Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (25)

ธรรมศาสตร์สามัคคี 2494:
โดมของเรา ชีวิตของเรา…

หลังกบฏแมนฮัตตัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตกเป็นเป้าว่าให้ความร่วมมือกับทหารเรือฝ่ายกบฏ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุมทางการเมือง และปิดพร้อมกับส่งทหารเข้ายึดมหาวิทยาลัยโดยให้เหตุผลว่า "ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราว และเพื่อความสงบเรียบร้อย" ต่อมาคณะกรรมการนักศึกษามีมติร่วมกันผลักดันให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนชั่วคราว โดยขอใช้สถานที่ของเนติบัณฑิตยสภาและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาฯ สำหรับการบรรยายให้นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ตามหลักสูตรคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ ทั้งนี้ ในช่วงเย็นนักศึกษาและอาจารย์ต้องอาศัยเพียงแสงตะเกียงสำหรับการเรียนการสอน

นักศึกษา มธก. (มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) ฝ่ายก้าวหน้า 9 คนที่มีจิตใจรักในเสรีภาพและความเป็นธรรม ได้เดินทางไปบ้านรองนายกรัฐมนตรี พลตรีสวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ์ เจรจาขอมหาวิทยาลัยคืนกลับมาสู่การเรียนการสอนตามปรกติ แต่แล้วหนึ่งสัปดาห์ถัดมาก็มีประกาศของทางมหาวิทยาลัยออกมาว่า ห้ามไม่ให้นักศึกษาที่ไปบ้านรองนายกฯทั้ง 9 คน เข้ามหาวิทยาลัยเป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นไม่นานพลตรีสวัสดิ์ที่คณะรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ส่งเข้ามารักษาการแทนผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ ก็สั่ง การให้ลบชื่อ (ไล่) ออก ฐานยุยงนักศึกษาและกระด้างกระเดื่อง รวม 5 คนคือ นายอาทร พุทธิสมบูรณ์, นายทวีป วรดิลก, นายประจวบ อัมพะเศวต, นายปริญญา ลีละศร และนายลิ่วละล่อง บุนนาค

ต่อมากองทัพบกเสนอขอซื้อธรรมศาสตร์ด้วยเงิน 5 ล้านบาท สร้างความไม่พอใจให้ชาวธรรมศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เช้าวันที่ 5 ตุลาคม คณะนักศึกษานำโดยนายสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เปิดฉากเคลื่อนไหวในลักษณะใต้ดิน มีการผลิตหนังสือพิมพ์กำแพงติดตามตึกต่างๆ และระหว่างซอกตึกคณะบัญชี พร้อมทั้งลอบพิมพ์ใบปลิวไปทิ้งตามห้องบรรยาย มีใจความว่า "ถ้าท่านรักธรรมศาสตร์ เห็นแก่ธรรมศาสตร์ ขอให้เดินกันอย่างสงบไปที่รัฐสภา เพื่อเป็นกำลังใจให้กับ ส.ส. รุ่นพี่ของเราในการเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืนในวันที่ 11 ตุลาคม"

ขณะนั้นมีนักศึกษา 2 คนที่มีความสามารถทางกวีนิพนธ์เขียนกลอน เขียนเพลงปลุกระดม คนแรกคือ นายเปลื้อง วรรณศรี เป็นนักเรียนเตรียมปริญญารุ่นที่ 5 ได้เขียนกลอนเรื่อง "โดมผู้พิทักษ์ธรรม" ในหนังสือ "ธรรมจักร" รายปักษ์ ได้บอกจบท้ายว่า "...ถ้าขาดโดมเจ้าพระยาท่าพระจันทร์ ก็เหมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม" ซึ่งได้กลายเป็นประโยคอมตะมาจนทุกวันนี้ ทั้งยังเป็นเจ้าของคำขวัญว่า "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย" ซึ่งก็เป็นคำขวัญที่ยังดำรงอยู่จนทุกวันนี้เช่นกัน

อีกคนหนึ่งคือ นายทวีป วรดิลก หรือ "ทวีปวร" แต่งเพลง "โดมในดวงใจ" ซึ่งสะท้อนความรู้สึกนึกคิดจิตวิญญาณชาวธรรมศาสตร์ และยังคงความหมายอย่างลึกซึ้งต่อ "ลูกแม่โดม" ที่รักสถาบัน และรักเสรีภาพและความเป็นธรรมมาจนทุกวันนี้

ต่อมาในวันที่ 11 ตุลาคม 2494 นักศึกษา 3,000 คน มาชุมนุมกันและเดินขบวนมุ่งหน้าไปยังอาคารรัฐสภาที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืน ภายใต้คำขวัญ "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย" เป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม อย่างสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ มีเพียงธรรมะและความสามัคคี โดยกำลังสำคัญในขณะนั้นคือ "นักศึกษาหญิง" เป็นด่านหน้าในการดันจนประตูสภาเปิดออก แล้ววิ่งกรูกันเข้าไปยึดสนามหญ้าหน้าสภา

ต่อมาเกิดการชุมนุมที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ นักศึกษาคนหนึ่งชื่อ นายอันดับ รองเดช ลุกขึ้นชูแขน เอามีดโกนกรีดท่อนแขนเลือดไหลอาบ ส่วน นายปริญญา ลีละศร ได้ดื่มเลือดเพื่อบอกให้รู้ว่า "นี่เลือดธรรมศาสตร์เข้มข้น" ไม่เหมือนเลือดนักการเมือง

รองนายกฯขณะนั้นออกมาบอกว่า "ไม่คืน อย่างไรทหารก็ต้องใช้มหาวิทยาลัย" นักศึกษาหญิงจึงเรียกร้องว่า "เราขอพบจอมพล ป. ถ้าท่านเป็นลูกผู้ชายให้ลงมาพบลูกหลานหน่อย" ด้วยเสียงแจ๋วๆนี่คือ "พลังของผู้หญิง" จอมพล ป. ยอมลงมาพบและเริ่มการเจรจา "พวกคุณลูกๆหลานๆทั้งนั้น มีอะไรหรือ" นักศึกษาหญิงบอกว่า "มหาวิทยาลัยของหนู ขอคืนมาเถอะค่ะ พวกหนูไม่มีที่เรียน" ครั้นจอมพล ป. ถามกลับมาว่า "ใครอยู่เบื้องหลัง" นักศึกษาหญิงบอกว่า "ไม่มีเบื้องหลังหรอก มีแต่เบื้องหน้าทั้งนั้นแหละ" จอมพล ป. ก็กล่าวว่า "ตกลงจะคืนให้" นักศึกษาถามว่า "เมื่อไร" ได้รับคำตอบอีกว่า "ภายในหนึ่งเดือน"

แล้วนักศึกษาก็สลายตัวกันไป

ครั้นเมื่อครบกำหนด 1 เดือน ไม่มีทีท่าจากรัฐบาลว่าจะคืนมหาวิทยาลัย กลุ่มนักศึกษาจึงตัดสินใจเข้ายึดมหาวิทยาลัย แผนคือทำทีพานักศึกษาไปทัศนาจร โดยวางแผนกันที่บ้านของนายสุวัฒน์ วรดิลก หรือ "รพีพร" เตรียมปริญญารุ่น 6 (ภายหลังได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี พ.ศ. 2534)

แผนคราวนี้ตกลงกันว่าใช้อาสาสมัครนักศึกษาหญิงไปพบ อธิบดีการรถไฟ ขอรถไฟพานักศึกษาไปทัศนาจรที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งก็ได้รับตามที่ขอ ครั้นไปถึงที่หมาย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ศิษย์เก่า มธก. จัดการต้อนรับและจัดที่พักให้หนึ่งคืน รุ่งขึ้นจึงออกเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯเช้ามืดวันที่ 5 พฤศจิกายน 2494 ซึ่งนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่งรออยู่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง แล้วจัดรถบัสรวม 12 คัน ยกขบวนตรงมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาทั้งหมดได้กรูเข้าไปยึดห้องเรียน ทหารรักษาการณ์ที่รับคำสั่งมาให้ควบคุมพื้นที่ทั้งหมดมหาวิทยาลัยต่างละล้าละลัง ไม่กล้าตัดสินใจกระทำการใดๆเพื่อเป็นการขัดขวางขบวนนักศึกษา ต่างพากันล่าถอยออกจากมหาวิทยาลัยไปจนหมดสิ้น

ส่งผลให้รัฐบาลทหารต้องยอมคืนมหาวิทยาลัยในวันนั้นอย่างไม่มีทางเลือก ดังนั้น วันที่ 11 ตุลาคม จึงได้รับการเฉลิมฉลองเป็น "วันธรรมศาสตร์สามัคคี" พร้อมด้วยคำขวัญที่ว่า "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย" แต่ถูกกล่าวหาว่าตรงกับ "วันชุมนุมเยาวชนคอมโซมอลของสหภาพโซเวียต" ที่มีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์ จึงถูกบีบให้ยกเลิก หันไปใช้วันที่ 5 พฤศจิกายนแทน พร้อมทั้งขยายความให้เป็น "วันคืนสู่เหย้า" หรือ Home Coming

แต่แล้วหลังปี 2500 ในยุคของคณะปฏิวัติสฤษดิ์-ถนอม วันทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวก็ถูกบีบให้ยกเลิกไป เบี่ยงเบนให้ไปใช้ 10 ธันวาคม เป็นวันธรรมศาสตร์แทน ทำให้ทั้งวันที่ 11 ตุลาคม และ 5 พฤศจิกายน ถูกลืมเลือนกลายเป็น "ประวัติศาสตร์บนกระดาษหน้าว่าง"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 5 - 12 กันยายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8