู้นำความคิดของสังคม และมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านนโยบายบางประการของรัฐบาล รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เนื่องจากรัฐบาลไทยในขณะนั้นมีแนวโน้มที่จะปกครองแบบรวมอำนาจ ประกอบกับสถานการณ์การเมืองของโลกที่กำลังตกอยู่ในสภาวะสงครามเย็น ทำให้รัฐบาลไม่ต้องการให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการคัดค้านนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจึงปราบปรามนักหนังสือพิมพ์เหล่านี้ ด้วยการจับกุมครั้งใหญ่ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ใน พ.ศ. 2495 ซึ่งมีผลทำให้นักหนังสือพิมพ์ต้องยุติบทบาทของตนแม้แต่ในการวิพากษ์วิจารณ์การตรวจสอบการบริหารราชการของรัฐบาล ภายหลังจากนั้นนักหนังสือพิมพ์ต้องปรับตัวให้อยู่รอดต่อไปและไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรงโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ซึ่งได้ดำเนินการปราบปรามนักหนังสือพิมพ์และสั่งปิดหนังสือพิมพ์หลายฉบับ.
(จบ)
ที่สำคัญ หลังจากรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ส่งผลให้ไทยก้าวสู่ยุคเผด็จการยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย นักคิดนักเขียนฝ่ายประชาธิปไตย ตลอดจนนิสิตนักศึกษาที่มีจุดยืนในฝ่ายประชาธิปไตย ทยอยกันสาบสูญไปจากสังคมนานถึงกว่าทศวรรษครึ่ง หลังจากการยึดอำนาจซ้ำสอง (รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501) เพียงครึ่งทศวรรษ การต่อสู้ทางการเมืองโฉมหน้าใหม่ อันเป็นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็เปิดฉากขึ้น นำไปสู่สภาวะ "สงครามประชาชน" สืบเนื่องมาจนถึงสามทศวรรษ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 10-16 มกราคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (30)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (13)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการแถลงข่าววันที่ 1 มีนาคม 4 วันหลังจากการประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 โดยมี พลโท หม่อมหลวง ขาบ กุญชร (ซ้ายสุด) ร่วมรับฟัง (ภาพถ่ายโดย John Dominis ที่มา: LIFE Picture Collection)

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (13)

เอกสาร ประวัติการเมืองการปกครองไทย โดยสถาบันพระปกเกล้า นำเสนอการคลี่คลายขยายตัวความขัดแย้งภายในหมู่ขุนศึกทั้งสามคือ "แปลก-สฤษดิ์-เผ่า" ไปจนถึงความสุกงอมของสาถานการณ์ที่นำไปสู่จุดแตกหักไว้ต่อไป (www.senate.go.th/km/data/political.doc):

เพื่อลดอำนาจของเผ่า จอมพล ป. วางแผนส่งเผ่าไปกรุงวอชิงตันเพื่อเจรจาการกู้เงินใหม่ในฐานะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ทันทีที่เผ่าออกเดินทางไปกรุงวอชิงตัน จอมพล ป. ก็ปรับคณะรัฐมนตรี เผ่าถูกออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง และจอมพลผินผู้ซึ่งเป็นพ่อตาของเผ่าก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีอื่น ๆ ที่อยู่ฝ่ายเผ่าก็ถูกสับเปลี่ยน และแทนที่โดยพวกที่จงรักภักดีต่อจอมพล ป. และสฤษดิ์ จอมพล ป. รับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยและกลาโหม พร้อมทั้งประกาศว่า ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีกลาโหมและมหาดไทยจะเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจประกาศการเตรียมพร้อมทางทหารและทางตำรวจ และสั่งการเคลื่อนทัพ ยกเว้นแต่ในสภาวะสงครามหรือจลาจล จากนั้นก็มีการโยกย้ายนายตำรวจและกำลังทหารหลายหน่วยออกจากกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการตัดกำลังอำนาจของเผ่า

ประชาธิปไตยใหม่ของจอมพล ป. ซึ่งอนุญาตให้ประชาชนโจมตีรัฐบาล กลายเป็นบทเรียนที่มีราคาแพง คำด่ารัฐบาลนั้นหนักหน่วงมาก และยิ่งกว่านั้น ความรู้สึกต่อต้านอเมริกันก็เพิ่มขึ้นและกลายเป็นเป้าหมายของการไฮด์ปาร์ค มีการเรียกร้องให้ถอนตัวออกจากซีโต้ จอมพล ป. และพวกไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะรับการรณรงค์ที่ไม่เป็นมิตรดังกล่าวแม้แต่น้อย ความอดทนต่อการด่ารัฐบาลอย่างห้าวหาญก็น้อยลงทุกที ดังนั้นรัฐบาลจึงห้ามการรวมกลุ่มทางการเมืองทุกชนิดและจับกุมพวกอดข้าวประท้วงกลุ่มหนึ่งที่ประท้วงเรื่องการมีสมาชิกสภาแบบแต่งตั้ง ฯลฯ รัฐบาลจอมพล ป. ให้เหตุผลการห้ามการรวมกลุ่มทางการเมืองและการจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาล โดยอ้างว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อชาติ และการแทรกแซงของคอมมิวนิสต์

ทั้ง ๆ ที่การรณรงค์ของ "ประชาธิปไตยใหม่" ได้ปราชัย แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ก็ได้เกิดขึ้นตามกำหนดการ มีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคที่ลงแข่งกัน คือ พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. และพรรคประชาธิปัตย์ของนายควง อภัยวงศ์

หลังการเลือกตั้งมีการประท้วงเกี่ยวกับการเลือกตั้งสกปรก มีการโกงด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เรียกว่า ไพ่ไฟ และ พลร่ม การด่าว่าการเลือกตั้งสกปรกของสาธารณชนเริ่มมีมากขึ้น รัฐบาลหันไปแสดงพลังโดยการตั้งสฤษดิ์ให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย การรวมตัวกันของประชาชนทุกรูปแบบถูกสั่งห้าม บรรณาธิการหลายคนก็ถูกจับจากการเขียนบทความและคำกล่าวที่ต่อต้านรัฐบาล นอกจากนั้นยังมีการแสดงอำนาจของทหารเพื่อข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม สถานที่ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ได้ถูกยึดโดยเจ้าหน้าที่ทหาร และเครื่องบินก็บินต่ำ ๆ บนท้องฟ้าของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการข่มขู่

ท่ามกลางการแสดงพลังอำนาจของรัฐบาล กลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประมาณ 2,000 คน ก็ได้ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะต่อต้านรัฐบาล นิสิตเหล่านี้ลดธงชาติลงครึ่งเสาซึ่งเป็นการแสดงการไว้อาลัยประชาธิปไตยที่ตายไป ภายใต้การบอกแนะของสฤษดิ์ นิสิตเหล่านี้เดินขบวนไปที่กระทรวงมหาดไทย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยที่มีคณะกรรมการประกอบด้วยนิสิตในการควบคุมการลงคะแนน นายกรัฐมนตรีกล่าวตอบว่า การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อศาลสั่ง นิสิตสลายตัวเมื่อสฤษดิ์ขอให้สลายตัว และสฤษดิ์ได้กล่าวคำคมในประวัติศาสตร์ไว้ที่สะพานมัฆวานว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"

หลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์และหลังการรณรงค์คัดค้านการเลือกตั้งที่สกปรก คะแนนนิยมและฐานะของจอมพล ป. เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว พวกที่คัดค้านรัฐบาล และความเป็นเผด็จการและการใช้อำนาจผิด ๆ ของพลตำรวจเอกเผ่าก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ในขณะนั้นพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามต่าง ๆ พยายามหาทางล้มรัฐบาลของจอมพล ป.

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ดังกล่าว พร้อมกับการเพิ่มการต่อต้านอเมริกัน ต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านจอมพล ป. และเผ่า จอมพล ป. ได้พยายามอย่างมากในการทำให้สฤษดิ์อ่อนอำนาจลง โดยการบอกให้คณะรัฐมนตรีละเว้นจากการเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการค้าส่วนตัวทุกชนิด ซึ่งเป็นวิธีที่จะตัดรายได้ซึ่งเป็นฐานอำนาจทางการเมือง สฤษดิ์ไม่แยแสต่อการขอร้องเหล่านั้น เป็นที่เห็นได้ชัดว่าความต้องการเหล่านี้ก็เป็นเพียงเพทุบายทางการเมืองของจอมพล ป. ในการที่จะทำลายอำนาจทางการเมืองและตำแหน่งทางทหารของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นและอำนาจของจอมพล ป. เสื่อมลง ความเป็นที่นิยมก็เสื่อมลง จอมพล ป. จึงพยายามรักษาอำนาจของตัวเองและพยายามลดอำนาจของสฤษดิ์อีก โดยการสั่งรัฐมนตรีทั้งหลายให้ตัดความสัมพันธ์กับองค์กรเอกชนทางการค้า สฤษดิ์ท้าทายคำสั่งของจอมพล ป. โดยการลาออกจากคณะรัฐมนตรี ลูกน้องคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ก็ทำตามโดยการลาออกจากคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม สฤษดิ์ยังคงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไว้ แต่ลาออกจากพรรคเสรีมนังคศิลา

ในวันที่ 16 เดือนกันยายน พ.ศ.2500 สฤษดิ์จึงทำรัฐประหาร ตามรายงานข่าวว่า สฤษดิ์จับแผนการรัฐประหารของเผ่าได้ จอมพล ป. หนีไปเขมร และต่อมาก็ขอลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น และถึงแก่อสัญกรรมที่นั่นเมื่อ พ.ศ. 2508 เผ่าถูกส่งออกนอกประเทศและไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งต่อมาเขาก็ถึงแก่อนิจกรรม

ในการปฏิบัติโดยทั่วไปในการเมืองไทยที่สฤษดิ์ไม่ได้เข้าครองอำนาจทันที พจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 90 วัน แล้วจึงมีการเลือกตั้งทั่วไป ภายหลังการเลือกตั้ง พลโทถนอม กิตติขจร นายทหารซึ่งไม่มีใครรู้จักมากนักก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นสฤษดิ์ไปสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาร่างกายที่โรงพยาบาลวอเตอร์หรีด ตอนหลังก็ได้ไปอังกฤษด้วยเหตุผลอันเดียวกัน และแล้วท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมือง การต่อสู้กันของกลุ่มภายในพรรคและในกองทัพ สฤษดิ์จึงยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 20 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นเวลาเดียวหลังจากที่ถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อร่วมทำรัฐประหารกับสฤษดิ์ รัฐธรรมนูญของปี 2495 จึงถูกยกเลิก เป็นการยุติรัฐบาลแบบประชาธิปไตย หลังจากนั้นประเทศไทยได้ถูกปกครองโดยเผด็จการแบบพ่อขุนภายใต้สฤษดิ์และผู้สืบทอดคือ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 27 ธันวาคม 2557-9 มกราคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (29)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (12)

จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชด์ (ได้รับพระราชทานยศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2499) นำคณะนักศึกษาเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (12)

มีบางส่วนจากบทความน่าสนใจว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เผยแพร่ทางเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า ในหัวข้อ "รัฐประหาร พ.ศ. 2500" เรียบเรียงโดย ณัฐพล ใจจริง และมี รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต เป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/รัฐประหาร_พ.ศ._2500):
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ยังคงไม่ราบรื่น นับแต่ การรัฐประหาร 2494 และการร่างรัฐธรรมนูญ 2495 ที่ไม่ถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาทการเมืองตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ในปี 2496 พระมหากษัตริย์และรัฐบาลยังขัดแย้งกันเรื่องกฎหมายการปฏิรูปที่ดิน โดยรัฐบาลมุ่งจำกัดการถือครองที่ดินขนาดใหญ่และช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย แต่ทว่าการปฏิรูปที่ดินนี้ องคมนตรีไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่าไทยไม่ได้ขาดแคลนที่ดินถึงขนาดต้องปฏิรูปที่ดิน พระมหากษัตริย์ทรงเห็นด้วยกับองคมนตรีและทรงชะลอการการลงพระนามประกาศใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงยืนยันความจำเป็นของกฎหมายฉบับนี้ ท้ายสุดพระองค์ก็ยอมลงพระนามประกาศใช้กฎหมาย [RG 59 : 972.00 / 9-253 , Memo of Conversation : Phraya Siwisan , George M. Widney , Second Secretary of American Embassy , 1 September 1953 อ้างใน Kobkua , Ibid., p.152. พระยาศรีวิศาลวาจา องคมนตรี คัดค้านเรื่องดังกล่าวอย่างหัวชนฝา(absolutely against) ด้วยการให้เห็นผลว่า ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนที่ดินจนต้องปฏิรูปที่ดิน , ภายหลังพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกยกเลิกหลังการรัฐประหาร 2500 และต่อมาพระยาศรีวิศาลวาจา ได้ลาออกจากองคมนตรีเข้าทำงานร่วมกับรัฐบาลในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาราชการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2505-06) ตามคำขอพระบรมราชานุญาตจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ "ชีวประวัติ พันเอกพระยาศรีวิสารวาจา" ,อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาศรีวิศาลวาจา (พิมพ์เป็นบรรณาการเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพันเอกพระยาศรีวิสารวาจา ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์วัดเทพศิรินทร์ 8 มิถุนายน, 2511, พระนคร: สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี)] อีกทั้ง ในปี 2500 ทรงไม่เสด็จเข้าร่วมงานการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ [อ้างใน Kobkua , Ibid., p.150-155] เนื่องจากพระองค์ไม่พอพระทัยการจัดการที่ทำให้รัฐบาลกลายเป็นศูนย์กลางของงานแทนที่จะเป็นพระองค์ ทรงเห็นว่า จอมพล ป. "เมาอำนาจ" และมีความประสงค์จะเป็น "พระมหากษัตริย์องค์ที่สอง" [Kobkua Suwannathat-Pian , Thailand’s Durable Premier : Phibun through Three Decades 1932 – 1957 , (Kuala Lumpur : Oxford University Press,1995) , p.100]
**********
วกกลับไปที่เอกสาร ประวัติการเมืองการปกครองไทย โดยสถาบันพระปกเกล้า บรรยายถึงความเข้มข้นของความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจทางทหารในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยนายทหารที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน "สมุนซ้าย/ขวา" ที่ปั้นมามากับมือหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 และ พ.ศ. 2494 (www.senate.go.th/km/data/political.doc):

ระหว่างปี พ.ศ.2495 ถึง พ.ศ.2498 การเมืองไทยเป็นช่วงที่ไม่มีผู้นำเด่นในการปกครอง การถ่วงดุลของอำนาจเกิดจากการแข่งขันอย่างมากระหว่างพลตำรวจเอกเผ่าและจอมพลสฤษดิ์ คนแรกมีอำนาจในการคุมกำลังตำรวจ ส่วนคนที่สองได้คุมกองทัพบก จอมพล ป. ได้แต่เล่นเกมถ่วงดุลของทั้งสองฝ่ายและอาศัยสถานภาพในส่วนที่เกี่ยวกับต่างประเทศและที่สำคัญที่สุด คือการสนับสนุนของอเมริกาเพื่อการอยู่รอด ในการรวบอำนาจให้อยู่ในมือนั้น ปกติจอมพล ป. ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีที่สำคัญที่สุดก็คือรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อเหตุการณ์ตึงเครียด จอมพล ป. มักจะขอร้องให้มีความร่วมมือ และจะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยในเวลาเกิดการโต้แย้งกันระหว่างเผ่ากับสฤษดิ์

พลตำรวจเอกเผ่านั้นเป็นนายตำรวจหนุ่มที่เต็มไปด้วยพลวัต ซึ่งได้เป็นนายพลเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2495 ในสมัยเผ่า กรมตำรวจได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา โดยผ่านบริษัทอเมริกันชื่อ Sea Supply Corporation เผ่าได้สร้างตำรวจให้เป็นกองทัพเทียบเท่ากับหน่วยของทหาร นอกจากนั้น เผ่ายังอาศัยการค้าขายอื่น ๆ ในการหารายได้ บุตรเขยของจอมพลผินผู้นี้ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจอย่างรวดเร็ว พอถึงปี พ.ศ.2496 ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บุรุษผู้เข้มแข็งผู้นี้มีคำขวัญว่า "ไม่มีอะไรภายใต้พระอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" และก็ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐตำรวจ เผ่าใช้กำลังตำรวจในการกำจัดศัตรูของรัฐบาล

สฤษดิ์ได้เป็นนายพลเมื่ออายุได้ 42 ปี มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 และมีบทบาทสำคัญในการปราบกบฏ "แมนฮัตตัน" เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 หลังการรัฐประหาร 2494 สฤษดิ์ก็ได้กลายเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของจอมพล ป. ในปี 2497 ก็ได้ตำแหน่งแทนจอมพลผิน ผู้ซึ่งเป็นพ่อตาของพลตำรวจเอกเผ่า โดยเป็นผู้บัญชาการทหารบก เมื่อเดือนมีนาคม 2498 และดำรงตำแหน่งเป็นพลเรือเอกแห่งกองทัพเรือ และเป็นพลอากาศเอกแห่งกองทัพอากาศอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2499 สฤษดิ์ก็ได้เป็นจอมพล

ส่วนจอมพล ป. ได้ฉวยโอกาสจากการแข่งกันโดยทำหน้าที่เป็นตัวไกล่เกลี่ยและอาศัยความอาวุโส และสถานภาพในต่างประเทศและการสนับสนุนของอเมริกา แต่จอมพล ป. ก็พบว่า เส้นใยที่ขึงไว้ในการถ่วงดุลอำนาจนั้นยิ่งบางขึ้นทุกที และตัวเองกำลังจะเสียอำนาจเพราะเริ่มไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน เหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำที่เกินเหตุของเผ่า และการแข่งกันระหว่างฝ่ายตำรวจกับฝ่ายทหาร ดังนั้นจอมพล ป. จึงได้เดินทางรอบโลกจากเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2498

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการเดินทางของจอมพล ป. ได้เสริมฐานะทางการเมืองที่กำลังเสื่อมลง ผลพลอยได้จากการเดินทางก็คือ ความรู้สึกประทับใจที่ชาวอังกฤษแสดงความคิดเห็นที่ไฮด์ปาร์ค ซึ่งต่อมาก็มีการอนุญาตให้มีการอภิปรายทางการเมืองคล้าย ๆ ไฮด์ปาร์ค ทั้งในกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด

จอมพล ป. ประทับใจในการที่มีการถกเถียงกันในที่สาธารณะของชาวอเมริกันและชาวยุโรป จึงคิดส่งเสริมให้มีการสร้าง Town Hall เหมือนกับของอเมริกาและยุโรปตะวันตก โดยให้สร้างทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

หลังจากการเดินทางครั้งนั้น จอมพล ป. เริ่มทำสิ่งที่คิดว่าสำคัญต่อพัฒนาการของประชาธิปไตย เมื่อเดือนกันยายน 2498 จอมพล ป. ได้กล่าวขอให้รัฐสภาสนับสนุนให้ผ่านกฎหมายเพื่อให้มีพรรคการเมือง นอกจากนั้นยังลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เหลือ 20 ปี และยกเลิกเงื่อนไขหรือคุณสมบัติเกี่ยวกับการศึกษาทั้งหมด เพื่อจะได้มีคนมาลงคะแนนเสียงมาก ๆ จอมพล ป. ได้ประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จอมพล ป. เริ่มพูดคัดค้านการทำรัฐประหารและการใช้อำนาจตำรวจหรือทหารเพื่อผลทางการเมือง.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 20-26 ธันวาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (28)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (11)

จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับประธานาธิบดีดไวท์ ไอเซ็นฮาวร์ (คนยืนกลางผมดำคือ ริชาร์ด นิกสัน) พ.ศ.  2493

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (11)

วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาข่วิชารัฐประศาสนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ฯ พ.ศ. 2554 หัวข้อเรื่อง "บทบาทสื่อมวลชนกับการมีส่วนร่วมการเมืองไทย" โดย เอกภพ โสรัตน์ นำเสนอความเห็นต่อการบริหารงานของรัฐบาล ป.พิบูลสงครามและสภาฯ (?) อันเป็นผลผลิตต่อเนื่องจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายบน พ.ศ. 2490 สรุปช่วงท้ายปี พ.ศ. 2493 ไว้อีกบางส่วน (อ่านฉบับเต็มได้ที่ได้ที่ http://202.29.39.8/thesis/thesisfiles/TH/8571549.pdf):

บทนําของหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อหาส่วนหนึ่งถึง เรื่องการทําหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาว่า ที่ผ่านมาสมาชิกในรัฐสภามองไม่เห็นประโยชน์สุขของประชาชนที่เลือกเข้าไป จึงขอให้ท่านระลึกในการเปิดสมัยประชุมใหม่ว่า จากพฤติการของท่านที่ผ่านมา เราพบว่าการใช้จ่ายเงินของรัฐไม่เป็นโล้เป็นพาย และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ ที่ร้ายที่สุด เงินของแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน ได้ถูกยักยอกฉ้อโกงเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของบุคคลบางคนมากต่อมาก เราหวังว่าในยามวิกฤติจากเหตุการณ์ต่างๆ อย่างนี้ ท่านสมาชิกรัฐสภาก็ดี คณะรัฐบาลก็ดี คงไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเอง หรือพรรคพวกมากกว่าประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ

คอลัมน์ "จากหน้าต่างเดลิเมล์" ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อหา ที่มีความเห็นต่อสื่อของรัฐว่า สื่อวิทยุแน่นอนที่สุด คือ ได้เป็นเครื่องมือของภาครัฐอย่างสิ้นเชิง เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าถ้าพูดถึงวิทยุกรมโฆษณาการ ทุกคนย่อมนึกถึงแต่เสียงตะโกนปฏิเสธข่าวหนังสือพิมพ์ และเสียงโฆษณาขายสินค้า งานอันขึ้นหน้าขึ้นตาของวิทยุกรมโฆษณาการ มี 2 ประการเท่านั้นในยุคของจอมพล "ท็อปบู๊ต" คนนี้

บทนําหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อหาการวิจารณ์ว่า การได้มาซึ่งอํานาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก นายควง อภัยวงศ์ ทั้งที่พรรคการเมืองของนายควง มีเสียงในสภามากกว่า แต่ถูกบีบให้สละตําแหน่ง จึงถือว่าไม่เหมาะสม ในระบอบการปกครองที่ดี

และบทนําหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อหาการวิจารณ์การทํางานของรัฐบาลว่า ความเหลวแหลกของนักการเมือง ในสมัยรัฐบาลก่อนรัฐประหารเมื่อปลาย พ.ศ. 2490 (เป็นรัฐบาลของ พลเรือตรีถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ ก่อนที่จะถูกรัฐประหารโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ) เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะผลของความเหลวแหลกนั้น ส่งผลกระทบกระเทือนไปถึง อาณาประชาชนทั้งหลายอย่างชัดเจน สรุปความเหลวแหลกก็คือ การที่ผู้แทนที่ถูกเลือกมานั้นไม่ได้ทําหน้าที่ของเขาแทนปวงชน เพื่อประโยชน์ปวงชนไม่ แต่กลับไปหลงกับอามิสที่รัฐบาลเอื้ออํานวยให้หลังจากรัฐประหารแล้ว จึงได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ที่ผู้ร่าง และรัฐสภาได้มีความเห็นชอบว่า ห้ามมิให้สมาชิกของรัฐสภา และรัฐมนตรีหาประโยชน์ใดๆ นอกจากที่ควรจะมี ในฐานะที่เป็นสมาชิกรัฐสภา แต่ทั้งๆ ที่มีบทบัญญัติไว้ แต่ก็ยังมีข่าวการใช้อภิสิทธิ์ของนักการเมืองบางกลุ่มบางคน ในการแสวงหาผลประโยชน์จากองค์กรของรัฐและเอกชน ซึ่งทําให้มองว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฏหมายสูงสุดไม่ได้ถูกเคารพนับถือแล้ว กฏหมายฉบับอื่นๆ จะได้รับการ เคารพนับถือหรือ

และในบทนําของหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลหันไปดูแลความยากลําบากของประชาชนมากขึ้น ดังที่ว่าท่ามกลางเหตุการณ์ ที่ประชาชนยังเต็มไปด้วยความยากแค้นรําเค็ญ ความไม่ปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สมบัติ เราและเพื่อนหนังสือพิมพ์ทั้งหลายได้เรียกร้องให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้เอาใจใส่และบําบัดปัดเป่า เพื่อความเป็นอยู่ด้วยดี และสมบูรณ์พูนสุขของประชาชน แทนที่จะไปมัวเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญอันมโหฬาร ซึ่งทําให้เห็นว่าการรวมตัวเรียกร้อง และการทักท้วงของประชาชนทั้งหลายที่ต่อเนื่องกันมา หาได้รับความใส่ใจไม่

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2493 พาดหัวที่หน้า 1 ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อรัฐมนตรีในรัฐบาลจากความไม่พอใจของประชาชนว่า ชาวปักษ์ใต้รับรัฐมนตรีด้วยก้อนอิฐโดยมือมืดพัทลุงเหวี่ยงเข้าใส่โบกี้รัฐมนตรีที่มีหญิงหน้าแฉล้มติดตามตรวจราชการ โดยรัฐมนตรีคนนั้นคือ นายบัญญัติ เทพหัสดิน รมช.มหาดไทยที่ไปตรวจราชการจังหวัดทางปักษ์ใต้

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ยังพาดหัวข่าวเกี่ยวกับการต่อต้านแนวคิดของรัฐบาล โดยพรรคฝ่ายค้าน ที่ระบุว่าการเลื่อนยศนักการเมืองเป็นเรื่องอับอาย โดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝุายค้านจะยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เนื่องจากความไม่พอใจหลายด้านรวมทั้งการเตรียมเลื่อนยศให้กับนักการเมืองที่มาจากสายทหารหรือตํารวจของรัฐบาล
**********
อาจเป็นเรื่องน่าแปลก (สำหรับนานาอารยะประเทศ แต่ไม่แปลกสำหรับสยามประเทศ) ในความ "ซ้ำรอย" ของประวัติศาสตร์การเมืองในสองบริบทด้วยกัน
บริบทแรกคือ บริบท "นักการเมือง (ฝ่ายบริหาร)" จะเห็นว่านับจากปี พ.ศ. 2493 ที่บทความ/บทนำในหนังเสือพิมพ์เดลิเมล์เขียนถึงความตะกละ ความเห็นแก่ได้ ความสามารถในการเบีรยดบังทรัพยากรของประเทสผ่านทางงบประมาณแผ่นดินในรูปแบบต่างๆ นั้น ยงคงถูกหยิบยกมาใช้ประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอมาแม้ในการเองหลังกึ่งพุทธกาล อาจเป็นเครืองบ่งชี้ได้ว่า เอาเข้าจริงแล้ว การปกระกาศสร้าง "นักการเมืองน้ำดี" ก็ดี หรือ "การเมือง (การปกครอง) ปลอดคอร์รัปชั่น" ก็ดี เป็นเพียง "วาทกรรมยาหอม" หรือ "วาทกรรมอำพราง" ของการผลัดเปลี่ยนการเข้ามาเสวยอำนาจและสูบกินโภคทรัพย์ของแผ่นดิน ในลักษณะ "เก้าอี้ดนตรี"

บริบทที่สอง "นักการเมือง (ฝ่ายนิติบัญญัติ)" เนื่องจาก ที่ผ่านมาพรรค (หรือกลุ่ม) การเมืองของไทยถูกมองว่าเป็น "ก๊วนการเมือง" หรือ "กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะกิจ/เฉพาะกาล" หรือแม้กระทั่ง "กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นนิยม" ส่งผลให้การต่อรองภายใน ดุเดือดเข้มข้นไม่แพ้การช่วงชิงชัยชนะในการ "บริหารจัดการงบประมาณแผ่นดิน" ผลรูปธรรมก็คือสิ่งที่เรียกว่า "ก๊วนในก๊วน" หรือ "มุ้งเล็กในมุ้งใหญ่" ของพรรคการเองใหญ่ที่มีแนวโน้มชนะเลือกตั้งและเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งสองบริบทนั้น ทำให้การเมืองไทยก้าวไม่พ้น "การปูนบำเหน็จเมื่อเสร็จศึก" ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการเมืองก่อนยุคประชาธิปไตย และการเมืองแบบมี "เจ้าของพรรค" ทั้งที่เป็นชนิดที่ "เห็นได้ด้วยตาเปล่า" และชนิด "มือที่มองไม่เห็น"

แล้ววังวนสุดท้ายที่อยู่ในก้นหลุมดำมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ "การยึดอำนาจ" โดยฝ่ายทหารเพื่อสร้างความบริสุทธิ์ยุติธรรมชนิด "ห้ามตรวจสอบ" ขึ้นมาจนได้ จนกว่าตอผุดเมื่อน้ำลดเช่นกรณีพินัยกรรมหลายพันล้านของ "จอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง - สฤษดิ์ ธนะรัชต์" เมื่อปี พ.ศ. 2507 นั้น.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 13-19 ธันวาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (27)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (10)

แสง เหตระกูล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ในปี พ.ศ. 2493 ซึ่งเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาภายใต้การปกครองเผด็จการทหาร

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (10)

ในวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ฯ พ.ศ. 2554 หัวข้อเรื่อง "บทบาทสื่อมวลชนกับการมีส่วนร่วมการเมืองไทย" โดย เอกภพ โสรัตน์ (อ่านฉบับเต็มได้ที่ได้ที่ http://202.29.39.8/thesis/thesisfiles/TH/8571549.pdf) ยังนำเสนอต่อไป ถึงสัมพันธภาพระหว่างรัฐบาล (ทหาร) ที่มาจากการยึดอำนาจ กับบทบทและเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ซึ่งในเวลานั้นมีเพียงหนังสือพิมพ์เท่านั้น ที่เป็นสถาบันการสื่อสารมวลชนนอกภาครัฐ:

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ระบุในบทนําถึงความไม่เห็นด้วยในการปรับรัฐมนตรีว่าการเอานักกฏหมายไปคุมคลัง ซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถเป็นอย่างมาก ต้องรู้เรื่องของการคลัง การเงิน มากกว่ากฏหมาย การเลื่อนรัฐมนตรีช่วยว่าการที่รู้กฏหมาย แต่เก่งทางวิ่งเต้น และคารมลิ้นตลอดกาลไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เหมาะสมแล้วหรือ

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 24 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ระบุในคอลัมน์ภราดร เขียนโดย นายศรัทธา ว่า ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เพราะผู้ที่ได้ขึ้นด้วยคือสมาชิกรัฐสภาและการเพิ่มเงินเดือนให้สมาชิกรัฐสภานี้ นับเป็นครั้งที่สองแล้ว หลังจากการเกิดรัฐประหาร การเพิ่มเงินเดือนนี้เป็นการผิดต่อที่เคยปฏิญาณที่ว่าจะลดค่าครองชีพ และทําให้ประชาชนเป็นสุข แต่นี่จะทําให้คน 3 แสนคนที่ได้ขึ้นเงินเดือนอิ่มหมีพีมันซะอีก

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 29 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ระบุเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบรรยากาศการทํางานของสื่อในช่วงนั้นว่า ส.ส.กระทู้ถามรัฐบาลคุกคามเสรีภาพหนังสือพิมพ์ หลังจากการที่หนังสือพิมพ์จํานวน 8 ฉบับ โดนตํารวจสันติบาลบุกเข้าจับกุม โดย 2 ฉบับนั้นถูกกล่าวหาว่า ลงบทความหมิ่น หรือยุยงให้ประชาชนเสื่อมความนับถือรัฐบาล ซึ่งหลวงพรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยอมรับว่า มีการจับจริงแต่ผู้ถูกสอบสวนมีสิทธิอยู่แล้วที่จะไม่ตอบ และในที่สุดก็กล่าวว่ารัฐบาลยอมให้วิพากษ์ วิจารณ์อย่างเต็มที่แต่ก็ต้องอยู่ในกฎหมาย
**********
นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ยังคงพยายามทำหน้าที่สื่อสารมวชนที่เกราะติด วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจและรัฐสภาที่มีที่มาจากรัฐบาลดังกล่าว ที่ดูเหมือนว่าสภาวการณ์หลังการยึอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่าจะไม่สามารถไปพ้นลักษณะ "พายเรือในอ่าง" อำนาจนิยมเลยแม้แต่น้อย ความพยายามในอันที่จะนำเสนอบทความ บทนำ และ/หรือแนวคิดอย่างวิพากษ์หรือกระทั่งสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลผลผลิตการทำรัฐประหาร/ยึดอำนาจโดยใช้กำลัง ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง:

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2493 ระบุเนื้อหาว่า ทางตํารวจให้ประกันนักหนังสือพิมพ์วันเดียวนั้น 2 ราย โดยเนื้อหาว่า หลังจากที่ตํารวจสันติบาลได้เรียกตัวนายเทพวิฑูร นุชเกษม ไปทําการสอบสวนและดําเนินคดีเป็นผู้ต้องหาแล้วก็ได้เรียกตัวนายฉัตร บุณยศิริชัย บก.หนังสือพิมพ์เสียงไทยไปสอบสวนอีกคน และดําเนินคดีเป็นผู้ต้องหาตามมาตรา 104 ในข้อหาฐานลง บทความและข่าว ยุยงให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาล อันเป็นโทษฐานกบฏภายในราชอาณาจักร และโชคดีที่ทั้ง 2 คนได้รับการประกันตัวแล้ว

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2493 ระบุเนื้อหาบทนําประจําวันว่า การที่รัฐบาลสั่งห้ามหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์การเมืองต่างประเทศ เป็นการห้ามที่ไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย และเป็นการจํากัดเสรีภาพ เพราะบทบัญญัติเช่นนี้ จะกระทําได้กรณี เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของผู้อื่น หรือหลีกเลี่ยงภาวะคับขัน หรือเพื่อรักษาความเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือเพื่อปกปูองความเสื่อมทรามทางจิตของเยาวชนเท่านั้น การนําเสนอเรื่องหรือข้อความในหนังสือพิมพ์ ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนําเสนอ ก็จะกระทํามิได้เว้นแต่อยู่ในภาวะสงคราม หรือระหว่างที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในระหว่างการใช้กฏอัยการศึก ฉะนั้นการรบกันของเกาหลี เป็นเรื่องการเมืองต่างประเทศ หรือว่าเราเข้าสู่สงครามกับเขาแล้วจึงได้ประกาศห้าม

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2493 ได้พาดหัวข่าว "สั่งจดรายชื่อผู้ฝักไฝ่คอมมิวนิสต์ทั่วประเทศ" ระบุเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า ได้มีคําสั่งของกระทรวงมหาดไทย ไดยพระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย แจ้งผ่านสื่อต่อประชาชนว่า เพื่อเป็นการป้องกันการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย จึงขอให้ตํารวจคอยสืบดูว่าใครที่มีหัวนิยมคอมมิวนิสต์ และเมื่อทราบก็ขอให้จดชื่อ ที่อยู่ อาชีพ ส่งมายังกระทรวง เพื่อพิจารณาว่าจะลงโทษอย่างไร

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อหาข่าวว่า ส.ส.ประท้วงรัฐบาลที่ทําสัญญาร่วมกับรัฐบาลอเมริกา โดยระบุว่าถ้ารัฐบาลไทยให้ตั้งกองบัญชาการของอเมริกาในประเทศไทย ที่มีข้ออ้างว่าเป็นการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็เท่ากับว่าเราได้สิ้นอธิปไตย และหากรัฐบาลไม่ทบทวนฝ่ายค้านก็จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
**********
มีข้อน่าสังเกตถึงความคล้ายคลึงกันในหลายประเด็นหรือหลายบริบท หรืออาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะการสืบทอดเจตนารมณ์ของเผด็จการทหารก็ว่าได้ ในการใช้ดำเนินการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในระบอบเผด็จการอันเกิดจากการรัฐประหาร ที่สำคัญคือ:
ประการแรกคือข้อกล่าวหา "มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์" ซึ่งมีต้นกำเนิดกภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ2 2475 ทั้งนี้ผู้ตกเป็นเหยื่อข้อกล่าวหานี้เป็นคนแรกคือ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, อดีตนายกรัฐมนตรี, อดีตหัวหน้าเสรีไทยสายในประเทศ ทั้งเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้ก่อตั้งและเป็นผู้ประศาสน์การ (อธิการบดี) คนแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ประการถัดมาคือการ "ปิดปากสื่อสารมวลชน" ในที่นี้เมื่อพิจารณาขั้นพัฒนาการทางสังคมของไทยช่วงก่อนกึ่งพุทธกาล สื่อสารมวลชนโดยทั่วไปคือหนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และ/หรือรายสะดวก ฯลฯ โดยที่ในระยะนั้นสถานีวิทยุยังคงอยู่ในการควบคุมของ "ทางการ" เสียเป็นส่วนใหญ่ ในขณะมี่การถือกำเนิดขึ้นของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย "ไม่ขึ้นต่อ" หรือกระทั่งในสมัยแรกนั้น "ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ" ส่วนการปิดปากสื่อที่ว่านี้มี 2 ลักษณะด้วยกันคือ 1.ปิดสื่อ(ปิดหนังสือพิมพ์) 2.กำจัดคนทำสื่อ (ซื้อตัวหรือสังหารทิ้ง)
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 6-12 ธันวาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (26)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (9)

เดลิเมล์ฉบับปฐมฤกษ์ พาดหัวข่าวใน "นักศึกษา มธก.รากเลือดค้าน ก.พ." อันเป็นการท้าทายอำนาจเผด็จการและรัฐบาลทหารในเวลานั้นอย่างไม่เกรงกลัว

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (9)


สำหรับในแวดวงหนังสือพิมพ์ภายหลังการการรัฐประหารสองครั้ง คือ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 หรือที่เรียกกันว่า "การจี้นายควง" ซึ่งส่งผลให้จอมพลป. พิบูลสงครามเป็นผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงนั้นเป็นายทหารนอกราชการไปแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยตัวจอมพลป. รอดพ้นจากการเป็นอาชญากรสงครามจากฝ่ายสัมพันธมิตร โดยที่จอมพลป. สามารถเอาตัวรอดจากปากเหยี่ยวปากการในควาวมพยายามยึดอำนาจและล้มล้างรัฐบาลที่จบลงด้วยการเป็นกบฏถึง 3 ครั้งด้วยกัน คือ
  1. กบฏเสนาธิการ (2491) เป็นการต่อต้านจากภายในกองทัพเอง
  2. กบฏวังหลวง (2492) เป็นการต่อต้านจากฝ่ายประชาธิปไตยพลเรือน ซึ่งประกอบด้วยเสรีไทยและกองทัพเรือ
  3. กบฏแมนฮัตตัน (2494) เป็นการต่อต้านจากฝ่ายกองทัพเรือ
โดยกบฏทั้งสามครั้งนั้นจบลงด้วยชัยชนะของรัฐบาล อันทำให้รัฐบาลภายใต้คณะรัฐประหารนั้นมีเสถียรภาพมั่นคงมากขึ้น ดังนั้น คณะรัฐประหารจึงได้ทำการรัฐประหารเงียบหรือการรัฐประหารทางวิทยุในปีพ.ศ.2494 เพื่อที่จะได้ควบคุมอำนาจนิติบัญญัติหรือรัฐสภาได้อย่างเต็มที่

แต่อย่างใดก็ตาม แม้ว่าระบบการเมืองของไทยในช่วงปี พ.ศ. 2491 จนถึงปลายปี พ.ศ.2494 จะมีรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม) ซึ่งต่อมามีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 (รัฐธรรมนูญกษตริย์นิยม: เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า; http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/รัฐประหาร_พ.ศ._2494) ที่ให้อำนาจแก่ตัวนายกรัฐมนตรี คือ จอมพล ป. มากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 แต่คณะรัฐประหารกลับมีอำนาจเหนือกฎหมายซึ่งภายหลังจากการจี้นายควง รัฐบาลต้องประสบกับการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีบทบาทอย่างมากในสภา อันทำให้รัฐบาลจอมพล ป. ภายใต้การสนับสนุนของคณะรัฐประหารไม่สามารถควบคุมคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้อย่างมีเสถียรภาพ

ในช่วงนั้นเอง มีหนังสือพิมพ์ถือกำเนิดขึ้นสองฉบับในเวลาห่างกันแค่วันเดียว และทั้งสองฉบับมีบทบาทอย่างสำคัญและถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล (ที่ว่ากันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการมี "อำนาจล้นฟ้า" ภายใต้การกำกับดูแลของ "อธิบดี" เผ่า ศรียานนท์ จนมีคำกล่าวว่า "ไม่มีอะไรภายใต้พระอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" และก็ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐตำรวจ เผ่าใช้กำลังตำรวจในการกำจัดศัตรูของรัฐบาล) ในการเปิดโปงรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจและต่อต้านการยึดอำนาจซ้อนจนประสบชัยชนะมาได้ดังกล่าวมาแล้ว

หนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่จะกล่าวถึงคือ หนังสือพิมพ์ เดลิเมล์ ก่อตั้งโดย นายแสง เหตระกูล หรือที่เรียกกันติดปากในเวลานั้นว่า "นายห้างแสง" ออกวางจำหน่ายฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2493 นายห้างแสงนั้น นับว่าเป็นผู้มีประสบการณ์งานพิมพ์มาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยดำเนินกิจการโรงพิมพ์ประชาช่าง มาเป็นเวลา 5 ปี จนตัดสินใจซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ กรุงเทพเดลิเมล์ (Bangkok Daily Mail) ของนายหลุย คีรีวัตน์ ซึ่งหยุดดำเนินการไปตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ทั้งนี้นายห้างแสง เป็นทั้งเจ้าของและผู้อำนวยการ โดยจ้าง บริษัทประชาช่าง จำกัด ของนายห้างแสงเอง เป็นผู้พิมพ์ ซึ่งมีพาดหัวข่าวในฉบับปฐมฤกษ์ว่า "นักศึกษา มธก.รากเลือดค้าน ก.พ." ซึ่งนับว่าเป็นการท้าทายอำนาจเผด็จการและรัฐบาลทหารในเวลานั้นอย่างไม่คิดเกรงกลัว

จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสงครามเกาหลี และประเทศไทยภายใต้การสนับสนุน (ควบคุม) ของสหรัฐอเมริกา ก็ถูกดึงเข้าสู่สงครามโดยการส่งกําลังเข้าร่วมรบกับกองกําลังที่จัดตั้งจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เพื่อช่วยสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ทำสงครามกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ที่สนับสนุนโดยค่ายสังคมนิยมคือสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ถูกครอบงำโดย "พี่เบิ้มแห่งโลกเสรี" สหรัฐอเมริกา ไทยต้องพบว่าต้องตกอยู่ในวังวนอันเชี่ยวกรากของกระแสการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังขยายตัวไปทั้วโลกรวมทั้งในประเทศไทยพร้อมกับความพยายามของประเทศอาณานิคมเดิมทั้งหลายในโลกอยู่ในช่วงต่อสู้เรียกร้องเอกราช ข่าวและบทความในช่วงนั้นจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนวงการต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งหนังสือพิมพ์เดลิเมล์หยิบยกประเด็นมานำเสนอหลายครั้งต่อเนื่องกัน อาทิ:

ฉบับวันที่ 3 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อข่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้แจ้งข่าวต่อประชาชนให้ติดตามการที่จีนแดงแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาประชิดประเทศไทยและอินโดจีน

ฉบับวันที่ 4 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ในคอลัมน์สถานีอิสระที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นประเด็นทางการเมือง โดยมีประชาชนท่านหนึ่งส่งจดหมายระบุจากการตีพิมพ์ว่า เป็นการถูกต้องที่รัฐบาลไทยนั้นได้ตัดสินใจ เพราะว่าทุกวันนี้โลกแบ่งเป็น 2 ขั้วที่ชัดเจนคือ ประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ การส่งทหารไปช่วยเกาหลีใต้รบแสดงให้เห็นกันว่าไทยเรายืนอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย พร้อมที่จะช่วยยับยั้งคอมมิวนิสต์

ฉบับวันที่ 4 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อหาข่าวว่า ฝ่ายค้านนํา โดย นายควง อภัยวงศ์ ปะทะหัวหน้ารัฐบาล จอมพล ป. กรณีไม่เห็นด้วย ที่ไทยจัดส่งทหารไปเกาหลี เพราะรัฐบาลกําลังลืมประชาชนที่กําลังอดอยาก ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนต่างก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน

ฉบับวันที่ 5 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ระบุในคอลัมน์ "ภราดร" ซึ่งเขียนโดย นายศรัทธา ว่า เป็นอันว่ารัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะพาประชาชน 18 ล้านคนบนพื้นธรณีแหลมทองเข้าสู่สถานการณ์สงคราม โดยได้ส่งข้าวและกําลังทหารตามบัญชาของสหรัฐ ซึ่งไม่เป็นปัญหาในการเห็นชอบของ ส.ส. เพราะต้องการเสวยสุขอยู่ในตําแหน่งต่อไป โดยเอาสถานการณ์สงครามยืดอายุผู้แทน เหมือนที่เคยทําสมัยกอดคอกับญี่ปุ่น

(จากวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาข่วิชารัฐประศาสนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ฯ พ.ศ. 2554 หัวข้อเรื่อง "บทบาทสื่อมวลชนกับการมีส่วนร่วมการเมืองไทย" โดย เอกภพ โสรัตน์ อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://202.29.39.8/thesis/thesisfiles/TH/8571549.pdf)

(ยังมีต่อ)



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (25)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (8)

"ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น" - กุหลาบ "ศรีบูรพา" สายประดิษฐ์ จาก "เล่นกับไฟ" (พิมพ์ครั้งแรก : เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์: สิงหาคม 2471)

การเกิดสื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (8)

ยังมีเรื่องราวของ "กบฏสันติภาพ" ที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลที่มีน้ำหนักพอต่อการขบวนการประชาธิปไตยประชาชนในรอบกว่าครึ่งศตวรรษมานี้อีกบางคน คือ:

ในปี พ.ศ. 2495 นั้นเอง กุหลาบได้รับตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย เรียกร้องสันติภาพคัดค้านสงครามรุกรานเกาหลี และได้รับมอบหมายจากสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยให้เป็นประธานนำคณะไปแจกสิ่งของที่มีผู้บริจาคแก่ประชาชนภาคอีสาน ที่ประสบภัยธรรมชาติอย่างร้ายแรง และได้ร่วมคัดค้านสงครามรุกรานเกาหลี ต่อมาวันที่ 10 กุหลาบ สายประดิษฐ์จึงถูกจับกุม พร้อมด้วยมิตรสหายในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือ "ขบถสันติภาพ" เพราะการเรียกร้องสันติภาพ และการแจกสิ่งของช่วยเหลือชาวบ้าน ถูกตัดสินจำคุกเป็นคณะใหญ่ 13 ปี 4 เดือน และถูกคุมขังไว้ในเรือนจำบางขวาง ฐานนักโทษการเมือง ต่อมาหลังจากถูกคุมขังอยู่สี่ปีเศษ จึงได้รับนิรโทษกรรมเนื่องในวโรกาสครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

ก่อนหน้านั้น ในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเอกราชบูรณภาพแห่งดินแดนของประชาชาติ ยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกในขบวนการเสรีไทยสายในประเทศอีกด้วย

(จากบทความ "คือสุภาพบุรุษคนดีศรีบูรพา" จากเว็บไซต์กองทุนศรีบูรพา http://www.sriburapha.net/index.php/2011-08-01-10-53-33/84-2011-08-01-20-49-00):
กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยและสันติภาพตลอดมา โดยได้เขียนบทความ "มนุษยภาพ" ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2474 เสนอความคิดสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย จนทำให้หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ถูกสั่งปิด แท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่ เมื่อได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2475 ก็สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย เขียนบทความคัดค้านการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เขียนบทความคัดค้านการฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2485 ทำให้การฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ต้องระงับไปในที่สุด

ในช่วงแห่งสงครามได้เขียนบทความคัดค้านรัฐบาลร่วมมือกับญี่ปุ่นในการทำสงคราม ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองศรีบูรพาได้เข้าร่วม ขบวนการเสรีไทย เมื่อ พ.ศ. 2494 องค์การสันติภาพสากลประชุมที่กรุงเบอร์ลินเรียกร้องสันติภาพ คัดค้านสงครามเกาหลี และประกาศแต่งตั้ง ศรีบูรพา กับคนไทยอีก 2 คนเป็นกรรมการองค์การสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2495 รับตำแหน่งรองประธานกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย เรียกร้องสันติภาพและคัดค้านสงครามเกาหลี และได้รับมอบหมายจากสมาคมหนังสือพิมพ์ให้เป็นประธานนำคณะไปแจกสิ่งของที่มีผู้บริจาคแก่ประชาชนภาคอีสานที่ประสบภัยธรรมชาติอย่างร้ายแรง
*****
ผลจากการกวาดล้าง "กบฏสันติภาพ" นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองสายนายปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งอดีต พลพรรคเสรีไทย เป็นจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง โดยถูกเพ่งเล็งว่าล้วนแต่ผู้มีความเห็นต่างจากรัฐบาลทหาร ป.พิบูลสงคราม ที่มาจากการรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 และพยายามต่อต้านอำนาจเผด็จการในเวลานั้น ทำให้แวดวงนักคิดนักเขียน และกิจการหนังสือพิมพ์มีอันต้องซบเซา ถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งสภาวการณ์นั้นดำรงอยู่จนช่วงใกล้งานฉลอง 25 ปีพุทธศตวรรษ หรือที่เรียกกันว่า "งานฉลองกึ่งพุทธกาล" ซึ่งเตรียมการล่วงหน้านับแต่ปี พ.ศ. 2495 อาทิ การวางโครงการและระดมทุนเพื่อจัดสร้างพุทธมณฑล เพื่อเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา ออกประกาศให้วันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พระราชบัญญัติล้างมลทิน อันมีผลต่อผู้ต้องขังในคดีกบฏสันติภาพ พ.ศ. 2497 และย้อนหลังไปถึงผู้ต้องขังใน กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 อีกด้วย

เมื่อฝายประชาธิปไตยหรืออาจกล่าวได้ว่าฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับกลุ่มที่ยึดกุมอำนาจการปกครองประเทศที่นำโดยทหารบก ถูกจำกัดบทบาทและตีกรอบต่อการเคลื่อนไหวใดๆ ในทางเปิดเผย ที่นับเป็นยุคมืดทางปัญญาครั้งหนึ่งในประเทศไทย การเคลื่อนไหวทางการเมืองกระแสหลักจึงมีเพียงการเคลื่อนไหวช่วงชิงอำนาจภายในของกลุ่มรัฐประหารครั้งล่าสุด ที่เปิดหน้าเล่นอย่างชัดเจนว่าผู้นำที่แท้จริงคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีนายทหารที่เป็นคนสนิทรองรับอำนาจ 2 คน

คนแรกคือ พลเอก สฤษดิ์ ธนรัชต์ ซึ่งชีวิตราชการ เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจากพันเอกในปี พ.ศ. 2492 ได้รับพระราชทานยศ พลตรี ดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ 1 และรักษาการผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ผลงานที่สร้างชื่อคือการเป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวงเมื่อปีเดียวกัน หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลโท ต่อด้วยการก้าวขึ้นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2493 ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ได้ครองตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก ครองยศพลเอก

และอีกคนหนึ่งคือ พันเอก เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งลาออกจากราชการชั่วคราวในปี พ.ศ. 2487 แล้วกลับเข้ารับราชการในกรมตำรวจในปีพ.ศ. 2490 ชีวิตรับราชการก้าวหน้าขึ้นตามการรับใช้ใกล้ต่อจอมพล ป. เช่นกัน คือ จากยศพันตำรวจเอก ในปี พ.ศ. 2491 ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ ในอัตรา พลตำรวจโท ในปี พ.ศ. 2494 และในปี พ.ศ. 2495 ได้รับพระราชทานยศเป็น พลโท พลเรือโท และพลอากาศโท กระทั่งวันที่ 21 กรกฎาคมปีเดียวกัน ได้รับพระราชทานยศเป็นพลตำรวจเอก

แต่แล้วในที่สุด "เสือสอง (สาม) ตัวก็อยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้"

ในเอกสาร "ประวัติการเมืองการปกครองไทย" โดยสถาบันพระปกเกล้า เขียนถึงรอยต่อการปกครองโดยคณะทหารโดย 2 ผู้นำ หลังปี พ.ศ. 2494 ไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะความสมพันธ์เชิงซ้อนของนายและลูกน้องทั้งสามคนดังกล่าวไว้ดังนี้:
หลังจากชนะการสู้รบ กลุ่มรัฐประหาร พ.ศ. 2490 จึงตัดสินใจทำการรัฐประหารตัวเองอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2494 กลุ่มรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลและก่อตั้งคณะกรรมการบริหารชั่วคราวซึ่งประกอบด้วยสมาชิกของคณะรัฐประหาร พร้อมกับล้มสภานิติบัญญัติที่มีสองสภา และแต่งตั้งสภาใหม่โดยประกอบด้วยสมาชิก 123 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกจำนวนเท่ากันเข้ามาภายใน 90 วัน พรรคการเมืองถูกห้ามจัดตั้งหนังสือพิมพ์ก็อยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของรัฐบาล จอมพล ป. ก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่คณะรัฐประหารซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง อีกทั้งยังแต่งตั้งนายทหารและนายตำรวจมากมายซึ่งล้วนเป็นพวกของตนในสภาที่ตั้งขึ้นใหม่ ดังนั้น อำนาจทางการเมืองตอนนี้เกือบจะผูกขาดโดยทหาร ทั้งพวกเสรีนิยม พวกเจ้าและพวกอนุรักษ์นิยมต่างก็เสียอำนาจทางการเมืองหมด รัฐประหารปี 2494 ทำให้อำนาจของฝ่ายตรงข้ามสิ้นสุดลงและทหารก็ได้ครองอำนาจอย่างมากมาย
(ยังมีต่อ)



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 22-28 พฤศจิกายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (24)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (7)

นายเตียง ศิริขันธ์ "ขุนพลภูพาน" หนึ่งใน "สี่เสืออีสาน" ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในสมัยรัฐบาล ป.พิบูลสงคราม ที่มาจากการรัฐประหาร ยิงทิ้งที่ทุ่งบางเขนในปี พ.ศ. 2492

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (7)

ยังมีเรื่องราวของ "กบฏสันติภาพ" ที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลที่มีน้ำหนักพอต่อการขบวนการประชาธิปไตยประชาชนในรอบกว่าครึ่งศตวรรษมานี้อีกบางคน คือ:
*****
หลังการกวาดล้างจับกุมบุคคลวงการต่างๆ จำนวน 104 คน ด้วยข้อหากบฏในราชอาณาจักร วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 รัฐบาลจากการรัฐประหาร (ซ้ำซ้อน) ป.พิบูลสงคราม ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ผ่านรัฐสภา (ประชาธิปไตย?) 3 วาระรวด โดยมีจุดมุ่งหมายให้บังคับใช้สำหรับนำมาลงโทษผู้ต้องหากลุ่มนี้โดยเฉพาะ

มีหลักฐานในเวลาต่อมาว่า วันที่ 14 ธันวาคม อันเป็นวันที่ 2 หลังจากถูกตำรวจเรียกตัวออกจากรัฐสภาแล้วควบคุมตัวหายสาบสูญไป ไม่อาจติดต่อได้ด้วยวิธีการใดๆ ในที่สุดมีผู้พบศพนายเตียง ศิริขันธ์ (ขณะนั้น เป็น ส.ส. ในคณะกรรมการนิติบัญญัติ ฝ่ายรัฐบาล) นักการเมืองฉายา "ขุนพลภูพาน" หนึ่งใน "สี่เสืออีสาน" ซึ่งประกอบด้วย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายเตียง ศิริขันธ์, นายถวิล อุดล และนายจำลอง ดาวเรือง ซึ่งนอกจากนายเตียงแล้ว อีก 3 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในสมัยรัฐบาลรัฐประหาร ป.พิบูลสงครามยิงทิ้งที่ทุ่งบางเขนในปี พ.ศ. 2492

สำหรับประวัติชีวิตทางการเมืองของนายเตียงนั้น ในปี พ.ศ. 2477 ขณะที่รับราชการเป็นครู นายเตียงเคยถูกจับในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกับเพื่อนอีก 3 คน คือ ครูปั่น แก้วมาตย์, ครูสุทัศน์ สุวรรณรัตน์ และครูญวง เอี่ยมศิลา ถูกส่งตัวมาดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ ต่อมาศาลยกฟ้องให้พ้นข้อหาไป ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.สกลนคร 5 สมัย ตั้งแต่อายุ 28 ปี สมัยแรกได้ในปี พ.ศ. 2478 จากการลงสมัครครั้งแรกนั้นเช่นกัน เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 3 สมัย และเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นหัวหน้าใหญ่เสรีไทยภาคอีสานและสกลนครโดยมีศูนย์บัญชาการอยู่บนเทือกเขาภูพาน แนวคิดทางการเมืองที่สำคัญ คือ
    "ข้าพเจ้าต้องการให้ทุก ๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง"
    หลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นายเตียงหรือ "ครูเตียง" หลบหนีขึ้นไปซ่องสุมกำลังอดีตพลพรรคเสรีไทยบนเทือกเขาภูพาน โดยรัฐบาลสั่งการให้ พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ ตามล่าตัว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนหนังสือพิมพ์ยุคนั้นพร้อมใจกันตั้งสมญานามให้ว่า "ขุนพลภูพาน" ต่อมาหลวงพิชิตธุรการจึงใช้วิธีข่มขู่ให้ชาวบ้านบอกที่ซ่อนของขุนพลภูพาน โดยจับครูครอง จันดาวงศ์ และสหายร่วมอุดมการณ์ของครูเตียงอีก 15 คน สร้างแรงกดดันจนในที่สุดตัดสินใจมอบตัวต่อทางการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2491 ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน แต่ท้ายที่สุดศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ฯลฯ

    นอกจากนั้น ยังมีเหยื่อจากฝืมืออำมหิตของตำรวจ (?) ในยุค "เผด็จการครองเมือง" อีก 4 คน คือ นายเล็ก บุนนาค, นายผ่อง เขียววิจิตร, นายสง่า ประจักษ์วงศ์ และนายชาญ บุนนาค พลพรรคเสรีไทยคนสำคัญคนหนึ่ง ถูกสังหารต่อมาวันที่ 15 ธันวาคมจึงมีคนไปพบศพของคนทั้ง 4 ถูกนำไปเผาทิ้งที่ ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

    ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ผู้ต้องหาทั้งหมดที่ถูกจับกุมต่อเนื่องในปลายปี พ.ศ. 2495 ถูกนำตัวขึ้นศาลในข้อหากบฏ เนื่องจากไม่สามารถนำข้อหาคอมมิวนิสต์มากล่าวโทษย้อนหลังได้ กระบวนการยุติธรรม (?) ใช้เวลากว่า 2 ปี จึงมีคำพิพากษาว่าจำเลยทุกคน เว้นนายมงคล ณ นคร, นายเปลื้อง วรรณศรี บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ปิตุภูมิรายปักษ์ เป็นหนึ่งใน "กวีการเมือง" เจ้าของนามปากกา "นายสาง" (คู่กับ นายอัศนี พลจันทร์ ที่ใช้นามปกกา "นายผี") ทั้งยังเคยได้รับเลือกจากประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์เป็นผู้แทนราษฎรมาแล้ว, นายสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, นายสิงห์ชัย บังคดานรา และนายฮางเฮ้า แซ่โง้ว เป็นผู้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา ให้จำคุกเป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน ยกเว้นนายณรงค์ ชัยชาญ ถูกจำคุก 20 ปี เพราะไม่ยอมให้ปากคำ

    สำหรับ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" หนึ่งในนักเขียน (สยาม) ไทยสัจนิยมรุ่นบุกเบิก ทั้งเป็นนักประชาธิปไตยตัวยคนหนึ่ง ขณะที่ถูกจับกุมในคดีกบฏสันติภาพนั้น เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดของฝ่ายอำนาจรัฐตั้งแต่ก่อนการอภิวัฒน์สยาม ทว่ากลับเป็น "ผงในดวงตา" ของ "ฝ่ายเผด็จการทหาร" ยิ่งกว่า "ฝ่ายเจ้า" ในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีบทบาทสำคัญในการเขียนและการทำหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปี พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา ในขณะที่การเมืองในช่วงวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยกำลังเข้าไคลด้วยความขัดแย้งที่ก่อรูปและกำลังพัฒนาขยายตัวทั้งความพยายามในการ "ฟื้นระบอบ" การปกครองแบบราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และทั้งการเริ่มรอยร้าวที่เป็นความขัดแย้งในหมู่ "ผู้ก่อการฯ" ด้วยกัน ตั้งแต่กรณี "กบฏพระยาทรงสุรเดช" ซึ่งในฝ่ายปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย เห็นว่า "เสรีภาพ" ของหนังสือพิมพ์กำลังเป็นภัยคุกคามอย่างสำคัญต่อการดำรงอยู่ของตน

    พ.ศ. 2481 นายกุหลาบเข้ารับตำแหน่งกรรมการอำนวยการหนังสือพิมพ์ ประชามิตร เป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ และรวมประชามิตร-สุภาพบุรุษ เป็นฉบับเดียวกัน โดยร่วมเป็นผู้รับผิดชอบ ในปี พ.ศ. 2484 ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

    พ.ศ. 2485 นายกุหลาบเขียนบทความติดต่อกันคัดค้านการฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนเป็นผลสำเร็จ ตามมาด้วยการเขียนบทความคัดค้านการที่รัฐบาลไทยร่วมมือกับกองทัพสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยยินยอมให้ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นฐานและเป็นทางผ่านเข้าโจมตีประเทศเพื่อนบ้านที่ในเวลานั้นเป็นเมืองขึ้นที่อยู่ในอาณัติของจักรวรรดินิยมนักล่าอาณานิคมตะวันตก คือ อังกฤษในพม่าและมลายู กับฝรั่งเศสในกลุ่มประเทศอินโดจีนกรีธาทัพ เป็นเหตุให้ นายกุหลาบถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏภายในประเทศ ถูกคุมขังอยู่ราวสามเดือน จึงได้รับอิสรภาพ เพราะคดีไม่มีมูล

    ระหว่างปี พ.ศ. 2488-2489 นายกุหลาบ ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2490-2492 ไปศึกษาวิชาการเมืองในประเทศออสเตรเลีย (ที่ซึ่งได้ศึกษาเรื่องราวของชาวไร่ชาวออสเตรเลียที่ได้ความอยุติธรรมจากผู้มีอิทธิพลกับฝ่ายบ้านเมือง ถูกตั้งข้อหาและมีสินบนนำจับ และนายกุหลาบเขียนเรื่องราวของ เนด เคลลี่ ไว้เป็นนวนิยายในชื่อ "เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร") และกลับมาเมืองไทย ปี พ.ศ. 2492 เขียนหนังสืออยู่บ้านกับภรรยา ชนิษฐ์ สายประดิษฐ์ และตั้งสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ พิมพ์-จำหน่ายหนังสือภายใต้นามปากกา "ศรีบูรพา" และ "จูเลียต"

    พ.ศ. 2495 นายกุหลาบปราศรัยในที่ประชุมใหญ่ สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และเขียน บทความเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ และยกเลิก พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. 2484

    *****
    (ยังมีต่อ)


    พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 15-21 พฤศจิกายน 2557
    คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

    วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563

    สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (23)

    ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
    ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (6)

    จำเลย 54 คน ในคดี "ขบถสันติภาพ" ดูรายชื่อในบทความนี้

    สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (6) 

    เพื่อไม่ให้ "ข้าม" ช่วงสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยและประวัติการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อสารมวลชนและประชาชนไทยที่รักเสรีภาพและประชิปไตย ขอคั่นบทความชิ้นยาวนี้ด้วยเรื่องราวของ "กบฏสันติภาพ" :

    *****

    "กบฏสันติภาพ" เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จับกุมประชาชนจำนวนมาก โดยอาศัยอำนาจตามความในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 102, 104, 177, 181 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ทั้งนี้ กรมตำรวจได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ถึงจับกุมบุคคลต่าง ๆ เป็นจำนวนถึง 104 คน มีใจความสำคัญว่า:

    "ด้วยปรากฏจากการสอบสวนของกรมตำรวจว่า มีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก เกิดการทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่างๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง อันเป็นการที่อาจจะทำให้เสื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ยุยงให้ทหารที่รัฐบาลส่งออกไปรบในเกาหลี ตามพันธะที่รัฐบาลมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ ให้เสื่อมเสียวินัย เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้ว ก็จะใช้กำลังเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย..."

    จากนั้นยังได้ทะยอยจับกุมประชาชนเพิ่มเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งถึงกลางปี พ.ศ. 2496 ก็ยังมีข่าวว่าได้จับกุมและสึกพระภิกษุที่เคยสนับสนุนและเผยแพร่สันติภาพอีกด้วย

    ผลที่สุด ในคดี "กบฏสันติภาพ" นี้ อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 54 ราย ศาลได้พิพากษาจำคุก บางราย 13 ปี บางราย 20 ปี และได้รับการประกันตัวและพ้นโทษตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ใน พ.ศ. 2500 ขอนำภาพถ่ายและรายชื่อจำเลย 54 คน ในคดีมาถ่ายทอดซ้ำ ณ ที่นี้อีกครั้ง

    แถวหน้าจากซ้าย: (1) พ.ท. สาลี่ ธนะวิบูลย์ (2) สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ (3) บัว จันทร (4) ชาย เฮงกุล (5) ฉัตร บุณยศิริชัย - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ (6) สุภัทร สุคนธาภิรมย์ - เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต อดีตพลพรรคเสรีไทย (7) จ.อ.โสตถิ์ เสวตนันท์ (8) ปิ่น เสียงชอบ (9) ประสิทธิ์ เทียนศิริ - สมาชิกคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

    แถวที่ 2 จากซ้าย: (10) ชิต เวชชประสิทธิ์ (ทนายความ) (11) จ.ท.ไพโรจน์ มนต์ไทวงศ์ (12) สิงหชัย บังคดานรา (13) พลทหารปาล พนมยงค์ - บุตรชายของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าเสรีไทยสายในประเทศ และอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ [วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นใหม่ แทนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และปรีดี พนมยงค์ ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่ง สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติแต่งตั้งปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว (1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 - 20 กันยายน พ.ศ. 2488) และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปอีก เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่สามารถเสด็จนิวัติประเทศไทยได้] (14) พินิจ ปทุมรส (15) จ.ท.ประดิษฐ์ หุนชนเสวี (16) จ.ท.ยิ่ง รัตนจักร (17) สุพจน์ ด่านตระกูล (18) อารีย์ อิ่มสมบัติ (19) จ.ท.ทองอินทร์ ความนา (20) น.พ.เจริญ สืบแสง (21) กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" (22) วิเศษ ศักดิ์สิทธิ์คันศร (23) สุชาติ ภูมิบริรักษ์ (24) ซ้ง แซ่คู (25) สมัคร บุราวาศ - นักคิดนักเขียนและนักปรัชญาคนสำคัญช่วงรอยต่อกึ่งพุทธกาล

    แถวที่ 3 จากซ้าย: (26) สุบรรณ จันทร์แก้ว (27) จ.อ.สงขลา กระจ่างพจน์ (28) ภู ชัยชาญ  (29) จ.ท.มา ทองแท้ (30) จ.อ.อ.เมี้ยน เดชาติวงศ์ (31) อนันต์ ทัตตานนท์ (32) มงคล ณ นคร (33) จ.ท.ประสิทธิ์ ใจอุ่น (34) สาร โนนใหญ่ (35) จ.อ.บุญส่ง ประสมแสง (36) ไสว มาลยเวช (37) ครอง จันดาวงศ์ (38) บุญมี ลัทธิประสาท (39) ภู จันเขตต์ (40) ณรงค์ ชัยชาญ (41) ฮะ แซ่ลิ้ม (42) ร.อ.พิมพ์ ยุวะนิยม (43) จ.ท.ไสว วงศ์หุ่น (44) น.อ.ท.พร่างเพชร บุณยรัตนพันธ์ (45) บุ ชัยชาญ (46) สอน เสนา (47) อุทธรณ์ พลกุล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ (48) พันจ่าโท มนูญ สุทธิวงศ์ (49) บุญนาน รัตนไพร (50) พันจ่าเอก นาด ปิ่นแก้ว (51) น้อย จันทร์นา (52) น.ต.มนัส จารุภา รน. (53) เปลื้อง วรรณศรี (54) ฮางเฮ้า แซ่โง๊ว

    ส่วนจำเลยที่ไม่มีในภาพคือ สุ่น กิจจำนง

    ภาพจาก: บันทึกนักโทษการเมือง โดย ไพศาล มาลาพันธุ์ (ไสว มาลยเวช)

    ข้อมูลรายชื่อจาก: ตำนานขบวนการกู้ชาติ โดย สุพจน์ ด่านตระกูล ISBN 974-92144-0-4 (บัญชีรายชื่อ ลงวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2528)

    นอกจากนั้นยังมีผู้ถูกจับกุมอีกส่วนหนึ่ง แต่ไม่ถูกสั่งฟ้อง ประกอบด้วยนักเขียนหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง อาทิ (1) อารีย์ ลีวีระ - เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามนิกร (ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 หลังได้รับอิสรภาพ อารีย์เข้าพิธีมงคลสมรสกับแฟนสาว คือ นางสาวกานดา บุญรัตน์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 และเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ชายทะเลบ้านหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2496 อารีย์ ลีวีระ ถูกยิงเสียชีวิตที่เรือนพัก โดยตำรวจยศสิบโท และพลตำรวจอีก 4 นาย จากกองกำกับการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอ้างคำสั่งของ พ.ต.ท. ศิริชัย กระจ่างวงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนายตำรวจอัศวินแหวนเพชร ลูกน้องของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์) (2) สุภา ศิริมานนท์ - เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์น นักคิดนักเขียนที่มีจุดยืนในเศรษฐกิจสังคมนิยม ผู้บรรยายและเรียบเรียงหนังสือ "แคปิตะลิสม์" จากงานเขียนของ คาร์ล มาร์กซ์ เป็นภาษาไทย (3) แสวง ตุงคะบริหาร - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกร (4) บุศย์ สิมะเสถียร - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย (5) สมุทร สุรักขกะ - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ ฯลฯ

    สำหรับนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ประกอบด้วย (1) มารุต บุนนาค - ประธานกรรมการสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; (2) ลิ่วละล่อง บุนนาค - ผู้นำนักศึกษา; (3) สุวัฒน์ วรดิลก - นักเขียน; (4) ฟัก ณ สงขลา - ทนายความ; (5) สุ่น กิจจำนงค์ - เลขาธิการสมาคมสหอาชีวกรรมกร และ (6) สุพจน์ ด่านตระกูล - ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นนักค้นคว้าและนักเขียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยฝ่ายประชาชนคนสำคัญ ฯลฯ

    *****
    (ยังมีต่อ)


    พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 8-14 พฤศจิกายน 2557
    คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

    วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2563

    สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (22)

    ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
    ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (5)

    ส่วนหนึ่งของนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนในคุกลาดยาว หลังกลับจากลอบเดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในนามคณะทูตใต้ดินในปี พ.ศ. 2498 จากซ้ายไปขวา สังข์ พัธโนทัย, อุทธรณ์ พลกุล, อิศรา อมันตกุล, สุวิทย์ เผดิมชิต, กรุณา กุศลาสัย และอารี ภิรมย์ (ภาพจาก หนังสือ ''ชีวิตที่เลือกไม่ได้'' โดย ดร.กรุณา กุศลาสัย สำนักพิมพ์แม่คำผาง) 

    สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (5)

    บทความเรื่อง "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" ในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500) โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา บรรยายต่อไปถึงความขัดกันหรือความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ทั่วไปในสิ่งทั้งปวง รวมทั้งในแวดสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดยืนและทัศนคติในทางการเมืองซึ่งกล่าวได้ในสองมิติด้วยกัน คือมิติของ เสรีภาพในการแสดงความเห็น (Freedom of Expression) และมิติในแง่จุดยืนทางการเมืองสองระบอบหลังสงครามโลกสองครั้ง ที่ประกอบไปด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน กับค่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลต่อการเมืองภายในประเทศหนึ่งประเทศใด โดยเฉพาะประเทศขนาดเล็กที่ดูเหมือนจะเป็น "เมืองพึ่ง" หรือ "กึ่งเมืองขึ้น" ของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ ว่า:
    *****
    แม้ว่าใน พ.ศ. 2495 ทิศทางการต่อสู้ของหนังสือพิมพ์อาจจะค่อนข้างชัดเจนและไปในทางเดียวกัน แต่ก็มิได้หมายความว่าพลังของหนังสือพิมพ์เป็นเอกภาพ เพราะมีหนังสือพิมพ์บางฉบับ เช่น สยามรัฐ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ออกเผยแพร่ฉบับแรกในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2493 โดยมี สละ ลิขิตกุล เป็นบรรณาธิการ ตั้งแต่แรกที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐออกเผยแพร่ก็แสดงทัศนะต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง พร้อมทั้งสนับสนุนสหรัฐอเมริกาและสงครามเกาหลี รวมทั้งแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อขบวนการสันติภาพอย่างชัดเจน หนังสือพิมพ์สยามรัฐได้แสดงบทบาทสอดคล้องกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่ คือ การมุ่งฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ที่ตกต่ำมานานภายหลังจากการปฏิวัติใน พ.ศ. 2475 แต่กระนั้นหนังสือพิมพ์สยามรัฐก็ได้เข้าร่วมต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์อยู่บ้าง เช่น เมื่อรัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกภายหลังกบฎแมนฮัตตัน หนังสือพิมพ์สยามรัฐประท้วง โดยที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชงดเขียนคอลัมน์และบทความทั้งหมด ลดจำนวนหน้า และเนื้อข่าวบริเวณใดที่ถูกตัดข้อความก็จะเว้นช่องว่างเพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าถูกตัดข้อความ จนกระทั่งรัฐบาลเลิกเซ็นเซอร์และเลิกกฎอัยการศึกแล้ว หนังสือพิมพ์สยามรัฐจึงเลิกประท้วงและกลับสู่วิธีการนำเสนอในรูปแบบเดิม 
    ในวงการหนังสือพิมพ์ไทยเกิดสถานการณ์ที่ซับซ้อนขึ้นมาอีกเมื่อ พ.ศ. 2499 กล่าวคือเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มชนชั้นนำรุนแรงมาก แต่ละฝ่ายต้องต่อสู้กันด้วยการมีหนังสือพิมพ์เป็นของตนเอง เช่น จอมพลป.พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้ สังข์ พัธโนทัย ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ เสถียรภาพ ส่วนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ให้ ทนง ศรัทธาทิพย์ ออกหนังสือพิมพ์ สารเสรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์ ไทรายวัน และ ไทสัปดาห์ ของ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน ที่มีแนวโน้มไปในทางสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่วน พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ก็อยู่เบื้องหลังหนังสือพิมพ์ เผ่าไทย ไทเสรี และหนังสือพิมพ์รายวันเช้า ที่ออกตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2495 โดยมี วรรโณทัย อมาตยกุล เป็นบรรณาธิการ ต่อมาปรากฎว่าหนังสือพิมพ์ของฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ได้โจมตีพล.ต.อ.เผ่าในเรื่องการค้าฝิ่นและการใช้อิทธิพลสังหารนักการเมือง ส่วนหนังสือพิมพ์ของฝ่าย พล.ต.อ.เผ่าก็มุ่งโจมตีจอมพลสฤษดิ์ในเรื่องอิทธิพลทางเศรษฐกิจและเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศที่เหลวแหลก และเมื่อรวมบทบาทของหนังสือพิมพ์ฝ่ายอื่น ๆ เช่น สยามรัฐ และ ประชาธิปไตย ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และ ปิตุภูมิ ของฝ่ายสังคมนิยมแล้ว ทำให้ในระยะพ.ศ. 2499-2500 เกิดสภาพที่เรียกว่า "สงครามหนังสือพิมพ์" ขึ้น และการโจมตีฟาดฟันกันทางหน้าหนังสือพิมพ์นี้เอง ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงมากขึ้น
    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความขัดแย้งและการโจมตีซึ่งกันและกัน หนังสือพิมพ์ในช่วง พ.ศ. 2499-2500 ก็มีบทบาทไม่น้อยในการสร้างมติมหาชนกดดันรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลที่สนับสนุนสหรัฐอเมริกา การโจมตีของหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ในเรื่องการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปคือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่ลดลง เนื่องจากการมุ่งสู่แนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างโลกทุนนิยมและสังคมนิยม ตลอดจนภาวะทางการเมืองของภูมิภาคเอเชียได้ผ่านเข้าสู่สันติภาพในช่วงเวลาหนึ่ง และประเทศเอกราชและประเทศเกิดใหม่ในเอเชียที่ออกมาจากการครอบครองของประเทศเจ้าอาณานิคมนั้นมีแนวทางหันมาดำเนินนโยบายเป็นกลางทั้งสิ้น รวมทั้งแนวโน้มการยอมรับสถานะของสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยเหตุนี้การดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบติดตามสหรัฐอเมริกาของรัฐบาล จอมพลป. พิบูลสงคราม จึงกลายเป็นสิ่งที่ดูไม่สมเหตุสมผลในสายตาของหนังสือพิมพ์ ผลที่ตามมาคือ ค่ายหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุด คือ ไทยพาณิชยการ ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย และ สยามนิกร ได้กลายมาเป็นกลุ่มสำคัญที่รณรงค์คัดค้านเรื่องนี้และสร้างความกดดันให้แก่รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามเป็นอย่างมาก ยิ่งกว่านั้นหนังสือพิมพ์ สารเสรี ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หนังสือพิมพ์ ไทรายวัน ของ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ เสถียรภาพ ของ สังข์ พัธโนทัย ต่างก็เข้าร่วมการเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน
    *****
    ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการเคลื่อนไหวที่สำคัญต่อการสื่อสารมวลชน และ/หรือ การต่อสู้เพื่อ "เสรีภาพในการแสดงความเห็น (Freedom of Expression)" ในประเทศไทย นั่นคือ การก่อตั้ง "สมาคมนักข่าว" ขึ้นในปี พ.ศ. 2499 ซึ่งจากเว็บไซต์ของ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้นำเสนอเรื่องนี้ไว้ในเว็บไซต์ของสมาคมฯ (www.tja.or.th) ในหัวข้อ "การต่อสู้ของนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ไทย" (ดูที่ http://www.tja.or.th/index.php?view=article&catid=33%3Amyth-news-people&id=73%3Athe-battle-of-the-association&format=pdf&option=com_content) ความว่า:
    อิศรา อมันตกุล ได้รับเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ให้เป็นนายกสมาคมนักข่าวคนแรกและเป็นติดต่อกันถึง 3 สมัย (พ.ศ. 2499-2500-2501) โดยมี สนิท เอกชัย (ค่ายสี่พระยา), ชลอ อาภาสัตย์ (ค่ายสีลม), และ เลิศ อัศเวศน์ แห่งหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมเพื่อนพ้องน้องพี่กลุ่มยังเติร์กในวงการข่าวเวลานั้น 
    การชุมนุมของกลุ่มนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยการชุมนุมครั้งแรกเกิดขึ้นที่ ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี มี ชาญ สินศุข หนังสือพิมพ์ สยามนิกร แห่งค่ายสีลม เป็นประธานการประชุมภายหลัง เลิศ อัศเวศน์ ชี้แจงในเบื้องต้นแล้ว 
    คณะผู้ก่อตั้งสมาคมนักข่าวในเวลานั้นมี 15 คน ได้แก่  โชติ มณีน้อย, เท่ห์ จงคดีกิจ, ประจวบ อัมพะเสวต, วิเชียร โรจนวงศานนท์, ถาวร มุ่งการดี, สนิท เอกชัย, เชาว์ รูปเทวินทร์, จรัญ โยบรรยงค์, กุศล ประสาร, ชลอ อาภาสัตย์, อนงค์ เมษประสาท, วิสัย สุวรรณผาติ, นพพร ตุงคะรักษ์, วิภา สุขกิจ และ เลิศ อัศเวศน์.
    (ยังมีต่อ)


    พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 1-7 พฤศจิกายน 2557
    คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

    วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2563

    สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (21)

    สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
    ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (4)

    พ.ต.ควง อภัยวงศ์ (ที่ 3 จากซ้ายแถวหน้า) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เยี่ยมชมสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487

    สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (4)

    บทความเรื่อง "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" ในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500) โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา บรรยายต่อไปว่า:
    *****
    หนังสือพิมพ์ สยามใหม่ ผู้เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ คือ เชื้อ อินทรทูต หนังสือพิมพ์สยามใหม่นี้ เคยคัดค้านหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ที่จะลงรูปพรรคคณะราษฎรทั้ง 70 คน โดยเห็นว่าเป็นการโฆษณามากเกินไป พร้อมทั้งเสียดสีหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ว่า "ฉันอยากรู้ว่าที่ต้องการอวดว่าฉันนั้นเป็นหนังสือพิมพ์ของคณะราษฎร" ส่วนหนังสือพิมพ์ในช่วงหลัง พ.ศ. 2475 เช่น หนังสือพิมพ์ไทเมือง ผู้เป็นเจ้าของคือ นายทองอยู่ สุดออมสิน และบรรณาธิการ คือ นายจรัส วงศาโรจน์ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า เป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้นำเสนอเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นถึงความวุ่นวายในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเกรงกลัวที่จะสูญเสียอำนาจของรัฐบาล และสถานะของพระมหากษัตริย์ที่เริ่มสั่นคลอนอันเนื่องมาจากสถาบันพระมหา กษัตริย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตี [สุกัญญา ตีรวนิช, ประวัติการหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (พ.ศ.2325-2475) (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2520) , หน้า 115-126.] 
    ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มีการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรและกลุ่มอำนาจเดิมหรือกลุ่มกษัตริย์นิยมทั้ง ในแง่การเมืองและในรูปแบบการต่อสู้ทางความคิด ระหว่างนักหนังสือพิมพ์ กลุ่มที่สนับสนุนและกลุ่มที่ต่อต้านคณะราษฎรอย่างชัดเจน ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาลคณะราษฎร รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายการพิมพ์เพื่อควบคุมหนังสือพิมพ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น แต่ภายหลังเหตุการณ์กบฎบวรเดช ฐานะของรัฐบาลมีความมั่นคงมากขึ้น รัฐบาลจึงยอมออกกฎหมายการพิมพ์ที่ผ่อนคลายความเข้มงวดบางประการลง แต่ก็ยังคงให้อำนาจบางประการกับเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมหนังสือพิมพ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลยังไม่ไว้วางใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองอย่างเต็มที่ จึงยังต้องการเครื่องมือควบคุมหนังสือพิมพ์อยู่
    *****
    ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขับเคลื่อนจนในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรผ่าน พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484  ลงวันที่ 26 กันยายน พุทธศักราช 2484 ออกมาจนได้ โดยมีทั้งหมด 66 มาตรา แบ่งเป็น 5 ส่วน ส่วนที่ 1 ว่าด้วยบททั่วไป; ส่วนที่ 2 ว่าด้วยสิ่งพิมพ์; นอกจากหนังสือพิมพ์; ส่วนที่ 3 ว่าด้วยหนังสือพิมพ์; ส่วนที่ 4 ว่าด้วยความผิดและการกำหนดโทษ; ส่วนที่ 5 ว่าด้วยบทเฉพาะกาล

    เนื้อหาที่สำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้อยู่ที่ การควบคุมหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ด้วยการให้อำนาจเจ้าพนักงานการพิมพ์ขอตรวจดูเนื้อหาของหนังสือพิมพ์หรือเซ็นเซอร์ ก่อนนำไปตีพิมพ์ได้ เมื่อประเทศมีเหตุฉุกเฉินหรือตกอยู่ในภาวะสงคราม และสามารถสั่งงดหรือถอนใบอนุญาตการเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถยึดหนังสือพิมพ์และแท่นพิมพ์ได้ หากมีการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์ ทั้งนี้บัญญัติว่าคำสั่งของรัฐมนตรีถือเป็นเด็ดขาด ส่วนการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์ ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งนั้น แต่การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์

    กฎหมายฉบับนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้งด้วยกัน คือ การแก้ไขฉบับที่ 2 พ.ศ. 2485 เพิ่มสาระสำคัญในกรณีที่จะออกหนังสือพิมพ์ข่าวสารการเมือง จะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานการพิมพ์ก่อน ต่อมาได้มีการแก้ไขฉบับที่ 3 พ.ศ. 2488 โดยให้ยกเลิกสาระสำคัญที่แก้ไขในฉบับที่ 2 พ.ศ. 2485
    *****
    บทความ "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" บรรยายต่อไปว่า:
    ตั้งแต่ภายหลัง พ.ศ. 2490 หนังสือพิมพ์กลายเป็นสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งที่มีบทบาทอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปลายสมัยรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่เห็นถึงความสำคัญของหนังสือพิมพ์ เนื่องจากว่าหนังสือพิมพ์มีบทบาทอย่างมากในการโน้มน้าวและสร้างทัศนคติของมหาชนที่มีต่อรัฐบาล จนทำให้รัฐบาลมีภาพลักษณ์ในทางตกต่ำมากขึ้นซึ่งมีส่วนช่วยทำให้การรัฐประหารใน พ.ศ. 2490 ประสบผลสำเร็จ บทเรียนนี้เอง ทำให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความสนใจเป็นพิเศษต่อบทบาทของหนังสือพิมพ์ เพื่อที่จะรักษาภาพลักษณ์และรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลไว้ให้ได้ แต่ภายหลังกรณีกบฏวังหลวงแล้ว รัฐบาลเริ่มที่จะเข้าควบคุมหนังสือพิมพ์มากขึ้น โดยจับกุมนักหนังสือพิมพ์ในข้อหาเข้าร่วมกับการกบฏและได้มีการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรก และภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารเงียบในวันที่ 29 พฤศจิกายน รัฐบาลชั่วคราวได้ตั้งกรรมการขึ้นเพื่อเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์โดยตรง ทำให้หนังสือพิมพ์รู้สึกถูกกดดันจากรัฐบาลอย่างมาก จึงทำให้การต่อสู้รุนแรงมากขึ้น โดยฝ่ายหนังสือพิมพ์ร้องเรียนว่า การเซ็นเซอร์ได้สร้างความเดือดร้อนแก่หนังสือพิมพ์เพราะเป็นการกระทบ กระเทือนต่อเสรีภาพของหนังสือพิมพ์อย่างรุนแรง ทำให้หนังสือพิมพ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับใช้ประชาชนได้โดยสะดวก เป็นการขัดต่อระบอบประชาธิปไตยและเป็นการละเมิดหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในโลกเสรีประชาธิปไตย

    ดังนั้นจึงได้มีการประชุม สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2495 โดยมีการเสนอให้ตั้ง คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหนังสือพิมพ์ ขึ้น ซึ่งมี หม่อมเจ้าประสบสุข สุขสวัสดิ์ เป็นประธานกรรมการและ อุทธรณ์ พลกุล เป็นเลขานุการ และได้มีการเรียกร้องให้จัดการประชุมใหญ่สมาคมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ในภาวะบ้านเมืองปกติ นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการผลักดันทางรัฐสภาเพื่อยกเลิก พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกในภาวะสงคราม และให้อำนาจแก่รัฐบาลในการควบคุมหนังสือพิมพ์อย่างมาก การต่อสู้ของสมาคมหนังสือพิมพ์ใน พ.ศ. 2495 นับว่าเป็นครั้งแรกที่นักหนังสือพิมพ์ไทยต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของตน แต่การต่อสู้ยังมิได้บรรลุผล ก็ถูกรัฐบาลก่อการกวาดล้างครั้งใหญ่เสียก่อนในเหตุการณ์การจับกุมกวาดล้างนักหนังสือพิมพ์ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 อันเป็นกรณีมุ่งกวาดล้างจับกุมขบวนการกู้ชาติและกบฏสันติภาพ ซึ่งมีนักหนังสือพิมพ์เข้ามาเกี่ยวข้องหลายคนในขบวนการกู้ชาติ ผลการจับกุมทำให้ขบวนการต่อสู้ของนักหนังสือพิมพ์อ่อนกำลังลงอย่างมากซึ่งเห็นได้จากการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีรัฐบาลลดลงมากในช่วง พ.ศ. 2496-2498 และการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิของหนังสือพิมพ์ก็สลายลงพร้อมกับการปราบปรามครั้งนี้
    (ยังมีต่อ)


    พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 25-31 ตุลาคม 2557
    คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
    ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

    บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
    ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
    บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8