Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (39)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(8)

บันทึกสุดท้ายของ ศุภชัย ศรีสติ หนึ่งในเหยื่อการประหาชีวิตด้วยมาตรา 17 หลังจากถูกจับกุมด้วยข้อหาปลุกระดมต่อต้านรัฐบาล

จอมพลสฤษดิ์กับการใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ (ต่อ)
มาตรา 17: อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหลังการยึดอำนาจ


ในบทความ "พายเรือในอ่าง" โลกวันนี้ ฉบับวันสุข ฉบับที่ 503 ประจำวันที่ 14-20 กุมภาพันธ์ 2558 ผู้เขียนได้นำ ย่อหน้าแรกซึ่งเปรียบเสมือน "ความนำ" หรือ "คำปรารภ" ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 มานำเสนอไว้แล้วนั้น เมื่อพิจารณาในบริบททางนิติรัฐศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นการให้อำนาจชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นครั้งแรกแก่ "ผู้นำในการก่อรัฐประหาร" หรือที่เรียกตัวเองว่า "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" ไว้ใน มาตรา 17
มาตรา ๑๗ ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบ ที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ
[ต่อมาใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารและกรณีสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลามคม 2519 มีบทบัญญัติในลักษณะเดีรยวกันไว้ใน มาตรา 21
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้รัฐธรรมนูญนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินทราบ]
หมายเหตุ: ว่าด้วยที่มาของรัฐธรรมนูญสยาม/ไทย

โดยเหตุที่ในห้วงเวลากว่า 5 ทศวรรษ หลังการเฉลิมฉลองกึ่งพุทธกาล มักมีการกล่าวถึงระบอบการปกครองของไทยว่าเป็น "ประชาธิปไตยแบบไทย" หรือ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" นั้น มีผู้จำแนกกลุ่มรัฐธรรมนูญของสยาม/ไทย นับจากการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 ไว้เป็น 3 กลุ่ม แม้จะอ้างว่าเป็นคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทว่ามี "ธาตุแท้" ที่ต่างกันอย่างชัดเจนดังนี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)

สภาที่มาจากการเลือกตั้ง: สภานิติบัญญัติในกลุ่มนี้จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (ซึ่งสภาผู้แทนมีการเลือกตั้งโดยตรง ส่วนสภาสูงซึ่งเรียกว่าพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม) และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ที่ทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรง)

สภาที่มาจากการสรรหา: สภานิติบัญญัติที่เกิดมาจากการสรรหาทั้งหมดหรือบางส่วน โดยที่สมาชิกผู้มาจากการสรรหานั้นมีอำนาจมากพอในการจำกัดอำนาจสมาชิกที่มีมาจาการเลือกตั้งได้ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

สภาที่มาจากการแต่งตั้ง: ฝ่ายบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือเกือบจะเป็นเช่นนั้น ไดเแก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
**********
นอกจากนั้น สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับแรก หรือที่ใช้ว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสนอให้คณะราษฎรใช้ว่า "ชั่วคราว" และให้ยกร่างขึ้นมาพิจารณาใหม่เพื่อความเห็นพ้องต้องกัน มีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นกฎหมายสูงสุดของระบอบการปกครองใหม่ที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จากที่ทรงมีพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ซึ่งก่อรูปและสำเร็จในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และยกร่างไว้โดย "คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน" หรือ "คณะราษฎร"

สำหรับการใช้รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับแรก (คือฉบับ 27 มิถุนายน 2475 และ 10 ธันวาคม 2475) มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกันโดย [http://th.wikipedia.org/wiki/การปฏิวัติสยาม_พ.ศ._2475]

ผลที่ตามมาในทันทีหลังจากการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎรได้เริ่มจัดการเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ประชาชนชาวสยาม พระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวมีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อเวลา 5.00 น. ซึ่งเป็นเอกสารร่างเขียนขึ้นล่วงหน้าไว้แล้วโดยปรีดี ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม แม้ว่าจะยังเป็นเพียงฉบับชั่วคราวอยู่ก็ตาม ข้อความในรัฐธรรมนูญเริ่มต้นมาตรา 1 ความว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย" รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยยกเลิกพระราชอำนาจที่มีมาแต่โบราณ อาทิ พระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย การพระราชทานอภัยโทษ และพระราชสิทธิในการยืนยันผู้สืบราชสมบัติและรัชทายาท หรือจะกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวจำกัดอำนาจทั้งหมดของพระมหากษัตริย์ โดยยังมิได้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ไปเท่านั้น รัฐธรรมนูญยังได้จัดตั้งคณะกรรมการราษฎรเป็นฝ่ายบริหาร และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ได้มาจากการแต่งตั้ง 70 คน

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 7-13 มีนาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

เพิ่มเติมคำบรรยายภาพ: "อายุของข้าพเจ้าครบวันเกิดปีที่ 34 ในวันนี้ และอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ วาระสุดท้ายกำลังจะมาถึงแล้ว แต่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้ในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน" - บันทึกสุดท้ายของ ศุภชัย ศรีสติ หนึ่งในเหยื่อการประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 หลังจากถูกจับกุมด้วยข้อหาปลุกระดมต่อต้านรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2502

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (38)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(7)

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงพระนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 (https://www.voicetv.co.th/read/534613)

จอมพลสฤษดิ์กับการใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ (ต่อ)
หมายเหตุ: ว่าด้วยระบอบการปกครองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (จบ)


ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (democratic form of government with the King as Head of State) [https://bit.ly/2Kx3pYf] เป็นชื่อเรียกระบอบการปกครองในประเทศไทย ที่รวมเอาทั้งรูปแบบการปกครอง (form of government) ประเภทประชาธิปไตยโดยมีรัฐสภา (parliamentary democracy) กับรูปแบบรัฐ (form of state) ประเภทการปกครองราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ไว้ในคำเดียวกัน

สำหรับที่มานั้น วลีที่ว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เพิ่งจะมีขึ้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 2 ความว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ทั้งนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวร่างขึ้นภายใต้อิทธิพลของพลังอนุรักษนิยม ซึ่งขณะนั้นมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนทางการเมืองที่สำคัญ แต่การปรากฏขึ้นครั้งแรกนี้ ยังไม่ได้ยืนยันความเป็นชื่อเฉพาะของระบอบการปกครองแต่อย่างใด [สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. "ความหมายและความเป็นมาของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข", ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 สิงหาคม 2539] หากแต่การปรากฏขึ้นซ้ำในภายหลัง คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 และ พ.ศ. 2519 เป็นสองฉบับแรกที่ยืนยันความชอบธรรมของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" [สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล; อ้างแล้ว] สมศักดิ์ได้ให้ความเห็นไว้อีกว่า หน้าที่ (function) ของการยืนยันในสองฉบับมีความต่างกัน โดยฉบับ พ.ศ. 2511 เพื่อต่อต้านการเมืองและพรรคการเมืองสมัยใหม่ที่เพิ่งปรากฏตัวขึ้น และฉบับ พ.ศ. 2519 เพื่อต่อต้านฝ่ายซ้าย [สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล; อ้างแล้ว]

ภายในระบอบการปกครองเช่นนี้ของประเทศไทย แตกต่างไปจากธรรมเนียมการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่จะมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขแต่ในทางพิธีการ ทั้งนี้ เพราะพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย มีพระราชอำนาจทางการเมืองเกินกว่าที่เป็นในประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประเทศอื่น เช่น ทรงสามารถแสดงพระราชดำรัสสด, บริหารงานสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491, มาตรา 4 ความว่า "ให้เพิ่มความต่อไปนี้ต่อท้ายมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 เป็นมาตรา 4 ทวิ และมาตรา 4 ตรี ตามลำดับ โดยมาตรา 4 ทวิ ให้ตั้งสำนักงานขึ้นสำนักงานหนึ่งเรียกว่า "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" มีหน้าที่ปฏิบัติการตามความในมาตรา 5 วรรคสอง ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมาตรา 4 ตรี ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 4 คนซึ่งพระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้ง และในจำนวนนี้จะได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 1 คน ให้คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีอำนาจหน้าที่ดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มอบหมาย และมีอำนาจลงชื่อเป็นสำคัญผูกพันสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" สามารถเข้าถึงได้จาก : http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%a812/%a812-20-2491-003.pdf  และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550, มาตรา 12 เข้าถึงได้จาก: http://web.krisdika.go.th/data/law/law1/%c306/%c306-10-2550-a0001.pdf] และแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น องคมนตรี โดยไม่มีผู้สนองบรมราชโองการ [รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550, มาตรา 12]

สำหรับกรณีของประเทศอังกฤษซึ่งถือเป็นตัวอย่างของประเทศที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น Penny Junor นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ ได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือของเธอว่า [Penny Junor, The Firm: The Troubled Life of the House of Windsor (2005)]
"กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว... มีพระมหากษัตริย์และพระราชินีปกครองแผ่นดิน. […] หนึ่งร้อยยี่สิบปีต่อมา, ภายหลังการเปลี่ยนแปลงหลายประการ (และช่วงเวลาสั้น ๆ ในศตวรรษที่สิบเจ็ด ซึ่งปราศจากกษัตริย์) พวกเรามีพระราชินีผู้ไร้ซึ่งอำนาจในการบริหาร, ผู้ซึ่งกระทำการต่าง ๆ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี, ผู้ซึ่งอ่านพระราชดำรัสซึ่งผู้อื่นเป็นคนร่างขึ้น. […]

สถาบันกษัตริย์จะต้องอยู่เหนือการเมือง เพราะองค์พระราชินีเป็นตัวแทนของชาติทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นสี, ความเชื่อ หรือการเมือง, ไม่ว่าจะด้วยสถานะ หรือสถานการณ์, หรือแม้กระทั่งยุคสมัยของพวกเขา - พระองค์เป็นศูนย์รวมของพลังภายในประเทศ เป็นเสมือนกาวประสานพวกเราเอาไว้ด้วยกัน และนั่นคือความเข้มแข็งของพระองค์. พระองค์เป็นของคนทุกคน, ด้วยไม่มีใครออกเสียงเพื่อพระองค์ และเสียงของพวกเขาจะไม่ถูกมอบให้กับใครอื่นอีก. หากว่าพระองค์ทรงแสดงความคิดเห็นซึ่งสามารถนำไปอ้างได้โดยพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง ย่อมสร้างความแบ่งฝักฝ่ายในหมู่เหล่าของประชากรโดยพลัน และนั่นย่อมก่อให้เกิดความแตกแยก และเมื่อพระองค์มิได้ทรงกระทำ - พระองค์ย่อมเป็นผู้ซึ่งไม่อาจหยั่งถึงได้อย่างถึงที่สุด. […]

-Penny Junor"
ทั้งนี้ หากกล่าวถึงการเป็นประมุขในทางพิธีการของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ก็คือ เป็นพิธีการที่ทรงบริหารอำนาจอธิปไตยแทนปวงชนโดยแบ่งแยกอำนาจนั้นเป็นสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านมายังสภานิติบัญญัติที่เรียก "รัฐสภา" ฝ่ายบริหาร อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านมายังกลุ่มผู้บริหารสูงสุดที่เรียก "คณะรัฐมนตรี" และฝ่ายตุลาการ อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านมายังศาลทั้งหลาย ซึ่งมีสามประเภท คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงแล้ว องค์กรเหล่านั้นเป็นปวงชนหรือผู้แทนของปวงชนที่บริหารอำนาจด้วยตนเองเพื่อประโยชน์ของปวงชนและโดยการควบคุมของปวงชน ส่วนพระมหากษัตริย์เป็นแต่เชิดให้กิจการดำเนินไปด้วยดีตามพระราชภารกิจทางพิธีการที่รัฐธรรมนูญมอบให้เท่านั้น [ราชบัณฑิตสถาน. นรนิติ เศรษฐบุตร, นัยยะประชาธิปไตยในวิถีการเมืองไทย. วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 มค.-มีค. 2545; บทคัดย่อไทย-อังกฤษ]
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 28 กุมภาพันธ์-6 มีนาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (37)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(6)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475 ที่เจตนารมณ์ในคราวประกาศใช้จะให้เป็นฉบับถาวร (เพียงฉบับเดียว?)

จอมพลสฤษดิ์กับการใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ (ต่อ)

ก่อนจะนำเสนอมาตรา 17 แห่ง ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ที่ยกร่างและประกาศใช้โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหารตัวเจริงเสียงจริงทั้งสองครั้งในเวลาเพียงหนึ่งปี ขออนุญาตนำย่อหน้าแรกซึ่งเปรียบเสมือน "ความนำ" หรือ "คำปรารภ" มาเพื่อเป็นการ "ฟื้นความหลัง" ดังต่อไปนี้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า

โดยที่หัวหน้าคณะปฏิวัติ ซึ่งได้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้นำความกราบบังคมทูลว่า การที่คณะปฏิวัติได้ประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ เสียนั้น ก็โดยปรารถนาจะให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม และให้การปกครองประเทศเป็นไปโดยเรียบร้อย ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น การที่จะให้มีรัฐธรรมนูญเช่นว่านี้ สมควรจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ จัดร่างขึ้นประกาศใช้ต่อไป แต่ในระหว่างระยะเวลาก่อนที่จะได้มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งร่างขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น สมควรให้มีธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเพื่อใช้ไปพลางก่อนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย และเพื่อให้การเป็นไปตามที่หัวหน้าคณะปฏิวัตินำความกราบบังคมทูล จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้บทบัญญัติต่อไปนี้เป็นธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้จัดร่างขึ้น
**********
จะเห็นว่าสิ่งที่คณะรัฐประหารใช้อ้างในการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง แล้วตามมาด้วยการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร คือ ความ "เหมาะสม" และความ "เรียบร้อย" และตามมาด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยแบบวิธี "พิเศษ" ซึ่งจะได้จำแนกไว้ในตอนต่อไป
**********
หมายเหตุ: ว่าด้วยระบอบการปกครองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์

อนึ่ง เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ "รัฐธรรมนูญ" ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดหรือกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ (สมัยใหม่) โดยเฉพาะในประเทศไทย นั่นคือในเวลาร่วม 83 ปี นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิรย์ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจำเป็นต้องเข้าใจนิยามระบอบการปกครอง ที่มีลักษณะสากลยิ่งกว่าวาทกรรม "แบบไทยๆ" อันก่อให้เกิดความสับสนไขว้เขวถึงระบอบการปกคีรอง รูปแบบรัฐ และที่มาและการใช้อำนาจอธิปไตยพอเป็นสังเขป

หลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 นั้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือการที่พระมหากษัตริย์นับจากนั้นเป็นต้มมามิได้ทรงมีและใช้พระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินเช่นประเพณีการปกครองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไปนั้น [ทั้งนี้ในระหว่างการประชุมร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับถาวรที่ยกร่างและผ่านมติประกาศใช้ครั้งเดียวไปเลย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475) นั้นเอง มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฯใช้คำว่า พระราชอำนาจบริหาร พระราชอำนาจนิติบัญญัติ และพระราชอำนาจตุลาการ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานอนุกรรมการฯ เสนอให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก โดยให้เหตุผลว่า อำนาจนี้ไม่ใช่ของกษัตริย์ แต่เป็นอำนาจที่มาจากประชาชนชาวสยาม ในขณะที่สมาชิกบางส่วนเห็นว่า ควรคงไว้เพื่อรักษาความสุภาพอ่อนโยน (sentiment) แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอธิบายว่า อาจขัดกับความเป็นจริง (fact) ได้ ถ้าเช่นนั้นควรจะรักษาความเป็นจริงไว้ดีกว่า ประธานอนุกรรมการฯกล่าวเพิ่มเติมว่า ในระบอบรัฐธรรมนูญ (constitutionalism) พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจในทางบริหารต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolutism) ที่การบริหารใดๆ เป็นพระราชอำนาจ ดังนั้น การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์จึงต้องมีกรรมการราษฎร (ที่ต่อมาสภา ฯ มีมติให้เรียกว่ารัฐมนตรี) เป็นผู้ลงนามสนอง พระบรมราชโองการ โดยเฉพาะมาตรา 7 ซึ่งหลวงประดิษฐมนูธรรมกล่าวว่า เป็นบทบัญญัติที่จำกัดพระราชอำนาจบริหารของกษัตริย์ หากความสุภาพนุ่มนวลไม่ขัดกับ ความเป็นจริงก็จะรักษาภาษาสำนวน เพราะ "ไม่ต้องการให้ชอกช้ำ" เอาไว้ ในที่สุดที่ประชุมเห็นชอบให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก (รงส. 35/2475 25 พฤศจิกายน 2475 - https://bit.ly/3mlRvxq)] ในทางรัฐศาสตร์พิจารณาเนื้อหาของระบอบการปกครองนี้เป็นสองนัย โดยมีคำใช้ต่างกัน คือ

ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) [https://bit.ly/2WkmAac] เป็นรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐโดยไม่ทรงมีบทบาททางการเมืองและทรงอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญไม่ว่าเป็นหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์อาจมีพระราชอำนาจโดยพระบารมีและรัฐบาลอาจดำเนินการในพระนาม แต่พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงกำหนดนโยบายสาธารณะหรือเลือกผู้นำทางการเมือง เวอร์นอน บอกดานอร์ (Vernon Bogdanor) นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษ นิยามว่า ราชาภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ "องค์อธิปัตย์ที่ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง" (a sovereign who reigns but does not rule) การปกครองรูปแบบนี้ต่างจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงควบคุมการตัดสินใจทางการเมืองโดยไม่ทรงถูกรัฐธรรมนูญควบคุมเอาไว้

รายชื่อ 24 ประเทศที่ปัจจุบันปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (ในวงเล็บคือรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้ล่าสุดเป็นปีคริสต์ศักราช) ตามลำดับพยัญชนะในภาษาอังกฤษ

อันดอร์รา (1993), บาห์เรน (2002), เบลเยียม (1831), ภูฏาน (2007), กัมพูชา (1993), เดนมาร์ก (1953), ญี่ปุ่น (1946), จอร์แดน (1952), คูเวต (1962), เลโซโท (1993), ลิกเตนสไตน์ (1862), ลักเซมเบิร์ก (1868), มาเลเซีย (1957), โมนาโก (1911), โมร็อกโก (1962), เนเธอร์แลนด์ (1815), นอร์เวย์ (1814), สเปน (1978), สวาซิแลนด์ (1968), สวีเดน (1974), ไทย (2014), ตองกา (1970), สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1971) และ สหราชอาณาจักร (1688)

และชื่อเต็มของอีก 15 รัฐ/ประเทศต่อ ที่มิได้ขึ้นต้นด้วยราชอาณาจักร แต่เป็นราชาธิปไตยโดยพฤตินัย ประกอบด้วย

แอนติกาและบาร์บูดา (1981), ออสเตรเลีย (1901), บาฮามาส (1973), บาร์เบโดส (1966), เบลีซ (1981), แคนาดา (1867), เกรเนดา (1974), จาเมกา (1962), นิวซีแลนด์ (1907), ปาปัวนิวกินี (1975), เซนต์คิตส์และเนวิส (1983), เซนต์ลูเซีย (1979), เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ (1979), หมู่เกาะโซโลมอน (1978) และ ตูวาลู (1978)

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 กุมภาพันธ์ 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (36)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(5)

บรรยายภาพ: จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2 ครั้ง หากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งเดียว (พ.ศ. 2502-2506)

20 ตุลาคม พ.ศ. 2501: "ปฏิวัติ" หรือ "รัฐประหาร" (ต่อ)

สำหรับการรัฐประหาร 3 ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในท่ามกลางกระแสที่ฝ่ายทหารประกาศยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะมีมีการยึดอำนาจอีกแล้ว จนถึงกับเกิดวาทกรรม "เสียสัตย์เพื่อชาติ" การรัฐประหาร 3 ครั้งดังกล่าวนี้ นับว่ามีนัยอย่างสำคัญต่อระบอบการเมืองการปกครองไทยสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการเคลือ่นไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญโดยนิสินักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา
10. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่เป็นที่รู้กันว่าผู้มีอำนาจอย่างสำคัญคือ พล.อ. สุจินดา คราประยูร โดยได้รับพระบรมราชโองการให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งกล่าวว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ทั้งที่เคยพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันมีที่มาจากการรัฐประหารแล้ว พล.อ. สุจินดา ได้แต่งตั้ง พล.อ. อิสรพงศ์ หนุนภักดี เลขาธิการ รสช. ซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยาตน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จนเกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านจากหลายหลุ่มการเมือง อาทิ ร.ต. (เรืออากาศตรี) ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วง และพล.ต. จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้พลเอกสุจินดาลาออก เนื่องจากเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ รสช. จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ หรือพฤษภาทมิฬ ขึ้นระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึง 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลเอก สุจินดา จึงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535

นับเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองของไทยจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 อันนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแทบจะทั่วไปว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดนับจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

11. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นการยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ นับเป็นรัฐประหารในรอบ 15 ปี (ที่หลายฝ่ายทั้งในประเทศและนานาชาติเห็นว่าการเมืองไทยน่าจะเข้าสุดภาวะนิ่งแล้ว) เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในเดือนตุลาคม หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปที่มีกำหนดจัดในเดือนเมษายนถูกสั่งให้เป็นโมฆะ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมานับแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐประหารยกเลิกการเลือกตั้งซึ่งกำหนดจัดในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบรัฐสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและตรวจพิจารณาสื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน

มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ คณะรัฐประหารครั้งนี้ เชิญ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี กราบบังคมทูลลาออกมาดำรงนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้ใช้สมาชิกคณะรัฐประหาร ซึ่งเคยใช้รูปแบบนี้มาแล้วในคราวการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ได้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี และการรัฐประหาร 20 ตุลาคมพ.ศ. 2520 ที่ได้ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

12. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่มีแกนหลักที่พรรคเพื่อไทย) นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ หรือที่เรียกกันว่า "พ.ร.บ. เหมาเข่ง" บ้างหรือ "พ.ร.บ. สุดซอย" บ้าง ทั้งมีการวิเคราะห์กันทั้งสื่อไทยและเทศว่ามีเป้าหมายที่จะกำจัดอิทธิพลของพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จากการเมืองของไทยให้ได้โดยสิ้นเชิง

เส้นทางการยึดอำนาจครั้งล่าสุดนี้ มีพัฒนาการจากการเคลื่อนไหวโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มีผู้นำคนสำคัญจากพรรคประชาธิปัตย์ (ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) และเกิดการปะทะกันกับ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 3.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลชุดก่อนตั้งขึ้น กอ.รส. ใช้วิธีการปิดควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้

หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา วันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภาฯ มีมติเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
จอมพลสฤษดิ์กับการใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ (?)

หลังจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ (?) ที่ทำรัฐประหารทั้งสองครั้งคือ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และคราวนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ตัดสินใจร่วมกับพลเอกถนอม กิตติขจร (ได้รับพระราชทานยศเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2501) ยึดอำนาจรัฐบาลพลเอกถนอมเอง และเพื่อให้การใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง (เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 นับจากการอภิวัฒน์สยาม พุทธศักราช 2475) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502

อนึ่ง นับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จนถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502 คณะปฏิวัติได้มีประกาศคณะปฏิวัติออกมาทั้งหมด 57 ฉบับ มีสภานิติบัญญัติมาจากการแต่งตั้งไม่ใช่เลือกตั้ง มีการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งมีเพียงสั้น ๆ 20 มาตราเท่านั้น (นับเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐบาลทหารในการปกครองประเทศยาวนานถึง 10 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลานานที่สุดในโลกฉบับหนึ่ง) ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพียง 14 คนเท่านั้น โดยไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง และในวันเดียวกันนั้น ถือเป็นวันยุติบทบาทและสิ้นสุดสถานภาพของ "คณะปฏิวัติ (?)"

และมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองนี้เอง คือ "ดาบอาญาสิทธิ์" ที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีชนิดครอบจักรวาล.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 14-20 กุมภาพันธ์ 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (35)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(4)

จอมพลสฤษดิ์ เจ้าของวาทกรรมอันลือลั่นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว"

20 ตุลาคม พ.ศ. 2501: "ปฏิวัติ" หรือ "รัฐประหาร"

การรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 2 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั่วเวลาเพียงแค่ปีเศษ นับจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น แต่เป็นการรัฐประหารครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แม้ว่าจะเป็นเสมือนการยึดอำนาจของรัฐบาลที่ตั้งมาเองกับมือก็ตาม ทั้งนี้เพราะการรัฐประหารครั้งนี้ส่งผลให้ระบอบการปกครองของไทยก้าวสู่เข้าสู่รูปแบบ เผด็จการอำนาจนิยม (authoritarianism) อย่างเต็มตัว หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยของ "ระบอบเผด็จการเต็มใบ" เป็นเวลานานถึง 15 ปี ที่สำคัญทำให้สถาบันกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพบก มีบทบาทครอบงำอย่างสำคัญต่อการเมืองการปกครองไทยในระยะเวลาต่อมากว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งนับว่ายาวนานกว่าห้วงเวลาในความพยายามสถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือ "ระบอบรัฐธรรมนูญ" อย่างจริงจัง ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 15 ปี คือ นับจากปี พ.ศ. 2475 ถึงปี พ.ศ. 2490

มีเรื่องแปลกแต่จริงอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไข้วเขวในทางการเมืองโดยมีที่มาจากการ "ใช้คำ" ของคณะผู้ทำรัฐประหารครั้งนี้คือ จอมพลสฤษดิ์เลือกที่จะใช้คำว่า "คณะปฏิวัติ" แทนที่จะใช้คำว่า "คณะรัฐประหาร" หรือ "คณะทหาร" หรือจากการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ใช้ว่า "คณะปฏิรูปฯ"

โดยรากศัพท์และในทางรัฐศาสตร์นั้น คำว่า ปฏิวัติ ในภาษาอังกฤษ revolution มีรากศัพท์จากภาษาละตินคือ revolutio และ revolvere แปลว่า หมุนกลับ (to turn around) คำนี้มีใช้ทั่วไปในทางสังคมศาสตร์ แต่ก็มีใช้ในทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน เช่น การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

สารานุกรมเมอร์เรียม-เวบสเตอร์ (Merriam-Webster Encyclopedia) อธิบายว่า ปฏิวัติทางการเมืองคือการเปลี่ยนแปลงการตัดรูปแบบของการเมืองการปกครองในระดับฐานราก (fundamentally) สารานุกรมบริทานิกา คอนไซส์ (Briyanica Concise Encyclopedia) อธิบายว่า ปฏิวัติในทางสังคมศาสตร์ และการเมือง คือการกระทำความรุนแรงต่อโครงสร้าง ระบบ สถาบัน ฯลฯ ทางสังคมการเมือง ปฏิวัติทางสังคมการเมืองจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากมาตรฐานต่าง ๆ ที่สังคมการเมืองเป็นอยู่เดิม เพิ่มจัดตั้ง หรือสถานามาตรฐานของสังคมการเมืองแบบใหม่ให้เกิดขึ้น

สำหรับในสังคมการเมืองไทยเกิดการปฏิวัติทางการเมืองขึ้นเพียงครั้งเดียวคือ การปฏิวัติสยาม ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นการปฏิวัติการปกครองโดยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monachy) กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) ส่วนการล้มล้างรัฐบาลในครั้งต่อมานั้นเป็นเพียงการรัฐประหาร เพราะไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ผู้นำของรัฐบาล หรือเป็นการยืดอายุของรัฐบาลอุปถัมป์อำนาจนิยม (Suzerain-Authoritarianism) ของสังคมไทยเพียงเท่านั้น

(ขอบคุณ http://th.wikipedia.org/wiki/ปฏิวัติ)

สำหรับคำว่า รัฐประหาร มาจากภาษาฝรั่งเศสฝรั่งเศส coup d'?tat (กูเดตา) ซึ่งหากแยกพิจารณาจากการสนธิคำ จะแปลตรงตัวได้ว่า การล้มล้างอย่างเฉียบพลัน (coup = blow of) ต่อรัฐ (d'?tat = on state) โดยในสารานุกรมบริทานิกา คอนไซส์ (Britannica Concise Encyclopedia) นิยามว่าเป็นการยุบเลิกรัฐโดยฉับพลัน (stroke of state) การเข้ามาเถลิงอำนาจโดยเฉียบพลัน มักจะเกิดด้วยความรุนแรง การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นโดยกลุ่มก่อการ (a group of conspirators) มักจะเกิดกับประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง หรือมีในระดับต่ำ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐประหารมักไม่ประสบความสำเร็จ

ส่วนพจนานุกรมศัพท์ทางการทหารของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Companion to Military History) อธิบายว่า เป็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือคณะปกครองด้วยกำลัง โดยมักเกิดจากกองทัพ พจนานุกรมศัพท์ทางทหารอเมริกันของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary of the US Military) นิยามว่า เป็นการเข้ามาเถลิงอำนาจในรัฐบาลอย่างรวดเร็วรุนแรงและผิดกฎหมาย พจนานุกรมศัพท์ทางการเมืองของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary of Politics) กล่าวว่า เป็นการยุบเลิกรัฐบาลอย่างกะทันหันด้วยกำลังที่ผิดกฎหมายมักกระทำการโดยกองทัพหรือส่วนหนึ่งของกองทัพ โดยมักจะเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เห็นชอบของประชาชน หรือไม่ก็มักเป็นปัญหากับประชาชนบางส่วน ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นกลาง หรือไม่ก็ด้วยความร่วมมือของพรรคการเมือง หรือกลุ่มทางการเมือง

โดยสรุป รัฐประหารหมายถึงการเปลี่ยนแปลงประมุขแห่งรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลโดยเฉียบพลันด้วยกำลัง ความรุนแรง และผิดกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนระบอบการปกครอง (regime)

คณะรัฐประหารของไทยที่ก่อการสำเร็จ จึงมักจะเรียกตนเองหลังก่อการว่า "คณะปฏิวัติ" หรือ "คณะปฏิรูป" เพื่อให้มีความหมายไปในเชิงบวก

(ขอบคุณ http://th.wikipedia.org/wiki/รัฐประหาร)

เมื่อพิจารณาจากนิยมของคำว่ารัฐประหารข้างต้น ประเทศไทยมีการรัฐประหารเกิดขึ้น 13 ครั้ง คือ
1. รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
2. รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
3. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
4. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
5. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
6. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
7. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)
8. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
9. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 7-13 กุมภาพันธ์ 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (34)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(3)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหารสองครั้ง (แต่กลับเรียกตนเองว่าหัวหน้าคณะปฏิวัติ จนใช้มาผิดๆกันจนทุกวันนี้) คือ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501

พลโท ถนอม กิตติขจร: รัฐบาลขัดตาทัพ

เส้นทางการก้าวเข้าสู่วิถีทางทางการเมืองของจอมพลถนอม กิติขจร เริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่ครองยศพลตรี ในตำแหน่งรองแม่ทัพกองทัพที่ 1 ด้วยการได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ในปี พ.ศ. 2494 และรับพระราชทานยศพลโท พร้อมกับดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 7) โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2498 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 8) อีกครั้งหนึ่ง

หลังจากเกิดความขัดแย้งในทางการเมือง โดยเฉพาะในเหตุการณ์การเลือกตั้งสกปรกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 นำไปสู่เหตุการณ์ที่คณะรัฐมนตรีสายทหารบก ที่ได้รับตำแหน่งต่างๆ ทั้งทางทหารและทางการเมืองจากการเข้าร่วมทำรัฐประหารกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลตรีสิริ สิริโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ พลโทถนอม กิตติขจร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลโทประภาส จารุเสถียร และพลอากาศโทเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2508 และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา โดยพลโทถนอม กิตติขจร และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ประจำการอีก 40 กว่านาย ได้ลาออกตามไปด้วย

ต่อมาใน วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 คณะรัฐประหาร โดยการนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้นำคณะทหารจำนวนหนึ่งเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยแต่งตั้งให้นายพจน์ สารสิน มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังได้กล่าวมาแล้ว และได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 คณะรัฐมนตรี จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2500 หลังการเลือกตั้งพรรคสหภูมิที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้การสนับสนุน แม้จะมี ส.ส. ได้รับเลือกเข้ามามากเป็นอันดับหนึ่ง คือ 44 เสียง แต่ยังไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ประกอบกับปรารถนาที่จะรวมสมาชิกทั้ง 2 ประเภทเข้าด้วยกัน จึงได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น คือ พรรคชาติสังคม โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนพลโทถนอม กิตติขจร และพลโทประภาส จารุเสถียร เป็นรองหัวหน้าพรรค ซึ่งพรรคชาติสังคมมี ส.ส. ในสังกัด 202 คน มาจากพรรคสหภูมิที่ยุบไป 44 คน รวมกับ ส.ส. ประเภทที่ 1 จากพรรคต่าง ๆ และ ส.ส. ประเภทที่ 2 ที่มาเข้าพรรคด้วย เมื่อมีจำนวนเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง พรรคชาติสังคมจึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เป็นหัวหน้ารัฐประหาร ได้ประกาศว่าจะไม่ยอมรับตำแหน่งทางการเมือง ขอคุมกำลังทางทหารด้านเดียว ประกอบกับมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 10 ของประเทศไทย คือ พลโทถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร

พลโทถนอม กิตติขจร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 การขึ้นดำรงตำแหน่งสมัยแรกของพลโทถนอม กิตติขจร ไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร เพราะเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดจากเกมการเมืองของพรรคฝ่ายค้านในเวลานั้น ซึ่งที่เป็นหลักคือ พรรคประชาธิปัตย์ กับ ส.ส. บางคนที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใดๆ อีกต่อไปแล้ว ซึ่งบางส่วนเป็นอดีต ส.ส. พรรคเสรีมนังคศิลา (มีหัวหน้าพรรค คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เลขาธิการพรรคคือ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ มีรองหัวหน้าพรรคได้แก่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พลตรีประภาส จารุเสถียร เป็นต้น มีที่ทำการพรรคอยู่ที่บ้านมนังคศิลา อันเป็นที่มาของชื่อพรรค) ที่เคยให้การสนับสนุนจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในอดีต

ทั้งนี้ สำหรับสมาชิกพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีความสัมพันธ์กับนายปรีดี พนมยงค์ ทั้งพรรคแนวรัฐธรรมนูญ (เป็นพรรคการเมืองเกิดขึ้นหลังการสลายตัวของขบวนการเสรีไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายทองเปลว ชลภูมิ เป็นเลขาธิการพรรค สมาชิกส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ในขบวนการเสรีไทยและบุคคลในคณะราษฎรที่สนับสนุน นายปรีดี พนมยงค์) และพรรคสหชีพ (มีแนวทางการก่อตั้งพรรคและอุดมการณ์คล้ายคลึงกับพรรคแนวรัฐธรรมนูญ คือ เป็นสังคมนิยม แต่มิได้ดำเนินการเกี่ยวข้องกัน พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส เป็นหัวหน้าพรรค และนายเดือน บุนนาค เป็นเลขาธิการพรรค สมาชิกและผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายอีสาน ที่ให้การสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์) ทั้งสองพรรคถูกยุบพรรคหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2494 ตามคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2492

นอกจากนั้น สถานภาพของรัฐบาลพลโทถนอมก็ไม่มั่นคงเนื่องจากปัญหาภายในในพรรคฯ ที่เกิดจากการยุบรวมพรรคสหภูมิมาอยู่กับพรรคชาติสังคม แม้จะมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี แต่สถานการณ์ความวุ่นวายก็ยังไม่ดีขึ้น ประกอบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อรักษาโรคประจำตัว ครั้นเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เดินทางกลับจากการรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกาในช่วงเช้าวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พลโทถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาเที่ยงของวันเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ประกาศให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกัน จากนั้นในเวลา 21.00 น. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม โดยออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 1 มีใจความว่าช
"ด้วยคณะปฏิวัติ ซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศในนามของปวงชนชาวไทย ตั้งแต่เวลา ๒๑ นาฬิกา วันที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๑ นี้เป็นต้นไป และสถานการณ์ทั้งหลายตกอยู่ภายใต้ความควบคุมของคณะปฏิวัติโดยทั่วไปแล้ว ขอให้ประชาชนพลเมืองประกอบกิจการงานอาชีพตามปรกติ ให้ข้าราชการทั้งหลายปฏิบัติงานให้หน้าที่ตามเคย และให้ทุกคนตั้งอยู่ให้ความสงบ มิพึงกระทำการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยในประเทศ ห้ามเคลื่อนย้ายกำลังทหารนอกจากด้วยคำสั่งของหัวหน้าปฏิวัติ และให้ผู้บังคับบัญชากำลังหน่วยต่าง ๆ ของประเทศฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติแต่ผู้เดียว"
จากนั้นจึงตามมาด้วยประกาศฉบับต่างๆ ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น ยุบสภา ยกเลิกสถาบันทางการเมือง ได้แก่ พรรคการเมือง เป็นต้น และทำการรัฐประหาร (รัฐบาลที่ตนเองสนับสนุนมาตั้งแต่แรก) โดยมีพลโทถนอมดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าคณะปฏิวัติ ต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง ให้พลโทถนอมเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงเป็นอันสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 1

การรัฐประหารครั้งนี้ถือเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 6 ปี 7 เดือน 12 วัน มีรัฐบาลบริหารประเทศรวม 6 ชุด และพลเอกถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่เพียง 9 เดือน 20 วัน.
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 31 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (33)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(2)

คณะรัฐมนตรี นายพจน์ สารสิน (แถวหน้า ยืนกลาง) ขวามือคือ พลโทถนอม กิตติขจร ซ้ายมือคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ส่วนคนยืนแถวที่สามด้านหลังคือ พลตรีประภาส จารุเสถียร ซึ่งต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 และได้รับพระราชทานยศเป็นพลโท

เส้นทางสู่อำนาจเด็ดขาด (ต่อ)

ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นว่ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามขาดความชอบธรรมที่จะปกครองบ้านเมืองแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คงเหลือแต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเพียงอย่างเดียว

เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการจะรักษาอำนาจต่อไป จึงทำให้มีทั้งนายทหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งประเภท 1 และประเภท 2 ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลบางส่วนลาออก บางส่วนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วยอีกต่อไป ต่างก็พากันไปร่วมมือกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีเป้าหมายคือให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ลงจากอำนาจ

ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารยื่นคำขาดต่อจอมพล ป. พิบูลสงครามให้รัฐบาลลาออก แต่ได้รับคำตอบจากจอมพล ป. พิบูลสงครามว่า ยินดีจะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนจะขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุมในเหตุการณ์นี้ โดยมีประโยคสำคัญที่ยังติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"

จนเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2500 ประชาชนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงพากันไปที่บ้านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็กำลังจะเตรียมจับกุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข้อหากบฏที่สนับสนุนให้ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลแต่ยังไม่ทันที่ดำเนินการใดๆ

ในคืนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงครามออกจากตำแหน่ง ในคืนนั้นเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ได้ลี้ภัยไปต่างประเทศ รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงได้สิ้นสุดอย่างสิ้นเชิงนับแต่นั้น

(ขอบคุณข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/wiki/สฤษดิ์_ธนะรัชต์)

รัฐบาลพลเรือนพจน์ สารสิน

หลังการยึดอำนาจของคณะทหารที่นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารได้ล้มสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจะจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยไปเชิญ นายพจน์ สารสิน เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) มาเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500

นายพจน์ สารสิน (เริ่มบทบาททางการเมืองด้วยการสนับสนุนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี พ.ศ. 2490 และเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ. 2491 และต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ภายหลังได้ลาออกเนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลเกี่ยวกับการรับรองรัฐบาลเบาได๋แห่งเวียดนามใต้) ซึ่งลาพักงานจากตำแหน่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) หรือ Southeast Asia Treaty Organization (SEATO) และจัดตั้งโดยสหรัฐอเมริการซึ่งในเวลานั้น หลังจากเป็นมหาอำนาจหลักที่ชนะสงครามในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะในภูมิภาคสรภูมิเอเชียแปซิฟิก เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยรู้กันทั่วไปว่าจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราววันเดียวกันกับที่เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้รัฐบาลเลย มีรัฐมนตรีจำนวน 20 คน โดยที่ตัวนายกรัฐมนตรีเองควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง

อีก 3 วันต่อมานายกรัฐมนตรีก็นำคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบาย เป็นการแถลงนโยบายที่เรียบง่าย นายกรัฐมนตรีกล่าวไปหลายอย่าง แต่ที่สำคัญก็คือการจัดให้มีการเลือกตั้ง
"รัฐบาลนี้จะจัดให้การเลือกตั้งที่จะต้องกระทำภายใน 90 วันตามประกาศพระบรมราชโองการ เรื่องการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2500 เป็นไปตามกฎหมายโดยสุจริต เที่ยงธรรม จึงขอแถลงยืนยันถึงเจตจำนงข้อนี้ให้ปรากฏเสมือนเป็นคำสัตย์ปฏิญาณให้ไว้ในสภาผู้แทนราษฎรนี้ด้วย"
รัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งคือ รัฐมนตรีมหาดไทย พลตรีประภาส จารุเสถียร

ในการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 นั้นนายกรัฐมนตรีพจน์ สารสิน ไม่ได้ลงเลือกตั้งด้วย รัฐมนตรีมหาดไทยก็ไม่ได้ลงเลือกตั้งด้วย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ ผู้เป็นหัวหน้าพรรคสหภูมิ กับนายสงวน จันทรสาขา น้องชายร่วมมารดากับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เป็นเลขาธิการพรรคสหภูมิและเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงเลือกตั้งด้วย

ส่วนพรรคฝ่ายค้านก่อนการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม คือ พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี นายควง อภัยวงศ์ จึงเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญของพรรคสหภูมิ

การเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 นี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 40.10 จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิมากที่สุดคือจังหวัดระนอง และจังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิน้อยที่สุดคือจังหวัดอุบลราชธานี

ผลของการเลือกตั้งครั้งนั้น ได้ผู้ชนะเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรกระจายกันออกไปไม่มีพรรคใดครองเสียงได้โดยเด็ดขาด โดยพรรคสหภูมิได้ที่นั่งมากเป็นลำดับหนึ่งได้ 44 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งลำดับรองลงมาได้ 39 ที่นั่ง และมี ส.ส. ที่ไม่สังกัดพรรคอีก 59 คน ที่เหลืออีก 18 ที่นั่ง แบ่งไปตามพรรคเล็ก ๆ อีก 6 พรรค (เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 9; 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 - 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 รวมสมาชิกทั้งสิ้น 283 คน โดยมาจากการเลือกตั้งแบบประเภทที่ 1 ซึ่งแบ่งเขตทั้งหมด 160 คน และแบบประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นการแต่งตั้ง 123 คน)

สำหรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ได้แก่ พลเอกพระประจนปัจจนึก (พุก มหาดิลก)

นายพจน์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2500 หลังจากที่ได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว

และในวันที่ 1 มกราคม 2501 พลโทถนอม กิตติขจร ก็เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของราชอาณาจักรไทย นับจากการอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475.

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 24-30 มกราคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (32)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(1)

จอมพลสฤษดิ์เจรจากับนิสิตจุฬาฯ ที่สะพานมัฆวาน - The LIFE Picture Collection

อารัมภบท

การสิ้นสุดความพยายามสถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของสยาม/ไทยมาถึงแทบจะในทันทีทันใด ที่อำนาจทางการเมืองของประเทศไทยถูกครอบครองและครอบงำโดยกองทัพบกโดยสิ้นเชิง เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำทหารกองทัพภาคที่ 1 ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยอาศัยความไม่พอใจของประชาชนผสมโรงกับการแพร่ข่าวลือและการปลุกระดมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก "การเลือกตั้งสกปรก" ภายหลังการเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี หนีไปราชอาณาจักรกัมพูชา ขณะที่สมุนมือขวา พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลี้ภัยไปสวิตเซอร์แลนด์ จอมพลสฤษดิ์ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นผู้รักษาพระนคร มีการประกาศยุบสภาและนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 (ฉบับแก้ไขใหม่ 2495) มาปรับใช้เป็นการชั่วคราว

การรัฐประหารครั้งนี้ มีลักษณะพิเศษยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คือเป็นการเข้ายึดอำนาจรัฐโดยมีผู้นำเป็นนายทหารที่ "ไม่มี" ส่วนร่วมแต่อย่างใดในฐานะผู้นำในคณะราษฎร ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชาธิปไตยสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ (เรียกกันในเวลานั้น)

เส้นทางสู่อำนาจเด็ดขาด

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ที่บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด จังหวัดพระนคร (ในเวลานั้น) เป็นบุตรของพันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) กับนางจันทิพย์ ธนะรัชต์ (สกุลเดิม วงษ์หอม) เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดมุกดาหาร และศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดมหรรณพารามในปี พ.ศ. 2462 จากนั้นจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก สำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2471 เข้ารับราชการเป็นนักเรียนทำการนายร้อย กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472

ในปี พ.ศ. 2476 ขณะที่ติดยศร้อยตรี เกิดกบฏนำโดยพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และ ร้อยตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหนึ่งในผู้บังคับหมวดปราบปรามกบฏของฝ่ายรัฐบาล มีพันเอกหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับบัญชา จนได้รับชัยชนะ ได้รับพระราชทานยศร้อยโท จากนั้นอีก 2 ปีก็ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก

ในปี พ.ศ. 2484 ร้อยเอกสฤษดิ์เข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพาขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทัพทหารราบที่ 33 จังหวัดลำปาง ได้รับการเลื่อนยศเป็นพันตรี จนช่วงปลายสงครามจึงได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2488

หลังสงครามโลกสงบ แม้ว่าอำนาจทางการเมืองจะถูกเปลี่ยนมือ ส่วนหนึ่งเนื่องจากไทยเคลื่อนไหวเพื่อให้พ้นจากการเป็นประเทศร่วมรบกับฝ่ายอักษะในทวีปเอเชียที่นำโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่สำคัญคือไทยมีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น คือ "ขบวนการเสรีไทย" ที่เคลื่อนไหวอย่างจริงจังในช่วงที่ถูกยึดครองและถูกบังคับให้เซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ. 2487 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกบีบด้วยข้อเสนอให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้อำนาจอำนาจทางการเมืองเสื่อมถอยลง แต่พันเอกสฤษดิ์กลับเติบโตขึ้นในอาชีพรับราชการทหารโดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังสำคัญ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2490 คณะนายทหารนำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ก่อการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน และด้วยความเคารพเลื่อมใสที่มีต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ พันเอกสฤษดิ์จึงเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมคณะรัฐประหาร ผลจากการรัฐประหารครั้งนั้น เป็นการกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นกำลังสำคัญที่แทบจะมีลักษณะส่วนตัวยิ่งกว่าผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา

จากการเป็น "ผู้ใกล้ชิด" หรือ "ลูกน้องคนสนิท" นี้เอง ชีวิตราชการของพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2492 ได้รับพระราชทานยศพลตรี ดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ 1 และรักษาการผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ผลงานที่สร้างชื่อคือการเป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวงในปีเดียวกันนั้น หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลโท ตามมาด้วยการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 ในปี พ.ศ. 2493 และเพียงในปี พ.ศ. 2495 ก็สามารถขึ้นครองตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกพร้อมได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็นพลเอก

สำหรับตำแหน่งในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

ต่อมาในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก และได้รับพระราชทานยศจอมพล โดยที่คงไม่มีใครคาดคิดว่าในเวลาอีกเพียง 3 ปี ลูกน้องคนสนิทหนึ่งในสองคนนี้ จะกล้าลุกขึ้นยึดอำนาจขากลูกพี่ที่ติดสอยห้อยตามกันมาหลายปี

วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลชุดสุดท้ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่อยู่ในตำแหน่งนั้นได้เพียง 10 วัน ก็ลาออก จากสาเหตุการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ซึ่งจัดว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรกมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในจังหวัดพระนคร มีการจัดตั้งกลุ่มอันธพาลหรือที่เรียกว่า "ผู้กว้างขวาง" เข้าร่วม เกิดบัตรผีที่เรียกว่า "ไพ่ไฟ" และการย้ายเข้าเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิที่เรียกว่า "พลร่ม" รวมทั้งการสวมใช้สิทธิซ้ำหลายครั้งที่เรียกว่า "เวียนเทียน" ซึ่งผลก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก จึงสามารถดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนัก จากการเดินประท้วงของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนเป็นจำนวนมากในจังหวัดพระนคร จอมพล ป. จึงแต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เข้าควบคุมสถานการณ์

ในวันที่ 1 มีนาคม กลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมตัวกันประมาณ 2,000 คน เดินขบวนไปที่กระทรวงมหาดไทย มุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลาออกจากตำแหน่ง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้มีคณะกรรมการประกอบด้วยนิสิตในการควบคุมการลงคะแนน จอมพลสฤษดิ์สั่งการไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง ทั้งยังเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีซึ่งกล่าวแก่นิสิตและผู้ชุมนุมว่า การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อศาลสั่ง นิสิตสลายตัวตามที่จอมพลสฤษดิ์ เสนอ และได้กล่าวคำคมในประวัติศาสตร์ไว้ที่สะพานมัฆวานว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ" ซึ่งทำให้จอมพลสฤดิ์กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า "วีรบุรุษมัฆวาน"

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 17-23 มกราคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (31)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (14)

จอมพล ป. พิบูลสงคราม หัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา ขึ้นกล่าวคำปราศรัยก่อนการรัฐประหาร 2500

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (14)

บทความเรื่อง "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" ในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500) โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ให้บทสรุปไว้ในตอนท้าย เพื่อเป็นการสะท้อนความแหลมคมของสถานการณ์ทางการเมืองช่วงปลายทศวรรษ 2490 ช่วงรอยต่อการยึดอำนาจการปกครองอันยาวนานของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยหนึ่งในสองของผู้ใต้บังคับบัญใกล้ชิดและอาจไว้ใจได้มากที่สุดคือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2500 ไว้ดังต่อไปนี้:

จากการแสดงท่าทีของหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ดังกล่าวส่งผลทำให้กรณีเรื่องนโยบายต่างประเทศเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามดูไม่น่านิยมชมชื่น และเป็นจุดที่สร้างปัญหาให้แก่รัฐบาลมากที่สุดกรณีหนึ่ง ซึ่งใน พ.ศ. 2499 มีประเด็นหลายเรื่องที่หนังสือพิมพ์ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยต่างแสดงท่าทีคัดค้านต่อนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม เช่น หนังสือพิมพ์สยามนิกรได้วิจารณ์การที่รัฐบาลไทยรับเป็นเจ้าภาพในการจัดการซ้อมรบขององค์การสปอ. อย่างกระทันหันไว้ว่า สถานการณ์ในเอเชียอาคเนย์ก็มิได้มีแนวโน้มที่จะเกิดสงครามและการรุกรานใด ๆ การซ้อมรบจึงไม่น่าที่จะเป็นเรื่องจำเป็น หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยก็วิจารณ์ว่า ทำไมรัฐบาลไทยต้องซ้อมรบตามคำโฆษณาของประเทศโลกเสรีที่โจมตีจีนแดงว่าจะรุกราน ทั้ง ๆ ที่รู้กันว่าจีนไม่สามารถทำได้ นอกจากจะทำสงครามป้องกันตนเอง และผู้นำจีนก็มีนโยบายผูกมิตรกับทุกประเทศอยู่แล้ว ต่อมาปรากฎว่าเรื่องนี้ได้บานปลายออกไป เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีสปอ.ได้แถลงว่า เรื่องการซ้อมรบที่จะมีขั้นตอนตามกำหนดการนั้น ไทยมิได้ปรึกษาฝรั่งเศสและประเทศอื่น ๆ ในสปอ.เลย นอกจากปรึกษาแต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวเท่านั้น นอกจากนี้หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์รายสัปดาห์ ก็ได้ลงบทนำวิจารณ์ว่า การซ้อมรบครั้งนี้ฝ่ายไทยต้องเสียเงินถึง 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นการฟุ่มเฟือย อีกกรณีหนึ่งที่หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยแทบทุกฉบับต่างวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม คือ การที่รัฐบาลแสดงท่าทีเกรงใจและแก้ต่างแทนอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเป็นมิตรร่วมภาคสปอ. ในเรื่องที่อังกฤษและฝรั่งเศสใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยส่งกองทัพเข้าบุกและโจมตีอียิปต์ในวิกฤตการณ์คลองสุเอช ทั้ง ๆ ที่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและแอฟริกาต่างประณามการกระทำของอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างรุนแรง หนังสือพิมพ์สยามนิกรได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเป็นตัวของตัวเองในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่หนังสือพิมพ์มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง พ.ศ. 2498-2499 คือ การเรียกร้องเรื่องสิทธิประชาธิปไตย โดยเฉพาะเรื่องการยกเลิกส.ส.ประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นประเด็นที่หนังสือพิมพ์เริ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างจริงจังภายหลังจากที่รัฐบาลมีการเปลี่ยนนโยบายไปสู่ประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์มีการรณรงค์ว่า จอมพลป.พิบูลสงครามควรจะปฎิรูปประชาธิปไตยให้มากยิ่งขึ้นโดยยกเลิกส.ส.ประเภทที่ 2 ตั้งแต่ในระดับชาติและระดับท้องถิ่น และต่อมาเมื่อรัฐบาลจับกุมกบฏอดข้าว หนังสือพิมพ์สยามนิกรได้เสียดสีว่า เหตุการณ์เรื่องนี้เป็นเรื่องชวนหัวของประชาธิปไตยที่ว่า การที่ผู้อดข้าวประท้วงเพราะต้องการให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้น กลับกลายเป็นการก่อกบฏที่จะมีโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต นอกจากนี้หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยยังได้วิจารณ์ว่า การมีบทเฉพาะกาลและสมาชิกประเภทที่ 2 ในระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย มิใช่ว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นการกุมอำนาจไว้เฉพาะพรรคหนึ่งหรือรัฐบาลใดแต่เพียงอย่างเดียว ปรากฎว่าถึงเกี่ยวกับการปฏิบัติก็ไม่สามารถจะทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยเป็นไปโดยสมบูรณ์ตามความหมายที่แท้จริง

นอกจากนี้ กลุ่มหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย-สยามนิกรยังมีความตระหนักพอสมควรในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ของประชาชน เพระเมื่อปลายเดือนสิงหาคาม พ.ศ.2499 หนังสือพิมพ์ได้วิพากษ์วิจารณ์เหตุผลของนายเพทาย โชตินุชิต ส.ส.ธนบุรีซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการเคลื่อนไหวสันติภาพ เป็นส.ส.ฝ่ายสังคมนิยมในสภาผู้แทนราษฎร และเป็นหัวหน้าขบวนการไฮด์ปาร์ค ได้ตัดสินใจย้ายจุดยืนไปเป็นสมาชิกพรรคมนังคศิลา (เสรีมนังคศิลา?) โดยอ้างว่าเพื่อจะทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นและเข้าไปยับยั้งรัฐบาลจากวงใน จากเหตุผลข้างต้นหนังสือพิมพ์สยามนิกรได้เสนอว่า เหตุผลของนายเพทาย โชตินุชิตฟังไม่ขึ้น และได้เสนอข้อความตอนหนึ่งว่า "เพทาย โชตินุชิตจากไปแล้ว แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนยังคงอยู่ต่อไป ไม่มีอำนาจใด ๆ จะมายับยั้งไว้ได้ การจากไปของบุคคลหนึ่งก็คือ บทเรียนในการวินิจฉัยตัวบุคคลในกาลต่อไปข้างหน้า ข้อสำคัญที่ควรจดจำก็คือ เราจะตั้งตนเองเป็นวีรบุรุษกันนั้นไม่ได้ เพราะวีรบุรุษไม่ได้สร้างประชาชน แต่ประชาชนต่างหากที่สร้างวีรบุรุษ"

บทบาทของหนังสือพิมพ์ในการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2490-2500 มีบทบาทอย่างสูงในการเป็นผู้นำสังคมที่สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยและกระตุ้นความสำนึกทางการเมืองของประชาชน ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขการบริหารประเทศให้เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตย ตลอดจนการทำหน้าที่ต่าง ๆ ของนักหนังสือพิมพ์ เช่น เป็นคอมลัมนิสต์ นักเขียนนวนิยาย ปัญญาชน ผู้นำความคิดของสังคม และมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านนโยบายบางประการของรัฐบาล รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เนื่องจากรัฐบาลไทยในขณะนั้นมีแนวโน้มที่จะปกครองแบบรวมอำนาจ ประกอบกับสถานการณ์การเมืองของโลกที่กำลังตกอยู่ในสภาวะสงครามเย็น ทำให้รัฐบาลไม่ต้องการให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการคัดค้านนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจึงปราบปรามนักหนังสือพิมพ์เหล่านี้ ด้วยการจับกุมครั้งใหญ่ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ใน พ.ศ. 2495 ซึ่งมีผลทำให้นักหนังสือพิมพ์ต้องยุติบทบาทของตนแม้แต่ในการวิพากษ์วิจารณ์การตรวจสอบการบริหารราชการของรัฐบาล ภายหลังจากนั้นนักหนังสือพิมพ์ต้องปรับตัวให้อยู่รอดต่อไปและไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรงโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ซึ่งได้ดำเนินการปราบปรามนักหนังสือพิมพ์และสั่งปิดหนังสือพิมพ์หลายฉบับ.
(จบ)
ที่สำคัญ หลังจากรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ส่งผลให้ไทยก้าวสู่ยุคเผด็จการยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย นักคิดนักเขียนฝ่ายประชาธิปไตย ตลอดจนนิสิตนักศึกษาที่มีจุดยืนในฝ่ายประชาธิปไตย ทยอยกันสาบสูญไปจากสังคมนานถึงกว่าทศวรรษครึ่ง หลังจากการยึดอำนาจซ้ำสอง (รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501) เพียงครึ่งทศวรรษ การต่อสู้ทางการเมืองโฉมหน้าใหม่ อันเป็นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็เปิดฉากขึ้น นำไปสู่สภาวะ "สงครามประชาชน" สืบเนื่องมาจนถึงสามทศวรรษ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 10-16 มกราคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (30)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (13)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการแถลงข่าววันที่ 1 มีนาคม 4 วันหลังจากการประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 โดยมี พลโท หม่อมหลวง ขาบ กุญชร (ซ้ายสุด) ร่วมรับฟัง (ภาพถ่ายโดย John Dominis ที่มา: LIFE Picture Collection)

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (13)

เอกสาร ประวัติการเมืองการปกครองไทย โดยสถาบันพระปกเกล้า นำเสนอการคลี่คลายขยายตัวความขัดแย้งภายในหมู่ขุนศึกทั้งสามคือ "แปลก-สฤษดิ์-เผ่า" ไปจนถึงความสุกงอมของสาถานการณ์ที่นำไปสู่จุดแตกหักไว้ต่อไป (www.senate.go.th/km/data/political.doc):

เพื่อลดอำนาจของเผ่า จอมพล ป. วางแผนส่งเผ่าไปกรุงวอชิงตันเพื่อเจรจาการกู้เงินใหม่ในฐานะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ทันทีที่เผ่าออกเดินทางไปกรุงวอชิงตัน จอมพล ป. ก็ปรับคณะรัฐมนตรี เผ่าถูกออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง และจอมพลผินผู้ซึ่งเป็นพ่อตาของเผ่าก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีอื่น ๆ ที่อยู่ฝ่ายเผ่าก็ถูกสับเปลี่ยน และแทนที่โดยพวกที่จงรักภักดีต่อจอมพล ป. และสฤษดิ์ จอมพล ป. รับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยและกลาโหม พร้อมทั้งประกาศว่า ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีกลาโหมและมหาดไทยจะเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจประกาศการเตรียมพร้อมทางทหารและทางตำรวจ และสั่งการเคลื่อนทัพ ยกเว้นแต่ในสภาวะสงครามหรือจลาจล จากนั้นก็มีการโยกย้ายนายตำรวจและกำลังทหารหลายหน่วยออกจากกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการตัดกำลังอำนาจของเผ่า

ประชาธิปไตยใหม่ของจอมพล ป. ซึ่งอนุญาตให้ประชาชนโจมตีรัฐบาล กลายเป็นบทเรียนที่มีราคาแพง คำด่ารัฐบาลนั้นหนักหน่วงมาก และยิ่งกว่านั้น ความรู้สึกต่อต้านอเมริกันก็เพิ่มขึ้นและกลายเป็นเป้าหมายของการไฮด์ปาร์ค มีการเรียกร้องให้ถอนตัวออกจากซีโต้ จอมพล ป. และพวกไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะรับการรณรงค์ที่ไม่เป็นมิตรดังกล่าวแม้แต่น้อย ความอดทนต่อการด่ารัฐบาลอย่างห้าวหาญก็น้อยลงทุกที ดังนั้นรัฐบาลจึงห้ามการรวมกลุ่มทางการเมืองทุกชนิดและจับกุมพวกอดข้าวประท้วงกลุ่มหนึ่งที่ประท้วงเรื่องการมีสมาชิกสภาแบบแต่งตั้ง ฯลฯ รัฐบาลจอมพล ป. ให้เหตุผลการห้ามการรวมกลุ่มทางการเมืองและการจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาล โดยอ้างว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อชาติ และการแทรกแซงของคอมมิวนิสต์

ทั้ง ๆ ที่การรณรงค์ของ "ประชาธิปไตยใหม่" ได้ปราชัย แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ก็ได้เกิดขึ้นตามกำหนดการ มีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคที่ลงแข่งกัน คือ พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. และพรรคประชาธิปัตย์ของนายควง อภัยวงศ์

หลังการเลือกตั้งมีการประท้วงเกี่ยวกับการเลือกตั้งสกปรก มีการโกงด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เรียกว่า ไพ่ไฟ และ พลร่ม การด่าว่าการเลือกตั้งสกปรกของสาธารณชนเริ่มมีมากขึ้น รัฐบาลหันไปแสดงพลังโดยการตั้งสฤษดิ์ให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย การรวมตัวกันของประชาชนทุกรูปแบบถูกสั่งห้าม บรรณาธิการหลายคนก็ถูกจับจากการเขียนบทความและคำกล่าวที่ต่อต้านรัฐบาล นอกจากนั้นยังมีการแสดงอำนาจของทหารเพื่อข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม สถานที่ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ได้ถูกยึดโดยเจ้าหน้าที่ทหาร และเครื่องบินก็บินต่ำ ๆ บนท้องฟ้าของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการข่มขู่

ท่ามกลางการแสดงพลังอำนาจของรัฐบาล กลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประมาณ 2,000 คน ก็ได้ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะต่อต้านรัฐบาล นิสิตเหล่านี้ลดธงชาติลงครึ่งเสาซึ่งเป็นการแสดงการไว้อาลัยประชาธิปไตยที่ตายไป ภายใต้การบอกแนะของสฤษดิ์ นิสิตเหล่านี้เดินขบวนไปที่กระทรวงมหาดไทย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยที่มีคณะกรรมการประกอบด้วยนิสิตในการควบคุมการลงคะแนน นายกรัฐมนตรีกล่าวตอบว่า การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อศาลสั่ง นิสิตสลายตัวเมื่อสฤษดิ์ขอให้สลายตัว และสฤษดิ์ได้กล่าวคำคมในประวัติศาสตร์ไว้ที่สะพานมัฆวานว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"

หลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์และหลังการรณรงค์คัดค้านการเลือกตั้งที่สกปรก คะแนนนิยมและฐานะของจอมพล ป. เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว พวกที่คัดค้านรัฐบาล และความเป็นเผด็จการและการใช้อำนาจผิด ๆ ของพลตำรวจเอกเผ่าก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ในขณะนั้นพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามต่าง ๆ พยายามหาทางล้มรัฐบาลของจอมพล ป.

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ดังกล่าว พร้อมกับการเพิ่มการต่อต้านอเมริกัน ต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านจอมพล ป. และเผ่า จอมพล ป. ได้พยายามอย่างมากในการทำให้สฤษดิ์อ่อนอำนาจลง โดยการบอกให้คณะรัฐมนตรีละเว้นจากการเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการค้าส่วนตัวทุกชนิด ซึ่งเป็นวิธีที่จะตัดรายได้ซึ่งเป็นฐานอำนาจทางการเมือง สฤษดิ์ไม่แยแสต่อการขอร้องเหล่านั้น เป็นที่เห็นได้ชัดว่าความต้องการเหล่านี้ก็เป็นเพียงเพทุบายทางการเมืองของจอมพล ป. ในการที่จะทำลายอำนาจทางการเมืองและตำแหน่งทางทหารของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นและอำนาจของจอมพล ป. เสื่อมลง ความเป็นที่นิยมก็เสื่อมลง จอมพล ป. จึงพยายามรักษาอำนาจของตัวเองและพยายามลดอำนาจของสฤษดิ์อีก โดยการสั่งรัฐมนตรีทั้งหลายให้ตัดความสัมพันธ์กับองค์กรเอกชนทางการค้า สฤษดิ์ท้าทายคำสั่งของจอมพล ป. โดยการลาออกจากคณะรัฐมนตรี ลูกน้องคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ก็ทำตามโดยการลาออกจากคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม สฤษดิ์ยังคงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไว้ แต่ลาออกจากพรรคเสรีมนังคศิลา

ในวันที่ 16 เดือนกันยายน พ.ศ.2500 สฤษดิ์จึงทำรัฐประหาร ตามรายงานข่าวว่า สฤษดิ์จับแผนการรัฐประหารของเผ่าได้ จอมพล ป. หนีไปเขมร และต่อมาก็ขอลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น และถึงแก่อสัญกรรมที่นั่นเมื่อ พ.ศ. 2508 เผ่าถูกส่งออกนอกประเทศและไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งต่อมาเขาก็ถึงแก่อนิจกรรม

ในการปฏิบัติโดยทั่วไปในการเมืองไทยที่สฤษดิ์ไม่ได้เข้าครองอำนาจทันที พจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 90 วัน แล้วจึงมีการเลือกตั้งทั่วไป ภายหลังการเลือกตั้ง พลโทถนอม กิตติขจร นายทหารซึ่งไม่มีใครรู้จักมากนักก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นสฤษดิ์ไปสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาร่างกายที่โรงพยาบาลวอเตอร์หรีด ตอนหลังก็ได้ไปอังกฤษด้วยเหตุผลอันเดียวกัน และแล้วท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมือง การต่อสู้กันของกลุ่มภายในพรรคและในกองทัพ สฤษดิ์จึงยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 20 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นเวลาเดียวหลังจากที่ถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อร่วมทำรัฐประหารกับสฤษดิ์ รัฐธรรมนูญของปี 2495 จึงถูกยกเลิก เป็นการยุติรัฐบาลแบบประชาธิปไตย หลังจากนั้นประเทศไทยได้ถูกปกครองโดยเผด็จการแบบพ่อขุนภายใต้สฤษดิ์และผู้สืบทอดคือ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 27 ธันวาคม 2557-9 มกราคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (29)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (12)

จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชด์ (ได้รับพระราชทานยศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2499) นำคณะนักศึกษาเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (12)

มีบางส่วนจากบทความน่าสนใจว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เผยแพร่ทางเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า ในหัวข้อ "รัฐประหาร พ.ศ. 2500" เรียบเรียงโดย ณัฐพล ใจจริง และมี รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต เป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/รัฐประหาร_พ.ศ._2500):
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ยังคงไม่ราบรื่น นับแต่ การรัฐประหาร 2494 และการร่างรัฐธรรมนูญ 2495 ที่ไม่ถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาทการเมืองตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ในปี 2496 พระมหากษัตริย์และรัฐบาลยังขัดแย้งกันเรื่องกฎหมายการปฏิรูปที่ดิน โดยรัฐบาลมุ่งจำกัดการถือครองที่ดินขนาดใหญ่และช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย แต่ทว่าการปฏิรูปที่ดินนี้ องคมนตรีไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่าไทยไม่ได้ขาดแคลนที่ดินถึงขนาดต้องปฏิรูปที่ดิน พระมหากษัตริย์ทรงเห็นด้วยกับองคมนตรีและทรงชะลอการการลงพระนามประกาศใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงยืนยันความจำเป็นของกฎหมายฉบับนี้ ท้ายสุดพระองค์ก็ยอมลงพระนามประกาศใช้กฎหมาย [RG 59 : 972.00 / 9-253 , Memo of Conversation : Phraya Siwisan , George M. Widney , Second Secretary of American Embassy , 1 September 1953 อ้างใน Kobkua , Ibid., p.152. พระยาศรีวิศาลวาจา องคมนตรี คัดค้านเรื่องดังกล่าวอย่างหัวชนฝา(absolutely against) ด้วยการให้เห็นผลว่า ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนที่ดินจนต้องปฏิรูปที่ดิน , ภายหลังพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกยกเลิกหลังการรัฐประหาร 2500 และต่อมาพระยาศรีวิศาลวาจา ได้ลาออกจากองคมนตรีเข้าทำงานร่วมกับรัฐบาลในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาราชการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2505-06) ตามคำขอพระบรมราชานุญาตจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ "ชีวประวัติ พันเอกพระยาศรีวิสารวาจา" ,อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาศรีวิศาลวาจา (พิมพ์เป็นบรรณาการเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพันเอกพระยาศรีวิสารวาจา ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์วัดเทพศิรินทร์ 8 มิถุนายน, 2511, พระนคร: สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี)] อีกทั้ง ในปี 2500 ทรงไม่เสด็จเข้าร่วมงานการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ [อ้างใน Kobkua , Ibid., p.150-155] เนื่องจากพระองค์ไม่พอพระทัยการจัดการที่ทำให้รัฐบาลกลายเป็นศูนย์กลางของงานแทนที่จะเป็นพระองค์ ทรงเห็นว่า จอมพล ป. "เมาอำนาจ" และมีความประสงค์จะเป็น "พระมหากษัตริย์องค์ที่สอง" [Kobkua Suwannathat-Pian , Thailand’s Durable Premier : Phibun through Three Decades 1932 – 1957 , (Kuala Lumpur : Oxford University Press,1995) , p.100]
**********
วกกลับไปที่เอกสาร ประวัติการเมืองการปกครองไทย โดยสถาบันพระปกเกล้า บรรยายถึงความเข้มข้นของความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจทางทหารในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยนายทหารที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน "สมุนซ้าย/ขวา" ที่ปั้นมามากับมือหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 และ พ.ศ. 2494 (www.senate.go.th/km/data/political.doc):

ระหว่างปี พ.ศ.2495 ถึง พ.ศ.2498 การเมืองไทยเป็นช่วงที่ไม่มีผู้นำเด่นในการปกครอง การถ่วงดุลของอำนาจเกิดจากการแข่งขันอย่างมากระหว่างพลตำรวจเอกเผ่าและจอมพลสฤษดิ์ คนแรกมีอำนาจในการคุมกำลังตำรวจ ส่วนคนที่สองได้คุมกองทัพบก จอมพล ป. ได้แต่เล่นเกมถ่วงดุลของทั้งสองฝ่ายและอาศัยสถานภาพในส่วนที่เกี่ยวกับต่างประเทศและที่สำคัญที่สุด คือการสนับสนุนของอเมริกาเพื่อการอยู่รอด ในการรวบอำนาจให้อยู่ในมือนั้น ปกติจอมพล ป. ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีที่สำคัญที่สุดก็คือรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อเหตุการณ์ตึงเครียด จอมพล ป. มักจะขอร้องให้มีความร่วมมือ และจะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยในเวลาเกิดการโต้แย้งกันระหว่างเผ่ากับสฤษดิ์

พลตำรวจเอกเผ่านั้นเป็นนายตำรวจหนุ่มที่เต็มไปด้วยพลวัต ซึ่งได้เป็นนายพลเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2495 ในสมัยเผ่า กรมตำรวจได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา โดยผ่านบริษัทอเมริกันชื่อ Sea Supply Corporation เผ่าได้สร้างตำรวจให้เป็นกองทัพเทียบเท่ากับหน่วยของทหาร นอกจากนั้น เผ่ายังอาศัยการค้าขายอื่น ๆ ในการหารายได้ บุตรเขยของจอมพลผินผู้นี้ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจอย่างรวดเร็ว พอถึงปี พ.ศ.2496 ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บุรุษผู้เข้มแข็งผู้นี้มีคำขวัญว่า "ไม่มีอะไรภายใต้พระอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" และก็ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐตำรวจ เผ่าใช้กำลังตำรวจในการกำจัดศัตรูของรัฐบาล

สฤษดิ์ได้เป็นนายพลเมื่ออายุได้ 42 ปี มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 และมีบทบาทสำคัญในการปราบกบฏ "แมนฮัตตัน" เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 หลังการรัฐประหาร 2494 สฤษดิ์ก็ได้กลายเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของจอมพล ป. ในปี 2497 ก็ได้ตำแหน่งแทนจอมพลผิน ผู้ซึ่งเป็นพ่อตาของพลตำรวจเอกเผ่า โดยเป็นผู้บัญชาการทหารบก เมื่อเดือนมีนาคม 2498 และดำรงตำแหน่งเป็นพลเรือเอกแห่งกองทัพเรือ และเป็นพลอากาศเอกแห่งกองทัพอากาศอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2499 สฤษดิ์ก็ได้เป็นจอมพล

ส่วนจอมพล ป. ได้ฉวยโอกาสจากการแข่งกันโดยทำหน้าที่เป็นตัวไกล่เกลี่ยและอาศัยความอาวุโส และสถานภาพในต่างประเทศและการสนับสนุนของอเมริกา แต่จอมพล ป. ก็พบว่า เส้นใยที่ขึงไว้ในการถ่วงดุลอำนาจนั้นยิ่งบางขึ้นทุกที และตัวเองกำลังจะเสียอำนาจเพราะเริ่มไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน เหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำที่เกินเหตุของเผ่า และการแข่งกันระหว่างฝ่ายตำรวจกับฝ่ายทหาร ดังนั้นจอมพล ป. จึงได้เดินทางรอบโลกจากเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2498

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการเดินทางของจอมพล ป. ได้เสริมฐานะทางการเมืองที่กำลังเสื่อมลง ผลพลอยได้จากการเดินทางก็คือ ความรู้สึกประทับใจที่ชาวอังกฤษแสดงความคิดเห็นที่ไฮด์ปาร์ค ซึ่งต่อมาก็มีการอนุญาตให้มีการอภิปรายทางการเมืองคล้าย ๆ ไฮด์ปาร์ค ทั้งในกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด

จอมพล ป. ประทับใจในการที่มีการถกเถียงกันในที่สาธารณะของชาวอเมริกันและชาวยุโรป จึงคิดส่งเสริมให้มีการสร้าง Town Hall เหมือนกับของอเมริกาและยุโรปตะวันตก โดยให้สร้างทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

หลังจากการเดินทางครั้งนั้น จอมพล ป. เริ่มทำสิ่งที่คิดว่าสำคัญต่อพัฒนาการของประชาธิปไตย เมื่อเดือนกันยายน 2498 จอมพล ป. ได้กล่าวขอให้รัฐสภาสนับสนุนให้ผ่านกฎหมายเพื่อให้มีพรรคการเมือง นอกจากนั้นยังลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เหลือ 20 ปี และยกเลิกเงื่อนไขหรือคุณสมบัติเกี่ยวกับการศึกษาทั้งหมด เพื่อจะได้มีคนมาลงคะแนนเสียงมาก ๆ จอมพล ป. ได้ประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จอมพล ป. เริ่มพูดคัดค้านการทำรัฐประหารและการใช้อำนาจตำรวจหรือทหารเพื่อผลทางการเมือง.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 20-26 ธันวาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8