Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (29)

เลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500:
การเริ่มต้นของจุดจบระบอบ "ป."

นับจากปี 2497 สำหรับความเป็นผู้นำที่ต้องสวมบทบาท "ผู้เผด็จอำนาจ" จากวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในปี 2495 ที่อยู่ในสภาวะค่อนข้างล่อแหลม จอมพล ป. พยายามหลายครั้งยื่นข้อเสนอให้จอมพลผิน ชุณหะวัณ สืบทอดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแก่ตนเอง โดยให้เหตุผลเป็นการส่วนตัวว่าให้ผู้อื่นมาครองตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกจะส่งผลต่อ "ความมั่นคง" ของทั้งหัวหน้าคณะรัฐบาลที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารและรวมทั้งหัวหน้าคณะรัฐประหารคือตัวจอมพลผินไปพร้อมกัน

ทว่าจอมพลผินกลับตัดสินใจมอบตำแหน่งให้ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมกับได้รับพระราชทานยศชั้นจอมพล เนื่องจากในขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเท่ากับจ่อคิวรอตำแหน่งนี้อยู่ในทีแล้วแล้ว อีกทั้งในช่วงที่ร่วมกันทำรับประหารนั้นยังเป็นผู้คุมกำลังที่สำคัญ (กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์) และเมื่อมีการทำรัฐประหารซ้อนที่กลายเป็นการก่อกบฏถึง 3 ครั้ง คือ กบฏเสนาธิการ กบฏวังหน้า และกบฏแมนฮัตตัน พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เป็นกำลังสำคัญ ที่รับหน้าที่เข้าปฏิบัติการอย่างแข็งขันทุกครั้ง

เมื่อ จอมพลป. ตระหนักว่าความพยายามที่จะอาศัยอำนาจทางทหารมาค้ำจุนบัลลังก์ทางการเมืองที่มีลักษณะกลวงใน มีอันต้องเป็นหมันไปโดยสิ้นเชิง อีกทั้งการใช้นโยบายคานอำนาจระหว่างขั้วกำลัง 2 ขั้ว คือ จอมพลสฤษดิ์ กับ พล.ต.อ.เผ่า ก็พลังทลายไม่เป็นท่า เพราะถึงที่สุดแล้วหาได้มีฝ่ายใดภักดีต่อจอมพล ป. ในฐานะผู้นำอย่างแท้จริงไม่ ถึงขนาดต้องจำกัดอำนาจและการขยายกองกำลังตำรวจในสังกัดของ "อธิบดีเผ่า" และถอนคืนตำแหน่งในคณะรัฐบาลไปพร้อมกัน

ประกอบกับการไปรับรู้การเมืองแบบประชาธิปไตยแบบอังกฤษและสหรัฐมาจากการเดินทางรอบโลกในปี 2498 จอมพลป. จึงหันมาแสวงหาความสนับสนุนทางการเมืองจากเสียงประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้ง โดยจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 และประกาศตั้ง พรรคเสรีมนังคศิลา ลงสู้ศึกเลือกตั้งด้วยตัวเอง ทั้งนี้ตัว จอมพล ป. เองก็ลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดพระนคร รวมทั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายควง อภัยวงศ์

ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายบุคคลที่มีแนวความคิดทางด้านลัทธิสังคมนิยม ก็มีการเคลื่อนไหวจัดตั้ง พรรคเศรษฐกร มี นายเทพ โชตินุชิต เป็นหัวหน้าพรรค นายแคล้ว นรปติ เป็นเลขาธกิารพรรค และนายทิม ภูริพัฒน์ เป็นรองหัวหน้าพรรค

แต่ แล้วผลการเลือกตั้งที่ต้องใช้เวลานับคะแนนกันนานถึง 7 วัน กลับสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชน เนื่องจากมีความเห็นจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม จากสื่อมวลชนทุกแขนงที่ไม่ได้เป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง รวมทั้งประชาชนทั่วโดยเฉพาะในพระนคร ว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีการโกงกันมากที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือกตั้งทั่วไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่ใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวโจมตีฝ่ายตรงข้าม ข่มขู่ชาวบ้าน ประชาชน ให้เลือกแต่ผู้สมัครของพรรคเสรีมนังคศิลาของรัฐบาล หรือ "การเวียนเทียน" มาลงคะแนน การสลับหีบบัตร การแอบหย่อน "บัตรผี" เข้าไปในหีบ

ผลสรุปในการนับคะแนนชนิดมาราธอน ปรากฏออกมาว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พรรคเสรีมนังคศิลา ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดถึง 83 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 28 ที่นั่ง พรรคเสรีประชาธิปไตย 11 ที่นั่ง พรรคธรรมาธิปัตย์ 10 ที่นั่ง พรรคเศรษฐกร 8 ที่นั่ง พรรคชาตินิยม 3 ที่นั่ง พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค 2 ที่นั่ง พรรคอิสระ 2 ที่นั่ง และผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรค 13 ที่นั่ง รวม 160 ที่นั่ง

สำหรับในจังหวัดพระนครนั้น จอมพล ป. และคณะอีก 6 คนได้รับเลือก ส่วนฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปัตย์นั้นปรากฏว่ามีผู้ได้รับเลือกเพียง 2 คน คือ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรค และน.ท. พระประยุทธชลธี

ความไม่พอใจของประชาชนในจังหวัดพระนครตลอดจนนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 เวลา 9.00 น. โดยการริเริ่มของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดการชุมนุมกันที่หน้าหอประชุมจุฬาฯ ในเวลา 9.00 น. มีพิธีลดธงชาติลงครึ่งเสา เพื่อแสดงการประท้วงการเลือกตั้งและไว้อาลัยระบอบประชาธิปไตย

จากนั้นนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่รวมตัวกันอยู่ ก็ร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งไปยังทำเนียบรัฐบาล จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรี สั่งประกาศภาวะฉุกเฉิน และแต่งตั้งให้ จอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้บัญชาการปราบปรามการชุมนุม แต่เมื่อฝูงชนเดินทางมาถึงสะพานมัฆวานมีเกร็ดประวัติศาสตร์การเมืองที่เป็นที่กล่าวขานในเวลาต่อมา เป็นเรื่องราวของนายทหารหนุ่ม ในชื่อและชั้นยศ ร.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ที่เข้าไปเจรจาจนขบวนนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่กำลังระเบิดอารมณ์เข้าใส่แนวรับของทหารที่ติดดาบปลายปืนพร้อมอยู่แล้วจนฝูงชนสงบลง โดยไม่เกิดการปะทะกัน จนได้สมญานาม "วีรบุรุษสะพานมัฆวานฯ" และจากการเจรจากันนั้น จอมพลสฤษดิ์ตกลงยินยอมร่วมเดินไปกับขบวนผู้ประท้วงเคลื่อนไปยังทำเนียบ

เมื่อขบวนถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลปรากฏว่าตำรวจรักษาการณ์ปิดประตูและวางกำลังป้องกันไว้ทุกด้าน ไม่ยอมให้เข้า แต่ผู้ประท้วงได้พังประตูและโถมกันเข้าไปในบริเวณทำเนียบจนได้ และพบว่า จอมพล ป. ได้รออยู่แล้วที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า จอมพล ป. พยายามพูดให้ฝูงชนอยู่ในความสงบ แต่ไม่มีใครฟัง จนกระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ต้องปรากฏตัวตามเสียงเรียกร้องของฝูงชนในเวลานั้น และขึ้นปราศรัยขอให้ช่วยกันรักษาความสงบ ส่วนปัญหาต่าง ๆ จะขอรับไปเสนอเพื่อแก้ไปกันในคณะรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ จอมพล ป. ยอมรับจะจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ทำให้เป็นที่พอใจของฝูงชน และยินยอมพร้อมใจกันสลายตัวไปอย่างสงบออกจากทำเนียบรัฐบาลไป

การเดินขบวนประท้วงครั้งนี้นับเป็นการชุมนุมทางการเมืองเป็นครั้งแรกของ "ชาวพระนคร" หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา พร้อมกันนั้นก็เป็นที่มาของการก้าวเข้ามาสู่วิถีทางการเมืองของนายทหารที่ไม่ได้เป็นสมาชิก "คณะราษฎร" หรือมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการอภิวัฒน์สยาม 2475 แม้แต่น้อย ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาชื่อเสียงกระฉ่อนเจ้าของสมญา "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" ในฐานะ "ผู้เผด็จการ" คนสำคัญที่อยู่ในอำนาจ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" จนวาระสุดท้ายของชีวิต

อีกทั้งเป็นเจ้าของวาทะประวัติศาสตร์ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 3-9 ตุลาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8