Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (24)

15 พฤษภาคม กองกำลังทหารรัฐบาลใน "พื้นที่ใช้กระสุนจริง"

15 พฤษภาคม ฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดงขยายแนวป้องกันจากยางรถยนต์ ที่เกิดขึ้นตามจุดปะทะต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่แยกราชประสงค์ ซึ่งช่วงเวลาเปลี่ยนวัน คือในเวลา 00.00 น. นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ร่วมก่อตั้งและสมาชิกระดับแกนนำของ "กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย" ที่ถือกำเนิดขึ้นคัดค้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเคยถูกวางตัวเป็นแกนนำชุดที่ 2 ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลัง "กรณีสงกรานต์เลือด 2552" แถลงว่ามีการปะทะกันอีกบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง สามารถนำพาร่างผู้เสียชีวิตออกมาได้ 3 คน มีการเผายางเป็นหย่อมๆ "มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดแล้ว ราวกับสงครามกลางเมือง ผมเห็นศพถูกนำส่งราชวิถีจนสมองเครียด พยายามจะเข้าไปราชประสงค์ ชูบัตรนักข่าว มันกลับชูปืน M16 บอกว่าไม่ให้เข้าอันตรายถึงชีวิต ผมเห็นนักข่าวคนหนึ่งถูกหามใส่เปลตะโกนบอกว่ายิงกูทำไมกูเป็นนักข่าว"

จากนั้นในเวลา 00.30 น. เกิดเหตุรถตู้โตโยต้าคอมมิวเตอร์สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ขับมาบนถนนราชปรารภ มุ่งหน้าไปทางดินแดงด้วยความเร็วสูง เมื่อวิ่งมาถึงบริเวณสถานีแอร์พอร์ตเรลลิงก์มักกะสัน ทหารประจำด่านตรวจ ส่งสัญญาณให้หยุดรถ แต่รถตู้คันดังกล่าวไม่ยอมหยุด เจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงยางรถ แต่รถยังคงไม่หยุดวิ่ง ทหารจึงตัดสินใจระดมยิงด้วยกระสุนจนรถพรุนไปทั้งคัน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสามราย ประกอบด้วยคนขับรถตู้, เด็กชายวัย 10 ปี และคนขับรถแท็กซี่อีก 1 คน ที่รอรถกลับบ้านบริเวณดังกล่าว ถูกยิงเข้าที่ลำตัวบาดเจ็บสาหัส

ช่วงเวลาจากประมาณเที่ยงคืนจนถึงรุ่งเช้า มีรายงานผู้ร่วมชุมนุมและประชาชนบางส่วนที่ใช้เส้นทางสัญจรเพื่อเดินทางกลับที่พักหลังจากเลิกงานสำหรับงานที่เลิกงานดึก และมีความจำเป็นต้องผ่านพื้นที่ล่อมแหลมตามที่ ศอฉ. ประกาศ ถูกยิงและซุ่มยิงเป็นระยะ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) รายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 157 ราย ถูกนำตัวส่งรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ 15 แห่ง ในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บสาหัสต้องเข้าห้องไอซียู 7 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะรอบบริเวณการชุมนุม เพิ่มขึ้นจากเดิม 10 ราย เป็น 17 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ราย นำส่งโรงพยาบาลราชวิถี 3 ราย และโรงพยาบาลพญาไท 1 อีก 3 ราย ทั้งนี้มีผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวต่างชาติ 3 ราย

เวลา 07.30 น. มีคำแถลงจากนายบัน คีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แสดงความเสียใจต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่มีการสูญเสียชีวิตของประชาชนเกิดขึ้น พร้อมทั้งเรียกร้องทุกฝ่ายในประเทศไทย หลีกเลี่ยงความรุนแรงและความสูญเสีย

นายจตุพร พรหมพันธุ์ เปิดการแถลงข่าวช่วงสายวันเดียวกัน เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการกับกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้ประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เห็นว่า เหตุการณ์ขณะนี้ได้มาไกลกว่าที่จะมีการเจรจาแล้ว ทางออกเฉพาะหน้าคือนายกรัฐมนตรีต้องลาออก และตั้งบุคคลเกิดขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการเท่านั้น หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าล้อมปราบคนเสื้อแดง เหตุการณ์จะยกระดับความรุนแรงเหมือนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เวลา 13.10 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เจ้าหน้าที่หยุดยิงและถอนกำลังออกจากพื้นที่ทันที เหมือนเช่นเหตุการณ์การสลายการชุมนุม 10 เมษายน เพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตของประชาชน เพราะยิ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่ถือเป็นความพ่ายแพ้ของประเทศ หลังจากรัฐบาลสั่งการให้ฝ่ายทหารหยุดยิงแล้ว จึงจะเข้าสู่กระบวนการเจรจาอีกครั้งกันต่อไป เพราะการที่รัฐบาลใช้วิธีการตั้งด่านสกัดรอบพื้นที่การชุมนุมในเวลานี้ เหมือนเป็นการสลายการชุมนุมไปในตัว โดยจะยิ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายมากขึ้นและใกล้สงครามกลางเมืองเข้ามาทุกที เนื่องจากแกนนำไม่ทราบความเป็นไปตามจุดต่างๆและไกลเกินความควบคุม ไม่สามารถพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้

นายณัฐวุฒิแถลงอีกด้วยว่าจากเหตุการณ์การใช้อาวุธตลอดช่วงเช้า โดยเฉพาะบริเวณแยกดินแดงและถนนราชปรารภ ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 7 ราย โดยเจ้าหน้าที่ได้นำศพไปเก็บไว้ที่วัดตะพาน ซอยราชปรารภ 27 ใกล้แยกดินแดง โดยไม่อนุญาตให้คนเสื้อแดงรับศพกลับ โดยทางแกนสนำ นปช. ขอร้องสื่อสารมวลชน ช่วยตรวจสอบที่วัดตะพาน เนื่องจากเกรงว่ารัฐบาลอาจทำลายหลักฐาน ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง นอกจากนั้นยังแจ้งในช่วงท้ายการแถลงข่าวว่าการ์ดคนเสื้อแดงพบวัตถุระเบิดซุกซ่อนอยู่ในสวนลุมพินี ซึ่งได้แจ้งให้พลตำรวจตรีวิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาลรับทราบเพื่อเข้าตรวจสอบและเก็บกู้แล้ว

นอกจากนี้ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทหารสลายการชุมนุมของ นปช. หลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีจำนวนผู้ชุมนุมน้อย ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย เจ้าหน้าที่ต้องถูกบังคับจิตใจให้เข่นฆ่าประชาชนคนไทยด้วยกัน ผลที่เกิดขึ้นคือชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนชาวไทยจำนวนมากที่ต้องสังเวยความหลงอำนาจของนายอภิสิทธิ์ไม่สามารถประเมินค่าได้

"วันนี้ผมคิดว่านายอภิสิทธิ์คงไม่มีความคิดมองประชาชนผู้ชุมนุมว่าเป็นคนไทยอีกแล้ว เพราะการกระทำที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและล้มตายของประชาชนชาวไทยหลายครั้ง ที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองในห้วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา คือสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่านายอภิสิทธิ์ไม่มีความปราณีต่อคนไทยด้วยกัน และไม่ต้องการปรองดองเหมือนที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ผมผิดหวังกับผู้นำคนนี้เป็นที่สุด ดังนั้นถ้าหากนายอภิสิทธิ์คิดว่าคนเสื้อแดงที่ชุมนุมแยกราชประสงค์ไม่ใช่คน ไทย ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่ให้กำลังในคนเสื้อแดงซึ่งมีความคิดแตกต่างจากนายอภิสิทธิ์ก็ไม่ใช่คนไทยเช่นกัน หากจะถูกเข่นฆ่าเหมือนกับที่ประชาชนกำลังถูกกระทำก็คงไม่ต่างกัน แต่ถ้าหากคิดว่าทุกคนคือคนไทยนายอภิสิทธิ์ต้องสั่งหยุดสลายการชุมนุมทันที"

เวลา 22.48 น. มีรายงานข่าวว่า สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม กรรมการมหาเถรสมาคม แถลงขอบิณฑบาตชีวิตประชาชน โดยให้ยุติการฆ่าและให้อภัยกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เวลา 24.00 น. ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร รายงานรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ทหารกระชับพื้นที่การชุมนุม ของกลุ่มคนเสื้อแดง ตั้งแต่วันที่ 14-15 พฤษภาคม ว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 24 ราย และบาดเจ็บ 187 ราย


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 2-8 กรกฎาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (23)

14 พฤษภาคม เปิดฉากเส้นทางเลือดมุ่งสลายการชุมนุม

14 พฤษภาคม นับจากเวลา 12.00 น. เป็นต้นไป กำลังทหารปิดการจราจรจากบริเวณถนนสาทรเหนือมุ่งหน้าถนนพระรามที่ 4 และเริ่มเคลื่อนพลเข้าแยกวิทยุ ในระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ ขณะเดียวกันกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกส่วนหนึ่งเคลื่อนเข้าไปปิดล้อมและ พยายามตัดขาดกลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อประกาศว่านากยกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดฉากสงครามกลางเมือง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดความแตกแยกในกองกำลังความมั่นคง สถานทูตอเมริกันและอังกฤษปิดด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ราว 13.30 น. มีการปะทะกันระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี ทางฝ่ายเจ้าหน้ายิ่งด้วยอาวุธปืนลูกซอง ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงตอบโต้ด้วยประทัดยักษ์และพลุตะไล มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย จากการปะทะกันบริเวณหน้าสวนลุมไนท์บาซาร์ จากนั้นนับจากเวลา 14.00 น. สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศรายงานตรงกัน ว่า ฝ่ายทหารทหารยิงกระสุนจริงจากสวนลุม มีผู้สื่อข่าวต่างชาติ และนายสุบิน น้ำจันทร์ ช่างภาพหนังสือพิมพ์มติชน ถูกยิงบริเวณขาขวา ได้รับบาดเจ็บ

15.00 น. มูลนิธิร่วมกตัญญูรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายกลุ่ม นปช. ที่บริเวณหน้าบ่อนไก่ ใกล้สนามมวยลุมพินี ถนนพระรามที่ 4 มีผู้ถูกยิงมาส่งที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1 และเสียชีวิตแล้ว 1 คน คือ นายอินแตง เทศวงษ์ อายุ 33 ปี ถูกยิงเข้าที่หน้าอกด้านขวา

15.20 น. ทหารและกลุ่มคนเสื้อแดงยังมีการปะทะกันบริเวณแยกราชปรารภ เสียงปืนยังคงดังขึ้นเป็นระยะ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้ถอยร่นไปบริเวณแยกประตูน้ำ ถนนราชปรารภทั้งสองฝั่ง และบริเวณสถานีรถไฟฟ้าราชปรารภ

เจ้าหน้าที่ของศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 12 ราย จากเหตุการณ์ปะทะในช่วงเช้าระหว่างกองทัพและกลุ่มคนเสื้อแดง

จากนั้นในเวลา 15.35 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจโดย "คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ออกแถลงการณ์ 4 ข้อ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

  • 1. ยุติการใช้เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ พร้อมอาวุธสงครามร้ายแรง ทำการสลายการชุมนุมของประชาชนโดยทันที และสั่งให้เจ้าหน้าที่กลับกรมกองที่ตั้ง
    2. ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศในทุกจังหวัดโดยทันที
    3. เปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยทันทีเพื่อหาทางออกทางการเมืองโดยสันติวิธี
    4. ร่วมเจรจาหาแนวทางปรองดองอย่างแท้จริงกับทุกฝ่ายในชาติ เพื่อให้ประเทศชาติมีประชาธิปไตยและความยุติธรรม และประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้การปรองดองต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม เมตตาธรรม และความจริงใจ

จากนั้นในเวลา 16.10 น. แกนนำ นปช.แถลงมติของที่ประชุมแกนนำ เรียกร้องให้ทหารหยุดยิง ยกเลิกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ให้นายกรัฐมนตรียุบสภาทันที โดยไม่ให้นายอภิสิทธิ์ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ พร้อมทั้งให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในฐานะผู้อำนายการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ต้องเข้าสู่กระบวนยุติธรรมเช่นเดียวกับ นปช.

แต่แล้วคำตอบที่การชุมนุมคนเสื้อแดงได้รับจากรัฐบาลผ่านการปฏิบัติการของหน่วยกำลังในพื้นที่ภายใต้การดูแลสั่งการของ ศอฉ. ก็คือ ในเวลา 16.20 น. เจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการอยู่ที่แยกบ่อนไก่ ถนนพระรามที่ 4 ได้รุกคืบคุมพื้นที่อีกครั้ง ด้วยการกลับมาวางลวดหนามปิดล้อมเส้นทางเข้าออกพื้นที่การชุมนุมหลังจากกลุ่ม นปช. ได้รุกเข้ามานำออกไปก่อนหน้านี้ โดยตลอดเวลามีเสียงคล้ายปืนและประทัดดังอย่างต่อเนื่อง โดยยุทธวิธีของฝ่ายทหารในปฏิบัติที่อ้างว่า "เป็นการขอคืนพื้นที่" นั้นมีการใช้ใช้ทั้งกระสุนจริง และแก๊สน้ำตาเข้าเคลียร์พื้นที่ ทั้งนี้ในเวลา 16.40 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หน.ศอฉ. ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 93/2553 ประกาศห้ามเข้าถนนพระรามที่ 4 โดยผู้ฝ่าฝืน มีโทษจำคุก 2 ปี

เวลา 17.30 น. กำลังทหารเพิ่มกำลังเข้ายึดพื้นที่บริเวณประตูน้ำ ส่วนทางเวที นปช. นายณัฐวุฒิขึ้นปราศรัยเรียกร้องประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่การชุมนุม เข้าร่วมกดดันขับไล่นายอภิสิทธิ์ให้ยุบสภาโดยไม่อยู่รักษาการณ์ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และในเวลา 18.00 น. นายปริญญา เทวานฤมิตกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เมื่อครั้งเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ 2535" ได้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เสนอให้รัฐบาลหยุดยิง เปิดทางนปช.ยุติการชุมนุมด้วยตัวเองเอง แล้วเปิดการเจรจารอบใหม่ระหว่าง 2 ฝ่าย

ในเวลาใกล้เคียงกัน เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นหน้าเวทีคนเสื้อแดง โดยเกิดเสียงคล้ายปืนดังขึ้น และมีระเบิดควันขว้างลงมาหลังเวที ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 15 คน เวลา 18.40 น. กำลังทหารหน่วยหนึ่งพร้อมรถหุ้มเกราะเคลื่อนที่เข้าไปยังแยกศาลาแดง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าต่อต้านด้วยการขว้างขวด ระเบิดขวด และระเบิดควันเข้าใส่ ในขณะที่ฝ่ายทหารประกาศเตือนเตือนว่าจะนับหนึ่งถึงสามแล้วจะยิงทันที ซึ่งเมื่อสิ้นเสียงนับเสียงปืนจากฝ่ายทหารก็ดังขึ้น

เวลา 21.00 น. บริเวณถนนสาทร ปรากฏว่ากำลังทหารตั้งแนวป้องกันปิดถนน ไม่ให้ประชาชนผ่านเข้าไปยังถนนพระรามที่ 4 ตามประกาศของ ศอฉ. ทั้งนี้มีการยิงปืนเป็นระยะเข้าใส่ประชาชนที่ขับรถไปตามเส้นทางถนนสาทร ช่วงบริเวณแยกไฟแดงซอยสาทร 6 หน้าโรงแรมเอฟเวอร์กรีน ปรากฏว่ามีผู้ถูกยิงเข้าบริเวณตาตุ่มข้อเท้าด้านขวาได้รับบาดเจ็บไป 1 ราย เจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลตากสิน นอกจากนี้ ฝ่ายทหารยังใช้ปืนยิงขู่ประชาชนที่ขับรถเข้ามาตามถนนสาทร มุ่งหน้าถนนพระรามที่ 4 อีกด้วย

นายเพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ เปิดเผยว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เมื่อเวลา 22.00 น. มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 101 ราย เสียชีวิต 7 ราย ส่วนมากถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ศีรษะ ปาก และช่องท้อง ต่อมาสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีผู้บาดเจ็บ 125 ราย และเสียชีวิต 10 ราย ส่วนตามข้อมูลของเดอะเทเลกราฟนั้น ได้รายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 16 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 157 คน


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 25 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (22)

ความตายของเสธ.แดงและจำนวนศพที่เพิ่มขึ้นทุกที

วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงผลการประชุม ศอฉ.ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. เป็นประธาน ว่า ศอ ฉ.จำเป็นต้องใช้มาตรการกดดันผู้ชุมนุมเต็มรูปแบบ เริ่มต้นจากการไม่ใช้กำลัง โดยกำหนดให้มีการตัดน้ำ ตัดไฟ สัญญาณโทรศัพท์ ระบบสาธาณูปโภค การเดินทางสาธารณะต่างๆ ทั้งรถโดยสารมวลชน รถไฟฟ้า และการเดินทางทางน้ำ บริเวณคลองแสนแสบ เพื่อปิดการเข้าพื้นที่ชุมนุม 100% ตั้งแต่เที่ยงคืนเป็นต้นไป โดย ศอฉ. ต้องขออภัยประชาชนและคณะทูตานุทูตประเทศต่างๆที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ย้ำว่ามาตรการกดดันการเข้าพื้นที่ชุมนุมเต็มรูปแบบเป็นมาตรการขั้นเบาที่สุดแล้ว รวมทั้งได้ประสานกับผู้ประกอบการบริเวณดังกล่าวในเบื้องต้น ส่วนมาตรการหลังจากนี้ยังไม่ขอเปิดเผย

ทว่าในเวลาต่อมา พ.อ.สรรเสริญ ระบุว่า มาตรการดังกล่าวอาจจะไม่ได้ดำเนินการทันทีในเวลา 24.00 น. วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 และอาจจะเลื่อนเป็นวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ขึ้นอยู่กับการหารือกำหนดรายละเอียดและข้อสรุปให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากมีประชาชนทั่วไปโทรศัพท์เข้ามาสอบถามจำนวนมาก เพราะเกรงจะได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการนี้ ส่วนหนึ่งเกิดความวิตกกังวลเนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งโรงพยาบาล และสถานประกอบการใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก

เวลา 11.30 น. วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ พ.อ.สรรเสริญ แถลงผลการประชุม ศอฉ. ช่วงเช้าว่าการกำหนดมาตรการในการปิดล้อมสกัดกั้นพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์อย่างสมบูรณ์จะเริ่มขึ้นในเวลา 18.00 น. ซึ่งพื้นที่ปิดล้อมนี้จะเริ่มจากทางด้านเหนือตั้งแต่บริเวณแยกราชเทวีไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงแยกขึ้นทางด่วนเพชรบุรี ทางทิศใต้ตั้งแต่แยกทางขึ้นด่วนเพชรบุรีไปตามถนนวิทยุ จนกระทั่งสี่แยกถนนวิทยุ เรื่อยมาจนถึงถนนพระรามที่ 4 จนถึงแยกสามย่าน และขึ้นเหนือไปตามถนนพญาไทจนกระทั่งบรรจบจุดเริ่มต้นที่แยกราชเทวี ซึ่งเป็นลักษณะกรอบสี่เหลี่ยม การบริการสาธารณะทุกชนิดทั้ง ไฟฟ้า ประปา การจราจร รถประจำทาง เรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส (ไม่จอดรับส่งผู้โดยสารใน 4 สถานี คือ สถานีสยาม สถานีชิดลม สถานีเพลินจิตและสถานีราชดำริ และจะปิดให้บริการทุกสถานีเวลา 19.00 น.) และรถไฟฟ้าใต้ดิน (ไม่จอดรับส่งผู้โดยสารใน 2 สถานี คือ สถานีสีลมและสถานีลุมพีนี โดยปิดให้บริการทุกสถานีเวลา 22.00 น.) โดยคำสั่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 18.00 น. เป็นต้นไป

โฆษก ศอฉ. ย้ำในตอนท้ายว่าเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนหลักสากลจากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน ซึ่งรวมทั้งมีการใช้อาวุธกระสุนจริงเมื่อเหตุการณ์พัฒนาไปถึงจุดนั้น

ถัดมาในเวลา 12.00 น. ที่โรงแรมรามา การ์เดนส์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงว่าแผนปรองดองนั้นถูกยกเลิกไปแล้ว โดยรัฐบาลจะใช้มาตรการตัดน้ำ ตัดไฟ และเข้าเคลียร์พื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ให้เร็วที่สุด

แต่แล้ว สถานการณ์ที่เผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมที่นำโดยแกนนำ นปช. กับรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยกระดับความตึงเครียดเพิ่มขึ้น ขณะที่ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) พร้อมด้วยผู้ติดตาม เดินตรวจเยี่ยมการ์ด นปช. ตามด่านต่างๆ บริเวณแยกสีลม  ถูกกระสุนปืนความเร็วสูงยิงเข้าที่กะโหลกศีรษะทะลุออกท้ายทอย ระหว่างให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส

จากนั้นในเวลาประมาณ เวลา 22.45 น. กลุ่มคนเสื้อแดงที่รวมตัวกันอยู่ใต้สะพานไทย-เบลเยี่ยม ถนนพระราม 4 จำนวนกว่า 500 คน พากันเดินเลาะไปตามรั้วของสวนลุมพินี ไปตามถนนพระราม 4 เพื่อสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของทหารที่ปักหลักอยู่ภายในสวนลุมพินี โดยในระหว่างเดินไปก็ตะโกนด่า ระหว่างมีผู้ยิงแก๊สน้ำตาเข้ามาที่กลุ่มผู้ชุมนุม ตามมาด้วยเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดติดๆกัน ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงรีบหมอบลงกันพื้น ก่อนมีเสียงคนตะโกนว่ามีคนเจ็บจึงกรูเข้าไปดูก็พบว่ามีผู้บาดเจ็บเป็นชาย 2 คน

บริเวณแยกสวนลุมพินี ผู้ชุมนุมได้นำกรวยออกเพื่อเส้นทางสัญจร พร้อมทั้งขวางและผลักดันเจ้าหน้าที่ทหารไม่ให้ออกมาจากสวนลุมพินี หลังจากนั้นไม่นาน มีเสียงปืนดังติดต่อกันหลายนัด ขณะที่เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม มีผู้บาดเจ็บ 20 ราย หลังจากที่เจ้าหน้าที่เข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม บริเวณแยกศาลาแดง ประตู 2 สวนลุมพินี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการรื้อแผงจราจร ขว้างปาก้อนอิฐและสิ่งของ จำนวนหลายสิบราย ในจำนวนนี้ นายชาติชาย ชาเหลา เสียชีวิตจากบาดแผลถูกยิงเข้าที่ท้ายทอย

ทางด้านเวทีปราศรัยของแกนนำ นปช. บริเวณแยกราชประสงค์ ในเวลาประมาณ เวลา 23.30 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ขึ้นประกาศว่าขณะนี้มีคนเสื้อแดงตายเพิ่มขึ้นจากเหตุปะทะที่บริเวณสวน ลุมพินีแล้วอย่างน้อย 2 ศพ พร้อมกับเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกรายการโทรทัศน์ สั่งให้ทหารหยุดยิงทั้งหมดในคืนนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตของประชาชนอีก ขอให้พ่อแม่พี่น้องของนายอภิสิทธิ์ช่วยเตือนด้วย เพราะขณะนี้นายอภิสิทธิ์กำลังเดินเข้าสู่เส้นทางของทรราชย์แล้ว และขอร้องให้คนเสื้อแดงทั้งหมดบริเวณหน้าด่าน ขอให้ฟังนายด่าน และเข้ามาตรึงกำลังภายในพื้นที่ชุมนุม อย่าออกไปนอกพื้นที่ชุมนุม แต่หากมีการบุกเข้ามาก็ขอพร้อมเคียงบ่าเคียงไหล่สู้ตายด้วยกัน

วันที่ 14 พฤษภาคม เวลาประมาณ 09.40 น. ศูนย์เอราวัณสรุปเหตุการณ์ช่วงกลางคืนวันที่ 13 จนถึงตอนเช้าวันที่ 14 บาดเจ็บ 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย

ขณะเดียวกัน ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชียได้ ส่งจดหมายเปิดผนึกให้แก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย เพื่อเตือนให้หยุดใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ มิเช่นนั้นแล้วนายอภิสิทธิ์จะตกเป็นผู้รับผิดชอบตามมาตรา 25 (3) (a) ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ในการจงใจใช้กำลังจู่โจมผู้ชุมนุมที่เป็นประชาชนโดยตรง ซึ่งการใช้กำลังกับผู้ชุมนุม นปช. ที่ราชประสงค์นั้นถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อมาตราที่ 8 (2) (e) (i) ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ นอกจากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกการใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ชุมนุมแล้ว ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชียยังได้เสนอให้รัฐบาลไทยกลับมาใช้วิธีการเจรจากับผู้ชุมนุม เนื่องจากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่มีการสังหารผู้ชุมนุมเช่นวันที่ 10 เมษายน เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 18-24 มิถุนายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (2)

ตุลาการภิวัฒน์: คำวินิจฉัยเลือกตั้งโมฆะ

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงการเลือกตั้งซ่อมวันที่ 23 เมษายน 2549 ในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งเพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้เหตุผลไว้ 4 ประเด็นด้วยกัน คือ

1. คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ความเห็นในเรื่องการกำหนดระยะเวลาสำหรับการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง อันนำไปสู่การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม ขัดกับหลักการเรื่องความเป็นกลางในทางการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และขัดกับหลักการเรื่องการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

2. การจัดคูหาเลือกตั้งที่ผู้เลือกตั้งหันหน้าเข้าคูหาลงคะแนนและหันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับบุคคลภายนอกที่มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งหน้าหน่วย เป็นการละเมิดหลักการเรื่องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งซึ่งจะต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

3. พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผู้สมัครในทุกเขตทั่วประเทศว่าจ้างให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนด เป็นการละเมิดหลักการพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เพียงคงเดียวในเขตเลือกตั้งนั้น

4. คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติสั่งการ ออกประกาศ และออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวน เพื่อวินิจฉัยข้อปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้งตลอดจนการพิจารณาประกาศ และรับรองผลการเลือกตั้งไปโดยไม่มีการประชุมปรึกษาหารือ หรือมิได้มีการปรึกษาหารือกันโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งครบถ้วนตามอำนาจที่มีอยู่ และการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งมิได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมดโดยมติเอกฉันท์

วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงด้วยวาจาถึงผลการพิจารณากรณีปัญหาเกี่ยวกับความชอบ ว่ามีประเด็นที่ต้องลงมติ 2 ประเด็น คือ

1. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 8 คน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน คือ นายผัน จันทรปาน, นายจิระ บุญพจนสุนทร, นายนพดล เฮงเจริญ, นายมงคล สระฏัน, นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ และนายอภัย จันทนจุลกะ เห็นว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุตามคำร้อง ข้อ 1 และข้อ 2 และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน คือ นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง เห็นว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุตามคำร้อง ข้อ 2

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 6 คน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามคำร้องไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ นายจุมพล ณ สงขลา, นายมานิต วิทยาเต็ม, นายศักดิ์ เตชาชาญ, นายสุธี สุทธิสมบูรณ์, พลตำรวจเอกสุวรรณ สุวรรณเวโช และนายสุวิทย์ ธีรพงษ์ ทั้งนี้ นายมานิต วิทยาเต็ม ซึ่งวินิจฉัยว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่แถลงเหตุผลต่อที่ประชุมว่าให้มีการเพิกถอนผลการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

2. สำหรับประเด็นให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดการการเลือกตั้งจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่หรือไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน คือ นายผัน จันทรปาน, นายจิระ บุญพจนสุนทร, นายนพดล เฮงเจริญ, นายปรีชา เฉลิมวณิชย์, นายมงคล สระฏัน, นายมานิต วิทยาเต็ม, นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์, นายอภัย จันทนจุลกะ และนาย อุระ หวังอ้อมกลาง วินิจฉัยว่า ให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งและต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

จากนั้น นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใน ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จนนำไปสู่คำพิพากษาให้ กกต.ต้องโทษจำคุก และออกจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม มีการสรรหา กกต.ใหม่ และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549

ปฏิกิริยาในสังคมไทยท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองที่รวมศูนย์ไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วไป จนเป็นกระแสที่เพิ่มทวีความร้อนของอุณหภูมิทางการเมืองมากยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่ง นายธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนิสิตนักศึกษาและ 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ได้รับสมญาจากสื่อมวลชนช่วงปลายรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ปี 2544 ว่าเป็น "ขาประจำ" เนื่องจากเขียนบทความแสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของ พ.ต.ท. ทักษิณ อย่างค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ว่า "ธีรยุทธ" ชี้มรดกยุคทักษิณ หลังมีกกต.ใหม่-เลือกตั้ง การเมืองยัง 'วิกฤต' โดยมีใจความสำคัญในกรณีกระบวนการยุติธรรม ดังนี้

"พระราชดำรัส 25 เมษายน ต่อศาล ซึ่งถือเป็นพระราชวิสัยทัศน์สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เพราะทรงเปิดทางให้เกิดตุลาการภิวัฒน์ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของระบบการเมืองการปกครองของโลกปัจจุบัน...

ตุลาการภิวัฒน์เกิดเพื่อแก้ปัญหาลัทธิถือเลือกตั้งเป็นใหญ่ และเสริมประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเกือบทุกประเทศทั่วโลกแม้กระทั่งอังกฤษ ก็ได้หันมาใช้ตุลาการภิวัฒน์ (Judicial review) กันมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายประการ..."


จากนั้นสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ มีเหตุการณ์ที่ส่อว่าอาจมีการเตรียมการทำรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง เหตุการณ์ที่สำคัญ 2 เหตุการณ์คือ วันที่ 19 กรกฎาคม 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ออกคำสั่งโยกย้ายนายทหารระดับคุมกำลังจำนวน 129 นาย และนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้บริหารสื่อในเครือผู้จัดการได้ประกาศจะชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 20 กันยายน ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็ประกาศระดมพลชุมนุมเช่นกัน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 17-23 กันยายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย"
กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520


ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น.

จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนตรีรวม 18 คน ซึ่งในเวลาต่อมานายธานินทร์ได้ให้ความเห็นเปรียบเทียบไว้ว่า รัฐบาลเปรียบเสมือนเนื้อหอย มีเปลือกหอยซึ่งได้แก่ทหารเป็นผู้ให้ความคุ้มครอง จึงถูกสื่อมวลชนขนานนามให้ว่า "รัฐบาลหอย" พร้อมทั้งตั้งสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มีจำนวน 24 คน ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน มี พล.อ.อ กมล เดชะตุงคะ เป็นประธาน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.2519 ในวันที่ 22 ตุลาคม 2519 มี 29 มาตรา ให้มีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีสมาชิกจำนวน 340 คน แต่งตั้งเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2519

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีออกปราศรัยทางโทรทัศน์เน้นการแก้ปัญหาของประเทศ 4 ประการ คือ การค้ายาเสพติดให้โทษ การฉ้อราษฎร์บังหลวง ความยากจนของราษฎร และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไทย

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม กวาดล้างเอกสาร อาวุธ และสั่งจับประธานสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย รองประธานและเลขาธิการในข้อหาร่วมมือกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์รัชทายาทและก่อการจลาจล และอธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งถอนใบอนุญาตและสั่งงดการเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาและเจ้าของหนังสือพิมพ์รวม 13 ฉบับ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบเอกสารและสิ่งพิมพ์ ซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้แต่งตั้งขึ้น

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้ออกคำสั่ง 8 ข้อ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตนของข้าราชการพลเรือน ทหารและตำรวจ และให้หัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวง เรียกประชุมบุคคลระดับหัวหน้า ชี้แจงแนวปฏิบัติตามนโยบายของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

นอกจากนั้นยังมีคำสั่งยกเลิกองค์การนักศึกษา ห้ามมีกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสำรวจเงินฝากในธนาคารของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าจากยอดเงินหลายสิบล้านเหลือเพียง 3 ล้านบาทเศษ

ในเวลาต่อมา มีการวิเคราะห์กันเรื่องการยึดอำนาจของพลเรือเอกสงัดในวันที่ 6 ตุลาคม เวลา 18.00 น. ว่าเป็นการตัดหน้า พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ซึ่งถูกคำสั่งย้ายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2519 ให้ไปประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด และได้รับคำสั่งย้ายอีกครั้งในวันที่ 15 มิถุนายน 2519 ให้ไปช่วยราชการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะกระทำการในเวลา 22.00 น. ผลก็คือ พล.อ.ฉลาดถูกให้ออกจากราชการในวันที่ 10 ตุลาคม 2519 ด้วยเหตุผลว่าไม่ยอมไปรายงานตัวกับทางคณะปฏิรูปการปกครอง พล.อ.ฉลาดหลบภัยการเมืองด้วยการบวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ขณะที่เป็นพระก็ได้ติดต่อกับกลุ่มบุคคลทั้งพลเรือนและทหารระดับต่างๆ เพื่อเตรียมการปฏิวัติ ต่อมาในวันที่ 26 มีนาคม 2520 พลเอกฉลาดลาสึกจากเพศบรรพชิตในตอนเช้า

แต่ก่อนหน้านั้นในเวลา 05.00 น. วันที่ 26 มีนาคม 2520 ดำเนินการโดยทหารจำนวนหนึ่งประมาณ 300 คน ประกอบกำลังจากทหารกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี และจาก ร.19 พัน 1, 2 และ 3 เข้ายึดศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้าสนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ไว้ได้ โดยตั้งกองบัญชาการที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี มีนายทหาร 3 คนถูกควบคุมตัวไว้ คือ พล.อ.ประเสริฐ ธรรมศิริ รองผบ.ทบ. พล.อ.ประลอง วีระปรีย์ เสธ.ทบและ พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ผบ.พล.1

เวลา 09.15 น. กลุ่มผู้ก่อการออกประกาศในนามคณะปฏิวัติ อ้างชื่อ พล.อ.ประเสริฐ เป็นหัวหน้า ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลโดย พล.ร.อ. สงัด ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกประกาศแต่งตั้ง พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นผู้อำนวยการรักษาพระนคร เพื่อต่อต้านการปฏิวัติ

เวลา 10.15 น. ฝ่ายรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ชี้แจงสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อประชาชน โดยยืนยันว่ากำลังทหาร 3 เหล่าทัพและตำรวจยังเป็นของรัฐบาล พร้อมชี้แจงว่า พล.อ.ประเสริฐถูกบีบบังคับและแอบอ้างชื่อ

ในเวลาต่อมาการเจรจาของฝ่ายกบฏเพื่อให้นายทหารที่ถูกควบคุมเข้าร่วมก่อการ แต่นายทหารทั้ง 3 ปฏิเสธ ปรากฏตามคำให้การของพยานในห้องนั้น รวมทั้ง พ.ท.สนั่น ขจรประสาธน์ (ยศในขณะนั้น) พล.อ.ฉลาดใช้อาวุธปืนสังหาร พล.ต.อรุณ ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่โดยอ้างว่า พล.ต.อรุณเข้าแย่งปืน ขณะที่ยิ่งเวลาผ่านไปก็เป็นที่แน่ชัดว่านอกจากกำลังทหารที่นำมา ไม่ปรากฏกองกำลังในกรุงเทพ ฯ เข้าร่วมก่อการด้วย ฐานอำนวยการปฏิวัติที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกก็เริ่มถูกปิดล้อมจากรถถังของฝ่ายรัฐบาล จนถึงเวลา 13.30 น. การออกอากาศของฝ่ายกบฏก็ต้องยุติลง

จากนั้น พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็นเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินด้วย ได้เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ก่อการจนได้ข้อยุติ เวลา 20.30 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องการยินยอมให้บุคคลชั้นหัวหน้าของกลุ่มผู้ก่อการ 5 คนคือ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์ พ.ต.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ พ.ต.วิศิษฐ์ ควรประดิษฐ์ และ พ.ต.อัศวิน หิรัญศิริ บุตรชายของพลเอกฉลาดเดินทางออกนอกประเทศได้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัว พล.อ.ประเสริฐ กับ พล.อ.ประลอง

แต่แล้วในเวลา 21.00 น. ขณะที่ผู้ก่อการทั้ง 5 เดินทางถึงสนามบินดอนเมืองและได้ขึ้นไปนั่งรอบนเครื่องบินเพื่อเตรียมจะออกเดินทางไปประเทศไต้หวัน ทั้งหมดก็ถูกนำตัวลงมาและถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 13-19 มีนาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (21)

แผนปรองดองและความรุนแรงก่อนปฏิบัติการกระชับพื้นที่

สำหรับสถานการณ์การเจรจา 2 ฝ่ายระหว่าง แกนนำ นปช. กับรัฐบาลที่มีการดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม แต่ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ต่อมาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยเสนอการสร้างกระบวนการปรองดอง 5 ข้อ เพื่อนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน ซึ่งแผนปรองดองดังกล่าวมีองค์ประกอบดังนี้

  • 1. ประเทศไทยเราโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ยึดเหนี่ยวหลอมรวมคนไทยทั้งชาติ แต่น่าเสียดายที่มีคนกลุ่มหนึ่งดึงสถาบันกษัตริย์ลงมา มีความพยายามดึงสถาบันลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง การที่จะทำให้สังคมไทยเป็นปกติสุขต้องช่วยกันไม่ให้ดึงสถาบันกษัตริย์ลงมา แผนการคือ ทุกฝ่ายต้องลงมาช่วยกันทำงานเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานแก่ประชาชน ไม่ว่าเรื่องรู้รักสามัคคี อยากเชิญชวนทุกฝ่ายมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไม่ให้ถูกดึงมาเป็นเครื่องมือความขัดแย้งทางการเมือง
  • 2. การปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ไขความขัดแย้งอาจจะถูกมองว่าเป็นการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรมของเรื่องเศรษฐกิจ หลายคนที่มาชุมนุมอาจจะสัมผัสโดยตรงว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ขาดโอกาส ถูกรังแก สิ่งที่เราจะช่วยกันทำ คือ ไม่ปล่อยให้เป็นเหมือนในอดีตที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ที่ทำให้ระบบเกิดความไม่เป็นธรรม
  • 3. ในยุคปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร จริงอยู่ที่เราต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อำนาจของสื่อถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย แม้กระทั่งสถานีของรัฐก็ถูกกล่าวหาว่านำไปเสนอให้เกิดความขัดแย้ง สื่อต้องมีเสรีภาพ แม้จะมีอิสระในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จะไม่สร้างความขัดแย้งภายในประเทศ สร้างความเกลียดชังและนำไปสู่ความรุนแรง
  • 4. หลังจากชุมนุมเคลื่อนไหว มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงและสูญเสีย เกิดข้อสงสัยต่างๆนานา ไม่ว่าการสูญเสียเหตุการณ์ 10 เมษายน เหตุการณ์ที่สีลม หรือที่ดอนเมือง กระทบกระเทือนจิตใจประชาชน ทุกเหตุการณ์จำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น ต้องมีคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ และให้เกิดความเป็นจริงต่อสังคม
  • 5. เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แม้นักการเมืองจะเป็นคนกลุ่มเล็ก แต่เป็นตัวแทนของประชาชน ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนานกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมในหลายด้าน ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายบางฉบับ การลิดรอนสิทธิไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลิดรอน หรือการตัด หรือการเพิกถอนสิทธิ ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการเมือง ถึงเวลาเอามาวางและมีกลไกให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เรื่องรัฐธรรมนูญ จนถึงความผิดการชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่เกิดความรู้สึกไม่ยอมรับ

รุ่งขึ้นวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน แถลงผลการประชุมแกนนำ นปช.ที่เวทีการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ เกี่ยวกับข้อเสนอแผนการปรองดอง 5 ข้อของนายกรัฐมนตรี หลังใช้เวลาประชุมกว่า 2 ชั่วโมงว่า มีข้อสรุป 4 ข้อประกอบด้วย

  • 1. นปช.ยินดีรับข้อเสนอ แต่ขอให้รัฐบาลไปหาความชัดเจนมาก่อนว่าจะยุบสภาวันไหนคุยกันให้จบเสียก่อน
  • 2. นปช.ต้องการความจริงใจที่รัฐบาลสามารถแสดงออกได้ด้วยการยกเลิกการคุกคามทุกรูปแบบ
  • 3. นปช.ไม่ขอนิรโทษกรรมให้แก่ นปช.เองในข้อหาโค่นล้มสถาบันและการก่อการร้ายอย่างเด็ดขาดพร้อมสู้คดี
  • 4. ต้องยุติการนำสถาบันกษัตริย์ลงสู่ความขัดแย้งในทุกมิติ

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน แถลงบนเวทีปราศรัยว่า ขอให้ทางรัฐบาลไปหาความความชัดเจนในการยุบสภาต้องระบุวันให้ชัดเจนมาก่อน ทางแกนนำคนเสื้อแดงไม่ปฏิเสธเข้าร่วมกับแผนโรดแมพเพื่อป้องกันการบาดเจ็บล้มตาย ทั้งยืนยันว่าเรื่องการนิรโทษกรรม เรื่องการกล่าวหาความผิดก่อนหน้านี้ทางเสื้อแดงไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไข หากรัฐบาลกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงเป็นการก่อการร้ายรวมทั้งโค่นล้มสถาบัน ทางผู้ชุมนุมจะสู้ถึงที่สุด และขอให้เรียกร้องมาตรฐานเดียวกันกับคดีสั่งสังหารประชาชนในเหตุการณ์เดือนเมษายนจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมใดๆเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ขอให้ดีเอสไอรับไปเป็นคดีพิเศษแล้ว ดำเนินการต่อไป

แต่แล้วเหตุการณ์เลวร้ายที่ส่อเค้าความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลาประมาณ 22.45 น. คืนวันที่ 7 พฤษภาคม บริเวณแยกศาลาแดง เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนเฝ้าที่หน้า ธนาคารกรุงไทย สาขาย่อย อาคารซูลิก เฮ้าส์ ถนนสีลม ทำให้กระจกหน้าธนาคารกรุงไทยใกล้ตู้เอทีเอ็ม แตก 1 บาน มีรอยร้าว มีรูกระสุน 1 รู มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ได้แก่ ด.ต.วิสูตร บุญยังมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจปจ. สน.บางนา ถูกยิงบาดเจ็บที่หัวไหล่ซ้าย ส.ต.ท.กานต์นุพันธ์ เลิศจันทร์เพ็ญ เจ้าหน้าที่จร. เข้าเวร ปจ.สน.ทุ่งมหาเมฆ ถูกกระสุนยิงเข้าที่ท้อง บาดเจ็บสาหัส แพทย์นำเข้าห้องผ่าตัดช่วยเหลือเป็นการด่วน ด.ต.บรรจบ โยมา อายุ 40 ปี ผบ.หมู่สภ.เกาะทวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกยิงเฉี่ยวที่ข้อมือขวา ทั้งหมดถูกนำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม อีกรายเป็นชายไม่ทราบชื่อ อายุประมาณ 40 ปี รูปร่างท้วม ถูกกระสุนเจาะที่เหนือหัวเข่าซ้าย ถูกนำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

จากนั้นในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 8 พฤษภาคม มีรายงานข่าวว่า ส.ต.ท.กานต์นุพันธ์ เลิศจันทร์เพ็ญ เสียชีวิตเนื่องบาดแผลที่ถูกยิง

เวลา 01.30 น. เกิดเหตุระเบิดที่บริเวณทางเข้าสวนลุมพินี ประตู 4 ถนนพระรามที่ 4 ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นด่านตรวจของตำรวจและทหาร จำนวน 3 ครั้ง เบื้องต้นคาดว่าเป็นชนิดเอ็ม 79 มีตำรวจชุดปราบจลาจล สภ.หางน้ำสาคร จ.ชัยนาท ได้รับบาดเจ็บ 4 นาย และทหาร 3 นาย จากค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ร.23 พ.1 จังหวัดนครราชสีมา จากการตรวจสอบวิถีกระสุนในเบื้องต้น คนร้ายน่าจะยิงวิถีโค้ง ข้ามสะพานลอย มาจากทางด้านแยกศาลาแดง

ต่อมาในเวลา 05.00 น. จ.ส.ต.วิทยา พรหมสาลี เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่บริเวณหน้าอกขวา เลือดตกใน ได้เสียชีวิตลง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 11-18 มิถุนายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (1)

ผ่าทางตันรัฐบาลเลือกตั้ง 2548-2549

ท่ามกลางที่อุณหภูมิการเมืองเริ่มร้อนระอุ ภายหลังการคัดค้าน โจมตีการบริหารราชการแผ่นดินอย่างกว้างขวางนับจากช่วงปลายรัฐบาลไทยรักไทยที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 กระทั่งการเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 โดยพรรคไทยรักไทยของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่รวมพรรคต่าง ๆ อันได้แก่ พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคกิจสังคม, พรรคเสรีธรรม, พรรคเอกภาพ เข้ากับไทยรักไทยก่อนหน้านั้น ได้เบอร์ 9 ใช้สโลแกนหาเสียงว่า "4 ปีสร้าง 4 ปีซ่อม" ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ได้ 377 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคชาติไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้เบอร์ 1 หาเสียงด้วยสโลแกน "สัจนิยม" ได้ 26 ที่นั่ง ต่อมาภายหลังได้เป็นฝ่ายค้าน ส่วนฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ ได้เบอร์ 4 หาเสียงด้วยสโลแกน "ทวงคืนประเทศไทย" ได้ 96 ที่นั่ง แต่พื้นที่ภาคใต้ได้ถึง 52 ที่นั่ง จากทั้งหมด 54 ที่นั่ง และพรรคมหาชน ได้เบอร์ 11 ซึ่งเพิ่งก่อตั้งก่อนหน้าการเลือกตั้ง ได้เพียง 3 ที่นั่ง

บทความจากหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ในเวลานั้นเขียนไว้ว่า "พ.ต.ท .ทักษิณได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทรงอำนาจที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือกตั้งผู้นำประเทศมา" หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยที่ดำรงตำแหน่งในวาระครบ 4 ปี และชนะการเลือกตั้งได้รับเสียงข้างมากอย่างสมบูรณ์ในสภามากที่สุดเป็นครั้ง แรกของการเลือกตั้งปกติ

แต่แล้วในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีนักวิชาการบางกลุ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าอยู่ภายใต้ "ระบอบทักษิณ" คือ ละเลยเจตนารมณ์ประชาธิปไตย พัวพันกับผลประโยชน์แอบแฝงและทับซ้อนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวงจนเกิดวาทกรรม "คอร์รัปชันเชิงนโยบาย" นอกจากนี้ยังไม่สามารถควบคุมความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการกวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติดในปี 2546 ที่สื่อมวลชนกระแสหลักและองค์กรพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) สร้างวาทกรรม "ฆ่าตัดตอน" จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 2,500 คน

กลุ่มพลังทางการเมืองในฟากตรงข้ามกับรัฐบาลพรรคไทยรักไทยต่างๆ ดังกล่าว อาศัยวาทกรรม "ระบอบทักษิณ" สร้างความชอบธรรมในการขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการเคลื่อนไหวนอกสภาเป็นขบวนการและเป็นระลอก และขึ้นสู่กระแสสูงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 เมื่อนายสนธิ ลิ้มทองกุล นำประชาชนที่ชุมนุมประท้วงหลายหมื่นคนบริเวณพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต ประกาศ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ "พระราชทานผู้นำในการปฏิรูปการเมือง" โดยอ้างมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

นอกจากนั้นในระหว่างการประท้วงในคืนวันที่ 4 ต่อเนื่องถึงรุ่งเช้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549 นายสนธิขอเข้าพบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกโดยเรียกร้องให้ "ทหารออกมายืนข้างประชาชน"

ตามมาด้วยการประกาศตัวเป็นทางการของ "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์

จากความขัดแย้งทางการเมืองและการเคลื่อนไหวกดดันส่งผลให้การบริหารประเทศของรัฐบาลเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในที่สุด พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงประกาศยุบสภาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 ทั้งนี้พรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์, ชาติไทย, มหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขัน

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้ แทนราษฎรครั้งที่ 24 วันที่ 2 เมษายน 2549 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 29,088,209 คน (64.77%) คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 44,909,562 คน มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน (โนโหวต) 9,051,706 คน (คิดเป็น 31.12%) มีบัตรเสีย จำนวน 1,680,101 ใบ (คิดเป็น 5.78%) บัตร และมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 28,998,364 คน (64.76%) คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 44,778,628 คน มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน (โนโหวต) 9,610,874 คน (คิดเป็น 33.14 %) มีบัตรเสีย จำนวน 3,778,981 ใบ (คิดเป็น 5.78%)

พรรคไทยรักไทยได้รับที่นั่งในรัฐสภาถึง 460 ที่นั่ง ด้วยคะแนนเสียง 56% ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวอ้างว่าได้รับเสียงถึง 16 ล้านเสียง แต่จากผลการเลือกตั้งนั้นปรากฏว่ามีผู้สมัครหลายเขตที่มีคะแนนเสียงไม่เกิน ร้อยละ 20 ตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ วันที่ 23 เมษายน 2549 จำนวน 40 เขตเลือกตั้ง ใน 17 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดตรัง จังหวัดปัตตานี จังหวัดพังงา จังหวัดสตูล จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดกระบี่

2 วันหลังจากการจัดการเลือกตั้งซ่อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะผู้พิพากษาในวันที่ 25 เมษายน 2549 ความว่า "ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้"

สำหรับการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 กรณีการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ วันที่ 23 เมษายน 2549 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งเพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดการพิจารณาวินิจฉัยในวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม 2549.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 10-16 กันยายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (51)

ฉากชุ่มเลือดและคราบน้ำตา ใจกลาง "เกาะรัตนโกสินทร์"

07.00 น. กลุ่มคนติดอาวุธหลากชนิดที่ปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไว้ทุกด้าน โดยเฉพาะด้านสนามหลวงตั้งแต่ตอนตีหนึ่งพยายามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยโดยใช้รถบัสสองคันขับพุ่งเข้าชนประตูด้านหน้าหอประชุมใหญ่ ต่อมาก็มีเสียงระเบิดดังขึ้น

ไม่ถึง 1 ชั่วโมงหลังจากนั้น ตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) และตำรวจท้องที่ ล้อมอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย โดยมี พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ และพล.ต.ต.ยุทธนา วรรณโกวิท มาถึงที่เกิดเหตุและเข้าร่วมบัญชาการ

หลัง 8 นาฬิกาเป็นต้นไป พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ บัญชาการให้ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) อาวุธครบมือบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสภาพที่มีอาวุธสงครามเต็มพิกัด ตั้งแต่เครื่องยิงระเบิด ปืนต่อสู้รถถัง ปืนเอ็ม 79 ปืนเอ็ม 16 ปืนเอช.เค. และปืนคาร์บิน ตำรวจหลายนายมีระเบิดมือในสภาพพร้อมใช้งาน เสียงปืนดังรุนแรงตลอดเวลา ตำรวจประกาศให้นักศึกษายอมจำนน นักศึกษาหลายคนพยายามวิ่งออกมาข้างนอก จึงถูกประชาชนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์ นักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมอยู่ข้างในแตกกระจัดกระจายหลบหนีกระสุน

ในเวลาไล่เลี่ยกัน มีกำลัง ตชด. เข้ามาเสริมและเข้าประจำการแทนตำรวจท้องที่ เมื่อวางแนวจู่โจมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยหลายจุด พร้อมกับยิงกระสุนวิถีโค้ง และยิงกราดเข้าไปยังกลุ่มนักศึกษาซึ่งมีอยู่จำนวนมาก มีนักศึกษาถูกยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตทันทีหลายคน (พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 7 ตุลาคม 2519) นักศึกษาและประชาชนที่กำลังตกเป็นเป้านิ่งในสภาพมือเปล่าพากันกระจายกันหนี ตายจากวิถีกระสุนที่ ตชด. และกลุ่มคนที่เข้าก่อเหตุได้ยิงเข้าใส่ฝูงชนอย่างไม่ยั้ง ทั้งๆ ที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของนักศึกษามีปืนพกเพียงไม่กี่กระบอก

นักศึกษาประชาชนที่แตกตื่นวิ่งหนีออกไปทางหน้าประตูมหาวิทยาลัยในจำนวนนี้มี มากกว่า 20 คนถูกรุมตีรุมกระทืบ บางคนถูกลากออกไปแขวนคอทั้งเป็น ในภาพถ่ายจากสำนักข่าวต่างประเทศภาพหนึ่ง จับไปที่เด็กชายก่อนวัยรุ่นกำลังยืนหัวเราะชอบใจกับภาพการทำร้ายศพเหยื่อ ความบ้าคลั่งของกลุ่มที่ประกาศตัวว่ารักชาติและเทิดทูนสถาบันหลักทั้งสาม

นักศึกษาหญิงคนหนึ่งถูกรุมตีจนขาดใจ แล้วถูกเปลื้องเสื้อผ้าประจาน โดยมีชายคนหนึ่งรูดซิปกางเกงออกมาแสดงท่าจะข่มขืนหญิงผู้เคราะห์ร้ายนั้นให้พวกพ้องที่โห่ร้องอยู่ใกล้ๆ ดู

ประชาชนที่ชุมนุมอยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัย ลากศพนักศึกษาที่ถูกทิ้งอยู่เกลื่อนกลาดข้างหอประชุมใหญ่ 3 คนออกมาเผากลางถนนราชดำเนิน ตรงข้ามอนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผม ใกล้ๆ กับบริเวณแผงขายหนังสือสนามหลวง โดยเอายางรถยนต์ทับแล้วราดน้ำมันเบนซินจุดไฟเผา ศพนักศึกษาอีก 1 ศพถูกนำไปแขวนคอไว้กับต้นมะขามแล้วถูกตีจนร่างเละ

*******************************

รายงานจากบันทึกของผู้สื่อข่าวต่างประเทศในช่วงนั้นได้รับการตีแผ่ไปทั่วโลก เช่น (จาก www.2519.net/newweb/doc/histry/1.doc)

นีล ยูลิวิค ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่อยู่ในเหตุการณ์ได้รายงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เดอะ รียิสเตอร์ วันที่ 8 ตุลาคม 2519 ว่า "ด้วยความชำนาญในการสื่อข่าวการรบในอินโดจีนแล้ว ข้าพเจ้าสามารถบอกได้ว่าเสียงปืนที่ได้ยินนั้น 90% ยิงไปในทิศทางเดียวกัน คือยิงใส่นักศึกษา บางครั้งจึงจะมีกระสุนปืนยิงตอบมาสักนัดหนึ่ง"

เลวิส เอ็ม ไซมอนส์ รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ ซานฟรานซิสโก ครอนิเกิล วันที่ 7 ตุลาคม 2519 ว่า "หน่วยปราบปรามพิเศษต่างก็กราดปืนกลใส่ตัวอาคารและส่วนอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย พวกแม่นปืนที่ได้รับการฝึกมาเป็นพิเศษใช้ปืนไรเฟิลแรงสูงยิงเก็บเป็นรายตัว ตำรวจพลร่มกลุ่มหนึ่งสวมหมวกเบเรต์ดำ เสื้อแจ๊คเก็ตดำคลุมทับชุดพรางตาสีเขียวได้ยิงไปที่อาคารต่างๆ ด้วยปืนไร้แรงสะท้อนยาว 8 ฟุต ซึ่งปกติเป็นอาวุธต่อสู้รถถัง ส่วนตำรวจคนอื่นๆ ก็ยิงลูกระเบิดจากเครื่องยิงประทับไหล่ ไม่มีเวลาใดเลยที่ตำรวจจะพยายามให้นักศึกษาออกมาจากที่ซ่อนด้วยแก๊สน้ำตา หรือเครื่องควบคุมฝูงชนแบบมาตรฐานอื่นๆ" ไซมอนส์ได้อ้างคำพูดของช่างภาพตะวันตกคนหนึ่งที่ชาญสนามมา 4 ปีในสงครามเวียดนาม ซึ่งกล่าวว่า "พวกตำรวจกระหายเลือด มันเป็นการยิงที่เลวร้ายที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมา"

สำนักข่าวเอพี (แอสโซซิเอเต็ด เพรส) รายงานจากผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยว่า นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ถูกล้อมยิงและถูกบุกทำร้ายจากพวกฝ่ายขวาประมาณ 10,000 คน ตำรวจระดมยิงด้วยปืนกลใส่นักศึกษาที่ถูกหาว่าเป็นฝ่ายซ้าย นักศึกษา 2 คนถูกแขวนคอและถูกตีด้วยท่อนไม้ ถูกควักลูกตา และถูกเชือดคอ

หนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิส ไทมส์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตีพิมพ์รายงานจากผู้สื่อข่าวของตนในกรุงเทพฯ ว่า กระแสคลื่นตำรวจ 1,500 คนได้ใช้ปืนกลระดมยิงนักศึกษาในธรรมศาสตร์ พวกฝ่ายขวาแขวนคอนักศึกษา 2 คน จุดไฟเผา ตีด้วยท่อนไม้ ควักลูกตา เชือดคอ บางศพนอนกลิ้งกลางสนามโดยไม่มีหัว

หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 รายงานว่ามีนักศึกษาอย่างน้อย 4 คนพยายามหลบรอดออกมาข้างนอกมหาวิทยาลัย แต่แล้วก็ถูกล้อมกรอบด้วยพวกตำรวจและพวกสนับสนุนฝ่ายขวาเข้ากลุ้มรุมซ้อมและทุบด้วยท่อนไม้จนถึงแก่ความตาย นักศึกษาบางคนมีเลือดไหลโชกศีรษะและแขน เดินโซเซออกมาจากมหาวิทยาลัยแล้วก็ล้มฮวบลง

สำนักข่าวอินเตอร์นิวส์ ผู้พิมพ์วารสารอินเตอร์เนชั่นแนล บุลเลทิน รายงานว่าตำรวจได้ใช้ปืนกล ลูกระเบิดมือ ปืนไร้แรงสะท้อน ระดมยิงนักศึกษาในมหาวิทยาลัย นักศึกษาหลายคนถูกจับตัวและถูกราดน้ำมันเบนซินแล้วจุดไฟเผา คนอื่นๆ บ้างก็ถูกซ้อม บ้างก็ถูกยิงตาย "ผู้อยู่ในธรรมศาสตร์ขอร้องให้ตำรวจหยุดยิง ตำรวจก็ไม่หยุด ขอให้หยุดชั่วคราวเพื่อให้ผู้หญิงที่อยู่ในมหาวิทยาลัยมีโอกาสหนีออกไป ตำรวจก็ไม่ฟัง"

*******************************

12.00 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์สรุปได้ว่า 1.เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสยามมกุฎราชกุมารได้แล้ว 6 คน จะดำเนินการส่งฟ้องศาลโดยเร็ว 2.เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมสถานการณ์การปะทะกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว 3.รัฐบาลได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด ขณะเดียวกับที่มีกลุ่มลูกเสือชาวบ้านและประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนชุมนุมอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีการพูดกลางที่ชุมนุมโดยนายอุทิศ นาคสวัสดิ์ ให้ปลดรัฐมนตรี 4 คน คือ นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ นายชวน หลีกภัย และนายวีระ มุสิกพงศ์.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 6-12 มีนาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (20)

สถานการณ์อนุสรณ์สถานแห่งชาติและวิกฤตโรงพยาบาลจุฬาฯ

เวลาประมาณ 09.30 น. วันที่ 28 เมษายน 2553 นายขวัญชัย ไพรพนา หนึ่งในแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ประกาศภายหลังการประชุมแกนนำว่า ในเวลา 10.30 น. จะเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปให้กำลังใจมวลชนคนเสื้อแดงที่ปักหลักอยู่ที่ตลาดไท โดยให้มวลชนเสื้อแดงที่ต้องการจะร่วมขบวนไปรวมตัวที่ศาลาแดงแล้วร่วมเดินทางไปกับรถปิคอัพจำนวน 150 คัน เหตุผลสำคัญคือได้รับการรายงานข่าวว่าจะมีการขนอาวุธเข้ามาในกรุงเทพฯเพื่อสลายการชุมนุมและปราบคนเสื้อแดง การเคลื่อนขบวนครั้งนี้จึงเป็นภารกิจในการเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมที่จะสกัดกั้น

เวลา 13.00 น. คนเสื้อแดงเคลื่อนขบวนถึงฐานทัพอากาศดอนเมือง ปรากฏว่ามีด่านสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอยู่ในสภาพเตรียมพร้อม ตั้งแนวพร้อมอุปกรณ์ปราบจลาจล นายขวัญชัยได้สั่งให้ขบวนหยุด และให้หน่วยมอเตอร์ไซค์โฉบเข้าไปสังเกตการณ์ โดยกำชับให้ถอนตัวอย่างเร็ว ทั้งสองฝ่ายวางกำลังประจันหน้ากันในระยะห่างประมาณ 2 กิโลเมตร ทั้งนี้ฝ่ายทหารทหารประกาศขอความร่วมกับสื่อมวลชนให้ถอนตัวออกนอกพื้นที่ปฏิบัติงาน หลังจากนั้นกลุ่มคนเสื้อแดงเคลื่อนขบวนออกจากหน้าฐานทัพอากาศดอนเมืองมุ่งหน้าสู่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ซึ่งเปิดการเจรากันอีกครั้งหนึ่งแต่ไม่สามารถทำความตกลงเปิดทางได้ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ยิงกระสุนยางเข้าใส่ทำให้ผู้ชุมนุมต้องถอยร่น

ขณะเดียวกันที่เวทีการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ได้ขึ้นปราศรัยและประกาศขอให้ผู้ชุมนุมไม่ต้องตกใจกับสถานการณ์ที่ดอนเมืองและรังสิต พร้อมกับแจ้งมติแกนนำผ่านไปยังนายขวัญชัยให้นำมวลชนเดินทางกลับมาตั้งหลักที่ราชประสงค์ร่วมประชุมกับแกนนำทั้งหมดเพื่อกำหนดท่าทีต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่แล้วในเวลา 14.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเริ่มปฏิบัติการรุกคืบหน้าในพื้นที่ที่ยันกันอยู่บริเวณอนุสรณ์สถานฯ มีการจับกุมผู้ชุมนุมบริเวณโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยากว่า 10 คน

ตามมาในเวลา 14.40 น. เจ้าหน้าที่ทหารเริ่มยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมหลายสิบนัดตั้งแต่อนุสรณ์สถานแห่งชาติถึงโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยาดอนเมือง ขณะที่ประชาชนที่จอดรถสัญจรไปมาบนถนนวิภาวดีรังสิตได้ลงมาจากรถเพื่อหาที่ปลอดภัยหลบกระสุนยางของเจ้าหน้าที่

เสียงปืนจากฝ่ายเจ้าหน้าที่สงบลงในเวลาประมาณ 15.00 น.

เวลา 16.10 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์บริเวณหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติว่า จากรายงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเบื้องต้น มีผู้บาดเจ็บ 16 ราย ในจำนวนนี้ 10 รายส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีสาหัส 1 รายบาดเจ็บที่ช่องทองต้องเข้ารับผ่าตัด และอีก 3 ราย เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ซึ่งก็มีสาหัส 1 รายที่ต้องผ่าตัดจากบาดแผลถูกยิงที่หน้าอก

จนถึงเวลา 17.00 น. ที่ถนนวิภาวดี 47 ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารพยายามผลักดันผู้ชุมนุมรอบที่ 2 ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารชุดเคลื่อนที่เร็วขับรถมอเตอร์ไซค์ลงมาจากโทลล์เวย์ทำให้เจ้าหน้าที่ทหาร ทางด้านล่างเกิดการเข้าใจผิดยิงปืนกระสุนจริงและกระสุนยางเข้าใส่จนทำให้ทหารบาดเจ็บ 1 นาย คือ พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ขณะที่ทหารบางส่วนได้ถอยร่นกลับไปที่หน้าโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยาดอนเมือง ฝั่งขาออกซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 1 ช่องทาง เพื่อให้รถขาออกได้เคลื่อนตัวไปได้

สำนักข่าวต่างประเทศ เช่น ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีรายงานเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณเปิดเผยมีจำนวนผู้ชุมนุมบาดเจ็บอย่างน้อย 16 รายระหว่างการปะทะกัน ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 ราย จากกระสุนปืนของทหารอีกหน่วยหนึ่งจากการเข้าใจผิด

ความตึงเครียดระหว่างผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่นำโดย แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน กับฝ่ายรัฐบาลผ่านศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความกดดันทั้ง 2 ฝ่าย โดยในวันที่ 29 เมษายน นายพายัพ ปั้นเกตุ แกนนำ นปช. แถลงว่าจากการเข้าไปตรวจสอบภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่าภายในอาคารโรงพยาบาลมีกำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามและปืนซุ่มยิงอยู่ครบมือ รวมทั้งในพื้นที่สวนลุมพินี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 7 กองร้อยและในถนนสีลม ไม่ว่าจะเป็นตึกซีพี หรือธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลมก็มีกำลังทหารจำนวนมาก ซึ่งสำหรับในบริเวณโรงพยาบาลจุฬาฯ หากไม่ถอนกำลังทหารออกไปให้หมดภายในคืนนี้ ตนพร้อมจะนำสื่อมวลชนและกลุ่มคนเสื้อแดงไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อไปขอพื้นที่โรงพยาบาลคืนให้กับประชาชน

เวลา 19.00 น. นายพายัพและกลุ่มคนเสื้อแดงเดินและการ์ดของ นปช. ทางไปถึงโรงพยาบาล เพื่อขอตรวจสอบอาคารต้องสงสัยในโรงพยาบาล และภายหลังการเจรจากัน เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลยินยอมให้การ์ดเดินแถวเรียงหนึ่งตรวจอาคารที่อ้างว่าอยู่ในข่ายความสงสัย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่อนุญาตให้เข้าไปการ์ดเสื้อแดงกลุ่มใหญ่กระจายเข้าค้นทั่วโรงพยาบาล

จากการเข้าตรวจค้น พบว่าไม่ได้มีกำลังทหารตามที่ได้ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด

รุ่งขึ้นวันที่ 30 เมษายน นพ.เหวง โตจิราการ ในฐานะแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดินได้ออกมาขอโทษเหตุการณ์ดังกล่าว โดยอ้างว่าไม่ใช่มติของแกนนำ และเป็นการกระทำไม่เหมาะสม พร้อมทั้งระบุว่ายินดีให้ความสะดวกกับทางโรงพยาบาลในทุกด้าน รวมทั้งจะไม่มีการเข้าไปภายในโรงพยาบาลเพื่อตรวจค้นอีก สำหรับการเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลนั้นเนื่องจากต้องการตอบคำถามของสื่อมวลชน และแก้ข้อกังขาของมวลชนคนเสื้อแดงจากกรณีที่มีข่าวว่าทหารซุ่มอยู่ในอาคาร นายพายัพจึงเข้าไปเพื่อตรวจดูว่ามีทหารอยู่จริงหรือไม่ ตัว นพ.เหวงและแกนนำอีกหลายคนคิดว่าจะเป็นการเข้าไปตรวจสอบร่วมกับสื่อมวลชน โดยไม่คิดว่าจะมีคนเสื้อแดงหรือการ์ดเข้าไปด้วย ต่อจากนี้ขอยืนยันว่าจะห้ามคนเสื้อแดงที่ไม่ได้มีอาการบาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลจุฬาฯ เด็ดขาด โดยยังยึดแนวทางไม่เข้าไปรบกวนโรงพยาบาลหรือสถานที่ราชการ

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน แถลงขออภัยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมทั้งประชาชนอีกครั้ง ยืนยันจะไม่มีการเข้าไปภายในโรงพยาบาลอีก แต่ขอชี้แจงเหตุที่เข้าไปตรวจค้นภายในโรงพยาบาลจุฬาฯ เนื่องจากไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมยอมรับเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของหลายฝ่าย ยืนยันไม่มีความตั้งใจจะสร้างให้เกิดภาพเหมือนเป็นการข่มขู่ อยากให้เข้าใจความรู้สึกของคนที่ตกเป็นเหยื่อ จึงมีความจำเป็นต้องดูแลความปลอดภัยของประชาชนให้ดีที่สุด.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 4-10 มิถุนายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (19)

เสื้อแดงยุติเวทีราชดำเนิน และเหตุระเบิดสถานีศาลาแดง

12 เมษายน 2553 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปะทะกันของเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบมีคนเดียว คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นบุคคลที่ขาดสำนึกความเป็นผู้นำ ปฏิเสธที่จะเข้าใจถึงปัญหาของคนในชาติ ทั้งนี้ พล.อ.ชวลิตเน้นในตอนท้ายว่า ไม่เคยพบเห็นการใช้กำลังติดอาวุธเข้าปราบปรามประชาชน ไม่เคยเห็นความรุนแรง และกระทำอย่างขาดความสำนึกเช่นนี้

จากนั้นในวันที่ 14 เมษายน แกนนำ นปช. มีมติให้ยุบเวทีใหญ่ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และเคลื่อนย้ายการชุมนุมจากถนนราชดำเนินทั้งหมดไปรวมกันที่แยกราชประสงค์ เพื่อเป็นการเปิดเส้นทางจราจร เนื่องจากทางแกนนำไม่ต้องการให้เกิดการปะทะ และเป็นการคืนพื้นที่ให้รัฐบาล

รุ่งขึ้นวันที่ 15 เมษายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงว่า การที่ผู้ชุมนุมยื่นเวลาให้ยุบสภาภายใน 24 ชั่วโมง ในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลและผู้แทนพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือ ผลการหารือมีความเห็นร่วมกันว่าไม่ควรมีการยุบสภา ขณะที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่ออกมาตรการบังคับให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ถนนราชดำริ โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมที่เกินกว่าขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ม.34 และ 63 บัญญัติไว้ ดังนั้นเมื่อ ผอ.รมน. (ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) โดย ผอ.ศอ.รส. (ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย) รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่แทน ได้อาศัยอำนาจตาม มาตรา 18 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดและข้อประกาศห้ามแกนนำทั้งห้าและผู้ชุมนุมทั้งหมดออกจากพื้นที่ ที่ชุมนุมแล้ว ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวจึงมีสภาพบังคับอยู่ในตัว และเมื่อมีประกาศใช้แล้วย่อมมีผลบังคับได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมาร้องขอให้ศาลออกคำบังคับตามข้อกำหนดดังกล่าวอีก ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องฝ่ายสนับสนุนการชุมนุม

ทันทีทันควันสนองรับคำวินิจฉัยของศาล ช่วงเช้าวันที่ 16 เมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยอรินทราช บุกเข้าปิดล้อมโรงแรมเอสซีปาร์ค ล้อมจับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ประกอบด้วย นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์, นายพายัพ ปั้นเกตุ, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และนายวันชนะ เกิดดี

แต่นายอริสมันต์ได้โรยตัวออกทางระเบียง โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 100 รายคอยให้ความช่วยเหลือได้สำเร็จ หลังจากนั้นนายอริสมันต์นำกลุ่มคนเสื้อแดงปิดล้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไป ปฏิบัติการในครั้งนี้อีกชั้น และให้กลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าช่วยเหลือเหล่าแกนนำอีก 5 คนที่เหลือ จนสามารถช่วยเหลือนายสุภรณ์ และนายเจ๋งออกมาได้ ระหว่างนั้นการจราจรโดยรอบต้องปิดไปโดยปริยาย

เมื่อการชุมนุมของคนเสื้อแดงมีแนวโน้มที่จะไม่ยอมสลายตัว ในวันที่ 18 เมษายน กลุ่มคนเสื้อหลากสี ที่ประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนพิทักษ์ชาติ และเครือข่ายเฟซบุ๊ค เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สนับสนุนให้รัฐบาลทำหน้าที่ พร้อมทั้งคัดค้านการยุบสภา และแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง

ตามมาด้วยในวันที่ 21 เมษายน พนักงานบริษัทและวิสาหกิจขนาดใหญ่ย่านสีลมส่วนหนึ่ง พากันรวมตัวกันภายใต้ชื่อ เครือข่ายประชาคมชาวสีลม ออกมาชุมนุมในช่วงเวลาพักเที่ยงต่อต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดง มีการบริจาคเงินซื้ออาหารและน้ำมามอบให้กับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่รัฐบาลส่งมาควบคุมพื้นที่ สำหรับคนที่ไม่ให้ความร่วมมือกับการกระทำดังกล่าวถูกมองว่าเป้นผู้สนับสนุนเสื้อแดง ซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยกในสถานที่ทำงานหลายแห่ง

วันเดียวกันกลุ่มคนเสื้อแดงรวมตัวชุมนุมบริเวณสถานีรถไฟขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อสกัดไม่ให้ขบวนรถไฟลำเลียงทหาร อาวุธและยานพาหนะกว่า 20 โบกี้ออกจากสถานี เนื่องจากเกรงทหารจะเข้าร่วมสลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ อันเป็นที่มาของคำว่า "ขอนแก่นโมเดล" ที่แกนนำบนเวที นปช. เสนอต่อคนเสื้อแดงสำหรับการต่อต้านการเคลื่อนกำลังทหารจากภูมิภาค

สัญญาณการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นในคืนวันที่ 22 เมษายน 2553 เมื่อเกิดเหตุระเบิด 5 ครั้งบริเวณถนนสีลม โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมตัวการชุมนุมอยู่แยกศาลาแดงฝั่งถนนสีลม ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของตำรวจ โดยเสียงระเบิดดังขึ้น 3 ครั้ง ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง หลังเสียงระเบิดดังขึ้น ประชาชนที่อยู่บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดงได้วิ่งหลบหนีออกจากบริเวณดังกล่าว ขณะที่ด้านล่าง จุดที่มีการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านนปช.ก็เกิดความโกลาหลเช่นกัน เวลาประมาณ 20.30 น. ระเบิดลูกที่ 4 ได้ระเบิดขึ้นบริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี ใต้ทางเดินลอยฟ้าเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือสกายวอล์ก และในเวลา 20.45 น. ระเบิดลูกที่ 5 ก็ระเบิดขึ้นที่หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาศาลาแดง

เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน ผู้บาดเจ็บทั้งหมด 87 คน ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 3 คน ทั้งหมดถูกส่งไปรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยรอบบริเวณการชุมนุม

วันที่ 24 เมษายน เวลา 18.00 น. นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. กล่าวบนเวทีปราศรัยว่าจะปรับยุทธวิธีตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคงยึดแนวทางสันติวิธี ตามมาด้วยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวต่อว่า หลังจากที่ทาง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เลือกที่จะไม่เจรจากับทาง นปช. จึงชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีไม่หันหลังให้กับแนวทางสันติวิธีแล้ว ขอประกาศขอให้นายกรัฐมนตรียุบสภาทันที พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากกลุ่มคนเสื้อแดง

  1. ให้ถอดเสื้อสีแดง และวางสัญลักษณ์ของ นปช. จนกว่ารัฐบาลจะประกาศยุบสภา
  2. อาสาสมัครจักรยานยนต์ไปประจำด่าน ทั้ง 6 ด่าน จำนวนด่านละ 2 พันคัน
  3. ให้คนเสื้อแดงทั่วประเทศคอยสังเกตการณ์กองกำลังทหาร และตำรวจที่พยายามจะเข้ามาในกรุงเทพมหานคร หากพบให้ทำการขัดขวางอย่างสันติ
  4. ให้กลุ่มคนเสื้อแดงกระทำและปฏิบัติตัวอย่างใดก็ได้อย่างอิสระ
  5. ให้ทุกคนจับกลุ่มย่อยละ 5 คน แลกเบอร์โทรศัพท์มือถือ และทำความรู้จักกันไว้ เพื่อเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกัน

ทั้งหมดเป็นมาตรการที่เตรียมไว้รับมือกับอภิสิทธิ์ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลเตรียมการที่จะสลายการชุมนุมภายใน 48 ชั่วโมง (24-26 เมษายน) พร้อมทั้งเรียกร้องให้กลุ่มคนเสื้อแดงทั่วประเทศเดินทางเข้ามาชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อแสดงความไม่ต้องการรัฐบาลอำมาตย์.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 28 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ

ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่ายกระทิงแดงยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม

ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบวนการ "ขวาพิฆาตซ้าย" ดังนั้นกลุ่มผู้นำการชุมนุมจึงมีมติให้ย้ายเวทีเข้าไปในธรรมศาสตร์เพื่อความสะดวกในการรักษาความปลอดภัย

ช่วงกลางวันสถานีวิทยุยานเกราะเริ่มออกข่าวว่านักศึกษาที่แสดงละครมีใบหน้าคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯถูกแขวนคอ

21.00 น. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความเห็นชอบของนายกสภามหาวิทยาลัยฯ (ดร.ประกอบ หุตะสิงห์) ออกแถลงการณ์สั่งปิดมหาวิทยาลัย

การชุมนุมประท้วงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม ทั้งมีการขยายตัวออกไปในอีกหลายจังหวัดที่เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค เช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประมาณ 700 คน เดินขบวนต่อต้านพระถนอม แล้วไปชุมนุมที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัด ส่วนที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีนักศึกษาเปิดอภิปรายต่อต้านพระถนอม ที่จังหวัดขอนแก่น นักศึกษาเปิดอภิปรายต่อต้านพระถนอมและมีการเผาหุ่นพระถนอม

วันที่ 5 ตุลาคม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยคงมี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกฯเช่นเดิม ในเวลาเดียวกับที่มีการประกาศงดสอบทุกสถาบัน และนิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เดินทางมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ จนผู้ชุมนุมมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเรือนหมื่น จึงย้ายการชุมนุมจากบริเวณลานโพธิ์มายังสนามฟุตบอล

ตั้งแต่เช้า หนังสือพิมพ์ดาวสยาม และบางกอกโพสต์ เผยแพร่ภาพการแสดงล้อการแขวนคอของนักศึกษาที่ลานโพธิ์ โดยพาดหัวข่าวเป็นเชิงว่าการแสดงดังกล่าวเป็นการ "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" พร้อมกันนั้นนางนงเยาว์ สุวรรณสมบูรณ์ เข้าแจ้งความต่อนายร้อยเวรสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ให้จับกุมผู้แสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์สยามมกุฎราชกุมาร

ในเวลา 9.30 น. ที่ประชุมสหภาพแรงงาน 43 แห่ง มีมติจะเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อยื่นข้อเสนอให้พระถนอมออกนอกประเทศ และสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานฯ จะนัดหยุดงานทั่วประเทศภายในวันที่ 11 ตุลาคม

ต่อมาในเวลา 10.00 น. สถานีวิทยุยานเกราะเปิดรายการพิเศษ เสียงของ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ กล่าวเน้นเป็นระยะว่า "เดี๋ยวนี้การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องต่อต้านพระถนอมแล้ว หากแต่เป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"  จนถึงเวลา 17.30 น. พ.อ.อุทาร ออกประกาศให้คณะกรรมการชมรมวิทยุเสรี และผู้ร่วมก่อตั้งไปร่วมประชุมที่สถานีวิทยุยานเกราะเป็นการด่วน ขณะที่ในเวลา 19.00 น. ประธานรุ่นลูกเสือชาวบ้าน เขตกรุงเทพฯ ได้ประชุมที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยมี พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน และนายอาคม มกรานนท์ เป็นผู้กล่าวในที่ประชุมว่า จะต่อต้านศูนย์นิสิตฯ และบุคคลที่อยู่ในธรรมศาสตร์จนถึงที่สุด

20.35 น. ชมรมวิทยุเสรี ออกแถลงการณ์มีใจความว่า "ขณะนี้มีกลุ่มคนก่อความไม่สงบ ได้ดำเนินการไปในทางที่จะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ มีการนำธงชาติคลุมตัวละครแสดงเป็นคนตายที่ข้างถนนหน้ารัฐสภา มีการใช้สื่อมวลชนที่มีแนวโน้มเอียงเช่นเดียวกับผู้ก่อความไม่สงบ ลงบทความหรือเขียนข่าวไปในทำนองที่จะทำให้เกิดช่องว่างในบวรพุทธศาสนา มีนักศึกษาผู้หนึ่งทำเป็นผู้ถูกแขวนคอ โดยผู้ก่อความไม่สงบที่มีใบหน้าคล้ายกับพระราชวงศ์ชั้นสูงองค์หนึ่ง พยายามแต่งใบหน้าเพิ่มเติมให้เหมือน"

เป้าหมายคือปลุกระดมให้ กลุ่มมวลชนจัดตั้ง เข้าใจไปว่านิสิต นักศึกษา และประชาชน ตลอดจนพรรคการเมืองในฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอดนับจากปี 2514 ต้องการทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

แม้ว่าทางฝ่ายศูนย์นิสิตฯ จะจัดแถลงข่าวถึงข้อเท็จจริงในการแสดงทั้งนำตัวนักศึกษาทั้ง 2 คน คือ นายอภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษาปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ และนายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ นักศึกษาปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ สมาชิกชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแสดงความบริสุทธิ์ใจ ที่แสดงเป็นช่างไฟฟ้า แต่ข่าวกลับไม่สามารถเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มมวลชนที่มีการจัดตั้ง และกำลังกระเหี้ยนกระหือ มีความมุ่งร้ายต่อผู้ชุมนุม ที่ยังคงยืนหยัดรอคอยคำตอบจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย มาตลอดหลายวัน

แต่แล้วสื่อขวาจัดทั้งที่เป็นหนังสือพิมพ์ที่นำโดยหนังสือพิมพ์ดาวสยามและบางกอกโพสต์ รวมทั้งสถานีวิทยุในเครือกองทัพทหารทุกแห่งก็ออกข่าวเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ และระดม "ผู้รักชาติ" จำนวนนับพันไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อต่อต้านกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มพลังฝ่ายขวาเช่น กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล จากการอ้างเอาเรื่องการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์นี้เอง กลุ่มต่อต้านนักศึกษาจึงสามารถระดมประชาชนที่โกรธแค้นเป็นจำนวนมากมาร่วมการชุมนุมได้ โดยประเด็นที่วิทยุยานเกราะเรียกร้องก็คือ ให้ทำลายพวก "คอมมิวนิสต์" ที่อยู่ในธรรมศาสตร์ และประท้วงรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ตั้งรัฐบาลใหม่ โดยไม่ให้นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมบุญ ศิริธร เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี

ช่วงดึก การชุมนุมของฝ่ายต่อต้านนักศึกษาก็ย้ายสถานที่มายังท้องสนามหลวง ตรงบริเวณฝั่งตรงข้ามธรรมศาสตร์ และได้มีการยั่วยุประชาชนอย่างหนักให้เกลียดชังนักศึกษามากยิ่งขึ้น และเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม ก็เริ่มมีการระดมยิงอาวุธสงครามใส่เข้าใสผู้ชุมนุม ตามด้วยการใช้กองกำลังตำรวจกองปราบและหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน นำการกวาดล้างนักศึกษาในธรรมศาสตร์ด้วยกำลังติดอาวุธหนักเบาเต็มอัตรา.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 27 กุมภาพันธ์-5 มีนาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (18)

การปิดล้อมไทยคมและการเข้าสลายม็อบราชดำเนิน 2553

ภายหลังการเจรจาระหว่างตัวแทนแกนนำ นปช. กับรัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่อาจบรรลุข้อตกลงกันได้ ในวันที่ 3 เมษายน 2553 แกนนำผู้ชุมนุมจึงมีมติขยายเวทีการชุมนุม โดยมีการเคลื่อนขบวนมาปักหลักบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้ชุมนุมจำนวนมากกระจายกันอยู่เต็มผิวจราจร ตั้งแต่แยกประตูน้ำ ด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ต่อเนื่องไปจนถึงถนนราชดำริ

และในขณะที่ดูเหมือนว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงจะยกระดับตามคำกล่าวของแกนนำ โดยมีการขยายพื้นที่ชุมนุมจากบริเวณถนนราชดำเนินกลางและราชดำเนินนอกไปยังบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ต่อมาในวันที่ 7 เมษายน 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปแจ้งให้ไทยคมระงับการแพร่สัญญาณภาพและเสียงของสถานีประชาชน หรือ D-Station ที่แพร่ภาพการชุมนุมและข่าวความเคลื่อนไหวของคนเสื้อมาตลอดหลายเดือน

จากคำสั่งดังกล่าวนำไปสู่การเคลื่อนมวลชนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเข้าปิดล้อมกดดันเจ้าหน้าทหาร ซึ่งเข้าปฏิบัติงานภายใต้คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่กลางดึกของคืนวันที่ 7 ซึ่งสถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นตลอดเวลาจนถึงเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันที่ 8 เมษายน กำลังทหารจำนวน ประมาณ 200 นายนั่งรถบรรทุกเดินทางมายังสถานีไทยคมอีก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นอย่างมาก มีการตั้งแถวหน้ากระดานประจันหน้ากับกำลังทหาร แต่เมื่อแกนนำคนเสื้อแดงได้เข้าเจรจากับทางฝ่ายทหารขอให้เดินทางกลับ ซึ่งทางฝ่ายทหารก็ยินยอมถอนกำลังออกไปในที่สุดโดยไม่มีการประทะกันแต่อย่างใด

วันที่ 9 เมษายน 2553 สำนักข่าวเอ เอฟพีรายงานว่า องค์กรผู้ สื่อข่าวไร้พรมแดนออกแถลงการณ์ประณามการปิดกั้นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีเพิลแชนแนลและเว็บไซต์ 36 เว็บไซต์ของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยระบุว่าการปิดกั้นสื่อมวลชนที่ทั้งเป็นกลางและสื่อที่มีความเห็นไปในทา เดียวกับฝ่ายค้าน ทำให้อาจเกิดความรุนแรงได้ ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสถานีไทยคม ซึ่งตั้งอยู่ถนนสายลาดหลุมแก้ว-วัดเจดีย์หอย อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้ยุติการระงับการเผยแพร่สัญญาณการออกอากาศของสถานีประชาชน โดยได้มีการนำกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา แต่ไม่บรรลุผล จากนั้นเหตุการณ์ได้สงบลงภายในเวลา 15 นาที โดยแกนนำพยายามควบคุมมวลชนไม่ให้บุกเข้าไปภายในตัวอาคาร จนกระทั่งมีการเจรจาให้ทหารถอนกำลังเดินแถวออกจากสถานีไทยคม ท่ามกลางเสียงโห่ร้องดีใจของผู้ชุมนุม

นอกจากนี้ได้มีการนำอาวุธที่ได้ยึดมาจากทหาร ที่ประกอบด้วยปืนเอ็ม 16, ปืนลูกซองยาว พร้อมลูกระเบิดแก๊สน้ำตา หมวกกันน็อค เสื้อเกราะ โล่ กระบอง มาให้สื่อมวลชนได้ถ่ายภาพเอาไว้ รวมทั้งยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาอีกจำนวนหนึ่งจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม

หลังจากที่มีการยืนยันว่าทางสถานีประชาชนจะมีการออกอากาศอย่างแน่นอน กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนขบวนกลับไปยังที่ตั้ง

แต่แล้วในเวลา 22.20 น. เจ้าหน้าที่ทหารก็เข้าระงับการออกอากาศของทางสถานีอีกครั้ง

สถานการณ์สำคัญที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงมาถึงในวันที่ 10 เมษายน เมื่อรัฐบาลตัดสินใจส่งกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยในเวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำออกจากกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 และพยายามปิดประตู พร้อมขึงรั้วลวดหนาม นอกจากนี้มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตายิงด้วย ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ถอยร่นออกมาบริเวณสนามเสือป่า พยายามปาท่อนไม้และสิ่งของตอบโต้ นอกจากนี้ยังเกิดเสียงดังขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งภายหลังมีการชี้แจงว่าเป็นระเบิดเสียง หากมีผลทำให้ผู้ชุมนุมแตกตื่นวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น

จากนั้นเวลา 13.45 น. เกิดเหตุชุลมุนที่แยกพาณิชยการใกล้ทำเนียบรัฐบาลและกองทัพภาคที่ 1 โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้น้ำฉีดผู้ชุมนุมที่บริเวณแยกดังกล่าว มีการยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมเป็นระยะ ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงบางคนได้รับบาดเจ็บ จากนั้นทหารนำรถที่กลุ่มผู้ชุมนุมจอดขวางออกนอกพื้นที่ และเดินจากแยกพาณิชยการมุ่งหน้าเข้าถนนราชดำเนิน

15.00 น. มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมปืนลูกซอง ปืนเอ็ม16 พกโล่พร้อมอาวุธครบมือ ได้ยืนตั้งแถวอยู่ตรงบริเวณสวนสาธารณะเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งอรุณอมรินทร์

เมื่อเวลา 17.50 น. มีเฮลิคอปเตอร์บินวนบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และปล่อยแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ลงมาเพื่อสลายการชุมนุม ขณะที่แกนนำได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกมารวมตัวกันที่หน้าเวที พร้อมกับปลุกระดมให้ต่อสู้และดูสถานการณ์ต่อไป ขณะที่ผู้ชุมนุมได้มีการปล่อยลูกโป่งและโคมลอยเพื่อรบกวนการบินของเจ้าหน้าที่บนเฮลิคอปเตอร์ แต่ไม่เป็นผล

หลังจากนั้นจนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐในบริเวณต่าง ๆ ใกล้กับที่ชุมนุม เช่น ถนนดินสอ ช่วงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนตะนาว ช่วงแยกคอกวัว ฝั่งเชื่อมต่อถนนข้าวสาร โดยมีผู้บาดเจ็บ 864 ราย เสียชีวิต 25 ราย

ในจำนวนผู้เสียชีวิต ที่ยังคงเป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยสามารถให้คำตอบแก่ประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกประชาธิปไตย คือการเสียชีวิตของ นายฮิโรยูกิ มูราโมโต ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกยิงที่หน้าอก และจนถึงบัดนี้ (เดือนเมษายน 2554) รัฐบาลไทย โดยการปฏิบัติการของ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยังไม่สามารถให้ความกระจ่างแก่ต้นสังกัดงานในหน้าที่ภาคสนามและแก่ตัวแทนของรัฐบาลญี่ปุ่น

นอกจากนั้น ในการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลต้องพบกับการสูญเสียที่ยังไม่อาจสรุปหรือบ่งชี้ข้อเท็จจริงได้ คือการเสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสธนาธิการ พล.ร 2 รอ. ในฐานะคณะนายทหารผู้นำหน่วยในการเข้าสลายการชุมนุม และเป็นกำลังสำคัญในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงเมื่อเดือนเมษายน 2552 อีกด้วย ขณะเดียวกันนายทหารที่รับบาดเจ็บอีกนายหนึ่งคือ พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาในการนำกำลังทหารเข้าปฏิบัติการ

ทั้งนี้ พล.ต.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงว่า "มีคนชี้เป้าแน่นอน เพราะมีการรายงานว่า คนร้ายมีการยิงเลเซอร์ชี้เป้ามาที่กลุ่มนายทหารระดับสูงอยู่ จากนั้นยิงเครื่องยิงเอ็ม 79 เข้าใส่ ทำให้นายทหารระดับสูงหลายนายบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการตั้งใจลอบสังหารนายทหารระดับสูงเหล่านี้"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 21-28 พฤษภาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (49)

สถานการณ์วันต่อวัน: คลื่นเหนือน้ำสู่ 6 ตุลาฯ

ในวันที่ 25 กันยายน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากลาออกไปเมื่อวันที่ 23 กันยายน นายสุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์นิสิตฯ และนายชัชวาลย์ ปทุมวิทย์ ผู้ประสานงานแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แถลงต่อสื่อมวลชนกรณีฆ่าแขวนคอที่นครปฐม มีการชุมนุมที่จุฬาฯ และตั้งตัวแทนยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ดำเนินการ 2 ประการ คือ 1.จัดการให้พระถนอมออกจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด 2.ให้เร่งจับกุมฆาตกรฆ่าแขวนคอที่นครปฐม

ขณะเดียวกับกลุ่มพลังต่างๆที่ต่อต้านขบวนการนักศึกษา ซึ่งเรียกกันว่ากลุ่มจัดตั้งฝ่ายขวาก็ทยอยกันออกหน้าขยายบทบาทอย่างรวดเร็วผิดสังเกต เริ่มจากการที่ ดร.คลุ้ม วัชโรบล นำลูกเสือชาวบ้านประมาณ 200 คน ไปวัดบวรนิเวศฯ เพื่ออาสาป้องกันการเผาวัด เกือบจะในเวลาเดียวกับที่มีการออกข่าวว่านายไพศาล ธวัชชัยนันท์ ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้านครหลวงและประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเพื่อยื่นหนังสือ แต่ไม่ได้รับอนุญาต

และวันรุ่งขึ้น พระเทพกิตติปัญญาคุณ หรือที่เป็นที่รู้จักดีในนาม กิตติวุฑโฒภิกขุ (กิติศักดิ์ เจริญสถาพร) อดีตเจ้าอาวาสวัดจิตตภาวัน จังหวัดชลบุรี ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ น.ส.พ.จัตุรัส ว่า "การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ" และนายวัฒนา เขียววิมล แกนนำกลุ่มนวพล ไปเยี่ยมพระถนอมที่วัดบวรฯ เวลา 22.30 น. อ้างว่ามาสนทนาธรรม โดยให้สัมภาษณ์ว่าการเข้ามาบวชของพระถนอมนั้นบริสุทธิ์

แม้ฝ่ายประชาชนที่ร่วมกันผลักดันให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พอจะมองออกว่า เหตุการณ์ต่างๆเป็นการวางแผนและดำเนินการเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่จะทำลายความพยายามในอันจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้เพิ่งคืนกลับมายังประเทศไทยได้เพียง 3 ปี แต่เหตุการณ์นับจากการลอบเดินทางเข้ามาบวชในประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรี หนึ่งในสามทรราชย์ จอมพล ถนอม กิติขจร นั้นดูจะไม่อนุญาตให้ฝ่ายประชาธิปไตยในเวลานั้นมีทางเลือกอื่น ดังนั้น ในวันที่ 27 กันยายน ศูนย์นิสิตฯ สภาแรงงานแห่งประเทศไทย แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และตัวแทนจากกลุ่มพลังต่างๆ จึงจัดประชุม 3 ฝ่าย และที่ประชุมกันมีมติเรียกร้องให้รัฐบาลขับพระถนอมออกนอกประเทศ และให้เร่งดำเนินการจับฆาตกรสังหารโหดฆ่าแขวนคอที่นครปฐมโดยเร็วเนื่องจากมีพยานรู้เห็นสามารถระบุทั้งเวลาและสถานที่ในเหตุ "อุ้ม" พนักงานการไฟฟ้าทั้ง 2 คน

ซึ่งต่อมาในวันที่ 6 ตุลาคม มีตำรวจ 5 คนถูกจับในข้อหาสมคบฆ่าแขวนคอสองพนักงานการไฟฟ้า ได้แก่ ส.ต.อ. ชลิต ใจอารีย์ ส.ต.ท.ยุทธ ตุ้มพระเนียร ส.ต.ท.ธเนศ ลัดดากล ส.ต.ท.แสงหมึก แสงประเสริฐ พลฯ สมศักดิ์ แสงขำ แต่ทั้งหมดถูกปล่อยตัวอย่างเงียบๆ หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองฯ

สำหรับสภาพการณ์ทั่วไปช่วงวันที่ 26-27 กันยายน ฝ่ายทหารมีการเคลื่อนย้ายกำลังพลเข้ามาในเขตกรุงเทพฯ ด้วยคำอ้างว่าจะมีการเดินสวนสนามเพื่อสาบานตนต่อธงชัยเฉลิมพล ซึ่งปกติจะกระทำในวันที่ 25 มกราคมของทุกปี ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นวันกองทัพไทย

ระหว่างนั้นฝ่ายนิสิตนักศึกษาเล็งเห็นว่ายิ่งทอดเวลาออกไป ยิ่งจะเสริมความชอบธรรมให้แก่การเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตยในเวลานั้น ดังนั้นในวันที่ 28 กันยายน หลังการประชุมตัวแทนสมาชิกศูนย์นิสิตฯ จึงจัดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ว่าจะจัดชุมนุมที่สนามหลวงในวันที่ 29 กันยายน เพื่อเร่งรัฐบาลให้ดำเนินการข้อเรียกร้องเป็นลายลักษณ์อักษร

29 กันยายน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศเลื่อนพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรออกไปโดยไม่มีกำหนด ศูนย์นิสิตฯ และกลุ่มพลังต่างๆ นัดชุมนุมอย่างสงบตามสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญที่สนามหลวง นายสุธรรม แสงประทุม กล่าวกับประชาชนว่า การชุมนุมครั้งนี้ได้แจ้งให้นายกฯ ทราบแล้ว และนายกฯ รับปากว่าจะให้กำลังตำรวจคุ้มครองผู้ชุมนุม มีประชาชนมาร่วมชุมนุมประมาณสองหมื่นคน ระหว่างการชุมนุมมีกลุ่มที่อ้างว่ารักชาติมาตั้งเครื่องขยายเสียงกล่าวโจมตีศูนย์นิสิตฯอย่างหยาบคาย จนตำรวจต้องไปขอร้องให้เลิกและกลับไปเสีย

ในขณะที่มีการปล่อยงูพิษกลางที่ชุมนุมซึ่งจัดโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่หาดใหญ่ และมีการยิงปืนใส่ที่ชุมนุมก่อนสลายตัว นายจเร ดิษฐแก้ว ถูกยิงที่กกหูบาดเจ็บ นายสมชัย เกตุอำพรชัย นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ถูกตีศีรษะและถูกยิงที่มือซ้าย

ระหว่างนั้น ศูนย์นิสิตฯได้ส่งตัวแทนเข้าพบนายกฯ เพื่อขอฟังผลตามข้อเรียกร้องที่เคยยื่นไว้ แต่เลขานุการนายกฯ ไม่ให้เข้าพบ กระทั่งเวลาสามทุ่มเศษ นายสุธรรมและคณะจึงกลับมาที่ชุมนุมพร้อมกับกล่าวว่าผิดหวังมาก แต่ยืนยันว่าจะสู้ต่อไป และจะให้เวลารัฐบาลถึงเที่ยงวันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม ถ้ารัฐบาลยังไม่ตัดสินใจแก้ปัญหานี้ ก็จะเคลื่อนไหวทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดพร้อมกัน ที่ชุมนุมประกาศสลายตัวเมื่อเวลา 21.45 น.

กลุ่มกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้านจำนวนหนึ่งเดินทางไปชุมนุมกันที่วัดบวรฯ ประกาศว่ามาเพื่ออารักขาพระถนอม

30 กันยายน รัฐบาลส่งนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ดร.นิพนธ์ ศศิธร และนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เป็นตัวแทนไปนิมนต์พระถนอมออกนอกประเทศ แต่พระถนอมปฏิเสธ ทั้งนี้ สมเด็จพระญาณสังวร และคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ แจ้งให้ตัวแทนรัฐบาลทราบว่า พระบวชใหม่จะไปไหนตามลำพังระหว่างพรรษาไม่ได้ และกำหนดพรรษาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 ตุลาคม ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องของศูนย์นิสิตฯ ให้พระถนอมออกนอกประเทศนั้น นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แถลงยืนยันว่า รัฐบาลทำไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

1 ตุลาคม ศูนย์นิสิตฯ จัดการชุมนุมที่สนามหลวง ประกาศให้ประชาชนมาฟังคำตอบรัฐบาลในวันที่ 4 ตุลาคม เวลา 15.30 น. ก่อนจะสลายตัวในเวลาประมาณ 21.00 น. ระหว่างนั้นมี ตัวแทนญาติวีรชน 14 ตุลา จำนวน 5 คน เริ่มอดอาหารประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนกว่ารัฐบาลจะให้คำตอบแน่ชัดว่าจะให้พระถนอมออกจากประเทศไทย ขณะที่นายสมศักดิ์ ขวัญมงคล หัวหน้ากลุ่มกระทิงแดง กล่าวว่า หากมีการเดินขบวนไปวัดบวรนิเวศฯ กระทิงแดงจะอารักขาวัดบวรฯ พร้อมกับเปิดตัวขบวนการปฏิรูปแห่งชาติร่วมกับกลุ่มพลัง 12 กลุ่ม ออกแถลงการณ์ว่าศูนย์นิสิตฯถือเอากรณีพระถนอมเป็นเครื่องมือก่อความไม่สงบ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 20-26 กุมภาพันธ์ 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (17)

การชุมนุมบนถนนราชดำเนินและการเจรจา 28-29 มีนาคม 2553

วันที่ 27 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 7.00 น. ที่เวทีชุมนุมหลักสะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนิน คนเสื้อแดงจัดพิธีตักบาตรพระสงฆ์ โดยแกนนำและผู้ชุมนุมร่วมกันถวายอาหารและปัจจัยแก่พระสงฆ์ที่มาร่วมประมาณ 200 รูป จากนั้นในตอนสาย คนเสื้อแดงที่เดินทางมาสมทบกับผู้ชุมนุมในกรุงเทพจากจังหวัดต่างๆ เริ่มทยอยเดินเท้าจากลานพระรูปทรงม้าและถนนราชดำเนินเข้าสู่เวทีหลักสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนที่เวลา 10.00 น. แกนนำ นปช. จะประกาศมาตรการเคลื่อนผู้ชุมนุมไปเจรจาทหารที่ตั้งจุดประจำการรอบที่ชุมนุม ทั้ง 7 จุด ให้ถอนกำลังกลับกรมกอง สำนักข่าว AFP (Agence France Presse) ของฝรั่งเศส ระบุว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 80,000 คน และมีรายงานข่าวจากสื่อกระแสหลักว่ามีการยึดอาวุธปืนจากเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่ง ในระหว่างความพยายามเจรจาและผลักดันกันอยู่นั้น แม้ว่าจะมีการส่งคืนในภายหลัง แต่ทางศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ออกคำแถลงว่ายังมีอาวุธสูญหาย

พลตำรวจตรีปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล แถลงในเวลาประมาณ 14.20 น. ว่า ขณะนี้ ทหารทยอยถอนกำลังออกจากจุดพักกำลังพลต่าง ๆ แล้ว อาทิ สนามม้านางเลิ้ง วัดตรีทศเทพ วัดบวรนิเวศวิหาร และจะทยอยถอนกำลังออกจนหมด เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกับกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ส่งกำลังตำรวจเข้าไปแทนที่ เพื่อป้องกันมือที่ 3 และการกระทบกระทั่งกับผู้ไม่เห็นด้วย

ในขณะที่คนเสื้อยังคงปักหลักชุมนุมและมีการหมุนเวียนผู้ชุมนุมผลัดเปลี่ยนจากจังหวัดต่างๆ และจังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร โดยมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายข้อเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาภายใน 15 วัน และจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดนั้น ในวันที่ 28-29 มีนาคม 2553 จึงมีการเปิดการเจรจาโดยใช้สถานการณ์เจรจาทิ่ห้องประชุมสภาพัฒนาการเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้าสถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ทั้งนี้ระบบรักษาความปลอดภัยโดยรอบบริเวณได้ใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประมาณ 1 กองร้อย

ทั้งนี้ฝ่ายแกนนำ นปช. นำโดยนายวีระ มุสิกพงศ์ ร่วมด้วยนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายแพทย์เหวง โตจิราการ กับฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเดินทางมาด้วยรถยนต์ประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะประกอบด้วยนางอัญชลี วาณิชเทพบุตร รองเลขาธิการนายกฯ และนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์

แต่ผลการเจรจาต่อเนื่องทั้ง 2 วัน ไม่ได้ข้อสรุปจนประกาศเป็นข้อตกลงกันได้แต่อย่างไร โดยเนื้อหาสำคัญของฝ่าย นปช. คือ ขอให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 15 วันเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนทั้งประเทศได้ตัดสินใจทางการเมืองว่าต้องการให้พรรคใดมาบริหารประเทศและต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาทาสัตยาบันร่วมกันว่าจะยอมรับผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งทางนปช.รับประกันว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกดดันเรียกร้อง รัฐบาลอีกต่อไป

ในขณะที่ข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาลคือ กำหนดกรอบเวลาในการยุบสภาภายในเวลา 9 เดือน เพื่อพิจารณางบประมาณแผ่นดิน และประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การพิจารณางบประมาณแผ่นดินเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องงบประมาณ ไม่อยากให้ตารางปฏิทินงบประมาณถูกกระทบ สาหรับการทำประชามติเพื่อถามประชาชนทั้งประเทศว่ารัฐธรรมนูญมีเรื่องใดที่เห็นควรต้องแก้ไขประชาชนกำหนดอย่างไรก็จะดาเนินการตามนั้น นอกจากนี้ ต้องการทาบรรยากาศบ้านเมืองให้เป็นปกติ การชุมนุมก็เป็นไปตามกติกา ไม่มีการปิดล้อมข่มขู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

สำหรับการเจรจาในวันที่ 28 กระบวนการเจรจาใช้เวลา 16.30-19.00 น. ส่วนวันที่ 29 ใช้เวลาระหว่าง 18.30-20.30 น. โดยทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าให้เลื่อนการเจรจาครั้งต่อไปออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่อาจหาข้อยุติถึงกำหนดระยะเวลาในการยุบสภาได้

จากรายงานที่จัดทำโดยเจ้าภาพฝ่ายสถานที่ คือ สถาบันพระปกเกล้า ให้ข้อสรุปในส่วนความเห็นที่สอดคล้องกันไว้ 5 ประเด็น ประกอบด้วย

          1. การพูดคุยกันขอให้พูดกันในเรื่องอนาคต ไม่ควรไปพูดถึงอดีตมาก
          2. ต้องการให้เกิดสันติสุขในประเทศเพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าไปได้ อยากเห็นประเทศไทยเป็นผู้ชนะ ยุติความแตกแยกในสังคม
          3. ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เห็นด้วยกับการใช้สันติวิธีในการเจรจาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันในลักษณะ นี้
          4. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร ต้องการให้รัฐและสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
          5. เห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถือเป็นกติกาของประเทศ ต้องมีการแก้ไขเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น


ทางด้านเวทีปราศรัย นปช. บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งพื้นที่การชุมนุม มีการตั้งเตนท์สองฝั่งถนนตั้งแต่ถนนราชดำเนินนอกไล่มาตั้งแต่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ผ่านถนนราชดำเนินกลางทั้งสายจนเชิงสะพานปิ่นเกล้าบริเวณโรงแรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งตลอดเวลาการเจรจาที่ถ่ายทอดขึ้นสู่จอภาพขนาดใหญ่ มีเสียงโห่ร้องแสดงความไม่พอใจการเจรจา โดยเฉพาะกับคำพูดของนายอภิสิทธิ์ หรือแม้เมื่อการเจรจาไม่สามารถไปสู่ข้อสรุปตามข้อเรียกร้องของฝ่าย นปช.

หลังยุติการเจรจาในวันที่ 29 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงเรื่องการเลือกตั้งในปลายปี 2553 หากเสื้อแดงและ นปช. ต้องร่วมมือกับรัฐบาล โดยในเวลา 9 เดือนก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลจะพยายามพัฒนาเศรษฐกิจ แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเร่งการฟื้นฟูระเบียบสังคม เพื่อให้ประเทศฟื้นสู่ภาวะปกติก่อนการเลือกตั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม แกนนำ 3 คนของนปช. ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอข้อที่ 2 เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งไม่พอใจที่รัฐบาลต้องใช้เวลานานถึง 9 เดือนยุบสภา ในที่สุด นายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำคนหนึ่งของนปช. ได้ปฏิเสธกำหนดเวลา 9 เดือนและต้องการให้รัฐบาลยุบสภาภายในเวลา 15 วัน

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ประกาศต่อผู้ชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศว่า การเจรจาระหว่าง นปช. กับรัฐบาลสิ้นสุดลง นปช. จะยกระดับการชุมนุมต่อไป.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 14-20 พฤษภาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (48)

สถานการณ์สร้างได้ เป้าหมายคือจุดวิกฤต

รัฐบาลชุดที่ 37 ที่มี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าคณะก็ประสบปัญหาตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาล แม้บางเรื่องจะเป็นเป็นปัญหาค้างมาแต่รัฐบาลชุดก่อน เช่น การจับกุมตัวผู้ต้องหา 5 คน คดีเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่รัฐบาลชุดนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2518

เพียงเวลาไม่กี่เดือนของรัฐบาลสัญญา 1 หรือที่ได้รับสมญาจากสื่อมวลชนในเวลาต่อมาว่า "ฤาษีเลี้ยงลิง" การเคลื่อนไหวหยั่งกำลังเพื่อเป็นการปูทางไปสู่ปฏิกิริยาและการตอบโต้ปฏิกิริยา ที่มีเกิดขึ้นต่อขบวนการประชาธิปไตยที่พัฒนามาพ้นขอบข่ายของนิสิต นักศึกษาแล้ว หากลงสู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะการผนึกกำลังของ 3 กลุ่มพลังในสังคม คือ "นักเรียน นิสิต นักศึกษา และชาวนากับกรรมกร" ซึ่งกล่าวได้ว่ามีขอบเขตทั้งในระดับกว้างและระดับลึกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในระบอบการเมืองการปกครองไทยหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475

กรณีสำคัญคือจอมพลประภาส จารุเสถียร ลอบเดินทางเข้าประเทศเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม โดยอ้างว่าจะเข้ามารักษาตา ฝ่ายนักศึกษารณรงค์ให้มีการชุมนุมประชาชนในบริเวณสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ เพื่อเรียกร้องให้นำตัวจอมพลประภาสมาลงโทษ มีกลุ่มอันธพาลการเมืองลอบเข้ามาขว้างระเบิดใส่ที่ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 38 คน ทั้งนี้แม้จะเป็นการสร้างสถานการณ์ยั่วยุให้ฝ่ายนักศึกษาตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่ปรากฏว่าไม่มีการตกหลุมพรางของฝ่ายที่สูญเสียอำนาจ จึงทำให้เงื่อนไขการออกมายึดอำนาจการปกครองด้วยข้ออ้างรักษาความสงบเรียบร้อยต้องเป็นหมันอีกครั้งหลังกรณีพลับพลาชัย และการเดินขบวนไปสถานทูตสหรัฐก่อนหน้านั้น ผลที่สุดรัฐบาลเสนีย์จึงต้องผลักดัน หรืออย่างน้อยแสดงว่าเป็นการผลักดัน ให้จอมพลประภาสเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 22 สิงหาคม โดยก่อนออกเดินทางได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

กรณีนี้ทำให้พล.อ. ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องจากถูกโจมตีว่าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และโดยไม่มีใครคาดฝัน หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเอง นับเป็นรัฐมนตรีกลาโหมพลเรือนคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แต่แล้วความพยายามระลอกใหม่ของฝ่ายสูญเสียอำนาจที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกันอย่างชัดเจนกับฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิไตย ที่ไม่ต้องการให้บ้านเมืองมีพัฒนาการทางการเมืองเยี่ยงอารยประเทศ  เริ่มด้วยการออกข่าวว่า ในวันที่ 3 กันยายน จอมพลถนอม กิตติขจร ติดต่อเข้ามาว่าจะขอกลับประเทศไทย เพื่อมาเยี่ยมบิดาคือ ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) ซึ่งมีอายุ 90 ปี ศูนย์นิสิตฯได้เรียกประชุมกลุ่มต่างๆ 165 กลุ่ม เพื่อคัดค้านการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม โดยระบุความผิดของจอมพลถนอม 11 ข้อ จากนั้นในวันที่ 7 กันยายน ก็มีการอภิปรายที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ "ทำไมจอมพลถนอมจะกลับมา" และมีข้อสรุปว่า การเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของก่อรัฐประหาร

ในที่สุดผลการประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติไม่อนุญาตให้จอมพลถนอมเข้าประเทศ

แต่แล้วในวันที่ 19 กันยายน จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งบรรพชาเป็นสามเณรที่ประเทศสิงคโปร์ ก็ลอบเดินทางทางกลับเข้าประเทศจนได้ ซึ่งทันทีที่ลงจากเครื่องบินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพฯ ก็ตรงไปยังวัดบวรนิเวศเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาส เป็นอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า สุกิตติขจโรภิกษุ ขณะที่กลุ่มยุวสงฆ์ก็ออกคำแถลงคัดค้านสถานะภิกษุของจอมพลถนอม โดยขอให้มหาเถรสมาคมตรวจสอบการบวชครั้งนี้ว่าถูกต้องตามพระวินัยหรือไม่ และถวายหนังสือต่อสังฆราชให้สอบสวนพระญาณสังวรด้วยในฐานะที่ทำการบวชให้แก่ผู้ต้องหาคดีอาญา ปรากฏว่าสมเด็จพระสังฆราชยอมรับว่าการบวชนั้นถูกต้อง ส่วนเรื่องขับไล่จอมพลถนอมจากประเทศนั้นเป็นเรื่องทางโลก ที่ทางมหาเถรสมาคมไม่อาจเกี่ยวข้องได้

ระหว่างนั้น สถานีวิทยุยานเกราะได้นำคำปราศรัยของจอมพลถนอมมาออกอากาศ มีสาระสำคัญว่า เป็นการกลับเข้ามาเพื่อเยี่ยมอาการป่วยของบิดา จึงได้บวชเป็นพระภิกษุตามความประสงค์ของบิดา และไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองอย่างใดเลย พร้อมกับประกาศเป็นเชิงข่มขู่มิให้นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน

การข่มขู่ที่เริ่มต้นโดยแม่ข่ายของ "ชมรมวิทยุเสรี" จากสถานีวิทยุยานเกราะ ในการกำกับดูแลของ พ.ท. อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ไม่มีผลต่อการชุมนุม เกิดการชุมนุมต่อต้านอย่างกว้างขวาง โดยมีจุดเริ่มตันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการเคาะประตูบ้าน เพื่อขอความเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับการต่อต้านพระถนอม และส่งตัวแทนเข้ายื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

ต่อมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 23 กันยายน สมาชิกสภาก็ได้เสนอให้มีการประชุมในเรื่องการกลับมาของจอมพลถนอมโดยตรง และได้ลงมติคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอม ให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้โดยทันที ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เกิดอาการละล้าละลังไม่กล้าตัดสินใจเด็ดขาดตามมติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับประกาศลาออกจากตำแหน่งกลางสภาฯ และในเวลา 21.30 น.วันเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ก็เสด็จไปที่วัดบวรนิเวศเพื่อสนทนาธรรมกับสมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเคยเป็นพระพี่เลี้ยงเมื่อพระองค์ทรงผนวช

นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า การลาออกของนายกรัฐมนตรีเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งจะมีผลให้กระทู้ถามต่างๆ ตกไป ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ลงความเห็นว่า หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ยังเป็นบุคคลที่สามารถรวบรวมพรรคการเมืองจัดตั้งรับบาลผสมได้อีก

ในคืนวันนั้น ขบวนการนิสิตนักศึกษาในนามแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติได้ ออกติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอมทั่วประเทศ ปรากฏว่านิสิตจุฬาฯที่ออกติดโปสเตอร์ถูกชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งดักทำร้าย และนำเอาโปสเตอร์ที่จะติดนั้นไปทำลาย นอกจากนี้ นายชุมพร ทุมไมย และ นายวิชัย เกษศรีพงศา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม และเป็นสมาชิกแนวร่วมประชาชน ได้ออกติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม ถูกคนร้ายฆาตกรรมแล้วนำไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรบริเวณหมู่บ้าน 2 ตำบลพระประโทน ปรากฏจากการชันสูตรว่าทั้งสองคนถูกซ้อมและฆ่าอย่างทารุณก่อนที่จะนำศพไปแขวน ซึ่งเป็นกรณีที่สร้างความสะเทือนใจอย่างมาก ศูนย์นิสิตฯจึงได้ตั้งข้อเรียกร้องเพิ่มต่อรัฐบาล ให้จับคนร้ายมาลงโทษโดยเร็ว ทางฝ่ายรัฐบาลได้ตั้งให้ พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ เป็นผู้ควบคุมคดี.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (16)

เคลื่อนพลแดงทั้งกรุงเทพฯ 20 มีนาคม 2553

เส้นทางราบ 11 บางเขน

การดำเนินการขั้นต่อไปตามกำหนดการของแกนนำ นปช. คือการเดินทางไปเทเลือดที่บริเวณหน้าบ้านพักของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ซอยสุขุมวิท 31 ในวันที่ 17 มีนาคม หลังจากจัดขบวนเป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงเช้าจึงเริ่มเคลื่อนขบวน จนถึงเวลาประมาณ 11.50 รถปราศรัยของแกนนำจึงเคลื่อนมาถึงสี่แยกด้านหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรีซึ่ง กำลังมีฝนตกลงมาอย่างหนัก โดยนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง เป็นตัวแทนเดินลงมาบริเวณรั้วลวดหนามพร้อมด้วยภาชนะบรรจุเลือดประมาณ 5-6 แกลลอน ซึ่งมี พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมสถานการณ์ พร้อมกันนั้นกองบัญชาการตำรวจนครบาล 5 ได้นำรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงประกาศให้ผู้ชุมุนมจัดตัวแทนมาเจรจาร่วมกัน ว่าจะเข้าจัดกิจกรรมในจุดใด ตำรวจพร้อมให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวก โดยยืนยันว่าจะไม่ใช้กำลังและความรุนแรงใดๆกับผู้ชุมนุม

หลังจากนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เจรจากับ พล.ต.ต.วิชัย ตำรวจจึงขยับแนวถอยออกไปเป็นระยะทาง 5 เมตร ซึ่งเท่ากับยังมีระยะห่างกว่า 200 เมตร แต่ในที่สุดนายอริสมันต์ก็นำกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าวงล้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกเข้าไปเทเลือดกองบนพื้นถนนถึงหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรีท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก โดยนายณัฐวุฒิได้ประกาศบนรถปราศรัยขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เปิดทางให้กลุ่มคนเสื้อแดงเทเลือดบริเวณดังกล่าวด้วย ระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมบางคนระดมปาถุงบรรจุเลือดและอุจจาระเข้าใส่บริเวณบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์อยู่ด้านในนำสายยางมาฉีดน้ำโต้ตอบ

หนังสือพิมพ์ Christian Sciene Monitor ของสหรัฐอเมริกา ได้ให้จัดการเทเลือดของกลุ่มนปช. เป็นอันดับ 1 ของการประท้วงสุดพิสดาร

ในวันที่ 20 มีนาคม กลุ่มผู้ชุมนุมจัดขบวนรถจำนวนมากเคลื่อนขบวนไปรอบกรุงเทพมหานครตามเส้นทางสายสำคัญต่างๆ โดยจะเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งหมดจะไม่มีการดาวกระจาย เริ่มตั้งขบวนตั้งแต่ 10.00 น. หัวขบวนจะอยู่ที่แยกยมราช มีขบวนมอเตอร์ไซค์ 2,000 คันนำขบวน พร้อมกับทีมการ์ดของการชุมนุมที่เรียกตัวเองว่านักรบพระองค์ดำ จากนั้นจะเป็นขบวนรถยนต์ชนิดต่างๆของคนเสื้อแดง โดยจะเคลื่อนขบวนไปตามถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถึงแยกอโศกจะเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรัชดาภิเษกผ่านแยกฟอร์จูน ไปตามถนนรัชดาฯ จนถึงแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว จะเลี้ยวขวาเข้าถนนลาดพร้าว ตรงไปถึงบางกะปิ ถึงแยกบางกะปิจะเลี้ยวขวา ไปถึงแยกลำสาลี แล้วจะเลี้ยวขวาอีกครั้งเข้าถนนรามคำแหงตรงไปตามถนนรามคำแหงจนถึงแยกพระราม 9 ตรงไปแยกคลองตัน แล้วตรงไปแยกพระโขนง เลี้ยวขวาเข้าถนนพระราม 4 จากนั้นตรงไปจนถึงสีลม แล้วเข้าวงเวียนโอเดียน เยาวราช ผ่านพาหุรัด แล้วเคลื่อนขบวนไปฝั่งธนบุรี ก่อนที่จะกลับเข้าเวทีปราศรัยที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน ในเวลา 18.00 น. กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ประเมินตัวเลขจำนวนผู้ชุมนุมในวันนี้ไม่น้อยกว่า 100,000 คน รถจักรยานยนต์ ประมาณ 10,000 คัน และรถยนต์ประมาณ 7,000 คัน

นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงการเคลื่อนขบวนของกลุ่มเสื้อแดงว่า เน้นคอนเซปต์ว่าเป็นการขอบคุณและปลูกต้นรักให้แก่คนกรุงเทพฯ ที่ต้อนรับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่มาจากต่างจังหวัด จึงจะเป็นขบวนที่ผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่มีการปราศรัยทางการเมืองที่เข้มข้น จะเป็นการตีกลอง ร้องเพลงแบบฉิ่งฉาบทัวร์ เพื่อสร้างความสนุกสนาน สลับกับการขึ้นปราศรัยขอบคุณคนกรุงเทพฯ เน้นความรื่นเริงเถิดเทิงไปตลอดการเคลื่อนขบวน

ในเวลา 18.30 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แถลงว่าการเคลื่อนพลของกลุ่มคนเสื้อแดงถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ที่มีมวลชนออกมาเคลื่อนไหวมากที่สุด มีชาวกรุงเทพมหานครแสดงความตอบรับเป็นอย่างดียิ่ง สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าคนกรุงเทพมหานครไม่เอานายอภิสิทธิ์ เวชาชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการนี้ขออภัยชาวกรุงเทพหมานครที่ทำให้ไม่สะดวกบ้าง และขอขอบคุณที่ให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง ยืนยันว่าที่ทำลงไปก็เพื่อให้ลูกหลานมีสิทธิเสรีภาพ ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าถูกขว้างขวดบนถนนระหว่างการเคลื่อนพล ยืนยันว่าไม่มีเพราะมีการขว้างก่อนหน้านี้ พอตนไปถึงก็ได้พูดจาทำความเข้าใจจนเหตุการณ์สงบลง

นายณัฐวุฒิกล่าวด้วยว่า นปช.ไม่ปิดประตูการเจรจาเพราะการเจรจาเป็นแนวทางที่ดีที่สุด แต่ไม่ต้องการเจรจากับนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยจะขอเจรจากับผู้มีอำนาจสูงสุดคือนายอภิสทธิ์ในเงื่อนไขเดียวคือยุบสภาทันที หลังจากยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่จึงมาเริ่มกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ โดยจะเริ่มจากการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ

ถัดจากการเคลื่อนพลแดงทั้งกรุงเทพฯ ได้ 2 วัน คือในวันที่ 22 มีนาคม 2553 นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน อ่านแถลงการณ์เรื่อง "ยืนยันข้อเรียกร้องยุบสภา พร้อมเจรจากับนายกฯ"

"นปช.ยืนยันให้ยุบสภาทันทีเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน นปช.ไม่มีข้อเรียกร้องอื่นใดนอกเหนือจากนี้ นปช. ยินดีให้มีการเจาจาโดยผู้เจรจาคือผู้มีอำนาจเต็มของแต่ละฝ่าย ฝ่ายรัฐบาลต้องเป็นตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะมีอำนาจตัดสินใจยุบสภา เมื่อยุบสภาแล้ว ทุกกลุ่มทุกฝ่ายต้องสลายตัวทันทีเพื่อให้ประเทศชาติกลับสู่ปกติ และต้องเปิดโอกาสให้ทุกพรรคหาเสียงเต็มที่โดยไมมีกีดขวางให้การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นเครื่องตัดสินความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายต้องยอมรับ เพื่อให้ประเทศต้องเดินหน้าต่อไปได้"

รุ่งขึ้นวันที่ 23 มีนาคม นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังธรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการกลุ่มสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ให้ชาวกรุงเทพมหานครรวมตัวกันเพื่อต่อต้านความรุนแรง รวมทั้งให้อยู่ในที่ตั้งเพื่อเฝ้าระวังเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง

จากนั้นในวันที่ 25 มีนาคม 2553 นายสุพร อัตถาวงศ์ หรือ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ (แรมโบ้อีสาน) แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) พร้อมแกนนำคนอื่น อาทิ นักร้องเพลงลูกทุ่ง นายวันชนะ เกิดดี และอดีตดาวตลกคาเฟ่ นายเจ๋ง ดอกจิก รวมทั้งผู้ชุมนุมทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กที่สมัครใจได้ทำการโกนศีรษะเพื่อประท้วงนายกรัฐมนตรีและขับไล่รัฐบาล รวมทั้งทำพิธีสาปแช่งนายกรัฐมนตรี โดยมีนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงโกนผมให้นายสุพร ขณะที่พระสงฆ์ประมาณ 15 รูป โกนผมให้แก่ผู้ชุมนุม บนเวทีหลักสะพานผ่านฟ้าลีลาศ


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 30 เมษายน-6 พฤษภาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (47)

ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นก่อนรัฐบาลเสนีย์ 1

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 4 เมษายน 2519 ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะด้วยเสียงมากที่สุดจากจำนวนพรรคการเมืองที่ได้ผู้แทนราษฎรทั้ง 19 พรรค คือ 114 ที่นั่ง รองลงมาคือพรรคชาติไทยได้ 56 ที่นั่ง ในจำนวนนี้พรรคการเมืองที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เข้ามานั่งในสภาหินอ่อนเพียง 1 คนถึง 9 พรรค ส่วนสมาชิกวุฒิสภายังคงเป็นชุดเดิม มี 100 คน รวมสมาชิกรัฐสภา 379 คน แม้กระทั่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม นายกรัฐมนตรี ก็พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ดังนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งรัฐบาลผสม 4 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำร่วมกับพรรคชาติไทย ที่นำโดย พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร พรรคธรรมสังคม นำโดย พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ และ พรรคสังคมชาตินิยม นำโดย นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์

และจากขบวนการ "ขวาพิฆาตซ้าย" ในช่วงที่ผ่านมาปีเศษ ผลการเลือกตั้งในคราวนี้ปรากฏว่าพรรคการเมืองในแนวทางสังคมนิยมทั้ง 3 พรรคได้รับเลือกเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพียง 6 คนเท่านั้น คือ พรรคพลังใหม่ 3 คน พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 2 คน และ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม 1 คน

ทั้งนี้ในขณะที่ปัญหาการทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ที่มีลักษณะ "เปิดปากแผล" ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการลุกขึ้นเรียกร้องความเป็นธรรมและชุมนุมรวมตัวกันเคลื่อนไหว ทั้งในส่วนชาวนาในทุกภูมิภาค กรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมที่เติบโตขยายตัวเพิ่มมากขึ้นหลังการนำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมมาใช้ เพื่อผลักดันในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่มีแรงงานราคาถูกกรองรับการขยายกำลังการผลิตของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม ปัญหาแรงงานจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญในเมืองใหญ่ที่มีการประกอบการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

ประกอบกับสมมติฐานด้านการข่าวของฝ่ายรัฐและความหวาดกลัวการเติบโตของพลังประชาชน ขบวนการ "ขวาพิฆาตซ้าย" จึงดูเหมือนจะเร่งมือหนักขึ้น โดยหวังจะทำลายขวัญและกำลังใจ หรือกำราบจิตใจลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จนมีลักษณะ "ประชาธิปไตยเบ่งบาน" จากต้นปี 2519 การสังหารทางการเมืองจึงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีลักษณะอุกอาจหวังกดขวัญการเคลื่อนไหวและยับยั้งขบวนการประชาชน

เริ่มจากวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายปรีดา จินดานนท์ นักศึกษามหิดลและนักดนตรีวงดนตรีกรรมาชน ถูกรถชนเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำที่หน้ามหาวิทยาลัย ถนนพระรามหก

ต่อมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ มีคนร้ายพยายามขว้างระเบิดเข้าใส่ที่ทำการพรรคพลังใหม่ในกรุงเทพฯ แต่เกิดความผิดพลาดทำให้นายพิพัฒน์ กางกั้น เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และนายประจักษ์ เทพทอง บาดเจ็บสาหัสจนต้องถูกตัดแขน ทั้งนี้จากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบบัตรสมาชิกกระทิงแดงในตัวของบุคคลทั้งสอง จึงทำให้มีหลักฐานอย่างชัดเจนว่ากระทิงแดงคือผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิบัติการเช่นนี้ แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการอย่างไรเลยต่อกลุ่มกระทิงแดง ในทางตรงข้าม พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี กลับแถลงว่า เป็นการจงใจสร้างสถานการณ์เพื่อหาเสียงในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 4 เมษายน

ขณะที่ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายเผด็จ ดวงดี ที่ปรึกษาของกระทิงแดง ก็ประกาศหลักการทำงานของกลุ่มกระทิงแดง ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนอาชีวะที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในกรณี 14 ตุลาฯ แต่ในเวลาต่อมามีหน่วยงานบางหน่วยที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคงของรัฐเข้าไปมีอิทธิพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ้างวานให้ปฏิบัติงานในลักษณะก่อความรุนแรงอย่างต่อเนื่องว่า "...จำเป็นต้องใช้ระเบิดเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้คงอยู่ในประเทศไทยต่อไป"

18 กุมภาพันธ์ นายอมเรศ ไชยสะอาด นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายการเงินของศูนย์นิสิตฯ ถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างไปออกค่ายฯที่อำเภอด่านขุนทด นครราชสีมา

และมาถึงกรณีสังหารอย่างอุกอาจที่บ่งชี้ถึงความรุนแรงทางการเมืองที่หวนกลับมาอีกหลังยุคกวาดล้างในสมัย ป.พิบูลสงคราม คือ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นายบุญสนอง บุญโยทยาน อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งลาออกจากราชการมาร่วมก่อตั้งและดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคสังคมนิยม ถูกคนร้ายดักยิงเสียชีวิตที่หน้าประตูบ้านขณะกลับจากงานเลี้ยง

ตามมาด้วยการวางระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คนที่โรงเรียนช่างกลพระรามหก ในวันที่ 3 มีนาคม ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนคือ นายดิลกชัย สุนาถวณิชย์กุล นั้นถูกกล่าวมาตลอดว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา และเคยถูกลอบยิงได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2518 มาก่อนหน้านั้นแล้ว และคนร้ายได้ประกาศว่าเป็นการ "สั่งสอนฝ่ายซ้ายให้รู้สำนึก"

วันที่ 21 มีนาคม มีการขว้างระเบิดใส่ขบวนของนักศึกษาประชาชนที่เดินขบวนต่อต้านฐานทัพอเมริกา ที่บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์สยาม มีผู้เสียชีวิต 4 คน คือ นายกมล แซ่นิ้ม นายนิพนธ์ เชษฐากุล นายแก้ว เหลืองอุดมเลิศ และ นายเธเนศร์ เขมะอุดม

และก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่กี่วัน คือในวันที่ 24 มีนาคม มีการขว้างระเบิดอีกครั้ง ขณะที่นายสมหวัง ศรีชัย ผู้สมัครพรรคพลังใหม่ กำลังปราศรัยหาเสียงที่วัดหนองจิก อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท โดยมีประชาชนสนใจร่วมฟังอยู่ราว 200 คน ปรากฏว่าระเบิดไม่ถูกนายสมหวัง แต่กลับทำให้ประชาชนที่ฟังการหาเสียงเสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บอีก 10 คน

ผลต่อเนื่องอีกประการหนึ่งจากความพยายามก่อเหตุความรุนแรง คือขบวนการ "ปลุกผีคอมมิวนิสต์" ทั้งนี้เนื่องจากพื้นฐานในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยใน ช่วงดังกล่าว เป็นการเปิดมิติทางความคิดในด้านสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้คน "ชั้นล่าง" ของสังคมไทย ที่ถูกกดไว้ใต้แอกเผด็จการมานานนับจากการรัฐประหาร 2490 ที่มุ่งโค่นล้มการอภิวัฒน์สยาม 2475 โดยพุ่งเป้าไปที่นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าผู้ก่อการสายพลเรือนดังได้กล่าวถึงมาก่อนหน้านี้แล้ว

หลังจากที่บวนการนิสิตนักศึกษามีทิศทางลงสู่และเชื่อมประสานตนเองเข้ากับกลุ่มผู้ใช้แรงงานในเขตอุตสาหกรรมเมืองและกลุ่มชาวไร่ชาวนาในชนบท ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยในเวลานั้นจึงพุ่งเป้าไปที่ "การแทรกซึมของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์" และเหตุการณ์สำคัญก็มาถึงในวันที่ 23 เมษายน เมื่อมีการจับกุมวิชาการและกรรมกร 9 คน ที่เขตโรงงานอุตสาหกรรมอ้อมน้อยและสามพรานในข้อหาคอมมิวนิสต์ บุคคลที่ถูกจับนำโดยนายสุภาพ พัสอ๋อง ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมทอผ้า นางสาวนิภาพรรณ พัฒนไพบูลย์ หรือปัจจุบันคือ นางสุณีย์ ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไปหมาดๆ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 6-13 กุมภาพันธ์ 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8