14 พฤษภาคม เปิดฉากเส้นทางเลือดมุ่งสลายการชุมนุม
14 พฤษภาคม นับจากเวลา 12.00 น. เป็นต้นไป กำลังทหารปิดการจราจรจากบริเวณถนนสาทรเหนือมุ่งหน้าถนนพระรามที่ 4 และเริ่มเคลื่อนพลเข้าแยกวิทยุ ในระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ ขณะเดียวกันกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกส่วนหนึ่งเคลื่อนเข้าไปปิดล้อมและ พยายามตัดขาดกลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อประกาศว่านากยกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดฉากสงครามกลางเมือง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดความแตกแยกในกองกำลังความมั่นคง สถานทูตอเมริกันและอังกฤษปิดด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ราว 13.30 น. มีการปะทะกันระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี ทางฝ่ายเจ้าหน้ายิ่งด้วยอาวุธปืนลูกซอง ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงตอบโต้ด้วยประทัดยักษ์และพลุตะไล มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย จากการปะทะกันบริเวณหน้าสวนลุมไนท์บาซาร์ จากนั้นนับจากเวลา 14.00 น. สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศรายงานตรงกัน ว่า ฝ่ายทหารทหารยิงกระสุนจริงจากสวนลุม มีผู้สื่อข่าวต่างชาติ และนายสุบิน น้ำจันทร์ ช่างภาพหนังสือพิมพ์มติชน ถูกยิงบริเวณขาขวา ได้รับบาดเจ็บ
15.00 น. มูลนิธิร่วมกตัญญูรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายกลุ่ม นปช. ที่บริเวณหน้าบ่อนไก่ ใกล้สนามมวยลุมพินี ถนนพระรามที่ 4 มีผู้ถูกยิงมาส่งที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1 และเสียชีวิตแล้ว 1 คน คือ นายอินแตง เทศวงษ์ อายุ 33 ปี ถูกยิงเข้าที่หน้าอกด้านขวา
15.20 น. ทหารและกลุ่มคนเสื้อแดงยังมีการปะทะกันบริเวณแยกราชปรารภ เสียงปืนยังคงดังขึ้นเป็นระยะ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้ถอยร่นไปบริเวณแยกประตูน้ำ ถนนราชปรารภทั้งสองฝั่ง และบริเวณสถานีรถไฟฟ้าราชปรารภ
เจ้าหน้าที่ของศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 12 ราย จากเหตุการณ์ปะทะในช่วงเช้าระหว่างกองทัพและกลุ่มคนเสื้อแดง
จากนั้นในเวลา 15.35 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจโดย "คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ออกแถลงการณ์ 4 ข้อ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต
- 1. ยุติการใช้เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ พร้อมอาวุธสงครามร้ายแรง ทำการสลายการชุมนุมของประชาชนโดยทันที และสั่งให้เจ้าหน้าที่กลับกรมกองที่ตั้ง
2. ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศในทุกจังหวัดโดยทันที
3. เปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยทันทีเพื่อหาทางออกทางการเมืองโดยสันติวิธี
4. ร่วมเจรจาหาแนวทางปรองดองอย่างแท้จริงกับทุกฝ่ายในชาติ เพื่อให้ประเทศชาติมีประชาธิปไตยและความยุติธรรม และประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้การปรองดองต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม เมตตาธรรม และความจริงใจ
จากนั้นในเวลา 16.10 น. แกนนำ นปช.แถลงมติของที่ประชุมแกนนำ เรียกร้องให้ทหารหยุดยิง ยกเลิกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ให้นายกรัฐมนตรียุบสภาทันที โดยไม่ให้นายอภิสิทธิ์ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ พร้อมทั้งให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในฐานะผู้อำนายการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ต้องเข้าสู่กระบวนยุติธรรมเช่นเดียวกับ นปช.
แต่แล้วคำตอบที่การชุมนุมคนเสื้อแดงได้รับจากรัฐบาลผ่านการปฏิบัติการของหน่วยกำลังในพื้นที่ภายใต้การดูแลสั่งการของ ศอฉ. ก็คือ ในเวลา 16.20 น. เจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการอยู่ที่แยกบ่อนไก่ ถนนพระรามที่ 4 ได้รุกคืบคุมพื้นที่อีกครั้ง ด้วยการกลับมาวางลวดหนามปิดล้อมเส้นทางเข้าออกพื้นที่การชุมนุมหลังจากกลุ่ม นปช. ได้รุกเข้ามานำออกไปก่อนหน้านี้ โดยตลอดเวลามีเสียงคล้ายปืนและประทัดดังอย่างต่อเนื่อง โดยยุทธวิธีของฝ่ายทหารในปฏิบัติที่อ้างว่า "เป็นการขอคืนพื้นที่" นั้นมีการใช้ใช้ทั้งกระสุนจริง และแก๊สน้ำตาเข้าเคลียร์พื้นที่ ทั้งนี้ในเวลา 16.40 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หน.ศอฉ. ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 93/2553 ประกาศห้ามเข้าถนนพระรามที่ 4 โดยผู้ฝ่าฝืน มีโทษจำคุก 2 ปี
เวลา 17.30 น. กำลังทหารเพิ่มกำลังเข้ายึดพื้นที่บริเวณประตูน้ำ ส่วนทางเวที นปช. นายณัฐวุฒิขึ้นปราศรัยเรียกร้องประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่การชุมนุม เข้าร่วมกดดันขับไล่นายอภิสิทธิ์ให้ยุบสภาโดยไม่อยู่รักษาการณ์ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และในเวลา 18.00 น. นายปริญญา เทวานฤมิตกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เมื่อครั้งเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ 2535" ได้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เสนอให้รัฐบาลหยุดยิง เปิดทางนปช.ยุติการชุมนุมด้วยตัวเองเอง แล้วเปิดการเจรจารอบใหม่ระหว่าง 2 ฝ่าย
ในเวลาใกล้เคียงกัน เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นหน้าเวทีคนเสื้อแดง โดยเกิดเสียงคล้ายปืนดังขึ้น และมีระเบิดควันขว้างลงมาหลังเวที ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 15 คน เวลา 18.40 น. กำลังทหารหน่วยหนึ่งพร้อมรถหุ้มเกราะเคลื่อนที่เข้าไปยังแยกศาลาแดง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าต่อต้านด้วยการขว้างขวด ระเบิดขวด และระเบิดควันเข้าใส่ ในขณะที่ฝ่ายทหารประกาศเตือนเตือนว่าจะนับหนึ่งถึงสามแล้วจะยิงทันที ซึ่งเมื่อสิ้นเสียงนับเสียงปืนจากฝ่ายทหารก็ดังขึ้น
เวลา 21.00 น. บริเวณถนนสาทร ปรากฏว่ากำลังทหารตั้งแนวป้องกันปิดถนน ไม่ให้ประชาชนผ่านเข้าไปยังถนนพระรามที่ 4 ตามประกาศของ ศอฉ. ทั้งนี้มีการยิงปืนเป็นระยะเข้าใส่ประชาชนที่ขับรถไปตามเส้นทางถนนสาทร ช่วงบริเวณแยกไฟแดงซอยสาทร 6 หน้าโรงแรมเอฟเวอร์กรีน ปรากฏว่ามีผู้ถูกยิงเข้าบริเวณตาตุ่มข้อเท้าด้านขวาได้รับบาดเจ็บไป 1 ราย เจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลตากสิน นอกจากนี้ ฝ่ายทหารยังใช้ปืนยิงขู่ประชาชนที่ขับรถเข้ามาตามถนนสาทร มุ่งหน้าถนนพระรามที่ 4 อีกด้วย
นายเพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ เปิดเผยว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เมื่อเวลา 22.00 น. มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 101 ราย เสียชีวิต 7 ราย ส่วนมากถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ศีรษะ ปาก และช่องท้อง ต่อมาสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีผู้บาดเจ็บ 125 ราย และเสียชีวิต 10 ราย ส่วนตามข้อมูลของเดอะเทเลกราฟนั้น ได้รายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 16 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 157 คน
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 25 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน