Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (40)

24 ชั่วโมง 13 ตุลาคม 2516

สถานการณ์มีแต่ความสับสน

13 ตุลาคม 2516 แกนนำผู้ปฏิบัติการในการชุมนุมของนิสิตนักศึกษามีมติเคลื่อนไหวเป็นฝ่ายรุกต่อรัฐบาลหลังจากไม่มีทีท่าในทางบวก ในกรณีจับกุม 13 ผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจากเวลา 09.30 น. ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ศูนย์นิสิตฯ มีมติแบ่งหน้าที่เป็น 3 ชุด ชุดที่ 1 นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล และตัวแทนศูนย์นิสิตฯส่วนหนึ่ง ไปเจรจากับรัฐบาลเป็นครั้งสุดท้าย ชุดที่ 2 เลขาธิการศูนย์ฯ นำคณะไปขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระตำหนักจิตรลดาฯ ชุด ที่ 3 นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุลและผู้ร่วมทีม ทำหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของขบวนนักเรียน นิสิตนักศึกษาโดยขบวนจะเคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์และอาสาสมัครนักเรียนนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบัน จัดเตรียมอุปกรณ์ ที่ใช้ในการเดินขบวน คือ ธงชาติ ธงเสมาธรรมจักร หมวกกันแดด หมวกพลาสติกสำหรับป้องกันแก๊สน้ำตา พระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ อุปกรณ์แสง-เสียงและเครื่องปั่นไฟ เครื่องเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่น ๆ รวมทั้งเสบียงอาหารและน้ำ นอกจากนั้นยังเตรียมรถบรรทุกเล็กประมาณ 15 คันพร้อมระบบกระจายเสียงบนหลังคาเพื่อนำขบวน ซึ่งในเวลาไล่เลี่ยกัน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 6,000 คน ก็เดินทางมาสบทบ

ส่วนคณะของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ และกรรมการศูนย์ อีก 2 คน ได้เข้าพบจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่สวนรื่นฯ ซึ่งจอมพล ประภาสได้เสนอร่างสัญญา รัฐบาลจะปล่อยตัว 13 ผู้ต้องหา หากทางศูนย์ฯ สัญญาว่าจะหาทางให้ฝูงชนสลายตัวโดยเร็วที่สุด ผู้แทนทั้งสามได้ทักท้วงให้เติมคำว่า "โดยไม่มีเงื่อนไข" หลังคำว่า "ปล่อยตัว" จอมพลประภาสก็เติมข้อความให้ในสัญญา สำหรับเรื่องรัฐธรรมนูญจอมพลประภาสตอบว่าจะร่างให้เสร็จก่อนเดือนตุลาคม 2517

หลังการเจรจาในเวลา 11.30 น. ผู้บังคับการกรมตำรวจสันติบาลเตรียมการนำตัวผู้ต้องหา 12 คน ซึ่งได้รับการประกันตัว จากที่ควบคุมที่โรงเรียนพลตำรวจ บางเขน มาปล่อยตัวที่กองบังคับกรมตำรวจสันติบาล ปทุมวัน แต่ทั้งหมดไม่ยอมรับการประกันตัวและไม่ยอมขึ้นรถ คงอยู่ที่หน้าตึกที่คุมขังในบริเวณศูนย์ฝึกฯ นั่นเอง เพราะยังไม่มีการประสานกับที่ชุมนุม อาจทำให้เกิดความระส่ำระสายได้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้หน่วยคอมมานโดขับไล่ทั้ง 12 คน ออกมาจับกลุ่มกันอยู่ที่หน้าประตู ศูนย์ฝึกตำรวจนครบาลบางเขน และไม่ยอมเคลื่อนที่ไปไหน

ระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งขบวนและเคลื่อนขบวนออกจากประตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านสะพานพระปิ่นเกล้า โดยมีหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ประกอบด้วยนักศึกษาอาชีวะจากหลายสถาบัน นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เดินทางกลับมาแจ้งว่าได้ติดต่อกับเลขาธิการสำนักพระราชวังแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัวแทนนักศึกษาเข้าเฝ้าได้

เมื่อขบวนเคลื่อนมาถึงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โฆษกประจำศูนย์ฯ เริ่มอภิปรายท่ามกลางฝูงชนที่มาร่วมชุมนุมกันในบริเวณนั้น ประมาณ 5 แสนคน นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการศูนย์ฯ ให้ประกาศว่า "มาตรการขั้นเด็ดขาดมิใช่นั่งอยู่ในอนุสาวรีย์หลายๆวันอย่างที่เคยทำมาแล้วในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่จะหยุดดูท่าทีของรัฐบาลเพียงสองชั่วโมงเท่านั้น ห้าโมงตรงถ้ายังไม่มีคำตอบใดๆ จากรัฐบาล ขบวนจะเคลื่อนต่อไป"

เวลาประมาณ 16.30 น. นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการศูนย์ฯ และกรรมการศูนย์ฯ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อ กราบบังคมทูลถึงเป้าหมายในการต่อสู้ของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและข้อเรียกร้อง ซึ่งทราบว่ารัฐบาลได้ยินยอมแล้ว ขณะที่ขบวนนักเรียนนิสิตนักศึกษาเคลื่อนไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องจากยังไม่มีข่าวจากกรรมการศูนย์ฯ แต่ทางฝ่ายเลขาฯและกรรมการศูนย์มองว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับข้อตกลงกับกรรมการศูนย์ฯ ที่ให้ควบคุมฝูงชนไว้บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนกว่าพวกที่เข้าเฝ้าจะกลับ

เวลา 17.30 น. กรรมการศูนย์นิสิตฯ เดินทางไปสวนรื่นฯ เพื่อลงนามในสัญญากับรัฐบาล จากนั้นนายสมบัติได้แยกไปรับตัว 13 ผู้ต้องหา มายืนยันว่ารัฐบาลปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข และช่วงเวลาข่าวภาคค่ำ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้ง 13 คนโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และจอมพลประภาส จารุเสถียร ได้ให้คำรับรองว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2517

ถัดมา 20.30 น. นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ไปถึงรถบัญชาการศูนย์ฯ บอกให้ทราบว่าขณะนี้ได้รับพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกำลังอัญเชิญมาแจ้งแก่ผู้ชุมนุม พร้อมกับสัญญาที่ทางศูนย์ฯ ทำกับรัฐบาลแล้ว กรรมการศูนย์ฯ บนรถบัญชาการได้แจ้งข้อตกลงกับรัฐบาลให้นายเสกสรรค์ทราบ

แต่เมื่อนายสมบัติขึ้นประกาศบนรถบัญชาการซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ว่า รัฐบาลจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2517 กลุ่มผู้ชุมนุมก็แสดงความไม่พอใจ และมีการตะโกนออกมาว่า "ไม่เอา ไม่เอาต้องการรัฐธรรมนูญเร็วกว่านั้น" และปฏิกิริยาของผู้ชุมนุมก็ควบคุมไม่ได้ยิ่งขึ้น เมื่อนายสมบัติเป็นลมหมอสติเสียก่อนที่จะพูดอะไรต่อไป

แต่แล้วในเวลา 22.00 น. กรมประชาสัมพันธ์ได้อ่านแถลงการณ์ของรัฐบาล ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และเครือข่ายวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ว่า ทางรัฐบาลยอมปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนอย่างไม่มีเงื่อนไขแล้ว อย่าให้มีการก่อกวนความสงบ ถ้ามีจะถือว่าผู้นั้นไม่ไช่นักเรียนนิสิตนักศึกษา แต่เป็นฝ่ายตรงข้ามที่พยายามก่อกวน

ในเวลาเดียวกัน นายเสกสรรค์แถลงทางเครื่องกระจายเสียงว่า ขอให้กรรมการศูนย์ฯ มาพบเพื่อประมวลข่าวต่างๆ ชี้แจงให้เพื่อนนิสิตนักศึกษา นักเรียน และประชาชนทราบ เพราะฝ่ายปฏิบัติการไม่อาจจะควบคุมผู้ชุมนุมไว้ได้ ต่อมาในเวลาประมาณ 00.30 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม เมื่อไม่สามารถติดต่อกับทางศูนย์นิสิตฯได้ และไม่อาจทัดทานมติของชุมนุมได้ นายเสกสรรค์จึงตัดสินใจเคลื่อนขบวนไปที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเพื่อขอพึ่งพระบารมีปกเกล้าฯ หลังจากจัดรูปขบวนแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี

เวลา 22.45 น. นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุลได้พบกับ นายธีรยุทธ บุญมี และสามารถทำความเข้าใจกันระหว่างผู้ปฏิบัติการในที่ชุมนุมกับทางตัวแทนศูนย์นิสิตฯ แล้ว จากนั้นนายธีรยุทธก็ประกาศว่าจะพานายเสกสรรค์ไปขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.


โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19-25 ธันวาคม 2552

คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (39)

เสียงเพลงก้องฟ้า "สู้ไม่ถอย"

ถนนทุกสายมุ่งสู่ธรรมศาสตร์

เช้าวันที่ 10 ตุลาคม นิสิตนักศึกษาจากสถาบันในเขตกรุงเทพฯ รวมทั้งนักเรียนระดับอาชีวศึกษาทั้งช่างกลและช่างก่อสร้าง รวมทั้งนักศึกษาจากวิทยาลัยครูพระนคร วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วิทยาลัยครูธนบุรี ทยอยเข้าสมทบการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะที่ตัวแทนจากวิทยาลัยครูสวนสุนันทา และวิทยาลัยวิชาการศึกษา มาแจ้งว่ากำลังส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างเดินทาง

นับเป็นครั้งแรกที่นักเรียนอาชีวะ ประกาศตัวเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้ทางการเมือง

เวลา 10.30 น. จอมพลถนอม กิตติขจร จัดแถลงข่าวว่ามีการพบเอกสารล้มล้างรัฐบาลและโปสเตอร์ที่ไม่ได้มุ่งหมายจะเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างเดียว รวมทั้งเอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์ จึงตั้งข้อหาเพิ่มในฐานะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงต่อรัฐ และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

ช่วงบ่าย ตัวแทนนักเรียนนิสิตนักศึกษาขึ้นเวทีที่บริเวณลานโพธิ์ ประกาศงดการเข้าสอบประจำภาคทุกสถาบัน โดยจะยืนหยัดเรียกร้องจนกว่าผู้ถูกจับกุมทั้ง 13 คนจะได้รับความเป็นธรรม สลับกับการร้องบทเพลงแห่งการต่อสู้ "สู้ไม่ถอย" ที่แต่งโดย นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล หนึ่งในแกนนำนักศึกษาบนเวทีปราศรัยในเวลานั้น ในเวลาต่อมาเพลงนี้กลายเป็นประวัติศาสตร์สำหรับการต้อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมสืบเนื่องมาอีกหลายปี ซึ่งมีเนื้อร้องว่า

"สู้เข้าไปอย่าได้ถอย
มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู
พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม
เราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่
ก้าวเดินไปด้วยใจมุ่งมั่น
เขาจะฟาด เขาจะฟัน
เราไม่พรั่น พวกเราสู้ตาย
สู้เข้าไปอย่าได้หนี
เพื่อเสรีภาพอันยิ่งใหญ่
รวมพลังผองเราเหล่าชาวไทย
สู้ขาดใจพวกเราเสรีชน"

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง เมื่อจอมพลถนอมได้รับรายงานว่าจำนวนนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่เดินทางเข้าร่วมการชุมนุมเพิ่มจำนวนยิ่งขึ้นทุกที และบรรยากาศเต็มไปด้วยความเร่าร้อน จึงตัดสินใจเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีฉุกเฉินขึ้นที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี อันเป็นที่ตั้ง กองอำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) บรรยากาศ การประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด และมีมติแต่งตั้งจอมพลประภาส จารุเสถียร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบ พร้อมทั้งแม่ทัพสามเหล่าทัพและนายทหารระดับสูงในส่วนกลางทยอยเข้าไปรับนโยบายและคำสั่งจากศูนย์ปราบปรามจลาจล

คณะทนายแห่งสโมสรเนติบัณฑิตยสภาได้แจ้งการสนับสนุนมายังศูนย์นิสิตฯ และสำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่าจำนวนผู้ชุมนุมในเวลาประมาณ 20.30 น. นั้น เกิน 20,000 คนแล้ว จำเป็นต้องย้ายเวทีไปสนามฟุตบอลหน้าตึกโดมหรือที่ในเวลานั้นเป็นที่ตั้งและเป็นที่เรียกกันติดปากว่า "ตึกสภานักศึกษา"

และแล้วจากช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 11 ตุลาคม 2516 เป็นที่ชัดเจนว่านิสิตนักศึกษาและนักเรียนทั่วประเทศ มีฉันทานุมัติสนับสนุนและเข้าร่วมการประท้วงรัฐบาลถนอม-ประภาส ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งข่าวนิสิตเกษตรฯ ประมาณ 5,000 คนประกาศงดสอบกลางคันและเดินทางไปร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความร่วมมือของทางมหาวิทยาลัย ประมาณ 12.00 น. นักเรียนอาชีวะทั้งช่างกลและช่างก่อสร้างหลายสถาบันก็มาถึงสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ มีการประกาศต่อที่ชุมนุมว่า จอมพลประภาส อธิบดีกรมตำรวจ ไม่ยอมตกลงใด ๆ ทั้งสิ้น คณะกรรมการบริหารศูนย์นิสิตฯ ซึ่งเข้ารับผิดชอบในการเป็นผู้ประสานงาน จัดประชุมกันที่สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร มีมติให้รณรงค์ต่อไปด้วยวิธี "อหิงสา" และหากจำเป็นก็จะใช้มาตรการขั้นสุดท้ายคือ "เดินขบวน"

จอมพลประภาสประกาศกร้าวในการแถลงต่อหนังสือพิมพ์ที่วังปารุสกวันว่าพบหลักฐานเอกสารกำหนดการที่จะเรียกร้องระดมชักชวนให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลและ ล้มล้างรัฐบาล จึงต้องควบคุมไว้ต่อไป ประมาณกันว่าช่วงเย็นวันนั้น จำนวนผู้ชุมชนต่อต้านเพิ่มมากขึ้นมากกว่า 6 หมื่นคน และร้อยละ 20 เป็นประชาชนทั่วไปทุกระดับชั้น

เที่ยงวันที่ 12 ตุลาคม ศูนย์นิสิต ฯ ออกแถลงการณ์ ให้ปลดปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เที่ยงวันที่ 12 ตุลาคม 2516 ถ้าไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลเป็นที่น่าพอใจ จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด ส่งผลให้ในเวลาประมาณ 14.00 น. จอมพลถนอมได้เรียกประชุมฉุกเฉินคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ที่กองบัญชาการปราบปรามจลาจล สวนรื่นฤดี ที่ประชุมได้ตกลงในหลักการให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนได้โดยมีการประกันตัว ส่วนข้อกล่าวหากบฏและคอมมิวนิสต์นั้น ให้ไปต่อสู้กันในชั้นศาล

เวลา 22.00 น. ศูนย์นิสิตฯ ออกกแถลงการณ์ด่วนไม่ยอมรับข้อเสนอของรัฐบาล ถือว่าเป็นการบิดเบือนเป้าหมายของการชุมนุมที่ให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไข หลังจากนั้นในเวลา 00.15 น. ของวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม ผู้ต้องหาทั้ง 13 คนออกแถลงการณ์จากที่คุมขัง ไม่ยอมรับเงื่อนไขการประกันตัว จากนั้นในเวลา 03.50 น. ศูนย์นิสิตฯ และพ่อแม่ญาติพี่น้องของผู้ต้องหา ก็แถลงยืนยันจะไม่ประกันตัวผู้ต้องหา และผู้ต้องหาจะไม่ออกจากที่คุมขังเป็นอันขาด หากไม่มีตัวแทนจากศูนย์นิสิตฯ ไปรับตัว

เป็นอันว่า ถึงตอนนั้นฝ่ายชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว "13 กบฏรัฐธรรมนูญ" หมดความเชื่อมั่นในรัฐบาลคณะปฏิวัติ หรือเรียกให้ถูกว่าคณะรัฐประหาร โดยสิ้นเชิงแล้ว ยิ่งเวลาผ่านไปจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมก็เพิ่มขึ้น และนับจากเวลา 08.00 น. ผู้เดินทางเข้ามาสมทบอย่างต่อเนื่องนับจากวันที่ 11 ก็ล้นทะลักออกไปนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปจนถึงท้องสนามหลวงเป็นจำนวนหลายหมื่นคน

รัฐบาลเริ่มวางกำลัง ตั้งแนวรับการเดินขบวนของผู้ชุมนุม ทั้งที่กองบัญชาการสวนรื่นฯ และที่ทำเนียบรัฐบาล หน่วยปราบจลาจลยกกำลังเข้าตรึงทำเนียบเอาไว้อย่างแน่นหนา ตั้งแต่เช้า ประตูทำเนียบถูกล่ามโซ่ปิดตาย พร้อมกับเตรียมรถดับเพลิงติดหัวฉีดแรงสูง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 12-18 ธันวาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (11)

จากการชุมนุมใหญ่วัดไผ่เขียวสู่แนวทางฎีกานิรโทษกรรม

หลังจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 24 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงที่นำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติก็จัดให้มีการชุมนุม ณ เวทีท้องสนามหลวง เพื่อเปิดการปราศรัยในกรณีสงกรานต์เลือดที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีในวันที่ 25 เมษายน 2552 นั้นเอง ในการชุมนุมคราวนี้มีการปล่อยลูกโป่งสีขาวเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นการระลึกถึงและไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต บาดเจ็บหรือสูญหาย ซึ่งตัวของทั้ง 2 ฝ่าย คือระหว่างรัฐบาลและประชาชนที่ออกมาเคลื่อนต่อต้านรัฐบาลไม่ตรงกัน แม้จนกระทั่งบัดนี้

จากนั้นในวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 ทางแกนนำ นปช. ก็จัดให้มีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ณ วัดเวฬุวนาราม (วัดไผ่เขียว) ย่านดอนเมือง ซึ่งแม้ว่าในช่วงบ่ายต่อจนถึงเวลากลางคืน จะมีพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนักจนทำให้พื้นที่ลานกว้างของวัดซึ่งจัดเป็นที่ชุมนุมและมีเวทีขนาดใหญ่ กลายเป้นทะเลโคลนขนาดมหึมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนเสื้อลดน้อยถอยจำนวนในการเข้าร่วมฟังการปราศรัย สลับการฉายคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาแต่อย่างใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกครั้งที่เป็นการชุมนุมระยะสั้นของ "คนเสื้อแดง" จะไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรง ที่ส่อว่าจะเกิดการใช้ความรุนแรงและ/หรือก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองแต่อย่างใด

หลังจากนั้นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของคนเสื้อแดง ภายใต้การนำของ นปช. ก็มาถึงในงานแดงทั้งแผ่นดินสัญจร ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง โดยเปิดเวทีปราศรัยในวันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน 2552 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป จนถึง 06.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ซึ่งในช่วงหัวค่ำ ระหว่างที่มีการสนทนาระหว่างนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. ในเวลานั้น และเป็นพิธีกรสนทนาทางโทรศัพท์ข้ามทวีปกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีการพูดกันถึงการขอพระราชทานอภัยโทษ หรือการขอนิรโทษกรรมในคดีอาญาของ พ.ต.ท. ทักษิณ เพื่อให้สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้อย่างปราศจากทลทิน นั้น หลังจากพายุฝนที่โหมกระหน่ำอย่างหนักมาตั้งแต่ช่วงหัวค่ำผ่านพ้นไป นายวีระได้เสนอ "แนวทางฏีกา" ให้แก่มวลชนคนเสื้อแดงที่ปักหลักชุมนุมกันอยู่ และแม้ว่ามวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่ที่ยังคงมีความรู้สึกผูกพันกับตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ในนโยบายตลอดระยะเวลาในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งในปี 2544 ถึงกระนั้นก็ตาม มีการแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ทั้งที่มาจากความเห็นของฝ่ายตรงข้ามกันคนเสื้อแดง และแม้แต่ในขบวนคนเสื้อแดงด้วยกันเอง โดยเฉพาะอย่าง นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นประธานกลุ่มเสื้อแดงที่แยกตัวออกมาจาก นปช. ในชื่อว่า "กลุ่มแดงสยาม"

หลังจากนั้นในอีก 1 เดือนต่อมา คือวันที่ 27 กรกฎาคม 2552 คนเสื้อแดงหลายสิบจังหวัดและหลายประเทศ ร่วมกันจัดงานเพลทั้งแผ่นดิน แซยิดทักษิณ 60 ปี เนื่องจากรัฐบาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จัดที่สนามหลวง ผลงานสำคัญของ พ.ต.ท. ทักษิณในวันนั้นที่ถือเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ คือ เปิดทีวี 100 ช่องคลุมทั่วโลก เพื่อขายสินค้าโอท็อป เรียลลิตี้ชีวิตคนจน และติวเตอร์นักเรียน

ยิ่งนานวันการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในสายตาของรัฐบาลและคนต่างสีเสื้อ หรือแม้แต่ประชาชนที่อยู่ตรงกลาง ยิ่งมองความสัมพันธ์ของคนเสื้อแดง ที่นำโดย นปช. กับอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกทำรัฐประหารจนพ้นตำแหน่งด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างแยกกันไม่ออกมากยิ่งขึ้น สื่อกระแสหลักแทบทุกสำนักล้วนรายงานข่าวและบทวิเคราะห์ในทางลบกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงยิ่งขึ้นทุกที

และทันทีที่การประกาศจำนวนประชาชนที่ร่วมลงชื่อใน "ฎีกา" ร้องขอพระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าสูงถึง 5,363,429 คน ความเคลื่อนไหวจากปีกปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ก็ดาหน้ากันออกมาแสดงอาการร้อนรุ่มทุรนทุรายไปตามๆกัน กระทั่งล่าสุดจากข่าว มติชนออนไลน์ ที่พาดหัวแบบจุดพลุว่า จม.เปิดผนึก อ.จุฬาฯกว่า 1,500 คนค้านฎีกาอภัยโทษ "แม้ว" ชี้อันตราย กดดัน-กระทบศรัทธาสถาบัน โดยมีเนื้อหาข่าวว่า "จนกระทั่งเย็นวันที่ 4 สิงหาคม มีคณาจารย์จุฬาฯลงชื่อแล้วกว่า 300 คนและบุคคลากรรวมกว่า 1,500 คน และคาดว่า ในวันที่ 5 สิงหาคมซึ่งมีการประชุมคณบดีจะนำจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวให้คณบดีที่เห็นด้วย ลงนาม"

ตลอดระยะเวลาประมาณ 1 เดือน นับจากการประกาศในที่ชุมนุมกลางพายุฝน ณ เวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดงท้องสนามหลวง เมื่อวันนี่ 27 มิถุนายน จนช่วงเวลาก่อนและหลังวันดี-เดย์ เพื่อนับจำนวนผู้ร่วมลงรายชื่อ ปฏิกิริยาแทบจะในลักษณะรายวันจากผู้คนทุกๆฝ่าย ล้วนพุ่งเป้าไปที่ "จุดมุ่งหมาย" ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการเคลื่อนไหวรอบนี้ของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน

ฝ่ายรัฐอาศัยเครื่องมือประชาสัมพันธ์สำเร็จรูป นั่นคือ ฟรีทีวี ทั้งระบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานี "หอยม่วง" ที่เกิดจากภาษีอากรของประชาชนล้วนๆ พุ่งเป้าโจมตีไปที่ความ "ควร-ไม่ควร" "ทำได้-ไม่ได้" อยู่แทบจะตลอดเวลา ทั้งโหมประโคมเภทภัยทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่ร่วมลงชื่อโดยรู้ เท่าไม่ถึงการณ์ พร้อมกับความพยายามที่จะรุกกลับด้วยการใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆนานา ให้ประชาชนถอนรายชื่อ "อย่างเป็นทางการ"

มีสภาวะน่าจับตามอง ในช่วงเวลาท้ายๆ ก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม ปรากฏอยู่ตามเว็บบอร์ดและห้องสนทนาทุกรูปแบบในโลกไซเบอร์ของพลังประชาธิปไตย คือคำถามระหว่างกัน ว่า "ถ้าได้จำนวนผู้ลงรายชื่อสัก 5 ล้าน แล้วไม่เกิดผลอะไรขึ้น จะทำอย่างไรกันต่อไป" และยิ่งกลายเป็นคำถามดังขึ้นทุกที แทบทุกเวทีปราศรัยของคนเสื้อแดงตามภูมิภาค

จากนั้นในวันชุมนุมใหญ่เพื่อนำฎีกาที่มีผู้ร่วมลงชื่อภายหลังการตรวจสอบอย่างเป็นทางการว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 3 ล้าน 5 แสนรายชื่อ ในเวลาประมาณ 12.25 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ขบวนฎีกาของ กลุ่มเสื้อแดงได้ เคลื่อนมาถึงด้านประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีมี พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) ซึ่งทำหน้าที่รับชอบควบคุมสถานการณ์อยู่บริเวณดังกล่าว

จนถึงเวลา 13.00 น. ถนนหน้าพระลาน นายวีระ มุสิกะพงศ์ เป็นตัวแทนกลุ่มเสื้อแดงอ่านคำถวายฎีกา ต่อหน้านายอินจันทร์ บุราพันธ์ พร้อมมอบใบฎีกาให้เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นพระภิกษุ 5 รูปได้ยื่นถวายใบฎีกานำโดย พระมหาโชทัศนีโย ได้ยื่นต่อและพระสงฆ์ได้นำสวดมนต์ สร้างความดีใจของกลุ่มเสื้อแดงที่มายืนรอเต็มถนน หน้าพระลาน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 26 มีนาคม - 1 เมษายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (38)

ลานโพธิ์: ที่มั่นแห่งแรกสู้เพื่อเอาประชาชนคืนมา

นับจากช่วงสายของวันที่ 8 ตุลาคม ขบวนการนักศึกษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็เริ่มต้นขับเคลื่อน หลังจากการประสานงานกันระหว่างนิสิต นักศึกษากลุ่มต่างๆ ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒปัจจุบัน) มีนักศึกษาจำนวนมากชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างเปิดเผยภายในรั้ววิทยาลัย

ในเวลาเดียวกันที่จังหวัดเชียงใหม่มีการโปรยใบปลิวไปทั่วเขตตัวเมือง รวมทั้งปิดโปสเตอร์ตามถนนสายหลักต่างๆ มีข้อความสนับสนุนกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ พร้อมกับโจมตีรัฐบาล นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่แถลงว่ากำลังติดตามข่าวและจะส่งผู้แทนนักศึกษามาร่วมหารือกับศูนย์ที่กรุงเทพฯ

ช่วงบ่ายจอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 28/2516 เรื่อง "การจับกุมกลุ่มบุคคลผู้เรียกร้องให้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ" ทั้งนี้ เนื้อหาในการประชุมสรุปสถานการณ์ จอมพลประภาสได้เท้าความการเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา นับตั้งแต่กรณีประท้วง ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ การลบชื่อ 9 นักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จนถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ว่าถูกบงการโดยคอมมิวนิสต์จากต่างประเทศเข้ามาแทรกแซง โดยย้ำกับที่ประชุมว่า "เชื่อว่านิสิต นักศึกษาจะเสียไปราว 2% จากจำนวนเป็นแสนคน จำต้องเสียสละเพื่อความอยู่รอดของบ้านเมือง"

ทันทีที่เสร็จสิ้นการประชุมกรมตำรวจ (ในขณะนั้นมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย) มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลทั้งหมด รวมทั้งเจ้าหน้าที่กองปราบปรามและสันติบาลเตรียมพร้อมเต็มอัตรา

จากช่วงเช้ามืดของวันที่ 9 ตุลาคม นักศึกษาธรรมศาสตร์ระดมกำลังกันช่วยติดโปสเตอร์ทุกประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย และตึกเรียนทุกตึกถูกปิดตาย มีโปสเตอร์ "งดสอบ ไปรวมกันที่ลานโพธิ์" ติดทั่วมหาวิทยาลัย ชักชวนให้นักศึกษาไปร่วมกันประท้วงที่ลานโพธิ์ หน้าตึกคณะศิลปศาสตร์ และประณามการกระทำของรัฐบาลอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะประตูด้านท่าพระจันทร์มีผ้าผืนใหญ่เขียนข้อความว่า "เอาประชาชนคืนมา" ที่ลานโพธิ์ด้านหลังเวทีอภิปรายมีข้อความว่า "ต้องการรัฐธรรมนูญเป็นกบฏหรือ" ส่วนประตูด้านสนามหลวงมีแผ่นผ้าเขียนว่า "ธรรมศาสตร์ตายเสียแล้วหรือ" ฯลฯ

หลัง 08.00 น. จำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นจนเต็มลานโพธิ์ มีการลดธงชาติลง และชักธงดำขึ้นสู่ยอดเสาแทน แต่ ศ.อดุลย์ วิเชียรเจริญ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ได้ขอร้องให้ชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ซึ่งนักศึกษาก็ยอมปฏิบัติตาม เมื่อใกล้เวลา 10.00 น. มีนักศึกษามาชุมนุมประมาณเกือบ 1,000 คน ทาง อมธ. ได้เริ่มรับบริจาคเงินในการต่อสู้ด้วย ในขณะที่นักศึกษาวิชาการศึกษาประสานมิตรประมาณพันกว่าคนได้เข้าไปชุมนุมกันในหอประชุมใหญ่ ตัวแทนนักศึกษาผลัดกันขึ้นโจมตีระบอบเผด็จการ "ถนอม-ประภาส" และการคอร์รัปชันตลอดเวลา พร้อมกับออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดภายในวันที่ 13 ตุลาคม และให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม 2516 ส่วนทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "กลุ่มนักศึกษาผู้รักชาติ" ออกแถลงการณ์ในทำนองเดียวกัน พร้อมทั้งมีโปสเตอร์ชักชวนว่า "เราจะพบกันที่กรุงเทพฯ"

เวลา 10.30 น. นายไขแสง สุกใส เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลที่กองบังคับตำรวจสันติบาล 2 และกล่าวว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ จะเอาไปประหารชีวิตก็ยอม

ส่วนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักศึกษาประมาณ 2,000 คนรวมตัวชุมนุมกันที่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเลื่อนการสอบประจำภาค และประกาศจะชุมนุมกันทุกวันจนกว่ารัฐบาลจะปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม

นอกจากนั้นด้านเวทีอภิปรายบริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิสิต นักศึกษา จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการไฮปาร์ค

จนถึงเวลา 15.30 น. คณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 205 คน ซึ่งประชุมกันตั้งแต่ตอนเช้ามีมติเป็นเอกฉันท์ทำหนังสือด่วนมากถึงจอมพลถนอม กิตติขจร เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญทั้งหมดโดยด่วนอย่างไม่มีเงื่อนไข ในขณะเดียวกันนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลและวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร เริ่มทยอยเข้ามาสมทบที่ลานโพธิ์ ส่วนสโมสรนิสิตจุฬาฯแถลงว่าจะร่วมต่อสู้กับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 12 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการสอบประจำภาคของนิสิตส่วนใหญ่ รวมทั้งนักศึกษาแพทยศาสตร์ศิริราชข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งหน่วยแพทย์อาสา สมัคร

และเหมือนเป็นการยั่วยุ ซึ่งสะท้อนจิตสำนึกของ "เผด็จการ" ที่ไม่เคยตระหนักถึงการเรียกร้องความต้องการอย่างบริสุทธิ์ใจของนิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ในเวลา 16.45 น. จอมพลถนอมมีคำสั่งโดยมติของคณะรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจ ม.17 สั่งควบคุมตัวนายไขแสง สุกใส กับพวกไว้จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ในเวลาไล่เรี่ยกันภายหลังการประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดี ได้ออกประกาศของมหาวิทยาลัยเลื่อนการสอบภาคแรกออกไปจนกว่าเหตุการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปรกติ

เท่ากับเป็นการเริ่มต้นถึงสัญญาณของ "ไม่ชนะไม่เลิก" ของทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลเผด็จการคณะปฏิวัติ และฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ที่ก่อตัวโดยคนหนุ่มสาวนิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่มีลักษณะทั่วประเทศ จำนวนนักศึกษาในช่วงเย็นเริ่มขยับจากพันเป็นหมื่น และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ส่วนกลางกำลังชุมนุมกันแสดงปฏิกิริยาประท้วงการจับกุมผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างตึงเครียด ในส่วนของภูมิภาคการขับเคลื่อนสนับสนุนการชุมนุมของนักศึกษาก็ขยายวงกว้างออกไป โดยเริ่มจากจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาของรัฐทุกจังหวัด

เวลา 20.00 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ของรัฐบาลระบุว่าบุคคล ทั้ง 13 คนที่ถูกตำรวจจับกุมมีแผนล้มล้างรัฐบาล และเหตุผลในการจับกุม "ไม่ใช่เพราะเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่จับกุมในฐานะมีการกระทำอันเป็นภัยต่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชน"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 5-11 ธันวาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (10)

ควันหลงสงกรานต์เลือด และการค้นหาความจริง

แม้ว่ากำลังเจ้าหน้าได้เข้าเคลียร์พื้นที่โดยรอบทำเนียบรัฐบาลอันเป็นที่ตั้งเวทีหลักของการชุมนุมคนเสื้อแดงที่นำโดย นปช. ไปแล้วตั้งแต่ช่วงก่อนเที่ยง ซึ่งความตึงเครียดก่อนที่จะมีการสลายการชุมนุมนั้น แกนนำคนสำคัญคือ นพ.เหวง โตจิราการ ได้ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงให้มวลชน ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 13 นั้นมีจำนวนลดน้อยลงไปมาก อยู่ในความสงบและปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสีย

ทว่าเหตุการณ์ทางรอบนอกของศูนย์กลางการชุมนุม หลังการใช้กำลังทหารติดอาวุธหัวจรดเท้าเข้าปราบปรามประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่มีแต่สองมือเปล่า นับจากช่วงย่ำรุ่งของวันสงกรานต์ปี 2552 แต่ประชาชนจำนวนมากหาได้ยอมจำนนต่อการเผด็จอำนาจที่ไร้มนุษยธรรมไม่ ยังคงกระจายกันชุมนุมแสดงการต่อต้านอยู่ทั่วไปตลอดทั้งประเทศ รวมทั้งบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ด้านลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งจนถึงเวลาประมาณ 16.00 น. กำลังทหารที่ทยอยมารวม 3 ระลอก ติดอาวุธ 3 ระดับจากโล่และกระบองพลาสติกสังเคราะห์ จนถึงอาวุธปืน M16 และเมื่อนายตำรวจใหญ่ออกเดินทางคล้อยหลังออกจากพื้นที่เผชิญหน้า ชายชุดดำร่างใหญ่ที่มีลักษณะเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการภาคสนามก็ส่งสัญญาณการเข้าชาร์จ แม้จะมีพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งพยายามไปเจรจาว่าผู้ชุมนุมจำนวนไม่มากเหล่านั้นอยู่ในสภาพมือเปล่า ก็ไม่อาจหยุดยั้งความกระเหี้ยนหระหือรือของชายฉกรรจ์ในเครื่องแบบรั้วของชาติได้ไม่ ในระหว่างที่ประชาชนถอยไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีเสียงปืนดังขึ้นอย่างน้อย 1 นัด

และก่อนที่กำลังทหารจะสามารถควบคุมพื้นที่ได้ทั้งหมด มีชายหนุ่มในชุดดำถูกควบคุมตัวจากไปเนื่องจากตะโกนว่า "ทหารฆ่าประชาชน" ทำให้ทหารประมาณหมู่หนึ่งข้ามเกาะกลางถนนมาควบคุมตัว ด้วยการผลักลงนอนคว่ำกับพื้น ใช้เท้าเหยียบต้นคอ รวมทั้งการข่มขู่สำทับไปยังประชาชนที่ยืนดูเหตุการณ์บนทางท้าริมถนนราชดำเนินกลางนั้นด้วย

ต่อมาช่วงเวลาเช้ามืดของวันที่ 17 เมษายน เหตุไม่คาดหมายอย่างอุกอาจทางการเมืองก็ปะทุขึ้นท่ามกลางความตกตะลึงพึงเพริดของประชาชนทั้งประเทศ ไม่เฉพาะคู่ขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงในนามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พันธมิตรฯ เมื่อแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกลอบยิง โดยกลุ่มมือปืนใช้รถพาหนะตามประกบและใช้ใช้อาวุธสงครามกราดยิงรถของนายสนธิ กว่า 100 นัด นายสนธิและคนขับรถได้รับบาดเจ็บ กลุ่มมือปืนดังกล่าวได้หลบหนีเมื่อผู้ติดตามของนายสนธิในรถอีกคันหนึ่งใช้ปืนเปิดฉากยิงใส่ นายสนธิถูกกระสุนเข้าที่ศีรษะก่อนจะได้รับการผ่าตัดโรงพยาบาล นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชายของนายสนธิ กล่าวประณามว่าว่ามีทหารหรือคนในรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวและอ้างต่อไปว่าทั้งตนเอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวาณิช รัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลัง และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตกเป็นเป้าหมายของแผนการลอบสังหารด้วยเช่นกัน

สำหรับสาเหตุของการลอบยิงนั้น นายสนธิกล่าวว่าเพราะเปิดโปงสุภาพสตรีที่อยู่ในชนชั้นสูงคนหนึ่ง แต่มิได้ระบุว่าเป็นผู้ใด

หลังจากนั้นในวันที่ 22 เมษายน นายกษิต ภิรมย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาที่ "ดิ เอเชีย โซไซตี้" ที่นครนิวยอร์คของสหรัฐฯ ในระหว่างการเดินสายเพื่อแก้ต่างกับนานาชาติถึงเหตุการณ์สงกรานต์เลือดที่มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลายสำนักนำเสนอผ่านช่องทางสื่อนานาชนิด โดยเชื่อมโยงอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณชินวัตรกับความพยายามก่อเหตุสังหารกลางเมืองหลวง ทั้งนี้ได้ยกคำแถลงของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยระบุว่า มือปืนอย่างน้อยสองคนใช้รถประกบยิงรถของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเคยมีส่วนร่วมขับไล่รัฐบาลของอดีตนายกฯทักษิณเมื่อปี 2549 และการประท้วงที่ทำให้กรุงเทพฯเป็นอัมพาตเมื่อปีที่แล้ว ทำให้นายสนธิกับลูกน้องอีก 2 คน ได้รับบาดเจ็บ "คิดว่าอดีตนายกฯ ทักษิณล้มเหลวในการใช้ความเคลื่อนไหวของขบวนการประชานิยม จึงได้หันไปใช้ความพยายามลอบสังหารในบางรูปแบบ"

ซึ่งจนถึงบัดนี้ คดีนี้และคำแถลงในเชิงกล่าวหาก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันแต่อย่างใด

วันที่ 23 เมษายน 2552 นายจตุพร พรหมพันธุ์ อภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาโดยตั้งข้อสังเกตต่อเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ว่า ถูกบิดเบือนข้อเท็จจริงและทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงตกเป็นจำเลยสังคม สร้างความวุ่นวายให้แก่บ้านเมือง ทั้งที่จริงแล้วเหตุการณ์ต่างๆ มีการจัดฉากขึ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น กรณีรถแก๊ส, การเผารถเมล์, การยิงมัสยิดในซอยเพชรบุรี 5 และ 7 รวมทั้งชาวนางเลิ้งที่ถูกยิงเสียชีวิต ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในกรณีรถแก๊สที่ถูกนำไปจอดย่านดินแดง และที่หน้าโรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ โดยมีข้อมูลว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทขนส่งแก๊สทั้ง 2 แห่งเป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งน่าเชื่อได้ว่าเป็นการจัดฉากโดยหวังจะใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน

ส่วนกรณีเหตุเผารถเมล์กลับไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสาร หรือพนักงานขับรถเมล์ นอกจากนั้นในช่วงการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุใดจึงมีการขับรถเมล์เข้าไปกลางเมืองเพื่อจุดไฟเผาได้โดยง่าย ส่วนกรณีที่ชาวบ้านย่านนางเลิ้งถูกยิงเสียชีวิตนั้นพี่ชายของผู้เสียชีวิตให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า กระสุนปืนที่ยิงเข้ามานั้นไม่ได้มาจากฝั่งของผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่อยู่ห่าง ไปถึง 200 เมตร แต่เชื่อว่ากระสุนมาจากด้านข้างซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มใด

จากการที่รัฐบาลควบคุมทุกอย่างเอาไว้ได้ โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักและสื่อในโลกไซเบอร์ที่อยู่ในฝ่ายคนเสื้อแดงถูกปิดกั้นช่วงที่เกิดเหตุการณ์รุนแรง ในที่สุดรัฐบาลก็ประกาศยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 24 เมษายนนั้นเอง

โดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เร่งนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ถอนพาสปอร์ต นายจักรภพ เพ็ญแข ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯบินไปประเทศไลบีเรีย อ้างอยากสร้างสัมพันธ์ไทยกับประเทศแถบแอฟริกา โดยที่ทางรัฐบาลไม่แน่ใจว่าไลบีเรียเป็นสมาชิกองค์กรตำรวจสากล หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เร่งลงนามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดี ในขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงกับเดินทางบุกไปถึงบ้านพักของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เมืองดูไบ เพื่อตามล่าอดีตนายกรัฐมนตรีให้ได้.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19-25 มีนาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (37)

ที่ใดมีแรงกด ที่นั่นย่อมมีแรงต้าน: "จงคืนอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย"

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2516 เวลา 09.15 น. กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญประมาณ 20 คน รวมตัวกันที่ลานอนุสาวรีย์ทหารอาสา บริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้าฯ เพื่อนำใบปลิวที่จัดเตรียมไว้แล้วเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันต่อสู้เพื่อ สิทธิเสรีภาพ รวมทั้งหนังสือเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาแจกกับประชาชน

ที่ปกหน้าของหนังสือได้อัญเชิญพระราชหัตถเลขาการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีไปถึงคณะราษฎร มีความว่า "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร"

ในระหว่างที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญออกเดินแจกใบปลิวและหนังสือแสดงเจตนารมณ์ประชาธิปไตย มีการชูโปสเตอร์อีก 16 แผ่น มีข้อความสะท้อนเนื้อหาความคับข้องใจกับการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ อาทิเช่น "น้ำตาเราตกใน เมื่อเราไร้รัฐธรรมนูญ" "จงคืนอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย" "จงปลดปล่อยประชาชน" ฯลฯ

การแจกใบปลิวเคลื่อนไปสู่ตลาดนัดท้องสนามหลวง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดจนช่างภาพและผู้สื่อข่าวทั้งไทยและเทศหลายสำนักติดตามไปอย่างใกล้ชิด หลังจากย้อนกลับไปรับเอกสารเพิ่มเติมที่ลานอนุสาวรีย์ทหารอาสาอีกครั้งหนึ่ง ก็เคลื่อนที่ไปตามร้านขายต้นไม้ริมคลองหลอดด้านรูปปั้นแม่พระธรณีบีบมวยผม ข้ามฟากไปหน้ากรมประชาสัมพันธ์สู่ตลาดบางลำพู

และแล้วชนวนสำคัญอันจะไปสู่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประเทศไทยก็มาถึงในเวลาประมาณ 15.00 น. ขณะที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญกำลังแจกใบปลิวและเอกสารแก่ประชาชนบริเวณ ตลาดประตูน้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งได้ติดตามมาตลอดทางก็ได้รับคำสั่งให้เข้าจับกุมทันที มีหลายคนหลุดพ้นการจับกุมไปได้ ได้ตัวไว้เพียง 11 คน คือ

1. นายธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
2. นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตนักการเมืองแห่งขบวนการรัฐบุรุษ
3. นายนพพร สุวรรณพานิช ประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร มหาราษฎร์
4. นายทวี หมื่นนิกร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5. นายมนตรี จึงศิริอารักษ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
6. นายปรีดี บุญซื่อ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
7. นายชัยวัฒน์ สุระวิชัย วิศวกรสุขาภิบาล (จุฬา) อดีตกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
8. นายบุญส่ง ชเลธร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 2 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
9. นายวิสา คัญทัพ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
10. นายบัณฑิต เองนิลรัตน์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
11. นายธัญญา ชุนชฎาธาร นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งหมดถูกนำตัวไปสอบสวนที่สันติบาล กอง 2 กรมตำรวจ ปทุมวัน ตกเย็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลก็ยกกำลังเข้าค้นบ้านและสถานที่ที่ผู้ถูกจับกุมมีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งตั้งข้อหา "มั่วสุ่มชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมือง"

เวลา 00.30 น.ของวันที่ 7 ตุลาคม ทั้ง 11 คนก็ถูกนำตัวขึ้นรถไปเพื่อไปกักกันตัวที่โรงเรียนพลตำรวจนครบางเขนร่วมกับผู้ต้องหาในคดีมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และผู้ต้องหาเนรเทศ เมื่อไปถึงก็ถูกแยกห้องขังเพื่อป้องกันมิให้ปรึกษากัน เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ผู้ถูกจับกุม ว่า "ขัดขืนคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4" และเพิ่มข้อหา "ขบถภายในราชอาณาจักร" ตามกฎหมายอาญามาตรา 116

ช่วงเช้าศูนย์นิสิตฯ เรียกประชุมกรรมการเป็นกรณีฉุกเฉิน และมีมติให้ออกแถลงการณ์คัดค้านการจับกุมของรัฐบาลเผด็จการ "ถนอม- ประภาส" ในเวลา 13.00 น. โดยยืนยันว่า "จะยืนหยัดร่วมกับประชาชนในการพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรม"

ต่อมาในเวลา 14.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลหัวหมากเข้าจับกุมตัว นายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากหอพักไปสอบสวนที่กองกำกับการตำรวจสันติบาล 2 เพิ่มอีกคนหนึ่ง โดยตั้งข้อหาเช่นเดียวกัน ทั้งที่นายก้องเกียรติหาไม่ได้ร่วมลงชื่อในเอกสารของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ไปร่วมแจกใบปลิวและหนังสือร่วมกับกลุ่มฯ ในวันที่ 6 ตุลาคมแต่อย่างใด

คืนนั้นนิสิตนักศึกษากลุ่มอิสระตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดให้มีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์และวาง แนวทางการเคลื่อนไหวโดยมีจุดมุ่งหมายเบื้องต้น ในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ถูกจับกุมทั้ง 12 คน ด้วยการประท้วงการกระทำของรัฐบาลโดยฉับพลัน พร้อมทั้งเสนอว่า องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) น่าจะผลักดันให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่เข้าห้องสอบในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันแรกของการสอบประจำภาคแรกของปีการศึกษา 2516

ผลการประชุมขบวนการนิสิตนักศึกษาทั้งที่ประกอบไปด้วยกลุ่มอิสระจากทุกมหาวิทยาลัย รวมทั้งตัวแทนที่มาจกส่วนภูมิภาค และด้วยความเห็นชอบของ อมธ. มีมติให้นักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นกลุ่มแรกที่ดำเนินการประท้วง โดยเริ่มปิดโปสเตอร์คัดค้านและโจมตีการกระทำของรัฐบาล เพื่อดูท่าทีของนักศึกษาทั้งประเทศ ในขณะที่ศูนย์นิสิตฯ และองค์การนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอื่น เสนอให้นักศึกษาธรรมศาสตร์พยายามตรึงเหตุการณ์จนถึงวัน ที่ 12 ตุลาคมซึ่งเป็นวันสอบวันสุดท้ายของสถาบันอุดมศึกษาทั้งประเทศ เพื่อจะนำนิสิตนึกศึกษาเข้ามาสมทบ

เช้าวันที่ 8 ตุลาคม กองบังคับการตำรวจสันติบาลออกหมายจับ นายไขแสง สุกใส อดีต ส.ส. นครพนม ทั่วประเทศ โดยให้เหตุผลว่า จากการค้นสำนักงานที่ดำเนินงานด้านกฎหมาย "ธรรมรังสี" ได้พบเอกสารส่อว่านายไขแสงอยู่เบื้องหลังการเรียกร้องรัฐธรรมนูญครั้งนี้

ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปรากฏแผ่นโปสเตอร์โจมตีการกระทำของรัฐบาลอย่างรุนแรง หลายแผ่น ติดทั่วมหาวิทยาลัย โดยชักชวนให้นักศึกษารวมกลุ่มกันไปเยี่ยมผู้ที่ถูกคุมขัง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 28 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (9)

สงกรานต์เลือด 13 เมษายน 2552

หลังจากเหตุการณ์ปะทะกันที่เกิดจากความจงใจของ "กลุ่มชายฉกรรจ์เสื้อน้ำเงิน" ต่อกลุ่มคนเสื้อแดงที่ประกาศไปยื่นหนังสือต่อตัวแทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ถึงสถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศเทศไทย ในวันที่ 12 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางกลับมารวมตัวที่กรุงเทพมหานคร ตามมาด้วยการชุมนุมการปิดถนนหลายสายในเขตกรุงเทพ จุดสำคัญอยู่ที่มีขบวนแท็กซี่จำนวนมากมาจอดปิดทางเข้าบริเวณโดยอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ขณะเดียวกัน แกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศบนเวทีที่สะพานชมัยมรุเชฏว่า ขณะนี้นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ถูกจับกุมตัว เนื่องจากไปขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก จากนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศพระราชบัญญัติบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี บางอำเภอของปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐมและพระนครศรีอยุธยา

หลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปภายในกระทรวงมหาดไทย ในเหตุการณ์นั้น เจ้าหน้าที่อารักขานายกรัฐมนตรียิงปืนไปทางฝูงชนเพื่อเปิดวงล้อม ขณะที่รถยนต์ของนายกรัฐมนตรีได้ขับรถฝ่าออกไป ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ในสภาพโกรธแค้นกรูกันเข้าไปแย่งปืนจากเจ้าหน้าที่นายหนึ่งและทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ต่อมามีรถเก๋งสีดำพยายามขับเวียนไปรอบกระทรวงมหาดไทย แต่แล้วกลับเข้าไปอยู่ท่ามกลางคนเสื้อแดง ทำให้มีการขว้างปาสิ่งของต่างๆเข้าใส่รถคันดังกล่าว จากนั้น การ์ดเสื้อแดงลากชายผู้หนึ่งลงจากรถ ซึ่งต่อมาภายหลังทราบว่าคือ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์ชุลมุนช่วงนี้ นายสุพร อัตถาวงศ์ แกนนำคนเสื้อแดงที่ไปชุมนุมหน้ากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศบนเวทีชุมนุมว่ามีคนเสื้อแดงเสียชีวิต 2 คน โดยอ้างว่าผู้ที่รักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรียิงและมีการนำตัวเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีมายังหน้าเวที และมีการยึดปืนของเจ้าหน้าที่ไว้และยังอ้างว่าปืนของเจ้าหน้าที่สามารถใช้เก็บเสียงได้ ต่อมาในวันที่ 19 เมษายน 2552 พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น.ได้ตั้งข้อหา "พยายามฆ่า" และมีรางวัลนำจับให้ประชาชนที่แจ้งเบาะแสผู้ต้องหารายละ 50,000 บาท ผู้ต้องหาทั้งหมด 20 คน

24.00 น. วันที่ 13 เมษายน หลังจากนายกฯ แถลงความคืบหน้าภายหลังประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เวลาประมาณ 02.00 น. แกนนำเสื้อแดงปราศรัยให้มวลชนไปสมทบกันที่แยกดินแดง หลังได้รับรายงานว่ามีการเผชิญหน้ากัน พร้อมเตือนให้ระวัง รัฐบาลอาจสั่งการให้สลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืด

03.30 น. เกิดเหตุสร้างสถานการณ์โดยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รุดตรวจสอบเหตุ คนร้ายยิง M 79 เข้าไปในศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ทหารที่เข้าไปรักษาความปลอดภัยได้รับบาดเจ็บ 1 นาย มีการสั่งเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการเข้มงวดยิ่งขึ้น

แต่แล้ว ในเวลา 04.00 น. กองกำลังทหารในชุดเสื้อเกราะกันกระสุนและติดอาวุธสงครามครบมือเริ่มเข้าทำการสลายม็อบ โดยเคลื่อนเข้ามาทางถนนวิภาวดีฝั่งขาเข้า มีการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มคนเสื้อแดงที่ใต้ทางด่วนกว่า 1,000 คน จนถอยร่นมาถึงสามเหลี่ยมดินแดง ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมแตกฮือหลบหนี แต่ก็ยังมีบางส่วนนำยางรถยนต์มาเผา และพยายามขับรถประจำทางพุ่งเข้าใส่แนวทหาร ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมฮือกันเข้ามาปะทะอีก เจ้าหน้าที่ทหารจึงยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมกว่า 20 นัด ทำให้ผู้ชุมนุมแตกฮือวิ่งกระจัดกระจายไปคนละทิศทาง ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมบางส่วนทยอยไปรวมตัวที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ท่ามกลางรถพยาบาลหลายคันที่วิ่งเข้าไปรับผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลรา วิถีและโรงพยาบาลรามาธิบดี

กำลังทหารและตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตา และอาวุธปืนยิงข้าสลายการชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดง จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 70 คน (http://www.timesonline.co.uk/tol/news/world/asia/article6084484.ece) และมีรายงานโดยกลุ่มผู้ชุมนุมเองว่า มีผู้เสียชีวิตจากการเข้าสลายการชุมนุมด้วย ซึ่งกองทัพได้ออกมากล่าวในภายหลังว่ามีการยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้าแต่ไม่ได้ยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม ทว่าทางฮิวแมน ไรท์ วอทซ์ได้ยืนยันว่ากองทัพมีการยิงกระสุนจริงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมจริง

15.00 น. บริเวณถนนเพชรบุรีซอย 5 ขณะที่คนเสื้อแดงที่ถอยออกจากแยกศรีอยุธยามาถึงแยกอุรุพงษ์ มีการปล่อยข่าวว่าจะมีการเผาสุเหร่าและชุมชนในย่านถนนเพชรบุรีบริเวณเชิงสะพานนครสวรรค์ ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งดักทำร้ายโดยใช้มีดดาบและท่อนไม้ท่อนเหล็ก รวมทั้งอาวุธปืนยิงเข้าใส่คนเสื้อแดง

16.00 น. สัญญาณภาพจากสถานี D-Station ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้ถ่ายทอดการชุมนุมโดยตลอด ถูกแทนที่ด้วยข้อความบนจอโทรทัศน์ว่า "ขออภัย ทางสถานีดาวเทียมไทยคม มีความจำเป็นต้องตัดสัญญาณ D-Station ตามคำสั่งของรัฐบาลในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

21.30 น. เกิดเหตุปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับกลุ่มชายฉกรรจ์ที่อยู่ในสภาพติดอาวุธครบมือโดยประกาศว่าเป็นประชาชนในพื้นที่ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ที่ตลาดนางเลิ้ง และกลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวว่ามีผู้ชุมนุมจำนวน 3 คนเสียชีวิต

ตลอดเวลาดังกล่าว สื่อของทางราชการและสื่อกระแสหลักจำนวนมาก ทยอยให้ข่าวในเชิงลบต่อกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ตลอดเวลา โดยมีความพยายามชี้นำไปสู่สถานการณ์การก่อจลาจล ขณะที่ในเวลาเดียวกันสื่อมวลชนต่างประเทศจำนวนหนึ่งและสื่อมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยที่ยังสามารถรายงานข่าวได้ให้ข้อมูลตรงกันข้าม โดยในหลายๆจุดที่มีชายฉกรรจ์ดำเนินการก่อการในลักษณะจลาจล เช่นยึดรถก๊าซไวไฟเตรียมก่อเหตุ หรือแม้แต่การยึดรถประจำทางมาเผาตามท้องถนน ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นฝีมือของผู้ชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งอยู่ในสภาพขวัญเสียจากการเข้าสลายการชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล

จนถึงเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 14 เมษายน แกนนำจึงประกาศยุติการชุมนุมบนถนนรอบทำเนียบรัฐบาล เพื่อป้องกันการสูญเสียที่จะเพิ่มขึ้นจากการปราบปรามของรัฐบาล จากนั้นแกนนำ 5 คน คือ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายแพทย์เหวง โตจิราการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายสุพร อัตถาวงศ์ ได้เข้ามอบตัวต่อ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนับเป็นการยุติเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าว จากนั้นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงถูกส่งตัวมายังกองบัญชาการตำรวจนครบาล

ในช่วงบ่าย มีการออกหมายจับแกนนำ 14 คน ประกอบด้วย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจักรภพ เพ็ญแข นายอดิศร เพียงเกษ นพ.เหวง โตจิราการ นายธีรพงษ์ พริ้งกลาง นายณรงค์ศักดิ์ มะณี นายชินวัฒน์ หาบุญพาด พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 12-18 มีนาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (36)

วันคืนสุกดิบ 14 ตุลาฯ: กงล้อประวัติศาสตร์เริ่มหมุน

แม้จะดูเหมือนกว่าภายใต้การปกครองในนาม "สภาบริหารคณะปฏิวัติ" ที่มีจอมพลถนอมเป็นประธาน โดยแต่งตั้งผู้อำนวยการ 4 ฝ่าย คือ 1. พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ 2. นายพจน์ สารสิน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง 3. พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรและคมนาคม และ 4. พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาและสาธารณสุข

ในขณะที่ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอมและลูกเขยจอมพลประภาส ยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจแทบจะเรียกได้ว่าครอบจักรวาลในการตรวจสอบควบคุมข้าราชการ

แต่กลับปรากฏว่ารัฐบาลคณะปฏิวัติกลับไม่สามารถสร้างเสถียรภาพในลักษณะเดียวกับรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ในช่วงก่อนหน้านั้นได้

ประจวบกับในปี 2515 จะมีการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ซึ่งมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารฯ จึงจำเป็นต้องมีรัฐบาลให้ถูกต้องตามธรรมเนียมนิยม เนื่องจากไม่เป็นการสมควรจัดให้มีพระราชพิธีสถาปนาฯ ในขณะที่บ้านเมืองยังอยู่ในระหว่างการปกครองของคณะรัฐประหาร จึงประกาศใช้ "ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515" ขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม ซึ่งมีบทบัญญัติทั้งสิ้นเพียง 23 มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" เพียงสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งจำนวน 299 คน พล.ต.ศิริ สิริโยธิน เป็นประธาน โดยสมาชิกมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐบาลได้ แต่ไม่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และมีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความเป็นรัฐเผด็จการนั่นคือ การคงมาตรา 17 ไว้

ห้วงเวลานี้เองนายทหารหนุ่มใหญ่ที่เพิ่งได้รับพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้ายศพลตรี พร้อมกับเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี 2511 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นั่นคือ พล.ต.เปรม ติณสูลานนท์

นับจากต้นปี 2516 เริ่มจากช่วงระหว่างวันที่ 5-20 มกราคม ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยก็จัดการรณรงค์ให้มี "ปักษ์เลิกซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยของต่างประเทศ" โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะปลุกเร้าเพื่อเปลี่ยนค่านิยมของคนไทยที่นิยมใช้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่เป็นความฟุ่มเฟือย นำไปสู่การเสียเปรียบดุลการค้ากับนานาชาติ ไม่เฉพาะชาติตะวันตก หากยังเน้นไปที่ญี่ปุ่นอีกด้วย

และในท่ามกลางความอึมครึมในบรรยากาศไม่เป็นประชาธิปไตยทางการเมือง ที่ประชาชนรวมทั้งนิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งได้มีโอกาสลิ้มรสสิทธิเสรีภาพจากการเลือกตั้งในปี 2512 นำไปสู่การตรวจสอบลักษณะ "อำนาจนิยม" ในขอบเขตปริมณฑลต่างๆในสังคม และที่สำคัญอำนาจอธิปไตยที่ถูกแทรกแซงในกรณี "ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299" ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2515 ปัญหาสิทธิเสรีภาพจึงเป็นประเด็นใจกลางในขบวนการนิสิตนักศึกษา

ถัดมาในวันที่ 29 เมษายน 2516 เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม มีดาราหญิงชื่อดังในขณะนั้นคือ เมตตา รุ่งรัตน์ โดยสารไปด้วย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 คน ในซากเฮลิคอปเตอร์นั้นพบซากสัตว์เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นซากกระทิงจากป่าสงวน "ทุ่งใหญ่นเรศวร" จุดกระแสไม่พอใจในหมู่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน นิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ 4 มหาวิทยาลัยได้ออกหนังสือเปิดโปงเบื้องหลังเบื้องลึกชื่อ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" ตามมาด้วยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงในนาม "ชมรมคนรุ่นใหม่" ได้จัดพิมพ์หนังสือ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" ซึ่งมีการพิมพ์ข้อความลอยๆ ว่า "สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกเป็นที่ไม่ไว้ใจ" ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นการเสียดสีการต่ออายุราชการของจอมพลถนอมในฐานะผู้บัญชาการสูงสุด และจอมพลประภาสในฐานะผู้บัญชาการทหารบกอีกคนละหนึ่งปี โดยที่จอมพลถนอมนั้นเคยได้รับการต่ออายุมาก่อนหน้านั้นครั้งหนึ่งแล้ว ทางมหาวิทยาลัยโดย ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี สั่งลบชื่อนักศึกษาที่เป็นแกนนำ 9 คนออกจากทะเบียนนักศึกษา

ยังผลให้เกิดการประท้วงของนักศึกษารามคำแหงและขยายตัวไปสู่นิสิตนักศึกษาสถาบันอื่นๆ ไม่เฉพาะกลุ่มอิสระที่มีการร่วมกิจกรรมกันมากขึ้น ในที่สุดศูนย์นิสิตฯ ประกาศตัวสนับสนุนและมีมติให้เดินขบวนในวันที่ 21-22 มิถุนายน 2516 มีนิสิตนักศึกษากว่า 5 หมื่นคน ทั้งของรัฐและเอกชนหลายสถาบันได้มาร่วมชุมนุมประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีขนาดใหญ่และมีปริมาณผู้เข้าร่วมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้ประชาชนได้ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอย่างออกหน้าเป็นครั้งแรก

ข้อเรียกร้องในระยะแรก เพียงต้องการให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงยกเลิกคำสั่งลบชื่อนักศึกษาทั้ง 9 คนและรับเข้าศึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข และเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก แต่มีการยกระดับข้อเรียกร้องในเวลาต่อมา ให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชน และให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนอีกด้วย ผลก็คือ ดร.ศักดิ์ยอมลาออก แต่ข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนนั้นไม่มีคำตอบ

การเคลื่อนไหวของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จากการประท้วงทางด้านวัฒนธรรม ไปสู่การประท้วงทางการเมืองเฉพาะกรณี จนกระบวนการทางความคิดของคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย และแม้แต่ปัญญาชนร่วมสมัยบางส่วน เกิดการตกผลึกและรวมศูนย์ไปสู่การเคลื่อนไหวทั่วไปทางการเมือง ซึ่งหมายความว่า "ศูนย์นิสิตฯ" เป็นองค์การจัดตั้งของนิสิตนักศึกษาที่มีเนื้อหาทางการเมืองอย่างเป็น ธรรมชาติที่สุด หาใช่การ "ถูกล้างสมอง" หรือ "ปลุกปั่นยุยง" โดยอำนาจการเมืองนอกระบบ หรือภายใต้ข้อหา "คอมมิวนิสต์" ดังที่ "ผู้ปกครอง" ที่เป็นฝ่าย "ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย" ใช้เป็นข้อ อ้างในการกำจัดทำลายล้างพลังประชาธิปไตยนับจากปี 2476

เมื่อเห็นรัฐบาลใช้ท่าทีเมินเฉยต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยในที่สุดผู้นำศูนย์นิสิตฯ ซึ่งได้ประสานงานกับกลุ่มนักศึกษากลุ่มอิสระ ตลอดจนนักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้สนใจ จึงร่วมกันก่อตั้ง "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" ขึ้น โดยในขั้นแรกมีการรวบรวมรายชื่อหลากหลายอาชีพหลายวงการ ประชุมร่างแถลงการณ์ในวันที่ 5 ตุลาคม 2516 ทำเป็นใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มเดินเท้าแจกจ่ายตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม มีเนื้อหาอ้างถึงใจความในพระราชหัตถ์เลขาถึงสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 21-27 พฤศจิกายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (8)

ข้อเรียกร้อง 3 ข้อและเหตุการณ์รอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท

วันที่ 8 เมษายน แกนนำคนเสื้อแดงนำโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจักรภพ เพ็ญแข ขึ้นบนเวทีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่ออ่านแถลงการณ์ของคนเสื้อแดง โดยตั้งข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

  1. พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ต้องพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี
  2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
  3. การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปรับปรุงใด ๆ ให้ดีขึ้นตามหลักสากล ต้องมีการปรึกษาหารือกันระหว่างนักประชาธิปไตยผู้มีประวัติและพฤติกรรมเชิด ชูระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ประจักษ์

ทั้งนี้แกนนำคนเสื้อแดงประกาศให้เวลา 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะมีการยกระดับการชุมนุม

ตลอดทั้งวันนั้นคนเสื้อแดงจากจังหวัดต่างๆทั่วประเทศทยอยกันมาสมทบโดยตั้งเตนท์ เกือบตลอดแนวถนนราชดำเนินนอกเลี้ยวเข้าทำเนียบรัฐบาลและตั้งเวทีที่สะพานชมัยมรุเชฎไปจนถึงแยกนางเลิ้ง สำนักข่าว "รอยเตอร์ส" รายงานว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันนี้ประมาณ 100,000 คน ในขณะที่สื่ออีกหลายสำนักประเมินว่าอาจมีผู้เข้าร่วมถึง 300,000 คน

จนถึงเวลา 16.45 น. ของวันที่ 9 เมษายน หลังพ้นกำหนด 24 ชั่วโมงตามที่ได้เรียกร้อง ผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้ทยอยเดินทางชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ขณะที่มีมวลชนบางส่วนเคลื่อนตัวในนามคนเสื้อแดงเข้าปิดกั้นถนนสำคัญหลายสาย เช่น ถนนสาธร ถนนรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บางจุดเกิดการขัดแย้งกับคนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว มีการใช้วาจาเข้าหากันอย่างมีอารมณ์ จนเกือบจะเกิดการปะทะ แต่เจ้าหน้าที่สามารถระงับเหตุตุก่อนเกิดการบานปลาย ซึ่งในบางจุดฝูงชนคนเสื้อแดงสลายตัวกลับไปรวมกันในที่ชุมนุมใหญ่ เว้นแต่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คงมีการชุมนุมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 10 จึงถอนตัว โดยมีส่วนหนึ่ง มุ่งหน้าไปจังหวัดชลบุรี นำโดยนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง

ตั้งแต่ช่วงสายของวันที่ 11 เมษายน เมื่อขบวนคนเสื้อแดงจากส่วนกลางซึ่งออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลาประมาณ 24.00 น. เพื่อไปสมทบกับคนเสื้อแดงภาคตะวันออกโดยเฉพาะในพื้นที่พัทยา เมื่อถึงเวลาประมาณ 7.00 น. กลุ่มเสื้อแดงปิดถนนหน้าโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเป็นที่พักของนายกรัฐมนตรีจีนและนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ รวมทั้งโรงแรมอมารีซึ่งเป็นที่พักของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

แต่ในเวลาประมาณ 8.30 น. ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงในนาม นปช. กำลังจะเดินทางเข้าไปถึงบริเวณโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจา เพื่อกดดันรัฐบาลและแสดงให้ต่างชาติเห็นถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลนี้ โดยจุดประสงค์หลักคือการเข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้ทราบว่า มีประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับรัฐบาลนี้ เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ปรากฏว่ามีกลุ่มชายฉกรรจ์เสื้อน้ำเงินปิดหน้าสวมหมวกหรือ "ไอ้โม่ง" จำนวนมากถืออาวุธเป็นท่อนไม้และท่อนเหล็กครบมือ ยกกำลังเข้ามาขวาง มีการใช้หนังสติ๊กยิงน็อตเหล็กเข้าใส่จึงเกิดการปะทะกัน ซึ่งมีการยืนยันว่ามีเสียงดังขึ้นจากฝ่ายที่ปักหลักตั้งรับอยู่นั้น

ในชั้นต้นฝ่ายชายฉกรรจ์เสื้อน้ำเงินถอนกำลังไปตั้งหลักคุมเชิงอยู่ด้านหลังแถวทหารที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย มีสื่อบางสำนักรวมทั้งสื่อต่างประเทศสามารถจับภาพเหตุการณ์ที่ดูเหมือนมีการอำนวยความสะดวกบางระดับในการเคลื่อนไหวเอาไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีภาพที่ยืนยันได้ว่าคือ นายเนวิน ชิดชอบ ใส่เสื้อน้ำเงินนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ ซึ่งคอยบัญชาการกลุ่มคนเสื้อน้ำเงิน หรือแม้แต่บางกระแสข่าวว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะก็ร่วมประสานงานในพื้นที่ด้วย

เวลา ประมาณ 09.00 น. นายอภิสิทธิ์ เรียกประชุมฝ่ายความมั่นคง โดยได้รับรายงานว่า ผู้นำทั้ง 3 ชาติ ออกจากโรงแรมโดยใช้เส้นทางอื่น หลังจากนั้นในเวลา 09.30 น. มีการเสริมกำลังที่ทหารหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินกว่า 500 นาย เข้าไปที่โรงแรมรอยัลคลิฟ พร้อมทั้งนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงเลื่อนประชุมสุดยอดอาเซียนกับจีน

หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแยกชายฉกรรจ์ขุดน้ำเงินออกจากการปิดกั้นเส้นทางที่จะขึ้นเนินไปยังตัวโรงแรม และกลุ่มคนเสื้อแดงสามารถเข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนจัดการประชุมตามที่ประกาศเจตนารมณ์ไว้ตั้งแต่ที่เวทีใหญ่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 11.00 น. นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มเสื้อแดง เจรจาขอแถลงข่าวในศูนย์สื่อมวลชนภายในโรงแรมรอยัลคลิฟ ถัดมาเวลา 12.00 น. พ.ต.ท.วรกิช ภาคการ สารวัตรเวร สภ.หนองขาม อ.ศรีราชา รับแจ้งว่ารถแท็กซี่กลุ่มเสื้อแดง 3 คัน ถูกยิงมีผู้บาดเจ็บ 2 คน

12.05 น. นายอริสมันต์เรียกร้องให้รัฐบาลนำตัวมือปืนที่ยิงคนเสื้อแดงมาลงโทษ โดยขีดเส้นตาย 1 ชั่วโมง แต่ระหว่างเดินทางกลับจากโรงแรม กลับถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ในเสื้อน้ำเงินดักทำร้ายด้วยอาวุธนานาชนิด แล้วถอยไปตั้งหลักหลังแนวของเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก กลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งในขณะนั้นไม่สามารถเคลื่อนที่กลับจากศูนย์การประชุมนานา ชาติ และอยู่ในสภาพเกืบควบคุมกันไม่อยู่ จึงย้อนกลับไปที่โรงแรมอีกครั้งในเวลาประมาณ 13.00 น. พังประตูบุกเข้าไปยังศูนย์สื่อมวลชนในโรงแรม เพื่อแถลงเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิด

ระหว่างนั้นนายอริสมันต์ เจราจาทางโทรศัพท์กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. โดยยืนข้อเสนอให้เวลา 2 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีต้องลาออก เพื่อรับผิดชอบเรื่องที่คนเสื้อแดงโดนคนเสื้อน้ำเงินที่มีคนของรัฐคอยบงการ ดักทำร้ายคนเสื้อแดงจนบาดเจ็บหลายคนและคนหนึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ในห้อง ICU

ทว่าคำตอบที่ได้รับกลับมาคือ นายอภิสิทธิ์ไม่ลาออก แต่ประกาศเลื่อนการประชุมนานาชาติออกไป พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่เมืองพัทยาและจังหวัดชลบุรี

หลังจากการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศเสร็จสิ้น มวลชนคนเสื้อแดงก็เคลื่อนขบวนกลับกรุงเทพ ด้วยคาราวานรถยนต์ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง และมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาต่อมา.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 5-11มีนาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (35)

ถนอมกับอำนาจที่ไม่เด็ดขาด: การเคลื่อนไหวก่อน 14 ตุลาฯ

สำหรับในการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 นั้น ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2511 มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 120 คน ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาในรัฐสภา ทั้งนี้ในจำนวนสมาชิกวุฒิสภาคนสำคัญที่ยังคงมีบทบาททางการเมืองมาจนทุกวันนี้คือ พ.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (ยศในขณะนั้น) ร่วมกับนายทหารและพลเรือนอื่นๆ เช่น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, พลเอก กฤษณ์ ศรีวะรา, พล.ต. เกรียงไกร อัตตะนันท์, พล.ท. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, พล.ต.ท. พจน์ เภกะนันท์, พล.ต. ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, พ.อ. ยุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค, พล.ร.ท. สงัด ชะลออยู่, พล.ต.ต. สง่า กิตติขจร และ พล.ท. สายหยุด เกิดผล

แม้ว่าพรรคสหประชาไทยที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค จะได้เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล ทั้งยังมีรองหัวหน้าพรรค 3 คนที่น่าจะสามารถทำหน้าที่ฝ่ายบริหารได้อย่างมีเสถียรภาพ คือ จอมพลประภาส จารุเสถียร, พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ และนายพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรคก็ตาม แต่รัฐบาลก็มีปัญหาวุ่นวายตามมาไม่สิ้นสุด อันเนื่องจากการต่อรองผลประโยชน์ภายใน อีกทั้งการต่อรองนอกพรรค เนื่องจากความจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติม

ในการจดทะเบียนพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น พรรค สหประชาไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคแนวร่วมเศรษฐกร พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคแนวประชาธิปไตย พรรคสัมมาชีพช่วยชาวนา พรรคชาวนาชาวไร่ พรรคสยามใหม่ พรรคประชาพัฒนา พรรคแรงงาน พรรคไทธิปัตย์ พรรคอิสระธรรม และ พรรคชาติประชาธิปไตย

โดยที่จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาเป็นผู้ไม่สังกัดพรรคถึง 70 คน

ทว่าในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมเป็นหัวหน้ากลุ่มเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของตนเอง เรียกคณะของตนว่า "คณะปฏิวัติ" ประกาศยกเลิก "รัฐธรรมนูญ 2511" ยุบสภา ยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง ตามมาด้วยการประกาศใช้ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515" ซึ่งไม่ต่างไปจาก "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502" มีการใช้ "มาตรา 17" ที่ให้อำนาจเผด็จการแก่นายกรัฐมนตรี หรือ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" โดยข้ออ้างในคำปรารภการยึดอำนาจว่า "ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ภายใน ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน"

ภายหลังการรัฐประหาร นายอุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส.จังหวัดชลบุรี ของพรรคประชาธิปัตย์พร้อมด้วย ส.ส. อีก 2 คน จังหวัดชัยภูมิ พรรคเดียวกัน คือ นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และ นายบุญเกิด หิรัญคำ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน ถือเป็นท้าทายอำนาจอย่างตรงไปตรงมา ทว่าทั้งสามคนกลับตกเป็นจำเลยเสียเอง และถูกตัดสินจำคุกถึง 10 ปี โดยได้รับการปล่อยตัวก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ไม่นาน

แต่แล้วหลังการรัฐประหารที่นำโดยจอมพลถนอม กลับเป็นปลุก "ขบวนการนิสิตนักศึกษา" ให้คืนกลับมาหลังจากตกอยู่ในสภาพชะงักงันมานับจากการรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ในปี 2501 และเริ่มมีการวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำกิจกรรมร่วมกัน ที่สำคัญ จากการประชุมสมาคมบริการนักศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2512 และการที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาหัวข้อ "บทบาทนักศึกษาในการพัฒนาประเทศ" ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จนนำไปสู่การก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการของ "ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)" หรือ "ศูนย์นิสิตฯ" ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "The National Student Center of Thailand (NSCT)" เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2513

ในเวลาเดียวกัน นอกเหนือจากการเข้าร่วมกลุ่มอย่างเป็นทางการที่ค่อนข้างจะถูกจับตาอย่างใกล้ชิด และควบคุมการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบ "สโมสรฯ" ซึ่งต่างจากรูปแบบ "องค์การฯ" ที่พัฒนาขึ้นจากการรณรงค์เคลื่อนไหวในหมู่นิสิตนักศึกษากลุ่มอิสระในมหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วงปี 2511-2515 เช่น "กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่" จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในธรรมศาสตร์ที่มีลักษณะหลากหลายกว่า คือ "ชมรมนิติศึกษา" "กลุ่มเศรษฐธรรม" "กลุ่มผู้หญิง ม.ธ." และ "กลุ่มสภาหน้าโดม" นอกจากนนั้น ก็มี "สภากาแฟ" จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ "ชมรมคนรุ่นใหม่" จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในส่วนภูมิภาคก็มีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยกลุ่ม "วลัญชทัศน์" รวมทั้งนักศึกษาที่ยังไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเช่นในมหาวิทยาลัยมหิดลและ มศว.บางแสน

การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในระยะแรกยังอยู่ในขอบเขตรั้วมหาวิทยาลัย เช่นการคัดค้านฟุตบอลประเพณีหรืองานบันเทิงอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยความฟุ่มเฟือย เช่นการจัดงาน "รับน้อง" รวมไปจนถึงการคัดค้านการประกวดนางสาวไทยที่เวทีวังสราญรมย์ อันเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์และมีลักษณะกดขี่ทางเพศสำหรับ "เพศแม่"

ระหว่างวันที่ 20-30 พฤศจิกายน 2515 ศูนย์นิสิตฯ ชุดที่มี นายธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการ จัดให้มีการรณรงค์ "สัปดาห์ไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่น" มีนักศึกษามหาวิทยาลัยทุกสถาบันเข้าร่วมเดินขบวนหลายครั้ง รวมทั้งยื่นหนังสือถึงหัวหน้ารัฐบาลให้หาทางลดการเสียเปรียบดุลการค้ากับประเทศญี่ปุ่นทุกวิถีทาง และปิดท้ายด้วยการเผาหุ่นนักธุรกิจ ข้าราชการและนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ร่วมกับพ่อค้าญี่ปุ่นที่สนามหลวงในวันที่ 30 พฤศจิกายน

จากนั้นนิสิตนักศึกษาก็มีโอกาสยกระดับความรับรู้และการเคลื่อนไหวไปสู่การเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐโดยตรงเป็นครั้งแรก จากการเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาหลายสถาบันร่วมเดินขบวนประท้วง "ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299" ที่ "ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานคณะตุลาการ ซึ่งแต่เดิมประกาศศาลฎีกาเป็นประธานคณะตุลาการ ส่วนกรรมการตุลาการ 9 คนนั้น เฉพาะกรรมการที่คณะผู้พิพากษาเป็นผู้เลือก 4 คน เปลี่ยนเป็นให้รัฐมนตรีเป็นผู้เลือก"

การประท้วงเริ่มขึ้นโดยนัก ศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬา และรามคำแหง ต่อมาศูนย์ฯจึงเข้าร่วมด้วย และขยายตัวไปยังนิสิตนักศึกษาสถาบันอื่นๆ มีการชุมนุมข้ามคืนที่หน้าศาล อาญา สนามหลวง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2515 ในที่สุดรัฐบาลเผด็จการก็ยอมยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 14-20 พฤศจิกายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (7)

"แดงทั้งแผ่นดินฯ" และการชุมนุมใหญ่เมษายน 2552

หลังจากนั้น แกนนำ นปช. ในฐานะผู้จัดงาน "แดงทั้งแผ่นดิน" ก็เริ่มเดินสายจัดรายการในลักษณะ "แดงทั้งแผ่นดินสัญจร" จุดประสงค์ทำความเข้าใจกับ "คนเสื้อแดง" ตามภูมิภาคต่างๆ โดยเน้นที่จังหวัดใหญ่ เป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆของประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะจัดขึ้นในปลายเดือนมีนาคม

งานแดงทั้งแผ่นดินสัญจร ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่บริเวณริมถนนหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ในวันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม 2552 ซึ่งหลังเปิดการปราศรัยไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ เกิดเหตุชุลมุนขึ้น เมื่อมีชายฉกรรจ์คนหนึ่งทราบชื่อภายหลังว่าคือ นายลพ พูลวิเชียร อ้างตัวว่าเป็นสมาชิกชมรมคนรักอุดร พกอาวุธมีดเข้ามาก่อกวนบริเวณด้านหลังเวทีปราศรัย ท่ามกลางความตกตะลึงของประชาชน และการ์ด นปช.ที่พยายามจะเข้าไปควบคุมสถานการณ์ ก่อนที่จะส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น ควบคุมตัวไปดำเนินคดี

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวบนเวทีว่า แกนนำ นปช. มีเป้าหมายจะนำประชาชนไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลให้ล้นไปถึงถนนราชดำเนิน และจะปักหลัก ไม่ชนะไม่เลิก นั่นคือการขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์

ไฮไลท์ของงานอยู่ที่ช่วงเวลา 20.00 น. เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินขณะอยู่บนเครื่องบินเข้ามาที่โทรศัพท์มือถือของนายวีระ มุสิกพงศ์ เพื่อปราศรัยกับคนเสื้อแดงที่ชุมนุมกันอยู่

งานแดงทั้งแผ่นดินสัญจร ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม งานแดงทั้งแผ่นดินสัญจร ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่จังหวัดจันทบุรี ในวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม นั้นไม่มีเหตุการณ์พิเศษ งานแดงทั้งแผ่นดินสัญจร ครั้งที่ 5 จัดขึ้นที่สนามกีฬา 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม

จนมาถึงงานแดงทั้งแผ่นดินสัญจร ครั้งที่ 6 จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ในวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2552 โดยประกาศเจตนาปักหลักชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาลอย่างยืดเยื้อ จนกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ และระบอบอำมาตยาธิปไตย ที่นำโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี จะลาออกจากตำแหน่ง

หลัง จากกลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มทยอยมารวมตัวกัน ที่ท้องสนามหลวง ในเวลา 09.30 น. จนถึงเวลา 12.45 น. จึงเคลื่อนขบวนออกจากสนามหลวง มุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล และในเวลา 16.00 น. มีการตั้งเวทีขนาดใหญ่ ขนาดยาวประมาณ 8 เมตร สูงประมาณ 2 เมตร บนสะพานชมัยมรุเชฐ พร้อมกับตั้งจอโปรเจ็คเตอร์และเครื่องเสียงเป็นจุด รอบทำเนียบรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังตำรวจและทหาร ดูแลรักษาความสงบ 3,600 นาย และในเวลาประมาณ 20.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โฟนอิน เตรียมเปิดตัวผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ

ซึ่งในการโฟนอินในคืนถัดมา คือวันที่ 27 มีนาคม เวลา 20.30 น. พ.ต.ท.ทักษิณ จึงประกาศผ่านทางโทรศัพท์ข้ามทวีป โดยมีเนื้อหาว่า พล.อ.เปรม คือ ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ กล่าวหาแทรกแซงการเมือง แอบสั่งการ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า สถาบันฯ เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดระบบความไม่เป็นธรรมขึ้นนอกจากนั้นยังกล่าวด้วยว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หนุนพันธมิตร วางแผนล้มตนเองออกจากอำนาจ ทำประเทศล่มจม พร้อม จี้องคมนตรีหยุดเล่นการเมือง ให้ยุบสภาเพื่อเป็นทางออก แลกกับการไม่ลงเลือกตั้ง

ในเวลาต่อมา พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สัมภาษณ์ยืนยัน เหตุการณ์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โฟนอินพาดพิง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรีว่า อยู่เบื้องหลัง ร่วมวางแผนโค่นล้มระบอบทักษิณ เป็นความจริง

จนถึงวัน ที่ 31 มีนาคม นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มเสื้อแดง จัดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังงานกาชาดเสร็จสิ้น กลุ่มเสื้อแดงจะดีเดย์ นัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง หวังเผด็จศึกรัฐบาล

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งๆที่ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุใดๆ ว่าอาจจะเกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้น แต่แล้วก่อนหน้าวันนัดหมายชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง คือในวันที่ 6 เมษายน เวลา 20.35 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงผ่านรายการสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เน้นถึงความกังวลถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงในวันที่ 8 เมษายน มีแนวโน้มจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง หรือการปฏิวัติประชาชน โดยรัฐบาลซึ่งเคารพกฎหมายและต้องการดำรงความสงบของบ้านเมือง ยืนยันที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทั้งสองขึ้น โดยกำหนดมาตรการและแผนการดำเนินการเพื่อรับมือไว้ดังนี้

1. จะดูแลสถานที่ราชการ ไม่ให้มีการบุกรุก และที่ผู้ชุมนุมประกาศว่าจะไปบ้านประธานองคมนตรีนั้น ไม่อยากให้มีการดึงผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามาเกี่ยวกับการเมือง
2. เรื่องผลกระทบกับการจราจร จะมีการรายงานให้ประชาชนทราบตลอดว่า เวลาใด หรือที่ไหน จะมีผลกระทบ
3. จะดูแลไม่ให้เกิดความรุนแรง ในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง ขอความกรุณาทุกฝ่ายเลี่ยงการปะทะกัน รัฐบาลจะป้องกันไม่ให้เสียเลือดเนื้อ โดยจะไม่มีการใช้กฎหมายพิเศษ รัฐบาลมีความพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่จะป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวโดยความนุ่มนวล


แต่แล้วในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 7 เมษายน ขณะที่นายอภิสิทธิ์กำลังจะเดินทางกลับจากการประชุมคณะรัฐมนตรีที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งวาระสำคัญคือการเตรียมงานการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 10 ชาติ และผู้นำประเทศคู่เจรจาอีก 5 ชาติ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้นำองค์กรการเงินและการค้าระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย หรือเอดีบี องค์การการค้าโลก และอังค์ถัด ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายน ที่โรงแรมรอยัลคลิฟ เมืองพัทยา

เวลาประมาณ 13.15 น. มีความชุลมุนเกิดขึ้นเมื่อ มีผู้จำได้ว่านายอภิสิทธิ์นั่งอยู่ในรถรถยนต์ประจำตำแหน่งยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู สีดำ เลขทะเบียน ษห 9201 รถจอดติดไฟแดง ผลก็คือมีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์ไล่ตามและเข้าปาดหน้า จนเป็นเหตุให้รถล้ม นำไปสู่เหตุชุลมุน มีการตะโกนโห่ไล่ ด่าทอและขว้างขวดน้ำใส่

จากนั้นในเวลา 13.30 น. นายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน แถลงข่าวเตือนประชาชนที่จะร่วมชุมนุมในวันที่ 8 เมษายน ว่าอาจเกิดเหตุรุนแรง พร้อมระบุ พ.ต.ท.ทักษิณ หักหลังนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อครั้งโหวตจะเป็นนายกฯ รอบ 2 พร้อมกันนี้ขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หยุดก้าวล่วงพระราชอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอให้ยุติการชุมนุม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 26 กุมภาพันธ์-4 มีนาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (34)

ถนอม กิตติขจร: ผู้สืบทอดยุคแห่งความมืดบอดทางปัญญา

สภาพการทางการเมืองและสังคมโดยทั่วไปนับจากมรณกรรมของ "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" ยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยอาศัย "อำนาจคณะปฏิวัติ" เป็นเวลาถึง 1 ทศวรรษที่พัฒนาการทางการเมืองในสังคมไทยตกอยู่ในภาวะชะงักงันเกือบจะโดยสิ้น เชิง ที่สำคัญการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีหลักประกันด้วย "รัฐธรรมนูญ" และ "สิทธิของประชาชน" ในการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กลายเป็นเสมือนคำ "ต้องห้าม" ไปโดยปริยาย ด้วยนโยบาย "ปิดหู-ปิดตา-ปิดปาก" ที่รัฐบาลคณะปฏิวัติที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ใช้สืบเนื่องต่อมาจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ผลก็คือ การรวมกลุ่มของประชาชนวงการต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น และมีกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย "สาบสูญ" ไปจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ไล่เรื่อยลงไปตั้งแต่ "พรรคการเมือง" "สมาคมกรรมกร-ชาวนา" และ "ขบวนการนิสิตนักศึกษา" ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง

ความบีบคั้นและนโยบาย "กวาดล้าง" ผู้มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร ส่งผลให้ นักการเมืองส่วนหนึ่ง ผู้นำกรรมกร-ชาวนาส่วนหนึ่ง ข้าราชการที่ดำเนินชีวิตสนิทแนบกับคนชั้นล่าง เป็นต้นว่าครูประชาบาลในชนบทห่างไกลโดยเฉพาะทางภาคอีสาน ตลอดจนปัญญาชน นักคิดนักเขียน ถูกผลักไสให้เดินทางเข้าร่วมกับ "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)" เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเท่ากับเป็นการเสริมความเข้มแข็งและขยายการเติบโต ให้แก่ประชาชนที่ "ปราศจากเสรีภาพ" และ "ไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับการเอาชีวิตรอด"

จนกระทั่งนำไปสู่ "วันเสียงปืนแตก" คือวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ซึ่งเป็นวันที่กองกำลังในนาม "กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.)" ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาล ไทยเป็นครั้งแรก ที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พร้อมกับการประกาศยุทธศาสตร์ "ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมือง และยึดเมือง"

ช่วงเวลานี้เอง ที่ "จิตร ภูมิศักดิ์" ปัญญาชนนักคิดนักเขียนคนสำคัญ ถูกกดดันให้เข้าร่วมกับการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังจากถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2501 ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และโดนฟ้องศาลในข้อหาดังกล่าว ยังศาลทหารในปี 2506 ตาม "พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 2495" แต่เนื่องจากเป็นเรื่องเมื่อปี 2496 ซึ่งรัฐบาลได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมไปแล้วในคราวฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จึงตัดสินให้การกระทำเช่นนั้นไม่มีความผิดต่อไป ศาลจึงยกฟ้องคดีที่จิตรเป็นจำเลย แต่จิตรก็ถูกกักตัวไว้ที่เรือนจำลาดยาวนานถึง 8 ปี กว่าจะได้รับอิสรภาพใน เดือนตุลาคม 2508

จากนั้นอีกเพียง 1 ปีถัดมา จิตร ภูมิศักดิ์ หรือ "สหายปรีชา" ก็จบชีวิตลง จากกระสุนปืน PSG-1ของเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ที่ ตำบลบ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร หลงเหลือเพียงตำนานของเสรีชนนักสู้กับระบอบเผด็จการ และนักคิดนักเขียนที่ยืนหยัดเคียงผู้คนที่ต่ำต้อยน้อยหน้า ไร้สิทธิไร้เสียง ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม ตราบเท่าทุกวันนี้

ในเวลาเดียวกัน ความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ก็พัฒนาการมาจนถึงจุดเข้มข้นที่สุดในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สหรัฐอเมริกาเร่งส่งทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น กว่าในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ช่วงปี 2509 ที่กระแสสงครามเวียดนามขึ้นสูงสุด จำนวนเที่ยวบินที่ออกจากฐานทัพไทยไปทิ้งระเบิดในเวียดนามอยู่ระหว่าง 875-1,500 เที่ยวต่อสัปดาห์ ระหว่างปี 2508-11 เฉพาะเครื่องบินจากฐานทัพโคราชและตาคลี ได้ทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือมากถึง 75 ตัน ขณะที่จำนวนทหารสหรัฐฯ ในไทยเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 48,000 นาย ในปี 2512

สำหรับในส่วนของนิสิตนักศึกษา มีคำกล่าวเปรียบเทียบในเวลาต่อมาว่าหลังการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ 2 ครั้ง เป็น "ยุคมืดทางปัญญา" งานวิจัยทางวิชาการและงานเขียนในแวดวงปัญญาชนจำนวนมากในเวลาต่อมา สะท้อนถึงสภาพการที่เรียกว่า "วัฒนธรรมยุคสายลมแสงแดด" ที่แยกตัวนิสิตนักศึกษาออกจากสภาพสังคมที่แวดล้อม กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยจำกัดอยู่ในวงแคบรอบๆ และเต็มไปด้วยกิจกรรมบันเทิง และพิธีกรรมที่ไม่ส่งเสริมให้ตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคมโดยทั่วไป

จนถึงปี 2508 สภาวการณ์ดังกล่าวได้มาถึงจุดอิ่มตัว เริ่มมีการรวมกลุ่มพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์สังคม และตั้งคำถามโดยกลุ่มนักศึกษาที่เป็น "ขบถ" ในรั้วมหาวิทยาลัย เริ่มจากชุมนุมวรรณศิลป์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานเขียนที่เป็นบทกวีหลากหลายรูปแบบที่มีลักษณะ "ทวนกระแส" ประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระใหม่ๆ เช่นเรื่องปัญหาสังคมที่เสื่อมโทรม สงครามและความยากจน บรรยากาศ "สายลมแสงแดด" ถูกชำแหละและเข้าสู่สภาวะ "ปฏิกิริยาแห่งยุคสมัย" แม้ว่ากิจกรรมบันเทิงรูปแบบเดิมจะยังมิได้หมดไปเสียทีเดียวก็ตาม

ในที่สุดการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2502 ก็เสร็จสิ้น และมีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2511" โดยมีวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้ง และห้าม ส.ส. เป็นรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้นายทหารที่คุมกำลังไม่ลงรับสมัครเลือก ตั้ง

ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม ก็มีการประกาศใช้กฎหมายพรรคการเมือง และกำหนดจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2512 หลังจากที่ว่างเว้นมาถึง 11 ปี

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าผู้สมัครของ "พรรคสหประชาไทย" ที่จัดตั้งโดยจอมพลถนอม ได้รับเลือกมากที่สุดคือ 76 คนจากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 219 ที่นั่ง แต่นั่นก็เพียงพอแล้วเพราะการซาวเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องทำร่วมกัน ระหว่างสภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภา ซึ่งประกอบด้วยคนของจอมพลถนอมฯ เกือบทั้งสิ้น และจอมพลถนอม ก็ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการรับรองโดยสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายก รัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นโดยรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลก็จะเป็นนายทหารคุม กำลัง เช่น จอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบกก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย ส่วนจอมพลถนอมฯ นั้นควบ 3 ตำแหน่งสำคัญ คือ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วก็ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย พันเอกถนัด คอร์มันตร์ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

รัฐบาลชุดที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2512 นี้ มีนายพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพครั้งที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารเมื่อ 16 กันยายน 2500 รวมอยู่ด้วยด้วย.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 6-13 พฤศจิกายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8