Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (50)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (1)

กบฏวังหลวงเกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ระหว่างรัฐบาล ป.พิบูลสงคราม กับ "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" ซึ่งเป็นการรวมตัวของฝ่ายที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์

จากผู้บังคับหมวดก่อนการอภิวัฒน์สยาม
สู่วีรกรมมสำคัญในการปราบกบฏวังหลวง

จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายทหารที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาจากสถาบันการทหารสมัยใหม่นอกประเทศ (ในยุโรป) และไม่ได้มีบทบาทระดับนำในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยตรงในปีพุทธศักราช 2475 นั่นคือ ในครั้งที่เป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก นนร.ถนอม ย่อิมไม่เคยผ่านประสบการณ์กองทัพแบบตะวันตก ในท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจากราชาธิปไตยสู่ประชาธิปไตยในยุโรป เช่นที่ผู้นำคนสำคัญๆ ในคณะราษฎรสายทหาร ซึ่งอาจมีผลต่อ "จิตสำนึกในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ" เช่นที่มีอยู่ในผู้ก่อการฯ ระดับผู้นำ

สังเขปชีวิตของจอมพลถนอม กิตติขจร ลำดับได้ดังนี้ [http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ถนอม_กิตติขจร_(ปรียวรรณ_สุวรรณสูนย์)]

จอมพลถนอม กิตติขจร เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2454 ณ บ้านหนองพลวง อำเภอเมือง จังหวัดตาก เป็นบุตรขุนโสภิตบรรณรักษ์ (อำพัน กิตติขจร) กับนางโสภิตบรรณารักษ์ (ลิ้นจี่ กิตติขจร) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 7 คน เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนประชาบาล วัดโคกพลู จังหวัดตาก หลังจากนั้น ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อย ชั้นเตรียม 1 ข. โรงเรียนนายร้อยทหารบก หรือต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในช่วงปี พ.ศ. 2463-2472 และในระหว่างรับราชการได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนแผนที่ทหาร กองทัพบก ในช่วงปี พ.ศ. 2474-2477 โรงเรียนทหารราบ กองทัพบก ในปี พ.ศ. 2481 และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (รุ่นที่ 1) กระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2498 สมรสกับท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร มีบุตร ธิดารวมทั้งสิ้น 6 คน ในด้านการรับราชการนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวด กรมทหารราบที่ 8 กองพันที่ 1 พ.ศ. 2472-2474 (ยศร้อยตรี) และได้เติบโตในหน้าที่ราชการโดยลำดับ คือ นายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนแผนที่ พ.ศ. 2474-2477 นายทหารประจำแผนกวางโครงหลักฐาน กรมแผนที่ พ.ศ. 2477 นายทหารประจำ กองบัญชาการ กรมยุทธศึกษาทหารบก พ.ศ. 2478 ครูแผนกวิชาการ กรมยุทธศึกษาทหารบก พ.ศ. 2479-2481 นายทหารฝึกหัดราชการ โรงเรียนทหารราบ พ.ศ. 2481 ครูแผนที่ กรมยุทธศึกษาทหารบก พ.ศ. 2482-2484 ผู้บังคับกองร้อยปืนกลหนัก ร.พัน.34 พ.ศ. 2484-2486 อาจารย์แผนกที่ 2 กรมยุทธศึกษาทหารบก พ.ศ. 2486-2489 อาจารย์โรงเรียนนายร้อยทหารบก พ.ศ. 2489-2490 ผู้บังคับกองร้อยที่ 4 กองการปกครอง โรงเรียนนายร้อยทหารบก พ.ศ. 2490 ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 พ.ศ. 2490-2491 ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 พ.ศ. 2491-2492 รองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 พ.ศ. 2492 ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 พ.ศ. 2493 รองแม่ทัพภาคที่ 1 พ.ศ. 2494 แม่ทัพภาคที่ 1 พ.ศ. 2497 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. 2500 รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ. 2502 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. 2506 โดยได้รับยศทางทหารสูงสุดคือยศ จอมพลคุมสามเหล่าทัพ ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดยุคนั้น

ในปี พ.ศ. 2492 นั้นเอง ที่ พันโทถนอม ได้ฉายแววความเป็น "นายทหารคู่ใจ" ของพลตรีสฤษดิ์ เมื่อเกิด "กบฏวังหลวง" ขึ้น

ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วย เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ลอบกลับเข้าประเทศหลังจากที่ลี้ภัยไปเมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 หลังจากดำเนินการติดต่ออย่างลับๆมาก่อนหน้า เพื่อรวบรวมกำลังอันประกอบด้วยกับคณะนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" โดยตั้งกองบัญชาการในเขตทหารเรือที่วัดบ้านเขาชลบุรี ซึ่งในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพาเคยเป็นที่ซ่องสุมกำลังของเสรีไทย แต่ปฏิบัติการที่ประกอบด้วยกำลังจากหลายฝ่ายมีอันต้องรั่วไหลไปถึงหูตาของฝ่ายรัฐบาลได้ จนเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าก่อนวันก่อการถึง 3 วัน

เวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดีนำกำลังอดีตพลพรรคเสรีไทยประมาณ 60 คน รวบรวมเอาอาวุธที่สะสมไว้ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นเมื่อคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา เข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการ ทั้งนี้นายทหารเรือซึ่งสนับสนุนนายปรีดี ก็มี พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ, พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการนาวิกโยธินสัตหีบ, พล.ร.ต.ชาลี สินธุโสภณ ผู้บัญชาการกองสัญญาณทหารเรือ ซึ่งจะนำทหารเรือบางส่วนจากสัตหีบเข้ากรุงเทพฯ นอกจากนี้กลุ่มเสรีไทยตามภาคต่างๆเข้าสมทบกับกองกำลังฝ่ายก่อการอีกด้วย

เวลาประมาณ 20.00 น. เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ยกกองกำลังอดีตพลพรรคเสรีไทยติดอาวุธออกจากธรรมศาสตร์ไปยังพระบรมมหาราชวัง จู่โจมควบคุมตัว ร.ท.พร เลิศล้ำ นายทหารรักษาพระบรมมหาราชวัง พร้อมกับปลดอาวุธทหารรักษาการ นอกจากนั้นยังจัดกำลังเตรียมสนับสนุนไปตั้งมั่นที่กองสัญญาณทหารเรือ ตำบลศาลาแดง อีกหน่วยหนึ่งไปตรึงกำลัง ร.พัน 1 ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิท่าเตียน)

เวลา 21.00 น. กลุ่มเสรีไทยในชุดเครื่องแบบทหารสื่อสารตรงไปยึดสถานีวิทยุพญาไทบังคับเจ้าหน้าที่กระจายข่าวออกแถลงการณ์ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ (ข้ออ้างฝ่ายก่อการ) ให้ปลด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกจากนายกรัฐมนตรีและปลดคณะรัฐมนตรีทุกคน แต่งตั้ง นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ให้ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวงรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว

นอกจากนั้น ฝ่ายก่อการยังได้แต่งตั้งให้ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, พล.ร.ท.หลวงสินธุสงครามชัย ผบ.ทร. เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ และแม่ทัพใหญ่, พล.ร.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต เป็นรองแม่ทัพใหญ่, พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก นอกจากนี้ยังปลด พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ผบ.ทบ., พล.ท.กาจ กาจสงคราม รองผบ.ทบ., พ.ต.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ ผู้บังคับการสันติบาล ให้ พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ให้ พล.ร.ท.สังวร สุวรรณชีพ เป็นผู้รักษาความสงบทั่วประเทศ และเป็นอธิบดีกรมตำรวจ และปลด พล.ต.ท.หลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมตำรวจ, พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ ออกจากตำแหน่ง ย้าย หลวงอุตรดิตถาพิบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดชลบุรี มาประจำอยู่กระทรวง ให้ น.ท.ประดิษฐ์ พูลเกษม ผู้บังคับกรมนาวิกโยธิน เป็นข้าหลวงฯแทน ฝ่ายก่อการฯ ยังได้ประกาศห้ามมีการเคลื่อนไหวและ/หรือเคลื่อนย้ายกำลังทหารทุกหน่วยจากที่ตั้งเด็ดขาด นอกจากจะได้รับคำสั่งจากแม่ทัพใหญ่ พล.ร.ท. หลวงสินธุสงครามชัย

จนถึงเวลาดังกล่าว ดูเหมือนฝ่ายก่อการฯ จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะสามารถยึดสถานที่สำคัญและจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้หลายจุด แต่ทว่าตกค่ำของคืนวันนั้นเอง รัฐบาลก็ตั้งตัวติด พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปรามการกบฏ และเริ่มยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้เป็นลำดับ.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 23-29 พฤษภาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8