Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (11)

จากการชุมนุมใหญ่วัดไผ่เขียวสู่แนวทางฎีกานิรโทษกรรม

หลังจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 24 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงที่นำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติก็จัดให้มีการชุมนุม ณ เวทีท้องสนามหลวง เพื่อเปิดการปราศรัยในกรณีสงกรานต์เลือดที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีในวันที่ 25 เมษายน 2552 นั้นเอง ในการชุมนุมคราวนี้มีการปล่อยลูกโป่งสีขาวเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นการระลึกถึงและไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต บาดเจ็บหรือสูญหาย ซึ่งตัวของทั้ง 2 ฝ่าย คือระหว่างรัฐบาลและประชาชนที่ออกมาเคลื่อนต่อต้านรัฐบาลไม่ตรงกัน แม้จนกระทั่งบัดนี้

จากนั้นในวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 ทางแกนนำ นปช. ก็จัดให้มีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ณ วัดเวฬุวนาราม (วัดไผ่เขียว) ย่านดอนเมือง ซึ่งแม้ว่าในช่วงบ่ายต่อจนถึงเวลากลางคืน จะมีพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนักจนทำให้พื้นที่ลานกว้างของวัดซึ่งจัดเป็นที่ชุมนุมและมีเวทีขนาดใหญ่ กลายเป้นทะเลโคลนขนาดมหึมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนเสื้อลดน้อยถอยจำนวนในการเข้าร่วมฟังการปราศรัย สลับการฉายคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาแต่อย่างใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกครั้งที่เป็นการชุมนุมระยะสั้นของ "คนเสื้อแดง" จะไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรง ที่ส่อว่าจะเกิดการใช้ความรุนแรงและ/หรือก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองแต่อย่างใด

หลังจากนั้นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของคนเสื้อแดง ภายใต้การนำของ นปช. ก็มาถึงในงานแดงทั้งแผ่นดินสัญจร ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง โดยเปิดเวทีปราศรัยในวันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน 2552 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป จนถึง 06.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ซึ่งในช่วงหัวค่ำ ระหว่างที่มีการสนทนาระหว่างนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. ในเวลานั้น และเป็นพิธีกรสนทนาทางโทรศัพท์ข้ามทวีปกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีการพูดกันถึงการขอพระราชทานอภัยโทษ หรือการขอนิรโทษกรรมในคดีอาญาของ พ.ต.ท. ทักษิณ เพื่อให้สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้อย่างปราศจากทลทิน นั้น หลังจากพายุฝนที่โหมกระหน่ำอย่างหนักมาตั้งแต่ช่วงหัวค่ำผ่านพ้นไป นายวีระได้เสนอ "แนวทางฏีกา" ให้แก่มวลชนคนเสื้อแดงที่ปักหลักชุมนุมกันอยู่ และแม้ว่ามวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่ที่ยังคงมีความรู้สึกผูกพันกับตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ในนโยบายตลอดระยะเวลาในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งในปี 2544 ถึงกระนั้นก็ตาม มีการแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ทั้งที่มาจากความเห็นของฝ่ายตรงข้ามกันคนเสื้อแดง และแม้แต่ในขบวนคนเสื้อแดงด้วยกันเอง โดยเฉพาะอย่าง นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นประธานกลุ่มเสื้อแดงที่แยกตัวออกมาจาก นปช. ในชื่อว่า "กลุ่มแดงสยาม"

หลังจากนั้นในอีก 1 เดือนต่อมา คือวันที่ 27 กรกฎาคม 2552 คนเสื้อแดงหลายสิบจังหวัดและหลายประเทศ ร่วมกันจัดงานเพลทั้งแผ่นดิน แซยิดทักษิณ 60 ปี เนื่องจากรัฐบาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จัดที่สนามหลวง ผลงานสำคัญของ พ.ต.ท. ทักษิณในวันนั้นที่ถือเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ คือ เปิดทีวี 100 ช่องคลุมทั่วโลก เพื่อขายสินค้าโอท็อป เรียลลิตี้ชีวิตคนจน และติวเตอร์นักเรียน

ยิ่งนานวันการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในสายตาของรัฐบาลและคนต่างสีเสื้อ หรือแม้แต่ประชาชนที่อยู่ตรงกลาง ยิ่งมองความสัมพันธ์ของคนเสื้อแดง ที่นำโดย นปช. กับอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกทำรัฐประหารจนพ้นตำแหน่งด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างแยกกันไม่ออกมากยิ่งขึ้น สื่อกระแสหลักแทบทุกสำนักล้วนรายงานข่าวและบทวิเคราะห์ในทางลบกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงยิ่งขึ้นทุกที

และทันทีที่การประกาศจำนวนประชาชนที่ร่วมลงชื่อใน "ฎีกา" ร้องขอพระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าสูงถึง 5,363,429 คน ความเคลื่อนไหวจากปีกปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ก็ดาหน้ากันออกมาแสดงอาการร้อนรุ่มทุรนทุรายไปตามๆกัน กระทั่งล่าสุดจากข่าว มติชนออนไลน์ ที่พาดหัวแบบจุดพลุว่า จม.เปิดผนึก อ.จุฬาฯกว่า 1,500 คนค้านฎีกาอภัยโทษ "แม้ว" ชี้อันตราย กดดัน-กระทบศรัทธาสถาบัน โดยมีเนื้อหาข่าวว่า "จนกระทั่งเย็นวันที่ 4 สิงหาคม มีคณาจารย์จุฬาฯลงชื่อแล้วกว่า 300 คนและบุคคลากรรวมกว่า 1,500 คน และคาดว่า ในวันที่ 5 สิงหาคมซึ่งมีการประชุมคณบดีจะนำจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวให้คณบดีที่เห็นด้วย ลงนาม"

ตลอดระยะเวลาประมาณ 1 เดือน นับจากการประกาศในที่ชุมนุมกลางพายุฝน ณ เวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดงท้องสนามหลวง เมื่อวันนี่ 27 มิถุนายน จนช่วงเวลาก่อนและหลังวันดี-เดย์ เพื่อนับจำนวนผู้ร่วมลงรายชื่อ ปฏิกิริยาแทบจะในลักษณะรายวันจากผู้คนทุกๆฝ่าย ล้วนพุ่งเป้าไปที่ "จุดมุ่งหมาย" ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการเคลื่อนไหวรอบนี้ของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน

ฝ่ายรัฐอาศัยเครื่องมือประชาสัมพันธ์สำเร็จรูป นั่นคือ ฟรีทีวี ทั้งระบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานี "หอยม่วง" ที่เกิดจากภาษีอากรของประชาชนล้วนๆ พุ่งเป้าโจมตีไปที่ความ "ควร-ไม่ควร" "ทำได้-ไม่ได้" อยู่แทบจะตลอดเวลา ทั้งโหมประโคมเภทภัยทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่ร่วมลงชื่อโดยรู้ เท่าไม่ถึงการณ์ พร้อมกับความพยายามที่จะรุกกลับด้วยการใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆนานา ให้ประชาชนถอนรายชื่อ "อย่างเป็นทางการ"

มีสภาวะน่าจับตามอง ในช่วงเวลาท้ายๆ ก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม ปรากฏอยู่ตามเว็บบอร์ดและห้องสนทนาทุกรูปแบบในโลกไซเบอร์ของพลังประชาธิปไตย คือคำถามระหว่างกัน ว่า "ถ้าได้จำนวนผู้ลงรายชื่อสัก 5 ล้าน แล้วไม่เกิดผลอะไรขึ้น จะทำอย่างไรกันต่อไป" และยิ่งกลายเป็นคำถามดังขึ้นทุกที แทบทุกเวทีปราศรัยของคนเสื้อแดงตามภูมิภาค

จากนั้นในวันชุมนุมใหญ่เพื่อนำฎีกาที่มีผู้ร่วมลงชื่อภายหลังการตรวจสอบอย่างเป็นทางการว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 3 ล้าน 5 แสนรายชื่อ ในเวลาประมาณ 12.25 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ขบวนฎีกาของ กลุ่มเสื้อแดงได้ เคลื่อนมาถึงด้านประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีมี พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) ซึ่งทำหน้าที่รับชอบควบคุมสถานการณ์อยู่บริเวณดังกล่าว

จนถึงเวลา 13.00 น. ถนนหน้าพระลาน นายวีระ มุสิกะพงศ์ เป็นตัวแทนกลุ่มเสื้อแดงอ่านคำถวายฎีกา ต่อหน้านายอินจันทร์ บุราพันธ์ พร้อมมอบใบฎีกาให้เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นพระภิกษุ 5 รูปได้ยื่นถวายใบฎีกานำโดย พระมหาโชทัศนีโย ได้ยื่นต่อและพระสงฆ์ได้นำสวดมนต์ สร้างความดีใจของกลุ่มเสื้อแดงที่มายืนรอเต็มถนน หน้าพระลาน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 26 มีนาคม - 1 เมษายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8