Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (24)

กบฏแมนฮัตตัน 2494:
ความพยายามครั้งสุดท้าย?

จากความพ่ายแพ้ของฝ่ายทหารเรือถูกปราบปรามครั้งแล้วครั้งเล่า และความความพยายามที่ไม่บรรลุผลในทางปฏิบัติหลายครั้ง กลุ่มทหารเรือมีความเห็นว่าหากทอดเวลาปฏิบัติการออกไปเรื่อยๆ ข่าวของคณะกู้ชาติคงจะต้องเข้าหูรัฐบาลเข้าจนได้ จึงรวบรวมกำลังกันเข้าอีกครั้ง รวมทั้ง พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน แกนนำคนสำคัญในคราวกบฏวังหลวง และกำหนดวันปฏิบัติการเป็นวันที่ 29 มิถุนายน จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะประกอบพิธีรับมอบเรือขุดแมนฮัตตัน ที่ท่าราชวรดิษฐ์ ตรงข้ามกับกองบัญชาการกองทัพเรือ ซึ่ง น.ต.มนัส จารุภา ให้เหตุผลไว้ในหนังสือ "เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล" ไว้ว่า

ประการแรก กำลังฝ่ายรัฐบาลจะใช้ออกมาสู้รบนั้นมีจำนวนลดลง เพราะได้ปล่อยทหารกลับภูมิลำเนา ไม่มีกำลังพอจะออกมาทันท่วงที ต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงในการเคลื่อนกำลัง ผิดกับฝ่ายก่อการที่มีกำลังทหารนาวิกโยธินใช้เป็นกำลังหลักครบตามอัตราเพราะยังไม่ได้ปลดปล่อยทหารไป ประการที่สอง การควบคุมตัวบุคคลที่เราต้องการทำได้ง่าย เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา สามารถสั่งการได้สะดวก

ปฏิบัติการเริ่มขึ้นเมื่อ เวลา 15.00 น. หลังจากเสร็จสิ้นพิธีรับมอบ จอมพล ป. รับเชิญไปชมเรือ นายทหารเรือกลุ่มหนึ่งนำโดย น.ต.มนัสจู่โจมเข้าประชิดตัวใช้ปืนกลจี้บังคับให้ จอมพล ป. ไปลงเรือเปิดหัวนำไปควบคุมตัวไว้ที่เรือหลวงศรีอยุธยา

หัวหน้าคณะก่อการ คือ น.อ.อานนท์ บุณฑริกธาดา สั่งการให้ทหารเรือกลุ่มที่สนับสนุนการก่อการมุ่งหน้าและตรึงกำลังไว้ที่พระนคร จากนั้นได้ออกประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองสัญญาณทหารเรือ (ร.น.๒) ในนาม "คณะกู้ชาติ" ยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องทำการครั้งนี้ เพราะการบริหางานที่เหลวแหลกของรัฐบาลซึ่งใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์และกดขี่ข่มเหงราษฎร แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่ปฏิบัติการใดๆทั้งสิ้น นอกจากถูกโจมตีก่อน ท้ายที่สุดยื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออก นอกจากนี้ยังได้บันทึกเสียงจอมพล ป. ออกอากาศแต่งตั้ง พระยาสารสาสน์ประพันธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทางฝ่ายรัฐบาลกระจายเสียงตอบโต้ไปโดยใช้วิทยุของกรมการรักษาดินแดน (ร.ด.) โดยแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรนายวรการบัญชา รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี และตั้งกองบัญชาการขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล (ในขณะนั้นคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษปฏิเสธข้อเรียกร้องของฝ่ายกบฏอย่างสิ้นเชิง พร้อมกับเสนอเงื่อนไขสามประการให้ฝ่ายกบฏยอมจำนนดังนี้ 1.ให้ ส่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับคืนมาอย่างไม่มีเงื่อนไข 2.ให้ฝ่ายกบฏที่ออกปฏิบัติการวางอาวุธแล้วกลับเข้าที่ตั้งตามเดิม 3.ให้ผู้ก่อการระดับหัวหน้าเข้ามอบตัวกับรัฐบาล

จนถึงเวลา 04.00 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ รัฐบาลสั่งปราบกบฏ โดยการสู้รบเปิดฉากขึ้นขึ้นเมื่อเวลา 04.30 น. ด้วยกำลังติดอาวุธ 3 เหล่า โดยกองทัพบกภายใต้การนำของ พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กองทัพอากาศภายใต้การบัญชาของ พล.อ.อ.ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี และกำลังตำรวจโดย พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์

การสู้รบแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ทหารบกเริ่มโจมตีจากฝั่งพระนคร กองทัพอากาศเริ่มทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายกรมอู่ทหารเรือและคลังเชื้อเพลิง ระหว่างการสู้รบกันนั้นการเจรจาก็ยังคงดำเนินอยู่ จนกระทั่งเวลา 15.00น. เครื่องบินแบบ Spirtfire ( บ.ข.14 ) และ A.T6 TEXAN ( บ.ฝ.8 ) ของกองทัพอากาศได้ทิ้งระเบิดเรือหลวงศรีอยุธยาจนเกิดไฟลุกไหม้และอับปางลง แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับการช่วยเหลือให้ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง ณ ที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือทางฝั่งธนบุรีได้อย่างปลอดภัย ฝ่ายทหารอากาศยังคงโจมตีต่อไปจนกระทั่งเวลา 17.00 น. เรือหลวงคำรณสินธุ์ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันคลังน้ำมันอยู่ที่บริเวณกรมอู่ทหารเรืออับปางลงอีกลำหนึ่ง

จากนั้นกองกำลังกบฏที่ประกอบด้วยทหารเรือหน่วยต่างๆ ก็ยอมจำนน และหยุดการยิงต่อสู้ตลอดแนว โดยมีทหารบกและทหารอากาศเข้าเคลียร์พื้นที่ ผู้ก่อการแยกย้ายกันหลบหนีไปทางทางวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร) และเล็ดรอดออกจากประเทศไปพม่าและสิงคโปร์ สำหรับ น.ต.มนัส จารุภา รน. ผู้จี้จอมพล ป. ได้หลบหนีไปพม่าได้สำเร็จ แต่ถูกจับกุมได้หลังจากลักลอบกลับเข้าประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2495

กบฏแมนฮัตตันหรือที่บางคนเรียกว่าเป็น "สงครามกลางเมือง" นั้น เนื่องจากมีการใช้กำลังพลทั้ง 4 เหล่า มีการใช้อาวุธสงครามและยุทโธปกรณ์ขนาดหนัก เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก มีประชาชนเสียชีวิต 118 คน บาดเจ็บสาหัสและไม่สาหัส 191 คน พิการ 9 คน ทหารเรือเสียชีวิต 43 นาย บาดเจ็บ 87 นาย ทหารบกเสียชีวิต 17 นาย บาดเจ็บ 115 นาย และตำรวจเสียชีวิต 9 นาย บาดเจ็บ 38 นาย เหตุการณ์สิ้นสุดลงด้วยการจับกุมผู้ต้องหาร่วม 1,000 คน ปล่อยตัวเพราะหาหลักฐานไม่เพียงพอจนเหลือฟ้องศาลประมาณ 100 คน นักโทษส่วนใหญ่ได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ

ภายหลังเหตุการณ์ยุติลง รัฐบาลได้การปรับปรุงกองทัพเรือเสียใหม่ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกองทัพเรือจำนวน 12 คน ที่สำคัญ คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พล.อ. ผิน ชุณหะวัณ, พล.อ.อ. ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี, พล.ท. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ ปรากฏว่าผลการปรับปรุงที่สำคัญก็คือ ให้ยุบกรมนาวิกโยธินที่กรุงเทพ ฯ และสัตหีบทั้งหมด คงเหลือไว้เพียง 1 กองพัน พร้อมทั้งให้ปลดนายทหารที่เกินอัตราออกให้หมด และปลดทหารนาวิกโยธินออก นอกจากนั้น ให้ย้ายกองบัญชาการกองทัพเรือจากพระราชวังเดิม ไปอยู่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อไม่ให้ทหารเรืออยู่ในเขตพระนครและธนบุรี ตลอดจนให้เปลี่ยนชื่อ "กองเรือรบ" เป็น "กองเรือยุทธการ" โดยย้ายเรือรบในสังกัดทุกลำไปอยู่สัตหีบ และให้โอนกองบินทหารเรือที่จุดเสม็ด สัตหีบ ทั้งยังให้ยุบเลิกกองสารวัตรทหารเรือ กรุงเทพฯ อีกด้วย

ยิ่งกว่านั้น ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2494 คณะรัฐมนตรีและกระทรวงกลาโหมได้มีประกาศและคำสั่งให้นายทหารเรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการกบฏครั้งนี้พักราชการ และปลดออกจากราชการหลายคน

เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันส่งผลให้กองทัพเรือถูกบีบย่อส่วนลง ถูกจำกัดกำลังคน ถูกลดสถานที่ตั้งและสถานที่ฝึกปฏิบัติการ ตลอดจนลดจำนวนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆลงอย่างมาก บทบาทของกองทัพเรือถูกลดลงอย่างสิ้นเชิง ส่วนกองทัพบก กองทัพอากาศและกรมตำรวจ สามารถขยายแสนยานุภาพได้อย่างเต็มที่และมีบทบาททางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดนับแต่นั้นมา.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 29 สิงหาคม – 04 กันยายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8