Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (37)

ที่ใดมีแรงกด ที่นั่นย่อมมีแรงต้าน: "จงคืนอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย"

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2516 เวลา 09.15 น. กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญประมาณ 20 คน รวมตัวกันที่ลานอนุสาวรีย์ทหารอาสา บริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้าฯ เพื่อนำใบปลิวที่จัดเตรียมไว้แล้วเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันต่อสู้เพื่อ สิทธิเสรีภาพ รวมทั้งหนังสือเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาแจกกับประชาชน

ที่ปกหน้าของหนังสือได้อัญเชิญพระราชหัตถเลขาการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีไปถึงคณะราษฎร มีความว่า "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร"

ในระหว่างที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญออกเดินแจกใบปลิวและหนังสือแสดงเจตนารมณ์ประชาธิปไตย มีการชูโปสเตอร์อีก 16 แผ่น มีข้อความสะท้อนเนื้อหาความคับข้องใจกับการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ อาทิเช่น "น้ำตาเราตกใน เมื่อเราไร้รัฐธรรมนูญ" "จงคืนอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย" "จงปลดปล่อยประชาชน" ฯลฯ

การแจกใบปลิวเคลื่อนไปสู่ตลาดนัดท้องสนามหลวง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดจนช่างภาพและผู้สื่อข่าวทั้งไทยและเทศหลายสำนักติดตามไปอย่างใกล้ชิด หลังจากย้อนกลับไปรับเอกสารเพิ่มเติมที่ลานอนุสาวรีย์ทหารอาสาอีกครั้งหนึ่ง ก็เคลื่อนที่ไปตามร้านขายต้นไม้ริมคลองหลอดด้านรูปปั้นแม่พระธรณีบีบมวยผม ข้ามฟากไปหน้ากรมประชาสัมพันธ์สู่ตลาดบางลำพู

และแล้วชนวนสำคัญอันจะไปสู่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประเทศไทยก็มาถึงในเวลาประมาณ 15.00 น. ขณะที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญกำลังแจกใบปลิวและเอกสารแก่ประชาชนบริเวณ ตลาดประตูน้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งได้ติดตามมาตลอดทางก็ได้รับคำสั่งให้เข้าจับกุมทันที มีหลายคนหลุดพ้นการจับกุมไปได้ ได้ตัวไว้เพียง 11 คน คือ

1. นายธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
2. นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตนักการเมืองแห่งขบวนการรัฐบุรุษ
3. นายนพพร สุวรรณพานิช ประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร มหาราษฎร์
4. นายทวี หมื่นนิกร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5. นายมนตรี จึงศิริอารักษ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
6. นายปรีดี บุญซื่อ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
7. นายชัยวัฒน์ สุระวิชัย วิศวกรสุขาภิบาล (จุฬา) อดีตกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
8. นายบุญส่ง ชเลธร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 2 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
9. นายวิสา คัญทัพ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
10. นายบัณฑิต เองนิลรัตน์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
11. นายธัญญา ชุนชฎาธาร นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งหมดถูกนำตัวไปสอบสวนที่สันติบาล กอง 2 กรมตำรวจ ปทุมวัน ตกเย็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลก็ยกกำลังเข้าค้นบ้านและสถานที่ที่ผู้ถูกจับกุมมีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งตั้งข้อหา "มั่วสุ่มชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมือง"

เวลา 00.30 น.ของวันที่ 7 ตุลาคม ทั้ง 11 คนก็ถูกนำตัวขึ้นรถไปเพื่อไปกักกันตัวที่โรงเรียนพลตำรวจนครบางเขนร่วมกับผู้ต้องหาในคดีมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และผู้ต้องหาเนรเทศ เมื่อไปถึงก็ถูกแยกห้องขังเพื่อป้องกันมิให้ปรึกษากัน เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ผู้ถูกจับกุม ว่า "ขัดขืนคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4" และเพิ่มข้อหา "ขบถภายในราชอาณาจักร" ตามกฎหมายอาญามาตรา 116

ช่วงเช้าศูนย์นิสิตฯ เรียกประชุมกรรมการเป็นกรณีฉุกเฉิน และมีมติให้ออกแถลงการณ์คัดค้านการจับกุมของรัฐบาลเผด็จการ "ถนอม- ประภาส" ในเวลา 13.00 น. โดยยืนยันว่า "จะยืนหยัดร่วมกับประชาชนในการพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรม"

ต่อมาในเวลา 14.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลหัวหมากเข้าจับกุมตัว นายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากหอพักไปสอบสวนที่กองกำกับการตำรวจสันติบาล 2 เพิ่มอีกคนหนึ่ง โดยตั้งข้อหาเช่นเดียวกัน ทั้งที่นายก้องเกียรติหาไม่ได้ร่วมลงชื่อในเอกสารของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ไปร่วมแจกใบปลิวและหนังสือร่วมกับกลุ่มฯ ในวันที่ 6 ตุลาคมแต่อย่างใด

คืนนั้นนิสิตนักศึกษากลุ่มอิสระตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดให้มีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์และวาง แนวทางการเคลื่อนไหวโดยมีจุดมุ่งหมายเบื้องต้น ในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ถูกจับกุมทั้ง 12 คน ด้วยการประท้วงการกระทำของรัฐบาลโดยฉับพลัน พร้อมทั้งเสนอว่า องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) น่าจะผลักดันให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่เข้าห้องสอบในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันแรกของการสอบประจำภาคแรกของปีการศึกษา 2516

ผลการประชุมขบวนการนิสิตนักศึกษาทั้งที่ประกอบไปด้วยกลุ่มอิสระจากทุกมหาวิทยาลัย รวมทั้งตัวแทนที่มาจกส่วนภูมิภาค และด้วยความเห็นชอบของ อมธ. มีมติให้นักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นกลุ่มแรกที่ดำเนินการประท้วง โดยเริ่มปิดโปสเตอร์คัดค้านและโจมตีการกระทำของรัฐบาล เพื่อดูท่าทีของนักศึกษาทั้งประเทศ ในขณะที่ศูนย์นิสิตฯ และองค์การนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอื่น เสนอให้นักศึกษาธรรมศาสตร์พยายามตรึงเหตุการณ์จนถึงวัน ที่ 12 ตุลาคมซึ่งเป็นวันสอบวันสุดท้ายของสถาบันอุดมศึกษาทั้งประเทศ เพื่อจะนำนิสิตนึกศึกษาเข้ามาสมทบ

เช้าวันที่ 8 ตุลาคม กองบังคับการตำรวจสันติบาลออกหมายจับ นายไขแสง สุกใส อดีต ส.ส. นครพนม ทั่วประเทศ โดยให้เหตุผลว่า จากการค้นสำนักงานที่ดำเนินงานด้านกฎหมาย "ธรรมรังสี" ได้พบเอกสารส่อว่านายไขแสงอยู่เบื้องหลังการเรียกร้องรัฐธรรมนูญครั้งนี้

ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปรากฏแผ่นโปสเตอร์โจมตีการกระทำของรัฐบาลอย่างรุนแรง หลายแผ่น ติดทั่วมหาวิทยาลัย โดยชักชวนให้นักศึกษารวมกลุ่มกันไปเยี่ยมผู้ที่ถูกคุมขัง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 28 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8