ควันหลงสงกรานต์เลือด และการค้นหาความจริง
แม้ว่ากำลังเจ้าหน้าได้เข้าเคลียร์พื้นที่โดยรอบทำเนียบรัฐบาลอันเป็นที่ตั้งเวทีหลักของการชุมนุมคนเสื้อแดงที่นำโดย นปช. ไปแล้วตั้งแต่ช่วงก่อนเที่ยง ซึ่งความตึงเครียดก่อนที่จะมีการสลายการชุมนุมนั้น แกนนำคนสำคัญคือ นพ.เหวง โตจิราการ ได้ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงให้มวลชน ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 13 นั้นมีจำนวนลดน้อยลงไปมาก อยู่ในความสงบและปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสีย
ทว่าเหตุการณ์ทางรอบนอกของศูนย์กลางการชุมนุม หลังการใช้กำลังทหารติดอาวุธหัวจรดเท้าเข้าปราบปรามประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่มีแต่สองมือเปล่า นับจากช่วงย่ำรุ่งของวันสงกรานต์ปี 2552 แต่ประชาชนจำนวนมากหาได้ยอมจำนนต่อการเผด็จอำนาจที่ไร้มนุษยธรรมไม่ ยังคงกระจายกันชุมนุมแสดงการต่อต้านอยู่ทั่วไปตลอดทั้งประเทศ รวมทั้งบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ด้านลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งจนถึงเวลาประมาณ 16.00 น. กำลังทหารที่ทยอยมารวม 3 ระลอก ติดอาวุธ 3 ระดับจากโล่และกระบองพลาสติกสังเคราะห์ จนถึงอาวุธปืน M16 และเมื่อนายตำรวจใหญ่ออกเดินทางคล้อยหลังออกจากพื้นที่เผชิญหน้า ชายชุดดำร่างใหญ่ที่มีลักษณะเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการภาคสนามก็ส่งสัญญาณการเข้าชาร์จ แม้จะมีพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งพยายามไปเจรจาว่าผู้ชุมนุมจำนวนไม่มากเหล่านั้นอยู่ในสภาพมือเปล่า ก็ไม่อาจหยุดยั้งความกระเหี้ยนหระหือรือของชายฉกรรจ์ในเครื่องแบบรั้วของชาติได้ไม่ ในระหว่างที่ประชาชนถอยไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีเสียงปืนดังขึ้นอย่างน้อย 1 นัด
และก่อนที่กำลังทหารจะสามารถควบคุมพื้นที่ได้ทั้งหมด มีชายหนุ่มในชุดดำถูกควบคุมตัวจากไปเนื่องจากตะโกนว่า "ทหารฆ่าประชาชน" ทำให้ทหารประมาณหมู่หนึ่งข้ามเกาะกลางถนนมาควบคุมตัว ด้วยการผลักลงนอนคว่ำกับพื้น ใช้เท้าเหยียบต้นคอ รวมทั้งการข่มขู่สำทับไปยังประชาชนที่ยืนดูเหตุการณ์บนทางท้าริมถนนราชดำเนินกลางนั้นด้วย
ต่อมาช่วงเวลาเช้ามืดของวันที่ 17 เมษายน เหตุไม่คาดหมายอย่างอุกอาจทางการเมืองก็ปะทุขึ้นท่ามกลางความตกตะลึงพึงเพริดของประชาชนทั้งประเทศ ไม่เฉพาะคู่ขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงในนามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พันธมิตรฯ เมื่อแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกลอบยิง โดยกลุ่มมือปืนใช้รถพาหนะตามประกบและใช้ใช้อาวุธสงครามกราดยิงรถของนายสนธิ กว่า 100 นัด นายสนธิและคนขับรถได้รับบาดเจ็บ กลุ่มมือปืนดังกล่าวได้หลบหนีเมื่อผู้ติดตามของนายสนธิในรถอีกคันหนึ่งใช้ปืนเปิดฉากยิงใส่ นายสนธิถูกกระสุนเข้าที่ศีรษะก่อนจะได้รับการผ่าตัดโรงพยาบาล นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชายของนายสนธิ กล่าวประณามว่าว่ามีทหารหรือคนในรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวและอ้างต่อไปว่าทั้งตนเอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวาณิช รัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลัง และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตกเป็นเป้าหมายของแผนการลอบสังหารด้วยเช่นกัน
สำหรับสาเหตุของการลอบยิงนั้น นายสนธิกล่าวว่าเพราะเปิดโปงสุภาพสตรีที่อยู่ในชนชั้นสูงคนหนึ่ง แต่มิได้ระบุว่าเป็นผู้ใด
หลังจากนั้นในวันที่ 22 เมษายน นายกษิต ภิรมย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาที่ "ดิ เอเชีย โซไซตี้" ที่นครนิวยอร์คของสหรัฐฯ ในระหว่างการเดินสายเพื่อแก้ต่างกับนานาชาติถึงเหตุการณ์สงกรานต์เลือดที่มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลายสำนักนำเสนอผ่านช่องทางสื่อนานาชนิด โดยเชื่อมโยงอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณชินวัตรกับความพยายามก่อเหตุสังหารกลางเมืองหลวง ทั้งนี้ได้ยกคำแถลงของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยระบุว่า มือปืนอย่างน้อยสองคนใช้รถประกบยิงรถของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเคยมีส่วนร่วมขับไล่รัฐบาลของอดีตนายกฯทักษิณเมื่อปี 2549 และการประท้วงที่ทำให้กรุงเทพฯเป็นอัมพาตเมื่อปีที่แล้ว ทำให้นายสนธิกับลูกน้องอีก 2 คน ได้รับบาดเจ็บ "คิดว่าอดีตนายกฯ ทักษิณล้มเหลวในการใช้ความเคลื่อนไหวของขบวนการประชานิยม จึงได้หันไปใช้ความพยายามลอบสังหารในบางรูปแบบ"
ซึ่งจนถึงบัดนี้ คดีนี้และคำแถลงในเชิงกล่าวหาก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันแต่อย่างใด
วันที่ 23 เมษายน 2552 นายจตุพร พรหมพันธุ์ อภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาโดยตั้งข้อสังเกตต่อเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ว่า ถูกบิดเบือนข้อเท็จจริงและทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงตกเป็นจำเลยสังคม สร้างความวุ่นวายให้แก่บ้านเมือง ทั้งที่จริงแล้วเหตุการณ์ต่างๆ มีการจัดฉากขึ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น กรณีรถแก๊ส, การเผารถเมล์, การยิงมัสยิดในซอยเพชรบุรี 5 และ 7 รวมทั้งชาวนางเลิ้งที่ถูกยิงเสียชีวิต ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในกรณีรถแก๊สที่ถูกนำไปจอดย่านดินแดง และที่หน้าโรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ โดยมีข้อมูลว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทขนส่งแก๊สทั้ง 2 แห่งเป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งน่าเชื่อได้ว่าเป็นการจัดฉากโดยหวังจะใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน
ส่วนกรณีเหตุเผารถเมล์กลับไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสาร หรือพนักงานขับรถเมล์ นอกจากนั้นในช่วงการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุใดจึงมีการขับรถเมล์เข้าไปกลางเมืองเพื่อจุดไฟเผาได้โดยง่าย ส่วนกรณีที่ชาวบ้านย่านนางเลิ้งถูกยิงเสียชีวิตนั้นพี่ชายของผู้เสียชีวิตให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า กระสุนปืนที่ยิงเข้ามานั้นไม่ได้มาจากฝั่งของผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่อยู่ห่าง ไปถึง 200 เมตร แต่เชื่อว่ากระสุนมาจากด้านข้างซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มใด
จากการที่รัฐบาลควบคุมทุกอย่างเอาไว้ได้ โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักและสื่อในโลกไซเบอร์ที่อยู่ในฝ่ายคนเสื้อแดงถูกปิดกั้นช่วงที่เกิดเหตุการณ์รุนแรง ในที่สุดรัฐบาลก็ประกาศยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 24 เมษายนนั้นเอง
โดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เร่งนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ถอนพาสปอร์ต นายจักรภพ เพ็ญแข ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯบินไปประเทศไลบีเรีย อ้างอยากสร้างสัมพันธ์ไทยกับประเทศแถบแอฟริกา โดยที่ทางรัฐบาลไม่แน่ใจว่าไลบีเรียเป็นสมาชิกองค์กรตำรวจสากล หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เร่งลงนามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดี ในขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงกับเดินทางบุกไปถึงบ้านพักของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เมืองดูไบ เพื่อตามล่าอดีตนายกรัฐมนตรีให้ได้.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19-25 มีนาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน