Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (3)

สภาวะหลัง "รัด-ทำ-มะ-นูน-50" และรัฐบาลพลังประชาชน (ต่อ)

จนมาถึงยุทธวิธีดาวกระจายตามแผน "ปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า" เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 เกิดปฏิบัติการ "กึ่งการทหาร" ที่มีกลุ่มชายฉกรรจ์โพกหัว-ปิดหน้าที่เคลื่อนไหวในลักษณะ "หน่วยคอมมานโด" ซึ่งหลังจาก 2 ชั่วโมงแรกหลังเหตุการณ์ยึดสถานีโทรทัศน์ NBT ทางนายพิภพ ธงไชยและนายสุริยะใส กตะศิลา กลับออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่คนของตน แต่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กลับเรียกร้องให้ปล่อยคนของตนที่ถูกจับกุมคืนมา ซึ่งกองกำลังชุดนี้ ไม่ได้พกไปแค่สิ่งที่อ้างว่าเป็น "อุปกรณ์กีฬา" ประเภท "ไม้เบสบอล" หรือ "ไม้กอล์ฟหัวแฟร์เวย์" หากยังมีมีด ขวาน และปืนทั้งไทยประดิษฐ์หรือไม่ไทยประดิษฐ์ รวมทั้ง "ธง" ประจำหน่วยที่ชูหรากันเข้าไปนั้น เมื่อดึงด้ามออกมากลายเป็นดาบยาว

ช่วงนี้เองที่เกิดการปะทะกันระหว่าง "นักรบศรีวิชัย" ของพันธมิตรฯ กับมวลชนของ "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" โดยฝ่ายหลังเสียชีวิต 1 คน และวีรชนประชาธิปไตยก็ถูกจารึกชื่อ "ณรงศักดิ์ กอบไธสง" ส่งผลให้นายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ประกาศการสถานการณ์ฉุกเฉินในวันเดียวกัน และต่อมายกเลิกไปเมื่อวันที่ 14 กันยายน

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดรายการออกอากาศทางโทรทัศน์ "ชิมไปบ่นไป" และ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติต้องห้ามสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากนั้นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา มีมติเลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรก เมื่อวันที่ 24 กันยายน

ยิ่งไปกว่านั้น ในวันที่ 6 ตุลาคม ฝูงชนที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ชุมนุมปิดล้อมทางเข้าออกรัฐสภา ภายใต้ "วาทกรรมสันติอหิงสา" เพื่อกดดันมิให้คณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันรุ่งขึ้น ตำรวจจึงได้เข้าสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางเข้าออกอาคารทั้งก่อนและหลังการประชุมในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยสถานการณ์ในครั้งนี้มีสื่อนอกกระแสหลัก นำเสนอตรงกันว่า "อย่างน้อยมีการตระเตรียมอาวุธไว้ส่วนหนึ่ง เป็นท่อนไม้และหนังสะติ๊กพร้อมหัวนอตที่ใช้แทนกระสุนดิน" รวมทั้งการบันทึกภาพการใช้อาวุธปืนจากฝ่ายม็อบยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายให้เข้าสลายการชุมนุม

ในการปะทะกันครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 2 คน รายแรกเป็นอดีตนายตำรวจซึ่งสังกัดกลุ่มพันธมิตรฯ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือ สารวัตรจ๊าบ อดีต สวป.สภ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ น้องเขยของ นายการุณ ใสงาม อดีต สว.จ.บุรีรัมย์ และภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นายการุณได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัด-ทำ-มะ-นูน 2550 เสียชีวิตนอกพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังกดดันเพื่อเปิดทางเข้าออกประตูรัฐสภา เนื่องจากการวัตถุระเบิดที่บรรทุกมาภายในรถรถยนต์ส่วนตัว และ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ซึ่งเสียชีวิตจากแรงระเบิดในท่านอนคว่ำบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล

เหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม นี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 381 คน ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าตำรวจได้รับบาดเจ็บรวม 11 นาย จากการถูกรถพุ่งเข้าชนและทับซ้ำโดยเจตนา และถูกตีด้วยของแข็ง ถูกแทงด้วยของมีคมในลักษณะอาวุธจำนวน ทั้งนี้เกิดจากการกระทำของผู้ประท้วงที่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงอยู่ตลอดเวลาว่า "สันติ อหิงสา"

มีประเด็นแหลมคมที่ถูกมองข้าม คือสื่อมวลชนส่วนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ในวันนั้น ไม่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างน่าคลางแคลงใจ รวมทั้งอุปกรณ์กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ตลอดแนวถนนโดยรอบบริเวณรัฐสภาก็ถูกทำให้หมดประสิทธิภาพโดยไม่มีคำอธิบาย

และสำหรับ "ระเบิดแก๊สน้ำตา" ตัวปัญหาที่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสรรพาวุธของจีนยืนยันความเหมาะสมในการใช้งานเพื่อควบคุมฝูงชนและการก่อจลาจลตามมาตรฐานสากล ไม่สามารถทำอันตรายแก่มนุษย์ถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จากนั้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประกาศระดมผู้ชุมนุมเดินทางมารวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาลในเวลา 04.00 น. เพื่อกระจายตัวไปตามจุดต่างๆที่วางแผนไว้ ทั้งนี้มีส่วนหนึ่งเคลื่อนกำลังบุกยึดท่าอากาศยานดอนเมือง โดยประกาศเป็นแผนปฏิบัติการ "ม้วนเดียวจบ" และถัดมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯ ประมาณ 1,000 คน เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อ กดดันให้นายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่ง จากนั้นได้ทยอยเดินทางเข้ามาสมทบมากขึ้นประมาณ 20,000 คนทำให้การเดินทางทางอากาศไปสู่ท่าอากาศยานนานาชาติอื่นๆ ต้องหยุดลงและสายการบินที่มีกำหนดลงจอด ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องไปลงจอด ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จนมีผู้โดยสารตกค้าง และสร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของไทยเป็นอย่างมาก ในระหว่างนั้นมีการทุบข้าวของภายในท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง และทำร้ายร่างกายบุคคลโดยหน่วยรักษาความปลอดภัยของพันธมิตรฯ ผ่านทางสำนักข่าวต่างประเทศ และมีคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตหลายเหตุการณ์

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง พร้อมกันนี้ได้ออกคำสั่งปลด พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. เนื่องจากไม่สามารถจัดการกับการชุมนุมได้และแต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติเป็นผู้รักษาการแทน

หนังสือพิมพ์มติชนรายงานว่าแกนนำพันธมิตรฯ ได้เรียกชื่อปฏิบัติการในครั้งนี้ว่า "ปฏิบัติการฮิโระชิมะ" (26 พฤศจิกายน) และในวันรุ่งขึ้น (27 พฤศจิกายน) เรียกว่า "ปฏิบัติการนะงะซะกิ"

การชุมนุมดังกล่าวดำเนินไปจนถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในวันที่ 2 ธันวาคม และนายสมชายพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในกรณีการกล่าวหากรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช

วันถัดมาคือวันที่ 3 ธันวาคม 2551 แกนนำพันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติการชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8