Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (6)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (6)

ตลอดคืนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนยังคงยืนหยัด ชุมนุมกันหนาแน่นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คำประกาศเตือนและ ขู่ของรัฐบาลหาเป็นผลไม่ กลับมีคนออกจากบ้านมาร่วมชุมนุมไม่ขาดระยะ

หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี และอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมแล้วนั้น นายสัญญาจัดตั้งรัฐบาลประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีรวม 28 คน มีบุคคลสำคัญในวงการเมืองและชนชั้นนำในสังคมไทยเข้าร่วม "รัฐบาล (พระราชทาน) เฉพาะกาล" อาทิเช่น พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ (รมว. กลาโหม) ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ (รมว. เกษตรฯ) นายประกอบ หุตะสิงห์ (รมว. ยุติธรรม) พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (รมช. ต่างประเทศ) น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว (รมช. สาธารณสุข)

รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์ แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ชุดที่สืบเนื่องมาจาก รัฐบาลรัฐประหาร 3 ครั้ง นับจากปี 2500) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นอกจากนั้นยังแต่งตั้งให้ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการรักษาความสงบ และรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2517 และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2519 แต่หลังจากรับตำแหน่งได้ไม่นาน ก็ถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันและเป็นที่กังขาต่อสาธารณชนมาจนถึงปัจจุบัน ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2519

วันที่ 30 ตุลาคม รัฐบาลประกาศยึดทรัพย์สินของจอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร พันเอก ณรงค์ กิตติขจร และภรรยาของทั้ง 3 คน

ต่อมารัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้เข้าร่วมการประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาลจอม พลถนอม จนเกิดการใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปราม รวมทั้งริเริ่มจัดรายการ "พบประชาชน" เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2516

7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2516 รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เริ่มดำเนินการสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญ (ถาวร?) โดยแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 18 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยคณะกรรมการชุดนี้ใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 มาเป็นแนวในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และใช้เวลาในการยกร่างเพียง 3 เดือน

จากนั้นรัฐบาลดำเนินการจัดทำและทูลเกล้าฯ เสนอรายชื่อบุคคลวงการต่างๆ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,347 คน จัดการประชุมคัดเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าไปทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่วันที่ 10 ธันวาคม ทั้งนี้ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลรัฐประหาร 3 ครั้ง (ซึ่งยังคงสถานภาพอยู่ให้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516) นับจากปี พ.ศ. 2500 คือ
(1) รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
(2) รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล พลโท ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี
(3) รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
เนื่องจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติมีจำนวนมาก จึงต้องใช้สนามราชตฤนมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) เป็นที่ประชุม จนสื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ในเวลานั้นให้สมญาสมัชชานี้ว่า "สภาสนามม้า"  พิธีเปิดประชุมจัดในวันที่ 16 ธันวาคม 2516 พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นประธานฯ สมัชชาฯ เลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 299 คน ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง และประชุมกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2516 โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานฯ พลเอก สำราญ แพทยกุล และนายประภาศน์ อวยชัย เป็นรองประธานฯ คนที่ 1 และคนที่ 2

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอยกร่างฯ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เมื่อ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2517 แต่กระบวนการต่อจากนั้นกลับเป็นไปอย่างค่อนข้างล่าช้า แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณายกร่างฯ แล้วเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา และรับหลักการเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2517 เป็นเหตุให้รัฐบาลกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 เนื่องจากบริหารราชการแผ่นดินมาครบ 6 เดือน แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เสร็จตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อหารือถึงผู้ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมเห็นสมควรให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2517 นั้นเอง

กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อจากนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติส่งร่างฯดังกล่าวให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 35 คน พิจารณา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงได้ลงมติเห็นชอบเมื่อ 5 ตุลาคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 กำหนดให้มีสภา 2 สภา คือ วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากเลือกตั้ง

นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 หลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่ในเวลานั้นยอมรับกันว่ามอบอำนาจให้แก่ประชาชนและวางหลักประกันและเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างกว้างขวาง นอกจากนั้นยังประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พุทธศักราช 2517 นั่นคือการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นการเลือกตั้งในระบบพรรค มีพรรคการเมืองมาจดทะเบียนก่อตั้งพรรคมากเป็นประวัติการณ์รวม 42 พรรค กำหนดการเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นในวันที่ 26 มกราคม 2518

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีรัฐบาล 4 ชุด จากนายกรัฐมนตรี "หม่อมพี่-หม่อมน้อง" คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 3 สมัย และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช 1 สมัย

มีประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนเสนอความเห็นมาแล้วหลายครั้ง โดยไม่เห็นด้วยกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบ 40 ปีมานี้ ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2517 และฉบับพุทธศักราช 2540 มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าฉบับอื่นๆ (อีก 16 ฉบับ) เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (ที่สมบูรณ์) นั้น จำเป็นต้องมีเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ 2 ประการ คือ
เงื่อนไขแรก ผู้แทนปวงชนต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ทั้งสภาผู้แทนราษฎรในฐานะสภานิติบัญญัติและวุฒิสภาในฐานะสภาตรวจสอบ
เงื่อนไขที่สอง ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ขององค์กรนอกอำนาจอธิปไตย (ทั้งสาม) อยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบกันเข้าจาก 2 ส่วนคือ (1) องค์กรอิสระ และ (2) องคมนตรี ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 9 พฤษภาคม 2489 นั้น "ไม่มี" องคมนตรี.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 12-18 กรกฎาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (5)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (5)

วันที่ 10 ตุลาคม 2516 หลังจากนักศึกษาวิทยาลัยครูเชียงใหม่เดินขบวนไปสมทบกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว ทั้งหมดจึงเคลื่อนขบวนไปชุมนุมกันที่ประตูท่าแพ ในภาพเป็นช่วงที่ขบวนกำลังเผ่านตลาดวโรรส

หลังกึ่งพุทธกาล ขณะที่ขอบเขตทั่วโลกอยู่ในยุคสงครามเย็น ควบคู่ไปกับการปลดแอกของชาติอาณานิคมจากการปกครองของนักล่าเมืองขึ้นทั้งเก่าและใหม่ในซีกโลกตะวันตก เกิดรัฐเอกราชใน 3 ทวีป คือทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกาใต้และประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา และทวีปอัฟริกา พร้อมกับกระแสตื่นตัวการสถาปนารัฐประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้น ทว่าประเทศไทยกลับดูเหมือนจะเปิดฉากพุทธศตวรรษใหม่อย่างถอยหลังเข้าคลองด้วยการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร ที่มาพร้อมกับการประกาศใช้ "ธรรมนูญการปกครอง" ที่ไม่ใช่ "รัฐธรรมนูญ" หากถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นฉบับที่ 4 นับจากการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

4. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียง 20 มาตรา คณะรัฐประหารได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศชั่วคราว โดยประกาศใช้เมื่อ 28 มกราคม 2502 และยกเลิกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 รวมเวลา 9 ปี 4 เดือน 23 วัน นับเป็นกฎหมายสูงสุด "ชั่วคราว" ในการปกครองประเทศ แต่กลับประกาศใช้ยาวนานที่สุดในประเทศไทย แต่ระยะเวลาที่ยาวนานดังกล่าวกลับไม่ใช่ส่วนที่ "อัปลักษณ์" ที่สุด สะท้อนความเป็นเผด็จการมากที่สุด เพราะทั้งสองประการนั้นปรากฏชัดเจนอยู่แล้วในมาตรา 17 ที่ให้อำนาจเผด็จการแก่นายกรัฐมนตรี หรือ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

นอกจากนั้น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฯ ฉบับ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว" (ตามที่จอมพลสฤษดิ์ผู้นิยมเพลง "เย้ยฟ้าท้าดิน" ประกาศต่อสาธารณะจนก้องฟ้าเมืองในในสมัยการปกครอง) ยังเป็น "แม่แบบ" การยกร่างรัฐธรรมนูญ (ที่ตั้งใจจะให้เป็น) ฉบับถาวรในเวลาต่อมา คือการมีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ที่มีสมาชิกแต่งตั้งรวมทั้งสิ้น 240 คน) ทำหน้าที่สภานิติบัญญัติโดยอัตโนมัติ
มาตรา 7 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย
ในที่สุดสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญที่ได้รับสมญานามว่าเป็น "รัฐธรรมนูญที่ใช้เวลายกร่างนานที่สุดในโลก" คือใช้เวลาเท่ากับการบังคับชะรรมนูญการปกครองชั่วคราวฉบับนี้เอง

รัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดินในระหว่างการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มี 2 ชุด เป็นรัฐบาลทหารที่มีที่มาจากการรัฐประหารทั้ง 2 ชุดๆ แรกคือหัวหน้าคณะรัฐประหารที่เรียกตัวเองว่า "คณะปฏิวัติ" รัฐบาลชุดที่สองเป็น "ผู้สืบทอดอำนาจ" จากรัฐบาลชุดแรกและมีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารทั้งในปี พ.ศ. 2500 และในปี พ.ศ. 2501

5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 มีจำนวน 183 มาตรา โดยประกาศใช้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และยกเลิกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จากการรัฐประหาร ที่นำโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตัวเองอีกครั้งหนึ่งเช่นที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยทำมาแล้ว หรือที่มีลักษณะใกล้เคียงกันด้วยการยึดอำนาจจาก "รัฐบาลหุ่น/ตัวแทน" หรือ "รัฐบาลนอมินี" ของจอมพลสฤษดิ์เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น

รวมเวลาในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 3 ปี 4 เดือน 28 วัน

ผู้บริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร (สมัยที่ 3 : 7 มีนาคม 2512-17 พฤศจิกายน 2514) ทั้งนี้ตลอดชีวิตทางการเมือง จอมพลถนอม กิตติขจร เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 สมัย (รวมครั้งที่ทำรัฐประหารตนเองนี้ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2515 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516) สมัยแรกเป็นนายกในระยะเวลาสั้น ๆ หลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในปี พ.ศ. 2501 (1 มกราคม พ.ศ. 2501 - 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501) สมัยที่สองถึงสี่หลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม นับเป็นนายทหารยศจอมพลคนสุดท้ายที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งผ่านและไม่ผ่านการเลือกตั้งมากที่สุด

6. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 มีจำนวน 23 มาตรา (มีบทบัญญัติเผด็จอำนาจเด็ดขาดใน มาตรา 21) โดยคณะรัฐประหารประกาศให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นแนวทางในการบริหารประเทศ จนกว่าจะมีการยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ "อีกฉบับหนึ่ง" ในอนาคต  และสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามธรรรมนูญการปกครองดังกล่าวได้มีมติให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป นับเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งสุดท้าย ของจอมพล ถนอม กิตติขจร ก่อนที่จะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและทุกตำแหน่งทั้งทางการเมืองและการทหารทั้งหมด กระทั่งถึงกับต้องเดินทางออกนอกประเทศ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 ซึ่งเริ่มจากมีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ เช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา และรวมตัวกันประมาณ 20 คน นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ส่งผลให้ทางการส่งกำลังตำรวจนครบาลออกสกัดจับและจับได้เพียง 11 คน นำไปควบคุมตัวที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน จากนั้นจึงนำไปขังต่อที่เรือนจำกลางบางเขน พร้อมตั้งข้อหาร้ายแรงว่า เป็นคอมมิวนิสต์ โดยห้ามเยี่ยมห้ามประกันเด็ดขาด

จากการสืบสวนขยายผล มีการประกาศจับนายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และตามจับนายไขแสง สุกใส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม ในข้อหาอยู่เบื้องหลังการแจกใบปลิว เป็นผู้ต้องถูกจับทั้งหมด 13 คน ถูกเรียกขานว่าเป็น "13 ขบถรัฐธรรมนูญ" เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจครั้งใหญ่แก่นิสิตนักศึกษาที่ต้องการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญสำหรับเป็นหลักในการปกครองประเทศ และประชาชนทั่วไปในวงกว้าง นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ประชุมกลุ่มต่างๆ มีมติยื่นคำขาดให้รัฐบาลปล่อยบุคคลทั้ง 13 ก่อนเที่ยงวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง

ต่อมารัฐบาลได้ใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งนับเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ไม่มีการ "จัดตั้ง" ไม่ว่าจะโดยพฤตินัยหรือโดยนิตินัย ที่ประกอบด้วยมวลชนจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี (และรักษาการจนกว่าจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ ประกาศใช้ นำไปสู่การเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้งทั่วไป) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 19.00 น. ขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองคมนตรี ทั้งนี้เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในฝ่ายนิสิต นักศึกษา

รวมระยะเวลาที่จอมพลถนอมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งโดยการสืบทอดอำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ โดยการเลือกตั้ง รวมทั้งโดยการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2514 ทั้งสิ้น 10 ปี 6 เดือนเศษ และธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ มีอายุใช้งานรวมเวลา 1 ปี 9 เดือน 22 วัน นับจากวันที่ 15 ธันวาคม 2515 จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2517 ซึ่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ "ถาวร (???)" เพื่อการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 5-11 กรกฎาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (4)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (4)

นิสิตนักศึกษาชุมนุมประท้วงประท้วงการเลือกตั้ง 2500 บริเวณท้องสนามหลวง (ขวามือของภาพคือโครงสร้างอาคารฉลองกึ่งพุทธกาล) นำไปสู่การรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เป็นเวลา 68 ปีนับจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ปรากฏว่าระบอบการเมืองของไทยยังคงหนีไม่พ้นวังวนของการล้มลุกคลุกคลาน มีการสลับฉากไปมาระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญพลเรือนและรัฐธรรมนูญทหาร หรือ "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว" หลายครั้ง อันเป็นผลจากการรัฐประหารด้วยคณะนายทหาร ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทั้งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อน การรัฐประหารซึ่งมีด้วยกันทั้งสิ้น 11 ครั้ง คือ
  1. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี
  2. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
  3. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  4. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
  5. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล พลโทถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี (ตามที่ตกลงกันไว้)
  6. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  7. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี
  8. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมาเอง
  9. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี
  10. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
  11. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ
ทั้งนี้ในท่ามกลางการปกครองด้วยรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร รัฐบาลพลเรือนทั้งที่มาจากการแต่งตั่งขึ้นโดยคณะทหารที่ยึดอำนาจการปกครองมา และทั้งรัฐบาลที่มาจกการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศสมัยใหม่ ประเทศไทยมีการยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองถึง 15 ฉบับ ตามลำดับดังนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว ) พุทธศักราช 2490 (ฉบับใต้ตุ่ม ) มี 98 มาตรา มีที่มาจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยคณะรัฐประหาร ซึ่งประกอบด้วยนายทหารนอกราชการที่นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ พ.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ. ถนอม กิตติขจร พ.ท. ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ. สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ โดยมี หลวงกาจสงคราม (พ.อ. กาจ กาจสงคราม) เป็นรองหัวหน้าคณะ ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลวงกาจสงครามมีส่วนอย่างสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 และเก็บซ่อนไว้ใต้ตุ่ม จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับ "ใต้ตุ่ม" ประกาศใช้เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 และยกเลิกเมื่อ 23 มีนาคม 2492 เพื่อการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ระยะเวลาบังคับใช้ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน มีรัฐบาล 3 ชุด คือ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ 2 สมัย และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อีก 1 สมัย

2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มี 188 มาตรา มีที่มาจาก สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2491 เป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.1 ) คณะแรกของประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สมาชิกที่มาจากสมาชิกวุฒิสภา (แต่งตั้ง) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ "ใต้ตุ่ม") และสมาชิกที่มาจากผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน (สมาชิกแต่งตั้ง) รวมจำนวน 40 คน ยกร่างจัดทำแล้วให้สภาอนุมัติ รัฐบาลที่ปกครองประเทศในช่วงรัฐธรรมนูญซึ่งระยะเวลาบังคับใช้  2 ปี 8 เดือน 6 วัน ฉบับนี้มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 4)

3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 มี 123 มาตรา ระยะเวลาบังคับใช้ 6 ปี 7 เดือน 12 วัน มีที่มาจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีจากการยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง ที่เรียกว่า "รัฐประหารเงียบ" เสนอร่างฯ ให้สภาอนุมัติ ลำดับเหตุการณ์การยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีระยะเวลาใช้งานนานถึง 6 ปี 7 เดือน 12 วัน เริ่มเมื่อหลังจากที่ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร (อีกครั้ง) ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระหว่างนั้นให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 (ประกาศใช้วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475) มาใช้บังคับไปพลาง พร้อมกันนั้นให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันดำเนินการปรับปรุงฉบับใหม่ และเมื่อแล้วเสร็จ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทน และสภาให้ความเห็นชอบ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 8 มีนาคม 2495 โดยมีจำนวน 123 มาตรา

และในระหว่างที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ก่อรูปช่วงก่อนกึ่งพุทธกาล ประกอบกับเกิดความปั่นป่วนในสภาผู้แทนราษฎรโดยพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 โดยพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดคือ พรรคเสรีมนังคศิลา ที่ก่อตั้งโดย จอมพล ป. มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์และประชาชนทั่วไป รวมทั้งผ่านการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีการโกงกันมากที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือกตั้งทั่วไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อีกทั้งเกิดรอยร้าวที่ลึกยิ่งขึ้นทุกทีภายในคณะทหารที่ทำรัฐประหารต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 ผลก็คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน 2500 แต่ทว่าก็ยังคงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงทำการรัฐประหารอีกครั้ง เป็นอันสิ้นสุดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ซึ่งมีรัฐบาลบริหารประเทศรวม 6 ชุด.
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 28 มิถุนายน-4 กรกฎาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (3)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (3)

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) (ภาพจากหนังสือสมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ พ.ศ. 2556)

ในท่ามกลางความผันผวน/กระแสพลิกกลับระหว่างความพยายามในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยกับการฟื้นฟาดระบอบการปกครองก่อนประชาธิปไตย นั้น นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโส เคยให้ทัศนะถึงปรากฏการณ์ความพ่ายแพ้ของฝ่ายแรกไว้ในการให้สัมภาษณ์เป็นกรณีพิเศษ เมื่อปี พ.ศ. 2525 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี "การอภิวัฒน์สยาม 2475" ทางสถานวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย (ยุติการกระจายเสียง จากสถานีวิทยุบีบีซี กรุงลอนดอนในวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2549) ในรายการสัมภาษณ์ที่จัดขึ้น ณ ที่พำนักในอองโตนี ชานกรุงปารีส โดย ดร. จริยวัฒน์ สันตะบุตร พนักงานนอกเวลาของบีบีซี นายปรีดีได้มองย้อนหลังความล้มเหลวในการพยายามสถาปนาระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการให้อรรถาธิบายถึงความเป็น "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489

ผู้เขียนเคยนำเสนอคำให้สัมภาษณ์ไว้ ในบทความ "นายปรีดีวิพากษ์การอภิวัฒน์สยาม: ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎร" โดยครั้งแรกตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร THAIFREEDOM ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ปักษ์แรก กุมภาพันธ์ 2553 เผยแพร่ซ้ำทางฟอรั่ม arinwan เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 และนำมาขยายเป็นบทความ 2 ตอนใน โลกวันนี้ วันสุข วันที่ 27 สิงหาคม-2 กันยายน 2554 และ วันที่ 3-9 กันยายน 2554

ทั้งนี้เพื่อเป็นการนำเสนอของผู้เขียนคอลัมน์ โดยหวังให้มีการทบทวนจุดยืนและแนวทางการเคลื่อนไหวต่อขบวนที่ประกาศว่ายืนอยู่ในฝ่าย "ประชาธิปไตย" ในเวลานั้น ที่นำโดย "แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" แม้ว่าดูจะไร้ผลสำหรับ "แกนนำ" ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า (จนแม้ถึงตอนนี้) ว่ายังคง "ไม่ตอบโจทย์ประชาธิปไตยมากไปกว่าการชนะเลือกตั้ง"

นายปรีดี พนมยงค์ นับเป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยคนสำคัญ (อาจจะ) เพียงคนเดียวที่กล้าวิจารณ์ตนเองต่อการเป็นผู้ก่อการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ว่าจะผ่านกาลเวลาไปแล้วถึงกึ่งศตวรรษ แต่กลับไม่ปรากฏว่าขบวนการเคลื่อนไหวกระแสหลักในสังคมไทยนำพามาใช้เป็นประโยชน์แต่ประการใด ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าด้วยการเพิกเฉยต่อองค์ความรู้ ตลอดจนการตกผลึกประสบการณ์ตรงในบริบทใดๆ (ในกรณีนี้คือ "การอภิวัฒน์ประชาธิปไตย") ย่อมยากที่จะบรรลุภารกิจและ/หรือพันธกิจในบริบททางสังคมนั้นๆ
**********
ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎรของประเทศ คือ ความผิดพลาดบกพร่องที่เหมือนกับทุกๆขบวนการเมือง และความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ ในส่วนที่ว่าเหมือนกับทุกขบวนการก็คือ ความขัดแย้งภายในขบวนการเมือง ทุกคณะพรรคการเมือง ที่ต่อสู้ระหว่างกันตามวิถีทางรัฐสภานั้น ก็มีความขัดแย้งภายในพรรคนั้นๆ แม้ว่าคณะพรรคใดได้อำนาจรัฐแล้วก็ดี แต่ความขัดแย้งภายในพรรคนั้นก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้น จึงปรากฏว่าคณะพรรคมากหลาย ได้มีการแตกแยกออกเป็นหลายส่วน หรือสลายไปทั้งคณะพรรค ส่วนคณะพรรคหรือขบวนการที่ใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธนั้น ก็ปรากฏความขัดแย้งและการแตกแยกทำนองเดียวกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประวัติศาสตร์แห่งสมัยระบบศักดินาแห่งมนุษยชาตินั้น เคยมีตัวอย่างที่คณะบุคคลหนึ่งใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธต่อผู้ครองอำนาจรัฐได้ สำเร็จแล้ว ภายในคณะพรรคนั้นเองก็มีบุคคลที่มีความโลภ และความริษยา ซึ่งเกิดจากรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัวขนาดหนักนั้น ใช้วิธีทำลายคนในคณะเดียวกันเพื่อคนๆเดียวได้เป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า egocentrism โดยจุดอ่อนของคณะราษฎรโดยเฉพาะนั้น ก็แบ่งออกได้เป็น 4 ประการด้วยกัน คือ

ประการที่ 1 ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมือง ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นฟาด ทัศนะเผด็จการชาติศักดินาซึ่งเป็นการโต้อภิวัฒน์ หรือ counter-revolution ต่อการอภิวัฒน์ ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีวิตร่วมกับคณะ

ประการที่ 2 คณะราษฎรคิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธีในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูกการโต้อภิ วัฒน์ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง

ประการที่ 3 นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร 3 ท่าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุระเดช พระยาฤทธิ์อาคเนย์ มีความรู้ความชำนาญการทหารสามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคนแม้มีความรู้ทางทฤษฎีเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดการชำนาญในการปฏิบัติและขาดความชำนาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง อาทิ ผม เป็นต้น

ประการที่ 4 การเชิญข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกระบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภา และเลิกใช้รัฐธรรมนูญถาวร ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 เป็นเหตุที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยของประเทศยังไม่เกิดขึ้นแท้จริงจนทุกวันนี้…

แม้คณะราษฎรมีจุดอ่อนหลายประการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่จุดอ่อนดังกล่าวได้ทำให้ระบบประชาธิปไตยการล่าช้า ไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 เท่านั้น ที่ผมตอบเช่นนี้ไม่ได้เป็นความที่ผมต้องการแก้ตัวแต่ได้กล่าวตามหลักฐานแท้ จริง ซึ่งผมขอให้ท่านพิจารณา ดังนี้คือ

ก. คณะราษฎรได้ต่อสู้ความขัดแย้งภายในคณะ และการโต้อภิวัฒน์จากภายในคณะและภายนอกคณะ มาหลายครั้งหลายหน แต่คณะราษฎรเองได้ปฏิบัติตามหลักทุกประการของคณะราษฎรที่ได้ประกาศไว้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ให้สำเร็จไปก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 อันเป็นวันที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ทั้ง 6 ประการนี้ ซึ่งได้แก่ ความเป็นเอกราชสมบูรณ์, การให้ความปลอดภัยในประเทศ, การดำรงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ, ให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน, การให้ราษฎรมีเสรีภาพและความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักดังกล่าวข้างต้น, และ ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ในแง่ของรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ได้บัญญัติขึ้นตามวิธีการที่บัญญัติไว้โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นแม่บท ท่านผู้มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาหลักฐานประวัติศาสตร์ระบบรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นได้ว่าถูกต้องสมบูรณ์ และในสาระก็เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะได้ยกเลิกบทเฉพาะกาล ที่ให้มีสมาชิกประเภทที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้ง

ข. ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจรัฐ ล้มระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่ได้สถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489  ครั้นแล้วคณะรัฐประหารได้สถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งมีฉายาว่า "รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม" เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 อันเป็นโมฆะ ทั้งรูปแบบแห่งกฎหมาย และในสาระสำคัญของระบบประชาธิปไตย ซึ่งผมได้กล่าวชี้แจงไว้ในหลายบทความแล้ว อาทิ กรมขุนไชยนาทฯ พระองค์เดียว ไม่มีอำนาจลงพระนามแทนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม อ้างตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราช โองการนั้น ก็เป็นโมฆะ เพราะเป็นตำแหน่งที่คณะรัฐประหารตั้งให้ มิใช่เป็นรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มได้บัญญัติให้วุฒิสภาซึ่งสมาชิกเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้ง มิใช่โดยการเลือกตั้งของราษฎร จึงมิใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์เหมือนดั่งรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 มิถุนายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (2)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (2)

ประชาชนจากหลากหลายกลุ่มลุกขึ้นชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จนนำไปสู่กรณีสังหารหมู่ประชาชนในเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ 2535"

มีประเด็นหนึ่งทางรัฐศาสตร์/การเมืองการปกครอง ที่ยึดถือเป็นแนวทางการศึกษาทั่วไปและในประเทศไทยมานับจากการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งผู้เขียน "เห็นต่าง" ภายหลัง "การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" นั้นคือ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม"

และความเห็นต่างในบริบท "รัฐธรรมนูญนิยม" นี้ มีที่มาจากการรับรู้ มีส่วนร่วม และติดตามระบอบการเมืองในประเทศไทยนับจากปี พ.ศ. 2515 อันอยู่ในช่วงการปกครองของ "ระบอบถนอม-ประภาส" หลังการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 นำโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร ดังได้กล่าวถึงในตอนที่แล้ว ทั้งนี้จอมพลถนอมยังคงใช้ชื่อคณะทหารที่เข้ายึดอำนาจรัฐบาล (ของตนเอง) ตามที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้คือ "คณะปฏิวัติ" ประกาศยกเลิก "รัฐธรรมนูญ 2511" ยุบสภาฯ ยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง

ตามมาด้วยการประกาศใช้ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515" ซึ่งไม่ต่างไปจาก "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502" มีการใช้กฎหมายของคณะปฏิวัติ (ที่ควรใช้ว่า "คณะรัฐประหาร") ซึ่งให้อำนาจเผด็จการแก่นายกรัฐมนตรี หรือ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" กล่าวคือ "มาตรา 17" ที่ ในธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 เขียนว่า
มาตรา 17 ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบ ที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ
ในขณะที่ "มาตรา 21" ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 เขียนว่า
มาตรา 21 บรรดาประกาศของคณะปฏิวัติหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างการปฏิวัติวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 จนถึงวันประกาศธรรมนูญการปกครองนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่า ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น เป็นประกาศ หรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย
และแม้ว่าจอมพลถนอมจะไม่เคยประกาศเช่นที่จอมพลสฤษดิ์เคยประกาศไว้ว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว" แต่ในอีกเพียงไม่ถึง 2 ปี "ระบอบถนอม-ประภาส-ณรงค์" ก็เดินทางมาถึงจุดจบใน "เหตุการณ์ 14 ตุลา" อันยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2516 นั่นเอง

ผู้เขียนเคยเสนอในการเสวนาในฐานะผู้ฟังมาแล้วหลายกรรมหลายวาระ เมื่อนักวิชาการบางคนกับนักการเมืองบางคนเสนอแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมต่อขบวนประชาชาติประชาธิปไตย ผู้เขียนเห็นว่าการเสนอดังกล่าว "ขาด" รากฐานที่จำเป็นต่อระบอบประชาธิปไตยในประเทศ โดยมองข้ามอดีต ทั้งระยะใกล้ (หลังการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2517) และระยะไกล (หลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475) นั่นคือ แม้ในหมู่ประชาชนที่ก้าวหน้าที่สุด หรืออยู่ในกลุ่มที่ก้าวหน้าที่สุด (จะประกาศตัวหรือไม่ก็ตาม) ในฝ่ายประชาธิปไตยเอง ยังไม่ทำความเข้าใจเนื้อแท้ใน "ระบอบรัฐธรรมนูญ" ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำฝ่ายพลเรือนในคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นั้นพูดและเขียนถึง

ผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2511 ที่มีต่อสังคมไทย

ประการแรก คือการขานรับของนักการเมืองเก่า คือรุ่นก่อนการรัฐประหาร 2500 ที่ยังมีชีวิตอยู่และยังอยู่ในวิสัยที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองในระบบรัฐสภาได้อีกครั้งหนึ่ง ในจำนวนนี้ "เชื้อสาย" ที่ยังคงมีอยู่ในเวลานั้นคงหนีไม่พ้น พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเสรีมนังคศิลา, พรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพอันมีที่มาจากคณะราษฎรและขบวนการเสรีไทย ซึ่งในจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งเป็น "นักเลือกตั้ง" ที่พากันขยับตัวปาน "ปลากระดี่ได้น้ำ"

ประการถัดมา คือ กลุ่มปัญญาชน นักคิดนักเขียน และประชาชนทั่วไป ที่อึดอัดกับการปกครองในระบอบเผด็จการของ "คณะปฏิวัติ" มายาวนานถึง 11 ปี

ประเด็นที่ผู้เขียนทบทวนหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือความคล้ายคลึงกันของภาวการณ์ทั่วไปในหมู่คนทั้ง 2 กลุ่ม (ที่ยังประกอบกันอยู่เป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม) นั้น ที่เห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง เป็นทั้งสัญลักษณ์และเป้าหมายสำคัญต่อการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่าผู้คนจำนวนมากมีความเชื่อว่า "การมีรัฐธรรมนูญดีๆ (ที่ยกร่างโดยคนดีๆ กลุ่มหนึ่ง) สักฉบับหนึ่ง อาจสร้างประชาธิปไตยขึ้นในสังคมไทยได้"

ผลสืบเนื่องจากวิธีคิดและจุดยืนดังกล่าวจึง "ลาม" มาถึงความพยายามในการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ภายหลังจากที่กลุ่มการเมืองที่ประกอบด้วยหลายฝ่ายลุกขึ้น "ต่อต้าน" รัฐบาล พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อันนำไปสู่กรณีสังหารหมู่ประชาชนในเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ 2535"

กระนั้นก็ตาม แม้จนหลังการรัฐประหารอัปยศ 19 กันยายน 2549 ที่นำโดย พลเอก สนธิ บุณยรัตกลิน ต่อเนื่องมาในสมัยรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นากยกรัฐมนตรี ที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญโดย "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น ก็สู้อุตส่าห์ "คลอด" รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ออกมาจนได้ กับกระบวนการ "ลงประชามติ" กฎหมายทั้งฉบับ ที่มี 309 มาตรา และกฎหมายนั้นคือ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" ซึ่งนับเป็นกฎหมายแม่บทของการปกครองประเทศสมัยใหม่มากว่า 200 ปีแล้ว ถือได้ว่าเป็นการ "ลงประชามติ" แบบ "ขืนใจ/มัดมือชก" ประชาชนกว่าครึ่งของจำนวนประชากร เพื่อให้มีทางเลือกเพียงแค่ "รับ" หรือ "ไม่รับ" โดยมี "เงื่อนไขแฝง" ที่ว่า "รับๆ ไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขทีหลัง" ซึ่งปรากฏว่าเงื่อนไขดังกล่าวนี้หาได้มีมูลความจริงและความเป็นไปได้ที่จะทำให้ได้จริงในทางปฏิบัติ ดังที่เห็นและเป็นอยู่นับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 จนถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผลก็คือ แม้ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเพียงบางส่วน (ซึ่งเป็นวาทกรรมบิดเบือนอย่างไม่น่าให้อภัย) หรือไม่เป็นประชาธิปไตยเอาเลย (เช่นธรรมนูญการปกครองชั่วคราวที่ประกาศใช้โดยคณะรัฐประหาร) ระบอบการเมืองไทยก็ยังไม่สามารถยกระดับสู่ประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง ผู้เขียนได้เขียนสรุปในบริบทนี้ไว้ในบทความทางเว็บบอร์ด เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554 ว่า
"นั่นหมายความว่า ขบวนประชาธิปไตยประชาชนเพื่อเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ต้องเริ่มต้นด้วยการอภิปรายอย่างกว้างขวางตลอดทั้งขบวน ถึงเป้าหมายทั้งเชิงอุดมการณ์และเป้าหมายรูปธรรม ทั้งนโยบายหลักและนโยบายเฉพาะหน้า จากนั้นจึงพิจารณาลงในมิติที่ลึกลงไปในรายละเอียด ร่างเค้าโครงทั่วไปเขียนได้แต่หลักการใหญ่ๆ ถ้ามีความเข้าใจในพื้นฐาน แสดงว่าเกิดจินตภาพที่จำเป็น เพื่อสร้างหน่วยการเมืองพื้นฐานที่ประกอบกันเข้าเป็นหน่วยการเมืองที่ใหญ่ขึ้น กระทั่งพัฒนาไปสู่ในที่สุดคือมวลชน ที่มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน และนั่นคือ "พลัง" ในการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง."
**********
(ยังมีต่อ)



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 14-20 มิถุนายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (1)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (1)*

สภาปฏิวัติ 17 พฤศจิกายน 2514 จากซ้ายไปขวา พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์, พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์, พลเอก ประภาส จารุเสถียร, จอมพล ถนอม กิตติขจร, นายพจน์ สารสิน, พลเอก กฤษณ์ สีวะรา

แผ่นดินเกิดของประชาชาติไทยเดินทางมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในบริบททางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งทั่วไป ในปี พ.ศ. 2554 และจัดตั้งรัฐบาลโดยมี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมามีการประท้วงต่อต้านรัฐบาล นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ มีสาเหตุจากร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 และถูกหลายฝ่ายคัดค้าน ซึ่งนำไปสู่จุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556-2557

จนกระทั่งในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 3 นาฬิกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึก โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และต่อมาต่อมา กองทัพบกออกประกาศยุติการดำเนินการของ ศูนย์อำนายการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นแทน โดยมีพลเอกประยุทธ์ประยทธ์เป็น ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.)

และแล้วถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. จึงเกิดการการทำรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (National Peace and Order Maintaining Council) อันมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย

นับจากความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศไทยที่ก่อรูปขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2547-2548 อันนำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นั้น ผู้เขียนเฝ้าติดตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และพยายามตกผลึกนำเสนอแนวคิดต่อสภาวการณ์ทางการเมืองไทยมาตลอด ทั้งนี้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 เคยเสนอบทความ (ที่ปรับปรุงจากการเสนอทางโลกไซเบอร์มาก่อนหน้านั้นแล้ว หลังกรณี "สงกรานต์เลือด 2552") เรื่อง "ความขัดแย้ง 2 ชนิดของการเมืองไทย: ท่าทีและทิศทางของขบวนประชาธิปไตย" (https://arin-article.blogspot.com/2011/02/2.html) ตีพิมพ์ใน โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 6 (12) ฉบับที่ 287 วันที่ 27 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2553 เพื่อให้มองภาพความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศตามมุมมองของผู้เขียน ที่จำแนกความขัดแย้งไม่เพียงมิติเดียว
**********
ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 9 ปีนับจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐาน "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" ในการเลือกตั้ง 2544 โดยความเชื่อที่ว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจะสร้างประชาธิปไตยได้ มานี้ มี 2 ชนิด หรือ 2 มิติด้วยกัน

มิติแรก ความขัดแย้งระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังปฏิกิริยา ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ก่อรูปและดำรงอยู่กับสังคมการเมืองไทยมากว่าร้อยปี นับจากการซึมซับรับเอาการผลสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ นำมาซึ่งปกครองรูปแบบใหม่ของมนุษยชาติ 2 ระบอบ หนึ่งคือ "ระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งมีจุดกำเนิดใน สงครามประกาศอิสรภาพอเมริกาในปี ค.ศ. 1776 (พ.ศ. 2319) ตามมาด้วย การปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) และอีกหนึ่งคือ การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) ซึ่งก่อให้เกิดสาธารณรัฐโซเวียต อันเป็นรัฐสังคมนิยมแรกในโลก

มิติที่สอง ความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมือง 2 ขั้ว โดยอาศัยการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" หรือแม้แต่มีความ "เป็นประชาธิปไตยเพียงบางส่วน" เพื่อแย่งชิงการเข้าไปควบคุมกลไกบริหารจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดำเนินการใช้ "งบประมาณแผ่นดินประจำปี" ทั้งนี้ในการคลี่คลายความขัดแย้ง ยังไม่สามารถยกระดับไปสู่ความขัดแย้งหลักในมิติที่ 1 ได้แต่อย่างไร

ความคาบเกี่ยวของความขัดแย้งทั้ง 2 มิติหรือ 2 ชนิด นี้ จำเป็นที่พลังขับเคลื่อนทางการเมือง หรือพูดให้ถึงที่สุดสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย "ต้อง" ทำความชัดเจนให้ได้ว่า การเคลื่อนไหวในแต่ละรอบ ความขัดแย้งชนิดไหนที่เป็นความขัดแย้งหลักในเวลานั้น
**********
ทั้งนี้ ผู้เขียนยังได้แสดงจุดยืนและทัศนะต่อพัฒนาการทางการเมืองในประเทสไทยไว้หลายกรรมหลายวาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้ง" ซึ่ง "ไม่เป็นที่ต้อนรับ" ของขั้วอำนาจที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองยุคปัจจุบันที่ก่อรูปขึ้นจากปี พ.ศ. 2548 อันเป็นช่วงเวลาที่ ชีวิตทางการเมืองของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กำลังเข้าใกล้จุดสิ้นสุดสำหรับการเมืองในระบอบรัฐสภาไทย

ผู้เขียนเห็นว่า จากการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ "เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516" อันยิ่งใหญ่นั้น เป็นการพัฒนาและการก่อรูปของขบวนนิสิต นักศึกษา ซึ่งในเวลาต่อมาขยายลงสู่ระดับนักเรียนมัธยมและประชาชนทั่วไปนั้น มองเห็นเฉพาะบริบท "รัฐธรรมนูญ" ที่ขาดหายไปหลังจาก การรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และผ่านการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการเรียกขานว่า "รัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานที่สุดในโลก" โดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่แต่งตั้งขึ้น ในปี พ.ศ. 2502 ตาม ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 28 มกราคม พ.ศ. 2502 ที่ประกาศใช้และลงชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยสมาชิก 240 คน นี้ บัญญัติให้ "มาตรา 6 สภาร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย"

เมื่อมีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511" ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองของอดีตนักการเมืองรุ่นเก่า (ก่อนรัฐประหาร พ.ศ. 2500-2501) และบุคคลทางการเมืองรุ่นใหม่ ดาหน้าเข้าสู่สนามเลือกตั้งการอย่างคึกคัก แม้แต่ จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติที่สืบทอดตำแหน่งจากจอมพลสฤษดิ์ ถึงกับตั้งพรรคการเมืองชื่อ "พรรคสหประชาไทย" ลงรณรงค์แข่งขันในสนามเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ซึ่งผลการเลือกตั่งครั้งนั้นปรากฏว่า ผลการเลือกตั้ง พรรคสหประชาไทยที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค และพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค ได้รับเลือกมาเป็นที่หนึ่ง โดยได้ ส.ส.ทั้งหมด 75 คน ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส.ทั้งหมด 55 คน แต่การเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร คือ จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี พรรคประชาธิปัตย์สามารถได้ ส.ส.ทั้งหมด เป็นจำนวน 21 คน ทำให้เป็นแกนหลักในการเป็นพรรคฝ่ายค้าน

แต่แล้วรัฐบาลทหารประชาธิปไตยจำแลงก็อยู่ได้เพียง 2 ปีเศษ ทันที่เวลา 19.00 น. ของวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ใช้กำลังทหาร "เข้ายึดอำนาจการปกครอง (ของตนเอง)" โดยแถลงในคำปรารภการยึดอำนาจไว้ว่า

"ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ภายใน ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน"
(ยังมีต่อ)

* เปลี่ยนชื่อจากบทความก่อนหน้านี้ 2 ตอน เรื่อง: "กบฏผีบุญ" ในประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการลุกขึ้นสู้ของประชาชน


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 7-13 มิถุนายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ว่าด้วยการลุกขึ้นสู้ของประชาชน (2)

ว่าด้วยการลุกขึ้นสู้ของประชาชน (2)
"กบฏผีบุญ" กับเทวนิยมและไสยศาสตร์

ความแตกต่างในสถานภาพทางสังคมระหว่างทาสกับเจ้าขุนมูลนาย ที่เริ่มจากการแต่งกาย ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนเลิกไพร่และทาส

หลังจากผู้เขียนค้นคว้าและเรียบเรียงงานเขียนว่าด้วย "กบฏชาวนา" หรือ "กบฏผีบุญ" หรือ "กบฏผู้มีบุญ" ที่เกิดขึ้นในสยาม/ไทย มาถึงตอนจบ "กบฏผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน" กบฏสุดท้ายก่อนยุคคอมมิวนิสต์ (4) ตีพิมพ์ใน โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 9 (15) ฉบับที่ 464 วันที่ 17-23 พฤษภาคม 2557 รวมทั้งสิ้น 91 สัปดาห์ โดยรวมเป็นความพยายามนำเสนอเหตุการณ์จากแหล่งข้อมูลบนความจำกัดตามลักษณะพิเศษของสังคมไทยที่อนุญาตให้การศึกษาทางประวัติศาสตร์มีลักษณะ "ด้านเดียว" และ "ติดกับดัก" กับ "อคติ" ของประวัติศาสตร์จิตนิยม

ทั้งนี้ ในระหว่างงานเขียนและตีพิมพ์เผยแพร่ประจำสัปดาห์ ผู้เขียนมีงานเขียนจำนวนหนึ่งมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ทางหลักการต่อทิศทางและแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองกระแสหลักในสังคม ที่ถูกปฏิเสธจากการนำกระแสหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีกที่อ้าง "ประชาธิปไตย" ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยนับจาก "แนวทางฎีกา" ของ นายวีระ (วีรกานต์) มุสิกพงศ์

และในท่ามกลาง "ความไม่เห็นด้วย" เหล่านั้น ทัศนะไม่เอาหลักการ ไม่เอาทฤษฎีการเมือง เป็นประเด็นหลักที่ผู้เขียนค่อนข้างไม่สามารถยอมรับได้ โดยเห็นว่าการนำดังกล่าวไม่อาจยกระดับจิตสำนึกทางการเมืองของมวลชนมากไปกว่า

ประการแรก "การชูตัวบุคคล" ซึ่งก็คือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็น "ผู้ถูกกระทำ" จากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ประการถัดมา สร้าง "วาทกรรมการเมืองรายวัน" ที่เน้น "ความเกลียดชัง" ในตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเสียยิ่งกว่าการทำความเข้าใจในหลักการ เปรียบเทียบระหว่างการเมืองสองระบอบ คือประชาธิปไตย กับปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

ประการสุดท้าย อาศัย "การปลุกระดม" ผ่าน "แกนนำ/นักการเมือง" ที่นิยมในตัว พ.ต.ท. ทักษิณ ดังกล่าวแล้ว สร้าง "ศัตรูทางการเมือง" เป็นครั้งๆ ไป การตรวจสอบ/ทบทวนเป้าหมายการเคลื่อนไหวนับจากปี พ.ศ. 2551 จะทำให้เห็นประเด็นนี้ชัดเจน

สำหรับ โลกวันนี้ วันสุข ฉบับนี้ ขออนุญาตนำข้อเขียนเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ในหัวข้อ "ระบบคิดอเทวนิยม" กับการสถาปนา "ระบอบประชาธิปไตย" เพื่อให้พิจารณาและวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง อันอาจจะประโยชน์ต่อพัฒนาการของขบวนประชาชาติประชาธิปไตยในอนาคตจากนี้ไป
**********
ในท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมือง จะโดยสันติวิธีค่อยเป็นค่อยไป หรือจะโดยความรุนแรงพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินก็ตาม ศูนย์รวมทางนามธรรมที่ขาดไม่ได้คือ "อุดมการณ์" ทางการเมือง

ในอดีตที่ผ่านมาจากยุคทาส ยุคศักดินาสวามิภักดิ์ และยุคราชาธิปไตย อุดมการณ์ที่ว่านั้น ล้วนขึ้นต่อ และมีรากฐานมาจากความคิดแบบ "จิตนิยม/เทวนิยม" ทั้งสิ้น ความชอบธรรมที่มักใช้อ้างทั่วทุกภูมิภาคของโลกคือ ผู้นำในการลุกขึ้นสู้เพื่อโค่นล้มระบบการปกครองหรือผู้ปกครองเก่าได้รับ "โองการสวรรค์" หรือมี "นิมิตจากฟ้า" ในระบอบ "เทวสิทธิ์" หรือในหลายประเทศถึงกับอ้างความเป็น "อวตาร" (เช่นในญี่ปุ่นหรือในอินเดีย หรือแม้แต่รัฐดั้งเดิมในดินแดนสุวรรณภูมิ)

การลุกขึ้นสู้หลายครั้งประสบความสำเร็จ สามารถสถาปนา "ราชวงศ์" ใหม่ขึ้นมาปกครองอาณาจักร ในขณะที่อีกหลายสิบ หลายร้อยครั้ง ประสบความปราชัยกลายเป็น "กบฏชาวนา" หรือ "กบฏขุนนาง" หรือบางอย่างในลักษณะเดียวกัน

กระทั่งประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ช่วงรอยต่อระบบสังคมมสองระบบในยุคสมัยที่คาบเกี่ยวกัน คือการเกิดขึ้นของอุมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นตามมาจากการพังทลายของแนวคิดจิตนิยมทุกๆ สำนัก แทบจะโดยทันทีในท่ามกลายการถูกกัดกร่อนบ่อนทำลายตัวเองของปรัชญาเทวนิยม พร้อมกับการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมใน "โองการสวรรค์" จากมวลชนผู้ถูกปกครองจำนวนมหาศาล ที่สืบเนื่องการถูกกดขี่ขูดรีดนับจากยุคทาส ยุคศักดินา จนถึงยุคราชาธิปไตย แนวคิดของนักคิดคนสำคัญฝ่ายประชาธิปไตยก็เริ่มก่อรูปขึ้นมาภายใต้พัฒนาการ ของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ จากนั้นการประดิษฐ์คิดสร้างจากสมองและสองมือของมนุษย์ จึงนำพามนุษย์ก้าวพ้นขีดจำกัดของการเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตตามยถากรรมไปทันที

พร้อมกับการประกาศอย่างทรนง ซึ่งปรัชญามนุษยนิยม อันเป็นพัฒนาที่เลี่ยงไม่ได้ของมาจากปรัชญาธรรมชาตินิยม ทั้ง 2 กระแสปรัชญาหลังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการและยุคแห่งความรู้แจ้ง ซึ่งก่อรูปและพัฒนาขึ้นมาภายใต้การตระหนักรู้ทีละน้อยว่า ภูตผีปิศาจ หรือเทวดานางฟ้า หรือแม้แต่พระเจ้าที่ถูกสร้างขึ้นให้อยู่เหนือธรรมชาติและทรงมหิทธิานุภาพ ล้วนมีขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายให้มนุษย์จำนวนมากถูกทำให้เป็นเพียง "ผู้ถูกปกครอง" จากการ ปกปิด บิดเบือน และมอมเมา ด้วยปรัชญาเทวนิยมทั้งหลายเหล่านั้น ที่มีเป้าหมายในที่สุดในการสร้างขึ้นเพื่อมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ใช้เป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือเทวสิทธิ์ "กด" มนุษย์ที่ถูกถือว่าต่ำต้อยน้อยหน้ากว่ามาเป็นเวลานับพันปี

และการลุกขึ้นสลัดโซ่ตรวนของปรัชญาเทวนิยมนี้เอง คือพันธกิจของนักปฏิวัติประชาธิปไตยทั้งปวงในการการทำลายห่วงโซ่ข้อแรก และเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่งต่อลุกขึ้นปลดแอกในขอบเขตจิตสำนึกของผู้ถูก ปกครอง เปลี่ยนผ่านผ่านสู่ความเป็น "เสรีชน" เพื่อถามหากระบวนการปกครองตนเอง นั่นคือ...

"ระบอบประชาธิปไตย"

(ผู้เขียน) ขอประกาศคัดค้านแนวคิด "จิตนิยม/เทวนิยม" ทุกสำนักในขบวนแถวประชาธิปไตย ด้วยมีแต่สองมือมนุษย์เท่านั้นที่จะสรรค์สร้างและจรรโลงอารยธรรมมนุษย์ ไปสู่คุณภาพใหม่ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ สวรรค์และเทพเจ้าทั้งหลาย ล้วนอุปโลกน์ขึ้นเพื่อชนชั้นที่กดขี่ขูดรีดเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองเสมอมาในประวัติศาสตร์

ขอเรียกร้องไปยังมิตรสหายในขบวนประชาธิปไตยประชาชน เรือนแสนเรือนล้าน ให้หยุดกระบวนการบิดเบือนและมอมเมา ด้วยความคิดที่จำแนกมนุษย์ด้วยกันเป็นชนชั้น ผ่านบุคลาธิษฐานหลากหลายในเทพปกรณัม ทั้งเก่าและใหม่ พร้อมกับการสร้าง "ระบบคนกินคน" ในสังคมที่จมปลัก ดักดาน และล้าหลังทุกขอบเขตปริมณฑล

ประชาชน ทั้งหลาย จงหยุดเชิดชูความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งไม่มีอยู่จริงจากนอกฟ้าป่าหิมพานต์ เพื่อจักได้ลืมตาตื่นจากความงมงายและการร้องขอและเฝ้ารอ ยืนหยัดอย่างท้าทายต่อธรรมชาติและอารยธรรมที่จะสถาปนาระบอบการปกครองที่ เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
**********
ผู้เขียนเคยวิพากษ์มาก่อนหน้านี้แล้ว ครั้งที่ "หมอดูฟันธงขึ้นเวที นปช. ที่สะพานชมัยมรุเชฐ์" ก่อนกรณีสงกรานต์เลือด 2552 ประกาศว่า "รัฐบาลอภิสิทธิ์ฯ จะอยู่ไม่เกิน 7 วัน" ตามมาด้วยกรณี "นปช. แจกจตุคามรามเทพ" รวมทั้งกระบวนการจิตนิยม/ไสยศาสตร์อื่นๆ

สำหรับความจำเป็นในขบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองใดๆ ก่อนอื่นคือ "ระบบคิด" ที่ก้าวหน้ากว่า มีความเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งวิทยาศาสตร์กายภาพและวิทยาศาสตร์สังคม สอดคล้องกับพัฒนาการของอารยธรรมของมนุษย์มากกว่าเป็นสำคัญ.
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 24-30 พฤษภาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ว่าด้วยการลุกขึ้นสู้ของประชาชน (1)

ว่าด้วยการลุกขึ้นสู้ของประชาชน (1)
"กบฏผีบุญ" ในประวัติศาสตร์

ภาพพิมพ์แกะไม้ญี่ปุ่นสมัยเมจิ แสดงเครื่องแบบทหารนานาชาติที่เข้าร่วมปราบกบฏนักมวยพร้อมธงประจำทัพเรือของตนในปี ค.ศ. 1900 (จากซ้ายไปขวา - แถวบน) อิตาลี, ออสเตรีย-ฮังการี, เยอรมนี, รัสเซีย (แถวล่าง) สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/10/BoxerTroops.jpg

ผู้เขียนเริ่มต้นค้นคว้าและเรียบเรียงงานเขียนว่าด้วย "กบฏชาวนา" หรือที่เรียกกันว่า "กบฏผีบุญ" หรือ "กบฏผู้มีบุญ" ที่เกิดขึ้นในสยามและที่ต่อมาเปลี่ยนเป็นไทยหลังการอภิวัฒน์ 2475 ไม่ถึง 1 ทศวรรษ ทั้งนี้ด้วยจุดมุ่งหมาย ประการแรก เพื่อเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้าในสภาพการที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากแหล่งข้อมูลสำหรับคนธรรมดาสามัญนั้นยังไม่เปิดกว้างพอ และจุดมุ่งหมายประการที่สอง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเรื่องนี้กับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์และปรารถนาเห็นพัฒนาการของสังคมไทยบนรากฐานที่เป็นไปได้และเป็นจริง ทั้งนี้ ผู้เขียนเคยเขียนและพูดในที่สาธารณะมาไม่น้อยครั้งว่า "ถ้าไม่รู้อดีต จะไม่เข้าใจปัจจุบัน และมองไม่เห็นอนาคต"

บทความชิ้นแรกในงานชุดนี้ ตีพิมพ์ใน โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 7 (13) ฉบับที่ 373 วันที่ 18-24 สิงหาคม 2555 โดยเริ่มต้นย่อหน้าแรกไว้ว่า:
ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกับนิยาม "กบฏ" เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่เป็นเอกภาพสำหรับข้อเขียนชิ้นนี้ เนื่องจากคำว่า "กบฏ" ครอบคลุมความหมายอยู่หลายบริบทที่หมายถึง "การยึดอำนาจการปกครองที่ไม่สำเร็จ" ไม่ว่าการยึดอำนาจนั้นจะมีจุดมุ่งหมายหรือเนื้อหา "เปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง" หรือเพียงแต่ "เปลี่ยนมือผู้กุมอำนาจการปกครอง" แต่ทั้งนี้ เนื้อหาที่มีลักษณะร่วมประการสำคัญคือเป็นการ "ลุกขึ้นใช้กำลังอาวุธเข้าโค่นล้มอำนาจการปกครองเดิม" โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในหมู่ "ผู้ปกครอง" หรือ "การลุกขึ้นสู้" โดยผู้คนธรรมดาสามัญชนหรือข้าทาสบ่าวไพร่ที่เป็น "ผู้ถูกปกครอง"
**********
และทิ้งท้ายไว้ที่ 2 ย่อหน้าสุดท้ายว่า:
ในการลุกขึ้นสู้ทุกครั้ง รวมทั้ง 3 ครั้งดังกล่าว (คือ กบฏพรรคดอกบัวขาว ค.ศ. 1794, กบฏไท่ผิง ค.ศ. 1851 และ กบฏนักมวย ค.ศ. 1898) กล่าวได้ว่าเกิดขึ้นจากการถูกสภาพแวดล้อมบังคับกดดันอย่างหนัก และหาทางออกด้วยการล้มล้างสังคมเก่านั้น...
 กบฏทั้งหมดใช้ไสยศาสตร์นำ และถูกปราบราบคาบ.
**********
และก่อนหน้านั้นหนึ่งสัปดาห์ ผู้เขียนเขียนบทความเรื่อง "เทวสิทธิ์ในระบอบราชาธิปไตยกับอเทวนิยมของประชาธิปไตย" ตีพิมพ์ใน โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 7 (13) ฉบับที่ 372 วันที่ 1-17 สิงหาคม 2555 โดยเริ่มต้อน 2 ย่อหน้าแรกไว้ดังนี้:
แนวคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาพร้อมปรัชญาลัทธิมนุษยนิยม (Humanism) ที่ถือกำเนิดและมีอิทธิต่อสำนักคิดทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ในซีกโลกตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และพัฒนาไปสู่ลัทธิธรรมชาตินิยม (Physiocracy) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทั้ง 2 กระแสปรัชญาหลังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึง 17 และยุคแห่งความรู้แจ้ง (The Age of Enlightenment) ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง 18 ซึ่งก่อรูปและพัฒนาขึ้นมานับจากมนุษย์ ทำลาย "พระเจ้า" ในรูปการจิตสำนึกลงไปได้ พร้อมกับการล่มสลายของปรัชญาเทวนิยมซึ่งครอบงำอารยธรรมโลกตะวันตกมานับพันปี
นั่นหมายความว่า ประชาธิปไตยนั้นมาพร้อมปรัชญาลัทธิอเทวนิยม (Atheism)
**********
ประเด็นที่ผู้เขียนพยายามนำเสนอต่อผู้อ่าน มีเป้าหมายอยู่ที่การศึกษาการเกิดและการพัฒนาของปรัชญาและระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นจริงในเส้นทางอารยธรรมของมนุษยชาติ อย่างน้อย ในห้วงเวลาประมาณ 4 ศตวรรษจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบทสรุปที่สำคัญ (และเขียนขยายความในเวลาต่อมาในเว็บบอร์ด http://arinwan.info/index.php?topic=528.0 (ถูกโจมตีพร้อมกันในขนาดมหึมา จนเว็บล่ม และกู้คืนทุกอย่างไม่ได้มาจนทุกวันนี้) ในหัวข้อ "หยุดบิดเบือนและมอมเมาการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย") จากประสบการณ์ 42 ปีนับจากการเข้าร่วมเคลื่อนไหวคัดค้าน "ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299" โดยคณะรัฐประหารภายใต้การนำของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ในเดือนธันวาคม 2515 คือ:
นี่คือประวัติอารยธรรมของมนุษยชาติในรอบ 1 สหัสวรรษ ทันทีที่ปรัชญาเทวนิยมล่มสลายลง แนวคิดของนักคิดคนสำคัญฝ่ายประชาธิปไตยก็เริ่มก่อรูปขึ้นมาภายใต้พัฒนาการของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ จากนั้นการประดิษฐิคิดสร้างจากสมองและสองมือของมนุษย์ จึงนำพามนุษย์ก้าวพ้นขีดจำกัดของการเป็นเพียงสิ่งมีชีวิต "ตามยถากรรม" ไปทันที
 เมื่อมนุษย์ตระหนักว่าภูตผีปิศาจ หรือเทวดานางฟ้า หรือแม้แต่พระเจ้าที่ถูกสร้างขึ้นให้อยู่เหนือธรรมชาติและทรงมหิทธิานุภาพ ล้วนมีขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายให้มนุษย์ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ จากการที่ปรัชญาเทวนิยมทั้งหลายเหล่านั้น ถูกสร้างเพื่อมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ใช้เป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือเทวสิทธิ์ "กด" มนุษย์ที่ถูกถือว่าต่ำต้อยน้อยหน้ากว่า มาเป็นเวลานับพันปี
การลุกขึ้นสลัดโซ่ตรวนของปรัชญาเทวนิยมนี้เอง ที่เป็นการทำลายห่วงโซ่ข้อแรก และเป็นการลุกขึ้นปลดแอกในขอบเขตจิตสำนึกเยี่ยงผู้ถูกปกครอง ขึ้นสู่การถามหากระบวนการปกครองตนเอง นั่นคือ... 
"ระบอบประชาธิปไตย"
**********
ไสยศาสตร์/จิตนิยม/เทวนิยม สร้างประชาธิปไตยไม่ได้ การปฏิวัติประชาธิปไตย ก่อนอื่น คือทำลายพระเจ้า ทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้หมด ปาฏิหาริย์มีเพียงประการเดียว คือ พลังประชาชน
ปรัชญาการเมืองประชาธิปไตย ถือกำเนิดขึ้นบนความล่มสลายของระบอบราชาธิปไตยทั้งมวลในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นผลตามมาของการพังทลายของปรัชญาเทวนิยมที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และผูกขาดความถูกต้องชอบธรรมแบบสัมบูรณ์ โต้แย้งไม่ได้ ภายใต้กฎของพระผู้ทรงมหิทธานุภาพ.
**********
ฝ่ายเผด็จการอำมาตย์เชื่อในเทวนิยม เป็นปรัชญาจิตนิยม/ไสยศาสตร์; ฝ่ายประชาธิปไตย เป็นอเทวนิยม เป็นปรัชญาวัตถุนิยม/วิทยาศาสตร์
กรุงวอชิงตันไม่มี "ศาลหลักเมือง" และไม่มี "ผูกดวงเมือง"; คำประกาศ 4 กรกฎาคม 1776 ที่ฟิลาเดลเฟีย ไม่มีการวางฤกษ์...
ถ้าอยากสร้างประชาธิปไตย ต้องหยุด "เทวนิยม" ในระบบคิดของเราให้ได้ นั่นคือต้องหยุด "ผี/เทวดา" ในใจให้ได้ก่อน... เริ่มต้นความเชื่อมั่นศรัทธาในมนุษย์ แล้วเราจึงจะเชื่อมั่นพลังของเราเอง พลังประชาชน ที่มีลักษณะเป็นดินเหนียว ไม่ใช่ทรายร่วนอีกต่อไป
หยุดจิตนิยม/เทวนิยม ทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้หมดไป ปลดปล่อยพลังแห่งมนุษยภาพให้เต็มที่ ประชาธิปไตยย่อมบังเกิด
อย่าเอาไสยศาสตร์ไปสู้ไสยศาสตร์ อย่าสร้างผีตัวใหม่ไปสู้ผีตัวเก่า อย่าใช้เผด็จการไปสู้เผด็จการ; ใช้วิทยาศาสตร์สู้ไสยศาสตร์ ใช้คนไปสู้ผี และใช้ประชาธิปไตยสู้เผด็จการ; ชัยชนะจึงจะอยู่ในวิสัยที่พูดถึงได้.
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 24-30 พฤษภาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (92)

"กบฏผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน"
กบฏสุดท้ายก่อนยุคคอมมิวนิสต์ (4)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีเจ้าของฉายา "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" ที่ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ (รัฐประหาร)

บล็อกเกอร์ http://hello-siam.blogspot.com/2008/03/2502.html เขียนถึงจุดจบ "กบฏผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน" ในหัวข้อเดิม "กบถผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน เมื่อปี พ.ศ. 2502 - ย้อนรอยอดีต กบถผีบุญที่โชคชัย โคราช" โพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2551 โดยอ้างอิงที่มาขอบทความไว้ตอนท้ายไว้ว่า "วันเวลา ข้อความคำพูด ตามที่เขียนเรื่องกบถคนอีสานที่ ธนาคม ได้เรียบเรียงไว้ - โดย : P. Phupharn - ที่มา: http://lmsonline.nrru.ac.th/board/index.php?topic=1445.msg5625 – หมายเหตุ การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ" ซึ่งปัจจุบันไม่อาจเปิดลิงค์ไปยังเว็บบอร์ดดังกล่าวได้แล้ว ไว้ดังนี้

(หมายเหตุ: สรรพนาม "ผม" ในเนื้อหาเป็นของเจ้าของและผู้เขียนบล็อก)
**********
นายศิลายอมรับว่าที่เกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นเพราะชาวบ้านที่โกรธแค้นทางอำเภอเรื่องที่ทำกินที่ทางอำเภอไม่ให้ เลยรุมทำร้ายเจ้าหน้าที่แม้ว่าตนจะห้ามปรามแล้วชาวบ้านก็ไม่เชื่อ ส่วนความนิยมชมชอบที่ชาวบ้านมีให้อย่างล้นหลามนั้นเนื่องจากตนเป็นคนเรียน วิชาอาคมทางไสยศาสตร์มาเป็นอย่างดี

บ่ายวันเดียวกันนั้น นายศิลา วงศ์สิน ได้มีโอกาสพบนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยซึ่งเป็นโอกาสที่คนธรรมดาสามัญยากที่จะได้พบนายพลผู้มีอำนาจมากที่สุด และผู้มีเรื่องอื้อฉาวทั้งเรื่องผู้หญิงและทรัพย์สินหลังการสิ้นอำนาจวาสนาไปแล้ว

"ลื้อกำแหงมากนะ คิดแบ่งแยกดินแดนล่ะสิ"

คำแรกที่ท่านผู้นำเอ่ย เมื่อพบหน้านายศิลาเมื่อปะหน้าผู้สถาปนาตนเองเป็นผู้นำคนได้เป็นร้อยกับผู้นำคนเป็นล้านจากแดนอีสานด้วยกัน

"ผมไม่เคยคิดเลยครับ"

นายศิลากล่าวขณะก้มลงกราบท่านผู้นำด้วยไปหน้าซีดสลดเป็นไก่ต้มสุกหนีไข้หวัดนก

ท่านผู้นำจ้องหน้าทันทีขณะที่นายศิลาก้มหน้าหลบ

"ถ้าลื้อเป็นผู้วิเศษจริง อมกระโถนหรือวิทยุให้อั๊วดูหน่อยได้ไหม? ถ้าลื้อทำได้อั๊วจะยอมเป็นลูกน้องลื้อ !"

ผมนึกถึงบรรยากาศโรงพักสามยอดตอนนี้นคงยังมีกระโถนวางอยู่แถวๆ นั้น แต่ผมไม่คิดหร็อกว่าจะมีเจ้าหน้าที่ยังเคี้ยวหมากอยู่ เพราะท่านผู้นำคนก่อนได้ประกาศห้ามการกินหมากแล้วถ่มน้ำหมากเปื้อนในที่ สาธารณะแล้ว บรรดาข้าราชการย่อมสนองนโยบายเป็นพวกแรก เว้นชาวบ้านที่ไม่สนใจคำขอของผู้นำคนก่อน ผมเองมีหน้าที่ซื้อหมาก พรูและสีเสียดบ้าง ยาฉุน ปูนแดง และปูนขาวในวันที่คุณยายอยากเคี้ยวหมาก และเป็นมือตะบันหมากในที่ตะบันทองเหลืองให้แขกรุ่นราวคราวเดียวกับคุณยาย ซึ่งบรรดาขแขกของยายผู้ที่อายุขัยของฟันกับอายุขัยของตัวไม่สัมพันธ์กันอยู่บ่อยๆ ตอนเด็กๆ

กระโถน แน่นอนสมัยนั้นกับสมัยนี้ขนาดคงไม่ต่างกันเท่าไหร่ แล้ววิทยุที่ท่านผู้นำจะให้นายศิลาไปอมเพื่อแสดงความวิเศษเหนือคนให้ท่านดู ผมเข้าใจว่าเป็นวิทยุสื่อสาร แบบส่วนบุคคล ซึ่งคงเป็นของเจ้าหน้าที่วางอยู่แถวๆนั้น หรือว่าอาจเป็นวิทยุสื่อสารแบบตั้งโต๊ะ หรือว่าอาจเป็นวิทยุแบบ AM หรือคลื่นสั้นที่ฟังข่าวฟังเพลง ผมก็เดาว่าขนาดใกล้เคียงกับทีวียี่สิบนิ้วสมัยนี้ หากเป็นวิทยุมือถือขนาดก็ต่างจากโทรศัพท์มือถือสมัยนี้สิ้นเชิง เรื่องอมให้ดูนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ผมว่าท่านผู้นำคงมองๆ หาอะไรที่คนธรรมดาอมไม่ได้อยู่แล้ว ขืนเอาที่ให้อมได้โดยใช้ความพยายามสักหน่อยนี่ ท่านผู้นำอาจต้องแย่กลายเป็นลูกน้องจริงๆ ของนายศิลาเข้านี่ อาจยุ่งหนักว่าเดิมก็ได้

"ลื้อมีอะไรจะพูดอีกไหม ! "

นายศิลาไม่ตอบคำถามสุดท้าย จะเพราะยังคิดอะไรไม่ออก หรือคิดออกแต่จะพูดไปก็เท่านั้นไม่มีใครรู้ ใครที่อยากรู้ต้องไปถามเจ้าตัวเขาเอาเอง

เย็นนั้นนายศิลาถูกส่งกลับจากกรุงเทพ มาที่นครราชสีมา

23 มิถุนายน 2502 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 17 ซึ่งเป็นอำนาจที่ให้นายกรัฐมนตรีสั่งลงโทษได้อย่างกว้างขวางและรุนแรง หากเกิดเหตุการณ์กระทบต่อความมั่นคงบ้านเมือง ทำหน้าที่ประหารชีวิต ตัดสินแทนศาลก็ได้เลย แทบจะเรียกว่าเทียบเท่ากับกษัตริย์ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอดีต ไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมทางศาลให้เหนื่อยกันเป็นคณะๆ คอยตีข่าว คอยชี้มูล คอยฟ้อง และเข้าสู่กระบวนการตัดสิน เหมือนสมัยนี้ กฎหมายฉบับนั้นเป็นสัญญลักษณ์ของอำนาจ ของบุคคล "ท่านผู้นำ" คือ "รัฐ" แบบเบ็ดเสร็จ ที่ประเทศเราเคยมีมา

26 มิถุนายน 2502 วันคล้ายวันเกิดของกวีสุนทรภู่ แต่ไม่มีใครจะสนใจเรื่องกาพย์กลอน นายกรัฐมนตรีได้ประกาศถึงประชาชน ที่ใช้อำนาจ มาตรา 17 เพื่อประหารชีวิต นายศิลา วงศ์สิน

เวลาประมาณ 17:00 น. นายศิลา วงศ์สิน ถูกนำตัวไปหลักประหารที่ป่าช้าจีนของนครราชสีมา เมื่อรู้ตัวว่าความตายจะมาถึงตนไม่ช้า ถึงกับเข่าอ่อนไปเลย เจ้าหน้าที่ต้องหิ้วปีกไปเหมือนไก่ อันนี้ท่าจะจริง เคยมีผู้ต้องหาคดีสังหารผู้ว่าราชการจังหวัดคนหนึ่งสมัยรัฐบาลท่านนายกทักษิณ ผู้ร้ายที่เป็นอดีตนายทหารของกองทัพไทย ผู้หันมาเอาดีทางร้ายๆ เคยฝึกอดทนต่อเรื่องอย่างนี้มามาก นั้นตามข่าวเห็นว่าขี้ราดกันเลย ต้องมีคนหิ้วปีกไปเหมือนกัน แต่นายศิลาแค่เข่าอ่อนหมดแรงนี่ยังดูดีกว่ารายคดีสังหารผู้ว่ายโสธร

คดีกบถต่อแผ่นดินไทยจะว่างเว้นมานานแค่ไหน หรือมีบ้างปะปรายตามฝ่ายที่กล่าวหากันทางการเมือง แต่เท่าที่ผู้เขียนจำได้ชัดเจน ก็ตอนที่นายกรัฐมนตรีของไทยคนที่เป็นประธานองคมนตรีอยู่นี่แหละ ที่หัวหน้ากบถมียศตำแหน่งระดับพลเอกถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนผู้ร่วมก่อได้รับการอภัยโทษแต่สามารถโลดแล่นเป็นตัวตน พูดฉอดๆ รักชาติบ้านเมืองอย่างนั้น อย่างนี้อยู่นี่ก็หลายคน ลองหาอ่านเอาเอง มีผู้เขียนเยอะแยะ

กระสุนปืนคาร์บินกว่า 20 นัดพุ่งใส่ร่างของนายศิลา วงศ์สินที่มัดติดอยู่หลักประหาร ปิดคดีกบถผึบุญอีสาน ผู้หาญต่อสู้อำนาจรัฐของอีสาน ณ บ้านใหม่ไทยเจริญ ตำบลสารภี อำเภอโชคชัย นครราชสีมา ที่มีตำนานรวมกันกับกบถหลายคน ว่างๆ จะเอากบถเชียงแก้ว ชายผู้ผ่านชีวิตนักบวชเป็นเณรน้อยแต่เปลี่ยนใจเดินทางธรรม หันมาเอาดีทางการเมืองเป็นผู้นำผู้คนต่อต้านอำนาจกษัตริย์หลายๆ ราชสำนัก และนำกำลังยึดเมืองต่างๆ ในประเทศราชไทย จนมาพ่ายแพ้ต่อทางการไทย ที่สนามรบแก่งตะนะ ใต้เขื่อนปากมูล ลองดูภาพสมรภูมิระหว่างเชียงแก้วกับกองทหารของราชอาณาจักรไทยไปพลางๆ ภาพที่ผู้เขียนที่เพิ่งถ่ายอาทิตย์ที่แล้วไปก่อน
(จบ)
น่าเสียดายที่การศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา ทำได้อย่างค่อนข้างยากลำบาก โดยเฉพาะสำหรับประชาชนธรรมดาที่ไม่มีดีกรีระดับสูงๆ ทางการศึกษาในระบบ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลจำนวนมากอาจค้นได้จากสถาบันที่เป็นทางการในต่างประเทศด้วยซ้ำไป เป็นเหตุให้คุณลักษณะสำคัญของ "สังคมที่มีที่มาที่ไป" ของไทย กลายเป็นเรื่อง "ปกปิด" ที่พูดไม่ได้ เผยแพร่ต่อสาธารณะ "ไม่ได้" มาช้านาน

แม้จนเมื่อมีการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบรัฐธรรมนูญสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ข้อเท็จจริงในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ทั้งหลายนับแต่นั้นมา ยังคงถูก "ปกปิดบิดเบือน" มาจนแม้ในการ "รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549" นี้เอง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 17-23 พฤษภาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (91)

"กบฏผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน"
กบฏสุดท้ายก่อนยุคคอมมิวนิสต์ (3)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการแถลงข่าววันที่ 1 มีนาคม 4 วันหลังจากการประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 โดยมี พลโท หม่อมหลวง ขาบ กุญชร (ซ้ายสุด) ร่วมรับฟัง (ภาพถ่ายโดย John Dominis ที่มา: LIFE Picture Collection)

บล็อกเกอร์ http://hello-siam.blogspot.com/2008/03/2502.html บรรยายเหตุการณ์ "กบฏผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน" ต่อไป ด้วยจุดยืนพิจารณาการเคลื่อนไหวนี้เป็น "กบฏ" ที่ต้องการแยกตัวออกจากการปกครองของรัฐไทย โดยเน้นไปที่การประกาศตนเป็น "ผู้มีอิทธิฤทธิ์" หรือ "ผู้มีบุญ" หรือที่ฝ่ายอำนาจรัฐเรียกว่า "ผีบุญ" มาตั้งแต่หลังการสถาปนาอำนาจรัฐรัตนโกสินทร์ และตั้งตนเป็นกษัตริย์ดังได้กล่าวมาแล้ว

(หมายเหตุ: สรรพนาม "ผม" ในเนื้อหาเป็นของเจ้าของและผู้เขียนบล็อกเกอร์)
**********
เจ้าหน้าที่ตะโกนประกาศเสียงดังให้ชาวบ้านเดินเรียงแถวออกมามอบตัวและวางอาวุธ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้น ประกาศหลายครั้งก็ไม่เห็นจะมีวี่แววว่าจะมีชาวบ้านคนใดออกมามอบตัว

หมู่บ้านใหม่ไทยเจริญยุคนั้นที่กบถผีบุญภายใต้การนำของนายศิลา ผู้ประกาศตนอ้างเอาแผ่นดินของหมู่บ้านใหม่ไทยเจริญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ของนครราชสีมาและของโลกมาเป็นเจ้าของ อ้างเป็นเจ้าแผ่นดิน ตามธรรมเนียม และแสดงอภินิหารให้คนเห็นและอ้างว่าตนเป็นผู้วิเศษสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ของชาวบ้านได้ นอกจากแนวป่าพ้นหมู่บ้านไปก็เป็นที่โล่งที่ชาวบ้านหักร้างถางพงกับแนวป่าของหมู่บ้าน

กองกำลังของเจ้าหน้าที่เคลื่อนตัวพร้อมกันบีบเข้าไปล้อมหมู่บ้านตามคำสั่งของท่านผู้กำกับ การ ตำรวจภูธร ภาค 3 พลตำรวจจัตวามุข ห่างจากหมู่บ้านราว 300 เมตร เสียงปืนพร้อมห่ากระสุนก็ระดมยิงออกมาจากหมู่บ้านใส่เจ้าหน้าที่ทั้งหมด เจ้าหน้าที่ยิงโต้ตอบพร้อมกับเข้าที่กำบัง เพราะการบุกเข้าไปจากที่โล่ง ฝ่าเข้าไปแนวดงไม้ทึบชายหมู่บ้านเป็นปราการกีดขวางธรรมชาติชั้นดี ตอนนี้อย่าลืมนึกถึงฉากยิงภูเขา เผากระท่อมของหนังไทยยุคเก่าๆ การต่อสู้แบบหูดับไหม้อาวุธนานาชนิดของเจ้าหน้าที่มากมาย กับกองกำลังชาวบ้านพรรคพวกของกบถผีบุญ

การสู้รบล่วงเลยมาจนบ่าย เจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนการบุกไปแล้วหลายระลอกแต่ก็ไม่เป็นผล หากพลบค่ำการสู้รบยังไม่จบอาจเกิดผลกระทบอื่นต่อทางราชการ สถานการณ์อาจขยายตัวบานปลายเป็นอย่างอื่นต่อไปอีก

เจ้าหน้าที่ต่างนำอาวุธหนักที่เจ้าหน้าที่สมัยนั้นมีออกมาใช้บุก ทั้งปืนกลหนัก ปืนกลเบาและเครื่องยิงจรวดต่อสู้แบบบาซูก้าเป็นหลัก หลังการระดมยิงไม่นานแนวป้องกันของกลุ่มกบถผีบุญด้านป่าละเมาะของหมู่บ้าน เริ่มต้านการบุกของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่อยู่ หากว่าเจ้าหน้าที่เอาจริงเอาจังไม่เน้นการสมานฉันท์แบบไม่ลืมหูลืมตา ใช้กฎหมายเป็นกฎหมายเมื่อไหร่ ความสำเร็จก็ต้องเป็นของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แนวต้านของกบถผีบุญเริ่มแผ่วและถอนกำลังกันเข้าไปในหมู่บ้าน จนเจ้าหน้าที่รุกคืบแนวต้านก่อนเข้าหมู่บ้านได้ทั้งหมด

ใกล้ห้าโมงเย็นเจ้าหน้าที่สามารถบุกเข้าไปในหมู่บ้านได้ ฝ่ายกบถเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน จับได้ 38 คน โดยมีหญิง 15 คนชาย 6 คน และ 17 คน อีกส่วนหนึ่งที่แข็งแรงพอจะสู้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ ยังไม่วางอาวุธเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ป่าใกล้หมู่บ้านจับได้อีก 40 คน

นายศิลา หัวหน้ากบถพร้อมกับญาติๆ ผู้ทำให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องเหนื่อยในวันสิ้นเดือนพอดี ไม่มีเวลาไปคิดเรื่องเงินเดือนจะพอใช้หนี้หรือเปล่าในเดือนนั้น สามารถนำกำลังคนสนิท 10 คนตีฝ่าวงล้อมเจ้าหน้าที่ออกไปได้ เก่งสมกับเป็นหัวหน้าพอสมควร สามารถหนีไปได้อย่างลอยนวล

สื่อหนังสือพิมพ์สมัยนั้นไม่รู้จะเอียงเหมือนสมัยนี้หรือเปล่าไม่รู้ ได้ลงข่าวเหตุการณ์การสู้รบใหญ่โต ของกลุ่มกบถผีบุญผู้กล้าท้าทายอำนาจรัฐ ที่ผีบุญยุคนั้นหาใช่พวกอ้างกฎหมาย อ้างสิทธิมนุษยชนอะไรเหมือนสมัยนี้ ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายจนเกิดเป็นจลาจล สื่อหลายฉบับได้สวดเจ้าหน้าที่บ้านเมืองของนครราชสีมา ถึงการเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เอาใจไปตีกอล์ฟ ไม่ใส่ใจ หูไวตาไวในการดูแลทุกข์สุขราษฎรปล่อยให้มีการรวบรวมสมัครพรรคพวกเป็นร้อย ต่อสู้กับบ้านเมืองได้ขนาดนี้

ข่าวหลายกระแสบอกว่านายศิลาหนีเข้าประเทศลาวไปแล้ว บางกระแสบอกว่าเข้าชายแดนเส้นทางเขมรเพราะชำนาญเส้นทางนี้เป็นพิเศษ บ้านเมืองต้องระดมส่งสายสืบไปตามควานหาตัวให้เจอ

หลังการสู้รบเจ้า หน้าที่ได้เข้าตรวจค้นหมู่บ้าน พบปืนยิงเร็ว ปืนเก็บเสียงและเอกสารทางศาสนาและตำราพวกคาถาอยู่ยงคงกระพันเจ้าหน้าที่จึง เก็บไว้เป็นหลักฐาน

ตำรวจได้ระดมกำลังกันตามล่านายศิลา ผีบุญผู้ท้าทายอำนาจรัฐอยู่ด้วยความยากลำบาก กว่ายี่สิบวันที่นายศิลาพาลูกเมียพี่น้อง 7-8 คน รอนแรมในป่าลึกด้วยความยากลำบากหนีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเช่นกัน แล้วก็จนมุมเจ้าหน้าที่ในวันที่ 20 มิถุนายน 2502

เช้าวันที่ 21 มิถุนายน นายศิลาก็ถูกนำตัวมาจากอุบล ถึงนครราชสีมาเพื่อให้ท่าน พลตำรวจตรีประชา บูรณะธนิต ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 3 ที่รอสอบอยู่นานหลายวันแล้ว ก่อนที่จะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว

"ความผิดของนายศิลา ที่ทำตนเป็นผู้วิเศษหรือผีบุญนี้มีโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต แม้จะรับสารภาพก็ไม่อาจได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ"

คำสัมภาษณ์ดังกล่าวผมไม่แน่ใจว่ามีสื่อประเภทบันทึกเสียงหรือเปล่า หากเป็นสมัยนี้อาจมีภาพมีเสียงประกอบแน่นอน แต่นั่นมันยุคห้าสิบกว่าปีที่แล้วแต่ความคิดเรื่อง ความเชื่อของวิเศษขลังๆ ผู้วิเศษหากคิดเป็นสัดส่วนจำนวนประชากรตอนนั้นสิบกว่าล้าน กับตอนนี้หกสิบกว่าล้านคิดว่าเปอร์เซ็นไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ แน่นอนคนมาก จำนวนมากเวลามีข่าวผู้มีบุญ หรือของวิเศษที่ไหน ภาพประกอบจำนวนผู้คนศรัทธาแก่กล้ารอตัวดีๆ หรือคำพูดเด็ดๆ เอาไปตีความเสี่ยงโชคกับหวย กับเบอร์จะมากเป็นพิเศษ

สายของ วันที่ 22 มิถุนายน 2502 นายศิลา วงศ์สิน ก็มีผู้นำตัวไปเที่ยวกรุงเทพแบบขาดอิสรภาพที่กองปราบสามยอด ศิลาปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า ได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์อย่างหนักแน่น
"มิได้เป็นกบถหรือแบ่งแยกดินแดนอย่างที่กล่าวกัน"
ข้อความที่โค้ดไว้ และวันเวลานี่จากสื่อที่คุณธนาคมเจ้าของหนังสือ กบถอีสาน ได้เรียบเรียง ผมไม่แน่ใจว่าคนอืนสมัยนั้น จะพูดภาษากลางหรือคนภาคกลางจะเข้าใจคำภาษาถิ่นอีสานทุกคำเหมือนสมัยนี้ เพราะสมัยนี้ศัพท์หลายคำเหมือนกันเพียงสำเนียงต่างที่ต่างถิ่นเท่านั้น ในอดีต คำเดียวกัน ต่างที่ต่างถิ่น คนละความหมายกันเลยเช่น คำว่าแพ้ ภาษาลาว หรืออีสาน แปลว่าชนะ "เอ็งตีแพ้หมอนี่ไหม?" ตอบว่าแพ้ คือ ว่าสู้หมอนั่นได้ คือ ชนะ นั่นเอง
(ยังมีต่อ)
ประเด็นหนึ่งที่นับว่าน่าสนใจ เมื่อบล็อกเกอร์บรรยายถึงบทบาทของสื่อมวลชนในสมัยนั้น ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จหลังการรัฐประหาร (ซ้ำ) ที่นำโดย "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ดูจะ "เร่งรัด" การปราบปรามอย่างรุนแรงเด็ดขาดต่อการก่อการของนายศิลาฯ โดยอ้างอิงว่า

"สื่อหลายฉบับได้สวดเจ้าหน้าที่บ้านเมืองของนครราชสีมา ถึงการเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เอาใจไปตีกอล์ฟ ไม่ใส่ใจ หูไวตาไวในการดูแลทุกข์สุขราษฎรปล่อยให้มีการรวบรวมสมัครพรรคพวกเป็นร้อย ต่อสู้กับบ้านเมืองได้ขนาดนี้".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 10-16 พฤษภาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (90)

"กบฏผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน"
กบฏสุดท้ายก่อนยุคคอมมิวนิสต์ (2)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำคณะทหารและนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง แม้จะไม่ได้อยู่ในอำนาจนานที่สุด แต่เป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้อำนาจเผด็จการอย่างถึงที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

เรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์นอกตำราของเหตุการณ์ "กบฏผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน" จากบล็อกเกอร์ http://hello-siam.blogspot.com/2008/03/2502.html บรรยายต่อไป ซึ่งดูจะเป็นจุดยืนด้านเดียวของฝ่ายอำนาจรัฐ ที่เห็นประชาชนเป็นเพียง "ราษฎรผู้ถูกปกครอง" มากกว่า "พลเมือง" หรือ "ประชาชนในระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งเป็น "แว่นสี" ที่เห็นการเคลื่อนไหวของราษฎรสามัญไกลปืนเที่ยงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจาก "กบฏชาวนา" หรือ "กบฏไพร่"

เช้าวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 นายเลิศ พุกกะรัตน์ นายอำเภอโชคชัย พร้อมคณะที่มีเพียงอาวุธปืนประจำกายจำนวนหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ร้อยตำรวจเอกประเสริฐ สุนทรเสรี ผู้บังคับกองตำรวจโชคชัย, นายเทพ หาญณรงค์ ปลัดอำเภอโชคชัย, นายหวล แก่นกระโทก ป่าไม้อำเภอ, นายฉ่ำ สุขกระโทก ผู้ใหญ่บ้าน, นายผ่อง เกณฑ์กระโทก ครูใหญ่โรงเรียนประชาบาล และชาวบ้านอีกสามคนจากอำเภอโชคชัย จึงเดินเข้าไปหารายละเอียดจากข่าวสารที่ได้รับ

เมื่อไปถึงพื้นที่หมู่บ้านใหม่ไทยเจริญที่นายศิลาประกาศเป็นอาณาจักรเป็นเวลาใกล้เที่ยง ในการบรรยายของข้อเขียนที่ค้นมาข้างต้น เขียนถึงความทารุณโหดร้ายของฝ่ายประชาชนฝ่ายก่อการในข้อหากบฏ และแนวทางการดำเนินการของรัฐบาล "ปฏิวัติ" ภายใต้การนำของ "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีอำนาจตามธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว มาตรา 17 อย่างเด็ดขาดที่มีนัย "ถือโอกาสตัดไม้ข่มนาม ให้ศัตรูทางการเมืองเห็น" ไว้ดังนี้
**********
จะด้วยคิดว่าคงไม่มีเหตุร้าย เพราะนั่นคือ "เจ้านาย" เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งสมัยก่อนเป็นที่ยำเกรงของชาวบ้านเป็นอันมาก หรือเพราะว่าเป็นเจตนาที่จะไม่ให้มีการระแวงกัน ดังนั้นการเข้าไปโดยปราศจากอาวุธ เพียงแค่ปืนไม่กี่กระบอก นอกนั้น ในคณะก็ไปมือเปล่า พากันไปหมู่บ้านใหม่ไทยเจริญ โชคชัยในเช้าวันนั้น

ใกล้เที่ยง คณะที่ไปจากอำเภอโชคชัยก็เข้าไปถึงหมู่บ้านป้อมค่ายของนายศิลา เห็นมีชายฉกรรจ์ในชุดเตรียมพร้อมอยู่แล้วแต่นายอำเภอได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ใจเย็นและแสดงกิริยาที่เป็นมิตรกับชาวบ้านแบบเอาน้ำเย็นเข้าลูบก่อนเข้าไปคลี่คลายเรื่องร้าย

นายอำเภอและ ร.ต.อ.ประเสริฐและเจ้าหน้าที่บางส่วน ได้ขึ้นไปบนบ้านของนายศิลา ส่วนปลัดเทพและเจ้าหน้าที่ติดตามไปบางส่วนรออยู่ด้านล่าง

ชั่วครู่ เสียงลั่นถกเถียงกันบนเรือนนายศิลาเกิดขึ้น

"นายอำภอไม่มีสิทธิเข้ามายุ่มย่ามในบ้านของฉัน คนเขารักฉัน เขาเชื่อฉันเป็นใหญ่ที่นี่"

"แต่ที่นี่เมืองไทย ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน"

"กูนี่แหละกฎหมาย ! ฆ่าพวกมัน"

สิ้นเสียงคำสั่งของนายศิลา เสียงร้องโหยหวนของคนที่ถูกทำร้ายและเสียงโห่ร้องของชาวบ้านสมุนของนายศิลาระงมไปหมด

ปลัดเทพพยายามยามที่จะขึ้นไปบนบ้านเพื่อช่วยเหลือนายอำเภอและผู้กอง แต่ชาวบ้านฮือเข้ามาไล่ฟันจนเลือดอาบ ปลัดเทพพร้อมกับชาวบ้านอีกสามคนต่างพากันวิ่งหนีกระเสือกระสนออกจากหมู่บ้านเขต อิสระที่ไม่ยอมขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศไทย ต่างคนต่างได้รับบาดเจ็บเลือดท่วมตัวกันทุกคน รีบไปรวมกันแจ้งเรื่องราวทั้งหมดให้ปลัดอาวุโสของโชคชัยและคาดการณ์ว่า นายอำเภอเลิศ ผู้กองประเสริฐ นายฉ่ำ นายผ่องและนายหวลคงสิ้นชีวิตไปแล้ว

ปลัดอำเภอโชคชัยรีบรายงานให้จังหวัดนครราชสีมา ทางจังหวัดรีบรายงานให้รัฐบาลที่มากบารมีและมีอำนาจเบ็ดเสร็จ คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ เพื่อให้จัดการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด นี่แหละเหตุการณ์ที่เปลี่ยนหมู่บ้านที่เคยสงบร่มเย็นกลายเป็นสมรภูมิเลือด ระหว่างผีบุญผู้หยั่งรู้และเข้าใจวิถีของชาวบ้านที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ความยากจนและความเชื่อที่หล่อเลี้ยงจิตใจให้เกิดความหวังทั้งจากชีวิตนี้และ ชีวิตหน้า เมื่อมีผู้มาให้ความหวังว่าชีวิตจะพบความสุขหากเดินตามรอยทางที่ผู้ที่เข้า ถึงจิตใจเพื่อนมนุษย์และใช้ประโยชน์จากความอ่อนแอของคนอื่น เมื่อมีการก่อตั้งเขตปกครองอิสระ ในหมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชาสีมา เหตุการณ์ที่ละม้ายคล้ายกับเกิดขึ้นภาคใต้ตอนนี้ เพียงแต่ความรุนแรงต่างกันลิบลับ

เมื่อทางบ้านเมืองได้รับรายงานเหตุการณ์ "กบถผีบุญ" ผู้หาญกล้าท้าทายอำนาจรัฐ นายพลผ้าขาวม้าแดงผู้มีอำนาจมากที่สุดเพิ่งจะยึดอำนาจของรัฐในระบอบประชาธิปไตยทั้งหมด ล้มองค์กรการปกครองหรือไม่ล้ม อันไหนที่เห็นว่าไม่ใช่พรรคพวกของตน ก็ปลดออกบ้าง ไล่ออกบ้าง หรือย้ายไปในตำแหน่งไม่สำคัญ เอาคนที่ตนสั่งการได้ รับใช้อำนาจตน เข้าไปทำหน้าที่แทนเหมือนตอนนี้ พวกที่อยากเป็นใหญ่ทางลัดหรือหาประโยชน์ใส่ตน โดยไม่คิดว่า มันถูก หรือผิด มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย อย่างบ้านเมืองเราตอนนี้เยอะหน่อย นายพลผ้าขาวม้าแดงผู้ซึ่งชิงเอาอำนาจรัฐเข้ามาไว้ในอุ้งมือของตน ครั้งที่สองหมาดๆ ถือโอกาสตัดไม้ข่มนาม ให้ศัตรูทางการเมืองเห็น

คืนนั้นได้มีคำสั่งไปถึงผู้กำกับการตำรวจภูธร ภาค 3 คือ พลตำรวจจัตวา มุข ศรีสมบูรณ์ ให้จัดการกับ "กบถผีบุญ" กลุ่มนี้อย่างรวดเร็ว ไม่เหลือไว้เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อยากประกาศตนอิสระจากอำนาจรัฐ กลุ่มอื่นๆ หรือพรรคการเมืองบางพรรค

ฝ่ายกลุ่มกบถผีบุญ ของนายศิลา ผู้ประกาศตนเป็นเจ้า หลังจัดการกับเจ้าหน้าที่จนได้ชัยชนะต่างโห่ร้องแสดงความยินดีที่มีชัยเหนือเจ้าหน้าที่ตัวแทนอำนาจรัฐ พร้อมกับยกย่องนายศิลาว่ามีบุญญาบารมีมากสามารถปกปักรักษาให้สมัครพรรคพวกของตนปลอดภัยจากการต่อสู้ และยินดีให้นายศิลานำพาพวกตนสู่การเป็นเขตอิสระ ก่อตั้งบ้านสร้างเมืองจนถึงที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้ระดมความคิดที่จะจัดการกับศพเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตทั้งหมด รวม 5 คน ด้วยการนำมารวมกันที่กลางลานบ้านเพื่อที่จะทำพิธีเผาในวันถัดไป

กองกับกับการตำรวจภูธร ภาค 3 หลังจากได้รับคำสั่งจากรัฐบาล ภายใต้การนำของท่านจอมพลผ้าข้าวม้าแดง ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมาวางแผนอย่างเคร่ง เครียดเพื่อที่จะเข้าปราบปรามกบถผีบุญ กลุ่มนี้ให้ประสบผลสำเร็จ

เช้าของวันสิ้นเดือนพอดี คือวันที่ 31 พฤษภาคม 2502 เจ้าหน้าที่อาจกระฉับกระเฉงเป็นพิเศษกว่าวันอื่นๆ แม้ว่าจะรู้สึกกังวลในสิ่งที่เกิดขึ้น กองกำลังกว่า 200 คน ภายใต้การนำของท่านพลจัตวามุข ศรีสมบูรณ์ ผู้กำกับการตำรวจภูธร ภาค 3 ได้นำกำลังทั้งหมด มุ่งหน้าไปสู่หมู่บ้านใหม่ไทยเจริญ อำเภอโชคชัย นครราชสีมา ตามแผนที่ได้ระดมความคิดจากเจ้าหน้าที่ที่วางไว้ แล้วเข้าล้อมแนวหมู่บ้านไว้
(ยังมีต่อ)
ดูเหมือนว่า "ความมั่นคงของรัฐบาลคณะปฏิวัติ" จะถูกทำให้มีเนื้อหา "ความมั่นคงของรัฐ" อีกครั้งหนึ่งแล้ว.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 3-9 พฤษภาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8