จุดพลิกผันประชาธิปไตย
เมื่อนายปรีดีถูกหมายหัว
เมื่อนายปรีดีถูกหมายหัว
นายปรีดี
พนมยงค์ในฐานะหัวหน้าเสรีไทยสายในประเทศ
เยือนจังหวัดตรังและถ่ายรูปร่วมกับสมาชิกคณะราษฎรในจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน
2479
จุดพลิกผันอันนำไปสู่ความแตกแยกในทางทางความคิดของคณะรัฏฐาธิปัตย์ใหม่ ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 อยู่ที่การนำเสนอ "เค้าโครงเศรษฐกิจ" หรือที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" โดยนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะผู้ก่อการสายพลเรือนในปี พ.ศ. 2476 ต่อรัฐบาลเพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ตามเจตนารมณ์ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
ทั้งนี้ใจความสำคัญซึ่งมีลักษณะก้าวล้ำสมัยแม้กระทั่งในเวลานี้คือหลักประกันสังคม ที่ให้แก่ราษฎรให้ได้รับความอุปการะเลี้ยงดูจากรัฐบาลตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้เจ็บป่วย พิการ หรือชรา ไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงเศรษฐกิจ ในชื่อร่าง พ.ร.บ. "ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร"
แต่น่าเสียดาย ที่แนวความคิดข้างต้นนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกคัดค้านอย่างหนัก แม้นายปรีดีจะเขียนไว้ใน "ข้อที่ควรระลึกในการอ่านคำชี้แจง" ว่า
**************
"การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้าได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริง ตลอดจนนิสสัยใจคอของราษฎรส่วนมากว่า การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ ความคิดที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นด้วยข้าพเจ้าได้มีอุปาทานผูกมั่นอยู่ในลัทธิใดๆ ข้าพเจ้าได้หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามแล้ว จึงได้ปรับปรุงยกขึ้นเป็นเค้าโครงการเหตุแห่งความลำเอียง
แต่มีข้อควรระลึกว่า การจัดบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจนั้น ย่อมมีลัทธิอยู่มากมายหลายอย่าง แต่ผู้ที่นิยมนับถือในลัทธิต่างๆ ยังมิอาจที่จะทำความตกลงกันได้ ทั้งนี้ศาสตราจารย์เดสชองป์ส์แห่งมหาวิทยาลัยกรุงปารีสได้กล่าวไว้ว่ามีอยู่ 3 ประการ
ไม่รู้โดยไม่ตั้งใจ
1. เพราะบุคคลทุกคนยังไม่รู้ลัทธิต่างๆ การไม่รู้นี้เป็นโดยไม่ตั้งใจ เช่นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาหรืออ่านตำราที่แท้จริงของลัทธิต่างๆ บุคคลผู้นั้นก็มิอาจที่จะทำความตกลงอย่างไรได้
ไม่รู้โดยตั้งใจ
2. เพราะตั้งใจจะไม่รู้ เช่น บุคคลที่ได้ยินได้ฟังคำโพนทนาตลาดว่า ลัทธิหนึ่งนิยมให้ฆ่าฟันกัน ริบทรัพย์ของผู้มั่งมีเอามาแบ่งให้แก่คนจนเท่าๆกัน เอาผู้หญิงเป็นของกลางแล้วก็หลงเชื่อตามคำตลาด และมีอุปาทานยึดมั่นในคำชั่วร้ายและไม่ค้นคว้าและสืบต่อไปให้ทราบความว่า ลัทธินั้นได้ยุยงให้คนฆ่าฟันกันจริงหรือ ริบทรัพย์เอามาแบ่งให้เท่าๆกันจริงหรือ เอาผู้หญิงมาเป็นของกลางจริงหรือ
ประโยชน์ส่วนตน
3. เพราะเหตุประโยชน์ส่วนตน กล่าวคือบุคคลที่แม้จะรู้ลัทธิต่าง ๆ ว่ามีส่วนดีอย่างไรก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ ไม่ยอมที่จะดำเนินตาม เพราะเหตุที่ตนมีประโยชน์ส่วนตัวที่จะป้องกันไม่ให้ใช้ลัทธิต่าง ๆ นั้น เช่น ลัทธิโซเชียลลิสม์ ที่ประสงค์ให้รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเสียเอง เพื่อประโยชน์ของราษฎรเสียทั้งหมดดั่งนี้ ผู้ที่ประกอบอุตสาหกรรมก็ต้องไม่นิยมลัทธิโซเซียลลิสม์เพราะเกรงไปว่า ฃประโยชน์ตนที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นจะต้องถูกริบ หรือบุคคลที่เกลียดชังรัฐบาลด้วยเหตุส่วนตัว แม้จะรู้ลัทธิต่างๆและจะเห็นว่าลัทธินั้นดีก็ตาม แต่เมื่อรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินตามลัทธินั้น ตนเองได้ตั้งใจเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ก็แสร้งทำเป็นถือลัทธิหนึ่ง บุคคลจำพวกนี้จัดเป็นพวกอุบาทว์กาลีโลก เพราะเหตุที่ตนมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ หาได้มุ่งถึงประโยชน์ของราษฎรโดยทั่วไปไม่"
**************
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
เหตุการณ์สำคัญครั้งแรกที่ถือเป็นการท้าทายระบอบประชาธิปไตยที่นำมาสู่สังคมสยามในเวลานั้น คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ซึ่งเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 โดยความสนับสนุนของคณะราษฎรกลุ่มทหารที่นำโดย พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ทำรัฐประหารเงียบหรือที่เรียกกันว่า "รัฐประหารด้วยปากกาด้ามเดียว" สั่งปิดสภาโดยไม่มีกำหนด พร้อมกับประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราโดยพลการ
นอกจากนั้นยังมีคำสั่งเนรเทศนายปรีดีไปยังประเทศฝรั่งเศส และออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรก ด้วยความมุ่งหมายที่จะทำลายคณะราษฎร เพราะเข้าใจกันว่านายปรีดีเป็นมันสมองของคณะราษฎร และแผนต่อไปก็คือการจับกุมคณะราษฎรมาลงโทษฐานกบฏ ท่ามกลางความไม่พอใจของสมาชิกคณะราษฎรกลุ่มที่สนับสนุนนายปรีดี
แต่แล้วนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายทหารอาวุโส ก็รวมรวมกำลังทหารยึดอำนาจคืน และสั่งเนรเทศพระยามโนฯไปยังปีนัง กระทั่งถึงแก่อสัญกรรม
วันที่ 20 มิถุนายน 2476 นายปรีดี พนมยงค์ เดินทางกลับประเทศ และได้เข้าร่วมบริหารราชการแผ่นดินกับคณะราษฎร ผลงานสำคัญหลังจากนั้นคือ การมอบคืนอำนาจนิติบัญญัติให้แก่ราษฎรอย่างสมบูรณ์ ตามรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 โดยยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 (ที่มาจากการแต่งตั้ง) และให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข และสิทธิในการที่จะนิยมลัทธิการเมืองใดๆ ก็ได้
ทว่าอุบัติการณ์ที่ยังความโศกาดูรโทมนัสมาสู่อาณาประชาราษฎร ภายหลังจากสิ้นสุดของสงครามใหญ่ ขณะที่ประเทศกำลังจะก้าวไปสู่หนทางอันรุ่งโรจน์ ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยที่บริหารราชการแผ่นดินภายใต้พระปรมาภิไธยแห่งยุวกษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489
นายปรีดีและคณะรัฐมนตรีได้ขอความเห็นชอบต่อสภาว่า ผู้ที่จะขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ควรได้แก่สมเด็จพระอนุชา เมื่อสภามีมติเห็นชอบ นายปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 11 มิถุนายน 2489 ทั้งที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ด้วยเหตุผลว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแต่งตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้สวรรคตเสียแล้ว
แต่ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็สนับสนุนให้นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นสมัยที่ 3.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 4-10 กรกฎาคม 2552