Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อย่าให้ระบอบรัฐปฏิกิริยาบิดเบือนสัจธรรม

อย่าให้ระบอบรัฐปฏิกิริยาบิดเบือนสัจธรรม

ทุกรางวัลของรัฐเผด็จอำนาจ มีจุดมุ่งหมายเพียงประการเดียว คือ "พิทักษ์ระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการ" เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม หรือศีลธรรมจริยธรรมใดก็แล้วแต่ ล้วนแต่ส่งเสริมระบบคิดปกปิดบิดเบือนสัจธรรม มอมเมาจิตสำนึกทาสไพร่ที่ปล่อยไม่ไป ให้หลงใหลได้ปลื้มอยู่ในความฉ้อฉล ที่กดขี่ขูดรีดผู้คน แบ่งแยกประชาชนเป็นพวกและฝ่าย ท้ายที่สุดเพื่อยืนยันระบอบ "แบ่งแยกแล้วปกครอง"

เมื่อใดที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 51% ตระหนักในเสรีภาพและความเสมอภาค ก็สามารถสร้างประชาธิปไตยได้โดยพื้นฐานแล้ว ที่สำคัญคือพวกเรานี้เองเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง "ประชาธิปไตย" "รัฐธรรมนูญ" และ "การเลือกตั้ง" ในบริบทที่ถูกต้องและจำเป็นกันแค่ไหน

นั่นคือ อย่าหลงทางว่ารัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งสร้างประชาธิปไตย หากต้องทำความเข้าใจว่าต้องให้ประชาธิปไตยที่แท้จริงสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง

เบื้องต้นจากการสร้างความเข้มแข็งทางหลักคิดในหมู่มิตรสหายประชาธิปไตย เป็นการลงฐานรากที่แข็งแรง จากนั้นจึงใช้ความอดทนและความมีใจกว้างทำความเข้าใจไปยังพี่น้องประชาชนฝ่ายกลาง ที่อยู่ในภาวะติดตามสังเกตความเป็นไปของสังคม ตามมาด้วยพวกฝ่ายกลางประเภท "อะไรก็ได้ที่ไม่กระทบวิถีชีวิตสะดวกสบายที่คุ้นชิน" จากนั้นฝ่ายประชาธิปไตยจึงใช้หลักเหตุผลที่เข้มแข็งลงตัวและทรงพลัง รณรงค์ตีโต้แนวความคิดของฝ่ายปฏิกิริยาให้แตกพ่ายไป ทั้งนี้ก็โดยการตระหนักแล้วว่า "สัจธรรม" อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ความจำเป็นเร่งด่วนประการแรก "ต้อง" พา "มิตรสหายฝ่ายประชาธิปไตย" ฝ่าข้าม "วาทกรรม" เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญให้ได้เสียก่อน จากนั้นจึงจูงประชาชนก้าวออกจากความมืดสู่แสงสว่าง

แบบวิธีในการรักษาอำนาจการปกครองที่เผด็จอำนาจแฝงวาทกรรมประชาธิปไตย นั่นคือ ฝ่ายปฏิกิริยาจะทอดเวลาระบอบเผด็จอำนาจ ไม่ว่าจะในรูปเบ็ดเสร็จเช่นยุคหลังรัฐประหาร 2500-2501 หรือซ่อนรูปเช่นที่เห็นชัดเจนหลังรัฐประการ 2549-2553 ไประยะหนึ่ง อย่างที่เคยทำมาแล้วช่วง 2517-2516; 2519-2522; 2549-2550 ให้ประชาชน "หิว" การเลือกตั้งจอมปลอมโดย "รัด-ทำ-มะ-นูน" เผด็จการ จากนั้นก็ปล่อยให้วังวนอุบาทว์ของนักเลือกตั้ง/นักการเมืองสามานย์ สร้างความเลวร้ายอีกครั้ง ตามมาด้วยการ "ฆาตกรรมรัฐ" อีกหน

ประชาชนมีทางเลือกด้วยการ 1.โค่นระบอบเผด็จการ 2.สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ 3.สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน

เรา - ประชาชนไทยผู้รักในเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย จำเป็นต่องศึกษาทุกแนวคิดของระบอบประชาธิปไตย ให้หนักแน่นลึกซึ้งอย่างแท้จริง เพื่อที่จะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า "เราต้องทำอะไร" และ "ทำอย่างไร" ... เราเสียเวลากับ "ตาบอดคลำช้าง" "ลองผิดลองถูก" มามากเกินไปเสียแล้ว; จุดสำคัญคือ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องสร้างเอกภาพในการทำความเข้าใจ "จุดมุ่งหมายที่แจ่มชัดร่วมกัน" และ "ทิศทางที่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง" ให้ได้ในเวลาไม่ช้านี้

แต่การสร้างประชาธิปไตย ไม่ใช่การ "แก้แค้น" หรือ "เอาคืน" นั่นหมายความว่า การเปลี่ยนผ่านจะไม่อาจดำเนินไปบนความเกลียดชัง ถึงที่สุดแล้ว การเปลี่ยนผ่านต้องมาถึงอย่างแน่นอน ไม่มีพลังอำนาจที่ปฏิกิริยาใดจะทัดทานได้ แต่ถ้าคิดและดำเนินการผิดพลาด ความเสียหายจะมาก และเวลาจะทอดยาวนานออกไป

ฝ่ายปฏิกีริยาหรือฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ประกอบด้วย 3 กลุ่ม 1.อำมาตย์ (ผู้ปกครองในระบบราชการระดับสูงที่สั่งสมและสืบทอดจารีการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่) 2.อภิชน (คนที่มีและใช้สิทธิเหนือคนธรรมดาสามัญเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตน) 3.ขุนศึกฟาสซิสต์ (ทหาร/ตำรวจและ/หรือกองกำลังติดอาวุธอื่นๆของรัฐที่อยู่ในตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองกำลังระดับสูง)

ฝ่ายประชาธิปไตยมีภารหน้าที่ชี้ให้ประชาชนส่วนข้างมากเข้าใจได้ว่า "พลังปฏิกิริยา" นี้เอง คือตัวการขัดขวางความเจริญก้าวหน้า บนพื้นฐานที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคภายใต้กติกาอย่างเดียวกัน ซึ่งทำให้ประเทศไม่พัฒนาอย่างมีอารยะ และประชาชนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยพื้นฐาน

ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่หยุดตัวเองไม่ได้ ทั้งที่เงื่อนไขบอกว่าถึงเวลา "หยุด" จะด้วยเงื่อนไขอะไรก็ตาม; พลังอื่นๆ ที่ตระหนักถึงความจำเป็น หรือยิ่งไปกว่านั้น "ความจำต้องเป็น" จะเป็นผู้ "หยุด" เสียเอง; ความรุนแรงและความร้ายแรงอยู่ที่ความพยายาม "ฝืน" และ "ขัดขืน";

นี้คือสัจธรรมในประวัติศาสตร์

โค่นระบอบเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน
เสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพ หรือโซ่ตรวน
ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนจงเจริญ
ด้วยภราดรภาพ

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

"นักการเมืองอาชีพ"

"นักการเมืองอาชีพ"
คือ "คนที่มีอาชีพเล่นการเมือง"


มันอดใจไม่ได้น่ะครับ เห็นการอวยพรวันเกิดของ "นักการเมืองอาชีพ" กับ "นัก เลือกตั้ง"

แล้วการเมืองก็ "ถูก" มนุษย์เผ่าพันธุ์ที่ว่านี้ "เล่น" จน "กลวง" ไปหมด ที่สำคัญคือหลัง "รัดทำมะนูน" ที่ใช้เวลาร่างนานที่สุดในโลก คือ 2501 - 2511 เผ่าพันธุ์นี้เล่นกัน เริ่มที่ "ประชาธิปัตย์" กับ "สห ประชาไทย" ในการเลือกตั้ง 2512

หลัง "รัฐธรรมนูญ 2517" เราได้พรรคการเมือง 3 พรรคที่เข้ามา "ทำงานการเมือง" คือ พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และ พรรคพลังใหม่ ซึ่งในที่สุด ถูก "ฆาตกรรม" หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เช่นเดียวกับ พรรคสหชีพ และ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ ที่ถูกฆาตกรรมมาแล้ว ช่วงปี 2490 – 2495

"ผู้แทนปวงชน" ที่อาสาเข้ามา "ทำงานการเมือง" ในฐานะปากเสียงให้พี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ต้องถูกจำกัด ด้วย 3 วิธี (1) "ฆ่า" เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง, ดร.ทองเปลว ชลภูมิ, นายเตียง ศิริขันธ์, ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน (2) "ไล่" เช่น นาย ปรีดี พนมยงค์, พระยาพหลพลพยุหเสนา, พรายาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิ์อัคนี และ ล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (3) "กร่อน" คือกัดกร่อนละลายอุดมการณ์ให้มายืนในฝ่ายตรงข้ามประชาชน เช่น ยกตัวอย่างไม่ได้

เดี๋ยวนี้จับคนไปยิงทิ้งเหมือนสมัย ป.พิบูลสงคราม หรือ ยัดเยียดข้อหาคอมมิวนิสต์เพื่อนำตัวไปขึ้นตะแลงแกงเหมือนสมัย ส.ธนะรัชต์ หรือ ถ.กิตติขจร ไม่ได้แล้ว เพราะโลกมันอารยะเกินกว่าที่ "เผ่าพันธุ์หินชาติ" นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ จึงหันมาใช้กระบวนการประดิษฐ์ "สิ่งเทียมกฎหมาย" ขึ้นมาไว้ใช้งาน ผ่าน "องค์การลากตั้ง" ที่ร้อยโยงไว้ด้วย "โซ่ที่มองไม่เห็น" หรือเรียกง่ายๆว่า "ตุลาการวิบัติ" จัดการกวาดขยะไว้ใต้พรมแห่งการเผด็จอำนาจ

ทั้งหลายทั้ง ปวง คือ ประเทศนี้ยังไม่เข้าใกล้ "ประชาธิปไตย" ช่วง 2475 - 2489 หรือ 2517 - 2519 หรือ 2544 - 2549 สักกี่มากน้อย ไม่ว่าชื่อที่ "อุปโลกน์" เรียกจะเป็นอย่างไร เงื้อมเงาของการเผด็จอำนาจโดยกลุ่ม "อำมาตย์-อภิชน-ขุนศึกฟาสซิสต์" ยังคงครอบคลุมและครอบงำทุกกิจการการเมือง-การปกครอง ของประเทศที่อ้างเอาความเป็น "ศูนย์กลางพุทธศาสนา" หลังกึ่งพุทธกาล ทั้งๆที่ในปีนั้นเองที่เป็นการเถลิงอำนาจสำคัญของ "ระบอบเผด็จอำนาจ" ที่เข้มแข็งที่สุด นับจากการสิ้นสุดของ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์"

หนทางข้างหน้าของผู้รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม จากนี้ไป คือทุ่มเทสรรพกำลัง "สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์" ที่เป็นประชาธิปไตยทั้งในทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจ ในทางสังคมและวัฒนธรรม พร้อมกับการ "สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน" ที่เป็นหลักประกัน "สิทธิตามธรรมชาติ" ของ พลเมืองทุกคน นั่นคือ การประกัน "สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม"

ที่สำคัญและเป็นภารกิจเบื้องต้น เป็นภารกิจเฉพาะหน้า หากเป็นภารกิจยากเย็นแสนเข็นในการสร้างประชาธิปไตย คือต้องกำจัดทุกระบอบที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยไปให้พ้น ไม่ให้มีโอกาสงอกเงยฟื้นคืนขึ้นมาได้เป็นอันขาด นั่นคือการประกาศไว้เป็นเจตนารมณ์แห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่ว่า "พลเมืองทุกคินมีสิทธิเสรีภาพในการลุกขึ้นต่อต้านการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย"

คนรุ่นเราทั้งที่สวมเสื้อแดง หรือเสื้อสีอื่นทุกสี ที่กระโจนเข้าร่วมขบวนแถวประชาธิปไตยในรอบ 3 ปีมานี้ มีพันธกิจร่วมกัน ในการ "ต่อต้านการรัฐประหาร" "ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ" และ นำ "ประชาธิปไตย" มาสู่ปิตุภูมิให้จงได้ในช่วงชีวิตของเรา เราคงต้องตระหนักแก่ใจกันว่า ครั้งนี้การตื่นตัวในสำนึกประชาธิปไตยของพี่น้องประชามหาชน เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ซึ่งควรที่เราจะร่วมกันพิทักษ์และสืบทอดเจตนารมณ์ที่ผมขอใช้ว่า "เจตนารมณ์วีรชนประชาธิปไตยแห่งด่านดินแดง 13 เมษายน 2552" นี้เอาไว้ให้ได้

หากความหวังยังมี ก็อยู่ที่ประชาชนและประชาชนเท่านั้น

ด้วย ภราดรภาพ



โพสต์ครั้งแรก 19 สิงหาคม 2009, 19:04:18
http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=7157.0
http://arinwan.redthai.org/index.php?topic=112.0

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คนเล็กๆ ร่วมกันทำสิ่งยิ่งใหญ่

คนเล็กๆ ร่วมกันทำสิ่งยิ่งใหญ่


ฝ่ายประชาธิปไตยจำต้องตระหนักถึง "คนเล็กๆ ร่วมกันทำสิ่งยิ่งใหญ่" แล้วเราแต่ละคนจะเป็นเพียงจักรเฟืองตัวหนึ่ง ในกลไกสร้างสรรค์ประชาธิปไตยทั้งเครื่อง; จะไม่มีใครสำคัญกว่าใครยิ่งใหญ่กว่าใคร และนั่นคือความหมายของ "สหาย" ในการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย

เวลานี้พลังประชาธิปไตยก้าวเดินกันแล้ว แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือจังหวะก้าวที่สอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน เป็นความพร้อมใจ ไม่ใช่พร้อมเพรียง เป็นการร่วมก้าว ไม่ใช่ฉุดลากผลักดัน

และเหนือสิ่งอื่นใด ก่อนอื่นคือเราต้องตระหนักร่วมกันอย่างถ่องแท้ ว่า จุดหมายปลายทางของเราอยู่ที่ไหน เราต้องหยุดท่าที "ตาบอดคลำช้าง" ในขบวนประชาธิปไตยนับแต่นี้เป็นต้นไป

"รัฐธรรมนูญ" และ "การเลือกตั้ง" เป็นเพียงบริบทหนึ่งของ "ประชาธิปไตย" ถ้าประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยยังก้าวไม่พ้นอคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับประชาธิปไตย เราไม่มีวันสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้เป็นอันขาด เราจะได้การเลือกตั้งที่วนเวียนอยู่แต่เพียงกลุ่มก้อนการเมืองที่อิงผลประโยชน์ ที่ถึงที่สุดแล้ววันกันที่ "ฝ่ายไหน" ให้อะไรกับประชาชนมากน้อยกว่ากันเท่านั้นเอง

ปัญหาของเราคือ ประชาชน "ต้อง" ตระหนักและตื่นรู้ที่จะจัดการกับชีวิตของตนเอง โดยผ่านตัวแทนที่ไม่เพียง "รับฟัง" หากเป็น "ตัวแทน" จากรากฐานที่สุดของความต้องการ

ประชาชน "ต้อง" สร้างหลักประกันด้วยตนเองว่าไม่มีสิ่งใดมาแย่งยึด "อำนาจอธิปไตย" ที่เป็นของตนโดยชอบอีกต่อไป

ประชาชน "ต้องไม่" ก้มหัวให้แก่อำนาจนอกอธิปไตยใด เพียงเพื่อรับเศษเดนในโภคทรัพย์ที่อำนาจเหล่านั้นสูบกินมานานนับชั่วคน

ประชาชน "ต้อง" สามารถมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคอย่างเดียวกัน ภายใต้อำนาจรัฐชนิดเดียวกัน

เหล่านั้นเป็นทั้งคำเรียกร้องและเป็นทางทางออกเพียงประการเดียวสำหรับผู้รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรมไม่เพียงในวินาทีนี้ หากในทุกชั่วขณะ จนกว่าจะได้รับการยืนยันว่า เราทั้งหลายล้วนเกิดมาอย่างเสรี มีศักดิ์และสิทธิอย่างเต็มสมบูรณ์ในอันที่ดำรงความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน

สิ่งที่นักปรัชญาและนักวิชาการบนหอคอยงาช้างทำมาโดยตลอดคือ "อธิบายโลก"

แต่ที่นักปฏิวัติสังคมทำมาตลอดเช่นกันคือ "เปลี่ยนแปลงโลก"

ประชาชนไม่อาจฝากความหวังใดๆกับคนชั้นนำไม่ว่าจะนำในปีกไหน มีแต่ประชาชนเท่านั้นที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนไม่ต้องสูญเสีย "สถานภาพเดิม" ในฐานะผู้ได้เปรียบที่มีระดับลดหลั่นต่างกันออกไป สิ่งที่ประชาชนที่ดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ระบบระบอบที่เอารัดเอาเปรียบ ปลิ้นปล้อนตลบตะแลงมาตลอด จะสูญเสียไปคือ "โซ่ตรวน"

ให้เราตระหนักในความเป็นคนเล็กๆ ร่วมกัน หากมีอดุมการณ์ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน ในอันที่สร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นในประเทศนี้ แล้วสลัดแอกทางความคิดที่หวังพึ่ง "ใคร" หรือ "อะไร" เช่นที่เคยฝากความหวังมา แล้วลุกขึ้นหยัดยืน เคียงบ่าเคียงไหล่ก้าวเดินร่วมกันอย่างเสมอภาค ในสิทธิเสรีภาพ ที่จะสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคม

เมื่อประชาชนตระหนักในสิทธิโดยธรรมชาตินั้นเอง การก้าวเดินของขบวนประชาชาติไทยที่ถูกต้องชอบธรรมย่อมถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ชัยชนะที่แท้จริงของฝ่ายประชาธิปไตยในอนาคต.

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หากความหวังยังมี ก็อยู่ที่ประชาชน

หากความหวังยังมี ก็อยู่ที่ประชาชน


ช่วงใกล้เที่ยงคืนของวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ผมพบข้อความนี้ใน Facebook

อานนท์ นำภา:
วันนี้มี ข่าวร้ายที่สุดของการเป็นทนาย ความของผม
มีชาวบ้านที่ภาคอีสานที่ถูกจับ ตาม พรก.รวมกัน 5 จังหวัดกว่า 200 คน
เขาไม่มีทนาย
เขาไม่ไว้ใจทนายที่ไม่เข้าใจเขา
...เรา มีทีมทนายความประมาณ 10 คนซึ่งไม่เพียงพอ
มันมีปัญหาซ้อนปัญหาที่ผมพยายามทำความเข้าใจมันอยู่
หลาย คดีกำลังทยอยขึ้นศาล
หลายคดีถูกเกลี้ยกล่อมให้สารภาพ
หลายคดี ชาวบ้านไม่รู้หนังสือก็เซ็นๆ ไป
ผมไม่ต้องการคำว่าสู้ๆๆ อีกแล้ว
ผมต้องการคำว่า "เราจะช่วยกันยังไงดี"


********************************

ผม เคยถามแกนนำ นปช. ส่วนกลางคนหนึ่ง ที่เป็นคนดีมากๆ ไร้จริตมารยา ไม่มีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากมีพี่น้องส่วนภูมิภาคในจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือถูกจับข้อหาปิดถนน ตามที่ส่วนกลางชี้แนะไป ผมขอประกาศตรงนี้และเดี๋ยวนี้ว่า ค่าเช่าโฉนดไปประกันตัวสำหรับพี่น้องรากหญ้าชาวสิบกว่าคนนั้น คนละ 7,000 บาท : ไม่มี "หมา" สักตัวยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ หรือแม้แต่คำแนะนำช่องทางหรือให้กำลังใจ...

ไม่กี่วันมานี้ รับรู้มาว่าหลายกรณีของพี่น้อง "เสื้อแดง" รากหญ้าธรรมดาหรืออย่างมากก็เป็นแกนนำระดับชุมชน ซึ่งถูกควบคุมอยู่ตัวตาม "กฎ โจร" ที่ไม่ได้ผ่านการลงคะแนนเสียงรับรองเป็นกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตย ต้องเผชิญความยากลำบาก ที่เป็นเยาวชนก็มี เป็นนักศึกษาก็มี เป็นพี่น้องรากหญ้าก็มาก เมื่อบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายของอดีตแกนนำก็ดี หรือผู้ใกล้ชิดนักการเมืองหรือนักการเมืองระดับนำในการระดมประชาชนมาชุมนุมก็ดี คำอธิบายคือ "ตอนนี้ขยับตัวไม่ได้" "ทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้" "ถูกอายัดทุกอย่างหมดแล้ว"

ถึงตรงนี้ ผมไม่แคร์ว่าจะมีคนรังเกียจผมมากขึ้นหรือไม่ แต่ผมขอประกาศความรู่สึกว่าการสร้างประชาธิปไตย... ไม่ใช่แบบนี้

ผมเขียนข้อเสนอมาเป็นปีๆ โดยไม่ต้องการให้เกิดสภาพการณ์เช่นในช่วงที่ผ่านมาเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553... แต่เปล่าประโยชน์ และเมื่อถึงเวลา รากหญ้าต้องต่อสู้ดิ้นรนด้วยตัวของตัวเองเสมอมา....

สมัยพฤษภาทมิฬ ที่เรียกกันว่าม็อบมือถือ มีวีรชนจำนวนมากที่เสียสละในท้องถนนใส่รองเท้าฟองน้ำ แต่พวกที่ได้รับชัยชนะมีมือถือใส่รองเท้าหนังมียี่ห้อแทบจะทุกคน...  

และมันต่างอะไรกับช่วงสงกรานต์เลือด 13 เมษายน 2552 มันต่างอะไรกับกรณีสี่แยกคอกวัว 10 เมษายน 2553 และมันต่างอะไรกับกรณีนองเลือด 19 พฤษภาคม 2553 บ้าง

ถึงเวลานี้ สมควรแล้วหรือไม่ ที่จะยุติการเคลื่อนไหว "ซ่อนตรีน" ที่มีพื้นฐานกิจกรรมบันเทิง หรือเพลาๆกิจกรรมแบบคนชั้นกลางในเมืองลงบ้างได้แล้ว... เพื่อมุ่งไปสู่ประเด็นปัญหาในขอบเขตทั่วไปที่มีลักษณะเฉพาะหน้าอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกับที่ผมพยายามบอกให้ยุติการเคลื่อนไหวเพื่อแย่งอำนาจในการบริหารงบประมาณ โดยผ่านการเลือกตั้งภายใต้กรอบกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้แล้ว

ผู้ นำการต่อสู้รุ่นแล้วรุ่นเล่า มัวสาละวนพายเรือในอ่างอยู่กับกรอบการต่อสู้ของ "ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม" และ "ลัทธิเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" ในท่ามกลางการต้อสู้นั้น เกิดขั้วการเมืองขั้วแล้วขั้วเล่า ที่นำพาประชาชนรากหญ้าอันไพศาล ต่อสู้เพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้า ที่อาจถูกแย่งยึดกลับไปในชั่วพริบตา ด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจโดยพลังปฏิกิริยา ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยชนิดสุดโต่ง

ในคำแถลงนี้ขอเรียกร้อง ให้ "ผู้นำเหล่านั้น" ที่ประกาศตัวอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย จงตระหนักในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นในปิตุภูมิแห่งนี้ ยิ่งกว่าการนำพาประชามหาชนเดินวนเวียนอยู่แต่ในเขาวงกตแห่งชะตากรรม ที่อับจนเฝ้ารอและร้องขอการปลดปล่อยจากบนลงล่าง เยี่ยงบรรพบุรุษที่กล้ำกลืนฝืนทนมาช้านาน จากชั่วคนสู่ชั่วคน

เบื้องหน้าของประชาชาติไทย คือทางสามแพร่ง ซึ่งแพร่งหนึ่งคือเส้นทางของการก้าวพัฒนาไปสู่สังคมอารยะ ที่ประชามหาชนจะมีชีวิตอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคมวัฒนธรรม กับอีกแพร่งหนึ่งคือการถดถอยกลับไปสู่ความไร้อารยะ ที่ผู้คนส่วนหนึ่งมีชีวิตอยู่ในระบบเผด็จอำนาจอย่างต่ำต้อยน้อยหน้า ไร้สิทธิไร้เสียง ปราศจากโอกาสที่จะได้สัมผัสเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม

และในท่ามกลางสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเลือกนี้ ไม่มีทางที่ใครสักคนจะหลีกหนีไปจากวังวนแห่งการเปลี่ยนแปลงของมหายุคนี้ได้... ไม่ว่าใครทั้งนั้น หากการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยนี้ จะปรากฏเป็นจริงขึ้นมาได้ในยุคสมัยของเรา ก็อยู่ที่พลังของเรานี่เอง ไม่ได้หล่นมาจากไหน ดังคำของอัจฉริยะในโลกภาพยนตร์ "ชาร์ลี แชปปลิน" ผู้ถูกข้อหาคอมมิวนสิต์จากรัฐบาลอเมริกันอยู่ถึง 30 ปี ที่ว่า

"หากความหวังยังมี ก็อยู่ที่ประชาชน."

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทัศนะต่อการตอบโต้พวกล่าแม่มด

ทัศนะต่อการตอบโต้พวกล่าแม่มด
ในปีกปฎิปักษ์ประชาธิปไตย


มีความเห็นในหมู่มิตรสหายฝ่ายประชาธิปไตยบางส่วนเกี่ยวกับการการตีโต้พวกล่าแม่มด อาจเปรียบเทียบอย่างสามัญที่สุดว่า "ขี้" นั้น เอานิ้วไปจิ้มก็เหม็นติดนิ้ว

ขบวนประชาธิปไตยสมควรที่จะปฏิเสธการกระทำสามานย์ทั้งหมด ในทิศทางและรูปแบบเดียวกับฝ่ายปฏิกิริยาหรือฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย เช่นที่ผ่านมาในกระแสประณามการเคลื่อนไหวของ "พาล-ทะ-มาร" เมื่อ 2 ปีที่แล้ว วิธีการสามานย์อย่างเดียวกันนั้นไม่มีวันสร้างประชาธิปไตยได้ ฝ่ายประชาชนที่รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรม ควรมีจุดยืนที่ชัดเจนมั่นคงบนหลักการ "ประชาธิปไตยไม่อาจสร้างขึ้นได้ ด้วยความเกลียดชัง ความอาฆาตมาดร้าย และความกระเหี้ยนกระหือกระหายเลือด!"

การสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่อาจพัฒนาไปด้วยลมหายใจแห่งการล้างแค้น!!!

ขณะที่มีความเห็นบางส่วนเสนอความเห็นในประเด็นทหารเลวเลียบค่าย โดยชี้ว่าฝ่ายประชาธิปไตยต้องมีการเคลื่อนไหวในระนาบเดียวกันเป็นการตอบโต้ นั้น ย่อมไม่เสียหายหากเป็นการตอบโต้กลศึกสามานย์ทำนองนี้ในทางยุทธวิธี แต่ต้องย้ำยืนยันปฏิเสธการขยายความจนกลายเป็นการเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์ เพราะกาลเวลาจะเป็นตัวเยียวยาความเคียดแค้นชิงชังลงไปได้ในบางระดับของมวลชน ในขบวนประชาธิปไตย ซึ่งจะมีผลไม่มากก็น้อยทำให้กระแสสูงของการเปลี่ยนแปลงสังคมพลอยลดต่ำลงไปด้วย

สติสัมปัญญะ การรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้าน การส่งผ่านความจริงไปสู่มวลชนฝ่ายกลางที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการโฆษณาชวนเชื่อและการล้างสมอง พร้อมกับการพัฒนารากฐานความรู้ทางด้านประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แก่มวลชนผู้ใฝ่หาในสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม ย่อมเป็นการติดอาวุธทางความคิดอันทรงพลัง ซึ่งจะไปสู่การเป็นพลังขับเคลื่อนอันสำคัญ ผลักดันการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจาก "อำมาตยา-อภิชนาธิปไตย" ไปสู่ "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" อย่างแท้จริงในที่สุด.

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปรากฏการณ์เปลี่ยนสีแปรธาตุ ที่มีลักษณะทั่วไปของคนเดือนตุลาฯ

ปรากฏการณ์เปลี่ยนสีแปรธาตุ
ที่มีลักษณะทั่วไปของคนเดือนตุลาฯ

[ปรับปรุง]


มีคนเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นสิบปีมาแล้ว ว่าทำไมคนเดือนตุลา (มหาอุบาทว์) ถึงได้เปลี่ยนไปมากขนาด "ตี กลับ"; คำอธิบายชั้นต้นก็คือ คนเหล่านั้นไม่เคยเปลี่ยนธรรมชาติของตน นั่นคือธาตุแท้ความเป็น "ปัญญาชนชนชั้นนายทุนน้อย";  สิ่งนี้เกิดขึ้นในขบวนแถวการปฏิวัติ เสมอมาตลอดประวัติศาสตร์ นั่นคือ "การแกว่ง" ระหว่าง 2 ขั้วที่สุดโต่ง ที่เรียกกันว่า "ลัทธิฉวยโอกาส" กล่าวคือ

ลักษณะที่หนึ่ง ในยามที่การปฏิวัติขึ้นสู่กระแสสูง มวลชนตื่นตัวกันมหาศาล ดูเหมือนจะมีชัยชนะโดยเร็ว คนพวกนี้จะ "ฉวยโอกาสเอียงซ้าย" พูดง่ายๆคือ "แดงเกินหน้าสถานการณ์และมวลชน" ศิลปินจำนวนหนึ่งผลิตงาน "ซ้ายจัด" โดยอาศัยกลวิธีและประสบการณ์ทางศิลปะ สร้างงานที่แฝงด้วยลักษณะ "ปลอมปน"

ลักษณะที่สอง ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่ง ยามที่การปฏิวัติลดลงสู่กระแสต่ำ จากการถูกกดดัน ปราบปราม หรือมีความพ่ายแพ้ทางยุทธวิธี เกิดขึ้นต่อเนื่อง เกิดความคิด "เล็งผลร้าย" ในขบวนปฏิวัติ คนประเภทนี้ส่วนหนึ่งจะเกิดความคิดถดถอย เรียกหา "สันติภายใต้เงื้อมเงาฝ่ายปฏิกิริยา" อีกส่วนหนึ่งเกิดภาวะ "เปลี่ยนสีแปรธาตุ" ไปยืนอยู่ฝ่ายศัตรูประชาชน ลักษณะนี้เรียกว่า "ฉวยโอกาสเอียงขวา"

นักปฏิวัติที่แท้จริงในฝ่ายประชาชนจะไม่ถลำลึกไปสู่ "ลัทธิฉวยโอกาส" ทั้ง 2 ขั้ว ปมเงื่อนสำคัญคือ ยึดกุมจุดยืน อุดมการณ์ ทิศทาง และจังหวะก้าวตามสภาวการณ์หนึ่งๆ ได้อย่างมั่นคง

ณ วันนี้มี "อดีต" สมาชิกพรรคฯ จำนวนมาก "เปลี่ยนสีแปรธาตุ" กันไปมากแล้ว

มีแต่มวลชนที่เป็นรากหญ้า หรือนัยหนึ่งคนชั้นล่างที่เป็นพลังปฏิวัติแท้ๆเท่านั้นที่ไม่ไปไหน... และนี่คือสัจธรรมอย่างหนึ่งในการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตย หรือการปฏิวัติสังคมนิยม

สรุปก็คือ ท่าทีสำหรับ "พวกเปลี่ยนสีแปรธาตุ" และปรากฏการณ์การทำข้อตกลงที่เกิดจากการทรยศต่อประชาชนและต่อการปฏิวัติ คือ "ช่างหัวแม่มัน!"

*****************************************

ช่วงแห่งการเดินทางไกลไปสู่เขตป่าเขา เข้าร่วมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือ "กระแสสูง"; หลังนโยบาย 66/23 เริ่มจากปลายไตรมาสแรกของปี 2524 จนถึงปี 2528 เกิดปรากฏการณ์ "ป่าแตก" ช่วงนี้เองที่เกิด "การแกว่ง" และ "กระแสต่ำ" ในที่สุดการสลาย "ความคิดปฏิวัติ" ก็เกิดขึ้นทั่วขบวนปฏิวัติ "ประชาชาติประชาธิปไตย" ส่วนหนึ่งถดถอยไปสู่ความเป็น "สีขาว" ส่วนอีกพวกหนึ่งกระโจนเข้าการเป็น "ผู้ปฏิบัติงาน" ที่เอาการเอางานในฝ่ายปฏิกิริยา เช่น ฯลฯ

การเคลื่อนไหวพฤษภาทมิฬ นั้นมีอดีตคนเดือนตุลาเข้าร่วมฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ไม่น้อย แต่มาถึงช่วง 26 กุมภาพันธ์ 2549 จำนวนที่ว่าลดลงมาก เพราะส่วนหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นกลุ่มก้อนที่ค่อนข้างใหญ่ กระโดดไปยืนอยู่ฝ่ายต่อต้าน "ทุนนิยมสามานย์" จนมาถึงหลัง "โจรกบฏ 2549" ฝ่ายประชาธิปไตยกลายเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยในคนเดือนตุลาไปเสียแล้ว.

*****************************************

"วีรชนประชาชน" ไม่ใช่ "วีรชนเอกชน"

นั่นคือ หมดยุค "คนเก่งที่เป็นตัวบุคคล" แล้ว ผู้นำที่โดดเด่นไม่มีทางนำพาการต่อสู้ไปสู่ชัยชนะได้ มีแต่ "การนำรวมหมู่" บนพื้นฐาน "รับฟัง/เคารพความเห็นทั้งที่เหมือนและแตกต่าง" เท่านั้น ชัยชนะจึงจะอยู่แค่เอื้อม

ที่สำคัญ ในเวลานี้ ความเรียกร้องต้องการของขบวนประชาธิปไตยคือ "การสันทัดในการฟัง"


ปรับปรุงจากการแลกเปลี่ยนความเห็นใน Facebook วันที่ 9-10 กรกฎาคม 2553

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)

Universal Declaration of Human Rights - Thai


© 1996 – 2009 The Office of the High Commissioner for Human Rights
This HTML version prepared by the UDHR in Unicode project, http://www.unicode.org/udhr.

*****************************

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

คำปรารภ

โดยที่การยอมรับนับถือเกียรติศักดิ์ประจำตัว และสิทธิเท่าเทียมกันและโอนมิได้ของบรรดาสมาชิกทั้งหลายแห่งครอบครัวมนุษย์ เป็นหลักมูลเหตุแห่งอิสรภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก

โดยที่การไม่นำพาและการเหยียดหยามต่อสิทธิมนุษยชน ยังผลให้มีการdระทำอันป่าเถื่อน ซี่งเป็นการละเมิดมโนธรรมของมนุษยชาติอย่างร้ายแรง และได้มีการประกาศว่า ปณิธานสูงสุดของสามัญชนได้แก่ความต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยอิสรภาพในการพูด และความเชื่อถือ และอิสรภาพพ้นจากความหวาดกลัวและความต้องการ

โดยที่เป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่สิทธิมนุษยชนควรได้รับความคุ้มครองโดยหลักบังคับของกฎหมาย ถ้าไม่ประสงค์จะให้คนตกอยู่ในบังคับให้หันเข้าหาการขบถขัดขืนต่อทรราชและการกดขี่เป็นวิถีทางสุดท้าย

โดยที่ประชากรแห่งสหประชาชาติได้ยืนยันไว้ ในกฎบัตรถึงความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักมูล ในเกียรติศักดิ์และคุณค่าของมนุษย์และในสิทธิเท่าเทียมกันของบรรดาชายและ หญิง และได้ตกลงใจที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคม และมาตรฐานแห่งชีวิตที่ดีขึ้นด้วยในอิสรภาพอันกว้างขวางยิ่งขึ้น

โดยที่รัฐสมาชิกต่างปฎิญาณจะให้บรรลุถึงซึ่งการส่งเสริมการเคารพ และการปฎิบัติตามทั่วสากลต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพหลักมูล โดยร่วมมือกับสหประชาชาติ

โดยที่ความเข้าใจร่วมกันในสิทธิและอิสรภาพเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ปฏิญาณนี้สำเร็จผลเต็มบริบูรณ์.

ฉะนั้น บัดนี้ สมัชชาจึงประกาศว่า

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ เป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จสำหรับบรรดาประชากรและประชาชาติทั้งหลาย เพื่อจุดหมายปลายทางที่ว่า เอกชนทุกคนและองค์การชองสังคมทุกองค์การ โดยการรำลึกถึงปฏิญญานี้เป็นเนืองนิจ จะบากบั่นพยายามด้วยการสอนและศึกษา ในอันที่จะส่งเสริมการเคารพสิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ และด้วยมาตรการอันก้าวหน้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ในอันที่จะให้มีการยอมรับนับถือ และการปฏิบัติตามโดยสากลและอย่างเป็นผลจริงจัง ทั้งในบรรดาประชาชนของรัฐสมาชิกด้วยกันเอง และในบรรดาประชาชนของดินแดนที่อยู่ใตัอำนาจของรัฐนั้น ๆ

ข้อ 1

มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติ ศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ

ข้อ 2

ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพบรรดาที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าชนิดใด ๆ ดังเช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น เผ่าพันธุ์แห่งชาติ หรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ

อนึ่งจะไม่มีความแตกต่างใด ๆ ตามมูลฐานแห่งสถานะทางการเมือง ทางการศาล หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศหรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์มิได้ปกครองตนเอง หรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยใด ๆ ทั้งสิ้น

ข้อ 3

คนทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน

ข้อ 4

บุคคล ใด ๆ จะถูกยึดเป็นทาส หรือต้องภาระจำยอมไม่ได้ความเป็นทาส และการค้าทาสเป็นห้ามขาดทุกรูปแบบ

ข้อ 5

บุคคล ใด ๆ จะถูกทรมานหรือได้รับผลปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้าไม่ได้

ข้อ 6

ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่า เป็นบุคคลตามกฏหมายทุกแห่งหน

ข้อ 7

ทุก คนเสมอกันตามกฏหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฏหมายเท่าทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ อันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญา และจากการยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติดังกล่าว

ข้อ 8

ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับบำบัดอันเป็นผลจริงจังจากศาลที่มีอำนาจแห่งชาติต่อการกระทำอันละเมิดสิทธิหลักมูล ซึ่งตนได้รับตามรัฐธรรมนูญหรือกฏหมาย

ข้อ 9

บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศไปต่างถิ่นโดยพลการไม่ได้

ข้อ 10

ทุกคนมีสิทธิโดยเสมอภาคเต็มที่ในอัน ที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและเที่ยงธรรมในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของตน และการกระทำผิดอาชญาใด ๆ ที่ตนถูกกล่าวหา

ข้อ 11

1. ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาชญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฏหมายในการพิจารณาเปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี

2. จะถือบุคคลใด ๆ ว่ามีความผิดทางอาชญาเนื่องด้วยการกระทำหรือละเว้นใด ๆ อันมิได้จัดเป็นความผิดทางอาชญาตามกฎหมายแห่งชาติหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะได้กระทำการนั้นขึ้นไม่ได้ และจะลงโทษอันหนักกว่าที่ใช้อยู่ในขณะที่ได้กระทำความผิดทางอาชญานั้นไม่ได้

ข้อ 12

บุคคลใด ๆ จะถูกแทรกสอดโดยพลการในความเป็นอยู่ส่วนตัวในครอบครัว ในเคหสถานหรือในการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่ในเกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายต่อการแทรกสอด หรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น

ข้อ 13

1. ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนไหวและสถานที่อยู่ภายในเขตของแต่ละรัฐ

2. ทุกคนมีสิทธิที่จะออกจากประเทศใด ๆ ไป รวมทั้งประเทศของตนเองด้วย และที่จะกลับยังประเทศตน

ข้อ 14

1. ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหา และที่จะได้อาศัยพำนักในประเทศอื่นเพื่อลี้ภัยจากการประหัตประหาร

2. จะอ้างสิทธิไม่ได้ ในกรณีที่การดำเนินคดีสืบเนื่องอย่างแท้จริงมาจากความผิดที่ไม่ใช่ทางการเมือง หรือจากการกระทำอันขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ

ข้อ 15

1. ทุกคนมีสิทธิในการถือสัญชาติหนึ่ง

2. บุคคลใด ๆ จะถูกตัดสัญชาติของตนโดยพลการ หรือถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติไม่ได้

ข้อ 16

1. ชายและหญิงที่มีอายุเต็มบริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะทำการสมรส และจะก่อตั้งครอบครัว โดยปราศจากการจำกัดใด ๆ อันเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา ต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสมรส ระหว่างการสมรส และในการขาดจากการสมรส

2. การสมรสจะกระทำกันก็แต่ด้วยความยินยอมโดยอิสระและเต็มที่ของผู้ที่เจตนาจะเป็นคู่สมรส

3. ครอบครัวเป็นหน่วยธรรมชาติและหลักมูลของสังคม และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากสังคมและรัฐ

ข้อ 17

1. ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยลำพังตนเอง เช่นเดียวกับโดยร่วมกับผู้อื่น

2. บุคคลใด ๆ จะถูกริบทรัพย์สินโดยพลการไม่ได้

ข้อ 18

ทุก คนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิดมโนธรรมและศาสนา สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อถือ และอิสรภาพในการที่จะประกาศศาสนา หรือความเชื่อถือของตน โดยการสอน การปฏิบัติการสักการะบูชาและการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพังตนเองหรือในประชาคมร่วมกับผู้อื่น และเป็นการสาธารณะหรือส่วนบุคคล

ข้อ 19

ทุก คนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแรกสอดและที่จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสารและความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน

ข้อ 20

1. ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการร่วมประชุมและการตั้งสมาคมโดยสันติ

2. บุคคลใด ๆ จะถูกบังคับให้สังกัดสมาคมหนึ่งสมาคมใดไม่ได้

ข้อ 21

1. ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน จะเป็นโดยตรงหรือโดยผ่านทางผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ

2. ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค

3. เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และอย่างแท้จริง ซึ่งอาศัยการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาค และการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระอย่างอื่นทำนองเดียวกัน

ข้อ 22

ทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม มีสิทธิในความมั่นคงทางสังคม และมีสิทธิในการบรรลุถึงซึ่งสิทธิทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและทางวัฒนธรรม อันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเกียรติศักดิ์ของตน และการพัฒนาบุคลิกภาพของตนอย่างอิสระ ทั้งนี้ โดยความเพียรพยายามแห่งชาติและโดยความร่วมมือระหว่างประเทศ และตามระบอบการและทรัพยากรของแต่ละรัฐ

ข้อ 23

1. ทุกคนมีสิทธิในการงาน ในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขอันยุติธรรม และเป็นประโยชน์แห่งการงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน

2. ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างเท่าเทียมกันสำหรับงานเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ

3. ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับสินจ้างที่ยุติธรรมและเป็นประโยชน์ ที่จะให้ประกันแก่ตนเองและครอบครัวแห่งตน ซึ่งความเป็นอยู่อันคู่ควรแก่เกียรติศักดิ์ของมนุษย์ และถ้าจำเป็นก็จะต้องได้รับวิถีทางคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย

4. ทุกคนมีสิทธิที่จะจัดตั้ง และที่จะเข้าร่วมสหพันธ์กรรมกรเพื่อความคุ้มครองแห่งผลประโยชน์ของตน

ข้อ 24

ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและเวลาว่าง รวมทั้งการจำกัดเวลาทำงานตามสมควร และวันหยุดงานเป็นครั้งคราวโดยได้รับสินจ้าง

ข้อ 25

1. ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ดี ของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางแพทย์และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในความมั่นคงยามว่างงาน เจ็บป่วยพิการ เป็นหม้าย วัยชรา หรือขาดอาชีพอื่นในพฤติการที่นอกเหนืออำนาจของตน

2. มารดาและเด็กมีสิทธิที่จะรับการดูแลรักษาและการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทั้งปวงไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกสมรส จะต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน

ข้อ 26

1. ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษาและการศึกษาชั้นหลักมูล การประถมศึกษาจะต้องเป็นการบังคับ การศึกษาทางเทคนิคและวิชาอาชีพ จะต้องเป็นอันเปิดโดยทั่วไป และการศึกษาชั้นสูงขึ้นไปก็จะต้องเป็นอันเปิดสำหรับทุกคนเข้าได้ถึงโดยเสมอ ภาคตามมูลฐานแห่งคุณวุฒิ

2. การศึกษาจะได้จัดไปในทางพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่และยังความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และอิสรภาพหลักมูลให้มั่นคงแข็งแรง จะต้องส่งเสริมความเข้าใจ ขันติธรรม และมิตรภาพระหว่างบรรดาประชาชาติ กลุ่มเชื้อชาติ หรือศาสนา และจะต้องส่งเสริมกิจกรรมของสหประชาชาติ เพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ

3. บิดามารดา มีสิทธิเบื้องแรกที่จะเลือกชนิดของการศึกษาอันจะให้แก่บุตรของตน

ข้อ 27

1. ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรมของประขาคมโดยอิสระ ที่จะบันเทิงใจในศิลปะและที่จะมีส่วนในความรุดหน้า และคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์

2. ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองผลประโยชน์ทางศีลธรรมและทางวัตถุ อันเป็นผลจากประดิษฐกรรมใด ๆ ทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรมและศิลปกรรม ซึ่งตนเป็นผู้สร้าง

ข้อ 28

ทุก คนมีสิทธิในระเบียบทางสังคมและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นทางให้สำเร็จผลเต็มที่ตามสิทธิและอิสรภาพดั่งกำหนดไว้ในปฏิญญานี้

ข้อ 29

1. ทุกคนมีหน้าที่ต่อประชาคม ด้วยการพัฒนาบุคลิกภาพของตนโดยอิสระเต็มที่ จะกระทำได้ก็แต่ในประชาคมเท่านั้น

2. ในการใช้สิทธิและอิสรภาพแห่งตน ทุกคนตกอยู่ในบังคับของข้อจำกัด เพียงเท่าที่ได้กำหนดลงโดยกฎหมายเท่านั้น เพื่อประโยชน์ที่จะได้มาซี่งการรับนับถือ และเคารพสิทธิและอิสรภาพของผู้อื่นตามสมควรและที่จะเผชิญกับความเรียกร้อง ต้องการอันเที่ยงธรรมของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย

3. สิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ จะใช้ขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไม่ได้ไม่ว่าในกรณีใด ๆ

ข้อ 30

ไม่มีบทใด ในปฏิญญานี้ที่จะอนุมานว่าให้สิทธิใด ๆ แก่รัฐ หมู่คน หรือบุคคล ในอันที่จะดำเนินกิจกรรมใด ๆ หรือปฏิบัติการใด ๆ อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและอิสรภาพ ดังกำหนดไว้ ณ ที่นี้

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทางเลือกแห่งสหัสวรรษของสยามประเทศ

ทางเลือกแห่งสหัสวรรษของสยามประเทศ



โลกหลังสหัสวรรษ ที่วิถีชีวิตสมัยใหม่ นวัตกรรมใหม่ ระบบคิดใหม่ ไม่มีพรมแดนทางเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรมกีดกั้นอีกต่อไป ผลแพ้ชนะในความขัดแย้งระหว่างจารีตแห่งวัฒนธรรมเก่าแก่ของประชาชาติหนึ่ง กับพลังแห่งเยาวภาพที่เกิดขึ้นใหม่ คือตัวบ่งชี้ทิศทางแห่งอนาคตของอารยธรรมของประชาชาตินั้นๆ ไม่มีแม้สักประชาชาติเดียวที่จะจองจำตนเองอยู่ได้กับอดีตอันรุ่งเรืองในช่วง เวลาหนึ่งๆ... นัยหนึ่งไม่มีสิ่งใดหนีพ้นกฎอนิจจลักษณ์ได้เป็นเด็ดขาด

ทุกความพยายามที่จะฝืนการก้าวพัฒนาไปเบื้องหน้า จะต้องแบกรับมลทินแห่งความบาปในฐานะตัวถ่วงดุลยภาพ ที่ธรรมชาติกำหนดเป็นเส้นทางที่ไม่อาจบิดเบือนได้ ผลพวงจากหายนพิบัติภัยอย่างมีเจตนา จะต้องสนองตอบหรือตามหลอกหลอนมนโนธรรมสำนึก - หากว่ายังมีมโนธรรมสำนึก - ของพลังปฏิกิริยาทั้งปวง ที่ขัดขวางพัฒนาการทางสังคมแห่งมหายุคนี้...

หน้าไหนก็ไม่อาจหนีพ้น!!!

พัฒนาการของสังคมใดๆ ย่อมไปพ้นอคติ 4 และย่อมอยู่เหนือเจตจำนงเสรีของปัจเจก หรือแม้แต่มวลมหาประชาชน ด้วยหน่ออ่อนของสังคมที่จะเกิดใหม่นั้น ในทุกยุคทุกสมัยล้วนก่อรูป ดำรงอยู่ และเติบโตกล้าแข็งขึ้น กระทั่งในความพยายามบีบกดจากสังคมดั้งเดิมที่มันก่อกำเนิดขึ้นมานั้นเอง

รูปธรรมของการเปลี่ยนผ่านระยะทางประวัติศาสตร์ของทุกระบบสังคม ล้วนไม่ขึ้นต่อความเกลียดชัง ความอาฆาตมาดร้าย ความกระเหียนกระหือ ซึ่งฉาบทางเพียงผิวเผินบนเปลือกของความเปลี่ยนแปลงนั้น

ดูเหมือนว่า แม้ในส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของพลังที่ปฏิกิริยาที่สุด ครั้งหนึ่งอาจเคยยึดกุมรากฐานทางความคิดที่ว่า อาจกำจัดทำลายเยาวภาพของการเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดรนั้น ด้วยความเกลียดชังยิ่งกว่า ความอาฆาตมาดร้ายที่ลึกซึ้งกว่า และความกระเหี้ยนกระหือที่โหดหืนกระหายเลือดยิ่งกว่า

แต่ประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงของจักรวาล ได้ให้บทเรียนอันเป็นข้อสรุปที่ไม่อาจปกปิดบิดเบือนเป็นอย่างอื่น ว่า ด้วยจุดยืนและการกระทำเช่นนั้น รังแต่จะนำความรุนแรงอันไม่อาจควบคุมได้ยิ่งขึ้นทุกทีมาสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างมิพักต้องสงสัย

นัยหนึ่ง เมื่อประวัติศาสตร์เองย่อมถูกจดจารด้วยผู้ชนะในที่สุด ยังไม่มีหน้าไหนในประวัติอารยธรรมมนุษย์ ที่ชี้ว่า...ทรราชย์คือฝ่ายธรรมะ แม้สักหน!

3 ปีเศษมานี้ สังคมไทยเพียงหยุดยั้งในห้วงเวลาสุกดิบเพื่อตระเตรียมการขยับครั้งใหญ่ สำหรับการอภิวัฒน์ใหญ่ด้วยแรงขับดันอันมหาศาลที่สั่งสมมาในตลอดวันวารของมหายุค 2 ศตวรรษช่วงรอยต่อของกึ่งพุทธกาล

ณ เวลานี้ สรรพชีวิตทั้งที่เป็นปัจเจก และทั้งที่เป็นหน่วยเนื้อน้อยใหญ่ ของเผ่าพันธุ์ที่หลอมรวมขึ้นเป็นสยามประเทศ มีหนทางให้เลือกน้อยลงไปทุกทีแล้ว... หรือหากจะกล่าวอย่างถึงที่สุด คือทางเลือกระหว่าง

พลังประชาธิปไตย กับ พลังปฏิกิริยาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย.


เรียบเรียงจากเว็บพจบนเฟซบุ๊ค ก่อนเที่ยงคืน 4 กรกฎาคม 2553

วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน

ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน


คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิท ธิมนุษยชน

ด้วยเหตุที่การยอมรับศักดิ์ศรีประจำตัวและสิทธิที่เสมอกันไม่อาจโอนแก่กันได้ของสมาชิกทั้งปวงแห่งครอบครัวมนุษย์ เป็นรากฐานของเสรีภาพ ความยุติธรรมและสันติภาพ

ด้วยเหตุที่การเฉยเมยและดูหมิ่นเหยียดหยามสิทธิมนุษย์ด้วยกันเอง ได้ก่อให้เกิดการกระทำอันโหดร้าย ป่าเถื่อนทารุณ กระทบกระเทือนมโนธรรมของมนุษยชาติอย่างรุนแรง โดยเหตุที่ได้มีการประกาศปณิธานสูงสุดของสามัญชนว่า ถึงวาระแห่งโลกแล้วที่มนุษย์จะมีเสรีภาพในการพูด ในความเชื่อถือ และทั้งมีเสรีภาพจากความกลัวและความต้องการ

ด้วยเหตุที่เป็นสิ่งจำเป็นที่สิทธิมนุษยชนควรได้รับการคุ้มครองโดยหลักนิติธรรม ถ้าไม่ต้องการให้มนุษย์ถูกบีบบังคับให้หาทางออกโดยการกบฎต่อทรราชย์และการกดขี่อันเป็นที่พึ่งสุดท้าย

ด้วยเหตุที่เป็นสิงจำเป็นที่จะส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างชาติต่างๆ

ด้วยเหตุที่บรรดาประชาชนแห่งสหประชาชาติได้ยืนยันไว้ในกฎบัตร ถึงความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ในศักดิ์ศรีและคุณค่าของตัวบุคคล และความเสมอกันแห่งสิทธิทั้งชายหญิง และได้ตัดสินใจที่จะส่งเสริมความก้าวหน้า ทางสังคมตลอดจนมาตฐานแห่งชีวิตให้ดีขึ้น มีเสรีภาพมากขึ้น

ด้วยเหตุที่รัฐสมาชิกได้ปกฏิญาณที่จะให้ได้มาโดยการร่วมมือกับสหประชาชาติ ซึ่งการส่งเสริม การเคารพ และการถือปฎิบัติโดยสากลต่อสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

ด้วยเหตุที่ความเข้าใจตรงกันในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ มีความสำคัญยิ่ง เพื่อให้คำปฎิญาณนี้เกิดสัมฤทธิ์ผลอย่างเต็มเปี่ยม

ดัง นั้น ณ บัดนี้ สมัชชา จึงขอประกาศให้....

ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้ เป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จสำหรับประชาชนทั้งหลายและประชาชาติทั้งปวง ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้ปัจเจกบุคคลทุกผู้ทุกนามและองค์กรของสังคมทกหน่วย โดยการรำลึกเสมอถึงปฏิญญานี้ พยายามสั่งสอนและให้การศึกษาเพื่อส่งเสริมการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ ด้วยมาตรการที่เจริญก้างไปข้างหน้า ทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับและถือปฎิบัติต่อสิทธิเหล่านั้น อย่างเป็นสากลและได้ผล ทั้งในหมู่ประชาชนของรัฐสมาชิกเอง และในหมู่ของประชาชนแห่งดินแดนที่อยู่ภายใต้ดุลอาณาของรัฐสมาชิกดังกล่าว.


ข้อ 1
มนุษยทั้งหลายทั้งหลายเกิดมามีอิสระเสรีเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฎิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง

ข้อ 2
บุคคลชอบที่จะมีสิทธิและเสรีภาพตามที่ระบุไว้ในปฏิญญานี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใดๆ เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นใด

นอกจากนี้การจำแนกข้อแตกต่างโดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานะทาง
การเมืองทางดุลอาณาหรือทางเรื่องระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนซึ่งบุคคลสังกัดจะทำมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเอง หรืออยู่ภายใต้การจำกัดแห่งอธิปไตยอื่นใด

ข้อ 3
บุคคลมีสิทธิในการดำเนินชีวิต ในเสรีภาพและในความมั่นคงแห่งร่างกาย

ข้อ 4
บุคคลใดจะถูกบังคับให้เป็นทาส หรืออยู่ในภาระจำยอมใดๆมิได้ การเป็นทาสและการค้าทาสจะมีไม้ได้ทุกรูปแบบ

ข้อ 5
บุคคลใดจะถูกทรมานหรือได้รับการปฎิบัติ หรือลงทัณฑ์ซึ่งทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือเหยียดหยามเกียรติมิได้

ข้อ 6
ทุกๆคนมีสิทธิ ที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมาย ไม่ว่า ณ ที่ใดๆ

ข้อ 7
ทุกๆคน ต่างเสมอกันในกฎหมายและชอบที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฎิบัติใดๆ ทุกคนชอบที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอหน้าจากการเลือกปฎิบัติใดๆ อันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญานี้ และต่อการยุยงส่งเสริมให้เกิดการเลือกปฎิบัติเช่นนั้น

ข้อ 8
บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอย่างได้ผล โดยศาลแห่งชาติซึ่งมีอำนาจเนื่องจากการกระทำใดๆ อันละเมิดต่อสิทธิขั้นมูลฐาน ซึ่งตนได้รับจากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

ข้อ 9
บุคคลใดจะถูกจับ กักขัง หรือเนรเทศโดยพลการมิได้

ข้อ 10
บุคคลชอบที่จะเท่าเทียมกันอย่างบริบูรณ์ ในอันที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเปิดเผย โดยศาลที่เป็นอิสระและ ไร้อคติ ในการวินิจฉัยชี้ขาดสิทธิและหน้าที่ ตลอดจนข้อที่ตนถูกกล่าวหาใดๆ ทางอาญา

ข้อ 11
บุคคลที่ถูกกล่าวหาด้วยความผิดทางอาญา มีสิทธิ์ที่จะได้รับการสันนิฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ในการพิจารณาโดยเปิดเผย ณ ที่ซึ่งตนได้รับหลักประกันทั้งหมดที่จำเป็นในการต่อสู้คดี

บุคคลใดจะถูกถือว่ามีความผิดอันมีโทษทางอาญาใดๆ ด้วยเหตุที่ตนได้กระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ ซึ่งกฎหมายของประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่ได้กระทำนั้นมิได้ถูกระบุว่ามีความผิดทางอาญามิได้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นหนักกว่าโทษที่ใช้อยู่ในขณะที่การกระทำความผิดทางอาญานั้นเกิดขึ้นมิได้

ข้อ 12
การเข้าไปสอดแทรกโดยพลการในกิจส่วนตัว ครอบครัว เคหะสถาน การส่งข่าวสาร ตลอดจนการโจมตีต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคลนั้นจะทำมิได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายจากการสอดแทรกและการโจมตีดังกล่าว

ข้อ 13
บุคคลมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและในถิ่นที่อยู่ภายในขอบเขตดินแดนของแต่ละรัฐ

บุคคลมีสิทธิที่จะเดินทางออกนอกประเทศใดๆ รวมทั้งของตนเอง และมีสิทธิที่จะกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน

ข้อ 14
บุคคลมีสิทธิที่จะแสวงหาและพักพิงในประเทศอื่นๆ เพื่อลี้ภัยจากการถูกกดขี่ข่มเหง

สิทธินี้จะถูกกล่าวอ้างมิได้ในกรณีการฟ้องคดี ซึ่งโดยจากความจริงเกิดจากความผิดที่ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง หรือจากการกระทำที่ขัดต่อความมุ่งประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ

ข้อ 15
บุคลลมีสิทธิในการถือสัญชาติ

การถอนสัญชาติโดยพลการ หรือปฎิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของบุคคลใดนั้น จะกระทำมิได้

ข้อ 16
ชายหญิงเมื่อเจริญวัยบริบรูณ์แล้ว มีสิทธิที่จะสมรสและสร้างครอบครัว โดยไม่มีการจำกัดใดๆเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา บุคคลชอบที่จะมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องการสมรส ในระหว่างการสมรส และในการขาดจากการสมรส

การสมรสจะกระทำได้โดยการยินยอมอย่างเสรีและเต็มใจของคู่ที่ตั้งใจจะกระทำการสมรส

ครอบครัว คือ กลุ่มซึ่งเป็นหน่วยทางธรรมชาติและพื้นฐานทางสังคม และชอบที่จะได้รับความคุ้มครองโดยสังคมและรัฐ

ข้อ 17
บุคคลมีสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยลำพังตนเอง และโดยการร่วมกับผู้อื่น

การยึดเอาทรัพย์สินของบุคคลใดไปเสียโดยพลการจะกระทำมิได้

ข้อ 18
บุคคลมีเสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะเปลี่ยนศาสนา หรือความเชื่อ และเสรีภาพที่จะแสดงให้ศาสนาหรือความเชื่อประจักษ์ในรูปแบบการสั่งสอน การปฎิบัติกิจ การเคารพสักการะบูชา สวดมนต์ และพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพังตนเอง หรือร่วมกับผู้อื่นในประชาคม ในที่สาธารณะหรือในที่ส่วนตัว

ข้อ 19
บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในความเห็น และการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความคิดเห็นโดยปราศจากการสอดแทรก และที่จะแสวงหารับ ตลอดจนการแจ้งข่าว รวมทั้งความคิดเห็นโดยผ่านสื่อใดๆ โดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน

ข้อ 20
บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและสมาคมโดยสงบ

การบังคับให้บุคคลเป็นเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมจะกระทำมิได้

ข้อ 21
บุคคลมีสิทธิที่จะเข้าร่วมในรัฐบาลของตนไม่ว่าจะโดยตรงหรือผู้แทนที่ผ่านการเลือกอย่างเสรี

บุคคลมีสิทธิที่จะเข้าถึงการบริการสาธารณะในประเทศของตน

เจตจำนงของประชาชนจะเป็นฐานอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้จะแสดงออกโดยการเลือกตั้งเป็นครั้งเป็นคราวอย่างแท้จริง โดยการให้สิทธิออกเสียงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมและโดยการลงคะแนนลับ หรือโดยวิธีการลงคะแนนอย่างเสรี

ข้อ 22
ในฐานะสมาชิกของสังคม ด้วยความเพียรพยายามของชาติตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศ และโดยสอดคล้องกับการจัดระเบียบและทรัพยากรของแต่ละรัฐบุคคลมีสิทธิในความมั่นคงทางสังคม และชอบที่จะได้รับผลแห่งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจำเป็นต่อศักดิ์ศรีและการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างเสรีของตน

ข้อ 23
บุคคล มีสิทธิที่จะทำงาน และเลือกงานอย่างเสรี และมีสภาวะการทำงานที่ยุติธรรมและพอใจ ที่จะได้รับการคุ้มครองจากการว่างงาน

บุคคลมีสิทธิที่จะรับค่าตอบแทนเท่ากัน สำหรับการทำงานที่เท่ากัน โดยไม่มีการเลือกปฎิบัติใดๆ

บุคคลที่ทำงานมีสิทธิในรายได้ซึ่งยุติธรรม และเอื้อประโยชน์เฟื่อเป็นประกันสำหรับตนเองและครอบครัว ให้การดำรงค์มีด่าควรแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และถ้าจำเป็นก็ชอบที่จะได้รับการคุ้มครองทางสังคมอื่นๆ เพิ่มเติม

บุคคลมีสิทธิที่จะก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของตน

ข้อ 24
บุคคลมีสิทธิในการพักผ่อนและเวลาว่าง รวมทั้งการจำกัดเวลาทำงานที่ชอบด้วยเหตุผล และมีวันหยุดเป็นครั้งคราวที่ได้รับค่าตอบแทน

ข้อ 25
บุคคลมีสิทธิในมาตราฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับตนเองครอบครัว รวมทั้งอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาลและบริการทางสังคมที่จำเป็น และสิทธิในความมั่นคงในกรณีย์ว่างงาน เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เป็นหม้าย วัยชรา หรือการขาดปัจจัยในการเลี้ยงชีพ อื่นใดในพฤติการณ์อันเกิดจากที่ตนควบคุมได้

มารดาและบุตรชอบที่จะได้รับการดูและความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นบุตรในหรือนอกสมรส ย่อมได้รับการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน

ข้อ 26
บุคคลมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์โดยไม่คิดมูลค่า อย่างน้อยที่สุดในขั้นประถมศึกษา และขั้นพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษาให้เป็นการศึกษาภาคบังคับ ขั้นเทคนิคและประกอบอาชีพเป็นการศึกษาที่ต้องจัดให้มีโดยทั่วๆไป ขั้นสูงสุดเป็นขั้นที่จะเปิดให้ทุกคนเท่ากันตามความสามารถ

การศึกษาจะมุ่งไปทางการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่ เพื่อเสริมพลังการเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้แข็งแกร่ง และมุ่งเสริมความเข้าใจ ขันติและมิตรภาพระหว่างประชาชาติ กลุ่มเชื้อชาติและศาสนา และจะมุ่งขยายกิจกรรมของสหประชาชาติเพื่อธำรงสันติภาพ

ผู้ปกครองมีสิทธิก่อนผู้อื่นที่จะเลือกชนิดของการศึกษาสำหรับบุตรหลานของตน

ข้อ 27
บุคคลมีสิทธิที่จะเข้าร่วมการใช้ชีวิตทางวัฒนธรรมในประชาคมอย่างเสรี ที่จะพึงพอใจในศิลปะและมีส่วนในความคืบหน้า และผลประโยชน์ทางวิทยาศาสตร

บุคคลมีสิทธิในการได้รับการคุ้มครองประโยชน์ทางด้านศีลธรรม และทางวัตถุอันเป็นผลได้จากการประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปะที่ตนเป็นเจ้าของ

ข้อ 28
บุคคลชอบที่จะได้รับประโยชน์จากระเบียบสังคมและระหว่างประเทศ อันจะอำนวยให้การใช้สิทธิและเสรีภาพบรรดาที่ได้ระบุไว้ในปฏิญญานี้ทำได้อย่างเต็มที่

ข้อ 29
บุคคลมีหน้าที่ต่อประชาคมอันเป็นที่เดียวซึ่งบุคลิกภาพของตนจะพัฒนาได้อย่างเสรีเต็มความสามารถ

ในการใช้สิทธิและเสรีภาพ บุคคลต้องอยู่ภาพใต้เพียงเช่นที่จำกัดโดยกฎหมายเฉพาะ เพื่อความมุ่งประสงค์ให้ได้มาซึ่งการยอมรับ และเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการโดยทั่วๆไปในสังคมประชาธิปไตย

สิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ มิว่าด้วยกรณีย์ใด จะใช้ขัดกับความมุ่งประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไม่ได้

ข้อ 30
ข้อความต่างๆตามปฏิญญานี้ ไม่เปิดช่องที่จะแปลความได้ว่า ให้สิทธิใดๆแก่รัฐ กลุ่มชนหรือบุคคลใดๆ ที่จะประกอบกิจกรรม หรือกระทำการใดๆ อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและเสรีภาพใดๆ ที่ได้ระบุไว้ในบทบัญญัติฉบับนี้.

สภาองคมนตรีแห่งพระราชินี

สภาองคมนตรีแห่งพระราชินี



สภาองคมนตรีแห่งพระราชินี หรือสภาองคมนตรีแห่งอังกฤษ (Queen-in-Council) เป็นชื่อเรียกสภาองคมนตรีของอังกฤษในระหว่างที่มีพระมหากษัตริย์เป็นเพศหญิง (ยามเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงดำรงเพศชายสภานี้เรียก "สภาองคมนตรีแห่งพระมหากษัตริย์ (King-in-Council)"

ความหมายตามตัวอักษรหมายถึง สมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษทรงบริหารพระราชกิจตามคำแนะนำของสภาองคมนตรี ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งอังกฤษโดยพฤตินัย สภาองคมนตรีแห่งพระราชินีปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการชุดพิเศษชุดหนึ่ง ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในอำนาจบริหาร  เป็นผลให้การดำเนินงานของสภาองคมนตรีอยู่ภายใต้การพิจารณาทบทวนโดยกระบวนการ การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย (judicial review) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างราชเลขาธิการกับคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี รัฐบาลสมเด็จพระราชินีนาถจะมีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับราชการแผ่นดินได้ก็แต่โดยคำแนะนำของสภาองคมนตรี

พระราชเสาวนีย์ดังกล่าวในภาษาอังกฤษ เรียกว่า "order-in-council"

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การจัดการคนจรสนามหลวงกับการขอพื้นที่คืน

การจัดการคนจรสนามหลวงกับการขอพื้นที่คืน



เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า "คนเร่ร่อน-จรจัด" ต้องไม่เสนอหน้าใน "เกาะรัตนโกสินทร์" นั่นคือในอนาคต ประเทศนี้อาจมีเขตสงวน "คนไร้ราก" เหมือนเขตสงวนชาวพื้นเมืองอเมริกันอินเดียประเทศสหรัฐทำอยู่ในเวลานี้ และประเทศนี้ทำสำเร็จมาแล้วใน หมู่ "ชาวเขา" "ชาวซาไก" "ชาวมอร์แกน (ชาวเล)" ; เป็นนโยบายที่สืบเนื่องมาจากการทำให้คนพวกหนึ่ง "อยู่เหนือพลเมือง" และคนอีกพวกหนึ่ง "อยู่ต่ำกว่าพลเมือง"

โครงการทำนองนี้ ไม่ต่างไปจากโครงการ "ซุกขยะใต้พรม" ซึ่งมีจุดมุ่งหมายและกระบวนการเช่นเดียวกับ "สมานฉันท์" "ปรองดอง" "ปฏิกูลประเทศ" ทั้งหมดนั้นไม่ต่างไปจากการไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ "กบฏบวรเดช" "กบฏพระยาทรงสุรเดช" "กบฏเสนาธิการ" "กบฏวังหลวง" "กบฏแมนฮัตตัน" "กบฏสันติภาพ" "การรัฐประหาร 2500-2501" "การรัฐประหาร 2514" "กรณี 14 ตุลา 2516" "กรณี 6 ตุลา 2519" "กรณีพฤษภาทมิฬ 2535" ฯลฯ

ระบอบการปกครองอื่นใดที่ไม่ใช่ ประชาธิปไตย "ล้วน" ไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยประโยชน์สุขของพลเมืองโดยเสมอหน้ากัน; ระเบียบวิธีหยุมหยิม และแม้กระทั่งการจัดลำดับดับชั้นของพลเมือง โดยตัวของมันเองก็นำไปสู่การสร้างนโยบายที่ "ลักลั่น" และกระบวนการ "เลือกปฏิบัติ" อยู่นั่นเอง

สิ่งปลูกสร้างบริเวณสี่แยกราชประสงค์และสยามสแควร์ รวมทั้งภูมิทัศน์แห่งทุ่งพระเมรุและเกาะรัตนสินทร์ มีความสำคัญต่อ "คนชั้นนำ (elite)" ที่ครองอำนาจอยู่ในเวลานี้ และแม้กระทั่งกลุ่ม "กฎุม พีน้อย (petit bourjoisee)" ในเมือง ที่ล้วนแต่หวงแหน "สถานภาพเดิม (status quo)" แห่งการเป็นผู้ได้เปรียบ มากเสียยิ่งกว่าชีวิตของผู้คนรากหญ้าในฐานะผู้คนที่ต่ำต้อยน้อยหน้า ไร้สิทธิไร้เสียงในสังคม เช่นปรากฏการณ์ "เห็นไฟไหม้ ไม่เห็นความตาย" ที่เกิดขึ้นใจกลางมหานครแห่งเทวดาที่มีชื่อเรียกขานขึ้นต้นว่า "กรุงเทพมหานคร"

คงอีกไม่นานนโยบายทำให้ "คนยากจน" หมดไป คงเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นเพื่อทดแทนนโยบายทำให้ "ความยากจน" หมดไป

ในที่สุดเราอาจได้เห็นป้าย "หมากลางถนนและคนจร ห้ามเข้า!" ในหลายพื้นที่ของประเทศนี้ เพื่อสงวนไว้สำหรับความรื่นรมย์ของ "คนชั้นนำ" และ "คนชั้นกลางแห่งมหานคร" เว้นไว้เสียแต่ว่าประเทศนี้เป็นของพลเมืองทุกคนโดยเสมอหน้ากัน หลังจากการสถาปนาขึ้นของระบอบ...

"ประชาธิปไตย สมบูรณ์"


ปรับปรุงจากการ แลกเปลี่ยนทัศนะจาก homepage ใน facebook วันที่ 30 มิถุนายน 2553 ระหว่างเวลา 13:00-16:00 น.

อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crime against humanity)

อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crime against humanity)



อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crime against humanity)
ได้แก่ การกระทำอันเป็นการบีฑาหรือโดยความป่าเถื่อนซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ร่างกายของมวลชน กับทั้งยังเป็นความผิดอาญาขั้นอุกฤษฎ์ในบรรดาความผิดอาญาทั้งปวงด้วย บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศชี้แจงว่า "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติเป็นอาชญากรรมน่าสมเพชยิ่ง ด้วยว่าสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้แก่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้เกิดความรู้สึกอัปยศอดสูอย่างร้ายกาจ หรือทำให้ความเป็นมนุษย์ของบุคคลหนึ่งหรือหลายคนต้องเสื่อมถอยลง อาชญากรรมนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะตัวหรืออย่างกระจัดกระจาย แต่เป็นผลหนึ่งจากนโยบายของรัฐ (ซึ่งถึงแม้ว่าผู้กระทำความผิดไม่จำเป็นต้องระบุว่าตนเกี่ยวข้องกับนโยบายนั้นอย่างไร) หรือการกระทำอันป่าเถื่อนซึ่งรัฐ ผู้มีอำนาจในทางพฤตินัยยอมรับหรือไม่เอาโทษ อย่างไรก็ดี การฆ่าคน การกำจัด การทรมาน การข่มขืน การบีฑาทางการเมือง ชาติพันธุ์ หรือศาสนา ตลอดจนการกระทำอย่างอื่นอันมีลักษณะเยี่ยงเดรัจฉาน จะเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้ เมื่อการเช่นว่านั้นเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง การกระทำเช่นว่าแม้จะเกิดขึ้นเฉพาะตัวแต่ก็อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์"

การสังหารหมู่ (mass murder) หมายถึง การทำให้คนตายเป็นหมู่ในเวลาเดียวกันหรือไล่เลี่ยกัน โดยอาจเป็นการกระทำของบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลก็ได้ และหมายความรวมถึงการที่หน่วยงานของรัฐประหารคนเป็นหมู่โดยเจตนาและโดยการเลือกปฏิบัติ เช่น การยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ปราศจากอาวุธ การทิ้งระเบิดแบบปูพรมเพื่อถล่มเมืองให้ราบเป็นหน้ากลอง การโยนระเบิดมือเข้าไปยังเรือนจำ หรือการประหารพลเรือนแบบสุ่มตัว การสังหารหมู่ยังอาจเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลที่มีความประสงค์จะทำให้คน ตายเพื่อปรนเปรออารมณ์หรือความเบิกบานแห่งตน การสังหารหมู่ครั้งใหญ่ตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ มักเป็นการกระทำเพื่อกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มศาสนา

ความผิดฐานสังหารหมู่เรียก การสังหารล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) และในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศเรียก อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity)

ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8