ป. พิบูลสงคราม 2495-2500:
วัฏจักรแห่งการเผด็จอำนาจ
วัฏจักรแห่งการเผด็จอำนาจ
ภายหลังการรัฐประหาร 2494 ตามมาด้วยการกวาดล้างพลังประชาธิปไตยซึ่งประกอบด้วยปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า ที่ประกอบไปด้วยนักคิดนักเขียน และนิสิตนักศึกษา ตลอดจนนักการเมืองที่มีอุดมการณ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ไปในแนวทางเดียวกับนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ผู้นำขบวนการเสรีไทย อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 อันนำไปสู่การกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้น แม้โดยตำแหน่งจะมีชื่อเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่ก็หาได้อยู่ในฐานะ "ท่านผู้นำ" มีอำนาจสั่งการเด็ดขาดเช่นในช่วงก่อนและระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เนื่องจากคราวนี้ จอมพล ป. เป็นนายทหารนอกประจำการ ที่มีเพียงสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า "บารมี" ส่วนตัวในฐานะที่เป็น "สัญลักษณ์" (symbol) ในหมู่ทหารเท่านั้น
ทั้งนี้กลุ่มพลังในลักษณะ "สามเส้า" ที่ค้ำอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป. ประกอบด้วย
1. กลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นอดีตนายทหารที่เคยร่วมงานกันมา อาทิเช่น พล.ต.ปลด ปลดปรปักษ์ พิบูลย์ภานุวัฒน์, พล.ต.เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธ และ พล.ท.มังกร พรหมโยธี
2. กลุ่มนายทหารนอกประจำการ ที่กลับเข้ารับราชการภายหลังรัฐประหาร ได้แก่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ, พ.อ.กาจ กาจสงคราม, พ.อ.ก้าน จำนงภูมิเวท และ พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นต้น
3. กลุ่มนายทหารประจำการซึ่งคุมกำลังในกองทัพอย่างแท้จริง ได้แก่ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.ท.บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, พ.ท.ถนอม กิตติขจร, พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ เป็นต้น
และโดยข้อเท็จจริงที่ว่า จอมพล ป. เป็นกลุ่มที่อยู่ในฐานะเปราะบางที่สุด แม้จะควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่เนื่องจากไม่มีฐานกำลังสนับสนุน จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง โดยให้อีกสองกลุ่มคานอำนาจกันเอง
กลุ่มแรกคือกลุ่ม พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ซึ่งเป็นนายพลเมื่ออายุเพียง 42 ปี หากเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหารในปี 2490 ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการปราบกบฏ "แมนฮัตตัน" อีกด้วย ภายหลังหลังการรัฐประหารเงียบ 2494 จึงดำรงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และรองผู้บัญชาการทหารบกในปี 2495 และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปี 2497 พร้อมกับรับพระราชทานยศจอมพล
อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งปรับโอนมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจในปี 2495 ทั้งนี้ ส่วนตัวของพล.ต.อเผ่าเอง มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับหัวหน้าคณะรัฐประหาร คือสมรสกับคุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ (ชุณหะวัณ) บุตรสาวของจอมพลผิน ชุณหะวัณ สภาพการที่ถูกมองว่าประเทศไทยเป็น "รัฐตำรวจ" ด้วยคติพจน์ที่ "อธิบดีเผ่า" ประกาศและมอบให้แก่กำลังพลในกรมตำรวจว่า "ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" กรมตำรวจในยุคนั้นมีสภาพเป็นเสมือนกองทัพขนาดย่อมๆไปโดยปริยาย ด้วยการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา ทั้งยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในเวลาต่อมา
สำหรับทางด้านการเมือง จอมพล ป. พยายามแสวงหาแรงสนับสนุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐ ประกอบกับพฤติการณ์ของ พล.ต.อ.เผ่า ที่มีหลายฝ่ายมองว่าเกินกว่าเหตุในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลด้วยวิธีการไม่โปร่งใส และใช้อำนาจหน้าที่ในลักษณะเผด็จการยิ่งขึ้นทุกที จึงตัดสินใจเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริการะหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2498
หลังกลับมาถึงประเทศไทย จอมพล ป. ก็เริ่มดำเนินการปฏิรูประบบการเมืองในประเทศไทย ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีการนำคำนี้มาใช้ โดยหวังจะสร้างความนิยมจากประชาชน เริ่มจากในเดือนกันยายน 2498 แถลงขอต่อรัฐสภาสนับสนุนให้ผ่านกฎหมายพรรคการเมือง นอกจากนั้นยังลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เหลือ 20 ปี และยกเลิกคุณสมบัติทางการศึกษา พร้อมกับประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ในเวลาเดียวกันก็แสดงท่าทีและการให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณะ คัดค้านการทำรัฐประหารและการใช้อำนาจตำรวจหรือทหารเพื่อผลทางการเมือง ทั้งยังอนุญาตให้มีการปราศรัยทางการเมือง หรือไฮปาร์คแบบในอังกฤษ เพื่อให้ประชนชนรู้สึกว่ามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
นอกจากนั้น เนื่องจากจอมพล ป. เริ่มตระหนักในแนวโน้มความร่วมมือระหว่างจอมพลสฤษดิ์กับกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม จึงพยายามสร้างเงื่อนไขให้นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งลี้ภัยออกนอกประเทศไปพำนัก ณ สาธารณรัฐประชาชนจีนภายหลังการรัฐประหาร 2494 และต่อมาถูกโจมตีว่าอยู่เบื้องหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีโอกาสกลับมาประเทศไทยเพื่อรื้อฟื้นคดีการสวรรคตขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้โดยหวังว่าจะได้พันธมิตรทางการเมืองจากเครือข่ายคณะราษฎรและขบวนการเสรีไทย ซึ่งยังมีความเคารพและศรัทธาในตัวนายปรีดีไม่เสื่อมคลาย (ณัฐ พล ใจจริง,"ความสัมพันธ์ไทย-จีน กับความขัดแย้งทางการเมือง : 'การทูตใต้ดิน' 2498-2500 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม", รัฐศาสตร์สาร, 29 , ฉบับพิเศษ, หน้า 29-80.)
ขณะเดียวกัน ก็เริ่มดำเนินการลดอำนาจของ พล.ต.อ.เผ่า โดยกำหนดให้เดินทางไปกรุงวอชิงตันเพื่อเจรจาการกู้เงินใหม่ในฐานะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แต่ระหว่างนั้น ก็ปรับคณะรัฐมนตรี โดยมีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง และจอมพลผินผู้ซึ่งเป็นพ่อตาของเผ่าก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีอื่นๆ ปรับเปลี่ยนเป็นพวกที่จงรักภักดีต่อจอมพล ป. และจอมพลสฤษดิ์ ตัวจอมพล ป. เองควบตำแหน่งตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยและกลาโหม พร้อมทั้งโยกย้ายนายตำรวจและกำลังทหารหลายหน่วยออกจากกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการตัดฐานอำนาจอำนาจของพล.ต.อ.เผ่า
แต่การอนุญาตให้ประชาชนโจมตีรัฐบาล กลับกลายเป็นหอกข้างแคร่กับตัวจอมพล ป. ในเวลาเดียวกัน เกิดความรู้สึกต่อต้านอเมริกันก็เพิ่มขึ้นและกลายเป็นเป้าหมายของการไฮด์ปาร์ค มีการเรียกร้องให้ถอนตัวออกจากองค์การสนธิสัญญาร่วมป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อน และถี่มากขึ้น ปฏิกิริยาจากฝ่ายรัฐบาลก็แข็งกร้าวมากขึ้น ถึงขนาดประกาศห้ามการรวมกลุ่มทางการเมืองทุกชนิดและจับกุมกลุ่มผู้อดข้าวประท้วงคัดค้านสมาชิกสภาแบบแต่งตั้ง ฯลฯ
รัฐบาลอ้างเหตุผลห้าม ชุมนุมทางการเมืองและการจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาล ว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อชาติ และมีการแทรกแซงของคอมมิวนิสต์.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19-25 กันยายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน