Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (52)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (3)

นักรบ (ทหาร) กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ในค่ายแห่งหนึ่ง (ไม่ทราบที่ตั้งและปีที่ถ่าย)

นายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง
ผ่องถ่ายอำนาจคณะปฏิวัติ (?)

ในบทความ "ถนอม กิตติขจร (ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์)" ในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า [https://bit.ly/2NaFgrD] เขียนถึงการดำรงตำแหน่งนากรัฐมนตรีของจอมพล ถนอมกิตติขจร ตรั้งที่สองไว้เพียงสั้นๆ: 

การอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ทำให้จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ถือว่าเป็นสมัยที่ 2 โดยในช่วงนี้จอมพลถนอม กิตติขจร มีอำนาจทั้งทางการเมืองและการทหารอย่างแท้จริง ประกอบกับระยะเวลาผ่านมา 5 ปี ที่อยู่ในทางการเมืองจึงมีความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น ได้พยายามดำเนินนโยบายเจริญรอยตามที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะการใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ภายหลังการทำรัฐประหาร ดังนั้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 (ฉบับที่ 8) ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 เป็นผลให้คณะรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้สิ้นสุดลง รัฐบาลจึงได้รักษาการในระหว่างรอการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 เป็นวันเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรไทย 

ดังนั้น เพื่อเตรียมตัวในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2511 คือ พรรคสหประชาไทย โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งพรรคสหประชาไทยนับเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นหลังจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ถูกยุบไปเมื่อคราวที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยสมาชิกพรรคสหประชาไทยส่วนใหญ่เป็นสมาชิกเดิมสมัยมี พรรคเสรีมนังคศิลา เรื่อยมาจนถึง พรรคสหภูมิ และ พรรคชาติสังคม ผลจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 มี ส.ส. จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้รับเลือกเข้าสู่สภาฯ ดังนี้ สหประชาไทย 76 คน ประชาธิปัตย์ 57 คน แนวร่วมเศรษฐกร 4 คน แนวประชาธิปไตย 7 คน ประชาชน 2 คน เสรีประชาธิปไตย 1 คน ชาวนาชาวไร่ 1 คน และไม่สังกัดพรรค 71 คน รวมทั้งสิ้น 219 คน แม้พรรคสหประชาไทยได้รับเลือกเข้ามามากที่สุดถึง 76 คน แต่จะต้องมีสมาชิกสนับสนุนกึ่งหนึ่งคือ ต้องเกิน 109 เสียงขึ้นไปจึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และเมื่อได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. อิสระไม่สังกัดพรรคทั้ง 71 เรื่อง การดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลและกลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ของจอมพลถนอม กิตติขจร จึงประสบความสำเร็จโดยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคที่เหลือเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2512 [ธนากิต (นามแฝง). "ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย". กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ปิรามิด, 2545, หน้า 227-229.] 
***** 
ในทัศนะของผู้เขียน ห้วงระยะเวลาหนึ่งทศวรรษ ของการครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (เต็มเวลา) แห่งราชอาณาจักรไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร จากปี พ.ศ. 2506 ถึงปี พ.ศ. 2516 มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความสัมพันธ์ส่งผลสะเทือนต่อการเมืองภายในประเทศ 5 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ

1. การส่งกำลังทหาร (แม้จะใช้ชือกองพลอาสาสมัคร แต่ก็มีสายบังคัญชาของนายทหารอาชีพ/ประจำการ) เข้าสู่สมรภูมิสงครามเวียดนาม (สมัยใหม่) ร่วมกับพันธมิตรที่นำโดย "มหามิตร" สหรัฐอเมริกา ที่เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2506 [เขียนถึงไว้แล้วใน โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 16-22 พฤษภาคม 2558 (ฉบับที่ 515)]

2. พรรคคอมมิวสต์แห่งประเทศไทยประกาศยกระดับการต่อสู้กับรัฐบาลไทย เป็นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ "วันเสียงปืนแตก" [ได้เขียนถึงจุดกำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไว้โดยสังเขปใน โลกวันนี้ เริ่มจากฉบับวันสุข 6-12 กันยายน 2557 (ฉบับที่ 480) - ฉบับวันสุข 20-26 กันยายน 2557 (ฉบับที่ 482)] ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นวันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก กองกำลังของพรรคได้เรียกตนเองว่า กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เหตุเกิดที่บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. เริ่มจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งโดยทั่วไปถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีความยากจนค่นแค้นมากที่สุดของประเทศ ต่อมาจึงมีการขยายเขตปฏิบัติการทางทหารไปทางภาคเหนือตอนบน ติดกับประเทศพม่า

สำหรับ "วันเสียงปืนแตก" เป็นวันที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการล้อมปราบ และ พคท.ได้ใช้กำลังอาวุธ ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่เป็นครั้งแรก ที่หมู่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม ซึ่ง พคท. ถือว่าเป็นวันเริ่มต้นของสงครามประชาชน ซึ่งในช่วงแรกยังจำกัดพื้นที่อยู่แค่บริเวณเขตงานภาคอิสาน ส่วนพื้นที่ในภาคอื่น ๆ ในขณะนั้น เป็นเพียงเป้าหมายต่อไปในการกวาดล้างปและจากเหตุการณ์ปะทะที่ "เราเสียสหายคนหนึ่ง ศัตรูชั้นนายสิบตำรวจตาย 1 คน นายพันตำรวจโทขาหัก 1 คน นี่เป็นกรณีใหญ่ ข่าวดังไปทั่วประเทศ ศัตรูได้รู้แน่ชัดว่าพรรคคอมมิวนิสต์เตรียมต่อสู้ด้วยอาวุธ" เอกสารภายในของฝ่ายนำพรรคคอมมิวนิสต์ เรื่อง "ประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคเรา" ของ วิรัช อังคถาวร หนึ่งในผู้นำระดับสำคัญของพรรคฯ [ดู ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1, มกราคม 2546, หน้า 188]

จากนั้นในเวลาต่อมา ภาคใต้จึงมีการ "แตกเสียงปืน" ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2509 และ ภาคเหนือ "แตกเสียงปืน" ในปี พ.ศ. 2511 แต่ทาง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศให้วันที่ 7 สิงหาคม เป็น "วันเสียงปืนแตก" และเป็น "วันกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย" พร้อมกับประกาศ ยุทธศาสตร์ "ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมือง และยึดเมืองในที่สุด"

3. การประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 และการเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 11 (10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512)

4. การรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 (ตัวเอง) นำโดยจอมพลถนอม กิติขจร (นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง) มีการยุบสภา และยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่าใช้เวลายกร่างยาวนนานที่สุดในโลก

5. การเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ที่นำโดยปัญญาชน นิสิตนักศึกษา และประชาชน รัฐบาลคณะปฏิวัติดำเนินการจับกุม มีการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว จนกระทั่งนำไปสู่ "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ที่ยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2516

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 6-12 มิถุนายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8