Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

เส้นทางของรัฐนาซีใหม่?

เส้นทางของรัฐนาซีใหม่?



กรณีคุกคามเสรีภาพทางวิชาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ต่อ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนถึงการคุกคามหรือการปฏิเสธใน เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย อย่างมีนัยสำคัญซึ่งตามมาด้วยการ "จู่โจม" ขบวนประชาธิปไตยประชาชนที่ก่อตัวและพัฒนาสืบเนื่องอย่างเป็นรูปธรรมเด่นชัดขึ้น นับจากการรัฐประหารอัปยศ 19 กันยายน 2549

สัปดาห์ถัดมา คือในวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2554 ชุดปฏิบัติการร่วมซึ่งประกอบกำลังจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราช อาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) และตำรวจท้องที่ ได้นำหมายศาล กระจายกำลังกันเข้าตรวจค้นสถานีวิทยุชุมชนที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสถานีวิทยุที่กระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวม 13 แห่ง ในพื้นที่  กทม. 7 แห่ง ซึ่งในการเข้าตรวจค้นครั้งนี้ สืบเนื่องจาก กอ.รมน. ตรวจสอบพบว่ามีสถานีวิทยุชุมชนหลายแห่งที่ดำเนินการเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย

ทั้งนี้โดยข้อเท็จจริง ณ เวลาปัจจุบัน สถานีวิทยุชุมชน "ทั้งประเทศ" ไม่เพียงสถานีที่ดำเนินการโดย "คนเสื้อแดง" ล้วนกระจายเสียงโดยไม่มีกฎหมายรองรับแต่อย่างใด

และปฏิบัติการเยี่ยง "รัฐนาซี" ก็ตามมา เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 27 เมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯ มีหมายเรียกตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน เข้าให้ปากคำในฐานะพยาน กรณีมีผู้ฟ้องว่าข้อความในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน (ปัจจุบันปิดไปแล้ว) จำนวน 46 url อาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งนายธนาพลให้การว่า ไม่ทราบว่ามีข้อความดังกล่าวในเว็บบอร์ด และไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากเว็บถูกปิดไปแล้ว

สถานการณ์การ เมืองของประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างความมีอารยะกับความป่าเถื่อนลุแก่อำนาจยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ และหมายถึงการรณรงค์ระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังปฏิกิริยา กำลังจะผ่านพัฒนาการขึ้นสู่อีกระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือบาดแผลและความเจ็บปวดของประชาชนผู้ใฝ่ในเสรีภาพ

ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ สอนให้มนุษย์รู้จัก "ผู้นำ" หนึ่งใน "คนบาปของมนุษยชาติ" คือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้สถาปนาตนเองขึ้นเป็น "ฟือเรอร์ (Fuhrer)" หรือ "ผู้นำสูงสุด" ซึ่งเป็นทั้งหัวหน้าพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน หรือพรรคนาซี (Nazi) ประมุขแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก ทั้งโดยอาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสาธารณรัฐไวมาร์เป็นจักรวรรดิไรช์ที่สาม รัฐเผด็จการพรรคการเมืองเดียว ภายใต้แนวคิดนาซีอันเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จและอัตตาธิปไตย และต่อมามีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำสงครามของเยอรมนี และนโยบายด้านการต่างประเทศตามลัทธินาซี ซึ่งนำพาประชาชาติเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ซึ่งทำให้ผู้บริสุทธิ์ตายไปอย่างน้อย 11 ล้านคน โดยเป็นชาวยิวถึง 6 ล้านคน ทั้งนี้เครื่องมือสำคัญ 2 ประการของฮิตเลอร์และรัฐนาซี ประกอบด้วยบุคคล 2 คน

"โจเซฟ เกิบเบล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาการ (Ministry for Popular Enlightenment and Propaganda) ตั้งแต่ (1933-1945) ผู้ถือได้ว่าทรงอิทธิพลมากที่สุดรองจากฮิตเลอร์ต่อการปลุกเร้าจิตใจของชาวเยอรมันต่อการรุกรานยุโรป ผลงานสำคัญของกระทรวงโฆษณาการของอาณาจักรไรช์ที่ 3 คือทำให้ประชาชนเยอรมันคลั่งชาติ ในช่วงท้ายของสงคราม ฮิตเลอร์ได้ระบุในพินัยกรรมให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี และเพียงแค่วันเดียว เกิบเบลก็สั่งให้ภรรยาและบุตรทั้งหมดกินยาพิษฆ่าตัวตาย ก่อนจะฆ่าตัวตายตามหลัง "ผู้นำสูงสุด" ไป

"ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์" ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอสและหน่วยตำรวจลับเกสตาโป มีหน้าที่ตรวจค้นและกวาดล้างบุคคล แหละ/หรือกลุ่มบุคคลที่ต้อง สงสัยว่ามีพฤติกรรมต่อต้าน อำนาจรัฐนาซีเยอรมันในช่วง เหลื่อมและช่วงสงครามโลกครั้ง ที่สองในทวีปยุโรป มีอำนาจล้นฟ้าในรัฐเผด็จอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ มีส่วนรู้เห็นต่อการสร้างค่ายกักกัน ทั้งหลายในทวีปยุโรป ผลงานที่มนุษย์ในสังคมอารยะไม่มีวันลืมคือเป็นผู้สร้างค่ายกักกันในเมืองที่ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาเยอรมันว่า "เอาชวิทซ์ (Auschwitz)" ในประเทศโปแลนด์ที่กองทัพนาซีเยอรมันรุกรานเข้ายึดครองในปี 1939 อันเป็นที่สังหารชาวยิวกว่า 3 ล้านคน ผู้ประสบชะตากรรมเกือบทั้งหมดถูกสังหารใน "ห้องรมก๊าซ" โดยใช้ก๊าซ Zyklon B ตลอดจนจากความอดอยาก การบังคับใช้แรงงาน การขาดการดูแลทางสุขภาพ การถูกสังหารตัวต่อตัว และข้ออ้างใน "การทดลองทางแพทย์" หลังจากนาซีเยอรมันประสบความปราชัย ฮิมม์เลอร์ถูกพันธมิตรจับกุมตัวได้และฆ่าตัวตาย

ไม่ว่าในยุคที่การเผด็จอำนาจของพรรคนาซีเยอรมันภายใต้การนำของฮิตเลอร์จะเกรียงไกรแข็งแกร่ง โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเดินทางไปสู่จุดจบและกลายเป็นตราบบาปของประวัติอารยธรรมของมนุษยชาติเพียงใด…

แต่บั้นปลายของหนึ่งใน "ทรราชย์" ที่สามานย์ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ก็คือ การฆ่าตัวตายพร้อมๆกับ อีวา บราวน์ ภรรยาที่ไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการ ในกรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 30 เมษายน 1945 ก่อนการยาตราทัพเข้ายึดครองโดยกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเชื่อว่าฮิตเลอร์ใช้วิธียิงตัวตาย ขณะที่บราวน์เลือกใช้วิธีดื่มยาพิษ แม้ว่าการตายนั้นยังคงเป็นปริศนา เนื่องจากไม่มีการพบศพของทั้ง 2 คนแต่อย่างใด.


โพสต์ครั้งแรกใน http://thaienews.blogspot.com/2011/04/blog-post_5639.html
วันพฤหัสบดี, เมษายน 28, 2011
โดย รุ่งโรจน์ วรรณศูทร

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (30)

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500:
ฉากเปิดยุคมืดประชาธิปไตย

ในเดือนเมษายน 2500 กลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมและกองทัพภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เริ่มเคลื่อนไหวเตรียมแผนรัฐประหาร โดยมีแกนนำสำคัญเข้าประชุมร่วมกับกองทัพ เช่น กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ) ประธานองคมนตรี, ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (กุล ลดา เกษบุญชู มี้ด , การเมืองไทยในยุคสฤษดิ์-ถนอม ภายใต้โครงสร้างอำนาจโลก. กองทุนปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2550 ,หน้า 35) ไม่นานจากนั้นก็เริ่มเปิดฉากโจมตีรัฐบาลผ่านหนังสือพิมพ์ของกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม (สยามรัฐ) และพรรคฝ่ายค้าน เช่น พรรคประชาธิปัตย์และพรรคสหภูมิ ที่สนับสนุนจอมพลสฤษดิ์โดยตรง ซึ่งแยกตัวมาจากพรรคเสรีมนังคศิลา มี นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายสงวน จันทรสาขา (น้องต่างมารดาของจอมพลสฤษดิ์) เป็นเลขาธิการฯ (ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเดือนธันวาคม 2500 ก็มี การสลายพรรคสหภูมิมาเป็นพรรคชาติสังคม ซึ่งมี จอมพลสฤษดิ์เป็นหัวหน้าพรรค มี พล.ท.ประภาส จารุเสถียร เป็น เลขาธิการฯ)

เค้าล้างของการ "กำจัด" ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองด้วยหนึ่งในข้อกล่าวหาที่ใช้ได้ผลมาตลอดสำหรับ "การเมืองสามานย์" ก็ถูกนำมาใช้กันเปิดเผยยิ่งขึ้นทุกดที นั่นคือข้อหา "หมิ่นพระบรามเดชานุภาพ" และผนวกด้วย "ล้มล้างสถาบัน"

โดยการอภิปรายทั่วไประหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2500 นายพีร์ บุนนาค ส.ส. สุพรรณบุรี อภิปรายว่า "...สงสัยว่า หนังสือพิมพ์ไทยเสรี จะมีเบื้องหลังในทางการเมืองเพื่อที่จะคิดล้มล้างอำนาจกษัตริย์เป็นแน่แท้..." และ "มี ข่าวลืออย่างนี้ครับ... นี้เกี่ยวกับอธิบดี (ตำรวจ)โดยตรงเลย เกี่ยวกับฯพณฯรัฐมนตรีมหาดไทย ในการประชุมพรรคเสรีมนังคศิลา ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลาบ่ายโมง วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2498 นี้ ผมได้มาจากในพรรคของท่านนั้นเอง ซึ่งประชุมเฉพาะ ก่อนที่ประชุมเฉพาะ ส.ส. มนังคศิลา ประเภท 1 เขาบอกว่า ฯพณฯ นายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ นี้ รัฐมนตรีมหาดไทย ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบต่อหน้า ฯพณฯ จอมพลป.พิบูลสงครามว่า ได้มีหลักฐาน แน่นอนว่า ประทานโทษครับ ในหลวงทรงมอบเงิน 7 แสนบาทให้ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และนายควง อภัยวงศ์ มาเล่นการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์"

ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวจะมาซ้ำรอยอีกหนช่วงก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 25549 จากการอภิปรายเพิ่มเติมของนายพีร์ "...บอกว่า มีการประชุมวางแผนการประกาศภาวะฉุกเฉิน เมื่อที่แล้วมาครับ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2500 นี้ ได้มีการประชุมในที่หนึ่ง ได้มีบุคคลชั้นจอมพลไปนั่งในที่ประชุมนั้น เว้นไว้แต่ฯพณฯจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นี้เป็นข้อเท็จจริง เขาว่าอย่างนี้ ถ้าไม่มีอะไร แถลงออกมาเสีย ตอบมาแล้วประชาชนจะมั่นใจว่า รัฐบาลนี้และโดยเฉพาะนายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ยังเคารพสักการะองค์พระเจ้าอยู่หัวอยู่" (ใน รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ครั้งแรก และสมัยสามัญ ชุดที่ 2 พ.ศ.2500, พระนคร : รวมมิตรไทย, 2506, หน้า 1031-1032)

ความสุกงอมของสถานการณ์ที่สะท้อนว่า จอมพลป.ไม่อาจรักษาสถานภาพหัวหน้าคณะรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศต่อไปได้ มาถึงใน วันที่ 15 กันยายน เมื่อจอมพลสฤษดิ์และผู้สนับสนุน ออกแถลงการณ์ขอให้ จอมพล ป. และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมด

ถัดมาวันที่ 16 กันยายน จอมพล ป.ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เวลา 11.00 น. และกลับออกมาเวลา 13.00 น. ด้วยอากัปกิริยาผิดปกติ ไม่ยอมหยุดรถให้สัมภาษณ์กับคณะสื่อมวลชนที่รออยู่ อย่างที่เป็นมา เนื่องจากพระองค์ไม่ทรงเห็นชอบในการปลดจอมพลสฤษดิ์ จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกตามที่รัฐบาลเสนอ ต่อมาในเวลา 14.30 น. จอมพล ป. ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีที่สำคัญ และสมาชิกสภาผู้แทนประเภท 1 พรรคเสรีมนังคศิลา ประชุมที่ทำการพรรค ณ บ้านมนังคศิลา เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับจอมพลสฤษดิ์และพวก (เฉลิม มลิลา, "รัฐประหาร พ.ศ. 2500 ในประเทศไทย", วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2518, หน้า 179)

แต่แล้วในเวลา 18.00 น. พล.ท.ประภาส จารุเสถียร แม่ทัพภาคที่ 1 ใช้รถถัง รถหุ้มเกราะและทหารราบ กระจายกำลังออกยึดจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ร.ท.เชาว์ ดีสุวรรณ เข้ายึดกองบัญชาการตำรวจกองปราบปราม สามยอด ซึ่งเป็นที่บัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า ได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง ในขณะที่ พล.จ.กฤษณ์ สีวะรา รองแม่ทัพภาคที่ 1 พ.ท.เอิบ แสงฤทธิ์, พ.ต.เรืองศักดิ์ ชุมะสุวรรณ, พ.อ.เอื้อม จิรพงษ์ และ ร.อ.ทวิช เปล่งวิทยา ได้นำกำลังทหารราบที่ 1 พัน 3 บุกเข้าไปยึดวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตามมาด้วยกองกำลังรถถัง ส่วน พล.ร.อ.หลวงชำนาญอรรถยุทธ ผู้บัญชาการทหารเรือ สั่งการทางวิทยุให้เรือรบ 2 ลำ ยึดท่าวาสุกรี และส่งกำลังนาวิกโยธินส่วนหนึ่งยึดพื้นที่บริเวณหน้าวัดราชาธิวาส จนกระทั่งสถานการณ์อยู่ความควบคุมของคณะรัฐประหารหรือที่เรียกตัวเองว่า "คณะปฏิวัติ"

สำหรับจอมพล ป. ตัดสินใจหลบหนีโดยไม่ต่อสู้โดยรถยนต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรียี่ห้อซีตรองพร้อมกับ นายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขานุการส่วนตัว พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ และ พ.ท.บุลศักดิ์ วรรณมาศ ไปทางจังหวัดตราด และว่าจ้างเรือประมงลำหนึ่งเดินทางไปที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ก่อนจะเดินทางต่อไปอีกบางประเทศ จนเข้าอุปสมบทที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ในวันที่ 3 สิงหาคม 2503 จากนั้นจึงติดต่อขอลี้ภัยการเมืองเข้าประเทศญี่ปุ่น และพำนักอยู่ที่นั่นจนถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2507 ขณะที่ พล.ต.อ.เผ่า ยังมิได้หลบหนี แต่ถูกควบคุมตัวไปยังกองบัญชาการคณะปฏิวัติ แต่ในวันรุ่งขึ้นก็ถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศไป กระทั่งเสียชีวิตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2503

หลังจากคณะ รัฐประหารควบคุมสถานการณ์ทั่วไปได้แล้ว จึงออกอากาศทางวิทยุประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่มีข้อยุติในทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์ การเมือง-การปกครอง เนื่องจากเป็นประกาศที่ปราศจากผู้รับสนองพระราชโองการ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2495 (ราชกิจจานุเบกษา, ตอนที่ 76 เล่ม 74 วันที่ 16 กันยายน 2500)

การโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ มาจากการเลือกตั้งลงนี้ ถือเป็นการสิ้นสุด นายกรัฐมนตรีเป็นเชื้อสายคณะราษฎรอย่างเด็ดขาด พร้อมกับเป็นการสิ้นสุดเจตนารมณ์ในการสร้างระบอบประชาธิปไตยของการอภิวัฒน์สยาม 2475 ลง และเป็นการเริ่มต้นของวาทกรรม "สมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 10-16 ตุลาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (4)

'ณรงศักดิ์ กรอบไธสง' ชีวิตแรกจากความรุนแรง

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
หรือในภาษาอังกฤษ National United Front of Democracy Against Dictatorship UDD) หรือที่เป็นที่รู้จักกันไม่เฉพาะในประเทศไทย หากรวมไปถึงสำนักข่าวหลักทางสากลทั่วโลกว่า กลุ่มคนเสื้อแดง มีชื่อเดิมว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เกิดจากการรวมตัวในปี 2550 ของประชาชนหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ที่ก่อตัวจากจุดเริ่มต้นเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีจุดประสงค์เดิมเพื่อขับไล่ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติภายหลังจากการรัฐประหาร และเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติไม่รับร่าง "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" แต่ได้ยุติการชุมนุมเคลื่อนไหวไป หลังจากที่พรรคพลังประชาชนได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งเมื่อ 26 ธันวาคม 2550

การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ก่อนหน้าจะประกาศปรับขบวนเป็น นปช. คือเหตุการณ์ชุมนุมที่นำโดย นปก. หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ อันเป็นบ้านพักรับรองสำหรับผู้บัญชาการระดับสูงของกองทัพบกไทย ซึ่ง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ใช้พักอาศัยในกรุงเทพมหานคร การชุมนุมเดินขบวนเกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม 2550 และกลุ่มผู้ชุมนุม จำนวน 20,000 คน เคลื่อนขบวนจากท้องสนามหลวง ไปปิดล้อมบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารในประเทศ ไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

แกนนำที่สำคัญในเวลานั้น อาทิ นาย วีระ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายจักรภพ เพ็ญแข, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย, นพ.เหวง โตจิราการ, พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย, นายจรัล ดิษฐาอภิชัย, นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ฯลฯ

จากนั้นในช่วงรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ การเคลื่อนไหวของ นปช. เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงความไม่เห็นกับการชุมนุมเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกดดันรัฐบาลในหลายกรณี ทั้งนี้มีบางครั้งเกิดการปะทะกันมีผู้บาดเจ็บสาหัสและถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้ว เริ่มจากการจัดสัมมนารายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน ภาคพิเศษ ครั้งที่ 2" ในวันศุกร์ที่ 25 เมษายน ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีกลุ่ม นปช. ไปชุมนุมอยู่ด้านนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งสนามหลวง มีการขว้างปาและใช้ท่อนไม้และอาวุธมีคมทำร้ายร่างกาย และประกาศจัดการชุมนุมใหญ่ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม เป็นต้นไปจากการที่ฝ่ายหนึ่งมีการเตรียมพร้อมทั้งทางด้านกำลังคนที่เป็นชายฉกรรจ์ โดยมีอาวุธหลายชนิดจนถึงขั้นปืนพก

และการนองเลือดครั้งแรกที่ เกิดการสูญเสียชีวิต เกิดขึ้นในการปะทะเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 โดยเริ่มจากเวลา 00.10 น. กลุ่ม นปช. ที่สวมสวมเสื้อแดงบ้างหรือโพกผ้าแดง ตั้งขบวนโดยให้ชายฉกรรจ์ขับขี่รถจักรยานยนต์นำหน้าบีบสัญญาณแตรตลอดเส้นทางตามด้วยกลุ่มชายฉกรรจ์เดินเท้ากลุ่มใหญ่ จากนั้นเป็นรถบรรทุก 6 ล้อ ขับตามหลัง 2 คัน ตามรายงานข่าวระบุว่าบนรถมีนายวิภูแถลง หนึ่งในแกนนำ นปช. ยืนอยู่ด้วย ขบวนออกเคลื่อนในเวลา 00.40 น. จากสนามหลวงไปตามถนนราชดำเนิน ปิดท้ายด้วยกลุ่ม นปช. เดินตามหลัง จุดมุ่งหมายที่ประกาศตลอดเวลาคือเพื่อขับไล่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เส้นทางถนนราชดำเนินสู่แยก จปร. เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ฝ่าด่านตำรวจที่ตั้งแผงเหล็กมาได้ตลอดเส้นทาง ระหว่างนั้น นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ประกาศบนเวที เพื่อขอกำลังการ์ดอาสาเพิ่ม

จนเมื่อเวลา 01.10 น. กลุ่ม นปช. เคลื่อนกำลังมาถึงร้านลิขิตไก่ย่าง บริเวณสนามมวยราชดำเนินมา ได้เกิดการปะทะกันกับฝ่ายพันธมิตรฯ ข้ามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรงเข้าสู่ขบวนของ นปช. โดยต่างฝ่ายต่างวิ่งเข้าหากัน มีการปาขวดน้ำ ขวดโซดา ขว้างก้อนหินใส่กัน พร้อมกับใช้ท่อนไม้หรือไม้เบสบอล (ซึ่งมีบางส่วนการ์ดของพันธมิตรเคยถูกเจ้าหน้าตำรวจยึดไปได้ก่อนหน้านั้นแล้ว) รวมทั้งมีดดาบขนาดยาว ระหว่างที่เกิดการปะทะกันนั้น มีเสียงปืนดังขึ้น 5-6 นัด และเสียงระเบิดไม่ทราบชนิดดังติดต่อกันหลายครั้ง โดยกระสุนปืนได้ถูกกลุ่มผู้ชุมนุม นปก.ล้มลงได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายราย เจ้าหน้าที่รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลวชิรพยาบาล

และตั้งแต่ตั้งแต่เวลา 01.30 น. หลังการปะทะกันบริเวณสะพานมัฆวานฯ หน้าอาคารที่ทำการสหประชาชาติ สำนักงานกรุงเทพฯ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำของกลุ่มพันธมิตรฯ และผู้นำฝ่ายฆราวาสของสำนักสันติอโศก ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีสั่งระดมการ์ดและผู้ชุมนุมให้ไปตั้งขบวนอยู่ที่หน้าเตนท์กองทัพธรรม ที่ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลอยู่ด้านถนนพิษณุโลก เพื่อยกกำลังไปช่วยผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณสะพานมัฆวานฯ จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมนับร้อยพร้อมด้วยอาวุธครบมือ ได้ไปรวมตัวกันที่บริเวณเตนท์หน้ากองทัพธรรม โดยพล.ต.จำลอง และนายสมศักดิ์ ได้เดินลงมาสั่งการด้วยตัวเอง

ผลจากการปะทะกันในครั้งนั้น ปรากฏว่า ฝ่าย นปก. มีผู้เสียชีวิต 1 คน คือ นายณรงศักดิ์ กรอบไธสง และมีผู้บาดเจ็บอีก 40 คน ในจำนวนนี้มีอาการบาดเจ็บสาหัส 7 คน คือ 1.นายสุรเดช นวลละออง อายุ 46 ปี ถูกรุมตีหัว 2.นายณรงค์ ปานะพันธ์ อายุ 44 ปี ถูกรุมตีหัว 3.นายละออ เปียทอง อายุ 56 ปี ถูกรุมตีหัว 4.น.ส.กริสนีย์ ทรัพย์บุญรอด อายุ 51 ปี ถูกยิงตาขวาบอด 5.นายประสิทธิ์ จันทร์เต็มดวง อายุ 45 ปี ถูกตีกะโหลกยุบโหนกหน้าและกรามซีกซ้ายแตกหมด 6.นายเสนาะ นิ่มแสง อายุ 47 ปี ถูกยิงจากด้านข้าง กระสุนเข้าปอดทะลุ และ 7.นายสราวุธ แก้วโสม อายุ 26 ปี ถูกยิงขากระดูกแตก

ต่อมาวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 นายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัคร ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 (7) เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ "ชิมไปบ่นไป" และ "ยกโขยง 6 โมงเช้า"...

ซึ่งคณะตุลาการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่าสมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้นายสมัครสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีลง แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (29)

เลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500:
การเริ่มต้นของจุดจบระบอบ "ป."

นับจากปี 2497 สำหรับความเป็นผู้นำที่ต้องสวมบทบาท "ผู้เผด็จอำนาจ" จากวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในปี 2495 ที่อยู่ในสภาวะค่อนข้างล่อแหลม จอมพล ป. พยายามหลายครั้งยื่นข้อเสนอให้จอมพลผิน ชุณหะวัณ สืบทอดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแก่ตนเอง โดยให้เหตุผลเป็นการส่วนตัวว่าให้ผู้อื่นมาครองตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกจะส่งผลต่อ "ความมั่นคง" ของทั้งหัวหน้าคณะรัฐบาลที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารและรวมทั้งหัวหน้าคณะรัฐประหารคือตัวจอมพลผินไปพร้อมกัน

ทว่าจอมพลผินกลับตัดสินใจมอบตำแหน่งให้ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมกับได้รับพระราชทานยศชั้นจอมพล เนื่องจากในขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเท่ากับจ่อคิวรอตำแหน่งนี้อยู่ในทีแล้วแล้ว อีกทั้งในช่วงที่ร่วมกันทำรับประหารนั้นยังเป็นผู้คุมกำลังที่สำคัญ (กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์) และเมื่อมีการทำรัฐประหารซ้อนที่กลายเป็นการก่อกบฏถึง 3 ครั้ง คือ กบฏเสนาธิการ กบฏวังหน้า และกบฏแมนฮัตตัน พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เป็นกำลังสำคัญ ที่รับหน้าที่เข้าปฏิบัติการอย่างแข็งขันทุกครั้ง

เมื่อ จอมพลป. ตระหนักว่าความพยายามที่จะอาศัยอำนาจทางทหารมาค้ำจุนบัลลังก์ทางการเมืองที่มีลักษณะกลวงใน มีอันต้องเป็นหมันไปโดยสิ้นเชิง อีกทั้งการใช้นโยบายคานอำนาจระหว่างขั้วกำลัง 2 ขั้ว คือ จอมพลสฤษดิ์ กับ พล.ต.อ.เผ่า ก็พลังทลายไม่เป็นท่า เพราะถึงที่สุดแล้วหาได้มีฝ่ายใดภักดีต่อจอมพล ป. ในฐานะผู้นำอย่างแท้จริงไม่ ถึงขนาดต้องจำกัดอำนาจและการขยายกองกำลังตำรวจในสังกัดของ "อธิบดีเผ่า" และถอนคืนตำแหน่งในคณะรัฐบาลไปพร้อมกัน

ประกอบกับการไปรับรู้การเมืองแบบประชาธิปไตยแบบอังกฤษและสหรัฐมาจากการเดินทางรอบโลกในปี 2498 จอมพลป. จึงหันมาแสวงหาความสนับสนุนทางการเมืองจากเสียงประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้ง โดยจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 และประกาศตั้ง พรรคเสรีมนังคศิลา ลงสู้ศึกเลือกตั้งด้วยตัวเอง ทั้งนี้ตัว จอมพล ป. เองก็ลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดพระนคร รวมทั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายควง อภัยวงศ์

ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายบุคคลที่มีแนวความคิดทางด้านลัทธิสังคมนิยม ก็มีการเคลื่อนไหวจัดตั้ง พรรคเศรษฐกร มี นายเทพ โชตินุชิต เป็นหัวหน้าพรรค นายแคล้ว นรปติ เป็นเลขาธกิารพรรค และนายทิม ภูริพัฒน์ เป็นรองหัวหน้าพรรค

แต่ แล้วผลการเลือกตั้งที่ต้องใช้เวลานับคะแนนกันนานถึง 7 วัน กลับสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชน เนื่องจากมีความเห็นจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม จากสื่อมวลชนทุกแขนงที่ไม่ได้เป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง รวมทั้งประชาชนทั่วโดยเฉพาะในพระนคร ว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีการโกงกันมากที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือกตั้งทั่วไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่ใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวโจมตีฝ่ายตรงข้าม ข่มขู่ชาวบ้าน ประชาชน ให้เลือกแต่ผู้สมัครของพรรคเสรีมนังคศิลาของรัฐบาล หรือ "การเวียนเทียน" มาลงคะแนน การสลับหีบบัตร การแอบหย่อน "บัตรผี" เข้าไปในหีบ

ผลสรุปในการนับคะแนนชนิดมาราธอน ปรากฏออกมาว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พรรคเสรีมนังคศิลา ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดถึง 83 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 28 ที่นั่ง พรรคเสรีประชาธิปไตย 11 ที่นั่ง พรรคธรรมาธิปัตย์ 10 ที่นั่ง พรรคเศรษฐกร 8 ที่นั่ง พรรคชาตินิยม 3 ที่นั่ง พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค 2 ที่นั่ง พรรคอิสระ 2 ที่นั่ง และผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรค 13 ที่นั่ง รวม 160 ที่นั่ง

สำหรับในจังหวัดพระนครนั้น จอมพล ป. และคณะอีก 6 คนได้รับเลือก ส่วนฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปัตย์นั้นปรากฏว่ามีผู้ได้รับเลือกเพียง 2 คน คือ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรค และน.ท. พระประยุทธชลธี

ความไม่พอใจของประชาชนในจังหวัดพระนครตลอดจนนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 เวลา 9.00 น. โดยการริเริ่มของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดการชุมนุมกันที่หน้าหอประชุมจุฬาฯ ในเวลา 9.00 น. มีพิธีลดธงชาติลงครึ่งเสา เพื่อแสดงการประท้วงการเลือกตั้งและไว้อาลัยระบอบประชาธิปไตย

จากนั้นนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่รวมตัวกันอยู่ ก็ร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งไปยังทำเนียบรัฐบาล จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรี สั่งประกาศภาวะฉุกเฉิน และแต่งตั้งให้ จอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้บัญชาการปราบปรามการชุมนุม แต่เมื่อฝูงชนเดินทางมาถึงสะพานมัฆวานมีเกร็ดประวัติศาสตร์การเมืองที่เป็นที่กล่าวขานในเวลาต่อมา เป็นเรื่องราวของนายทหารหนุ่ม ในชื่อและชั้นยศ ร.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ที่เข้าไปเจรจาจนขบวนนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่กำลังระเบิดอารมณ์เข้าใส่แนวรับของทหารที่ติดดาบปลายปืนพร้อมอยู่แล้วจนฝูงชนสงบลง โดยไม่เกิดการปะทะกัน จนได้สมญานาม "วีรบุรุษสะพานมัฆวานฯ" และจากการเจรจากันนั้น จอมพลสฤษดิ์ตกลงยินยอมร่วมเดินไปกับขบวนผู้ประท้วงเคลื่อนไปยังทำเนียบ

เมื่อขบวนถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลปรากฏว่าตำรวจรักษาการณ์ปิดประตูและวางกำลังป้องกันไว้ทุกด้าน ไม่ยอมให้เข้า แต่ผู้ประท้วงได้พังประตูและโถมกันเข้าไปในบริเวณทำเนียบจนได้ และพบว่า จอมพล ป. ได้รออยู่แล้วที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า จอมพล ป. พยายามพูดให้ฝูงชนอยู่ในความสงบ แต่ไม่มีใครฟัง จนกระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ต้องปรากฏตัวตามเสียงเรียกร้องของฝูงชนในเวลานั้น และขึ้นปราศรัยขอให้ช่วยกันรักษาความสงบ ส่วนปัญหาต่าง ๆ จะขอรับไปเสนอเพื่อแก้ไปกันในคณะรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ จอมพล ป. ยอมรับจะจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ทำให้เป็นที่พอใจของฝูงชน และยินยอมพร้อมใจกันสลายตัวไปอย่างสงบออกจากทำเนียบรัฐบาลไป

การเดินขบวนประท้วงครั้งนี้นับเป็นการชุมนุมทางการเมืองเป็นครั้งแรกของ "ชาวพระนคร" หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา พร้อมกันนั้นก็เป็นที่มาของการก้าวเข้ามาสู่วิถีทางการเมืองของนายทหารที่ไม่ได้เป็นสมาชิก "คณะราษฎร" หรือมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการอภิวัฒน์สยาม 2475 แม้แต่น้อย ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาชื่อเสียงกระฉ่อนเจ้าของสมญา "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" ในฐานะ "ผู้เผด็จการ" คนสำคัญที่อยู่ในอำนาจ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" จนวาระสุดท้ายของชีวิต

อีกทั้งเป็นเจ้าของวาทะประวัติศาสตร์ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 3-9 ตุลาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (28)

ป. พิบูลสงคราม 2495-2500:
วัฏจักรแห่งการเผด็จอำนาจ

ภายหลังการรัฐประหาร 2494 ตามมาด้วยการกวาดล้างพลังประชาธิปไตยซึ่งประกอบด้วยปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า ที่ประกอบไปด้วยนักคิดนักเขียน และนิสิตนักศึกษา ตลอดจนนักการเมืองที่มีอุดมการณ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ไปในแนวทางเดียวกับนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ผู้นำขบวนการเสรีไทย อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 อันนำไปสู่การกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้น แม้โดยตำแหน่งจะมีชื่อเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่ก็หาได้อยู่ในฐานะ "ท่านผู้นำ" มีอำนาจสั่งการเด็ดขาดเช่นในช่วงก่อนและระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เนื่องจากคราวนี้ จอมพล ป. เป็นนายทหารนอกประจำการ ที่มีเพียงสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า "บารมี" ส่วนตัวในฐานะที่เป็น "สัญลักษณ์" (symbol) ในหมู่ทหารเท่านั้น

ทั้งนี้กลุ่มพลังในลักษณะ "สามเส้า" ที่ค้ำอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป. ประกอบด้วย

1. กลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นอดีตนายทหารที่เคยร่วมงานกันมา อาทิเช่น พล.ต.ปลด ปลดปรปักษ์ พิบูลย์ภานุวัฒน์, พล.ต.เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธ และ พล.ท.มังกร พรหมโยธี

2. กลุ่มนายทหารนอกประจำการ ที่กลับเข้ารับราชการภายหลังรัฐประหาร ได้แก่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ, พ.อ.กาจ กาจสงคราม, พ.อ.ก้าน จำนงภูมิเวท และ พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นต้น

3. กลุ่มนายทหารประจำการซึ่งคุมกำลังในกองทัพอย่างแท้จริง ได้แก่ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.ท.บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, พ.ท.ถนอม กิตติขจร, พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ เป็นต้น

และโดยข้อเท็จจริงที่ว่า จอมพล ป. เป็นกลุ่มที่อยู่ในฐานะเปราะบางที่สุด แม้จะควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่เนื่องจากไม่มีฐานกำลังสนับสนุน จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง โดยให้อีกสองกลุ่มคานอำนาจกันเอง

กลุ่มแรกคือกลุ่ม พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ซึ่งเป็นนายพลเมื่ออายุเพียง 42 ปี หากเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหารในปี 2490 ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการปราบกบฏ "แมนฮัตตัน" อีกด้วย ภายหลังหลังการรัฐประหารเงียบ 2494 จึงดำรงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และรองผู้บัญชาการทหารบกในปี 2495 และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปี 2497 พร้อมกับรับพระราชทานยศจอมพล

อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งปรับโอนมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจในปี 2495 ทั้งนี้ ส่วนตัวของพล.ต.อเผ่าเอง มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับหัวหน้าคณะรัฐประหาร คือสมรสกับคุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ (ชุณหะวัณ) บุตรสาวของจอมพลผิน ชุณหะวัณ สภาพการที่ถูกมองว่าประเทศไทยเป็น "รัฐตำรวจ" ด้วยคติพจน์ที่ "อธิบดีเผ่า" ประกาศและมอบให้แก่กำลังพลในกรมตำรวจว่า "ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" กรมตำรวจในยุคนั้นมีสภาพเป็นเสมือนกองทัพขนาดย่อมๆไปโดยปริยาย ด้วยการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา ทั้งยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในเวลาต่อมา

สำหรับทางด้านการเมือง จอมพล ป. พยายามแสวงหาแรงสนับสนุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐ ประกอบกับพฤติการณ์ของ พล.ต.อ.เผ่า ที่มีหลายฝ่ายมองว่าเกินกว่าเหตุในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลด้วยวิธีการไม่โปร่งใส และใช้อำนาจหน้าที่ในลักษณะเผด็จการยิ่งขึ้นทุกที จึงตัดสินใจเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริการะหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2498

หลังกลับมาถึงประเทศไทย จอมพล ป. ก็เริ่มดำเนินการปฏิรูประบบการเมืองในประเทศไทย ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีการนำคำนี้มาใช้ โดยหวังจะสร้างความนิยมจากประชาชน เริ่มจากในเดือนกันยายน 2498 แถลงขอต่อรัฐสภาสนับสนุนให้ผ่านกฎหมายพรรคการเมือง นอกจากนั้นยังลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เหลือ 20 ปี และยกเลิกคุณสมบัติทางการศึกษา พร้อมกับประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ในเวลาเดียวกันก็แสดงท่าทีและการให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณะ คัดค้านการทำรัฐประหารและการใช้อำนาจตำรวจหรือทหารเพื่อผลทางการเมือง ทั้งยังอนุญาตให้มีการปราศรัยทางการเมือง หรือไฮปาร์คแบบในอังกฤษ เพื่อให้ประชนชนรู้สึกว่ามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

นอกจากนั้น เนื่องจากจอมพล ป. เริ่มตระหนักในแนวโน้มความร่วมมือระหว่างจอมพลสฤษดิ์กับกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม จึงพยายามสร้างเงื่อนไขให้นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งลี้ภัยออกนอกประเทศไปพำนัก ณ สาธารณรัฐประชาชนจีนภายหลังการรัฐประหาร 2494 และต่อมาถูกโจมตีว่าอยู่เบื้องหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีโอกาสกลับมาประเทศไทยเพื่อรื้อฟื้นคดีการสวรรคตขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้โดยหวังว่าจะได้พันธมิตรทางการเมืองจากเครือข่ายคณะราษฎรและขบวนการเสรีไทย ซึ่งยังมีความเคารพและศรัทธาในตัวนายปรีดีไม่เสื่อมคลาย (ณัฐ พล ใจจริง,"ความสัมพันธ์ไทย-จีน กับความขัดแย้งทางการเมือง : 'การทูตใต้ดิน' 2498-2500 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม", รัฐศาสตร์สาร, 29 , ฉบับพิเศษ, หน้า 29-80.)

ขณะเดียวกัน ก็เริ่มดำเนินการลดอำนาจของ พล.ต.อ.เผ่า โดยกำหนดให้เดินทางไปกรุงวอชิงตันเพื่อเจรจาการกู้เงินใหม่ในฐานะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แต่ระหว่างนั้น ก็ปรับคณะรัฐมนตรี โดยมีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง และจอมพลผินผู้ซึ่งเป็นพ่อตาของเผ่าก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีอื่นๆ ปรับเปลี่ยนเป็นพวกที่จงรักภักดีต่อจอมพล ป. และจอมพลสฤษดิ์ ตัวจอมพล ป. เองควบตำแหน่งตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยและกลาโหม พร้อมทั้งโยกย้ายนายตำรวจและกำลังทหารหลายหน่วยออกจากกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการตัดฐานอำนาจอำนาจของพล.ต.อ.เผ่า

แต่การอนุญาตให้ประชาชนโจมตีรัฐบาล กลับกลายเป็นหอกข้างแคร่กับตัวจอมพล ป. ในเวลาเดียวกัน เกิดความรู้สึกต่อต้านอเมริกันก็เพิ่มขึ้นและกลายเป็นเป้าหมายของการไฮด์ปาร์ค มีการเรียกร้องให้ถอนตัวออกจากองค์การสนธิสัญญาร่วมป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อน และถี่มากขึ้น ปฏิกิริยาจากฝ่ายรัฐบาลก็แข็งกร้าวมากขึ้น ถึงขนาดประกาศห้ามการรวมกลุ่มทางการเมืองทุกชนิดและจับกุมกลุ่มผู้อดข้าวประท้วงคัดค้านสมาชิกสภาแบบแต่งตั้ง ฯลฯ

รัฐบาลอ้างเหตุผลห้าม ชุมนุมทางการเมืองและการจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาล ว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อชาติ และมีการแทรกแซงของคอมมิวนิสต์.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19-25 กันยายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (3)

สภาวะหลัง "รัด-ทำ-มะ-นูน-50" และรัฐบาลพลังประชาชน (ต่อ)

จนมาถึงยุทธวิธีดาวกระจายตามแผน "ปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า" เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 เกิดปฏิบัติการ "กึ่งการทหาร" ที่มีกลุ่มชายฉกรรจ์โพกหัว-ปิดหน้าที่เคลื่อนไหวในลักษณะ "หน่วยคอมมานโด" ซึ่งหลังจาก 2 ชั่วโมงแรกหลังเหตุการณ์ยึดสถานีโทรทัศน์ NBT ทางนายพิภพ ธงไชยและนายสุริยะใส กตะศิลา กลับออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่คนของตน แต่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กลับเรียกร้องให้ปล่อยคนของตนที่ถูกจับกุมคืนมา ซึ่งกองกำลังชุดนี้ ไม่ได้พกไปแค่สิ่งที่อ้างว่าเป็น "อุปกรณ์กีฬา" ประเภท "ไม้เบสบอล" หรือ "ไม้กอล์ฟหัวแฟร์เวย์" หากยังมีมีด ขวาน และปืนทั้งไทยประดิษฐ์หรือไม่ไทยประดิษฐ์ รวมทั้ง "ธง" ประจำหน่วยที่ชูหรากันเข้าไปนั้น เมื่อดึงด้ามออกมากลายเป็นดาบยาว

ช่วงนี้เองที่เกิดการปะทะกันระหว่าง "นักรบศรีวิชัย" ของพันธมิตรฯ กับมวลชนของ "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" โดยฝ่ายหลังเสียชีวิต 1 คน และวีรชนประชาธิปไตยก็ถูกจารึกชื่อ "ณรงศักดิ์ กอบไธสง" ส่งผลให้นายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ประกาศการสถานการณ์ฉุกเฉินในวันเดียวกัน และต่อมายกเลิกไปเมื่อวันที่ 14 กันยายน

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดรายการออกอากาศทางโทรทัศน์ "ชิมไปบ่นไป" และ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติต้องห้ามสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากนั้นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา มีมติเลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรก เมื่อวันที่ 24 กันยายน

ยิ่งไปกว่านั้น ในวันที่ 6 ตุลาคม ฝูงชนที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ชุมนุมปิดล้อมทางเข้าออกรัฐสภา ภายใต้ "วาทกรรมสันติอหิงสา" เพื่อกดดันมิให้คณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันรุ่งขึ้น ตำรวจจึงได้เข้าสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางเข้าออกอาคารทั้งก่อนและหลังการประชุมในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยสถานการณ์ในครั้งนี้มีสื่อนอกกระแสหลัก นำเสนอตรงกันว่า "อย่างน้อยมีการตระเตรียมอาวุธไว้ส่วนหนึ่ง เป็นท่อนไม้และหนังสะติ๊กพร้อมหัวนอตที่ใช้แทนกระสุนดิน" รวมทั้งการบันทึกภาพการใช้อาวุธปืนจากฝ่ายม็อบยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายให้เข้าสลายการชุมนุม

ในการปะทะกันครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 2 คน รายแรกเป็นอดีตนายตำรวจซึ่งสังกัดกลุ่มพันธมิตรฯ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือ สารวัตรจ๊าบ อดีต สวป.สภ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ น้องเขยของ นายการุณ ใสงาม อดีต สว.จ.บุรีรัมย์ และภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นายการุณได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัด-ทำ-มะ-นูน 2550 เสียชีวิตนอกพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังกดดันเพื่อเปิดทางเข้าออกประตูรัฐสภา เนื่องจากการวัตถุระเบิดที่บรรทุกมาภายในรถรถยนต์ส่วนตัว และ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ซึ่งเสียชีวิตจากแรงระเบิดในท่านอนคว่ำบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล

เหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม นี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 381 คน ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าตำรวจได้รับบาดเจ็บรวม 11 นาย จากการถูกรถพุ่งเข้าชนและทับซ้ำโดยเจตนา และถูกตีด้วยของแข็ง ถูกแทงด้วยของมีคมในลักษณะอาวุธจำนวน ทั้งนี้เกิดจากการกระทำของผู้ประท้วงที่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงอยู่ตลอดเวลาว่า "สันติ อหิงสา"

มีประเด็นแหลมคมที่ถูกมองข้าม คือสื่อมวลชนส่วนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ในวันนั้น ไม่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างน่าคลางแคลงใจ รวมทั้งอุปกรณ์กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ตลอดแนวถนนโดยรอบบริเวณรัฐสภาก็ถูกทำให้หมดประสิทธิภาพโดยไม่มีคำอธิบาย

และสำหรับ "ระเบิดแก๊สน้ำตา" ตัวปัญหาที่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสรรพาวุธของจีนยืนยันความเหมาะสมในการใช้งานเพื่อควบคุมฝูงชนและการก่อจลาจลตามมาตรฐานสากล ไม่สามารถทำอันตรายแก่มนุษย์ถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จากนั้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประกาศระดมผู้ชุมนุมเดินทางมารวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาลในเวลา 04.00 น. เพื่อกระจายตัวไปตามจุดต่างๆที่วางแผนไว้ ทั้งนี้มีส่วนหนึ่งเคลื่อนกำลังบุกยึดท่าอากาศยานดอนเมือง โดยประกาศเป็นแผนปฏิบัติการ "ม้วนเดียวจบ" และถัดมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯ ประมาณ 1,000 คน เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อ กดดันให้นายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่ง จากนั้นได้ทยอยเดินทางเข้ามาสมทบมากขึ้นประมาณ 20,000 คนทำให้การเดินทางทางอากาศไปสู่ท่าอากาศยานนานาชาติอื่นๆ ต้องหยุดลงและสายการบินที่มีกำหนดลงจอด ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องไปลงจอด ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จนมีผู้โดยสารตกค้าง และสร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของไทยเป็นอย่างมาก ในระหว่างนั้นมีการทุบข้าวของภายในท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง และทำร้ายร่างกายบุคคลโดยหน่วยรักษาความปลอดภัยของพันธมิตรฯ ผ่านทางสำนักข่าวต่างประเทศ และมีคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตหลายเหตุการณ์

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง พร้อมกันนี้ได้ออกคำสั่งปลด พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. เนื่องจากไม่สามารถจัดการกับการชุมนุมได้และแต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติเป็นผู้รักษาการแทน

หนังสือพิมพ์มติชนรายงานว่าแกนนำพันธมิตรฯ ได้เรียกชื่อปฏิบัติการในครั้งนี้ว่า "ปฏิบัติการฮิโระชิมะ" (26 พฤศจิกายน) และในวันรุ่งขึ้น (27 พฤศจิกายน) เรียกว่า "ปฏิบัติการนะงะซะกิ"

การชุมนุมดังกล่าวดำเนินไปจนถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในวันที่ 2 ธันวาคม และนายสมชายพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในกรณีการกล่าวหากรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช

วันถัดมาคือวันที่ 3 ธันวาคม 2551 แกนนำพันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติการชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (27)

กบฏสันติภาพ 2495:
คิดต่างคือความผิดร้ายแรง

การกล่าวถึง "กบฏสันติภาพ" ซึ่งเป็นการกวาดล้างนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ตลอดจนปัญญาชน นิสิต นักศึกษาจำนวนมากในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 นั้นจำต้องย้อนความไปในช่วงปลายปี 2493 เมื่อมีการเคลื่อนไหวรณรงค์สันติภาพ โดยออกหนังสือพิมพ์ "การเมือง" ที่มีนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ และนายบุญชู โรจนเสถียร เป็นเจ้าของ โดยมีนายอัศนี พลจันทร และนายเสนาะ พาณิชเจริญ เป็นผู้ดูแลการผลิตหนังสือพิมพ์ และใช้ชื่อนายแพทย์เจริญ สืบแสง จดทะเบียนเป็นเจ้าของผู้พิมพ์โฆษณา

หนังสือพิมพ์ "การเมือง" ดำเนินการรณรงค์สันติภาพด้วยการเรียกร้องให้ลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง สันติภาพสตอกโฮล์ม ภายใน 5 สัปดาห์สามารถระดมรายชื่อได้ถึง 38,315 รายชื่อ ซึ่งกว่า 2,000 ชื่อในนั้นมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในเวลา 2 เดือนก็สามารถหารายชื่อได้มากกว่า 150,000 รายชื่อ

ต่อมาในวันที่ 22 เมษายน 2494 มีการจัดประชุมลับบนเรือที่ล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 30 คน โดยมีตัวแทนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งพระ ชาวนา นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา และกรรมกร ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้ง "คณะกรรมการสันติภาพ" ขึ้น โดยมีนายแพทย์เจริญ สืบแสง เป็นประธาน นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ และพระมหาดิลก สุวรรณรัตน์ เป็นรองประธาน นาย ส.โชติพันธุ์ (สิบโทเริง เมฆประเสริฐ) เป็นเลขาธิการ ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านสงครามในคาบสมุทรเกาหลี ต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งสนับสนุนสงครามเกาหลี เรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนตัวจากสงครามเกาหลี และกำลังเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมกับนานาชาติในประเทศจีน

นอกจากนั้นมีการจัดตั้ง "คณะกรรมการสันติภาพนักศึกษา" ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนายทวีป วรดิลก และนายอาทร พุทธิสมบูรณ์ เป็นเลขานุการ ซึ่งก่อนหน้านั้นในวันที่ 13 มีนาคม 2495 มีพระราชบัญญัติประกาศเปลี่ยนชื่อจาก "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" เหลือเพียง "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" เฉยๆ พร้อมกับยกเลิกตำแหน่ง "ผู้ประศาสน์การ" เพื่อถอดถอนนายปรีดี พนมยงค์ และตั้งตำแหน่ง "อธิการบดี" ขึ้นมาแทน โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นอธิการบดีคนแรก (2495-2500)

แต่แล้วในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินการจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนายประสิทธิ์ เทียนศิริ ซึ่งมีข่าวว่าเป็นสมาชิกคนสำคัญของ "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" ได้โดยบังเอิญเช่นนี้ ทำให้เกิดการขยายผลการจับกุมไปสู่ขบวนการสันติภาพใน 3 วันต่อมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกดดันของสหรัฐและอังกฤษว่ารัฐบาลไทยไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาคอมมิวนิสต์ตามที่มหาอำนาจผู้ชนะสงครามทั้งสองต้องการ

บรรดาบุคคลที่เข้าร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสันติภาพและถูกจับกุมในครั้งนี้มีหลากหลายกลุ่มรวมทั้งสิ้น 104 คน ประกอบไปด้วยนักเขียนหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง อาทิ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นายอารีย์ ลีวีระ เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามนิกร, นายสุภา ศิริมานนท์ เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์น, นายอุทธรณ์ พลกุล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ, นายแสวง ตุงคะบริหาร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกร, นายบุศย์ สิมะเสถียร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทย, นายฉัตร บุณยศิริชัย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ, นายสมุทร สุรักขกะ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์, นายสมัคร บุราวาศ, นายเปลื้อง วรรณศรี ฯลฯ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล อาทิ นายมารุต บุนนาค ประธานกรรมการสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายลิ่วละล่อง บุนนาค (ผู้นำนักศึกษา), นายสุวัฒน์ วรดิลก (นักประพันธ์), นายฟัก ณ สงขลา (ทนายความ), นายสุ่น กิจจำนงค์ เลขาธิการสมาคมสหอาชีวกรรมกร, นายสุพจน์ ด่านตระกูล ฯลฯ ต่อมามีการจับกุมเพิ่มเติม อาทิ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (ภริยารัฐบุรุษอาวุโส-นายปรีดี พนมยงค์), นายปาล พนมยงค์, นายสุภัทร สุคนธาภิรมย์, พลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นต้น บรรดาผู้ที่ถูกจับกุมนั้นเป็นที่ทราบกันว่าเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรง กับรัฐบาล บางรายกำลังเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างลับๆ

ทั้งนี้ รัฐบาลออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 102, 104, 177, 181 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ในการจับกุมครั้งนี้กรมตำรวจได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 10 พฤศจิกายนว่า "ด้วยปรากฏจากการสอบสวนของกรมตำรวจว่ามีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก เกิดการทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่างๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง อันเป็นการที่อาจจะทำให้เสื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ยุยงให้ทหารที่รัฐบาลส่งออกไปรบในเกาหลีตามพันธะที่รัฐบาลมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติให้เสื่อมเสียวินัย เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้วก็จะใช้กำลังเข้าทำ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่นซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย..." และในวันที่ 13 พฤศจิกายน รัฐบาลได้เร่งรัดผ่าน พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ผ่านรัฐสภา 3 วาระรวด เพื่อนำมาลงโทษผู้ต้องหากลุ่มนี้โดยเฉพาะ

ในวันที่ 14 ธันวาคม หรือ 2 วันหลังจากถูกตำรวจเรียกตัวออกจากรัฐสภา มีผู้พบศพนายเตียง ศิริขันธ์, นายเล็ก บุนนาค, นายผ่อง เขียววิจิตร, นายสง่า ประจักษ์วงศ์ และนายชาญ บุนนาค ถูกสังหารและนำไปเผาทิ้งที่ ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2496 ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกนำตัวขึ้นศาลในข้อหากบฏ เนื่องจากไม่สามารถนำข้อหาคอมมิวนิสต์มากล่าวโทษย้อนหลังได้ ใช้เวลากว่า 2 ปี จึงมีคำพิพากษาว่าจำเลยทุกคน เว้นนายมงคล ณ นคร, นายเปลื้อง วรรณศรี, นายสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, นายสิงห์ชัย บังคดานรา และนายฮางเฮ้า แซ่โง้ว เป็นผู้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา ให้จำคุกเป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน ยกเว้นนายณรงค์ ชัยชาญ ถูกจำคุก 20 ปี เพราะไม่ยอมให้ปากคำ

ต่อมาในวันที่ 9 มีนาคม นายอารีย์ ลีวีระ เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามนิกรและพิมพ์ไทย ซึ่งหลังจากถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ก็ได้เข้าพิธีมงคลสมรสกับนางสาวกานดา บุญรัตน์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ และเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ชายทะเลบ้านหนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกยิงเสียชีวิตที่เรือนพัก โดยตำรวจยศสิบตำรวจโทและพลตำรวจอีก 4 นาย จากกองกำกับการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอ้างคำสั่งของ พ.ต.ท.ศิริชัย กระจ่างวงศ์ หนึ่งในนายตำรวจอัศวินแหวนเพชร ลูกน้องของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ (ประกาศ วัชราภรณ์ ทำเนียบคนหนังสือพิมพ์, กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช พ.ศ. 2506)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19-25 กันยายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (26)

รัฐประหารตัวเอง 2494:
อำนาจที่แบ่งให้กันไม่ได้

การรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ของคณะทหารที่เรียกตนเองว่า "คณะบริหารประเทศชั่วคราว" ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของการ "รัฐประหารตัวเอง" หรือเป็นการ "ยึดอำนาจของตัวเอง" เพื่อจัดการกับ "หนามยอกอก" หรืออาการ "ขัดขา" ในการบริหารราชการแผ่นดิน ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อ้างว่าไม่ได้รับความสะดวกในการบริหารราชการแผ่นดิน อันมีสาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2492

การกลับมาของจอมพล ป.ขึ้นสู่อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง ในเดือนเมษายน 2491 มีผลทันทีในการเผชิญหน้ากันของสองขั้วอำนาจระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยม กับผู้นำคณะรัฐประหารซึ่งอีกสถานะหนึ่งเป็นสมาชิกคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งในการศึกษาทางรัฐศาสตร์ถือว่าเป็น "รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม" โดยผู้ร่างส่วนใหญ่เป็นขุนนางในระบอบเก่าและนักกฎหมายอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม คณะ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ประกอบด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ, พระยาศรีวิสารวาจา, พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี, พระยาอรรถการียนิพนธ์, หลวงประกอบนิติสาร, หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, นายสุวิชช์ พันธเศรษฐ, และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ (ณัฐพล และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ใน รัฐประหาร พ.ศ. 2494, ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า) มีเนื้อหาลดทอนอำนาจของคณะรัฐประหารอย่างชัดเจน

จุดใหญ่ใจความของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 ที่ถือเป็น "หนามยอกอก" ของคณะรัฐประหารนับจากปี 2490 นั้นอยู่ที่รัฐสภาอันประกอบด้วยสมาชิกของทั้ง 2 สภามีจำนวนเท่ากัน ซึ่งก็คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง และแม้ว่าคณะทหารจะสามารถตั้งสมาชิกเข้าไปเป็นเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาได้ก็ตาม แต่ถึงกระนั้นความสำคัญเบื้องต้นก็อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร ดังกรณีการเสนอร่างกฎหมายก็ต้องผ่านสภาผู้แทนก่อนแล้วจึงไปผ่านวุฒิสภา ทั้งยังยึดหลักการแยกข้าราชการประจำกับการเมืองจากกันอย่างเด็ดขาด โดยห้ามดำรงตำแหน่งพร้อมกันทั้ง 2 ฝ่าย

สำหรับทางด้านการคุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎร บนพื้นฐานที่รัฐบาลไม่มีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง อาศัยเพียงการรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆหลากหลาย ในนาม "สหพรรค" เพื่อสนับสนุนรัฐบาล ปัญหาในการผ่านญัตติหรือพิจารณากฎหมายจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่วนวุฒิสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งตังแต่สมัย นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่ นับแต่การยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ การตั้งกระทู้ถามและการเปิดอภิปรายทั่วไป การอภิปรายโจมตีว่ารัฐบาลทำการปราบกบฎแมนฮัตตันรุนแรงเกินกว่าเหตุ

รัฐบาลที่มีที่มาจากการรัฐประหารเห็นว่าหากใช้รัฐธรรมนูญ 2475 จะทำให้สามารถคุมเสียงในรัฐสภาได้ง่ายกว่า เนื่องกำหนดให้มีเพียงสภาเดียว แต่มี ส.ส. 2 ประเภท ประเภท 1 มาจากการเลือกตั้ง ประเภท 2 มาจากการแต่งตั้ง การร่างกฎหมายก็ผ่านสภาครั้งเดียว แต่การจะทำดังนั้นได้ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งต้องผ่านการเห็นชอบของทั้ง 2 สภา สภาวุฒิสภาคงไม่มีปัญหามาก แต่สภาผู้แทนคงไม่ยอมแน่ คณะรัฐประหารซึ่งมี พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า จึงตัดสินใจเลือกวิธีที่ยุ่งยากน้อยกว่า โดยการการยึดอำนาจ (ตนเอง) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่าและใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรียกว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495" (ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495 และถูก "ฉีกทิ้ง" เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหาร ซึ่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 6 ปี 7 เดือน 12 วัน) กลับไปใช้ระบบ ส.ส. ประเภท 1 และประเภท 2 เหมือนที่เคยใช้มาเมื่อยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

การยึดอำนาจกระทำโดยไม่ใช้การเคลื่อนกำลังใดๆ เพียงแต่เป็นประกาศการยึดอำนาจทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยโดย "คณะบริหารประเทศชั่วคราว" ประกอบด้วย 1.พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ 2.พล.ท.เดช เดชประดิยุทธ์ 3.พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 4.พล.ร.ต.หลวงยุทธศาสตร์โกศล 5.พล.ร.ต.หลวงชำนาญอรรถยุทธ 6.พล.ร.ต.สุนทร สุนทรนาวิน 7.พล.อ.อ.ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี 8.พล.อ.ท.หลวงเชิดวุฒากาศ 9.พล.อ.ท.หลวงปรุงปรีชากาศ

ทั้งนี้ข้ออ้างสุดคลาสสิกในการยึดอำนาจการปกครองโดยกลุ่มนายทหารชั้นสูงของกองทัพ และยังคงถูกนำมาใช้สืบเนื่องเป็น "ใบปะหน้า" การทำรัฐประหารในเวลาต่อมา จนแม้เมื่อ 19 กันยายน 2549 ก็คือ "เนื่อง จากสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันตกอยู่ในความคับขันทั่วไป ภัยแห่งคอมมิวนิสต์ได้ถูกคุกคามเข้ามาอย่างรุนแรง ในคณะรัฐมนตรีปัจจุบันนี้ก็ยังดี ในรัฐสภาก็ดี มีอิทธิพลของคอมมิวนิสต์เข้าแทรกซึมอยู่เป็นอันมาก แม้ว่ารัฐบาลจะทำความพยายามสักเพียงใด ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ได้ ทั้งไม่สามารถปราบการทุจริตที่เรียกว่า คอร์รัปชั่น ดังที่มุ่งหมายว่าจะปราบนั้นด้วย ความเสื่อมโทรมมีมากขึ้น จนเป็นที่วิตกกันทั่วไปว่า ประเทศชาติจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในสถานการณ์การเมืองอย่างนี้"

ผลพวงสำคัญจากการรัฐประหารเงียบนี้ ส่งให้ จอมพล ป.ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวพร้อมคณะรัฐมนตรีชั่วคราวจำนวน 17 คนในวันยึดอำนาจ 29 พฤศจิกายนนั้นเอง ถัดมาอีก 1 วัน “คณะบริหารประเทศชั่วคราว” ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่สองจำนวน 123 คน ซึ่งเปิดประชุมสภาทันทีในวันที่ 1 ธันวาคม เพื่อลงมติเลือกจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ในเวลาต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลทุกประการ

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2495 ที่เป็นผลพวงของความพยายามในการการประนีประนอม ระหว่างอำนาจใหม่กับอำนาจเก่า สมาชิกคณะผู้ร่างประกอบด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ, พระยาศรีวิสารวาจา, พระยาเทพวิทุร, หลวงประกอบนิติสาร, นายเพียร ราชธรรมนิเทศ, พระยาอรรถการีย์นิพนธ์, หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, นายสุวิชช์ พันธ์เศรษฐ และ นายหยุด แสงอุทัย ทั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลทหารยอมให้คงไว้เพียงสาระบางประการใน "รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม" เท่านั้น เช่น การให้คงมีคณะองคมนตรีที่ทรงตั้งตามพระราชอัธยาศัยต่อไป แต่ไม่ปรากฏข้อความให้ทรงสามารถเลือกและแต่งตั้งวุฒิสภาด้วยพระองค์เองดังเดิม นั่นคือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2495 นี้เป็นการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ไว้เพียงในขอบเขตกิจการส่วนพระองค์เท่านั้น แต่ไม่เปิดช่องทางให้ทรงใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภาได้อีก.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 12-18 กันยายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (2)

จาก "ท้าก...สิน...ออกไป" ถึง รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (ต่อ)

การรณรงค์และการจัดการชุมนุมที่นำโดยกลุ่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล นับจากปี 2548 และนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ครั้งแรกขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 นั้น เนื้อหาในการปลุกระดม ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวอย่าง "สันติ อหิงสา" แต่อย่างใด การใช้ถ้อยคำหยาบคาย การสร้างวาทกรรมหยาบช้าสามานย์ และการโน้มน้าวให้เกิดความเกลียดชังที่จนถึงเวลานี้ไม่อาจพิสูจน์ได้ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ การปลุกระดมการเคลื่อนไหวในขอบเขตกว้างขวางนำไปสู่การกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก จนกระทั่งมีการชุมนุมกระจายไปทั่วประเทศไม่เฉพาะที่สวนจตุจกร ที่นำโดย "คาราวานคนจน"

ผลจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ที่อดีตพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชนและพรรคชาติไทยไม่ได้ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทย ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค ยังคงได้รับคะแนนเสียงข้างมาก แต่กระแส "ไม่เอาทักษิณ" กลับยิ่งโหมแรงขึ้น ความรุนแรงบางระดับเช่นการเกิดระเบิดในหลายพื้นที่นับจากต้นปี รวมทั้งการเริ่มมีการ "เผชิญหน้า" ระหว่างฝ่าย "ขับไล่" และฝ่าย "สนับสนุน" มีแนวโน้มแต่ในท้ายที่สุดการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้เป็นโมฆะ และได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549

วันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2549 กลุ่มเครือข่ายแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และอาจารย์มหาวิทยาลัย 43 องค์กร 11 มหาวิทยาลัย ร่วมลงรายชื่อกว่า 90 คน ปลุกกระแส "ต้านทักษิณ ต้านทุนนิยมสามานย์" (ซึ่งเป็นวาทกรรมสำคัญที่การประกาศในเวลานั้น) และออกแถลงการณ์ให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ยุติบทบาทจากการดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีทันที มีการชุมนุมกันเชิงเสวนาครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของแกนนำเครือข่ายการต่อต้าน ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นมีการประกาศชุมนุมใหญ่อย่างยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและเครือข่ายในวันที่ 20 กันยายน

ในเวลาเดียวกันฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ ก็ประกาศการชุมใหญ่เพื่อตอบโต้ฝ่ายขับไล่รัฐบาล

แต่แล้วเพียงวันเดียวก่อนถึงวันชุมนุมใหญ่ วงจรอุบาทว์ทางการเมืองล้าหลังแบบสยามประเทศก็มาถึงอีกครั้ง ทั้งๆที่หลายฝ่ายล้วนยืนยันว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นอีกแล้วหลังการรัฐประหาร "ร.ส.ช." ในปี 2534 นั่นคือในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 มีการทำรัฐประหารโดย "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน

วาทกรรมพล่อยๆของสิ่งที่อวดอ้างว่า "สันติ อหิงสา" กลายเป็นเสียงอ้อแอ้ของเด็กทารกไปในทันที พร้อมกับวาทกรรม "อุบาทว์" ยิ่งกว่า ที่ว่า...

"โปรดฟังอีกครั้งๆๆๆๆๆๆๆๆๆ"

สภาวะหลัง "รัด-ทำ-มะ-นูน-50" และรัฐบาลพลังประชาชน

ในการชุมนุมกดดันรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 นอกเหนือจากเห็นจากภาพในบางสื่อทิ่ว่ามีการ "สะสมอาวุธระดับท้องถนน" เป็นต้นว่า ท่อนไม้หรือท่อนเหล็กและก้อนอิฐก้อนหินกันไว้เรียบร้อย และระหว่างการขึ้น "ปลุกระดม" โดยแกนนำคนสำคัญๆบางคน ก็มีการสร้างภาพปฏิปักษ์ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา สร้างความ "ฮึกห้าวเหิมหาญ" เสียจน ถ้าปรากฏว่ามีคนคิดเป็นอย่างอื่น จะกลายเป็น "ศัตรูคู่อาฆาต" ที่จะต้อง "สั่งสอน" กันให้จดจำไปจนวันตายทีเดียว

ความรุนแรงที่ส่อเค้ามาตลอดเริ่มเผยโฉมหน้าเบื้องหลัง "วาทกรรมสันติ อหิงสา" เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งชุมนุมโจมตีรัฐบาลรัฐบาลผสมเสียงข้างมากนำโดยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่23 ธันวาคม 2550 และพรรคพลังประชาชน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยมีจำนวนผู้ชุมนุมประมาณ 3,000-4,000 คน โดยประกาศเตรียมเดินไปยึดทำเนียบรัฐบาล ขณะเดียวกัน มวลชนกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯจำนวนหลายร้อยคนก็เริ่มมีการรวมตัวด้วยจำนวนที่น้อยกว่า 3-4 เท่า พร้อมกับมีการชุมนุมที่บริเวณท้องสนามหลวงของ "กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ" อีกจำนวนหนึ่ง

และในขณะที่ขบวนของกลุ่มพันธมิตรฯ มาเผชิญกับด่านสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งแนวอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ในเวลาเดียวกับที่กลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ มุ่งหน้ามาจากด้านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. จึงเกิดปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างฝ่ายต่อต้านพันธมิตรฯ กับกองระวังหลังของพันธมิตรฯ หน่วยรักษาความปลอดภัยของกลุ่มพันธมิตรฯ รู้วิธีใช้อาวุธเบาในการสลายฝูงชน จากการติดตามสังเกตของนักข่าวสายอาชญากรรม เห็นว่าหน่วยกำลังของฝ่ายพันธมิตรรู้วิธีการตีครั้งเดียวให้หมอบ ขณะที่มวลชนฝ่ายต่อต้านฯ ซึ่งปราศจากการนำที่ชัดเจนเนื่องจากเป็นการรวมตัวกันโดยมิได้นัดหมายแล้วจึงมาสมทบกันภายหลัง ทั้งปราศจากการฝึกฝนทางยุทธวิธีในการเข้าปะทะจึงบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก

ต่อมาในการแถลงข่าวของนายสุริยะใส กตะศิลา เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2551 ประกาศการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนพื่อประชาธิปไตย ในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ว่า "อารยะขัดขืนวันพรุ่งนี้ จะไม่ขัดต่อกฎหมาย และเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ ซึ่งอารยะขัดขืนจะมีตั้งแต่ระดับอ่อนสุดจนถึงแข็งที่สุด ซึ่งยังคงยึดหลักสันติอหิงสาเช่นเดิม ส่วนจุดยืนการชุมนุมที่ยืดเยื้อของพันธมิตรฯจะเป็นแนวทางการต่อสู้ระดับยุทธศาสตร์ระหว่างคนที่เอาและต่อต้านระบอบทักษิณ และพันธมิตรฯ ยืนยันว่าจะชุมนุมเพื่อเปิดโปงระบอบทักษิณที่ใช้อำนาจผ่านรัฐบาลลูกกรอก โดยจะทำหน้าที่ดำเนินการด้วยยุทธศาสตร์ทางการเมืองเปิดโปง ซึ่งผมเชื่อว่า วันหนึ่งประชาชนทั่วไปจะเข้าใจว่าสิ่งที่พันธมิตรฯได้ทำนั้นไม่ได้รับผลประโยชน์แต่อย่างใด และที่ทำก็เป็นการพิทักษ์ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และจะเข้าใจว่าพันธมิตรฯยอมเปลืองตัวเพราะอะไร"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 22-28 มกราคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (25)

ธรรมศาสตร์สามัคคี 2494:
โดมของเรา ชีวิตของเรา…

หลังกบฏแมนฮัตตัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตกเป็นเป้าว่าให้ความร่วมมือกับทหารเรือฝ่ายกบฏ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุมทางการเมือง และปิดพร้อมกับส่งทหารเข้ายึดมหาวิทยาลัยโดยให้เหตุผลว่า "ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราว และเพื่อความสงบเรียบร้อย" ต่อมาคณะกรรมการนักศึกษามีมติร่วมกันผลักดันให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนชั่วคราว โดยขอใช้สถานที่ของเนติบัณฑิตยสภาและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาฯ สำหรับการบรรยายให้นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ตามหลักสูตรคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ ทั้งนี้ ในช่วงเย็นนักศึกษาและอาจารย์ต้องอาศัยเพียงแสงตะเกียงสำหรับการเรียนการสอน

นักศึกษา มธก. (มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) ฝ่ายก้าวหน้า 9 คนที่มีจิตใจรักในเสรีภาพและความเป็นธรรม ได้เดินทางไปบ้านรองนายกรัฐมนตรี พลตรีสวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ์ เจรจาขอมหาวิทยาลัยคืนกลับมาสู่การเรียนการสอนตามปรกติ แต่แล้วหนึ่งสัปดาห์ถัดมาก็มีประกาศของทางมหาวิทยาลัยออกมาว่า ห้ามไม่ให้นักศึกษาที่ไปบ้านรองนายกฯทั้ง 9 คน เข้ามหาวิทยาลัยเป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นไม่นานพลตรีสวัสดิ์ที่คณะรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ส่งเข้ามารักษาการแทนผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ ก็สั่ง การให้ลบชื่อ (ไล่) ออก ฐานยุยงนักศึกษาและกระด้างกระเดื่อง รวม 5 คนคือ นายอาทร พุทธิสมบูรณ์, นายทวีป วรดิลก, นายประจวบ อัมพะเศวต, นายปริญญา ลีละศร และนายลิ่วละล่อง บุนนาค

ต่อมากองทัพบกเสนอขอซื้อธรรมศาสตร์ด้วยเงิน 5 ล้านบาท สร้างความไม่พอใจให้ชาวธรรมศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เช้าวันที่ 5 ตุลาคม คณะนักศึกษานำโดยนายสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เปิดฉากเคลื่อนไหวในลักษณะใต้ดิน มีการผลิตหนังสือพิมพ์กำแพงติดตามตึกต่างๆ และระหว่างซอกตึกคณะบัญชี พร้อมทั้งลอบพิมพ์ใบปลิวไปทิ้งตามห้องบรรยาย มีใจความว่า "ถ้าท่านรักธรรมศาสตร์ เห็นแก่ธรรมศาสตร์ ขอให้เดินกันอย่างสงบไปที่รัฐสภา เพื่อเป็นกำลังใจให้กับ ส.ส. รุ่นพี่ของเราในการเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืนในวันที่ 11 ตุลาคม"

ขณะนั้นมีนักศึกษา 2 คนที่มีความสามารถทางกวีนิพนธ์เขียนกลอน เขียนเพลงปลุกระดม คนแรกคือ นายเปลื้อง วรรณศรี เป็นนักเรียนเตรียมปริญญารุ่นที่ 5 ได้เขียนกลอนเรื่อง "โดมผู้พิทักษ์ธรรม" ในหนังสือ "ธรรมจักร" รายปักษ์ ได้บอกจบท้ายว่า "...ถ้าขาดโดมเจ้าพระยาท่าพระจันทร์ ก็เหมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม" ซึ่งได้กลายเป็นประโยคอมตะมาจนทุกวันนี้ ทั้งยังเป็นเจ้าของคำขวัญว่า "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย" ซึ่งก็เป็นคำขวัญที่ยังดำรงอยู่จนทุกวันนี้เช่นกัน

อีกคนหนึ่งคือ นายทวีป วรดิลก หรือ "ทวีปวร" แต่งเพลง "โดมในดวงใจ" ซึ่งสะท้อนความรู้สึกนึกคิดจิตวิญญาณชาวธรรมศาสตร์ และยังคงความหมายอย่างลึกซึ้งต่อ "ลูกแม่โดม" ที่รักสถาบัน และรักเสรีภาพและความเป็นธรรมมาจนทุกวันนี้

ต่อมาในวันที่ 11 ตุลาคม 2494 นักศึกษา 3,000 คน มาชุมนุมกันและเดินขบวนมุ่งหน้าไปยังอาคารรัฐสภาที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืน ภายใต้คำขวัญ "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย" เป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม อย่างสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ มีเพียงธรรมะและความสามัคคี โดยกำลังสำคัญในขณะนั้นคือ "นักศึกษาหญิง" เป็นด่านหน้าในการดันจนประตูสภาเปิดออก แล้ววิ่งกรูกันเข้าไปยึดสนามหญ้าหน้าสภา

ต่อมาเกิดการชุมนุมที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ นักศึกษาคนหนึ่งชื่อ นายอันดับ รองเดช ลุกขึ้นชูแขน เอามีดโกนกรีดท่อนแขนเลือดไหลอาบ ส่วน นายปริญญา ลีละศร ได้ดื่มเลือดเพื่อบอกให้รู้ว่า "นี่เลือดธรรมศาสตร์เข้มข้น" ไม่เหมือนเลือดนักการเมือง

รองนายกฯขณะนั้นออกมาบอกว่า "ไม่คืน อย่างไรทหารก็ต้องใช้มหาวิทยาลัย" นักศึกษาหญิงจึงเรียกร้องว่า "เราขอพบจอมพล ป. ถ้าท่านเป็นลูกผู้ชายให้ลงมาพบลูกหลานหน่อย" ด้วยเสียงแจ๋วๆนี่คือ "พลังของผู้หญิง" จอมพล ป. ยอมลงมาพบและเริ่มการเจรจา "พวกคุณลูกๆหลานๆทั้งนั้น มีอะไรหรือ" นักศึกษาหญิงบอกว่า "มหาวิทยาลัยของหนู ขอคืนมาเถอะค่ะ พวกหนูไม่มีที่เรียน" ครั้นจอมพล ป. ถามกลับมาว่า "ใครอยู่เบื้องหลัง" นักศึกษาหญิงบอกว่า "ไม่มีเบื้องหลังหรอก มีแต่เบื้องหน้าทั้งนั้นแหละ" จอมพล ป. ก็กล่าวว่า "ตกลงจะคืนให้" นักศึกษาถามว่า "เมื่อไร" ได้รับคำตอบอีกว่า "ภายในหนึ่งเดือน"

แล้วนักศึกษาก็สลายตัวกันไป

ครั้นเมื่อครบกำหนด 1 เดือน ไม่มีทีท่าจากรัฐบาลว่าจะคืนมหาวิทยาลัย กลุ่มนักศึกษาจึงตัดสินใจเข้ายึดมหาวิทยาลัย แผนคือทำทีพานักศึกษาไปทัศนาจร โดยวางแผนกันที่บ้านของนายสุวัฒน์ วรดิลก หรือ "รพีพร" เตรียมปริญญารุ่น 6 (ภายหลังได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี พ.ศ. 2534)

แผนคราวนี้ตกลงกันว่าใช้อาสาสมัครนักศึกษาหญิงไปพบ อธิบดีการรถไฟ ขอรถไฟพานักศึกษาไปทัศนาจรที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งก็ได้รับตามที่ขอ ครั้นไปถึงที่หมาย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ศิษย์เก่า มธก. จัดการต้อนรับและจัดที่พักให้หนึ่งคืน รุ่งขึ้นจึงออกเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯเช้ามืดวันที่ 5 พฤศจิกายน 2494 ซึ่งนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่งรออยู่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง แล้วจัดรถบัสรวม 12 คัน ยกขบวนตรงมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาทั้งหมดได้กรูเข้าไปยึดห้องเรียน ทหารรักษาการณ์ที่รับคำสั่งมาให้ควบคุมพื้นที่ทั้งหมดมหาวิทยาลัยต่างละล้าละลัง ไม่กล้าตัดสินใจกระทำการใดๆเพื่อเป็นการขัดขวางขบวนนักศึกษา ต่างพากันล่าถอยออกจากมหาวิทยาลัยไปจนหมดสิ้น

ส่งผลให้รัฐบาลทหารต้องยอมคืนมหาวิทยาลัยในวันนั้นอย่างไม่มีทางเลือก ดังนั้น วันที่ 11 ตุลาคม จึงได้รับการเฉลิมฉลองเป็น "วันธรรมศาสตร์สามัคคี" พร้อมด้วยคำขวัญที่ว่า "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย" แต่ถูกกล่าวหาว่าตรงกับ "วันชุมนุมเยาวชนคอมโซมอลของสหภาพโซเวียต" ที่มีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์ จึงถูกบีบให้ยกเลิก หันไปใช้วันที่ 5 พฤศจิกายนแทน พร้อมทั้งขยายความให้เป็น "วันคืนสู่เหย้า" หรือ Home Coming

แต่แล้วหลังปี 2500 ในยุคของคณะปฏิวัติสฤษดิ์-ถนอม วันทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวก็ถูกบีบให้ยกเลิกไป เบี่ยงเบนให้ไปใช้ 10 ธันวาคม เป็นวันธรรมศาสตร์แทน ทำให้ทั้งวันที่ 11 ตุลาคม และ 5 พฤศจิกายน ถูกลืมเลือนกลายเป็น "ประวัติศาสตร์บนกระดาษหน้าว่าง"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 5 - 12 กันยายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (24)

กบฏแมนฮัตตัน 2494:
ความพยายามครั้งสุดท้าย?

จากความพ่ายแพ้ของฝ่ายทหารเรือถูกปราบปรามครั้งแล้วครั้งเล่า และความความพยายามที่ไม่บรรลุผลในทางปฏิบัติหลายครั้ง กลุ่มทหารเรือมีความเห็นว่าหากทอดเวลาปฏิบัติการออกไปเรื่อยๆ ข่าวของคณะกู้ชาติคงจะต้องเข้าหูรัฐบาลเข้าจนได้ จึงรวบรวมกำลังกันเข้าอีกครั้ง รวมทั้ง พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน แกนนำคนสำคัญในคราวกบฏวังหลวง และกำหนดวันปฏิบัติการเป็นวันที่ 29 มิถุนายน จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะประกอบพิธีรับมอบเรือขุดแมนฮัตตัน ที่ท่าราชวรดิษฐ์ ตรงข้ามกับกองบัญชาการกองทัพเรือ ซึ่ง น.ต.มนัส จารุภา ให้เหตุผลไว้ในหนังสือ "เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล" ไว้ว่า

ประการแรก กำลังฝ่ายรัฐบาลจะใช้ออกมาสู้รบนั้นมีจำนวนลดลง เพราะได้ปล่อยทหารกลับภูมิลำเนา ไม่มีกำลังพอจะออกมาทันท่วงที ต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงในการเคลื่อนกำลัง ผิดกับฝ่ายก่อการที่มีกำลังทหารนาวิกโยธินใช้เป็นกำลังหลักครบตามอัตราเพราะยังไม่ได้ปลดปล่อยทหารไป ประการที่สอง การควบคุมตัวบุคคลที่เราต้องการทำได้ง่าย เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา สามารถสั่งการได้สะดวก

ปฏิบัติการเริ่มขึ้นเมื่อ เวลา 15.00 น. หลังจากเสร็จสิ้นพิธีรับมอบ จอมพล ป. รับเชิญไปชมเรือ นายทหารเรือกลุ่มหนึ่งนำโดย น.ต.มนัสจู่โจมเข้าประชิดตัวใช้ปืนกลจี้บังคับให้ จอมพล ป. ไปลงเรือเปิดหัวนำไปควบคุมตัวไว้ที่เรือหลวงศรีอยุธยา

หัวหน้าคณะก่อการ คือ น.อ.อานนท์ บุณฑริกธาดา สั่งการให้ทหารเรือกลุ่มที่สนับสนุนการก่อการมุ่งหน้าและตรึงกำลังไว้ที่พระนคร จากนั้นได้ออกประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองสัญญาณทหารเรือ (ร.น.๒) ในนาม "คณะกู้ชาติ" ยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องทำการครั้งนี้ เพราะการบริหางานที่เหลวแหลกของรัฐบาลซึ่งใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์และกดขี่ข่มเหงราษฎร แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่ปฏิบัติการใดๆทั้งสิ้น นอกจากถูกโจมตีก่อน ท้ายที่สุดยื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออก นอกจากนี้ยังได้บันทึกเสียงจอมพล ป. ออกอากาศแต่งตั้ง พระยาสารสาสน์ประพันธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทางฝ่ายรัฐบาลกระจายเสียงตอบโต้ไปโดยใช้วิทยุของกรมการรักษาดินแดน (ร.ด.) โดยแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรนายวรการบัญชา รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี และตั้งกองบัญชาการขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล (ในขณะนั้นคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษปฏิเสธข้อเรียกร้องของฝ่ายกบฏอย่างสิ้นเชิง พร้อมกับเสนอเงื่อนไขสามประการให้ฝ่ายกบฏยอมจำนนดังนี้ 1.ให้ ส่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับคืนมาอย่างไม่มีเงื่อนไข 2.ให้ฝ่ายกบฏที่ออกปฏิบัติการวางอาวุธแล้วกลับเข้าที่ตั้งตามเดิม 3.ให้ผู้ก่อการระดับหัวหน้าเข้ามอบตัวกับรัฐบาล

จนถึงเวลา 04.00 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ รัฐบาลสั่งปราบกบฏ โดยการสู้รบเปิดฉากขึ้นขึ้นเมื่อเวลา 04.30 น. ด้วยกำลังติดอาวุธ 3 เหล่า โดยกองทัพบกภายใต้การนำของ พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กองทัพอากาศภายใต้การบัญชาของ พล.อ.อ.ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี และกำลังตำรวจโดย พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์

การสู้รบแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ทหารบกเริ่มโจมตีจากฝั่งพระนคร กองทัพอากาศเริ่มทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายกรมอู่ทหารเรือและคลังเชื้อเพลิง ระหว่างการสู้รบกันนั้นการเจรจาก็ยังคงดำเนินอยู่ จนกระทั่งเวลา 15.00น. เครื่องบินแบบ Spirtfire ( บ.ข.14 ) และ A.T6 TEXAN ( บ.ฝ.8 ) ของกองทัพอากาศได้ทิ้งระเบิดเรือหลวงศรีอยุธยาจนเกิดไฟลุกไหม้และอับปางลง แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับการช่วยเหลือให้ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง ณ ที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือทางฝั่งธนบุรีได้อย่างปลอดภัย ฝ่ายทหารอากาศยังคงโจมตีต่อไปจนกระทั่งเวลา 17.00 น. เรือหลวงคำรณสินธุ์ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันคลังน้ำมันอยู่ที่บริเวณกรมอู่ทหารเรืออับปางลงอีกลำหนึ่ง

จากนั้นกองกำลังกบฏที่ประกอบด้วยทหารเรือหน่วยต่างๆ ก็ยอมจำนน และหยุดการยิงต่อสู้ตลอดแนว โดยมีทหารบกและทหารอากาศเข้าเคลียร์พื้นที่ ผู้ก่อการแยกย้ายกันหลบหนีไปทางทางวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร) และเล็ดรอดออกจากประเทศไปพม่าและสิงคโปร์ สำหรับ น.ต.มนัส จารุภา รน. ผู้จี้จอมพล ป. ได้หลบหนีไปพม่าได้สำเร็จ แต่ถูกจับกุมได้หลังจากลักลอบกลับเข้าประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2495

กบฏแมนฮัตตันหรือที่บางคนเรียกว่าเป็น "สงครามกลางเมือง" นั้น เนื่องจากมีการใช้กำลังพลทั้ง 4 เหล่า มีการใช้อาวุธสงครามและยุทโธปกรณ์ขนาดหนัก เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก มีประชาชนเสียชีวิต 118 คน บาดเจ็บสาหัสและไม่สาหัส 191 คน พิการ 9 คน ทหารเรือเสียชีวิต 43 นาย บาดเจ็บ 87 นาย ทหารบกเสียชีวิต 17 นาย บาดเจ็บ 115 นาย และตำรวจเสียชีวิต 9 นาย บาดเจ็บ 38 นาย เหตุการณ์สิ้นสุดลงด้วยการจับกุมผู้ต้องหาร่วม 1,000 คน ปล่อยตัวเพราะหาหลักฐานไม่เพียงพอจนเหลือฟ้องศาลประมาณ 100 คน นักโทษส่วนใหญ่ได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ

ภายหลังเหตุการณ์ยุติลง รัฐบาลได้การปรับปรุงกองทัพเรือเสียใหม่ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกองทัพเรือจำนวน 12 คน ที่สำคัญ คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พล.อ. ผิน ชุณหะวัณ, พล.อ.อ. ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี, พล.ท. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ ปรากฏว่าผลการปรับปรุงที่สำคัญก็คือ ให้ยุบกรมนาวิกโยธินที่กรุงเทพ ฯ และสัตหีบทั้งหมด คงเหลือไว้เพียง 1 กองพัน พร้อมทั้งให้ปลดนายทหารที่เกินอัตราออกให้หมด และปลดทหารนาวิกโยธินออก นอกจากนั้น ให้ย้ายกองบัญชาการกองทัพเรือจากพระราชวังเดิม ไปอยู่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อไม่ให้ทหารเรืออยู่ในเขตพระนครและธนบุรี ตลอดจนให้เปลี่ยนชื่อ "กองเรือรบ" เป็น "กองเรือยุทธการ" โดยย้ายเรือรบในสังกัดทุกลำไปอยู่สัตหีบ และให้โอนกองบินทหารเรือที่จุดเสม็ด สัตหีบ ทั้งยังให้ยุบเลิกกองสารวัตรทหารเรือ กรุงเทพฯ อีกด้วย

ยิ่งกว่านั้น ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2494 คณะรัฐมนตรีและกระทรวงกลาโหมได้มีประกาศและคำสั่งให้นายทหารเรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการกบฏครั้งนี้พักราชการ และปลดออกจากราชการหลายคน

เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันส่งผลให้กองทัพเรือถูกบีบย่อส่วนลง ถูกจำกัดกำลังคน ถูกลดสถานที่ตั้งและสถานที่ฝึกปฏิบัติการ ตลอดจนลดจำนวนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆลงอย่างมาก บทบาทของกองทัพเรือถูกลดลงอย่างสิ้นเชิง ส่วนกองทัพบก กองทัพอากาศและกรมตำรวจ สามารถขยายแสนยานุภาพได้อย่างเต็มที่และมีบทบาททางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดนับแต่นั้นมา.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 29 สิงหาคม – 04 กันยายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (23)

ทหารเรือกู้ชาติ:
ผิดแผนแต่ไม่ยอมแพ้

หลังจากควันหลงการกวาดล้างปราบปรามกบฏวังหลวงค่อยจางลง ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยคืนสู่ความสงบเรียบร้อยอยู่ระยะหนึ่ง พร้อมกับประชาชนชาวไทยพากันใจจดใจจ่ออยู่กับพระราชพิธีสำคัญ เริ่มจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาเอกอัครราชทูตประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ พลเอก พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) และหม่อมหลวงบัว กิติยากรเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2492 และเสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีอภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ทว่าในท่ามกลางบรรยากาศที่ดูเหมือนจะเงียบสงบนั้นเอง กลับแฝงไปด้วยความปั่นป่วนที่ก่อตัวในลักษณะคลื่นใต้น้ำในฝ่ายทหารเรือ อันมีสาเหตุสืบเนื่อง 3 ประการ คือ

  1. ความตึงเครียดระหว่างทหารบกและตำรวจกับทหารเรือต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่ทหารบกสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทหารเรือสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ส่วนตำรวจนั้นมีปัญหาการกระทบกระทั่งกับทหารเรือและกล่าวหาให้ร้ายอยู่เสมอ
  2. ทหารเรือเห็นว่า รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้การสนับสนุนของคณะรัฐประหาร 2490 มิได้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง ใช้วิธีเผด็จการ ที่สร้าง "รัฐตำรวจ" ขึ้นข่มขู่ประชาชน และกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างทารุณและไร้มนุษยธรรม
  3. ความเสื่อมโทรมในกองทัพเรือนับภายหลังเหตุการณ์กบฏวังหลวง 26 กุมภาพันธ์ 2492 เพราะรัฐบาลไม่ไว้วางใจและจำกัดงบประมาณพัฒนาขีดความสามารถและอื่นๆลง เป็นต้นว่าตัดกำลังนาวิกโยธินลง

ประกอบกับข่าวสารที่ปรากฏทั่วไป ทั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น และหัวข้อพูดคุยทั่วไป มักจะมีข่าวพัวพันการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลอยู่เนืองๆ ทำให้นายทหารเรือหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่นำโดย น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับกองกำลังหมู่รบ น.ต.มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงรัตนโกสินทร์ บุตรของ พล.ร.ต.พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา) อดีตแม่ทัพเรือ น.ต.ประกาย พุทธารี กรมนาวิกโยธิน น.ต.สุภทร ตันตยาภรณ์ กรมนาวิกโยธิน นัดพบปะหารือกันเป็นการลับหลายครั้ง แล้วมีข้อสรุปเบื้องต้นตรงกันต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีและผู้นำรัฐบาลเสียใหม่ ทั้งนี้นายทหารสองนายจากกรมนาวิกโยธินสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก จึงมีโอกาสขยายวงต่อไปยังนายทหารอื่นๆในกองทัพบกและกองทัพอากาศ

กลุ่มก่อการคิดลงมือปฏิบัติการหลายครั้ง แต่มักมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจดำเนินแผนการยึดอำนาจได้ ครั้งแรก เป็นแผนจู่โจมควบคุมตัวจอมพล ป. และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพบกที่คุมกองกำลังสำคัญ ในระหว่างพิธีส่งทหารไปราชการสงคราม ณ ประเทศเกาหลี ที่บริเวณท่าเรือคอลงเตย วันที่ 22 ตุลาคม 2493 แต่แล้วก่อนวันปฏิบัติการเพียงหนึ่งวัน คณะผู้ก่อการหรือที่เรียกตนเองว่า "คณะกู้ชาติ" ได้รับแจ้งว่า ทหารนาวิกโยธินหน่วยที่ 4 และ 5 ไม่สามารถเคลื่อนกำลังออกจากที่ตั้งได้ จำเป็นต้องระงับแผนการทั้งหมดเป็นการด่วน และยังมาทราบภายหลังอีกด้วยว่า ความลับที่จะก่อการเกิดรั่วไหลผ่านทางนายทหารในสังกัดกรมสรรพาวุธทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารเรือจึงมีบัญชาให้หน่วยสารวัตรทหารเรือติดอาวุธรักษาการอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันเหตุร้าย

ตามมาด้วยวันที่ 26 พฤศจิกายน 2493 ในการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลระหว่างทีมกองทัพบกกับทีมกองทัพเรือ มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของสามเหล่าทัพไปร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงที่สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ ผู้ก่อการวางแผนที่จะจู่โจมควบคุมตัวบุคคลสำคัญต่างๆอย่างเช่นครั้งก่อน แต่ก่อนหน้าการแข่งขันเพียงสองชั่วโมง คือเวลาประมาณ 14.00 น. ก็ได้รับรายงานจากสายข่าวมาที่กองเรือรบว่า มีหน่วยกำลังจากโรงเรียนตำรวจปทุมวันประมาณสองกองร้อยติดอาวุธครบมือเคลื่อนตัวไปตามถนนเพลินจิตจนถึงถนนหลังสวน ปฏิบัติการครั้งนี้จึงต้องยกเลิกไปอีกครั้ง

แผนการถัดมากำหนดขึ้นในวัน ที่ 7 พฤษภาคม 2494 โรงเรียนเสนาธิการทหารบกกำหนดจะจัดพิธีประดับเข็มเสนาธิปัตย์และประกาศนียบัตรให้แก่นายทหารที่สำเร็จหลักสูตร ณ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งโดยปกติจะต้องกราบบังคมทูลเชิญองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประทับเป็นประธาน แต่เนื่องจากเสด็จไปประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงทำหน้าที่เป็นประธานในพิธี คณะก่อการวางแผนว่าในเวลา 14.00 น.ให้ฝ่ายทหารบกเข้าควบคุณพื้นที่และตัวบุคคลภายในกระทรวง กำลังจากกองเรือรบจะจู่โจมเข้าปลดอาวุธทหารรักษาการณ์ ทหารบกจาก ร.พัน 1 รักษาพระองค์ จะเคลื่อนกำลังเข้าตรึงพื้นที่รอบๆกระทรวง

แต่เมื่อถึงวันปฏิบัติการกลับไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้อีก เพราะนายทหารบกระดับผู้บังคับกองพันที่จะเข้าควบคุมกระทรวงกลาโหมไม่มาตามกำหนดนัดหมาย คงมีกำลังทหาร ร.พัน 1 รักษาพระองค์สองหมวด เคลื่อนกำลังทำทีท่าฝึกซ้อมการใช้ปืนกลหนัก แต่กลับเตรียมกระสุนจริงไว้ด้วย อันเป็นสาเหตุให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยถูกสงสัยและเพ่งเล็ง กลิ่นของผู้ก่อการโชยเข้าจมูกรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง ปรากฏว่าที่บ้าน น.อ.อานนท์ตรงแยกราชวิถี และที่บ้าน น.ต.มนัสที่ศรีย่าน มีตำรวจนอกเครื่องแบบไปซุ่มจับตาการเคลื่อนไหวอยู่บ่อยๆ

แม้ว่าแผนการยึดอำนาจจะมีอันต้องสะดุดแล้วสะดุดอีก ถึงกระนั้นนายทหารเรือยังเตอร์กกลุ่มนี้ก็ไม่ละความพยายาม ยังมีการประชุมนัดหมายวางแผนครั้งใหม่โดยกำหนดวันก่อการในวันที่ 26 มิถุนายน 2494 ด้วยการบุกเข้าควบคุมตัวนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งกำลังประชุมกันอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับจู่โจมยึดวังปารุสกวัน จากนั้นจะใช้กำลังจากนาวิกโยธินหน่วยที่ 4 และ 5 เข้าสมทบกับกำลังหมู่รบจากกองเรือยึดจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเขตพระนคร

แต่แล้วประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อ น.ต.ประกายไม่สามารถนำนาวิกโยธินทั้งสองหน่วยออกจากที่ตั้งได้ ทั้งที่หน่วยอื่นๆเคลื่อนพลพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ออกจากที่ตั้งแล้ว จึงจำเป็นต้องสลายกำลังเป็นการด่วน ส่วนอาวุธต้องรอถึงกลางคืนจึงนำเข้าไปเก็บในคลังโดยไม่มีผู้สงสัย ความผิดพลาดครั้งนี้ ทำให้ทหารจากหน่วยต่างๆเฉพาะอย่างยิ่งจากกองทัพบก ขอถอนตัว จน น.อ.อานนท์ และ น.ต. มนัส ต้องชี้แจงให้ทราบว่าฝ่ายรัฐบาลยังไม่ระแคะระคายแผนการยึดอำนาจทั้งหมด ขอให้อดทนและยึดมั่นในอุดมการณ์ กระนั้นก็ตามก็มีกำลังส่วนหนึ่งขอยุติบทบาทในการเข้าร่วมก่อการโดยเด็ดขาด.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 22 - 28 สิงหาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8