Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (4)

เส้นทางสู่จุดจบรัฐบาลเลือกตั้ง

วันที่ 20 กันยายน เวลา 00.19 น. มีแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้ อยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ. สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษและประธานองคมนตรี เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เพื่อกราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์บ้านเมือง

จากนั้นในเวลาประมาณ 09.00 น. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้อ่านแถลงการณ์ทางสถานีโทรทัศน์ โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมปรากฏตัว ประกอบด้วย พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

"เรียนพี่น้องประชาชนที่เคารพ ตามที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ทำการยึดอำนาจการปกครองได้เรียบร้อยแล้ว และมีผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ มีอันสิ้นสุดลง ทั้งนี้ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีความเห็นร่วมกันว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย การบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ และเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องอย่างกว้างขวาง อีกทั้งมีพฤติกรรมแทรกแซงอำนาจขององค์กรอิสระ จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ หรือแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติให้ลุล่วงไปได้ หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ต่อไป จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางโอกาส ยังหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนชาวไทย

ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความจำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจจากการปกครองแผ่นดินเพื่อควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ของประเทศให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ และสร้างความรู้รักสามัคคีในหมู่ประชาชนให้ฟื้นคืนมาโดยเร็ว ทั้งนี้ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอยืนยันว่า ไม่มีเจตนาจะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง และจะคืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะธำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบสุข และความมั่นคงของชาติ เทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย จึงใคร่ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ และสนับสนุนให้การดำเนินการบรรลุเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ต่อไป"


ต่อมาหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ ที่ 24 กันยายน 2549 ตีพิมพ์คำแถลงของ พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ในเวลานั้น ซึ่งเรียกประชาสัมพันธ์จังหวัด และสื่อมวลชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวม 27 คน เข้ารายงานตัวและร่วมประชุมเพื่อชี้แจงนโยบายและสั่งการของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่สโมสรบันเทิงทัพ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก

"ที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณเตือนไปยังข้าราชการและนักการเมืองผ่านทางสื่อมวลชนมาแล้ว 2-3 เดือน เพื่อให้กลับตัวกลับใจบริหารประเทศชาติให้มีความสงบสุข แต่ก็ยังไม่มีใครสำนึกหรือคิดทำ ยิ่งกลับทำให้ประเทศชาติเสียหายมากยิ่งขึ้นไปอีก นับวันประชาชนในชาติยิ่งเกิดความแตกแยกแบ่งเป็นกลุ่มเป็นพวก เกิดการทะเลาะเบาะแว้งจนทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมืองขึ้นมา แม้แต่ทหารที่ถูกนักการเมืองเลวบางคน ยุยงจนเกิดการแตกแยกกันออกเป็นกลุ่ม ยุยงให้บ้าในรุ่น บ้าเหล่า จึงจำเป็นต้องออกมาทำการปฏิรูปการปกครองใหม่"

ส่วนหนึ่งการการแถลงเปิดใจครั้งนั้น เผยให้เห็นถึงการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งนั้น ผ่านการวางแผนมาก่อนหน้านั้นแล้วหลายเดือน

"การวางแผนปฏิรูปการปกครองนั้นได้มีการวางแผนมาแล้ว 7-8 เดือน ไม่ใช่เพิ่งคิดจะทำกันแค่วันหรือสองวัน แต่มีการกำหนดไว้หลังจากเห็นว่าสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยในประเทศเริ่มสั่น คลอน ประเทศชาติขาดคนมีภาวะผู้นำ มีแต่คนเก่งที่ขี้โกง แต่งตั้งข้าราชการที่เป็นพวกพ้องขึ้นมาบริหารงานรักษาประโยชน์และอำนาจให้แก่ตนเอง ปรับและโยกย้ายคนที่ไม่ใช่พวกพ้องออกไป กองทัพภาคที่ 3 จึงได้เตรียมความพร้อมมาตลอดเพื่อการปฏิรูปในวันนี้"

ถ้าจะย้อนความไปก่อนหน้านั้น ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 ก่อนหน้างานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ตีพิมพ์รายละเอียดของทฤษฎี "แผนฟินแแลนด์" "ปฏิญญาฟินแลนด์" หรือ "ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์" ซึ่งเนื้อหาในบทความกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตผู้นำนิสิตนักศึกษาในขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยช่วงก่อน และหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ได้พบปะกันในประเทศฟินแลนด์ใน ปี 2542 เพื่อริเริ่มแผนการเพื่อจัดตั้งการปกครองแบบพรรคการเมืองเดียว ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาปนาสาธารณรัฐและจัดการเลือกตั้งสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัด

บทความ "ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์:แผนเปลี่ยนการปกครองไทย ?" (5 ตอน) เขียนโดย ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 17, 19, 22, 23 และ 24 พฤษภาคม 2546 ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับทักษิณได้ขยายรวมไปถึงสมาชิกพรรค ไทยรักไทยคนอื่นด้วย ได้แก่ น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช (เลขาธิการนายกรัฐมนตรี) นายจาตุรนต์ ฉายแสง (รองนายกรัฐมนตรี) นายสุธรรม แสงประทุม (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย) และนายภูมิธรรม เวชยชัย (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม) ซึ่งทั้งหมดได้เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา

ทฤษฎีดังกล่าวได้รับความสนใจจากบุคคลหลายวงการ รวมทั้งผู้นำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2549 ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช สมาชิกวุฒิสภา นายโสภณ สุภาพงษ์ และผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสนเนียม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 1-7 ตุลาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (3)

10 วันอันตราย: ถนนสู่การยึดอำนาจ

ตอนสายของวันที่ 9 กันยายน พ.ต.ท. ทักษิณ ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ขึ้นเครื่องที่ท่าอากาศยานทหาร บน. 6 ดอนเมือง เพื่อเดินทางไปประเทศทาจิกิสถาน ท่ามกลางการอารักขาของหน่วยทหารพร้อมอาวุธสงคราม เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่นานมีความพยายามลอบสังหารรักษาการนายกรัฐมนตรีด้วยคาร์บอมบ์

10 กันยายน พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางถึงกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เพื่อเข้าร่วมประชุมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป หรือ อาเซม มีข่าวลือเรื่องปฏิวัติหนาหูขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเพียงการปล่อยข่าว ขณะที่ในประเทศไทย พล.ร.อ. บรรณวิทย์ เก่งเรียน รองปลัดกระทรวงกลาโหม แสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อการแทรกแซงโผย้ายทหารของรัฐบาลและ พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

11 กันยายน พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะ เดินทางไปพักผ่อนที่อังกฤษ เนื่องจากเกิดเป็นไข้ขึ้นมากะทันหันหลังเสร็จการประชุมอาเซมที่ประเทศฟินแลนด์ เพื่อเตรียมตัวร่วมประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ประเทศคิวบา

13 กันยายน พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่าทหารไม่คิดปฏิวัติ

15 กันยายน พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์นักข่าวระหว่างเดินทางไปประเทศคิวบาว่าอาจจะเว้นวรรคทางการเมือง

เช้าวันที่ 19 กันยายน มี คำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเตรียมเข้าประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วม โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. อ้างว่ากระชั้นชิดเกินไป ยกเว้น พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำให้ช่วงบ่ายมีกระแสข่าวลือการรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่วทำเนียบรัฐบาลและ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งข่าวรัฐมนตรีและนักการเมืองร่วมรัฐบาลหลายคนได้หลบหนีออกนอกประเทศแล้ว ช่วงพลบค่ำมีข่าวว่ากำลังทหารหน่วยรบพิเศษจากจังหวัดลพบุรี เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ

เวลา 18.00 น. นายสมชาย มีเสน ผู้จัดรายการวิทยุ F.M. 92.25 MHz ออกอากาศเรียกร้องผู้ฟังรายการจำนวนหนึ่งรวมตัวกันเข้าพบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เพื่อขอให้ทหารให้ความคุ้มครองกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ในวันที่ 20

ประมาณ 21.00 น. กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก จากนั้นเวลา 22.00 น. ขบวนรถถังเคลื่อนเข้าคุมเชิงที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และ ถ.ราชดำเนินไม่กี่นาทีต่อมา ทหารจำนวนมากออกมาตรึงกำลังตามถนนต่าง ๆ ตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึง ถ.ราชสีมา บริเวณสวนรื่นฤดี สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) โดยมีทหารแต่งกายลายพรางเต็มยศเป็นผู้ควบคุมกำลัง

ขณะที่ในเวลาเดียวกัน พ.ต.ท. ทักษิณ ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. (โมเดิร์นไนน์ทีวี) ออกคำสั่งปลดพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน จาก ผบ.ทบ. พร้อมกับแต่งตั้ง พล.อ. เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดให้ควบคุมสถานการณ์ แต่ระหว่างประกาศคำสั่ง สัญญาณก็ถูกตัดเนื่องจากกำลังทหารฝ่ายรัฐประหารเข้าควบคุมสถานีไว้ได้ ส่วนโทรทัศน์ช่องอื่นรายการตามปรกติถูกงดออกอากาศ มีการเปิดเพลงและฉายภาพยนตร์เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแทน ขณะนั้นรถถังจำนวนหนึ่งเข้าคุมจุดสำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ อาทิ ทำเนียบรัฐบาล สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ถนนราชดำเนิน บ้านพักของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยทหารผูกริบบิ้นสีเหลืองเอาไว้ที่แขนเสื้อและปลายปืน

เวลา 22.54 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยออกอากาศทางสถานีทุกช่อง ขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พร้อมขออภัยในความไม่สะดวก และเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ประกอบ ด้านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีเผยแพร่ข่าวรถถังและกำลังทหารควบคุมสถานการณ์ภายในกรุงเทพมหานคร

หลังจากนั้น เวลา 23.00 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเผยแพร่แถลงการณ์ยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) โดย พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษกสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 "เนื่องด้วยขณะนี้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลไว้ได้แล้วโดยไม่มีการขัดขวาง เพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจึงขอความร่วมมือประชาชนในการให้ความร่วมมือและอยู่ในความสงบ และขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ด้วย"

เวลา 23.50 น. ประกาศ คปค. ฉบับที่ 1 ชี้แจงเหตุผลยึดอำนาจว่า "การบริหารราชการแผ่นดินโดยรักษาการณ์รัฐบาลปัจจุบันได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดินอันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนสังคมจะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้

"ดังนั้นคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ ขอยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเองแต่ได้คืนอำนาจปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขและความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 24-30 กันยายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (2)

ตุลาการภิวัฒน์: คำวินิจฉัยเลือกตั้งโมฆะ

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงการเลือกตั้งซ่อมวันที่ 23 เมษายน 2549 ในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งเพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้เหตุผลไว้ 4 ประเด็นด้วยกัน คือ


1. คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ความเห็นในเรื่องการกำหนดระยะเวลาสำหรับการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง อันนำไปสู่การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม ขัดกับหลักการเรื่องความเป็นกลางในทางการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และขัดกับหลักการเรื่องการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

2. การจัดคูหาเลือกตั้งที่ผู้เลือกตั้งหันหน้าเข้าคูหาลงคะแนนและหันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับบุคคลภายนอก ที่มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งหน้าหน่วย เป็นการละเมิดหลักการเรื่องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งซึ่งจะต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

3. พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผู้สมัครในทุกเขตทั่วประเทศว่าจ้างให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนด เป็นการละเมิดหลักการพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เพียงคงเดียวในเขตเลือกตั้งนั้น

4. คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติ สั่งการ ออกประกาศ และออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวน เพื่อวินิจฉัยข้อปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้งตลอดจนการพิจารณาประกาศ และรับรองผลการเลือกตั้งไปโดยไม่มีการประชุมปรึกษาหารือ หรือมิได้มีการปรึกษาหารือกันโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งครบถ้วนตามอำนาจที่มีอยู่ และการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งมิได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมดโดยมติเอกฉันท์

วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงด้วยวาจาถึงผลการพิจารณากรณีปัญหาเกี่ยวกับความชอบ ว่ามีประเด็นที่ต้องลงมติ 2 ประเด็น คือ

1. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 8 คน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน คือ นายผัน จันทรปาน, นายจิระ บุญพจนสุนทร, นายนพดล เฮงเจริญ, นายมงคล สระฏัน, นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ และนายอภัย จันทนจุลกะ เห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุตามคำร้องข้อ 1 และข้อ 2 และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน คือ นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง เห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุตามคำร้อง ข้อ 2

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยจำนวน 6 คน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามคำร้องไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ นายจุมพล ณ สงขลา, นายมานิต วิทยาเต็ม, นายศักดิ์ เตชาชาญ, นายสุธี สุทธิสมบูรณ์, พลตำรวจเอกสุวรรณ สุวรรณเวโช และนายสุวิทย์ ธีรพงษ์ ทั้งนี้ นายมานิต วิทยาเต็ม ซึ่งวินิจฉัยว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่แถลงเหตุผลต่อที่ประชุมว่า ให้มีการเพิกถอนผลการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใหม่

2. สำหรับประเด็นให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดการการเลือกตั้งจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชี รายชื่อทั้งหมด และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่หรือไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน คือ นายผัน จันทรปาน, นายจิระ บุญพจนสุนทร, นายนพดล เฮงเจริญ, นายปรีชา เฉลิมวณิชย์, นายมงคล สระฏัน, นายมานิต วิทยาเต็ม, นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์, นายอภัย จันทนจุลกะ และนาย อุระ หวังอ้อมกลาง วินิจฉัยว่า ให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งและต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

จากนั้น นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใน ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้ แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จนนำไปสู่คำพิพากษาให้ กกต.ต้องโทษจำคุก และออกจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม มีการสรรหา กกต.ใหม่ และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549

ปฏิกิริยาในสังคมไทยท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง ที่รวมศูนย์ไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วไป จนเป็นกระแสที่เพิ่มทวีความร้อนของอุณหภูมิทางการเมืองมากยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่ง นายธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนิสิตนักศึกษาและ 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ได้รับสมญาจากสื่อมวลชนช่วงปลายรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ปี 2544 ว่าเป็น "ขาประจำ" เนื่องจากเขียนบทความแสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของ พ.ต.ท. ทักษิณ อย่างค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ว่า "ธีรยุทธ" ชี้มรดกยุคทักษิณ หลังมีกกต.ใหม่-เลือกตั้ง การเมืองยัง 'วิกฤต' โดยมีใจความสำคัญในกรณีกระบวนการยุติธรรม ดังนี้

"พระราชดำรัส 25 เมษายน ต่อศาล ซึ่งถือเป็นพระราชวิสัยทัศน์สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เพราะทรงเปิดทางให้เกิดตุลาการภิวัฒน์ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญที่สุดอย่าง หนึ่งของระบบการเมืองการปกครองของโลกปัจจุบัน...

ตุลาการภิวัฒน์เกิด เพื่อแก้ปัญหาลัทธิถือเลือกตั้งเป็นใหญ่ และเสริมประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเกือบทุกประเทศทั่วโลกแม้กระทั่งอังกฤษ ก็ได้หันมาใช้ตุลาการภิวัฒน์ (Judicial review) กันมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายประการ..."


จากนั้นสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ มีเหตุการณ์ที่ส่อว่าอาจมีการเตรียมการทำรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง เหตุการณ์ที่สำคัญ 2 เหตุการณ์คือ วันที่ 19 กรกฎาคม 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ออกคำสั่งโยกย้ายนายทหารระดับคุมกำลังจำนวน 129 นาย และนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้บริหารสื่อในเครือผู้จัดการได้ประกาศจะชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 20 กันยายน ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็ประกาศระดมพลชุมนุมเช่นกัน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 17-23 กันยายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (1)

ผ่าทางตันรัฐบาลเลือกตั้ง 2548-2549

ท่ามกลางที่อุณหภูมิการเมืองเริ่มร้อนระอุ ภายหลังการคัดค้าน โจมตีการบริหารราชการแผ่นดินอย่างกว้างขวางนับจากช่วงปลายรัฐบาลไทยรักไทยที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 กระทั่งการเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 โดยพรรคไทยรักไทยของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่รวมพรรคต่าง ๆ อันได้แก่ พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคกิจสังคม, พรรคเสรีธรรม, พรรคเอกภาพ เข้ากับไทยรักไทยก่อนหน้านั้น ได้เบอร์ 9 ใช้สโลแกนหาเสียงว่า "4 ปีสร้าง 4 ปีซ่อม" ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ได้ 377 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคชาติไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้เบอร์ 1 หาเสียงด้วยสโลแกน "สัจนิยม" ได้ 26 ที่นั่ง ต่อมาภายหลังได้เป็นฝ่ายค้าน ส่วนฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ ได้เบอร์ 4 หาเสียงด้วยสโลแกน "ทวงคืนประเทศไทย" ได้ 96 ที่นั่ง แต่พื้นที่ภาคใต้ได้ถึง 52 ที่นั่ง จากทั้งหมด 54 ที่นั่ง และพรรคมหาชน ได้เบอร์ 11 ซึ่งเพิ่งก่อตั้งก่อนหน้าการเลือกตั้ง ได้เพียง 3 ที่นั่ง

บทความจากหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ในเวลานั้นเขียนไว้ว่า "พ.ต.ท .ทักษิณได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งในประวัติ ศาสตร์การเมืองไทย และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทรงอำนาจที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือกตั้งผู้นำประเทศมา" หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยที่ดำรงตำแหน่งในวาระครบ 4 ปี และชนะการเลือกตั้งได้รับเสียงข้างมากอย่างสมบูรณ์ในสภามากที่สุดเป็นครั้งแรกของการเลือกตั้งปกติ

แต่แล้วในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีนักวิชาการบางกลุ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าอยู่ภายใต้ "ระบอบทักษิณ" คือ ละเลยเจตนารมณ์ประชาธิปไตย พัวพันกับผลประโยชน์แอบแฝงและทับซ้อนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวงจนเกิดวาทกรรม "คอร์รัปชันเชิงนโยบาย" นอกจากนี้ยังไม่สามารถควบคุมความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการกวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติดในปี 2546 ที่สื่อมวลชนกระแสหลักและองค์กรพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) สร้างวาทกรรม "ฆ่าตัดตอน" จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 2,500 คน

กลุ่มพลังทางการเมืองในฟากตรงข้ามกับรัฐบาลพรรคไทยรักไทยต่างๆ ดังกล่าว อาศัยวาทกรรม "ระบอบทักษิณ" สร้างความชอบธรรมในการขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการเคลื่อนไหวนอกสภาเป็นขบวนการและเป็นระลอก และขึ้นสู่กระแสสูงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 เมื่อนายสนธิ ลิ้มทองกุล นำประชาชนที่ชุมนุมประท้วงหลายหมื่นคนบริเวณพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต ประกาศ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ "พระราชทานผู้นำในการปฏิรูปการเมือง" โดยอ้างมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

นอกจากนั้นในระหว่างการประท้วงในคืนวันที่ 4 ต่อเนื่องถึงรุ่งเช้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549 นายสนธิขอเข้าพบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกโดยเรียกร้องให้ "ทหารออกมายืนข้างประชาชน"

ตามมาด้วยการประกาศตัวเป็นทางการของ "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์

จากความขัดแย้งทางการเมืองและการเคลื่อนไหวกดดันส่งผลให้การบริหารประเทศของรัฐบาลเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในที่สุด พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงประกาศยุบสภาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 ทั้งนี้พรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์, ชาติไทย, มหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขัน

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 24 วันที่ 2 เมษายน 2549 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 29,088,209 คน (64.77%) คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 44,909,562 คน มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน (โนโหวต) 9,051,706 คน (คิดเป็น 31.12%) มีบัตรเสีย จำนวน 1,680,101 ใบ (คิดเป็น 5.78%)  และมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 28,998,364 คน (64.76%) คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 44,778,628 คน มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน (โนโหวต) 9,610,874 คน (คิดเป็น 33.14 %) มีบัตรเสีย จำนวน 3,778,981 ใบ (คิดเป็น 5.78%)

พรรคไทยรักไทยได้รับที่นั่งในรัฐสภาถึง 460 ที่นั่ง ด้วยคะแนนเสียง 56% ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวอ้างว่าได้รับเสียงถึง 16 ล้านเสียง แต่จากผลการเลือกตั้งนั้นปรากฏว่ามีผู้สมัครหลายเขตที่มีคะแนนเสียงไม่เกิน ร้อยละ 20 ตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ วันที่ 23 เมษายน 2549 จำนวน 40 เขตเลือกตั้ง ใน 17 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดตรัง จังหวัดปัตตานี จังหวัดพังงา จังหวัดสตูล จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดกระบี่

2 วันหลังจากการจัดการเลือกตั้งซ่อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะผู้พิพากษาในวันที่ 25 เมษายน 2549 ความว่า "ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไร ก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้"

สำหรับการเลือกตั้งซ่อมครั้ง นี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 กรณีการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 23 เมษายน 2549 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งเพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดการพิจารณาวินิจฉัยในวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม 2549.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 10-16 กันยายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

นายปรีดีวิพากษ์การอภิวัฒน์สยาม: ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎร (2)

นายปรีดีวิพากษ์การอภิวัฒน์สยาม:
ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎร (2)

จนเวลาล่วงเลยมาถึงปี 2525 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง จึงเปิดใจในทัศนะต่อการล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยการให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีการอภิวัฒน์สยาม ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส

***********************

ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎรของประเทศ คือ ความผิดพลาดบกพร่องที่เหมือนกับทุกๆขบวนการเมือง และความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ ในส่วนที่ว่าเหมือนกับทุกขบวนการก็คือ ความขัดแย้งภายในขบวนการเมือง ทุกคณะพรรคการเมือง ที่ต่อสู้ระหว่างกันตามวิถีทางรัฐสภานั้น ก็มีความขัดแย้งภายในพรรคนั้นๆ แม้ว่าคณะพรรคใดได้อำนาจรัฐแล้วก็ดี แต่ความขัดแย้งภายในพรรคนั้นก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้น จึงปรากฏว่าคณะพรรคมากหลาย ได้มีการแตกแยกออกเป็นหลายส่วน หรือสลายไปทั้งคณะพรรค ส่วนคณะพรรคหรือขบวนการที่ใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธนั้น ก็ปรากฏความขัดแย้งและการแตกแยกทำนองเดียวกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประวัติศาสตร์แห่งสมัยระบบศักดินาแห่งมนุษยชาตินั้น เคยมีตัวอย่างที่คณะบุคคลหนึ่งใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธต่อผู้ครองอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ภายในคณะพรรคนั้นเองก็มีบุคคลที่มีความโลภและความริษยา ซึ่งเกิดจากรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัวขนาดหนักนั้น ใช้วิธีทำลายคนในคณะเดียวกันเพื่อคนๆเดียวได้เป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า egocentrism โดยจุดอ่อนของคณะราษฎรโดยเฉพาะนั้น ก็แบ่งออกได้เป็น 4 ประการด้วยกัน คือ

ประการที่ 1 ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมือง ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นฟาดทัศนะเผด็จการชาติศักดินาซึ่งเป็นการโต้อภิวัฒน์ หรือ counter-revolution ต่อการอภิวัฒน์ ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีวิตร่วมกับคณะ

ประการที่ 2 คณะราษฎรคิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธีในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูกการโต้อภิวัฒน์ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง

ประการที่ 3 นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร 3 ท่าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุระเดช พระยาฤทธิ์อาคเนย์ มีความรู้ความชำนาญการทหารสามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคนแม้มีความรู้ทางทฤษฎีเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดการชำนาญในการปฏิบัติและขาดความชำนาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง อาทิ ผม เป็นต้น

ประการที่ 4 การเชิญข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกระบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภา และเลิกใช้รัฐธรรมนูญถาวร ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 เป็นเหตุที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยของประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้นแท้จริงจนทุกวันนี้…

แม้คณะราษฎรมีจุดอ่อนหลายประการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่จุดอ่อนดังกล่าวได้ทำให้ระบบประชาธิปไตยการล่าช้าไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 เท่านั้น ที่ผมตอบเช่นนี้ไม่ได้เป็นความที่ผมต้องการแก้ตัวแต่ได้กล่าวตามหลักฐานแท้จริง ซึ่งผมขอให้ท่านพิจารณาดังนี้คือ

ก. คณะราษฎรได้ต่อสู้ความขัดแย้งภายในคณะ และการโต้อภิวัฒน์จากภายในคณะและภายนอกคณะ มาหลายครั้งหลายหน แต่คณะราษฎรเองได้ปฏิบัติตามหลักทุกประการของคณะราษฎรที่ได้ประกาศไว้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ให้สำเร็จไปก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 อันเป็นวันที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ทั้ง 6 ประการนี้ ซึ่งได้แก่ ความเป็นเอกราชสมบูรณ์, การให้ความปลอดภัยในประเทศ, การดำรงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ, ให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน, การให้ราษฎรมีเสรีภาพและความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักดังกล่าวข้างต้น, และ ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ในแง่ของรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ได้บัญญัติขึ้นตามวิธีการที่บัญญัติไว้โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นแม่บท ท่านผู้มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาหลักฐานประวัติศาสตร์ระบบรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นได้ว่าถูกต้องสมบูรณ์ และในสาระก็เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะได้ยกเลิกบทเฉพาะกาลที่ให้มีสมาชิกประเภทที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้ง

ข. ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจรัฐ ล้มระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่ได้สถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489  ครั้นแล้วคณะรัฐประหารได้สถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งมีฉายาว่า "รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม" เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 อันเป็นโมฆะ ทั้งรูปแบบแห่งกฎหมาย และในสาระสำคัญของระบบประชาธิปไตย ซึ่งผมได้กล่าวชี้แจงไว้ในหลายบทความแล้ว อาทิ กรมขุนไชยนาทฯ พระองค์เดียว ไม่มีอำนาจลงพระนามแทนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม อ้างตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้นก็เป็นโมฆะ เพราะเป็นตำแหน่งที่คณะรัฐประหารตั้งให้ มิใช่เป็นรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มได้บัญญัติให้วุฒิสภาซึ่งสมาชิกเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้ง มิใช่โดยการเลือกตั้งของราษฎร จึงมิใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์เหมือนดั่งรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489

***********************

รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มดังกล่าว ได้เป็นแม่บทให้รัฐธรรมนูญอีกหลายๆฉบับต่อๆมา ซึ่งวุฒิสมาชิกได้รับการแต่งตั้งและบางครั้งที่สมาชิกสภาผู้แทนฯ ส่วนหนึ่งก็ได้รับการแต่งตั้ง หนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับในปัจจุบันนี้ เรียกระบบปกครองเช่นนี้ว่า "ประชาธิปไตยครึ่งใบ"

และหลังจากการให้สัมภาษณ์คราวนั้นแล้ว ฯพณฯ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส (ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่อง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2488) และอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย (24 มีนาคม - 1 มิถุนายน 2489 และ 11 มิถุนายน - 21 สิงหาคม 2489) ซึ่งเดินทางออกจากประเทศไทยไปลี้ภัยการเมือง และใช้ชีวิตในวัยชราที่ประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา ก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 รวมอายุได้ 83 ปี

นายปรีดีเคยกล่าวประโยคที่สรุปจากบทเรียนชีวิตของตัวเองเป็นวาจาอมตะว่า "เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ก็ไม่มีความเจนจัด แต่เมื่อข้าพเจ้ามีความเจนจัด ก็ไม่มีอำนาจ"

จากนั้น ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาล องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งประเทศไทย เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี 2543.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 3-9 กันยายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

นายปรีดีวิพากษ์การอภิวัฒน์สยาม: ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎร (1)

นายปรีดีวิพากษ์การอภิวัฒน์สยาม:
ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎร (1)

  • "จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร"

    จาก "ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1"
    ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2475

***********************

เมื่อปี 2525 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี "การอภิวัฒน์สยาม 2475" สถานวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย (ยุติการกระจายเสียง จากสถานีวิทยุบีบีซี กรุงลอนดอนในวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2549) จัดรายการสัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ฝ่ายพลเรือน (หรือ "คณะราษฎร") รัฐบุรุษอาวุโส และผู้ประศาสน์การ (อธิการบดี) คนแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

การสัมภาษณ์มีขึ้น ณ ที่พักในอองโตนี ชานกรุง ปารีส โดย ดร. จริยวัฒน์ สันตะบุตร พนักงานนอกเวลาของบีบีซี โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญที่ขบวนการประชาชนที่พยายามรับภารกิจสำคัญสืบทอดจาก เจตนารมณ์ในเบื้องต้นของการอภิวัฒน์ นายปรีดีได้มองย้อนหลังความล้มเหลวในการพยายามสถาปนาระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการให้อรรถาธิบายถึงความเป็น "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489

ก่อนอื่น ขอนำแถลงการณ์ "คณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี)" ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2475 นั่นคือ 1 สัปดาห์หลังการยึดอำนาจและประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 มาลงตีพิมพ์ดังนี้

***********************

  • แถลงการณ์คณะกรรมการราษฎร

    เนื่องแต่คณะราษฎรได้มีประกาศแสดงถึงการกระทำของกษัตริย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.นี้ และต่อมาคณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครอง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรแล้วนั้น

    ต่อมาเมื่อวัน ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. นี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กรรมการราษฎรได้ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังสุโขทัย ทรงรับสั่งถึงความจริงที่ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยดีต่อราษฎร และทรงพระราชดำริจะให้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรอยู่แล้ว และสิ่งอื่นๆ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะกระทำก็ล่าช้าไป หาทันกาลสมัยไม่ ส่วนการที่ข้าราชการในรัฐบาลของพระองค์ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต ก็ทรงสอดส่องอยู่เหมือนกัน หาได้สมรู้ร่วมคิดด้วยไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารถนาดีต่อราษฎรเช่นนี้ และทรงยอมร่วมเข้าคณะราษฎร โดยเป็นประมุขของประเทศสยามแล้ว ฉะนั้น คณะกรรมการราษฎรจึงเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรารถนาดีต่อราษฎร

    ประกาศ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2475

***********************

ใจความสำคัญของเนื้อความในประกาศทั้ง 2 ฉบับนั้น แสดงอย่างชัดเจนถึง การเปลี่ยนผ่านการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน กระทั่งหลังการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 นั้นเอง จึงเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

แต่ด้วยความผันผวนและการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองตลอดช่วงแรกของการอภิวัฒน์ที่ นำไปสู่การทำรัฐประหารและความพยายามก่อกบฏ นับจากในวันที่ 1 เมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญเกือบทุกมาตรา ถัดมาในวันที่ 2 เมษายน คณะรัฐมนตรีชุดเดียวกันก็ผลักดันให้รัฐสภามีมติผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งหมายถึง "คณะราษฎร" อันนำไปสู่การถูกเนรเทศโดยทางพฤตินัย เมื่อนายปรีดีถูกบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศไปยังฝรั่งเศส ในวันที่ 12 เมษายนนั้นเอง เนื่องจากความเห็นของนายปรีดีถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ภายหลังการเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ

ต่อมาในวันที่ 10 มิถุนายน พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระประศาสน์พิทยายุทธ และพระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้นำสายทหารของคณะราษฎรยื่นจดหมายลาออก ก่อนที่อีก 10 วันต่อมา คือในวันที่ 20 มิถุนายน พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงเป็นผู้นำยึดอำนาจพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี หลังจากการรัฐประหารได้มีการล้างมลทินให้นายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐมนูธรรม

จากนั้นตามมาด้วย "กบฏบวรเดช" ในเดือนตุลาคม 2476 และการประกาศสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 และ "กบฏพระยาทรงสุรเดช" หรือ "กบฏ 18 ศพ" เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2482 ซึ่งรัฐบาล ป.พิบูลสงครามดำเนิน การกวาดล้างโดย พันเอกหลวงอดุลยเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีมหาดไทย จับตายนายทหารสายพระยาทรงสุรเดช 3 คน จับกุมผู้ต้องสงสัย จำนวน 51 คน ในจำนวนนี้ศาลพิเศษตัดสินปล่อยตัวพ้นข้อหา 7 คน จำคุกตลอดชีวิต 25 คน โทษประหารชีวิตจำนวน 21 คน แต่ให้เว้นการประหาร คงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต 3 คนที่เรือนจำบางขวางและตะรุเตา เนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร (ถูกถอดออกจากฐานันดรศักดิ์ แต่ได้มีการประกาศสถาปนาพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ตามเดิม เมื่อ พ.ศ. 2487 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2495), พลโท พระยาเทพหัสดิน และ พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 27 สิงหาคม-2 กันยายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

รัฐธรรมนูญที่ปราศจากองคมนตรี: ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (2)

รัฐธรรมนูญที่ปราศจากองคมนตรี:
ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (2)

ในอดีต มีรัฐธรรมนูญถึง 3 ฉบับในยุครุ่งอรุณของระบอบประชาธิปไตยของสยามประเทศ นั่นคือ ฉบับ 2475 (ทั้งฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน และฉบับถาวร 10 ธันวาคม) และฉบับ 2489 หาได้มีบทบัญญัติถึง "อภิรัฐมนตรี" (รัฐธรรมนูญ 2490 และเปลี่ยนเป็น "องคมนตรี" ในรัฐธรรมนูญ 2492) หรือ "องคมนตรี" ไว้แต่อย่างใด

ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน (ชั่วคราว) 27 มิถุนายน 2475 บัญญัติไว้ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชภาระได้ไว้ดังนี้
  • มาตรา 5 ถ้ากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ใช้สิทธิแทน
ทั้งนี้บทบัญญัติว่าด้วย "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 บัญญัติไว้ดังนี้
  • มาตรา 10 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว
ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2489 บัญญัติว่า...
  • มาตรา 10 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ให้รัฐสภาปรึกษากันตั้งขึ้นและในระหว่างที่รัฐสภายังมิได้ตั้งผู้ใด ให้สมาชิกพฤฒสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคน ประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว
นั่นคือ ในการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (แห่งรัฐ) นั้น องค์กรทุกองค์กร รวมทั้งองค์กรที่ปฏิบัติพระราชภาระแทนพระองค์ ล้วนมาจากกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น กล่าวคือ

ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน (ชั่วคราว) 27 มิถุนายน 2475 บัญญัติถึง "คณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี)" (แม้ว่าบทบัญญัติที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้เป็น 3 สมัย ซึ่งเป็นการวางเงื่อนไขการเลือกตั้งโดยสมบูรณ์ในสมัยที่ 3 ทำให้ดูเหมือนเป็น "บทเฉพาะกาล" ของส่วน "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" ก็เป็นที่เข้าใจได้ถึง "รอยต่อ" ของการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง) ไว้ดังนี้
  • มาตรา 32 คณะกรรมการราษฎรประกอบด้วยประธานคณะกรรมการราษฎร ๑ นาย และกรรมการราษฎร 14 นาย รวมเป็น 15 นาย
  • มาตรา 33 ให้สภาเลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้ 1 ขึ้นเป็นประธานกรรมการ และให้ผู้เป็นประธานนั้นเลือกสมาชิกในสภาอีก 14 นายเพื่อเป็นกรรมการ การเลือกนี้เมื่อได้รับความเห็นชอบของสภาแล้ว ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับเลือกนั้น ๆ เป็นกรรมการของสภา ในเมื่อสภาเห็นว่ากรรมการมิได้ดำเนินกิจการตามรัฐประศาสโนบายของสภา สภามีอำนาจเชิญกรรมการให้ออกจากหน้าที่ แล้วเลือกตั้งใหม่ตามที่กล่าวในตอนนั้น
ในกรณีรัฐธรรมนูญ 2475 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี มีที่มาดังนี้
  • มาตรา 47 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกสิบสี่นายต้องเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกนั้นจะเลือกจากผู้ที่เห็นว่ามีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ แม้มิได้เป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่อาจดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
และสำหรับพฤฒสภาในรัฐธรรมนูญ 2489 บัญญัติไว้ว่า
  • มาตรา 24 พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งมีจำนวนแปดสิบคน สมาชิกพฤฒสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยทางอ้อมและลับ
ประเด็นที่น่าสนใจถัดมา จาก "ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า" ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า คือการกล่าวถึง "กลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม" คือการฟื้นองค์กร "องคมนตรี" ซึ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) 2490 ดังนี้
  • มาตรา 9 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำหรับถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดิน
  • มาตรา 10 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้จะได้แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ทันที
ที่น่าสังเกตคือ บทบัญญัติในเรื่ององคมนตรีนี้มีการกำหนดลงไปในรายละเอียดยิ่งขึ้น ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2492 ซึ่งในเวลาต่อมาเรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/รัฐประหาร_พ.ศ._2494) ซึ่งมีบัญญัติไว้ดังนี้
  • มาตรา 19 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
  • มาตรา 20 ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความ ในมาตรา ๑๙ ก็ดี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดี ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นั้นเป็น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
  • มาตรา 21 ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา 20 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน
จะเห็นว่า นับจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 ซึ่งได้มาโดยการรัฐประหารเป็นต้นมา มีบทบัญญัติว่าด้วยบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ "องคมนตรี (อภิรัฐมนตรี)" มากยิ่งขึ้นทุกที.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 20-26 สิงหาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

ปรับปรุงเพิ่มเติมจาก โพสต์ครั้งแรก 18 ธันวาคม 2009, 21:30:55
http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=8964.0

พิมพ์ครั้งแรก Voice of Taksin
ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 ปักษ์หลัง ธันวาคม 2552
คอลัมน์ รั้งม้าริมผา ผู้เขียน อริน

รัฐธรรมนูญที่ปราศจากองคมนตรี: ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (1)

รัฐธรรมนูญที่ปราศจากองคมนตรี:
ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (1)

ก่อนอื่นขออัญเชิญ พระราชหัถตเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2477 (ขณะนั้นใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนศักราช) ที่ทรงพระราชทานแก่คณะราษฎร อันเป็นการประกาศสละราชสมบัติ และทรงแสดงพระราชปณิธานในทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยไว้ ณ ที่นี้

********************************

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริง ไม่เปนผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เปนอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เปนต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวงซึ่งเปนของข้าพเจ้าอยู่ นฐานะที่เปนพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเปนของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์

ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใดให้เปนผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิจะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศ เพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้า ถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่า มิได้เปนไปโดยความยินยอมเห็นชอบหรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ามีความเสียใจเปนอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ ตามความตั้งใจ และความหวัง ซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐานขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขสบาย.

ประชาธิปก.ปร.
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477
เวลา 13 นาฬิกา 45 นาที

********************************

เวลาผ่านไป 76 ปีเศษ การณ์กลับปรากฏว่าสภาพการณ์การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ริเริ่มและนำก่อก่อการขึ้นโดยกลุ่มบุคคลอันประกอบด้วยพลเรือนและทหาร ทั้งในและนอกราชการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นขุนนางอำมาตย์ รับราชการสนองพระเดชพระคุณใต้เบื้องยุคลบาทของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 นั้นเอง ยังคงวนเวียนอยู่ในวังวนของการแย่งชิงอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคล "เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร"

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญสยามเท่าที่ผ่านมา มีข้อมูลบ่งชี้ว่า เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์พระราชทานความเห็นแทบจะโดยตลอด ดังในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกแทนฉบับชั่วคราว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมา ณ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระองค์ทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" กำกับต่อท้ายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม โดยมีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ใช้ พ.ร.บ. ธรรมนูญฯ นี้เป็นการชั่วคราว แล้วให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

จากบทความเรื่อง "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475" ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พ.ศ._2475) มีข้อความว่า

    ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังปรากฏในคำแถลงของประธานอนุกรรมการ ฯ ต่อสภาฯ ว่า

    "…ในการร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯถวาย และทรงเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงทรงเห็นชอบด้วยอย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก…" (รงส. 34/2475, 24 พฤศจิกายน 2475)

ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ ในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังปฏิปักษ์ประชาธิปไตย นับจากการเข้ามามีอำนาจครั้งสำคัญของฝ่ายทหารในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ที่นำโดยนำโดยนายทหารนอกราชการ คือ พลโทผิน ชุนหะวัณ และ นาวาอากาศเอก กาจ กาจสงคราม นั้น...

จุดเปลี่ยนอย่างสำคัญในทางการเมืองการปกครองภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ก็คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ที่เพิ่งประกาศใช้มาเพียง 18 เดือน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ "คณะรัฐประหาร" จัดเตรียมไว้แล้วอย่างลับๆ จนได้รับสมญานามว่า "รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม" ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของตัวแทนทางการเมือง 2 กลุ่มสำคัญ คือ "คณะรัฐประหาร" กับ "กลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม" และมีสาระสำคัญคือเปลี่ยนแปลงจากการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ให้กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก...

เริ่มจากกำหนดให้ทรงมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และมีพระราชอำนาจในการปลดนายกรัฐมนตรี (มาตรา 78) โดยให้ประธานอภิรัฐมนตรีเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ ทั้งนี้อภิรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ (มาตรา 9 ) อีกทั้ง พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการเพิกถอนรัฐมนตรีได้ด้วยพระบรมราชโองการ (มาตรา 79) และมีพระราชอำนาจในการเลือกวุฒิสภา (มาตรา 33) ทรงมีอำนาจในการตราพระราชบัญญัติในกรณีฉุกเฉินและกรณีการเงิน (มาตรา 80, 81) เป็นต้น ดังนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่งผลให้การกระทำของพระองค์ปราศจากผู้สนองพระบรมราชโองการ และขัดต่อหลักพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ละเมิดมิได้ นอกจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์มากและมีการรื้อฟื้นองค์กรทางการเมืองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมา เช่น การรื้อฟื้นอภิรัฐมนตรี เป็นต้น (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/รัฐประหาร_พ.ศ._2490 เรียบเรียงโดย ณัฐพล และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 13-19 สิงหาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

ปรับปรุงเพิ่มเติมจาก โพสต์ครั้งแรก 18 ธันวาคม 2009, 21:30:55
http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=8964.0

พิมพ์ครั้งแรก Voice of Taksin
ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 ปักษ์หลัง ธันวาคม 2552
คอลัมน์ รั้งม้าริมผา ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (29)

บทสรุปและคำถามที่ยังต้องการคำตอบ:
อหิงสากับสังคมไทย


บทความเชิงบันทึกเหตุการณ์ชุดนี้เริ่มตอนแรกเมื่อใน โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 15-21 มกราคม 2554 จากเจตนาเดิมเพียงเพื่อนำเสนอเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในรอบ 18 ปีเศษ นับจาก "กรณี พฤษภาทมิฬ 2535" ที่มีการประกาศแนวทางขับเคลื่อนประชาธิปไตยโดยขบวนการประชาชนก่อนยุคปฏิรูป การเมืองของไทย ซึ่งเป็นรู้จักกันมาตลอดศตวรรษที่ 20 ในชื่อ "สันติ อหิงสา" ที่จนถึงขณะนี้ คงไม่อาจพิจารณาเป็นอย่างอื่นไปได้นอกเหนือจากว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพียงวาท กรรมว่างเปล่า หลังการล่มสลายของการประกาศสู้ด้วยกำลังอาวุธ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ ไทย ภายใต้นโยบาย 66/2523

ประเด็นสำคัญที่ขบวนการประชาชนที่ก่อรูปและพัฒนาขยายตัวมาตลอดเวลากว่า 3 ทศวรรษหลังการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร นั่นคือการทำความเข้าใจและตรวจสอบแนวทางของขบวนการประชาชนภายใต้วาทกรรม "สันติ อหิงสา" หรือในช่วงก่อนการรัฐประหารอัปยศ 19 กันยายน 2549 มีการนำศัพท์บัญญัติอีกคำหนึ่ง "อารยะขัดขืน" มาใช้อ้างเอาความชอบธรรมเพื่อนำไปสู่การบรรลุจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่แฝงไว้ด้วยพลัง "นอกอำนาจอธิปไตยทั้งสาม"

เพื่อเป็นการนำภาพแนวทาง "ไม่ใช้ความรุนแรง" ในประวัติศาสตร์ของการ "ต่อต้านอำนาจฉ้อฉล" ที่กระทำโดยรัฐต่อพลเมืองหรือประชาชนใต้อาณัติการปกครอง ในตอนสุดท้ายนี้ ขอเสนอกรณีเปรียบเทียบมาเป็นสังเขปดังนี้

เฮนรี เดวิด ทอโร (Henry David Thoreau, 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1817 - 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1862) นักเขียนและนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เกิดที่เมืองคองคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา หลังจากจบการศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี ค.ศ. 1837 ทอโรเดินทางกลับไปบ้านเกิดและสร้างสัมพันธภาพกับกวีชาวอเมริกันคนสำคัญ ราล์ฟ วอลโด อีเมอร์สัน

ในระหว่างปี ค.ศ. 1845-1847 ทอโรพาตัวไปใช้ชีวิตเรียบง่ายในกระท่อมที่สร้างด้วยตนเองบนที่ดินของอีเมอร์สัน ริมบึงวอลเดน อันเป็นที่มาของงานเขียน วอลเดน (Walden) ที่มีชื่อเสียง ในระหว่างนั้น ทอโรปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีให้กับรัฐ ด้วยเหตุว่าไม่เห็นด้วยกับสงครามเม็กซิกัน-อเมริกันและระบบทาสผิวดำในสหรัฐ เป็นเหตุให้ถูกจับขังหนึ่งคืน และนำไปสู่ความเรียง "ต้านอำนาจรัฐ" หรือ "อารยะขัดขืน (Civil Disobedience)" ซึ่งส่งอิทธิพลต่อ มหาตมะ คานธี และ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

หลังจากนั้น อีกเกือบ 100 ปี มหาตมะ คานธี ผู้นำการเคลื่อนไหวดื้อแพ่ง เพื่อต่อต้านอังกฤษในประเทศอินเดีย เริ่มต้นขบวนการประชาชน โดยเรียกแนวทางของตนว่า "สัตยาเคราะห์ (Satyagraha)" ซึ่งมีความหมายว่า การต่อสู้บนรากฐานของความจริงหรือสัจจะ

ภายใต้การปกครองโดยอังกฤษซึ่งเป็นประเทศเจ้านักล่าอาณานิคม กระทั่งมีคำเปรียบเทียบว่า "ตะวันไม่เคยตกดินภายใต้จักรวรรดิอังกฤษ" เนื่องอังกฤษมีดินแดนอาณานิคมอยู่ทุกมุมโลกในสมัยนั้น ในประเทศอินเดียมีกฎหมายให้การผลิตและขายเกลือกระทำได้โดยรัฐบาลอังกฤษเท่านั้น การผูกขาดเกลือเป็นรายได้ที่สำคัญ ถึงแม้ว่าคนอินเดียที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเลจะสามารถผลิตเกลือเพื่อบริโภคเองได้ ก็จำเป็นต้องซื้อจากอังกฤษ ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษถึงจำคุก

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1930 มหาตมะ คานธี พร้อมกับผู้เชื่อมั่นศรัทธาในแนวทางสัตยาเคราะห์จำนวน 78 คน เริ่มเดินเท้าเป็นระยะทาง 240 ไมล์ จากเมือง Sabarmati ไปยังเมือง Dansi ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล ตลอดเส้นทางมีประชาชนอินเดียตามเมืองต่างๆเข้ามาร่วมขบวนยาวหลายไมล์ การเดินทางครั้งนั้นใช้เวลา 23 วัน ซึ่งเมื่อถึงที่หมายแล้วก็เริ่มการ "ดื้อแพ่ง" โดยการเป็นผู้นำประชาชนนับพันขุดดินปนเกลือต้มในน้ำทะเลผลิตเกลือเพื่อท้าทายกฎหมายของอังกฤษ

ข่าวการเคลื่อนไหวนี้กระจายไปทั่วโลก ในขณะที่ชาวอินเดียพากันเข้าร่วมขบวนการผลิตและขายเกลือกันอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายและอำนาจการปกครองของรัฐบาลอาณานิคม ในที่สุดมหาตมะคานธีก็ถูกจับพร้อมกับประชาชนนับหมื่นคน มหาตมะ คานธี ให้การต่อศาลว่า

".. .การที่ข้าพเจ้ามิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้น มิใช่เพราะข้าพเจ้าไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง แต่เป็นเพราะข้าพเจ้าต้องการปฏิบัติตามคำสั่งที่สูงยิ่งไปกว่านั้น นั่นคือคำสั่งแห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของข้าพเจ้าเอง..."

เหตุการณ์ดื้อแพ่งของมหาตมะ คานธี ครั้งนั้นมีชื่อเรียกว่า "The Salt March" เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอินเดีย หลังจากคานธีได้รับการปลดปล่อยจากการถูกจับกุมคุมขัง ก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ประชาชาติอินเดียร่วมกันต่อสู้จนได้รับอิสรภาพใน ค.ศ. 1947 ในที่สุด

สำหรับในสหรัฐอเมริกาช่วงระหว่าง ค.ศ. 1955-1968 ในมีการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของคนผิวดำ ที่เรียกกันว่า "ขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement)" ซึ่งก่อนหน้านี้ในรัฐทางใต้คนผิวดำและผิวขาวไม่สามารถชีวิตร่วมอย่างมีสิทธิที่เท่าเทียมกันได้

ในปี ค.ศ. 1955 โรซา พาร์กส์ (Rosa Parks) ปฏิเสธที่จะลุกให้ที่นั่งแก่คนผิวขาวบนรถประจำทางตามที่คนขับรถสั่ง ทั้งที่กฎหมายท้องถิ่นระบุว่าเมื่อโดยสารรถร่วมกัน คนผิวดำไม่ว่าหญิงชายจะต้องสละที่ให้คนผิวขาวนั่ง เธอถูกจับขึ้นศาลและถูกตัดสินจำคุก เป็นเหตุให้คนผิวดำรวมตัวกันประท้วงด้วยการพร้อมใจกันไม่ใช้บริการรถประจำทาง ที่เรียกว่า "การคว่ำบาตรรถประจำทางมอนต์โกเมอรี (Montgomery Bus Boycott)" จนรัฐบาลท้องถิ่นต้องยกเลิกกฎหมายนี้

นอกจากนี้มีร้านอาหารหลายๆแห่งในรัฐทางใต้ปฏิเสธที่จะให้บริการแก่คนผิวดำ จึงมีการดื้อแพ่งโดยใช้วิธี "ซิทอิน (sit in)" โดยนักศึกษาผิวดำที่แต่งตัวเรียบร้อย ใส่สูทผูกไทผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไปนั่งเฉยๆทุกที่ว่างในร้านอาหารที่ปฏิเสธคนผิวดำ จนกระทั่งร้านนั้นไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แล้วลามไปทั่วทุกรัฐทางใต้ โดยมีคนผิวขาวส่วนหนึ่งร่วมขบวนการด้วย มีการใช้วิธีซิทอินกับสถานที่สาธารณะต่างๆ ทั้งสวนสาธารณะ ห้องสมุด โรงภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ เมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับนักศึกษาเหล่านี้ก็ไม่ยอมประกันตัว ต้องการติดคุกเพื่อให้เป็นข่าว และให้เป็นภาระกับเจ้าหน้าที่และรัฐบาลท้องถิ่นไปทั่ว

ภายใต้การต่อสู้เหล่านี้เพื่อกดดันรัฐบาลกลาง จนนำมาสู่การออกกฎหมายสิทธิเลือกตั้ง (Voting Rights Act) ค.ศ. 1965 และจากนั้นเมื่อ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถูกฆาตกรรมเมื่อวันที่ 4 เมษายน 1968 ในระหว่างการรณรงค์เพื่อสิทธิของคนผิวดำ จึงนำไปสู่การออกกฎหมายสิทธิพลเมือง (Civil Rights Act) ค.ศ. 1968 ที่ให้สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ

คำถามคือ ในขบวนประชาธิปไตยประชาชนของไทยนับจาก "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ที่ยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2516 มีแนวทางในการขับเคลื่อนที่สอดคล้องหรือเป็นไปในแนวทาง "สันติ อหิงสา" หรือไม่เพียงใด.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 6-12 สิงหาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (28)

สถานการณ์หลังรัฐบาลควบคุมพื้นที่และยอดความเสียหาย

แม้ว่าแกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุมที่เวทีราชประสงค์ และถูกเจ้าหน้าตำรวจเข้าควบคุมตัวแล้วก็ตาม ช่วงเวลาก่อน 14.00 น. ยังคงมีเสียงดังคล้ายประทัดยักษ์ดังอยู่อย่างต่อเนื่องจากบริเวณเชิงสะพานไทย-ญี่ปุ่น ที่แยกศาลาแดง ขณะที่จากรายงานโดยผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และการรายงานสถานการณ์จากที่ชุมนุมผ่านอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถเชื่อมโยงไปยังเครือข่าย social network เช่น Facebook หรือ Mail Group ทางอินเทอร์เน็ต แจ้งว่ายังคงมีเสียงปืนประปรายจากฝ่ายทหารอยู่เป็นระยะ

ในเวลา 14.00 น. พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด ประกาศความสำเร็จของรัฐบาลในการเข้าควบคุมสถานการณ์และยุติการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยการนำของแกนนำ นปช.  โดยระบุว่าหลังจากปฏิบัติการต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่ทหาร ภายใต้การกำกับดูแลสั่งการโดย ศอฉ. ตลอดครึ่งวันเศษ ทำให้ "แกนนำผู้ก่อการร้าย" ประกาศยุติการชุมนุมและเข้ามอบตัวกับทางการ ทั้งนี้หลังแกนนำทยอยเข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติในพื้นที่ราชประสงค์นั้นเอง ศอฉ. สั่ง ทหาร-ตำรวจหยุดปฏิบัติการรุกคืบ หลังควบคุมสถานการณ์ภาพรวมไว้ได้ เตือนประชาชนให้ออกนอกพื้นที่โดยไปรวมตัวที่สนามศุภชลาศัยพร้อมส่งกลับบ้าน

แต่แล้วในเวลาไล่เลี่ยกัน บริเวณสามแยกคลองเตยมีเสียงปืนไม่ทราบฝ่ายจากการปะทะดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากยังไม่มีรายงานของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ชุมนุมที่ยังคงกระจายตัวกันอยู่ อีกทั้งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่แสดงความเสียใจและผิดหวังที่แกนนำทิ้งประชาชนที่ร่วมต่อสู้กันมา จึงไม่ยอมรับกับการตัดสินใจดังกล่าวของแกนนำ มีผู้ชุมนุมบางคนได้ขว้างปาสิ่งของขึ้นไปบนเวที

เวลา 14.15 น. เกิดเหตุความวุ่นวาย ณ หน้าโรงพยาบาลตำรวจ สตช. และ ย่านบ่อนไก่ เนื่องจากผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจการประกาศยุติการชุมนุมโดยแกนนำ โดยมีการทำลายข้าวของ เผาตู้โทรศัพท์ และนำรถขยะมาจอดรวมกัน ในขณะเดียวกันบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิกลุ่มเสื้อแดงได้รวมตัวกัน นำยางรถยนต์และวัสดุอื่นมากั้นเป็นเขตมิให้ตำรวจและทหารเข้าถึง และความพยายามแสดงการต่อต้านยังเลยไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง ขณะที่ผู้ชุมนุมย่านราชประสงค์ที่ไม่ยอมสลายตัวได้กลายเป็นมวลชนที่โกรธแค้น

14.19 น. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. เผยทางตำรวจมีอำนาจควบคุมตัวแกนนำตาม พรก.ฉุกเฉินได้ 30 วัน โดยจะให้ดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหากับแกนนำ ถ้าหากแกนนำคนใดมีคดีอาญาติดตัวก็ต้องเข้าสู่กระบวนการและเมื่อสิ้นสุด พรก.ฉุกเฉินก็จะมีการขออำนาจศาลฝากขังต่อ

14.20 น. กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเผากองยางรถยนต์กลางถนนพหลโยธินทั้งสองฝั่ง บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซียร์รังสิต ส่งผลให้การจราจรติดขัด ขณะที่ในเวลา 14.25 น. สถานการณ์บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงยังคงเต็มไปด้วยความตึงเครียด เสียงปืนสลับเสียงคล้ายระเบิดยังคงดังต่อเนื่องในท่ามกลางการเผายางเพื่อทำลายทัศนวิสัยของฝ่ายทหาร อาคารบางแห่งเริ่มถูกไฟไหม้ โดยการเข้าไปดับเพลิงเป็นไปด้วยความยากลำบาก

จากการรายงานในเวลา 18.00 น. สรุปยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตโดย ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เฉพาะวันที่ 19 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 06.00 น. มีผู้บาดเจ็บ 58 ราย เสียชีวิต 6 ราย โดยมีชาวต่างชาติได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เป็นชาวแคนาดา 1 ราย ไม่ทราบสัญชาติ 1 ราย นักข่าวต่างชาติรายล่าสุดที่เสียชีวิต ชื่อนายโปเลนกี ฟาดิโอ ชาวอิตาลี

ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทหารกดดันเพื่อสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ที่ทางด้าน ศอฉ. ประกาศว่าเป็น "ปฏิบัติการกระชับ/ขอคืนพื้นที่" เริ่มจากวันที่ 14 สิ้นสุดเวลา 18.00 น. วันที่ 18 พฤษภาคม มีจำนวน 43 ราย บาดเจ็บรวม 365 ราย

ต่อมาเวลา 23.00 น. มีรายงานเพิ่มเติมที่ได้รับการยืนยันจากพระภิกษุในวัดปทุมวนาราม ว่ามีผู้เสียชีวิตอยู่ในวัด 6 ราย ขณะที่นายแพทย์ปิยะลาภ วสุวัต แพทย์กองอุบัติเหตุโรงพยาบาลพระมงกุฎ กล่าวว่า ได้รับการติดต่อมาแล้วว่ามีผู้เสียชีวิตราว 9 ราย บาดเจ็บ 7 ราย แต่การเข้าไปพิสูจน์ทราบ/ชันสูตรพลิกศพต้องรอถึงวันที่ 20 ทาง ศอฉ. จึงจะอนุญาตให้ทีมแพทย์เข้าไปได้

สำหรับทางด้านความเสียหายต่อทรัพย์สินในช่วงเวลาดังกล่าว พ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนศิริ รอง ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กล่าวว่า รายงานเบื้องต้นถึงเหตุเพลิงไหม้มีด้วยกัน 15 จุด ได้แก่

ย่านราชประสงค์ เกิดเหตุเพลิงไหม้ 6 จุด คือ 1.โรงภาพยนตร์สยาม 2.ห้างสยามพารากอน 3.ห้างเซ็นทรัล เวิลด์ 4.โรงแรมเซ็นทราแกรนด์ 5.ธนาคารกรุงเทพ และ 6.ธนาคารนครหลวงไทย

ย่านชิดลม เกิดเหตุเพลิงไหม้ 2 จุด ได้แก่ 1.ธนาคารกรุงไทย สาขาชิดลม และ 2. พื้นที่ใต้ทางด่วนบริเวณชิดลม

ย่าน คลองเตย มีเหตุเพลิงไหม้ 4 จุด ได้แก่ 1.ที่ทำการไฟฟ้านครหลวง สาขาคลองเตย 2.อาคารล็อกซ์เล่ย์ 3.ตึกมาลีนนท์ และ 4.อาคารตลาดหลักทรัพย์

ย่านดินแดง เกิดเหตุเพลิงไหม้ 3 จุด ได้แก่ 1.อาคารที่ซอยบุญชูศรี 2.อาคารที่ถนนมิตรไมตรี และ 3.แฟลตดินแดง

แต่ในขณะที่แถลงข่าวนั้น ทุกจุดที่เกิดเหตุ รถดับเพลิงของ สปภ. ยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ เนื่องจากถูกกลุ่มคนเสื้อแดงใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่ ขณะนี่มีรายงานว่าบริเวณแยก ณ ระนอง กลุ่มผู้ชุมนุมได้รุมทุบรถดับเพลิงที่จะเข้าไปในพื้นที่และลากเจ้าหน้าที่ลงมาทำร้าย และล่าสุดอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของ สปภ. หรือ เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร

รายงานข่าวเกี่ยวกับชะตากรรมของแกนนำ นปช. ที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีราชประสงค์แจ้งว่า ปรากฏว่า นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง, นายพายัพ ปั้นเกตุ และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแกนนำ หลบหนีการควบคุมตัวไปจากที่ชุมนุมแยกราชประสงค์

บทสรุปจากรายงานยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และจากรายงานของ "ฮิวแมนไรต์วอตช์" อันเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนสากล ได้ให้ตัวเลขว่ามีผู้เสียชีวิต 91 ราย และบาดเจ็บกว่า 2,000 ราย นับเป็นความสูญเสียที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 30 กรกฎาคม-5 สิงหาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (27)

บ่ายวันที่ 19 พฤษภาคม การประกาศยอมจำนนของแกนนำ

ความจริงใจของฝ่ายรัฐบาลต่อความพยายามยุติการเผชิญหน้ากันโดยสันติเริ่มเผยธาตุแท้ หลังจากกลุ่มสมาชิกวุฒิสภากลับจากที่ชุมนุมบริเวณเวทีราชประสงค์ ในท่ามกลางความสับสนว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปโดยปราศจากความรุนแรงตามที่มีการเจรจากันหรือไม่

ทว่าขณะเดียวกัน ทางฝ่ายรัฐบาลที่มีศูนย์การบัญชาการโดย ศอฉ. กลับเริ่มดำเนินการทางการทหารโดยไม่ใส่ใจผลการเจรจาของฝ่ายมวลชนและกลุ่มตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา โดยเริ่มจากในเวลา 00.10 น. หน่วยทหารเคลื่อนเข้าตรึงกำลังวางชุดแม่นปืนตามเส้นทางถนนจุฬาฯ 12 ซึ่งเป็นเส้นทางลัดเข้าแยกราชประสงค์บีบพื้นที่ถนนอังรีดูนังต์ขยับใกล้ พื้นที่การชุมนุม บรรยากาศตั้งแต่ช่วงเย็นถึงค่ำทหารได้นำกำลังเข้าตรึงพื้นที่ในถนนจุฬาฯ 12 มากขึ้น และตั้งด่านตรวจค้นรถทุกคันที่วิ่งผ่านเข้าออกและมีการนำกระสอบทรายตั้งเป็นแนวบังเกอร์ ที่ปากทางเข้าถนนจุฬาฯ 12 ตัดถนนบรรทัดทองพร้อมวางชุดแม่นปืนประจำจุดประทับปืนติดกล้องหันหน้าออกไป ทางถนนพระราม 4

เวลา 03.00 น. รถสายพานหุ้มเกราะติกอาวุธหนักเคลื่อนเข้าประจำจุดแยกศาลาแดง-สารสิน ที่ส่อเจตนามากไปกว่าการสร้างความกดดันต่อผู้ชุมนุมตามปกติ

และแล้วในเวลา 05.00 น. ทหารรุกเปิดฉากปฏิบัติการคืบบีบพื้นที่เริ่มยุทธการสลายการชุมนุม และถัดมาอีกเพียง 30 นาที มีรายงานข่าวทั้งจากผู้สื่อข่าวหลายสำนักโดยเฉพาะผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และการสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือจากผู้ชุมนุมในวงล้อมของฝ่ายรัฐบาล ว่า มีเสียงปืนเป็นชุดๆต่อเนื่องบริเวณแยกศาลาแดงถึงแยกสารสิน

07.00 น. โดยที่รัฐบาลเมินการเจรจาตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 18 และใช้นโยบายแข็งกร้าว ยืนยันให้ฝ่าย นปช. ยุติการชุมนุมก่อนจึงจะเจรจา กองกำลังทหารพร้อมรถสายพานลำเลียงหุ้มเกราะเคลื่อนบีบเข้าใกล้เวทีราชประสงค์ พร้อมกับประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้สลายตัวภายใน 15 นาที นั่นเท่ากับเป็นคำสั่งประหารต่อผู้ชุมนุมที่ฝ่ายทหารในพื้นที่ได้รับ

08.00 น. ฝ่ายรัฐบาลสามารถใช้รถหุ้มเกราะและกำลังทหารราบทหารบุกรื้อสิ่งกีดขวางสวนลุมพินี ตามมาด้วยการพุ่งเข้าชนบังเกอร์ไม้ไผ่ฝั่งศาลาแดงที่ฝ่ายผู้ชุมนุมสร้างไว้ นับจากช่วงที่สถานการณ์บีบคั้นยิ่งขึ้น

แต่โดยที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในด้านอุปกรณ์และอาวุธยุทธภัณฑ์สงครามที่มีอยู่ในฝ่ายรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ในเวลา 08.15 น. กำลังทหารราบที่นำโดยยานยนต์หุ้มเกราะก็สามารถเข้ายึดพื้นที่หน้าสวนลุมพินี-ศาลาแดงเอาไว้ได้ โดยผลักดันกลุ่มผู้ชุมเสื้อแดงที่พยายามยืนยหยัดต่อต้านการโจมตี โดยอาศัยสิ่งเทียมอาวุธเช่นพลุและตะไลเพลิงหรือแม้แต่ประทัดยักษ์ จนแนวรับของคนเสื้อแดงถอยร่นเข้าไปทางราชประสงค์และเริ่มขยับไปทางแยกสยามสแควร์ โดยกำหนดให้ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ และนักบวช ภิกษุสงฆ์ อพยพไปยังวัดปทุมวนาราม เนื่องจากเห็นว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ และเป็น "เขตอภัยทาน" ซึ่งน่าจะเป็นจุดลี้ภัยจากการกวาดล้างสังหารได้

08.20 น. นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงกร้าวในกรณีที่ประธานวุฒิสภาเป็นคนกลางเจรจาไม่มีประโยชน์แล้ว ให้แกนนำ นปช. ยุติชุมนุมโดยทันที แต่ท่าทีของผู้ชุมนุมเมื่อถึงตอนนี้ กลับประกาศสู้ตาย ซึ่งในที่สุดคงยากจะหลีกเลี่ยงความสูญเสียในฝ่ายประชาชนที่มีเพียงมือเปล่า และอาวุธตามมีตามเกิดที่ไม่อาจถือได้ว่าเป็นอาวุธด้วยซ้ำไป

และในเวลาประมาณ 08.50 น. ทหารสามารถใช้รถสายพานลำเลียงหุ้มเกราะฝ่าเข้าไปจากด่านศาลาแดง จนยึดพื้นที่สวนลุมได้เป็นผลสำเร็จ

09.00 น. กำลังทหารรุกคืบหน้าเข้ามาในถนนราชดำริ ห่างจากหลังเวทีเพียง 500 เมตร มีการใช้อาวุธทหารราบ ไม่เฉพาะปืนลูกซองยิงใส่คนเสื้อแดง รวมทั้งมีหลัก ฐานจากคลิปวิดีโอ ที่ฝ่ายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ไม่ยอมรับให้เป็นหลักฐานที่เป็นทางการ ว่ามีหน่วยซุ่มยิงไปซุ่มอยู่บนเส้นทางและสถานีรถไฟฟ้า นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวจากโทรทัศน์ บีบีซี (ประเทศอังกฤษ) รายงานว่า ทหารยิงปืนและใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาเพื่อสลายผู้ชุมนุม ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมเผายางทำให้เกิดควันดำตลบไปทั่วบริเวณ ในชั้นต้นมีรายงานผู้บาดเจ็บแล้วอย่างน้อย 5 ราย

11.10 น. ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่สามารถยึดพื้นที่โดยรอบของสวนลุมพินีไว้ได้ จากการเข้าตรวจที่เกิดเหตุโดยรอบ ได้พบศพผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นชาย อยู่ที่ด้านหลังแนวบังเกอร์ ในสภาพที่ถูกยิงเข้าบริเวณศรีษะ รายแรก สวมชุดดำ รายที่สองไม่สวมเสื้อ ทั้งนี้ ศพของบุคคลทั้งสองถูกพบที่ถนนราชดำริ คาดว่าเป็นการ์ด นปช.หลังแนวรั้วกั้นที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ทะลวงเข้ามาสำเร็จแล้ว อยู่ตรงกันข้ามกับตึก สก. โรงพยาบาลจุฬาฯ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และแกนนำขึ้นประกาศบนเวทีให้ผู้ชุมนุมที่สมัครใจออกไปยังพื้นที่ชุมนุมเพราะไม่ต้องการให้ผู้ชุมนุมเป็นโล่มนุษย์เหมือนรัฐบาลกล่าวหา ส่วนแกนนำจะลงไปนั่งนิ่งๆ รอการจับกุม ส่วนใครจะสู้ต่อ จะพยายามให้ความปลอดภัย แต่สถานการณ์โดยรอบพื้นที่การชุมนุมที่แทบจะตกอยู่ในวงล้อมของกำลังทหารติดอาวุธเต็มอัตราศึก มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอาวุธสงครามเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

จนถึงเวลา 13.20 น. มติแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ตัดสินใจประกาศยุติการชุมนุม พร้อมทั้งยอมเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยในเวลาดังกล่าว แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน คนสำคัญคือ นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ฯลฯ พากันขึ้นบนเวทีแยกราชประสงค์

สำหรับแกนนำที่เข้ามอบตัวกับตำรวจทันที ตามลำดับประกอบด้วย นายขวัญชัย ไพรพนา ตามด้วยนายจตุพร ซึ่งก้มลงกราบที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใน สตช. และคนสุดท้าย คือนายณัฐวุฒิ โดยก่อนเข้ามอบตัว นายณัฐวุฒิ กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียง หน้า สตช. อีกครั้งว่า "ขอให้พี่น้องเสื้อแดงเดินทางกลับบ้าน ส่วนจุดยืนยังเหมือนเดิม ไม่ต้องห่วงว่าแกนนำทุกคนจะสูญสิ้นอิสรภาพ เนื่องจากความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย ขอให้วางใจ ถ้าเสร็จภารกิจนี้ และได้รับความไว้วางใจจากมวลชนเหมือนเดิม จะกลับมาเป็นแกนนำเหมือนเดิม แต่ถ้ามวลชนไม่ไว้ใจอีกแล้ว ก็จะกลับมาเป็นคนเสื้อแดง ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนเดิม"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 23-29 กรกฎาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (26)

18 พฤษภาคม คณะสมาชิกวุฒิสภาคือฟางเส้นสุดท้าย

สถานการณ์นับจากช่วงสายของวันที่ 18 พฤษภาคมยิ่งทวีความสับสนยิ่งขึ้น พร้อมกับข่าวการเข้าสลายการชุมนุมของ นปช. ที่มีออกมาเป็นระยะ ประกอบการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในฝ่ายผู้ชุมนุมและประชาชนอื่นๆจาก "กระสุนปริศนา" ตามที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวอ้างมาตลอด โดยที่แกนนำการชุมนุมที่เวทีแยกราษฎร์ประสงค์ได้ขึ้นปราศรัยต่อผู้ชุมนุม และส่งสัญญาณผ่านสื่อมวลชนที่เกาะติดสถานการณ์ไปยังรัฐบาลและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการติดตามและควบคุมความสงบที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ ศอฉ. ทั้งนี้ ในเวลา 10:15 น. นพ.เหวง โตจิราการ ประกาศว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่มีแนวทางการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใด โดยย้ำยืนยันคำนึงถึงความถูกต้องบนหลักการสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และแนวทางสันติวิธีซึ่งเป็นมติและเป็นแนวทางของการชุมนุม นปช. มาโดยตลอด

ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวของนักการเมืองในปีกพรรคร่วมรัฐบาล ก็เริ่มออกมาให้สัมภาษณ์หรือแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงจุดยืนและท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล เริ่มจากในเวลา11:30 น. นางพรทิวา นาคาศัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชัยนาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย แถลงยืนยันว่าพรรคภูมิใจไทยไม่คิดถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ปฏิเสธกรณีมีการเคลื่อนไหวบีบพรรคร่วมรัฐบาล และให้ทบทวนการปฏิบัติต่อการชุมนุม ว่าเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของบางบุคคลที่ไม่เกี่ยวกับมติและนโยบายของพรรคภูมิใจไทย จากนั้น ในเวลา 12:10 น. นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเดิมสังกัดพรรคพลังประชาชนแต่ย้ายมาอยู่พรรคภูมิใจไทยหลังคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน ออกมาปฏิเสธข่าวความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปไตย์ที่เป็นแกนนำรัฐบาล ย้ำว่าพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดยังคงมีความเห็นร่วมกันต่อนโยบายการดำเนินการกับผู้ชุมนุมเสื้อแดง แต่ไม่มีแนวทางในการใช้ความรุนแรงให้ผู้ชุมนุมตาย-บาดเจ็บ โดยจะใช้การเจรจาเป็นแนวทางดีที่สุด ทั้งนี้แม้จะถูกถูกตราหน้าว่าเป็น "รัฐบาลมือเปื้อนเลือด" ก็ขอทำงานต่อ

12.00 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสรรหาวุฒิสภา แถลงข่าววุฒิสภาเตรียมการประสานงานเจรจา 2 ฝ่าย และต่อมาในเวลา 13:10 น. แถลงอีกครั้ง ยอมรับว่าการแก้วิกฤติขัดแย้งเป็นเรื่องยาก ระบุแนวทางทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน เร่งประสานเพื่อหาทางยุติเหตุรุนแรง จนถึงเวลาประมาณ 15.00 น. คณะทำงานที่ประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา 64 คน เรียกร้องรัฐบาลเข้าร่วมโต๊ะเจรจา แต่ยังไม่มีคำตอบ แม้ว่าทางด้าน นปช.ยอมรับประธานวุฒิสภาเป็นคนกลางแล้วก็ตาม โดยที่มีข่าวว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนกรานในที่ประชุม ครม.ว่า นปช.ต้องยุติการชุมนุมก่อน รัฐบาลจึงจะเปิดเจรจา

แต่ช่วงเวลาระหว่างความพยายามให้มีการเจรจาเพื่อยุติสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาล โดย ศอฉ. กับการชุมนุมคนเสื้อแดงโดย นปช. นั้นเอง 12:20 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แถลงข่าวว่ามีผู้ก่อการร้ายแฝงตัว ใช้อาวุธยิงใส่ผู้ชุมนุมหวังปั่นยอดผู้เสียชีวิต ทั้งยังระบุกลุ่มเสื้อแดงสร้างหลักฐานเพื่อสู้คดีบนเวทีนานาชาติ จากนั้นประกาศยืนยันเจ้าหน้าที่จะเข้าพื้นที่ราชประสงค์เป็นมาตรการสุดท้าย

ในเวลา 12:35 น. คณะรัฐมนตรี มีมติประกาศหยุดราชการต่อ 3 วัน คือ 19-21 พฤษภาคม โดยให้อำนาจการตัดสินใจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่มีหน้าที่ให้บริการประชาชน พิจารณาเปิดทำการหน่วยงานที่จำเป็น ทั้งนี้มติดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมถึงธนาคารและรัฐวิสาหกิจ

สำหรับความเคลื่อนไหวระดับนานาชาติ ในเวลา 16.40 น. องค์การนิรโทษสากล ออกแถลงการณ์ให้ทหารไทยหยุดยิงประชาชนทันที โดยอ้างว่าจากหลักฐานที่ปรากฏชัดจำนวนมากว่าทหารได้ฆ่าประชาชนที่ปราศจากอาวุธ "สิ่ง นี้เป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน" "เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่อนุญาตให้การใช้อาวุธ ปืนเป็นมาตรการสุดท้าย"

จนถึงเวลา 20.10 น. เหตุการณ์ที่น่าจะนำไปสู่จุดเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานการณ์ตึงเครียดที่ส่อว่าอาจมีการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมของมวลชนคนเสื้อแดงมาถึง เมื่อ คณะตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา นำโดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา พล.ต.ยุทธา ไทยภัคดี ส.ว.สรรหา นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี และนางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ แถลงข่าวผลการหารือร่วมกับแกนนำนปช. โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช ได้ประกาศข้อเรียกร้องจากสมาชิกวุฒิสภา ดังนี้

  • 1. อยากให้รัฐบาลปรับแนวของกองทัพให้ออกจากประชาชนเพื่อไม่ให้มีการปะทะ
  • 2. เรียกร้องให้ทางกลุ่มคนเสื้อแดงได้ยุติโดยเด็ดขาดการกระทำที่นำไปสู่การ ยั่วยุ การปะทะ การเสียเลือดของไม่ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
  • 3. ให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นตัวกลางประสานระหว่างนปช.และฝ่ายรัฐบาล เพือให้เกิดการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งต่างๆ

แกนนำทุกคนพร้อมที่จะให้มีการหยุดยิงทั่วกรุงเทพฯ เรียกร้องให้คนเสื้อแดงที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่ล้อมรอบสี่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่บริเวณบ่อนไก่ ศาลาแดง ลุมพินี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ดินแดง และแยกราชปรารภ เข้าสู่ขบวนการเจรจา หยุดความรุนแรงตั้งแต่นี้ไป และเรียกร้องผ่านประธานวุฒิสภาไปยังรัฐบาล ที่จะให้เจ้าหน้าที่ไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในทุกกรณี ให้ทุกฝ่ายกลับไปสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง เข้าสู่กระบวนการเจรจาอีกครั้ง และยุติความขัดแย้งอย่างสันติ ซึ่งเป็นความเห็นของแกนนำทุกคน

ในระหว่างการประกาศข้อเรียกร้องดังกล่าวของคณะสมาชิกวุฒิสภา มีเสียงโห่ร้องของประชาชน ในเชิงไม่เห็นด้วยเนื่องจากไม่พอใจที่ข้อเรียกร้องบอกว่ารัฐบาลไม่ได้จงใจฆ่าประชาชน เกิดความวุ่นวายเล็กน้อย จนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ต้องขึ้นเรียกร้องบนเวทีว่า "ขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า การดำเนินการทั้งหมดจะไม่ดำเนินไปเพื่อชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ การดำเนินการทั้งหมดจะไม่มีการนิรโทษกรรมทุกๆ กรณี แต่การเจรจาทำไปเพื่อยุติความสุญเสีย ความรุนแรง ส่วนเรื่องคดีความจากทุกฝ่ายจะว่ากันไปตามข้อเท็จจริงพยานหลักฐาน ฝ่ายเสื้อแดงถ้าผิดก็จะรับผิดชอบทุกกรณี แต่สิ่งใดที่นายอภิสิทธิ์ สุเทพ หรือส่วนงานใด ถ้าผิดก็ต้องรับผิดชอบทั้งในและต่างประเทศเช่นกัน" ถึงตรงนี้มีเสียงมวลชนในที่ชุมนุมโห่ร้องให้มีการยุบสภา ก่อนที่นายณัฐวุฒิ จะประกาศต่อไปว่า "การเจรจาจะไม่ใช่การไม่เอาผิดกับคนผิด แต่การเจรจาจะเป็นการยุติความสูญเสีย เราต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้พี่น้องเจ็บเพิ่ม การหาความยุติธรรมให้กับคนตายเป็นเรื่องใหญ่ แต่เราต้องหยุดการฆ่าเสียก่อน การทวงถามความยุติธรรมให้กับพี่น้องเราจะหยุดไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ทุกอย่างยังต้องเดินหน้าต่อไป"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 16-22 กรกฎาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (25)

16-17 พฤษภาคม สันติที่กำลังห่างไกลไปทุกที

16 พฤษภาคม จากเวลา 02.00 น. มีประชาชนประมาณ 300 คนเริ่มไปรวมตัวกันที่หน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย บริเวณแยกสะพานเหลือง ในขณะที่เมื่อถึงเวลาประมาณ 06.30 น. มีการประกาศว่าวัดปทุมวนาราม ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อระหว่างด้านหลังเซ็นทรัลเวิลด์เลยแยกอังรีดูนังต์ไปจน ถึงบริเวณศูนย์การค้าสยาม เป็นเขตอภัยทาน หรือเขตห้ามฆ่า ผู้ชุมนุมเข้ามาใช้เป็นที่หลบภัยได้ แต่ห้ามมีอาวุธ จากนั้นในเวลา 07.00 น. มีการรายงานยอดผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม มีจำนวน 24 คน บาดเจ็บ 198 คน ทั้งหมดเป็นผู้ประท้วงและประชาชนทั่วไป ไม่มีทหาร แสดงว่าไม่มีการ "ปะทะ" เกิดขึ้นตามที่ทางฝ่ายรัฐบาลแถลงผ่าน ศอฉ.

ระหว่างนั้น น.พ.ชัย วัน เจริญโชคทวี ผอ.วชิรพยาบาล เปิดเผยว่า พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ "เสธ.แดง" ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เสียชีวิตแล้ว เมื่อเวลา 09.20 น. จากภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งแพทย์ได้ทำการล้างไตให้ แต่ไม่สามารถวัดความดันหรือปั๊มหัวใจได้

ในเวลา 13.55 น. นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ ประกาศจากเวทีสี่แยกราชประสงค์ไปยังผู้ชุมนุมและการ์ดประจำด่านเผ้าระวังต่างๆ รอบที่ชุมนุมว่า

1. ศอ ฉ. ออกโทรทัศน์ ว่าจะประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งจะทำให้พื้นที่อยู่ภายใต้อำนาจของทหาร ซึ่งอาจจะไม่แน่นอนว่า อาจจะมีการบล็อกพื้นที่เหมือนเดิม หรือว่าจะใช้กำลังเข้ามาสลายการชุมนุม ณ ที่นี้ หากผู้ชุมนุมประสงค์จะเดินทางออกจากที่ชุมนุม การ์ดทุกด่านจะไม่มีการทักท้วงหวงห้าม หรือหากประสงค์ปักหลักต่อสู้ด้วยมือเปล่า ด้วยสันติวิธี ไม่มีความรุนแรง ตามจุดยืนที่ประกาศ ผู้ชุมนุมก็มีสิทธิ ก็มีเสรีภาพที่จะต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่จนถึงที่สุดเช่นเดียวกัน
2. จากการตรวจสอบรอบบริเวณ พบว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนมีความจำเป็นต้องนำเด็กเล็กมาร่วมการชุมนุม ดังนั้น หากรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ขอให้ผู้ที่มีบุตรหลานนำบุตรหลานออกไปจากที่ชุมนุมอย่างอิสระ แต่หากประสงค์ร่วมอยู่ในการชุมนุม ก็หวังให้นำไปพักอยู่ในสถานที่ปลอดภัย ริเวณวัดปทุมวนาราม
3. แกนนำจะมีการประชุมประเมินสถานการณ์ และสรุปท่าทีในการขับเคลื่อนในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้านี้ ทั้งนี้หากผู้ชุมนุมใดที่ประสงค์จะปักหลักยืนหยัดสู้ด้วยสันติวิธี ด้วยเลือดเนื้อ จิตวิญญาณอิสระ ขอให้เตรียมการให้พร้อมด้วยการรับกินอาหารและ/หรือพักผ่อน หลังจากนั้น ให้รวมตัวหน้าเวที เพื่อฟังมาตรการเด็ดขาดจากแกนนำที่จะประกาศต่อไป


เวลา 23.00 น. ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร รายงานจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์กระชับพื้นที่การชุมนุม ระหว่างวันที่ 14-16 พฤษภาคม สรุปล่าสุดเวลา 22.00 น. ว่ามีจำนวนผู้บาดเจ็บ 230 ราย เสียชีวิต 31 ราย รับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล 83 ราย ในจำนวนนี้ต้องรักษาตัวในห้องไอซียู 12 ราย

ถัดมาอีกเพียง 2 ชั่วโมงหลังเปลี่ยนวันเป็นวันที่ 17 ในเวลาประมาณ 01.00 น. เกิดเหตุ จ่าอากาศเอก พงศ์ชลิต ทิพยานนทการ ขับรถกระบะโตโยต้า วีโก้ มาจากซอยคอนแวนต์มุ่งหน้าไปยังถนนสีลม ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด และเกิดการยิงต่อสู้กันขึ้นระหว่างผู้ที่อยู่ในรถกับทหารซึ่งคุมพื้นที่อยู่ ริมถนน จนรถกระบะเสียหลักพุ่งชนรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จอดอยู่บริเวณข้างทาง ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สีลม จากนั้น ได้นำผู้บาดเจ็บสองรายส่งโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน จ่าอากาศเอกถูกยิงที่ศีรษะและเสียชีวิตในเวลาต่อมา และเรืออากาศตรีอภิชาติ ช้งย้ง อายุ 26 ปี ได้รับบาดเจ็บ

เวลา 08.30 น. ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) เปิดเผยจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุปะทะกัน ระหว่างวันที่ 14-17 พฤษภาคม ว่า รวมตัวเลขผู้เสียชีวิต 35 รายผู้บาดเจ็บ 252 ราย เป็นชาวต่างชาติ 6 ราย

หลังจากนั้น เฮลิคอปเตอร์ทหารได้โปรยใบปลิวเหนือเวทีปราศรัยบริเวณแยกราชประสงค์ โดยระบุให้ผู้ชุมนุมสลายตัวออกจากพื้นที่ กลุ่มคนเสื้อแดงตอบโต้โดยการยิงพลุตะไลใส่เฮลิคอปเตอร์ พื้นที่การชุมนุมถูกปิดล้อมอย่างสมบูรณ์ พร้อมกับรัฐบาลประกาศเส้นตายให้สลายการชุมนุมก่อนเวลา 15.00 น. แต่หลังผ่านเส้นตายของฝ่ายทหาร ผู้ชุมนุมที่ยังคงปักหลักอยู่พากันร้องรำทำเพลง สะท้อนถึงขวัญกำลังใจที่ยังคงไม่หวั่นไหวกับคำขู่และคำขาดของรัฐบาล มีพระภิกษุสงฆ์ขึ้นสวดมนต์บนเวที ในขณะที่เสียงปืนยังคงดังต่อเนื่องเป็นระยะ โดยทหารยิงใส่ทุกการเคลื่อนไหวบริเวณแนวป้องกันของกลุ่มผู้ชุมนุมในเขต ประกาศเป็นพื้นที่กระสุนจริง โดยทางฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยยิงประทัดใส่ทหาร

เวลา 17.16 น. ตำรวจเข้าเจรจากับ "ครูประทีป" นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร นักสิทธิมนุษยชนทำงานกับเด็กยากไร้ในสลัมคลองเตย เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีปและมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ และเป็นแกนนำ นปช. รุ่น 2 ซึ่งตั้งเวทีปราศรัยที่บริเวณ บ่อนไก่ แยกคลองเตย แต่การเจรจาไม่อาจหาข้อยุติลงได้ ขณะที่พื้นที่การชุมนุมบริเวณคลองเตยเริ่มนำเตนท์ขนาดใหญ่มาตั้ง เพื่อเป็นหลังคากันแดดกันฝนแล้ว

เวลา 17.50 น. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้อำนาจของรัฐบาลไทยตามกระบวนการ 1503 อันเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถร้องเรียนกับสหประชาชาติได้โดยตรงในกรณีที่เห็นว่ามีสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเกิดขึ้น (1503 Procedure)

เวลา 20.00 น. เว็บไซต์ New Mandala นำเสนอบทความต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯครั้งนี้ว่า "Bangkok: This is a massacre" หรือ "กรุงเทพฯ: นี่คือการสังหารหมู่" โดยกล่าวว่าถ้าไม่นับกรณีที่มีคนชุดดำในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 แล้ว คนเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์และพื้นที่ใกล้เคียงล้วนแต่ต่อสู้ด้วยมือเปล่าทั้งสิ้น แต่ต้องถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดมากกว่า 29 คนในชั่วเวลาสองสามวันที่ผ่านมา

และการแถลงส่งท้ายประจำวันโดยแกนนำ นปช. ในเวลา 22.15 น. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ปฏิเสธว่าผู้ชุมนุม นปช. ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีรถน้ำมันที่จอดอยู่บริเวณชุมชนบ่อนไก่ ถนนพระราม 4 โดยว่าน่าจะเป็นการจงใจสร้างสถานการณ์ให้ประชาชนเกิดการเข้าใจผิด เหมือนกรณีรถแก๊สที่แฟลตดินแดงในเหตุการณ์สงกรานต์เลือด 2552 แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ที่ชุมชนบ่อนไก่ อาจเกิดอันตรายจากการเข้าขอคืนพื้นที่ของทหารได้ ทั้งนี้ น.พ.เหวง โตจิราการ ยังคงเรียกร้องให้ประชาชนทั่วไป ลงความเห็นสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่จาก UN เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาในเว็บไซด์ UN.org ให้มากที่สุด.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 9-16 กรกฎาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8