สงกรานต์เลือด 13 เมษายน 2552
หลังจากเหตุการณ์ปะทะกันที่เกิดจากความจงใจของ "กลุ่มชายฉกรรจ์เสื้อน้ำเงิน" ต่อกลุ่มคนเสื้อแดงที่ประกาศไปยื่นหนังสือต่อตัวแทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ถึงสถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศเทศไทย ในวันที่ 12 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางกลับมารวมตัวที่กรุงเทพมหานคร ตามมาด้วยการชุมนุมการปิดถนนหลายสายในเขตกรุงเทพ จุดสำคัญอยู่ที่มีขบวนแท็กซี่จำนวนมากมาจอดปิดทางเข้าบริเวณโดยอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ขณะเดียวกัน แกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศบนเวทีที่สะพานชมัยมรุเชฏว่า ขณะนี้นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ถูกจับกุมตัว เนื่องจากไปขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก จากนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศพระราชบัญญัติบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี บางอำเภอของปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐมและพระนครศรีอยุธยา
หลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปภายในกระทรวงมหาดไทย ในเหตุการณ์นั้น เจ้าหน้าที่อารักขานายกรัฐมนตรียิงปืนไปทางฝูงชนเพื่อเปิดวงล้อม ขณะที่รถยนต์ของนายกรัฐมนตรีได้ขับรถฝ่าออกไป ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ในสภาพโกรธแค้นกรูกันเข้าไปแย่งปืนจากเจ้าหน้าที่นายหนึ่งและทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ต่อมามีรถเก๋งสีดำพยายามขับเวียนไปรอบกระทรวงมหาดไทย แต่แล้วกลับเข้าไปอยู่ท่ามกลางคนเสื้อแดง ทำให้มีการขว้างปาสิ่งของต่างๆเข้าใส่รถคันดังกล่าว จากนั้น การ์ดเสื้อแดงลากชายผู้หนึ่งลงจากรถ ซึ่งต่อมาภายหลังทราบว่าคือ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
เหตุการณ์ชุลมุนช่วงนี้ นายสุพร อัตถาวงศ์ แกนนำคนเสื้อแดงที่ไปชุมนุมหน้ากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศบนเวทีชุมนุมว่ามีคนเสื้อแดงเสียชีวิต 2 คน โดยอ้างว่าผู้ที่รักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรียิงและมีการนำตัวเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีมายังหน้าเวที และมีการยึดปืนของเจ้าหน้าที่ไว้และยังอ้างว่าปืนของเจ้าหน้าที่สามารถใช้เก็บเสียงได้ ต่อมาในวันที่ 19 เมษายน 2552 พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น.ได้ตั้งข้อหา "พยายามฆ่า" และมีรางวัลนำจับให้ประชาชนที่แจ้งเบาะแสผู้ต้องหารายละ 50,000 บาท ผู้ต้องหาทั้งหมด 20 คน
24.00 น. วันที่ 13 เมษายน หลังจากนายกฯ แถลงความคืบหน้าภายหลังประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เวลาประมาณ 02.00 น. แกนนำเสื้อแดงปราศรัยให้มวลชนไปสมทบกันที่แยกดินแดง หลังได้รับรายงานว่ามีการเผชิญหน้ากัน พร้อมเตือนให้ระวัง รัฐบาลอาจสั่งการให้สลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืด
03.30 น. เกิดเหตุสร้างสถานการณ์โดยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รุดตรวจสอบเหตุ คนร้ายยิง M 79 เข้าไปในศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ทหารที่เข้าไปรักษาความปลอดภัยได้รับบาดเจ็บ 1 นาย มีการสั่งเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการเข้มงวดยิ่งขึ้น
แต่แล้ว ในเวลา 04.00 น. กองกำลังทหารในชุดเสื้อเกราะกันกระสุนและติดอาวุธสงครามครบมือเริ่มเข้าทำการสลายม็อบ โดยเคลื่อนเข้ามาทางถนนวิภาวดีฝั่งขาเข้า มีการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มคนเสื้อแดงที่ใต้ทางด่วนกว่า 1,000 คน จนถอยร่นมาถึงสามเหลี่ยมดินแดง ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมแตกฮือหลบหนี แต่ก็ยังมีบางส่วนนำยางรถยนต์มาเผา และพยายามขับรถประจำทางพุ่งเข้าใส่แนวทหาร ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมฮือกันเข้ามาปะทะอีก เจ้าหน้าที่ทหารจึงยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมกว่า 20 นัด ทำให้ผู้ชุมนุมแตกฮือวิ่งกระจัดกระจายไปคนละทิศทาง ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมบางส่วนทยอยไปรวมตัวที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ท่ามกลางรถพยาบาลหลายคันที่วิ่งเข้าไปรับผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลรา วิถีและโรงพยาบาลรามาธิบดี
กำลังทหารและตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตา และอาวุธปืนยิงข้าสลายการชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดง จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 70 คน (http://www.timesonline.co.uk/tol/news/world/asia/article6084484.ece) และมีรายงานโดยกลุ่มผู้ชุมนุมเองว่า มีผู้เสียชีวิตจากการเข้าสลายการชุมนุมด้วย ซึ่งกองทัพได้ออกมากล่าวในภายหลังว่ามีการยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้าแต่ไม่ได้ยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม ทว่าทางฮิวแมน ไรท์ วอทซ์ได้ยืนยันว่ากองทัพมีการยิงกระสุนจริงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมจริง
15.00 น. บริเวณถนนเพชรบุรีซอย 5 ขณะที่คนเสื้อแดงที่ถอยออกจากแยกศรีอยุธยามาถึงแยกอุรุพงษ์ มีการปล่อยข่าวว่าจะมีการเผาสุเหร่าและชุมชนในย่านถนนเพชรบุรีบริเวณเชิงสะพานนครสวรรค์ ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งดักทำร้ายโดยใช้มีดดาบและท่อนไม้ท่อนเหล็ก รวมทั้งอาวุธปืนยิงเข้าใส่คนเสื้อแดง
16.00 น. สัญญาณภาพจากสถานี D-Station ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้ถ่ายทอดการชุมนุมโดยตลอด ถูกแทนที่ด้วยข้อความบนจอโทรทัศน์ว่า "ขออภัย ทางสถานีดาวเทียมไทยคม มีความจำเป็นต้องตัดสัญญาณ D-Station ตามคำสั่งของรัฐบาลในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน"
21.30 น. เกิดเหตุปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับกลุ่มชายฉกรรจ์ที่อยู่ในสภาพติดอาวุธครบมือโดยประกาศว่าเป็นประชาชนในพื้นที่ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ที่ตลาดนางเลิ้ง และกลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวว่ามีผู้ชุมนุมจำนวน 3 คนเสียชีวิต
ตลอดเวลาดังกล่าว สื่อของทางราชการและสื่อกระแสหลักจำนวนมาก ทยอยให้ข่าวในเชิงลบต่อกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ตลอดเวลา โดยมีความพยายามชี้นำไปสู่สถานการณ์การก่อจลาจล ขณะที่ในเวลาเดียวกันสื่อมวลชนต่างประเทศจำนวนหนึ่งและสื่อมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยที่ยังสามารถรายงานข่าวได้ให้ข้อมูลตรงกันข้าม โดยในหลายๆจุดที่มีชายฉกรรจ์ดำเนินการก่อการในลักษณะจลาจล เช่นยึดรถก๊าซไวไฟเตรียมก่อเหตุ หรือแม้แต่การยึดรถประจำทางมาเผาตามท้องถนน ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นฝีมือของผู้ชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งอยู่ในสภาพขวัญเสียจากการเข้าสลายการชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล
จนถึงเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 14 เมษายน แกนนำจึงประกาศยุติการชุมนุมบนถนนรอบทำเนียบรัฐบาล เพื่อป้องกันการสูญเสียที่จะเพิ่มขึ้นจากการปราบปรามของรัฐบาล จากนั้นแกนนำ 5 คน คือ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายแพทย์เหวง โตจิราการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายสุพร อัตถาวงศ์ ได้เข้ามอบตัวต่อ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนับเป็นการยุติเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าว จากนั้นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงถูกส่งตัวมายังกองบัญชาการตำรวจนครบาล
ในช่วงบ่าย มีการออกหมายจับแกนนำ 14 คน ประกอบด้วย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจักรภพ เพ็ญแข นายอดิศร เพียงเกษ นพ.เหวง โตจิราการ นายธีรพงษ์ พริ้งกลาง นายณรงค์ศักดิ์ มะณี นายชินวัฒน์ หาบุญพาด พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 12-18 มีนาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน