จาก "ท้าก...สิน...ออกไป" ถึง รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (ต่อ)
การรณรงค์และการจัดการชุมนุมที่นำโดยกลุ่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล นับจากปี 2548 และนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ครั้งแรกขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 นั้น เนื้อหาในการปลุกระดม ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวอย่าง "สันติ อหิงสา" แต่อย่างใด การใช้ถ้อยคำหยาบคาย การสร้างวาทกรรมหยาบช้าสามานย์ และการโน้มน้าวให้เกิดความเกลียดชังที่จนถึงเวลานี้ไม่อาจพิสูจน์ได้ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ การปลุกระดมการเคลื่อนไหวในขอบเขตกว้างขวางนำไปสู่การกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก จนกระทั่งมีการชุมนุมกระจายไปทั่วประเทศไม่เฉพาะที่สวนจตุจกร ที่นำโดย "คาราวานคนจน"
ผลจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ที่อดีตพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชนและพรรคชาติไทยไม่ได้ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทย ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค ยังคงได้รับคะแนนเสียงข้างมาก แต่กระแส "ไม่เอาทักษิณ" กลับยิ่งโหมแรงขึ้น ความรุนแรงบางระดับเช่นการเกิดระเบิดในหลายพื้นที่นับจากต้นปี รวมทั้งการเริ่มมีการ "เผชิญหน้า" ระหว่างฝ่าย "ขับไล่" และฝ่าย "สนับสนุน" มีแนวโน้มแต่ในท้ายที่สุดการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้เป็นโมฆะ และได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549
วันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2549 กลุ่มเครือข่ายแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และอาจารย์มหาวิทยาลัย 43 องค์กร 11 มหาวิทยาลัย ร่วมลงรายชื่อกว่า 90 คน ปลุกกระแส "ต้านทักษิณ ต้านทุนนิยมสามานย์" (ซึ่งเป็นวาทกรรมสำคัญที่การประกาศในเวลานั้น) และออกแถลงการณ์ให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ยุติบทบาทจากการดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีทันที มีการชุมนุมกันเชิงเสวนาครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของแกนนำเครือข่ายการต่อต้าน ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นมีการประกาศชุมนุมใหญ่อย่างยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและเครือข่ายในวันที่ 20 กันยายน
ในเวลาเดียวกันฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ ก็ประกาศการชุมใหญ่เพื่อตอบโต้ฝ่ายขับไล่รัฐบาล
แต่แล้วเพียงวันเดียวก่อนถึงวันชุมนุมใหญ่ วงจรอุบาทว์ทางการเมืองล้าหลังแบบสยามประเทศก็มาถึงอีกครั้ง ทั้งๆที่หลายฝ่ายล้วนยืนยันว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นอีกแล้วหลังการรัฐประหาร "ร.ส.ช." ในปี 2534 นั่นคือในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 มีการทำรัฐประหารโดย "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน
วาทกรรมพล่อยๆของสิ่งที่อวดอ้างว่า "สันติ อหิงสา" กลายเป็นเสียงอ้อแอ้ของเด็กทารกไปในทันที พร้อมกับวาทกรรม "อุบาทว์" ยิ่งกว่า ที่ว่า...
"โปรดฟังอีกครั้งๆๆๆๆๆๆๆๆๆ"
สภาวะหลัง "รัด-ทำ-มะ-นูน-50" และรัฐบาลพลังประชาชน
ในการชุมนุมกดดันรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 นอกเหนือจากเห็นจากภาพในบางสื่อทิ่ว่ามีการ "สะสมอาวุธระดับท้องถนน" เป็นต้นว่า ท่อนไม้หรือท่อนเหล็กและก้อนอิฐก้อนหินกันไว้เรียบร้อย และระหว่างการขึ้น "ปลุกระดม" โดยแกนนำคนสำคัญๆบางคน ก็มีการสร้างภาพปฏิปักษ์ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา สร้างความ "ฮึกห้าวเหิมหาญ" เสียจน ถ้าปรากฏว่ามีคนคิดเป็นอย่างอื่น จะกลายเป็น "ศัตรูคู่อาฆาต" ที่จะต้อง "สั่งสอน" กันให้จดจำไปจนวันตายทีเดียว
ความรุนแรงที่ส่อเค้ามาตลอดเริ่มเผยโฉมหน้าเบื้องหลัง "วาทกรรมสันติ อหิงสา" เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งชุมนุมโจมตีรัฐบาลรัฐบาลผสมเสียงข้างมากนำโดยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่23 ธันวาคม 2550 และพรรคพลังประชาชน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยมีจำนวนผู้ชุมนุมประมาณ 3,000-4,000 คน โดยประกาศเตรียมเดินไปยึดทำเนียบรัฐบาล ขณะเดียวกัน มวลชนกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯจำนวนหลายร้อยคนก็เริ่มมีการรวมตัวด้วยจำนวนที่น้อยกว่า 3-4 เท่า พร้อมกับมีการชุมนุมที่บริเวณท้องสนามหลวงของ "กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ" อีกจำนวนหนึ่ง
และในขณะที่ขบวนของกลุ่มพันธมิตรฯ มาเผชิญกับด่านสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งแนวอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ในเวลาเดียวกับที่กลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ มุ่งหน้ามาจากด้านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. จึงเกิดปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างฝ่ายต่อต้านพันธมิตรฯ กับกองระวังหลังของพันธมิตรฯ หน่วยรักษาความปลอดภัยของกลุ่มพันธมิตรฯ รู้วิธีใช้อาวุธเบาในการสลายฝูงชน จากการติดตามสังเกตของนักข่าวสายอาชญากรรม เห็นว่าหน่วยกำลังของฝ่ายพันธมิตรรู้วิธีการตีครั้งเดียวให้หมอบ ขณะที่มวลชนฝ่ายต่อต้านฯ ซึ่งปราศจากการนำที่ชัดเจนเนื่องจากเป็นการรวมตัวกันโดยมิได้นัดหมายแล้วจึงมาสมทบกันภายหลัง ทั้งปราศจากการฝึกฝนทางยุทธวิธีในการเข้าปะทะจึงบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก
ต่อมาในการแถลงข่าวของนายสุริยะใส กตะศิลา เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2551 ประกาศการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนพื่อประชาธิปไตย ในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ว่า "อารยะขัดขืนวันพรุ่งนี้ จะไม่ขัดต่อกฎหมาย และเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ ซึ่งอารยะขัดขืนจะมีตั้งแต่ระดับอ่อนสุดจนถึงแข็งที่สุด ซึ่งยังคงยึดหลักสันติอหิงสาเช่นเดิม ส่วนจุดยืนการชุมนุมที่ยืดเยื้อของพันธมิตรฯจะเป็นแนวทางการต่อสู้ระดับยุทธศาสตร์ระหว่างคนที่เอาและต่อต้านระบอบทักษิณ และพันธมิตรฯ ยืนยันว่าจะชุมนุมเพื่อเปิดโปงระบอบทักษิณที่ใช้อำนาจผ่านรัฐบาลลูกกรอก โดยจะทำหน้าที่ดำเนินการด้วยยุทธศาสตร์ทางการเมืองเปิดโปง ซึ่งผมเชื่อว่า วันหนึ่งประชาชนทั่วไปจะเข้าใจว่าสิ่งที่พันธมิตรฯได้ทำนั้นไม่ได้รับผลประโยชน์แต่อย่างใด และที่ทำก็เป็นการพิทักษ์ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และจะเข้าใจว่าพันธมิตรฯยอมเปลืองตัวเพราะอะไร"
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 22-28 มกราคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน