Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (4)

'ณรงศักดิ์ กรอบไธสง' ชีวิตแรกจากความรุนแรง

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
หรือในภาษาอังกฤษ National United Front of Democracy Against Dictatorship UDD) หรือที่เป็นที่รู้จักกันไม่เฉพาะในประเทศไทย หากรวมไปถึงสำนักข่าวหลักทางสากลทั่วโลกว่า กลุ่มคนเสื้อแดง มีชื่อเดิมว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เกิดจากการรวมตัวในปี 2550 ของประชาชนหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ที่ก่อตัวจากจุดเริ่มต้นเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีจุดประสงค์เดิมเพื่อขับไล่ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติภายหลังจากการรัฐประหาร และเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติไม่รับร่าง "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" แต่ได้ยุติการชุมนุมเคลื่อนไหวไป หลังจากที่พรรคพลังประชาชนได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งเมื่อ 26 ธันวาคม 2550

การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ก่อนหน้าจะประกาศปรับขบวนเป็น นปช. คือเหตุการณ์ชุมนุมที่นำโดย นปก. หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ อันเป็นบ้านพักรับรองสำหรับผู้บัญชาการระดับสูงของกองทัพบกไทย ซึ่ง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ใช้พักอาศัยในกรุงเทพมหานคร การชุมนุมเดินขบวนเกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม 2550 และกลุ่มผู้ชุมนุม จำนวน 20,000 คน เคลื่อนขบวนจากท้องสนามหลวง ไปปิดล้อมบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารในประเทศ ไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

แกนนำที่สำคัญในเวลานั้น อาทิ นาย วีระ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายจักรภพ เพ็ญแข, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย, นพ.เหวง โตจิราการ, พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย, นายจรัล ดิษฐาอภิชัย, นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ฯลฯ

จากนั้นในช่วงรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ การเคลื่อนไหวของ นปช. เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงความไม่เห็นกับการชุมนุมเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกดดันรัฐบาลในหลายกรณี ทั้งนี้มีบางครั้งเกิดการปะทะกันมีผู้บาดเจ็บสาหัสและถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้ว เริ่มจากการจัดสัมมนารายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน ภาคพิเศษ ครั้งที่ 2" ในวันศุกร์ที่ 25 เมษายน ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีกลุ่ม นปช. ไปชุมนุมอยู่ด้านนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งสนามหลวง มีการขว้างปาและใช้ท่อนไม้และอาวุธมีคมทำร้ายร่างกาย และประกาศจัดการชุมนุมใหญ่ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม เป็นต้นไปจากการที่ฝ่ายหนึ่งมีการเตรียมพร้อมทั้งทางด้านกำลังคนที่เป็นชายฉกรรจ์ โดยมีอาวุธหลายชนิดจนถึงขั้นปืนพก

และการนองเลือดครั้งแรกที่ เกิดการสูญเสียชีวิต เกิดขึ้นในการปะทะเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 โดยเริ่มจากเวลา 00.10 น. กลุ่ม นปช. ที่สวมสวมเสื้อแดงบ้างหรือโพกผ้าแดง ตั้งขบวนโดยให้ชายฉกรรจ์ขับขี่รถจักรยานยนต์นำหน้าบีบสัญญาณแตรตลอดเส้นทางตามด้วยกลุ่มชายฉกรรจ์เดินเท้ากลุ่มใหญ่ จากนั้นเป็นรถบรรทุก 6 ล้อ ขับตามหลัง 2 คัน ตามรายงานข่าวระบุว่าบนรถมีนายวิภูแถลง หนึ่งในแกนนำ นปช. ยืนอยู่ด้วย ขบวนออกเคลื่อนในเวลา 00.40 น. จากสนามหลวงไปตามถนนราชดำเนิน ปิดท้ายด้วยกลุ่ม นปช. เดินตามหลัง จุดมุ่งหมายที่ประกาศตลอดเวลาคือเพื่อขับไล่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เส้นทางถนนราชดำเนินสู่แยก จปร. เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ฝ่าด่านตำรวจที่ตั้งแผงเหล็กมาได้ตลอดเส้นทาง ระหว่างนั้น นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ประกาศบนเวที เพื่อขอกำลังการ์ดอาสาเพิ่ม

จนเมื่อเวลา 01.10 น. กลุ่ม นปช. เคลื่อนกำลังมาถึงร้านลิขิตไก่ย่าง บริเวณสนามมวยราชดำเนินมา ได้เกิดการปะทะกันกับฝ่ายพันธมิตรฯ ข้ามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรงเข้าสู่ขบวนของ นปช. โดยต่างฝ่ายต่างวิ่งเข้าหากัน มีการปาขวดน้ำ ขวดโซดา ขว้างก้อนหินใส่กัน พร้อมกับใช้ท่อนไม้หรือไม้เบสบอล (ซึ่งมีบางส่วนการ์ดของพันธมิตรเคยถูกเจ้าหน้าตำรวจยึดไปได้ก่อนหน้านั้นแล้ว) รวมทั้งมีดดาบขนาดยาว ระหว่างที่เกิดการปะทะกันนั้น มีเสียงปืนดังขึ้น 5-6 นัด และเสียงระเบิดไม่ทราบชนิดดังติดต่อกันหลายครั้ง โดยกระสุนปืนได้ถูกกลุ่มผู้ชุมนุม นปก.ล้มลงได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายราย เจ้าหน้าที่รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลวชิรพยาบาล

และตั้งแต่ตั้งแต่เวลา 01.30 น. หลังการปะทะกันบริเวณสะพานมัฆวานฯ หน้าอาคารที่ทำการสหประชาชาติ สำนักงานกรุงเทพฯ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำของกลุ่มพันธมิตรฯ และผู้นำฝ่ายฆราวาสของสำนักสันติอโศก ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีสั่งระดมการ์ดและผู้ชุมนุมให้ไปตั้งขบวนอยู่ที่หน้าเตนท์กองทัพธรรม ที่ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลอยู่ด้านถนนพิษณุโลก เพื่อยกกำลังไปช่วยผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณสะพานมัฆวานฯ จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมนับร้อยพร้อมด้วยอาวุธครบมือ ได้ไปรวมตัวกันที่บริเวณเตนท์หน้ากองทัพธรรม โดยพล.ต.จำลอง และนายสมศักดิ์ ได้เดินลงมาสั่งการด้วยตัวเอง

ผลจากการปะทะกันในครั้งนั้น ปรากฏว่า ฝ่าย นปก. มีผู้เสียชีวิต 1 คน คือ นายณรงศักดิ์ กรอบไธสง และมีผู้บาดเจ็บอีก 40 คน ในจำนวนนี้มีอาการบาดเจ็บสาหัส 7 คน คือ 1.นายสุรเดช นวลละออง อายุ 46 ปี ถูกรุมตีหัว 2.นายณรงค์ ปานะพันธ์ อายุ 44 ปี ถูกรุมตีหัว 3.นายละออ เปียทอง อายุ 56 ปี ถูกรุมตีหัว 4.น.ส.กริสนีย์ ทรัพย์บุญรอด อายุ 51 ปี ถูกยิงตาขวาบอด 5.นายประสิทธิ์ จันทร์เต็มดวง อายุ 45 ปี ถูกตีกะโหลกยุบโหนกหน้าและกรามซีกซ้ายแตกหมด 6.นายเสนาะ นิ่มแสง อายุ 47 ปี ถูกยิงจากด้านข้าง กระสุนเข้าปอดทะลุ และ 7.นายสราวุธ แก้วโสม อายุ 26 ปี ถูกยิงขากระดูกแตก

ต่อมาวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 นายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัคร ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 (7) เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ "ชิมไปบ่นไป" และ "ยกโขยง 6 โมงเช้า"...

ซึ่งคณะตุลาการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่าสมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้นายสมัครสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีลง แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8