Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (30)

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500:
ฉากเปิดยุคมืดประชาธิปไตย

ในเดือนเมษายน 2500 กลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมและกองทัพภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เริ่มเคลื่อนไหวเตรียมแผนรัฐประหาร โดยมีแกนนำสำคัญเข้าประชุมร่วมกับกองทัพ เช่น กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ) ประธานองคมนตรี, ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (กุล ลดา เกษบุญชู มี้ด , การเมืองไทยในยุคสฤษดิ์-ถนอม ภายใต้โครงสร้างอำนาจโลก. กองทุนปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2550 ,หน้า 35) ไม่นานจากนั้นก็เริ่มเปิดฉากโจมตีรัฐบาลผ่านหนังสือพิมพ์ของกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม (สยามรัฐ) และพรรคฝ่ายค้าน เช่น พรรคประชาธิปัตย์และพรรคสหภูมิ ที่สนับสนุนจอมพลสฤษดิ์โดยตรง ซึ่งแยกตัวมาจากพรรคเสรีมนังคศิลา มี นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายสงวน จันทรสาขา (น้องต่างมารดาของจอมพลสฤษดิ์) เป็นเลขาธิการฯ (ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเดือนธันวาคม 2500 ก็มี การสลายพรรคสหภูมิมาเป็นพรรคชาติสังคม ซึ่งมี จอมพลสฤษดิ์เป็นหัวหน้าพรรค มี พล.ท.ประภาส จารุเสถียร เป็น เลขาธิการฯ)

เค้าล้างของการ "กำจัด" ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองด้วยหนึ่งในข้อกล่าวหาที่ใช้ได้ผลมาตลอดสำหรับ "การเมืองสามานย์" ก็ถูกนำมาใช้กันเปิดเผยยิ่งขึ้นทุกดที นั่นคือข้อหา "หมิ่นพระบรามเดชานุภาพ" และผนวกด้วย "ล้มล้างสถาบัน"

โดยการอภิปรายทั่วไประหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2500 นายพีร์ บุนนาค ส.ส. สุพรรณบุรี อภิปรายว่า "...สงสัยว่า หนังสือพิมพ์ไทยเสรี จะมีเบื้องหลังในทางการเมืองเพื่อที่จะคิดล้มล้างอำนาจกษัตริย์เป็นแน่แท้..." และ "มี ข่าวลืออย่างนี้ครับ... นี้เกี่ยวกับอธิบดี (ตำรวจ)โดยตรงเลย เกี่ยวกับฯพณฯรัฐมนตรีมหาดไทย ในการประชุมพรรคเสรีมนังคศิลา ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลาบ่ายโมง วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2498 นี้ ผมได้มาจากในพรรคของท่านนั้นเอง ซึ่งประชุมเฉพาะ ก่อนที่ประชุมเฉพาะ ส.ส. มนังคศิลา ประเภท 1 เขาบอกว่า ฯพณฯ นายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ นี้ รัฐมนตรีมหาดไทย ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบต่อหน้า ฯพณฯ จอมพลป.พิบูลสงครามว่า ได้มีหลักฐาน แน่นอนว่า ประทานโทษครับ ในหลวงทรงมอบเงิน 7 แสนบาทให้ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และนายควง อภัยวงศ์ มาเล่นการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์"

ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวจะมาซ้ำรอยอีกหนช่วงก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 25549 จากการอภิปรายเพิ่มเติมของนายพีร์ "...บอกว่า มีการประชุมวางแผนการประกาศภาวะฉุกเฉิน เมื่อที่แล้วมาครับ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2500 นี้ ได้มีการประชุมในที่หนึ่ง ได้มีบุคคลชั้นจอมพลไปนั่งในที่ประชุมนั้น เว้นไว้แต่ฯพณฯจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นี้เป็นข้อเท็จจริง เขาว่าอย่างนี้ ถ้าไม่มีอะไร แถลงออกมาเสีย ตอบมาแล้วประชาชนจะมั่นใจว่า รัฐบาลนี้และโดยเฉพาะนายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ยังเคารพสักการะองค์พระเจ้าอยู่หัวอยู่" (ใน รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ครั้งแรก และสมัยสามัญ ชุดที่ 2 พ.ศ.2500, พระนคร : รวมมิตรไทย, 2506, หน้า 1031-1032)

ความสุกงอมของสถานการณ์ที่สะท้อนว่า จอมพลป.ไม่อาจรักษาสถานภาพหัวหน้าคณะรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศต่อไปได้ มาถึงใน วันที่ 15 กันยายน เมื่อจอมพลสฤษดิ์และผู้สนับสนุน ออกแถลงการณ์ขอให้ จอมพล ป. และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมด

ถัดมาวันที่ 16 กันยายน จอมพล ป.ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เวลา 11.00 น. และกลับออกมาเวลา 13.00 น. ด้วยอากัปกิริยาผิดปกติ ไม่ยอมหยุดรถให้สัมภาษณ์กับคณะสื่อมวลชนที่รออยู่ อย่างที่เป็นมา เนื่องจากพระองค์ไม่ทรงเห็นชอบในการปลดจอมพลสฤษดิ์ จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกตามที่รัฐบาลเสนอ ต่อมาในเวลา 14.30 น. จอมพล ป. ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีที่สำคัญ และสมาชิกสภาผู้แทนประเภท 1 พรรคเสรีมนังคศิลา ประชุมที่ทำการพรรค ณ บ้านมนังคศิลา เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับจอมพลสฤษดิ์และพวก (เฉลิม มลิลา, "รัฐประหาร พ.ศ. 2500 ในประเทศไทย", วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2518, หน้า 179)

แต่แล้วในเวลา 18.00 น. พล.ท.ประภาส จารุเสถียร แม่ทัพภาคที่ 1 ใช้รถถัง รถหุ้มเกราะและทหารราบ กระจายกำลังออกยึดจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ร.ท.เชาว์ ดีสุวรรณ เข้ายึดกองบัญชาการตำรวจกองปราบปราม สามยอด ซึ่งเป็นที่บัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า ได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง ในขณะที่ พล.จ.กฤษณ์ สีวะรา รองแม่ทัพภาคที่ 1 พ.ท.เอิบ แสงฤทธิ์, พ.ต.เรืองศักดิ์ ชุมะสุวรรณ, พ.อ.เอื้อม จิรพงษ์ และ ร.อ.ทวิช เปล่งวิทยา ได้นำกำลังทหารราบที่ 1 พัน 3 บุกเข้าไปยึดวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตามมาด้วยกองกำลังรถถัง ส่วน พล.ร.อ.หลวงชำนาญอรรถยุทธ ผู้บัญชาการทหารเรือ สั่งการทางวิทยุให้เรือรบ 2 ลำ ยึดท่าวาสุกรี และส่งกำลังนาวิกโยธินส่วนหนึ่งยึดพื้นที่บริเวณหน้าวัดราชาธิวาส จนกระทั่งสถานการณ์อยู่ความควบคุมของคณะรัฐประหารหรือที่เรียกตัวเองว่า "คณะปฏิวัติ"

สำหรับจอมพล ป. ตัดสินใจหลบหนีโดยไม่ต่อสู้โดยรถยนต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรียี่ห้อซีตรองพร้อมกับ นายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขานุการส่วนตัว พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ และ พ.ท.บุลศักดิ์ วรรณมาศ ไปทางจังหวัดตราด และว่าจ้างเรือประมงลำหนึ่งเดินทางไปที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ก่อนจะเดินทางต่อไปอีกบางประเทศ จนเข้าอุปสมบทที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ในวันที่ 3 สิงหาคม 2503 จากนั้นจึงติดต่อขอลี้ภัยการเมืองเข้าประเทศญี่ปุ่น และพำนักอยู่ที่นั่นจนถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2507 ขณะที่ พล.ต.อ.เผ่า ยังมิได้หลบหนี แต่ถูกควบคุมตัวไปยังกองบัญชาการคณะปฏิวัติ แต่ในวันรุ่งขึ้นก็ถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศไป กระทั่งเสียชีวิตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2503

หลังจากคณะ รัฐประหารควบคุมสถานการณ์ทั่วไปได้แล้ว จึงออกอากาศทางวิทยุประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่มีข้อยุติในทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์ การเมือง-การปกครอง เนื่องจากเป็นประกาศที่ปราศจากผู้รับสนองพระราชโองการ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2495 (ราชกิจจานุเบกษา, ตอนที่ 76 เล่ม 74 วันที่ 16 กันยายน 2500)

การโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ มาจากการเลือกตั้งลงนี้ ถือเป็นการสิ้นสุด นายกรัฐมนตรีเป็นเชื้อสายคณะราษฎรอย่างเด็ดขาด พร้อมกับเป็นการสิ้นสุดเจตนารมณ์ในการสร้างระบอบประชาธิปไตยของการอภิวัฒน์สยาม 2475 ลง และเป็นการเริ่มต้นของวาทกรรม "สมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 10-16 ตุลาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8