Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (19)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (2)

การประชุมสภาโซเวียตที่นครเปโตรกราด (ปัจจุบันคือนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) โดยพรรคบอลเชวิค

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (2)

ก่อนจะนำเสนอตอนต่อไปของบทความในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500) เรียบเรียงโดย สุมาลี พันธุ์ยุรา จำเป็นต้องเท้าความสถานการณ์ที่คาบเกี่ยวกันทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมในสยามนับจากการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การเกิดขึ้นของการปกครองแบบสมัยใหม่ และการจัดการศึกษาอย่างสมัยใหม่เพื่อสร้าง "ทรัพยากรมนุษย์" เพื่อรับใช้ระบอบการปกครองใหม่นั้น ซึ่งในเวลาต่อมาอีกประมาณครึ่งศตวรรษ "ของใหม่ในสังคมสยาม" เหล่านั้น ก็กลายเป็น "ดาบสองคม" สำหรับระบอบการปกครองไปโดยปริยาย

แม้ว่าในเวลานั้นการศึกษาแบบใหม่เพิ่งจะแพร่หลายลงสู่ราษฎร เริ่มจากในเดือนมกราคม พ.ศ. 2414 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "โรงสกูลหลวง (โรงเรียนหลวง)" (โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ) และ โรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษ สำหรับบุตรหลานคนชั้นสูงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง นับเป็นโรงเรียนแรกตามรูปแบบของโรงเรียนในปัจจุบัน กล่าวคือมีสถานที่ซึ่งจัดไว้โดยเฉพาะ มีฆราวาสเป็นครู จัดการเรียนการสอนตามเวลาที่กำหนด สำหรับความมุ่งหมายในการตั้งโรงเรียนคือ การสร้างคนให้มีความรู้เพื่อเข้ารับราชการ (ต่อมาได้มีการขยายโรงเรียนหลวงออกไปอีกหลายแห่ง) และจนกระทั่งมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติประถมศึกษา พระพุทธศักราช 2464 ในสมัยรัชกาลที่ 6 อันเป็นการเริ่มตันการศึกษาภาคบังคับในสยาม

แต่กระนั้นก็ตาม "วิชาหนังสือ" แบบสมัยใหม่ก็ยังเป็นคงอยู่ในวิสัยของบุตรหลาน "ชนชั้นนำ" ที่ประกอบด้วยเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ขุนนางอำมาตย์ระดับต่างๆ และคหบดีในเขตเมืองใหญ่หรือท้องถิ่นที่เจริญแล้ว สำหรับบุตรหลานของ "ไพร่/สามัญชน" คงมีโอกาสเป็นส่วน "ติดตาม" หรือ "ตัวฝาก" ในกระบวนการศึกษา โดยเฉพาะเมื่อ "เจ้านาย" มีโอกาสไปศึกษายังประเทศในทวีปยุโรป เช่นกรณี นายพุ่ม สาคร ผู้ตามเสด็จ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ไปศึกษาต่อวิชาการทหารโรงเรียนเสนาธิการที่ประเทศรัสเซียในปี พ.ศ. 2441 ภายหลังได้รับสัญญาบัตรแล้วเข้าเป็นนายทหารม้าฮุสซาร์ของจักรพรรดิซาร์นิโคลาสที่ 2 จากนั้นได้ศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการ 2 ปี หลังจบการศึกษาแล้ว นายพุ่มตัดสินใจไม่กลับประเทศ โดยได้โอนสัญชาติเป็นรัสเซียและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ลัทธิโอโธดอกซ์ (นิกายออร์โธด็อกซ์รัสเซีย) โดยมีนามในศาสนาว่า นิโคลาส พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น นายนิโคลัย พุ่มสกี้ (Nikolai Pumsky) และเข้ารับราชการในกองทัพบกรัสเซียจนมียศเป็นพันเอก

เหล่านั้นเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึง "ความลักลั่น" ในกระบวนการเรียนรู้และรับรู้สรรพวิทยาการสมัยใหม่ในหมู่ราษฎร ซึ่งรวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และการปกครองระบอบใหม่ที่ก่อรูปขึ้นแล้วในซีกโลกตะวันตก เริ่มจาก สงครามประกาศอิสรภาพของอเมริกา (พ.ศ. 2318-2326) อันเป็นสงครามระหว่างสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ฝ่ายหนึ่ง กับสิบสามอาณานิคมอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง เปิดฉากเป็นสงครามระหว่างสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ที่เรียกว่า "กองทัพจักรวรรดิ" ฝ่ายหนึ่ง กับสิบสามอาณานิคมอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือที่เรียกรวมกันว่า "กองทัพภาคภาคพื้นทวีป" อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนลับๆ จาก ฝรั่งเศส, สเปน และสาธารณรัฐดัตช์ (พ.ศ. 2124-2338: เป็นการรวมหนึ่งในส่วนรัฐทั้ง 7 ของเนเธอร์แลนด์ของสเปน อันเป็นกบฏโปรแตสแตนท์ในกลุ่มขุนนางทำให้เกิดสงคราม 80 ปีจนสงบศึกในปี พ.ศ. 2191) ที่มีส่วนจัดหาเสบียง และอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างลับๆ ให้แก่กองทัพปฏิวัติ อันนำไปสู่ประเทศและระบอบการปกครองใหม่ที่ "ประมุขแห่งรัฐ" และ "ประมุขฝ่ายบริหาร" เป็นคนๆเดียวกัน โดยมาจากการเลือกตั้งของพลเมืองผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ตามมาด้วย การปฏิวัติฝรั่งเศส (พ.ศ. 2332-2342) ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญถึงรากฐานในฝรั่งเศสซึ่งมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อฝรั่งเศสและยุโรปที่เหลือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกครองฝรั่งเศสมาหลายศตวรรษล่มสลายลงใน 3 ปี สังคมฝรั่งเศสผ่านการปฏิรูปขนานใหญ่ โดยเอกสิทธิ์ในระบบเจ้าขุนมูลนาย ของอภิชนและทางศาสนาหมดสิ้นไปภายใต้การพลังทางการเมืองฝ่ายสาธารณรัฐ ซึ่งสนับสนุนและเข้าร่วมโดยคนชั้นกลางและคนชั้นล่างในเมือง และชาวนาในชนบท ความคิดเก่าเกี่ยวกับประเพณีการสืบทอดอำนาจแบบสันตติวงศ์ และลำดับชั้นบังคับบัญชาของอำนาจพระมหากษัตริย์ อภิชนและศาสนา ถูกโค่นล้มอย่างฉับพลันโดยเป้าหมายหลักทางอุดมการณ์ความเสมอภาค ความเป็นพลเมือง และสิทธิที่ไม่สามารถโอนให้กันได้

และที่ส่งผลสะเทือนต่อระบอบการปกครองของทั้งโลกคือ การปฏิวัติรัสเซีย (พ.ศ. 2460) ซึ่งทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าซาร์ และนำไปสู่การก่อตั้งสหภาพโซเวียต พระเจ้าซาร์ถูกถอดพระอิสริยยศและแทนที่ด้วยรัฐบาลเฉพาะกาลในการปฏิวัติครั้งแรกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460 (ตามปฏิทินจูเลียนซึ่งรัสเซียยังคงใช้อยู่ในขณะนั้น แต่ตรงกับเดือนมีนาคมตามปฏิทินเกรโกเรียน) ในการปฏิวัติครั้งที่สองในเดือนตุลาคม รัฐบาลเฉพาะกาลถูกโค้นล้มและแทนที่ด้วยรัฐบาล พรรคบอลเชวิก (คอมมิวนิสต์) ภายใต้การนำของ วลาดีมีร์ เลนิน ด้วยกองกำลังปฏิวัติ ที่ประกอบด้วยกรรมกร ชาวนา และทหาร

จะเห็นว่า การส่งบุตรหลานของเจ้านายและขุนนางอำมาตย์ไปรับการศึกษาแบบตะวันตก และรวมทั้งการจัดการเรียนการสอนภายในประเทศทั้งโรงเรียนรัฐบาล และที่สำคัญคือโรงเรียนราษฎร์ซึ่งก่อตั้งโดยคณะมิชชันนารีจากทวีปยุโรป นั้น สิ่งที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ การรับแนวคิดใหม่ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมใหม่จากตะวันตก (เริ่มจากทวีปยุโรปเป็นสำคัญ) นั่นคือ หน่อความคิดในการปกครองตนเองของราษฎรเริ่มก่อรูปและซึมลึกในหมู่ "คนรุ่นใหม่" ทีละน้อย

และ "คนรุ่นใหม่" ที่ว่าก็เริ่มการเคลื่อนไหวอันนำไปสู่ "การอภิวัฒน์สยาม" ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 บุคคล 7 คน อันได้แก่ 1. ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี (นายทหารกองหนุน อดีตผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ในรัชกาลที่ 6) 2. ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (นักศึกษาในโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส) 3. ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี (นักศึกษาในโรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส) 4. นายตั้ว ลพานุกรม (นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์) 5. หลวงสิริราชไมตรี (ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส) 6. นายแนบ พหลโยธิน (เนติบัณฑิตอังกฤษ) 7. นายปรีดี พนมยงค์ (ดุษฎีบัณฑิตกฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ ฝรั่งเศส) จัดให้มีการประชุม ณ หอพัก Rue du summerard ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ข้อสรุปสำคัญของการประชุมคือการตกลงที่จะเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ที่พระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย มาเป็นการปกครองใน "ระบอบประชาธิปไตย" ที่ มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงที่ใช้วิธีการ "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" หลีกเลี่ยงการนองเลือด ส่วนหนึ่งเพื่อมิให้มหาอำนาจนักล่าอาณานิคม คือ อังกฤษและฝรั่งเศส ฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซงการเมืองการปกครองที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 ตุลาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (18)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (1)

THE BANGKOK RECORDER หนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่หมอบรัดเลและคณะมิชชันนารีจัดทำขึ้น (ในภาพเป็นฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2409 ในสมัยรัชกาลที่ 4)

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (1)

เมื่อพูดถึงการเคลื่อนไหวเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยบขึ้นในสยามนั้น สถาบันหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ไม่เพียงหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หากอาจย้อนกล่าวไปถึงห้วงเวลาก่อนการอภิวัฒน์ นั่นคือ "สถาบันสื่อมวลชน" หรือกล่าวเฉพาะเจาะจงลงไปที่ "ฐานันดรที่ 4" หรือ "หนังสือพิมพ์" ซึ่งเป็นรูปแบบสื่อสารมวลชนที่เป็นพื้นฐานมากที่สุด

(หมายเหตุ: ฐานันดรที่ 4 หมายถึง แรงขับดันหรือสถาบันทางสังคมหรือการเมือง ที่อิทธิพลของมันเป็นที่รับรู้ได้อย่างสม่ำเสมอหรือเป็นทางการ ซึ่งมักจะหมายถึงสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ มีที่มาจากในอดีต รัฐสภาอังกฤษสมัยราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยฐานันดรศักดิ์ทั้งสาม คือ
ฐานันดรที่ 1 คือ สภาขุนนาง ที่เป็นพวกขุนนางสืบตระกูลตามสายเลือด
ฐานันดรที่ 2 คือ บาทหลวง/นักบวชชั้นบิชอปหรือพระราชาคณะ
ฐานันดรที่ 3 คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเลือกตั้งจากสามัญชนคนธรรมดา
ต่อมาการประชุมในรัฐสภาอังกฤษครั้งหนึ่ง สมาชิกสภาสามัญ (House of Common) ชื่อ เอ็ดมันด์ เบิร์ก อภิปรายว่า… "ในขณะที่เราทั้งหลายเป็น ฐานันดรใดฐานันดรหนึ่งทั้งสามกำลังประชุมกันอยู่นี้ เราพึงคำนึงไว้ด้วยว่าบัดนี้ได้มี ฐานันดรที่ 4 เกิดขึ้นแล้ว และฐานันดรนั้นกำลังมานั่งฟังการประชุมของเราอยู่ ณ ที่นี้ด้วย" พลางชี้มือไปยังกลุ่มนักข่าวหนังสือพิมพ์ ที่ร่วมฟังการประชุมสภาอยู่ในเวลานั้น จึงยึดถือกันสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ว่านักกนังสือพิมพ์หรือนักข่าวเป็นฐานันดรที่สี่)

ดังได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ต่างกรรมต่างวาระ ถึงการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจากระบอบศักดินา/จตุสดมภ์มาสู่ระบบราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทิราชย์ ในสัมยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 ในบรมราชจักรีวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อันส่งผลให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในด้านสำคัญๆ อาทิ
ด้านเศรษฐกิจ การเก็บภาษีอาการและจัดสรรงบประมาณแผ่นดินอย่างรวมศูนย์ไปที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2416 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นกรมพระคลังมหาสมบัติในปี พ.ศ. 2418 และยกขึ้นเป็นกระทรวงในปี พ.ศ. 2433 และเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงการคลังในปี พ.ศ. 2476 หรือภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 1 ปี; 
ด้านการปกครอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงมหาดไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2435 หลังจากการยกเลิกระบบเจ้าเมือง เจ้าประเทศราช และรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางผ่านระบบราชการสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยกระทรวง ทบวง กรม ในขณะที่ส่วนภูมิภาคผ่านทางข้าหลวงเทศาภิบาลที่ส่งไปจากจากส่วนกลาง; 
ด้านการทหาร ยกเลิกระบบไพร่หรือทหารส่วนตัวของขุนนางและเจ้านายเชื้อพระวงศ์  เริ่มในปี พ.ศ. 2420 และเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2448 ริเริ่มระบบเกณฑ์ทหารและก่อตั้งโรงเรียนทหารเป็นครั้งแรกในป ปี พ.ศ. 2415 โดยใช้ชื่อว่า "คะเด็ตทหารมหาดเล็ก" ซึ่งมีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้งจนในปี พ.ศ. 2446 จึงใช้ชื่อว่า "โรงเรียนนายร้อยทหารบก" ส่วนชื่อ "โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า" ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามในปี พ.ศ. 2491; 
ด้านการศึกษา จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวังเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2414 อันเป็นการเริ่มต้นจัดการเรียนการสอนวิชาทางโลกแทนที่ระบบการเรียนในวัด กระทั่งจัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้นในปี พ.ศ. 2435 และก่อตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน ขึ้นในปี พ.ศ. 2442 เพื่อผลิตทรัพยากรบุคคลเข้ารับใช้ระบอบการปกครองใหม่ ซึ่งต่อมาคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
ด้านการสาธารณสุข เริ่มการแพทย์สมัยใหม่โดยตั้งกรมพยาบาลและโรงศิริราชพยาบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2431 ตลอดจนจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาการด้านการแพทย์แบบตะวันตกโดยในขั้นแรกเรียกว่าวิทยาลัยแพทย์ขึ้นในปี พ.ศ. 2433 ปัจจุบันคือ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
จะเห็นได้ว่าในกระบวนการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น เมื่อพิจารณาในด้านทรัพยากรบุคคลแล้ว การพัฒนาทั้งหมดตกแก่ "ข้าราชการ" ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน อันมีเป้าหมายที่จะรองรับระบอบการปกครองใหม่คือ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" เป็นหลัก การส่งบุคลากรทั้งที่เป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ หรือบุตรหลานของขุนนางใหญ่น้อย ก็เพื่อสนองเป้าหมายอย่างเดียวกันนั้น คือ "เข้ารับราชการ" เป็นสำคัญ

ทว่าในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงหรือ "เปลี่ยนผ่านระบอบ (โดยไม่หลั่งเลือด)" นั้นเอง ที่ระบบการศึกษาอย่างใหม่ผลิต "บุคลากรนอกภาครัฐ" ขึ้นมา ซึ่งนอกเหนือจากชาวจีนโพ้นทะเลที่นิยมส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศแล้ว ในจำนวนนั้น คือการผลิต "นักคิดนักเขียน" ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์รุ่นบุกเบิกในยุคการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งบรรดาคนหนุ่ม (สาว) ที่มีโอกาสไปรับการศึกษาทั้งที่เป็น "ในแบบ" จากประเทศตะวันตกที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิวัติประชาธิปไตยทั้งหมดนั้น ยังรับวิถีชีวิตและวิธีคิดทางปรัชญาการดำรงชีวิตแบบตะวันตกร่วมสมัยมาด้วย ที่สำคัญคือบริบทของ "เสรีภาพ" หรือ "เสรีภาพในการแสดงความเห็น"

จากบทความในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500) เรียบเรียงโดย สุมาลี พันธุ์ยุรา:
เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมีผลต่อหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองจากระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 ในช่วงรัฐบาลคณะราษฎร ในช่วงอำนาจนิยมทางทหารสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม และสมัยรัฐบาลพลเรือน รัฐบาลทุกสมัยมีแนวโน้มในการควบคุมบทบาทของหนังสือพิมพ์อย่างเข้มงวดกวดขันโดยตลอด

บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หนังสือพิมพ์มีบาทบาทที่สำคัญดังนี้ บทบาทของหนังสือพิมพ์ในฐานะเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ หนังสือพิมพ์ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามและความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในประการนี้เป็นอย่างมาก แม้ส่วนใหญ่จะไม่ประสบผลสำเร็จโดยตรง แต่ก็มีส่วนให้รัฐบาลต้องดำเนินการบริหารประเทศอย่างระมัดระวังมากขึ้น หนังสือพิมพ์จึงมีหน้าที่ไม่ต่างจากผู้แทนของประชาชนและเป็นสถาบันที่เผชิญหน้ากับรัฐบาลมาตลอด และบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ บทบาทของหนังสือพิมพ์ในการให้ความรู้ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านการเน้นข่าวการเมือง ข่าวต่างประเทศ และบทความสารคดีทางการเมืองต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตย นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ยังเป็นกระบอกเสียงให้แก่ทั้งฝ่ายนิยมระบอบเก่าและฝ่ายนิยมระบอบใหม่

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 4-10 ตุลาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (17)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (5)

เด็กและประชาชนเกาหลีกำลังถูกทหารสหรัฐควบคุมให้อยู่ในความสงบหลังจากหมู่บ้านถูกโจมตีด้วยรถถัง M-26 ของสหรัฐที่เมืองหางจู 9 มิถุนายน พ.ศ. 2494

การเกิดขึ้นและพัฒนาการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อนกึ่งพุทธกาล (ต่อ)

ก่อนหน้าการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ที่นายปรีดี พนมยงค์ เคยให้สัมภาษณ์ในคราวครบรอบ 50 ปีการอภิวัฒน์สยาม แก่สถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย ณ บ้านพักชานกรุงปารีส ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2525 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ในเวลาอีกเพียง 4 เดือนเศษ รัฐบาลเลือกตั้ง โดยมี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ประกาศยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2489  จากการกดดันของพรรคการเมืองต่างๆ และกลับไปใช้ ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 104 ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณอาญา พ.ศ. 2470 โดยเพิ่ม "การสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้น" เป็นความผิด มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นครองอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านเหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ด้วยการปราบปรามความพยายามลุกขึ้นก่อการโดยทหารเรือกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "คณะกู้ชาติ" นำโดย น.ต.มนัส จารุภา ร.น. ซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็นความพยายามที่จะฟื้นอำนาจให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ และกู้เกียรติภูมิของทหารเรือซึ่งมีบทบาทลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีส่วนร่วมเคียงคู่กับทหารบกและฝ่ายผลเรือนในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ทว่าในช่วงที่รัฐบาลจอมปลพล ป.กำลังเร่งสร้างรากฐาน "ระบอบ" ให้เข้มแข็งขึ้นนั้นเอง เกิดเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ที่มีควาเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของมหาอำนาจตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกาที่กำลังเข้มแข็งและขยายอิทธิพลไปทั่วโลกเพื่อความเป็น "ผู้นำโลกเสรี" ต่อต้านการขยายตัวของ "ลัทธิคอมมิวนิสต์" และ "ขบวนการเอกราช/ชาตินิยม" ในขอบเขตทั่วโลก

ทั้งนี้ ปมเงื่อนที่สำคัญคือการเกิด "สงครามเกาหลี" (25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2496) อันเป็นสงครามระหว่าง สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติฝ่ายหนึ่ง กับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ซึ่งหนุนหลังโดย  สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพโซเวียต ในฐานะผู้นำค่ายสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์จะยืนอยู่ในฝั่งตรงข้าม (ขณะนั้น เนื่องจากในเวลานั้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การปกครองของ พรรคคอมมิวนิสต์ ยังไม่ได้เป็นรัฐที่รับรองโดยสหประชาชาติ คงมีผู้แทนจาก สาธารณรัฐจีน ภายใต้การปกครองของ พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งลี้ภัยไปยังเกาะไต้หวันหลังปราชัยสงครามกลางเมืองจีน)

สงครามเกาหลีเป็นผลจากเขตทางการเมืองของเกาหลีโดยความตกลงที่ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะกระทำเมื่อสงครามแปซิฟิกยุติ คาบสมุทรเกาหลีถูกจักรวรรดิญี่ปุ่นปกครองตั้งแต่ปี 1910 กระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด หลังการยอมจำนนของจักรวรรดิญี่ปุ่นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 รัฐบาลอเมริกันซึ่งในเวลานั้นมีอิทธิพลของฝ่ายทหารเช่น นายพล ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ วีรบุรุษผู้นำทางทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แบ่งคาบสมุทรตามเส้นขนานที่ 38 โดยกองกำลังทหารสหรัฐยึดครองภาคใต้ของประเทศ และกองกำลังทหารโซเวียตยึดครองภาคเหนือ

ความล้มเหลวในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปแบบเสรีในคาบสมุทรเกาหลีในปี พ.ศ. 2491 ยิ่งตอกลึกการแบ่งแยกระหว่างสองฝ่าย เกาหลีเหนือเลือกที่จะสถาปนารัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่สนับสนุนโดยสหภาพโซเวียต และรัฐคอมมิวนิสต์ที่มีพรมแดนติดกันซึ่งก็คือรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขณะที่เกาหลีใต้สถาปนารัฐบาลเสรีประชาธิปไตยภายใต้การครอบงำของสหรัฐอเมริกาขึ้น

เส้นขนานที่ 38 กลายเป็นพรมแดนทางภุมิศาสตร์และแบ่งแยกลัทธิการเมืองการปกครองระหว่างสองรัฐเกาหลี แม้การเจรจาเพื่อรวมประเทศยังคงดำเนินต่อมาหลายเดือนก่อนเกิดสงคราม แต่ความตึงเครียดกลับเพิ่มทวีขึ้น เกิดการรบปะทะและการโจมตีประปรายข้ามพรมแดนเส้นขนานที่ 38 ถี่ขึ้น สถานการณ์บานปลายเป็นการสงครามเต็มรูปแบบเมื่อกองกำลังเกาหลีเหนือบุกยึดพื้นที่เกาหลีใต้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ตามมาด้วยการที่ สหภาพโซเวียตคว่ำบาตรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อเป็นการประท้วงที่รัฐบาลก๊กมินตั๋ง/สาธารณรัฐจีนเป็นผู้แทนของจีน เมื่อขาดเสียงไม่เห็นพ้องจากสหภาพโซเวียต ซึ่งมีอำนาจยับยั้งข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงฯ สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นจึงผ่านข้อมติที่อนุญาตให้แทรกแซงทางทหารในเกาหลี

สหรัฐอเมริกาเองส่งทหารจำนวนมากคิดเป็น 88% ของทหารนานาชาติ 341,000 นายที่ถูกส่งไปช่วยเหลือกองกำลังเกาหลีใต้ต่อต้านการบุกข้ามพรมแดนเพื่อยึดครอง โดยมีรัฐสมาชิกสหประชาชาติอื่นอีก 20 ประเทศเสนอความช่วยเหลือ หลังประสบความสูญเสียอย่างหนักในช่วงสองเดือนแรก ฝ่ายตั้งรับถูกผลักดันกลับไปยังพื้นที่เล็ก ๆ ทางใต้ของคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งมีชื่อว่า "วงรอบปูซาน" จากนั้น การรุกโต้ตอบอย่างรวดเร็วของสหประชาชาติได้ขับทหารเกาหลีเหนือผ่านเส้นขนานที่ 38 ขึ้นไปเกือบถึงแม่น้ำยาลู เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าสู่สงครามโดยอยู่ฝ่ายเดียวกับเกาหลีเหนือ การเข้าแทรกแซงของจีนบีบให้กองกำลังเกาหลีใต้และพันธมิตรถอยกลับไปใต้เส้นขนานที่ 38 อีกครั้ง แม้สหภาพโซเวียตจะมิได้ส่งทหารเข้าร่วมในความขัดแย้งโดยตรง แต่ก็ให้ความช่วยเหลือด้านยุทธปัจจัยแก่ทั้งกองทัพเกาหลีเหนือและจีน

การสู้รบยุติลงเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 เมื่อมีการลงนามในความตกลงการสงบศึก ความตกลงดังกล่าวฟื้นฟูพรมแดนระหว่างประเทศใกล้กับเส้นขนานที่ 38 และสถาปนาเขตปลอดทหารเกาหลี แนวกันชนที่มีการป้องกันกว้าง 4.0 กิโลเมตร ระหว่างสองชาติเกาหลี ยังคงมีอยู่ต่อมาตราบจนปัจจุบัน

ในช่วงแรกของสงครามเกาหลี มีการก่อตั้ง ขบวนการสันติภาพสากล ขึ้นที่กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดนในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2493 มีการระดมรายชื่อประชาชนจากประเทศต่างๆ ได้ถึง 300 ล้านรายชื่อเพื่อเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกา "ยุติการรุกรานเกาหลีเหนือ"

สำหรับในประเทศไทย ได้มีการประชุมจัดตั้ง คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2494 โดย นายแพทย์ เจริญ สืบแสง ได้รับเลือกเป็นประธาน นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), พระมหาดิลก สุวรรณรัตน์ และนายประจวบ อัมพะเศวต เป็นรองประธาน, นายอุทธรณ์ พลกุล (งาแซง), นายทวีป วรดิลก (ทวีปวร), นายสุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) และ นายฉัตร บุณยศิริชัย (อ้อย อัจฉริยกุล) เป็นกรรมการ โดยมี นาย ส. โชติพันธุ์ (สิบโทเริง เมฆประเสริฐ) เป็นเลขาธิการ

และคณะกรรมการสันติภาพนี้ ถูกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พิจารณาว่าเป็นความเคลื่อนไหวของหรือได้รับการสนับสนุนบงการโดยคอมมิวนิสต์

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 27 กันยายน-3 ตุลาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (16)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (4)

ผู้นำคอมมิวนิสต์ไทย-จีน จากซ้ายไปขวา สวมแว่นตา ประเสริฐ เอี้ยวฉาย, ถัดมา เจริญ วรรณงาม หรือ มิตร สมานันท์, เติ้งเสี่ยวผิง ยืนกลาง, ทรง นพคุณ หรือ ประสงค์ วงศ์วิวัฒน์, ขวาสุดคือ เผิงเจิน ผู้นำอาวุโสพรรคฯจีน

การเกิดขึ้นและพัฒนาการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อนกึ่งพุทธกาล (ต่อ)

ผลจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อการขยายตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย คือ ท่าทีของคณะรัฐประหารและกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีต่อฐานะการดำรงอยู่ในทางการเมืองของขบวนการเสรีไทยก็เต็มไปด้วยความระแวงอย่างเห็นได้ชัด แต่เนื่องจากในช่วงแรกของการยึดอำนาจ กลุ่มอดีตเสรีไทยที่สนับสนุนนายปรีดียังไม่ถูกปราบปรามลงในทันที เนื่องจากคณะรัฐประหารจำเป็นต้องจัดการปัญหาอำนาจทับซ้อนในกองทัพให้เป็นเอกภาพและอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งต้องการฟื้นบทบาทของฝ่ายที่นิยม จอมพล ป. พิบูลสงคราม อันเนื่องมาจากถูกลดความสำคัญภายหลังสงครามกลับคืนมา

การดำเนินการขั้นแรกที่ต้องนับว่าเป็นการเพิกเฉยต่อปฏิกิริยาจากมหาอำนาจตะวันตกที่ร่วมอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงคราม คือการแต่งตั้งให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก รวมทั้งการ "ปูนบำเหน็จ" คณะรัฐประหาร ที่ประกอบด้วย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการทณฑลทหารบกที่ 1 พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ โอนย้ายไปเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ แม้ว่า พล.ท.ชิด มั่นศิลปสินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะไม่เห็นชอบ และด้วยสถานภาพนี้เองที่ในเวลาต่อมา พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ใช้เป็นฐานเริ่มต้นในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามตลอดระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่รัฐประหาร 2490

เมื่อคณะรัฐประหารสามารถรวบอำนาจไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การกวาดล้างพลพรรคเสรีไทยสายนายปรีดี พนมยงค์ ก็เปิดฉากขึ้น โดยอาศัยอำนาจตาม "พระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุขเพื่อให้การดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490" (โดยให้อำนาจแก่คณะรัฐประหารเพื่อกวาดล้างจับกุมคุมขัง "บุคคลอันมีเหตุผลสมควรสงสัยว่าจะขัดขวางการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน") อาทิ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถูกจับกุมพร้อมพรรคพวกรวม 21 คนในข้อหาครอบครองอาวุธโดยมิชอบ จับกุมนายจำลอง ดาวเรือง และนายทอง กันฑาธรรม ในข้อหาฆ่าคนตาย จับกุมนายวิจิตร ลุลิตานนท์ และนายทองเปลว ชลภูมิ ในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ทว่าก็ต้องปล่อยตัวไปทั้งหมดในเวลาต่อมาเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐาน นอกจากนี้ยังมีการติดตามพฤติการณ์ของอดีตนักการเมือง-เสรีไทย เช่น นายอ้วน นาครทรรพ, นายพึ่ง ศรีจันทร์, ร.ท.กระจ่าง ตุลารักษ์, นายทิม ภูริพัฒน์, และนายเยื้อน พานิชย์วิทย์ ฯลฯ

ส่วนผู้ที่ยังไม่ถูกจับกุม นั้น ก็พยายามแสวงหาหนทางที่จะต่อต้านคณะรัฐประหาร เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ ได้รวบรวมกำลังอาวุธและพลพรรคหลบหนี ไปซุ่มซ่อนตัวอยู่บนเทือกเขาภูพานเป็นผลสำเร็จ ซึ่งจะโดยมีการวางแผนไว้ห่อนหรือไม่อย่างไร ในที่สุดกลุ่มที่รอดผลจากการกวาดล้าง ปราบปราม จับกุม ภายใต้นโยบาย "สลายและทำลาย" ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ก็เข้าร่วมกับการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย

นอกจากนั้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  นายทรง นพคุณ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคฯ คนสำคัญและมีส่วนบุกเบิกก่อตั้งกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ร่วมกับ นายวิรัช อังคถาวร (จางเยวี่ยน)ได้ชักชวนให้อัยการหนุ่ม 2 คนในกรุงเทพฯ คือ นายอัสนี พลจันทร์ (นายผี) และ นายมาโนช เมธางกูร (ประโยชน์) อดีตอัยการ ให้เข้าร่วมขบวนการด้วย รวมถึง พ.ท.พโยม จุลานนท์ (บิดา พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์) ซึ่งในช่วงแรกรับคำสั่งจากรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม ให้นำทหารไปร่วมรบร่วมกับทหารญี่ปุ่นที่เชียงตุง ประเทศพม่า และพาทหารรอดชีวิตกลับมาบางส่วน ก่อนจะถูกส่งตัวไปที่จังหวัดสงขลา ต่อมาพรรคฯ ส่ง พ.ท.พโยมไปศึกษาการเมืองการทหารที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน แล้วเมื่อเดินทางกลับมาอย่างลับๆ กลายเป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กระทั่งดำรงตำแหน่งในฐานะเสนาธิการหรือผู้บัญชาการกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.)

ต่อมาวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งคณะทหารแห่งชาติ "แต่งตั้ง" ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490  โดยให้สัญญาว่าจะไม่แทรกแซงการทำงาน พร้อมกับคณะทหารแห่งชาติได้ตั้ง "คณะรัฐมนตรีสภา" และจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงข้างมาก นายควง อภัยวงศ์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นรัฐบาลพลเรือน) ถูกคณะทหารแห่งชาติ "จี้" ให้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า "การรัฐประหารเงียบ" นำไปสู่การกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และอยู่ในตำแหน่งยาวถึง 9 ปี นับเป็น "นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด" ผ่านวิกฤตและเหตุการณ์กบฏจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง เช่น กบฏเสนาธิการ, กบฏวังหลวง, กบฏแมนฮัตตัน รวมทั้งยังเคยยึดอำนาจตัวเอง จึงได้รับฉายาในช่วงที่ยังไม่หลุดจากอำนาจว่า "นายกฯตลอดกาล"

การรัฐประหารครั้งนี้มีผลต่อการขจัดกลุ่มพลังทางการเมือง ทั้งในคณะราษฎร (ทั้งพลเรือนและทหารบางส่วน) และในขบวนการเสรีไทยสายในประเทศ ที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ให้หมดบทบาทจากเวทีการเมือง เป็นเหตุให้นายปรีดีต้องขอลี้ภัยการเมืองยังต่างประเทศไม่อาจกลับมาประเทศไทยได้อีกเลยตราบจนสิ้นชีวิต แม้ผู้สนับสุนนายปรีดีที่เรียกตนเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492" จะพยายามก่อการยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2492 ก็ไม่สำเร็จจนตกเป็นผู้ต้องหาในคดี "กบฏวังหลวง" รวมทั้งตัวนายปรีดีเอง ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ด้วย ซึ่งต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เลิกเล่นการเมืองไปแล้วได้หวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง และอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานถึง 9 ปี ด้วยกัน

หลังจากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็ถูกรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินการกวาดล้าง ปราบปรามจับกุมเป็นการใหญ่ จึงเคลื่อนไหวออกจากเมืองเข้าสู่ป่า จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ และดำเนินการต่อต้านอำนาจรัฐรุนแรงขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลต้องประกาศใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2495 ซึ่งมีนิยามที่กว้างขวางมากขึ้น จนแทบจะเป็น "กฎหมายครอบจักรวาล" สำหรับใช้จัดการกับผู้ที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐ โดยเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงกว่าเดิม เช่น โทษจำคุกเป็น 10 ปีจนถึงตลอดชีวิต จากเดิมที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476 กฎหมายฉบับนี้มีการแก้ไขมาเป็นระยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปกครองเผด็จการทหาร ให้อำนาจในการปราบปราม กักขังโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาได้นานกว่าปรกติ อาจกล่าวได้ว่านอกจากจะใช้เพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์แล้ว ก็ยังเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชนได้อย่างไม่มีขอบเขต และปิดกั้นไม่ให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะในการเขียนและแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน (รู้จักกันในนาม "กฎหมายปราบประชาธิปไตย").

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 20-26 กันยายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (15)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (3)

โจวเอินไหลและเหมาเจ๋อตง ฐานที่มั่นเยนอาน พ.ศ. 2478

การเกิดขึ้นและพัฒนาการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อนกึ่งพุทธกาล (ต่อ)

จากบทความ http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/จากพรรคคอมมิวนิสต์จีนสยามสู่พรรคคอมมิวนิสต์ไทย; เรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เขียนถึงบทสรุปการก่อเกิดพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศสยาม และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยไว้ว่า:
เมื่อทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายเวียดนามตกลงเห็นพ้องต้องกัน เหงียนอายกว็อก ก็ได้เป็นประธานจัดการประชุมจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีเป้าหมายเพื่อทำการปฏิวัติประเทศสยามโดยตรงขึ้น เรียกว่า "สมาคมคอมมิวนิสต์สยาม" โดยจัดการประชุมในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2473 ที่โรงเรียนตุ้นกี่ หน้าหัวลำโพง โดยสมาคมมีจุดมุ่งหมายเพื่อ "ปฏิวัติโค่นล้มจักรพรรดินิยมและศักดินา เพื่อสร้างรัฐกรรมกรชาวนาแห่งสยาม" โดยในระยะแรกได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชั่วคราวเพื่อบริหารพรรค ประกอบด้วยชาวเวียดนาม 2 คน ได้แก่ โงวจินก๊วก กับ อู๋ตัง หรือ เจิ่ยวันเจิ๋น และสหายชาวจีน ได้แก่ อู๋จื้อจือ หรือ สหายโหงว, หลิวซุชิ และ หลี่ฮุ่ยหมิน เป็นต้น ในหลักฐานของเวียดนามระบุว่า เลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์สยามคนแรกเป็นชาวเวียดนาม อยู่บ้านนาจอก อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เรียกกันว่า สหายหลี่ ชื่อจริงคือ โงวจินก๊วก เคยถูกจับติดคุกมาก่อนจึงมีเกียรติประวัติการต่อสู้พอสมควรและมีคุณสมบัติที่เหมาะสม นั่นคือ รู้ทั้งภาษาไทย จีน และเวียดนาม แต่หลังจากตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยามได้ปีกว่า โงวจินก๊วกก็ยุติการเคลื่อนไหวและหายสาบสูญไป จากนั้น ชาวจีนที่ชื่อ หวงเย่าหวน จึงได้เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สยามแทนในราวปี พ.ศ. 2475
เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์สยามถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2473 นั้น มีสมาชิกจำนวนมากพอสมควร ส่วนมากเป็นชาวจีนและชาวเวียดนาม นอกจากนี้ ก็ยังมีสาขาทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดกระจายทั่วไป มีการจัดตั้งกรรมการกลางประจำกรุงเทพมหานครและประจำภาค 3 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ สมาชิกประกอบด้วยปัญญาชนชาวจีนที่เป็นครูอยู่ในโรงเรียนจีน, นักหนังสือพิมพ์จีน, พ่อค้าย่อย, กรรมกรโรงเลื่อย, กรรมกรโรงพิมพ์, กรรมกรโรงเหล็ก และกรรมกรโรงงานไม้ขีดไฟ เป็นต้น การเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์สยามในเวลานั้นยังคงอยู่ในขอบเขตที่จำกัดและถูกเพ่งเล็งอย่างมากจากรัฐบาลสยามซึ่งทำให้ผลสะเทือนของพรรคคอมมิวนิสต์สยามมีไม่มากนัก และนับตั้งแต่ก่อตั้งมาก็ถูกรัฐบาลทั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์และคณะราษฎรปราบปรามอย่างได้ผลมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ไม่นานก่อนญี่ปุ่นจะบุก ชาวคอมมิวนิสต์ที่เหลืออยู่ได้ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเยาวชนลูกจีนจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญโดยผ่านโรงเรียนที่พวกเขาบางคนไปเป็นครู เยาวชนเหล่านี้ต่อมาได้กลายกำลังสำคัญในการก่อตั้ง "พรรคคอมมิวนิสต์ไทย" ขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ครั้งนี้การตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผลสำเร็จเพราะพรรคไม่แตกสลายลงในเวลาอันสั้นอีก แต่จะกลายมาเป็น "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" หรือ พคท. ที่ดำเนินการปฏิวัติต่อเนื่องกันมาอีก 40 ปี (คำว่า "แห่งประเทศไทย" ถูกเพิ่มเข้าไปในปี พ.ศ. 2495)
**********
สำหรับผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ใช้ชื่อตำแหน่งว่า "เลขาธิการพรรค" ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มี 4 คน ได้แก่

  1. พิชิต ณ สุโขทัย (จูโซ่วลิ้ม, พายัพ อังคะสิงห์) ดำรงตำแหน่งจากปี พ.ศ. 2485 ในสมัยสมัชชาครั้งที่ 1 (แต่มีแหล่งข้อมูลบางแหล่งไม่เห็นด้วยกับข้อมูลนี้ โดยอ้างว่า ในขณะนั้น นายพิชิตไม่ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาด้วย)
  2. ประสงค์ วงศ์วิวัฒน์ (ทรง นพคุณ) ดำรงตำแหน่งจากปี พ.ศ. 2495 ในสมัยสมัชชาครั้งที่ 2
  3. มิตร สมานันท์ (เจริญ วรรณงาม) ดำรงตำแหน่งจากปี พ.ศ. 2504 ในสมัยสมัชชาครั้งที่ 3
  4. ประชา ธัญญไพบูลย์ (ธง แจ่มศรี, หลินผิง) ดำรงตำแหน่งจากปี พ.ศ. 2525 ในสมัยสมัชชาครั้งที่ 4 เป็นเลขาธิการคนสุดท้ายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เนื่องจากในเวลาต่อมา พรรคฯ ประกาศยุติการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ตามมาด้วยการยุบพรรคฯ "อย่างไม่เป็นทางการ" นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของขบวนการคอมมิวนิสต์ไม่เฉพาะในประเทศ หากยังรวมถึงในระดับภูมิภาคด้วย
**********
เงื่อนไขประการสำคัญอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน ที่ก่อให้การเปลี่ยนแปลงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือ การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เมื่อทหารฝ่ายกษัตริย์นิยมและคนชั้นนำในสังคมไทยที่หมดอำนาจการปกครองลงหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และประสบความพ่ายแพ้ซ้ำซ้อนในการฟื้นคืนระบอบการปกครองเก่า (ที่เริ่มจากคราว "กบฏบวรเดช") ได้ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันว่า หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่สนับสนุนโดยพรรคการเมืองสายคณะราษฎรและสายขบวนการเสรีไทย (พรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญ) สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนมากถูกจับ ทำให้พรรคยุติการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย สมาชิกมุ่งสู่ชนบทอันกว้างใหญ่ไพศาล

อีกทั้งการเมืองในภูมิภาคซึ่งในเวลานั้น ได้รับการยอมรับและการหนุนช่วยจากบรรดาขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ที่กำลังเติบโตพร้อมกับขบวนการสู้เพื่อเอกราช ซึ่งหมายถึงการปลดปล่อยจากการเป็นประเทศเมืองขึ้นของนักล่าอาณานิคมเก่า และประเทศกึ่งเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมนักล่าอาณานิคมใหม่ อันเป็นส่วนใหญ่ของมหาอำนาจตะวันตกผู้ชนะสงครามที่ร่วมอยู่ในฝ่าย "สัมพันธมิตร" ยกตัวอย่างเฉพาะชาติในเอเชีย เช่น พม่า มลายู อินเดีย ของจักรวรรดิอังกฤษ, กลุ่มประเทศอินโดจีน คือ ลาว เขมร เวียดนาม ของจักรวรรดิฝรั่งเศส, อินโดนีเซีย ของฮอลันดา และ ฟิลิปปินส์ ของสหรัฐอเมริกาที่สวมแทนสเปน

ในส่วนความสัมพันธ์กับจีน เบื้องต้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2488 รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (โดยประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง) เจรจาเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ที่สำคัญ เนื่องจากไทยต้องการสมัครเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ซึ่งสาธารณรัฐจีนเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง และอาจใช้สิทธิยับยั้งการเข้าเป็นสมาชิกของไทยได้ รัฐบาลไทยและจีนได้ลงนามใน "สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีน" เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2489

แต่แล้วเมื่อรัฐบาลสาธารณรัฐจีนต้องพ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ต้องอพยพรัฐบาลไปตั้งที่ไต้หวันใน พ.ศ. 2492 พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของ ประธานพรรค เหมาเจ๋อตง เข้าปกครองจีนแผ่นดินใหญ่และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ผู้นำของไทย รวมทั้งนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม มองสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยความหวาดระแวงว่าจีนจะเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์หรือขยายอิทธิพลมาในประเทศไทย วิตกว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะใช้คนจีนในไทยเป็นเครื่องมือแทรกแซงกิจการภายใน

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 13-19 กันยายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (14)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (2)

เหงียนอายกว็อก หรือ โฮจิมินห์ เดินทางด้วยเรือจากฮ่องกงกลับมากรุงเทพฯ โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า สหายซุง และได้นัดพบกับผู้นำคณะใหญ่คอมมิวนิสต์จีนในสยาม

การเกิดขึ้นและพัฒนาการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อนกึ่งพุทธกาล

ในการกล่าวถึง การเกิดขึ้นและล่มสลายของการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นั้น จำเป็นต้องนำเสนอลำดับพัฒนาการการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยพอเป็นสังเขป:

ในที่สุดการปฏิวัติประชาธิปไตยในจีนที่นำโดยสาย "ลัทธิไตรราษฎร์" ก็เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวชาตินิยมของชาวจีนในสยามที่ต่อต้านราชวงศ์ชิงของแมนจู ก่อตั้งการปกครองของชาวฮั่นซึ่งเป็นชนชาติส่วนใหญ่ของจีน ทั้งนี้โดยการเสนอระบอบรัฐประชาธิปไตยที่เป็นสาะรณรัฐ เนื่องจากประชาชนจีนเสื่อมศรัทธาการปกครองรูปแบบอาณาจักรจีนแบบเก่า ที่ประชาชนยากจนค่นแค้น ถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนักในสังคมดั้งเดิม ราษฎรจำนวนมากถึงกับต้องขายลูกไปอยู่ในปกครองของคนชั้นสูงที่มั่งมีศรีสุข ส่วนหนึ่งหวังว่าลูกๆของตนจะไม่อดตาย มีที่พึ่งพิง แม้จะต้องไปตกอยู่ในสภาพข้าทาส/บ่าวไพร่ที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงแต่อย่างใด แม้กระทั่งในชีวิตของตน

นอกจากนั้น ยังมีการเคลื่อนไหวภายในประเทศจีนอีกสายหนึ่งคือ "พรรคคอมมิวนิสต์จีน" ซึ่งก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนใหม่ปี พ.ศ. 2464 อันเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการปฏิวัติประชาธิปไตย โดยที่มีความเห็นแตกแยกกันมากมายหลายกลุ่ม หลายก๊กในหมู่ประชาชนจีน แม้ว่าจะมีเป้าหมายร่วมกันในการ "โค่นราชวงศ์ชิง" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ่ายผู้นำเก่าที่ยังนิยมในระบอบราชาธิปไตยอยู่ ยังเสนอคำขวัญ "โค่นชิง ฟื้นหมิง" แต่ ดร.ซุนยัตเซน และ พรรคก๊กมินตั๋ง (ในเวลาต่อมา) ไม่เห็นด้วยโดยพิจารณาว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง รวมทั้งกลุ่มก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็มองเห็นว่าสังคมและรูปแบบการปกครองควรไปพ้นระบอบราชาธิปไตยแล้ว

สำหรับในสยามเอง มีการเผยแพร่อุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์เริ่มต้นในเวลาไล่เลี่ยกับสายชาตินิยม โดยสมาชิกส่วนหนึ่งที่เข้ามาจัดตั้งในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล (ชาวจีนที่อพยพออกไปตั้งรกรากในต่างแดน) และขยายสู่สยามและเอเชียอาคเณย์ ทั้งนี้ เป้าหมายขั้นต้นคือ จัดตั้งชาวจีนในสยามเพื่อเข้าร่วมหรือสนับสนุนด้านเศรษฐกิจต่อการปฏิวัติสังคมนิยม (ในเวลาต่อมา เมื่อ เหมาเจ๋อตง มีอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงสงครามญี่ปุ่น จึงเสนอเป้าหมาย "ปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่")

(ขอบคุณเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/จากพรรคคอมมิวนิสต์จีนสยามสู่พรรคคอมมิวนิสต์ไทย; เรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์; ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต)

ในปี พ.ศ. 2469 ได้ปรากฏองค์กรลัทธิมาร์กซในหมู่คนจีนในสยามชัดเจนขึ้น เช่น พรรคชาวจีนโพ้นทะเล, พรรคปฏิวัติใต้ดิน, องค์กรปฏิวัติฝ่ายซ้ายหัวเฉียว, องค์การชาวจีนโพ้นทะเลก้าวหน้าในสยาม และ องค์การปฏิวัติรักชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การปราบปรามคอมมิวนิสต์ของเจียงไคเช็คในปี พ.ศ. 2470 ได้ทำให้ชาวคอมมิวนิสต์ลี้ภัยมาอยู่ในสยามมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2470 มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาสยาม 11 คน ในปี พ.ศ. 2471 สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาสยามอีก 16 คน และปี พ.ศ. 2472 เข้ามาอีก 4 คน โดยคนเหล่านี้ได้ประสานงานกับ เฉินจว๋อจือ ผู้รับผิดชอบ ซึ่งก็ทำให้การเผยแพร่ลัทธิมาร์กซในหมู่ชาวจีนในประเทศสยามจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย

ในปี พ.ศ. 2471 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ตั้งสาขาพรรคขึ้นในเอเชียอาคเนย์ที่กรุงสิงคโปร์ เมืองหลวงของบริติชมลายา เรียกว่า "พรรคคอมมิวนสิต์จีนสาขาทะเลใต้" หรือ "หน่วยพรรคหนันยาง" เพื่อรับผิดชอบในการเคลื่อนไหวในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลในคาบสมุทรมลายาและในสยาม การก่อตั้งหน่วยพรรคหนันยาง ได้นำมาสู่การก่อตั้งพรรคคอมมิวนสิต์จีนสาขาสยามขึ้นในปีเดียวกัน (พ.ศ. 2471) ซึ่งรัฐบาลสยามเรียกว่า "คณะใหญ่คอมมิวนิสต์จีนสาขาประเทศสยาม" คณะใหญ่ที่ตั้งขึ้นนี้มีหน้าที่รับผิดชอบเคลื่อนไหวชาวจีนในสยามโดยเฉพาะ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ลัทธิมาร์กซในหมู่กรรมกรชาวจีน นักหนังสือพิมพ์จีน ครู และนักเรียนในโรงเรียนอยู่ไม่น้อย

ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2472 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาสยาม เปิดประชุมกันขึ้นที่ศาลเจ้าบนหลังคาโรงเรียนจินเต็กของจีนแคะ ถนนพาดสาย ปรากฏว่าข่าวรั่วไหล ทำให้ทางการสยามสามารถจับกุมผู้ร่วมประชุมได้ทั้งหมด 22 คน เป็นจีนไหหลำ 18 คน กวางตุ้ง 2 คน แต้จี๋ว 2 คน ในจำนวนนี้เป็นตัวแทนคณะใหญ่ที่สิงคโปร์ 2 คน คนหนึ่งชื่อ ตันคกคิว ซึ่งเป็นผู้กล่าวนำการประชุม ส่วนตัวแทนจากสิงคโปร์อีกคนคือ ฟองไพเผง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ยึดเอกสารจากที่ประชุมไว้เป็นจำนวนมาก ผู้ถูกจับกุมทั้งหมด ถูกลงโทษจำคุก 15 ปี และปรับอีก 5,000 บาท นับว่าเป็นการจับกุมครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และทำให้การเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ทะเลใต้สะดุดลงไปมากพอสมควร

แม้ว่าจะมีการจับกุมชาวคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ แต่การเคลื่อนไหวของคณะคอมมิวนิสต์จีนในสยามก็มิได้ยุติลง ดังจะเห็นได้จากการที่คณะใหญ่คอมมิวนิสต์ทะเลใต้ยังสามารถทิ้งใบปลิวในวันครบรอบ 12 ปีของ การปฏิวัติบอลเชวิก รัสเชีย ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ได้ นอกจากนี้ ยังเห็นได้จากการที่ยังมีการจับกุมคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลสยามเกิดขึ้นอีกหลายกรณี เช่น การจับกุมชาวจีนที่ประชุมกันที่โรงเรียนคีเม้ง ตำบลท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2472 (ปฏิทินเก่า) มีผู้ถูกจับกุมพร้อมกับของกลาง 27 คน เป็นต้น แม้ว่าคณะใหญ่คอมมิวนิสต์ทะเลใต้สาขาสยามจะปรับเป้าหมายที่จะดำเนินการทั้งการหนุนช่วยการปฏิวัติในประเทศจีนและโฆษณาเพื่อปฏิวัติสังคมสยาม แต่การเคลื่อนไหวในระยะแรกนั้น ก็ไม่มีคนไทยพื้นเมืองเข้าร่วม คงมีแต่ชาวจีนโพ้นทะเลและคนเชื้อสายจีนที่เกิดในสยามเท่านั้น

การจัดตั้งและขยายการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในสยามนี้เอง ที่ส่วนหนึ่งพัฒนามาสู่การก่อตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในเวลาต่อมา โดยที่มีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวกลุ่มชาวเวียดนามชาตินิยมที่มีเป้าหมายปลดปล่อยชาติจากการปกครองของจักรวรรดิฝรั่งเศสเก่า การเคลื่อนไหวนี้เริ่มต้นและดำเนินกิจกรรมโดยชาวเวียดนามชาตินิยมที่เข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยและได้อาศัยประเทศไทยเป็นฐานในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเอกราช โดยมีศูนย์กลางในการปฏิบัติงานอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี

การเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์สยาม เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2472 (ปฏิทินเก่า ซึ่งเปลี่ยนศักราชในวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี) เมื่อ เหงียนอายกว็อก หรือ โฮจิมินห์ เดินทางด้วยเรือจากฮ่องกงกลับมากรุงเทพฯ โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า สหายซุง และได้นัดพบกับผู้นำคณะใหญ่คอมมิวนิสต์จีนในสยาม เพื่อหารือในเรื่องการจัดตั้งพรรคชนชั้นกรรมาชีพขึ้นในสยามอย่างเป็นทางการ เหงียนอายกว็อกได้ชี้แจงมติของคอมมิวนิสต์สากลให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนในสยามทราบ จากนั้นก็เดินทางไปพบกับผู้นำเวียดนามที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อหารือการเตรียมการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในสยามอย่างเป็นทางการ เหงียนอายกว็อกชี้แจงว่า เป็นมติของคอมมิวนิสต์สากลที่จะให้มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในทุกประเทศที่มีชาวพรรคคอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวอยู่ โดยเหงียนอายกว็อกได้เสนอบทวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทย ดังนี้
"สยามเป็นประเทศศักดินาและกึ่งเมืองขึ้น ด้วยเหตุนี้ สยามยังไม่อาจทำการปฏิวัติสังคมนิยมได้โดยตรง แต่ต้องทำการปฏิวัติประชาธิปไตยนายทุนแบบใหม่ก่อน หลังจากบรรลุหน้าที่โค่นล้มศักดินาและจักรพรรดินิยมแล้ว อาศัยความช่วยเหลือของสหภาพโซเวียตและพลังที่ปฏิวัติทั่วโลก สยามสามารถก้าวตรงสู่ระบอบสังคมนิยม โดยไม่ต้องผ่านระยะพัฒนาระบอบทุนนิยม"
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 6-12 กันยายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (13)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (1)

ดร.ซุนยัตเซน ผู้ได้รับสมญานามว่า "บิดาของชาติ" ผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตยจีน ด้วยการเสนอ"ลัทธิไตรราษฎร์" หรือ "หลัก 3 ประการแห่งประชาชน" ("ซามิ่นจูหงี")

11. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2521 (ต่อ) ในขณะเดียวกัน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างปฏิบัติราชการยังสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เร่งเดินทางกลับประเทศไทยในคืนวันที่ 9 กันยายนนั้นเอง และเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส โดยทันที นั่นหมายถึงรับบาลบสามารถปราบปรามความพยายามในการยึดอำนาจได้สำเร็จแล้วเข้าควบคุมสถานการณ์ได้อย่างสิ้นเชิง เป็นให้การยึดอำนาจกลายเป็นเพียง "กบฏ"

เมื่อการกบฏล้มเหลว ผู้ก่อการ คือ พันเอกมนูญ รูปขจร และ นาวาโทมนัส รูปขจร ได้ลี้ภัยไปสิงคโปร์และเดินทางไปอยู่ในประเทศเยอรมนีตะวันตก ส่วนคณะที่เหลือให้การว่าถูกบังคับจากคณะผู้ก่อการกบฏ มีผู้ถูกดำเนินคดี 39 คน หลบหนี 10 คน

จากความพยายามทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2528 จนถึงปี พ.ศ. 2531 เป็นอันว่า พลเอกเปรมสามารถรักษาอำนาจการปกครองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง กระทั่งประกาศยุบสภาในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531

นอกจากการก่อกบฏถึงสองครั้งในระหว่างการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยนับจากการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คือ "การประกาศยุติการลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" ซึ่งต้องนับเป็นบริบทสำคัญของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่จำเป็นต้องศึกษาไม่มากก็น้อย

(บทคัดแยก)
ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์แห้งประเทศไทย (1)

สังคมการเมืองไทยรับรู้การเกิดขึ้นและมีอยู่ของอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์มาแล้วก่อนการอภิวัฒน์สยาม จากความล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟแห่งจักรวรรดิรัสเซียเก่าโดย "การปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917" โดย "พรรคบอลเชวิค" หรือที่ในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "พรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย" ภายใต้การนำของ วี.ไอ. เลนิน อันส่งผลสะเทือนไปสู่การปกครองทั้งในระบอบราชาธิปไตยและระบอบสาธารณรัฐทุนเสรีนิยมทั้งในทวีปยุโรปและในขอบเขตทั่วโลกรวมทั้งในราชอาณาจักรสยามในเวลานั้นด้วย

เริ่มจากภายหลังหลังการอภิวัฒน์สยามเพียงในเวลาไม่ถึง 1 ปี มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญ ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาสู่การเมืองภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงทุกวันนี้ คือ มีความเห็นหลายฝ่ายมองว่า "สมุดปกเหลือง" ("เค้าโครงเศรษฐกิจ" ที่มีการปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ประกาศออกมาเมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ. 2476 อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://www.pridi-phoonsuk.org/outline-economic-plan-1932/) นั้นมีลักษณะเค้าโครงเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์ ถึงกับมีการเผยแพร่ข้อกล่าวหากันอย่างแอพร่หลายว่า "ถ้านายปรีดีไม่ลอกมาจากสตาลิน สตาลินก็ต้องลอกมาจากนายปรีดี" (โจเซฟ สตาลิน เป็นผู้รัฐพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียและผู้นำสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ในเวลานั้น) กระทั่งก่อให้เกิดความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในหมู่คณะราษฎรด้วยกันเองและบรรดาข้าราชการ พระยาทรงสุรเดช ชักนำพระยาฤทธิ์อัคเนย์ และ พระประศาสน์พิทยายุทธ ทหารเสืออีก 2 คน สนับสนุนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี แต่ในส่วนของบรรดานายทหารคณะราษฎรส่วนใหญ่รวมทั้ง พระยาพหลพลพยุหเสนา ยังคงให้การสนับสนุนนายปรีดีอยู่

ภาวการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ "การรัฐประหารเงียบ" หรือการรัฐประหารครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 (ยังถือเป็นวันเริ่มต้นศักราชใหม่ตามแบบจันทรคติเดิมของไทย) เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งการไม่ระบุว่างดใช้มาตราใดบ้าง ทำให้สามารถกินความไปได้ว่าเป็นการยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีก็เร่งดำเนินการในลักษณะคุกคามผู้ที่มีความเห็นตรงกันข้ามในทางการเมือง เริ่มจากการการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ ในวันที่ 2 เมษายน ตามมาด้วยคำสั่งชนิดสายฟ้าลงวันที่ 10 เมษายนให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ไปดูงานที่ฝรั่งเศส พร้อมค่าใช้จ่ายปีละ 1,000 ปอนด์ ซึ่งเท่ากับเป็นคำสั่งเนรเทศนั่นเอง

อันที่จริง มีความเคลื่อนไหวในภูมิภาคของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล หรือขบวนการคอมมิวนิสต์เอเชียสองประเทศที่เป็นหลักในการเผยแต่อุดมการณ์ (ลัทธิ) ภายหลังการปฏิวัติรัสเซียและช่วงรอยต่อระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้งแล้ว โดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการขบวนการเอกราชหรือปลดปล่อยตนเองจากการยึดครองและอิทธิพลของชาติมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมเก่าซึ่งมีอิทธิต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกมานานหลายร้อยปี ได้แก่ อังกฤษ (ในอินเดีย, พม่าและมลายู) และฝรั่งเศส (ในกลุ่มประเทศอินโดจีน คือ เวียดนาม, ลาว และกัมพูชา) ซึ่งอาจรวมไปถึงฮอลันดา (ในอินโดนีเซีย) และสเปน (ในฟิลิปปินส์)

สำหรับการเกิดขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์สยาม-ไทย มีที่มาจากการเคลื่อนไหวและนำไปสู่การจัดตั้งพรรคขั้นพื้นฐานของคน 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกเป็นชาวเวียดนามชาตินิยมที่เข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยและได้อาศัยประเทศไทยเป็นฐานในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเอกราช ผู้นำที่สำคัญคือ ดังทักหัว และ หวอตุง โดยมีจังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติงาน นับจากปี พ.ศ. 2472 โฮจิมินห์ ในฐานะตัวแทนองค์กรคอมมิวนิสต์สากลได้เข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 โฮจิมินห์ได้กลายเป็นตัวแทนในการประสานกลุ่มคอมมิวนิสต์จีนและคอมมิวนิสต์เวียดนามในสยามเพื่อร่วมกันจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้น

กลุ่มที่สองคือชาวจีนที่อพยพเข้ามาทำงานในสยามตั้งแต่หลังสนธิสัญญาบาวริง พ.ศ. 2398 ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2450 เกิดการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนจีนในสาธารณรัฐจีนในการต่อต้านการปกครองของรางวงศ์ชิงและการเข้ามาถือครองผลประโยชน์ของมหาอำนาจตะวันตกทั้งเก่าและใหม่ กระทั่งความตื่นตัวนั้นส่งผลสะเทือนมาถึงชาวจีนในสยาม ความคิดที่ว่ามี 2 สาย สายแรกคือ "ลัทธิไตรราษฎร์" หรือ "หลัก 3 ประการแห่งประชาชน" ("ซามิ่นจูหงี") ที่เสนอโดน ดร.ซุนยัตเซน ผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตยจีน ซึ่งประกอบด้วย
1. หลักประชาชาติ คือการให้ความเสมอภาคและยกเลิกการแบ่งแยกกีดกันทางเชื้อชาติ ซึ่งเดิมราชวงศ์ชิงให้อภิสิทธิแก่คนแมนจู ในขณะที่กดสิทธิของชาวฮั่นไว้ต่ำที่สุด โดยวางชนชาติอื่นไว้ระหว่างกลางลดหลั่นกันไปตามระดับความสัมพันธ์กับราชสำนัก 
2.หลักประชาสิทธิ คือการทำตามหลักการปกครองโดยประชาชน โดยผ่านกลไกทางรัฐธรรมนูญแบบตะวันตก ที่กำหนดให้เสียงข้างมากของตัวแทนประชาชนในสภาเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งเริ่มต้นจากสมัชชาแห่งชาติ โดยต้องประกันสิทธิพลเมืองให้แก่ประชาชน สิทธิในการเลือกตั้งและสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิในการลงประชามติ สิทธิในการเสนอกฎหมาย สิทธิในการยับยั้งกฎหมาย เป็นต้ 
3.หลักประชาชีพ คือการที่มุ่งให้ประชาชนได้กินดีอยู่ดีมีสวัสดิการ มีความมั่นคงในชีวิต และมีปัจจัยในการดำรงชีวิตอย่างไม่บกพร่อง ซึ่งมีสี่ประการ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการคมนาคม แต่แล้ว ดร.ซุนยัตเซ็น เสียชีวิตลงก่อนที่จะถ่ายทอดแนวคิดตามหลักการข้อนี้อย่างเป็นรูปธรรม
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 30 สิงหาคม-5 กันยายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (12)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (12)

กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา เกิดขึ้นหลังจาก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รักษาอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี และบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่องมาได้อีก 4 ปีเศษ

11. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2521 (ต่อ) แต่แล้วการก่อการรัฐประหารระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 ก็ยุติลงกลายเป็น "กบฏ" อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยหลัง การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 แม้ว่าจะเป็นการจะมีกำลังทหารประจำการเข้าร่วม (ตามการกล่าวอ้างของฝ่ายก่อการและรายงานข่าวโดยสื่อมวลชนบางสำนักในสมัยนั้น) มากที่จุดเป็นประวัติการณ์ถึง 42 กองพัน

ความผิดพลาดประการสำคัญของฝ่ายก่อการฯ ที่ทำลายความได้เปรียบจากความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ในช่วงแรกเอาไว้ได้ จนดูเหมือนการยึดอำนาจจะราบรื่นและเสร็จสิ้นลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว คือ การที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี "พ้นจากการควบคุมตัว" ของฝ่ายผู้ก่อการฯ และสามารถได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงตั้งกองบัญชาการปราบกบฏและเริ่มดำเนินการตอบโต้อย่างทันควัน ก่อนอื่นสามารถออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ที่ยึดคืนได้จากฝ่ายก่อการฯ ใช้อำนาจและออกประกาศปลดผู้ก่อการฯ ทั้งหมดออกจากตำแหน่งทางทหารโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลได้กำลังสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก (ยศในสมัยนั้น) รองแม่ทัพกองทัพภาคภาคที่ 2

ความเคลื่อนทางทหารของฝ่ายรัฐบาล เริ่มจากการส่งเครื่องบินเอฟ-16 บินเข้าสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของฝ่ายก่อการฯ เหนือพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมกับเคลื่อนกำลังพลภายใต้การบังคับบัญชาสั่งการของกองทัพภาคที่ 2 เป็นหลักเข้ามายังกรุงเทพฯ มีรายงานว่าทหารทั้ง 2 ฝ่ายเกิดการปะทะกันประปราย ทหารฝ่ายก่อการเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 1 นายจากการปะทะ มีพลเรือนถูกลูกหลงเสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างละ 1 คน

ความพยายามในการยึดอำนาจที่กลายเป็นเพียง "กบฏ" ได้ยุติลงในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 3 เมษายนนั้นเอง เมื่อกองกำลังฝ่ายก่อการฯ เข้ามอบตัวกับทางรัฐบาลรวมทั้งสิ้น 155 นาย นับเป็นเวลาทั้งหมด 55 ชั่วโมงตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนรัฐบาลสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ทั้งลงได้อย่างสิ้นเชิง

ผู้นำกบฏส่วนหนึ่งที่มีศักยภาพที่จะลอบเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศไปได้ อาทิ พันเอกมนูญ รูปขจร ก็ออกไปกระทั่งขอลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี, พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะได้หลบหนีไปยังประเทศพม่า ส่วนผู้นำระดับรองลงมาจำนวนหนึ่ง ถูกควบคุมตัวไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจ บางเขน

ต่อมา นายทหารที่มีส่วนร่วมในการก่อการทั้งหมดได้รับพระราชทานอภัยโทษเป็นจำนวน 52 คน ซึ่งเป็นระดับแกนนำ เนื่องในวโรกาสวันฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม ได้รับนิรโทษกรรมทางการเมือง และได้รับการคืนยศทางทหารในเวลาต่อมา ต่อมามีหลายนายได้นำธูปเทียนไปขอขมา พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถึงบ้านพักที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ (เดิมเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของผู้บัญชาการทหารบก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีประธานองคมนตรี ใช้เป็นบ้านพักอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 จนถึงปัจจุบันในปี พ.ศ. 2557) ในวันที่ 22 มิถุนายน ในขณะที่หลังจาก พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา เดินทางกลับสู่ประเทศไทยแล้ว หาได้เดินทางไปพบ พลเอกเปรมหรือให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด

สำหรับ พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการคุมกำลังทหารและเป็นหลักในการต่อต้านการยึดอำนาจ ได้รับความไว้ใจจาก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นอันมาก ภายหลังได้เลื่อนเป็นพลโท  ตำแหน่งแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ใน 6 เดือนต่อมา

กบฏครั้งที่สอง กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา เกิดขึ้นหลังจาก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สามารถรักษาอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี และบริหารราชการแผ่นดินหลังความพยายามในการยึดอำนาจในคราว "กบฏเมษาฮาวาย" ต่อเนื่องมาได้อีก 4 ปีเศษ

นายทหารนอกประจำการกลุ่มหนึ่งซึ่งประสบความพ่ายแพ้ในคราวกบฏเมษาฮาวาย ลอบวางแผนก่อรัฐประหารในวันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ผู้นำในการก่อการครั้งนี้ประกอบด้วย พันเอกมนูญ รูปขจร, นาวาอากาศโทมนัส รูปขจร, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พลเอกเสริม ณ นคร, พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่ง และพลเรือนบางส่วนซึ่งเป็นผู้นำแรงงาน ที่ไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยได้ความสนับสนุนทางการเงินจาก นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ทั้งนี้ ฝ่ายก่อการฯ อาศัยช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป

การก่อการเริ่มต้นเมื่อเวลา 03.00 น. โดยรถถังจำนวน 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) พร้อมด้วยกำลังทหารกว่า 400 นาย จากกองกำลังทหารอากาศโยธิน เข้าควบคุมกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การ สื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ระบุนาม พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ทั้งนี้นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ได้และผู้นำสหภาพแรงงานและกำลังทหารส่วนหนึ่ง เข้าไปยึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และควบคุมตัวนายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้อำนวยการฯ ในขณะนั้น เพื่อนำรถขนส่งมวลชนไปรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาร่วมด้วย

ฝ่ายรัฐบาลได้แต่งตั้งนายทหาร ประกอบด้วย พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผบ.ทบ. รักษาการตำแหน่ง ผบ.ทบ., พลโทชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก, พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ ประสานกับฝ่ายรัฐบาลซึ่งพลเอกประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งกองอำนวยการกองกำลังฝ่ายรัฐบาลขึ้นที่ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) บางเขน และนำกองกำลังจาก พัน.1 ร.2 รอ. เข้าปราบปรามฝ่ายก่อรัฐประหาร และออกแถลงการณ์ตอบโต้ในนามของ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก กองกำลังหลักของฝ่ายรัฐบาลคุมกำลังโดยกลุ่มนายทหาร จปร. 5 ประกอบด้วย พลโทสุจินดา คราประยูร, พลโทอิสระพงศ์ หนุนภักดี, พลอากาศโทเกษตร โรจนนิล ฯลฯ

จนถึงเวลาประมาณ 09.50 น. รถถังของฝ่ายกบฏที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุ และอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และยิงปืนกลเข้าไปในบริเวณวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตสองคน คือ นายนีล เดวิส ชาวออสเตรเลีย และนายบิล แรตช์ ชาวอเมริกัน

หลังจากทั้งสองฝ่ายปะทะกันรุนแรงขึ้น และเห็นว่าสถานการณ์คงอยู่ในขั้นตรึงกำลังยันกัน ไม่มีฝ่ายฝดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบจนควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ จึงเกิดความพยายามจัดให้มีการเจรจาขึ้ในเวลา 15.00 น. โดย พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และพลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นตัวแทนฝ่ายกบฏ และทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้ถอนกำลังกลับที่ตั้งเมื่อเวลา 17.30 น.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 23-29 สิงหาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (11)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (11)

กบฏยังเติร์ก หรือ กบฏเมษาฮาวาย เป็นความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 เมษายน - 3 เมษายน พ.ศ. 2524

11. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2521 (ต่อ) ในระหว่างการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2521 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดย "คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ" ซึ่งตั้งขึ้นโดย "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" อันเป็นผลผลิตจากการรัฐประหาร (สองครั้ง) ที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ มีความเคลื่อนไหวทั้งที่มีลักษณะทั่วไปของระบอบการเมืองที่ไม่เสถียร และทั้งที่มีลักษณะเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นหลายครั้ง

อันดับแรก คือ "การเลือกตั้ง" ในห้วงเวลาของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญบับนี้ มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น 4 ครั้ง คือ (จำนวนครั้งนับจากการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476)
การเลือกตั้งครั้งที่ 14 (22 เมษายน พ.ศ. 2522)
การเลือกตั้งครั้งที่ 15 (18 เมษายน พ.ศ. 2526)
การเลือกตั้งครั้งที่ 16 (27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529)
การเลือกตั้งครั้งที่ 17 (24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531)
อันดับถัดมา คือ "นายกรัฐมนตรี" หรือ "หัวหน้าฝ่ายบริหาร" ซึ่งตลอดระยะเวลา 12 ปี มีนายกรัฐมนตรีรวม 3 คนด้วยกัน ทั้งนี้ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วยนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล "ต้อง" มาจากการเลือกตั้ง

คนแรก พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย
สมัยที่ 1 คณะรัฐมนตรีคณะที่ 40 จากวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 โดยมติ "คณะปฏิวัติ" ในการรัฐประหาร (ซ้ำ) นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และพ้นจากตำแหน่งวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2522
สมัยที่ 2 คณะรัฐมนตรีคณะที่ 41 จากวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ตามมติสภาผู้แทนราษฎร โดยพ้นตำแหน่งวันที่ 3 มีนาคม 2523 โดยการลาออกกลางสภา
คนที่สอง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย
สมัยที่ 1 คณะรัฐมนตรีคณะที่ 42 จากวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร ถึงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2526 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการเสนอให้ยืดอายุการใช้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2526
สมัยที่ 2 คณะรัฐมนตรีคณะที่ 43 จากวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2526 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร ถึงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2529 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 เนื่องจากรัฐบาลแพ้เสียงในสภา จากนั้นจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
สมัยที่ 3 คณะรัฐมนตรีคณะที่ 44 จากวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร ถึงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นใน พรรคประชาธิปัตย์ เกิด "กลุ่ม 10 มกรา" ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นเอกเทศภายในพรรค ร่วมลงมติไม่สนับสนุนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ที่รัฐบาลเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา จนทำให้พระราชบัญญัติไม่ผ่านการเห็นชอบ พรรคประชาธิปัตย์แสดงความรับผิดชอบโดยการถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พลเอกเปรมจึงประกาศยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2531
ภายหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นในคืนวันที่ 27 กรกฎาคม 2531 หัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งเสียงข้างมากจากจำนวนว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หารือที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ ได้เข้าพบพลเอกเปรมที่บ้านพัก เพื่อเชิญให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเปรม 3 ขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง มีกระแสการคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 จากกลุ่มนักวิชาการ

ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ที่ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี ตามหลังนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

คนที่สาม พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย
สมัยที่ 1 คณะรัฐมนตรีคณะที่ 45 จากวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร และพ้นจากตำแหน่งวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 จากการลาออก
สมัยที่ 2 คณะรัฐมนตรีคณะที่ 46 จากวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ตามมติสภาผู้แทนราษฎร โดยพ้นตำแหน่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 จากการเข้ายึดและควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยการนำของ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ด้วยเหตุผลสำคัญ (ที่ยังนำมาใช้พร่ำเพื่อแม้จนทุกวันนี้) ได้แก่ พฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวงของนักการเมือง ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำ รัฐบาลเป็นเผด็จการรัฐสภา มีการพยายามทำลายสถาบันทหาร และการบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
อันดับที่สาม เกิดการ "กบฏ" ถึง 2 ครั้ง โดยคณะนายทหารบก (แทบจะเป็น) ชุดเดียวกัน
ครั้งแรก กบฏยังเติร์ก หรือ กบฏเมษาฮาวาย เป็นความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 เมษายน - 3 เมษายน พ.ศ. 2524 โดยคณะผู้ก่อการที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการสภาปฏิวัติ" เพื่อยึดอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้ก่อการประกอบด้วยนายทหารซึ่งจบจาก โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 (จปร. 7) หรือที่เรียกว่า รุ่นยังเติร์ก ได้แก่ พันเอกมนูญ รูปขจร, พันเอกชูพงศ์ มัทวพันธุ์, พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร, พันโทพัลลภ ปิ่นมณี, พันเอกชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล, พันเอกแสงศักดิ์ มงคละสิริ, พันเอกบวร งามเกษม, พันเอกสาคร กิจวิริยะ โดยมี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ เริ่มก่อการเมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน โดยจับตัว พลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลโทหาญ ลีนานนท์, พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ และ พลตรีวิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกแถลงการณ์สรุปใจความดังนี้
"เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศทุกด้านกำลังระส่ำระส่ายและทรุดลงอย่างหนัก เพราะความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ พรรคการเมืองแตกแยก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงเป็นจุดอ่อนให้มีคณะบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศเคลื่อนไหว จะใช้กำลังเข้ายึดการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลง การปกครองเป็นแบบเผด็จการถาวร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและอยู่รอดของประเทศ คณะปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน จึงได้ชิงเข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศเสียก่อน"

(ยังมีต่อ)



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 16-22 สิงหาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (10)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (10)

พลเอกเกรียงศักดิ์และคุณหญิงวิรัตน์ ชมะนันทน์ กับ ประธานาธิบดีจิมมีและโรซาลีนน์ สมิธ คาร์เตอร์

10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ทันทีที่ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2520 ที่มี 32 มาตรา ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 ถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521 พร้อมกับประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (ฉบับถาวร?) รวมเวลาของการประกาสและมีผลบังคับใช้ปกครองประเทศ 1 ปี 1 เดือน 13 วัน ในสมัยของรัฐบาลเพียงคณะเดียว โดยมี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (สมัยที่ 1 ซึ่งไม่ได้มาตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย) เป็นนายกรัฐมนตรี

ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เตรียมใช้อย่าง "ถาวร" อีกครั้งหนึ่งนี้ ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นชุดหนึ่ง มีนายจิตติ ติงศภัทย์ อดีตผู้พิพากษาและศาสตราจารย์ทางกฎหมายคนสำคัญเป็นประธาน มีกรรมาธิการสำคัญหลายคน เช่น จากหัวหน้าพรรคการเมืองที่อยู่ก่อนการยึดอำนาจการปกครองเมือวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึง 6 คน รวมทั้งสองพี่น้องอดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2489 คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังประกอบด้วยนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง อาทิ นายกมล วรรณประภา อดีตอธิบดีกรมอัยการ, นายอมร จันทรสมบูรณ์ และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทางฝ่ายอาจารย์มหาวิทยาลัยก็มีปรมาจารย์ทางรัฐธรรมนูญอย่าง นายไพโรจน์ ชัยนาม และนายกระมล ทองธรรมชาติ และยังมีอดีตทูต คือ นายกันธีร์ ศุภมงคล และนางแร่ม พรหโมบล หรือคุณหญิง นางแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทยอีกด้วย

เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งมีจำนวน 206 มาตรา สิ่งที่สังคมการเมืองไทยจับตามองก็คือ ซึ่งก็คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522 แต่เป็นการเลือกตั้งที่มีเพียง "กลุ่ม (การเมือง)" เท่านั้น เนื่องจากในเวลานั้นยังไม่มีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองออกมาแทนที่ฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไปจากการยึดอำนาจ

ผลของการเลือกตั้ง ปรากฏว่า กลุ่ม (พรรค) ประชากรไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ถอดด้ามที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา โดย นายสมัคร สุนทรเวช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (20 เมษายน พ.ศ. 2519 - 23 กันยายน พ.ศ. 2519) และในรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520) ตามลำดับ และอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ประสบความสำเร็จชนิดพลิกความคาดหมายในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยได้รับเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ถึง 29 ที่นั่ง จากทั้งหมด 32 ที่นั่ง โดยเหลือให้แก่ พันเอก ถนัด คอมันตร์ จากกลุ่ม (พรรค) ประชาธิปัตย์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และนายเกษม ศิริสัมพันธ์ จากกลุ่ม (พรรค) กิจสังคม เพียง 3 ที่นั่งเท่านั้น ในขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศจากทั้งเสียงหมดในสภาผู้แทนราษฎร 301 เสียง กลุ่ม (พรรค) กิจสังคม ได้รับเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ 88 ที่นั่ง ตามมาผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดกลุ่ม (พรรค) การเมืองใด ได้ทั้งสิ้น 63 ที่นั่ง, กลุ่ม (พรรค) ชาติไทย 52 ที่นั่ง, กลุ่ม (พรรค) ประชาธิปัตย์ 35 ที่นั่ง และกลุ่ม (พรรค) ประชากรไทย 32 ที่นั่ง ฯลฯ

จึงไม่มีกลุ่ม (พรรค) การเมืองใดได้เสียงเกินครึ่ง และโดยที่รัฐธรรมนูญที่ไม่บทบัญญัติว่านายกรัฐมนตรี "ต้อง" มาจากพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ "ใครก็ได้" ที่สามารถหาเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร (ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการรัฐประหาร) จะได้รับตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" นั่นคือในการการประชุมรัฐสภาเพื่อหยั่งเสียงสนับสนุนบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ได้มีผู้สนับสนุนให้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (เดิมชื่อ สมจิตร) เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ 311 เสียง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มาจากสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีจำนวน 3 ใน 4 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ในวันที่ 12 พฤษภาคม จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับเป็นสมัยที่ 2 ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกันกับครั้งแรก แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม หรือที่เรียกกันในเวลาต่อมา จนถึงปัจจุบันว่า "นายกฯ คนนอก" นั่นเอง

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ นับเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยชนะการเลือกตั้งมาก่อนหน้านั้นถึง 2 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2519 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เคยได้รับการเลือกตั้งมาทั้งหมด ก็เหลือเพียงคนเดียวเท่านั้น ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศจากที่เคยได้มากถึง 114 คน ในปี พ.ศ. 2519 แต่ครั้งนี้เหลือเพียง 35 คนเท่านั้น เป็นผลให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคซึ่งไม่ได้ลงรับเลือกตั้งในครั้งนี้ ลาออกพร้อมทั้งคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด เพื่อรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง ซึ่งต่อมา ผู้ที่รับได้เลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค คือ พันเอกถนัด คอมันตร์ สมาชิกพรรคผู้ได้รับเลือกตั้งมาเพียงคนเดียวเท่านั้นของกรุงเทพมหานคร และ ม.ร.ว.เสนีย์ ก็ได้ถือโอกาสนี้วางมือจากการเมืองจากนั้นเป็นต้นมา

นอกจากนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ มีฐานเสียงที่สำคัญในรัฐสภาจากสมาชิกวุฒิสภา โดยสมาชิกในคณะรัฐบาลที่เป็นผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้มีที่มาจากพรรคหรือกลุ่มการเมืองใหญ่ในเวลานั้น (ตามรัฐธรรมนูญ 2521 ไม่มีพรรคการเมืองจดทะเบียน) เท่ากับเป็นรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนจากพรรคหรือกลุ่มการเมืองในระดับค่อนข้างต่ำ

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียงปีเศษ จึงพ้นจากตำแหน่งด้วยการ "ลาออกกลางสภา" ในวันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 และผู้ได้รับมติเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก

อนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 นี้ใช้อยู่นานเป็นอันดับที่ 2 ของไทย คือเป็นเวลากว่า 12 ปี จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 คณะทหารประจำการคณะใหม่ที่เรียกตนเองว่า "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" (รสช.) ก็ยึดอำนาจล้มรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญที่มี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับรัฐธรรมนูญที่ใช้นานที่สุดคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ ขึ้น เพื่อใช้เป็นรัฐธรรรมนูญฉบับถาวร มีจำนวน 68 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งต่อมาถือเป็น "วันรัฐธรรมนูญ" และรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจ) ฉบับนี้ ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 13 ปี 4 เดือน 29 วัน มีรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศถึง 14 ชุด

ส่วนสาเหตุของการยกเลิก เนื่องมาจากเห็นว่า ใช้มาเป็นเวลานานนาน ควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ทั้งนี้นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง (โดยอ้อม).

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 9-15 สิงหาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (9)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (9)

พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่  หัวหน้าคณะรัฐประหารคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 ที่เป็นทหารเรือ

9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลเลือกตั้งเมือ่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และเป็นผู้แต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง ก็ทำ รัฐประหาร (ซ้ำ-ไม่ใช่ซ้อน) อีกครั้งหนึ่ง และแต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2520 มีเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ซึ่งมีผลต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยกรณีแรกเกิดขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 กันยายน ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินกลับจากเยี่ยมราษฎรที่ จังหวัดปัตตานี เมื่อรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่านทางแยกกองร้อยหน่วยปฏิบัติการพิเศษ จังหวัดนราธิวาส รถจักรยานยนต์ที่มีพลตำรวจ อำนวย เพชรสังข์ สังกัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เป็นผู้ขับขี่ ได้แล่นเข้าชนรถพระที่นั่งที่บังโกลนด้านซ้ายเสียหายเล็กน้อย ส่วนรถจักรยานยนต์ล้มลงและเกิดเพลิงไหม้ ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายได้รับบาดเจ็บ และในวันถัดมาคือวันที่ 22 กันยายน มีการวางระเบิดประกอบเอง ในบริเวณสนามโรงพิธีช้างเผือก จังหวัดยะลา ใกล้เคียงกับปะรำพิธีที่ประทับ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังพระราชทานธงประจำรุ่นให้แก่ลูกเสือชาวบ้าน

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดกระแสโจมตีรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ทั้งจากสื่อสารมวลชนและจากประชาชนทั่วไป ว่าไม่สามารถถวายความอารักขาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ โดยพุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลาออกจากตำแหน่ง ประกอบกับการดำเนินนโยบาย "ขวาจัด" ของนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ดูเหมือนจะ "ปฏิเสธ" ความเห็นหลายประการของคณะปฏิรูปฯ จนนำไปสู่ความไม่พอใจในการปกครองในรูปเผด็จการของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือ "ลัทธิคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย" ที่เขียนโดยโดยนายธานินทร์เอง แล้วจัดพิมพ์แจกจ่ายทั่วประเทศ ประกาศโครงการพัฒนาประชาธิปไตย 12 ปีดังได้กล่าวมาแล้ว อีกทั้งยังกำหนดนโยบายต่างประเทศที่ประกาศตัวไม่สัมพันธ์กับประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ อันเป็นการวางตัวโดดเดี่ยวจากเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศอินโดจีน ที่เพิ่งปลดแอกจากการยึดครองและแทรกแซงโดยมหานำนาจจักรวรรดินิยมหรือนักล่าอาณานิคมสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

การยึดอำนาจ (ตัวเอง?) โดยคณะนายทหาร หรือ "เปลือกหอย" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เป็นอันสิ้นสุด "รัฐบาลหอย" นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งก่อนอื่น ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2519 และได้ประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2520 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 พร้อมกับทูนเกล้าฯถวายชื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมนะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต่อมามีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 นับจากปี 2475 พร้อมกับรัฐมนตรีร่วมคณะ 31 คน

ธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับชั่วคราว กำหนดให้มี

(1) สภานโยบายแห่งชาติ ซึ่งพล.ร.อ.สงัดเป็นประธานกรรมการ ซึ่งกรรมการประกอบไปด้วยบุคคลในคณะรัฐประหารนั่นเอง มีหน้าที่กำหนดนโยบายแห่งชาติและแนวทางบริหารแผ่นดินให้แก่รัฐบาล โดยที่ธรรมนูญ ฯลฯ กำหนดให้มีรัฐสภาเพียงสภาเดียว คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีสมาชิก 360 คน มาจากการแต่งตั้ง มีหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญและออกกฎหมาย คณะปฏิวัติมีความมุ่งหมายที่จะให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2521 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปีเดียวกัน

(2) สภานโยบายแห่งชาติ ประกอบด้วยบุคคลในคณะปฎิวัติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 6 ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2520 เป็นสมาชิก โดยบัญญัติขอบเขตอำนาจหน้าที่และที่มาไว้ ดังนี้
มาตรา 17 ให้มีสภานโยบายแห่งชาติ ประกอบด้วยบุคคลในคณะปฏิวัติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 6 ลง วันที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2520 เป็นสมาชิก
ให้หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นประธานสภานโยบายแห่งชาติ รองหัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นรองประธานสภานโยบายแห่งชาติ และให้สภานโยบายแห่งชาติแต่งตั้งสมาชิกสภานโยบายแห่งชาติ เป็นเลขาธิการสภานโยบายแห่งชาติคนหนึ่ง และรองเลขาธิการสภานโยบายแห่งชาติคนหนึ่ง ฯลฯ 
ในกรณีที่ประธานสภานโยบายแห่งชาติไม่อยู่หรือไม่อาจ ปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภานโยบายแห่งชาติทำหน้าที่ประธานสภานโยบายแห่งชาติ และในกรณีที่ประธานและรองประธานสภานโยบายแห่งชาติไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สมาชิกสภานโยบายแห่งชาติเลือกสมาชิกคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานสภานโยบายแห่งชาติ 
มาตรา 18 สภานโยบายแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐ และให้ความคิดเห็นแก่คณะรัฐมนตรีเพื่อ ให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐ และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองนี้ 
มาตรา 19 ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับนโยบายสำคัญ หรือเมื่อนายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณาปัญหาใด ประธานสภานโยบายแห่งชาติจะเสนอปัญหานั้นให้ที่ประชุมร่วมระหว่างสมาชิกสภานโยบายแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาวินิจฉัยก็ได้ และเมื่อที่ประชุมร่วมมีมติเป็นประการใดแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น 
ในการประชุมร่วมตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานสภานโยบายแห่งชาติทำหน้าที่ประธาน และให้นำความในวรรคสามของ มาตรา 17 มาใช้บังคับโดยอนุโลม 
มาตรา 20 ก่อนตั้งคณะรัฐมนตรี ประธานสภานโยบายแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และสภานโยบายแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรี
ส่วน "หัวใจ" ของความเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ปรากฏอยู่อย่างเต็มบริบูรณ์ในมาตราสุดท้ายของธรรมนูญการปกครองฯ ยังเขียนไว้มีลักษณะเป็น "แม่แบบ" (แบบฉบับของระบอบเผด็จอำนาจ) ไว้ว่า
มาตรา 32 บรรดาการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของ หัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ได้กระทำ ประกาศหรือสั่งก่อนวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ทั้งนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิวัติ ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใด หรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศหรือสั่งให้มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่าการกระทำ ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น เป็นการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเรือเอก สงัด ชลออยู่
หัวหน้าคณะปฏิวัติ

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า "ตำแหน่ง" ของ "ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ" ไม่ใช่ "หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" แต่ใช้ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" เช่นที่ใช้มาแล้วในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพล ถนอม กิตติขจร.

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 2-8 สิงหาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (8)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (8)

พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ นำนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญานเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลกาลที่ 9 ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2519

8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 5 วันหลังการยึดอำนาจ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จึงมีคำสั่ง 6/2519 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2519 แต่งตั้ง คณะเจ้าหน้าที่ทำงานกฎหมาย ขึ้นคณะหนึ่ง มีฐานะเป็น สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มีจำนวน 24 คน โดยมีพลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ เป็นประธานฯ ทำหน้าที่นิติบัญญัติ รวมทั้งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญไปพร้อมกันแบบเบ็ดเสร็จ

รัฐบาลที่มี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีอีก 17 คน ซึ่งส่วนใหญ่แต่งตั้งตามความประสงค์ของนายธานินทร์เอง แต่กระนั้นก็ตาม ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็หนีไม่พ้น พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ นั่นเอง

สภาปฏิรูปฯ ใช้วลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519  ซึ่งนับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 ของสยาม/ไทย และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 หลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 มีจำนวน 29 มาตรา ต่อมาสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีก็ถึงวาระสิ้นสุดในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 ตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มี สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 340 คน ทำหน้าที่รัฐสภาและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยที่ส่วนหนึ่งมาจากคณะนายทหารจากนายทหารในคณะปฏิรูปการปกครองฯ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม นั้นเอง

รัฐบาลเผด็จการพลเรือนของนายธานินทร์ อยู่ภายใต้การสนับสนุนและเห็นชอบของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งนายธานินทร์เปรียบไว้ว่า รัฐบาลเปรียบเสมือน "เนื้อหอย" มี "เปลือกหอย" ซึ่งได้แก่ทหารเป็นผู้ให้ความคุ้มครอง จึงถูกสื่อมวลชนขนานนามให้ว่า "รัฐบาลหอย" ส่วนสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอาจเรียกได้ว่า "อ่างเลี้ยงหอย" ซึ่งมีหน้าที่ฟูมฟักให้หอยในอ่างนั้นเติบโตไปข้างหน้า

สำหรับ "อาวุธ" ชิ้นสำคัญที่รัฐบาลหอยใช้ควบคุมบังเหียนการปกครองในเวลานั้น คือ มาตรา 21 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งบุคคลวงการต่างๆ ทั้งสื่อสารมวลชน ทั้งนักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจการเมืองและรักในเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย มีความเห็นต้องตรงกันว่า ให้อำนาจล้นฟ้าแก่ ฝ่ายบริหาร ในลักษณะเดียวกับมาตรา 17 ใน ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ที่ทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับสมญานามว่า "จอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง" มาแล้ว

นอกจากนั้น นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี "หอย" ยังเสนอ "โรดแมพ" ในการสร้างประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย โดยกำหนดเป็นแผนการพัฒนาประชาธิปไตยซึ่งกำหนดในรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งเป็น 3 ขั้น หรือ 3 ช่วง ๆ ละ 4 ปี ซึ่งนักวิเคราะห์และติดตามการเมืองไทยมานาน พิจารณาว่าแม้จะเรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" แต่กับเนื้อหาที่มีเพียง 29 มาตรา ทำให้มีศักดิ์เท่ากับ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร" หรือ "รัฐธรรมนูญชั่วคราว" เท่านั้นเอง

ขั้นที่หนึ่ง เวลาสี่ปีแรก "เป็นเวลาที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจะเป็นผู้ควบคุมการบริหารราชการ" นั่นคือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด ล้วนมีที่มาหรือเป็นผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมทั้งสิ้น ในเวลาต่อมา นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ นักวิเคราะห์การเมือง ตลอดจนสื่อสารมวลชนทั้งในและนอกประเทศ เรียกรัฐบาลชุดนายธานนินทร์ กรัยวิเชียร ว่าเป็น "รัฐบาลเผด็จการพลเรือน"

ขั้นที่สอง ช่วงเวลา 4 ปี ถัดมา เป็น "ระยะที่ให้ราษฎรมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น" โดยให้มีสภาสองสภา คือสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง

ขั้นที่สาม หรือสี่ปีสุดท้าย "ขยายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร...และลดอำนาจของวุฒิสภาลง..." โดยมีเงื่อนไขว่า "ถ้า" สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเห็นว่าขั้นตอนของการ "พัฒนาประชาธิปไตย" ดำเนินไปได้ด้วยดี ก็อาจให้วุฒิสภาหมดไปได้

ส่วนนโยบายหลักที่แท้จริงในเวลานั้นที่ "แฝงฝัง" อยู่ในการใช้อำนาจของรัฏฐิปัตย์ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากการทำรัฐประหาร คือ การมุ่งปราบปราม "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" และกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่า "กองทัพปลดแอกประชาชนไทย" เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ชนชั้นผู้ปกครอง (ซึ่งรวมทั้งผู้สูญเสียอำนาจและอิทธิทางการเมืองและสังคม จากเหตุการณ์ "14 ตุลาคม 2516") มีความเห็นและตื่นกลัวต่อภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งในและนอกประเทศ พร้อมกับพิจารณาว่าขบวนการนิสิต นักศึกษาประชาชนที่ตื่นตัวทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา มีการเชื่อมโยงกับขบวนการคอมมิวนิสต์

ผลที่สุดหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2519 ได้ 11 เดือน 28 วัน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ซ้ำรอยด้วยการตัดสินใจทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง มีผลทำให้รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับนี้ต้องมีอันยกเลิกไป ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520) ภายใต้ข้ออ้าง "รัฐบาลบริหารประเทศแล้วเกิดการแตกแยกในหมู่ข้าราชการและประชาชน เศรษฐกิจทรุดลง แผนพัฒนาประชาธิปไตย 3 ขั้น 12 ปี นานเกินความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน"

ทั้งนี้ นับจากวันยึดอำนาจการปกครอง 6 ตุลาคม 2519 จากรัฐบาลเลือกตั้งที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ จนถึงการยึดอำนาจการปกครอง 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 คณะปฏิรูปฯ ได้ออกการแถลงการณ์ ประกาศ คำสั่ง ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน รวม 103 ฉบับ จำแนกได้ดังต่อไปนี้

1. แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (มีศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายสูงสุด เนื่องจากออกโดยผู้ยึดอำนาจอธิปไตยของประเทศ ที่เป็น "รัฏฐาธิปัตย์"?) จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1.1 แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (แถลงการณ์การยึดอำนาจการปกครอง) 
1.2 แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (นโยบายด้านการต่างประเทศ)
1.3 แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2519 (คำชี้แจงถึงเหตุผลในการยึดอำนาจ)
1.4 แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2519 (นโยบายด้านการต่างประเทศเพิ่มเติม)
1.5 แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2519 (แถลงให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2520)
2. ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จำนวน 1 ฉบับ คือ ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2519 (เรื่อง นโยบายด้านแรงงาน)

3. คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จำนวน 47 ฉบับ ในจำนวนนี้มีทั้งศักดิ์เทียบเท่าพระราชบัญญัติ เทียบเท่าพระราชกฤษฎีกา และมีผลบังคับใช้ในฐานะคำสั่งของคณะรัฐประหาร

4. คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จำนวน 50 ฉบับ

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 26 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8