Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (42)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(11)

จอมพลสฤษดิ์ ตรวจการดับเพลิงที่ตรอกสลักหิน หัวลำโพง เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2503

ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ?

ในบทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) ให้ความสำคัญต่อการ "สร้างระบบการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ โดยจอมพลสฤษดิ์ฯ" หลังรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พิจารณาว่าเป็น "ระบบพ่อขุน" จากเนื้อหาในการกล่าวสุนทรพจน์ (?) หลายครั้งในระหว่างดำรงนายกรัฐมนตรี ที่อิงการปกครองในสมัยสุโขทัย:

สำหรับประชาชนนั้นได้ถูกจำกัดบทบาททางการเมืองลง และหากจะมีบทบาทได้ต้องดำเนินไปภายใต้การควบคุมดูแลหรือการยินยอมจากรัฐบาลเท่านั้น นอกจากนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยังเห็นว่า รัฐบาลเป็นผู้มีหน้าที่วางโครงการและกำหนดแนวทางต่าง ๆ ที่จะทำให้ประเทศทันสมัยและเจริญรุ่งเรือง ดังจะเห็นได้จากคำขวัญต่าง ๆ ที่เผยแพร่ออกมาทางวิทยุ โทรทัศน์และแผ่นป้ายขนาดใหญ่ เช่น "กินดี อยู่ดี มีงานทำ" หรือ "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ" เป็นต้น โดยที่รัฐบาลต้องตัดสินใจกระทำการต่าง ๆ อย่างเป็นอิสระเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการและความปรารถนาของประชาชน และจะต้องใส่ใจในความต้องการโดยตรงของประชาชน ทั้งในแผนระยะยาวและนโยบายต่าง ๆ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงถึง

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เชื่อว่า ระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะจะทำให้เกิดการแตกแยก ทางออกของปัญหานี้คือ ควรต้องให้อำนาจกับรัฐบาลมากขึ้น โดยเห็นว่ารัฐเป็นสถาบันที่กำหนดว่าอะไรคือเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญอยู่ที่ความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง แนวความคิดเหล่านี้ในทางปฏิบัติแล้ว จอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า ผู้นำคือนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องมีอำนาจที่เด็ดขาด โดยอำนาจตั้งอยู่บนหลักของความเป็นธรรม ซึ่งในสังคมไทยก็คือการทำหน้าที่ของพ่อที่ต้องปกครองบุตรให้ได้รับความสงบสุข [ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, หน้า 164]

กล่าวได้ว่านับตั้งแต่การทำรัฐประหารในพ.ศ.2501 เป็นความเคลื่อนไหวของคณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่จะนำประเทศไทยกลับไปสู่แนวความคิดแบบโบราณทั้งในด้านรากฐานของประเทศและรัฐบาล มีการแสวงหาความชอบธรรมในทางที่จะนำเอาระบบพ่อลูกสมัยสุโขทัย คือ พ่อบ้านหรือพ่อเมืองมาใช้ โดยที่จอมพลสฤษดิ์มักจะเทียบเคียงการปกครองแบบบิดากับบุตรและการปกครองที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร กับประเทศเสมอ ดังสุนทรพจน์ที่จอมพลสฤษดิ์ชอบกล่าวอยู่บ่อยครั้งที่สุด คือ "...นายกรัฐมนตรีก็คือพ่อบ้านของครอบครัวใหญ่ที่สุด มีความรับผิดชอบกว้างขวางที่สุด และต้องดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องร่วมชาติร่วมประเทศอย่างใกล้ชิดที่สุด" [จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, "สุนทรพจน์ในพิธีเปิดประชุมปฐมนิเทศงานพัฒนาการท้องถิ่น 24 ตุลาคม 2503," ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502 – 2504, หน้า 255.]

การให้เหตุผลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในการเสนอให้มีการจัดระเบียบการเมืองการปกครองของไทยในลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูกดังเช่นในสมัยสุโขทัยนั้น ก็คือการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองที่มีพื้นฐานอยู่บนประวัติศาสตร์และจารีตดั้งเดิมของสังคมไทย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เชื่อมั่นว่าเป็นการประยุกต์แนวความคิดประชาธิปไตยให้เข้ากับจารีตประเพณีการปกครองดั้งเดิมของไทยและวัฒนธรรมไทย [ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, หน้า 164] การนำเอาจารีตประเพณีดังกล่าวมาผสมผสานเข้ากับแนวคิดประชาธิปไตย ส่งผลให้จอมพลสฤษดิ์ถูกยกฐานะให้เป็นเสมือน "พ่อ" ของคนไทยทุกคน หรืออีกนัยหนึ่งมีฐานะเป็น "พ่อขุน" ที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นธรรมและความเมตตาที่ต้องปกครองครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดซึ่งก็คือชาติ และการเป็น "พ่อขุน" ยังทำให้จอมพลสฤษดิ์จำเป็นต้องมีหน้าที่ปกครอง "ลูก" ให้ได้รับความสุขอีกด้วย แนวความคิดดังกล่าวของจอมพลสฤษดิ์สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนในคำกล่าวเปิดการประชุมในการอบรมกำนัน 4 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนี้
"กำนันเป็นบุคคลสำคัญมากในสายการปกครอง เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับราษฎร เป็นสายสามพันธ์ระหว่างราษฎรกับรัฐบาล ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาด้วยความนิยมนับถือของราษฎรจริง ๆ เป็นผู้ที่รักษาระบอบการปกครองเก่าและของใหม่ให้ประสานกัน เพราะว่าประเพณีการปกครองของไทยเราแต่โบราณมาได้ถือระบบพ่อปกครองลูก เราเรียกพระมหากษัตริย์ว่า 'พ่อขุน' หมายความว่า เป็นพ่อที่สูงสุด ต่อมาก็มีพ่อเมืองคือผู้ว่าราชการจังหวัด ต่อไปถึงพ่อบ้าน คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในที่สุดก็ถึงพ่อเรือนคือหัวหน้าครอบครัว ซึ่งถือเป็นสำคัญมาก...แม้ในสมัยนี้จะได้มีระบบการปกครองเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น ไม่เรียกว่า 'พ่อ' เหมือนแต่ก่อน ข้าพเจ้ายังยึดมั่นนับถือคติและประเพณีโบราณของไทยเราในเรื่องพ่อปกครองลูกเสมอ ข้าพเจ้าเคยพูดบ่อย ๆ ว่าชาติเป็นเสมือนครอบครัวใหญ่ ผู้ปกครองไม่ใช่อื่นไกล คือหัวหน้าครอบครัวใหญ่นั่นเอง...ต้องถือว่าราษฎรทุกคนเป็นลูกหลาน ต้องมีความอารีไมตรีจิต เอาใจใส่ในทุกข์สุขของราษฎรเท่ากับเป็นบุตรหลานในครอบครัวของตัวเอง ตัวข้าพเจ้าเองไดัยึดมั่นในหลักการนี้เป็นที่สุดไม่ว่าจะเกิดทุกข์ภัยหรือเหตุการณ์สำคัญขึ้นที่ไหน ข้าพเจ้าพยายามไปถึงที่นั่น ดูแลอำนวยการบำบัดทุกข์ภัยด้วยตนเอง ข้าพเจ้าพยายามเข้าถึงราษฎรและเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของราษฎร เหมือนหนึ่งว่าเป็นครอบครัวของข้าพเจ้าเองเสมอ..." [จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, "คำกล่าวเปิดการประชุมในการอบรมกำนัน 4 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 สิงหาคม 2504," ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502-2504, หน้า 437-438]
หัวใจสำคัญของการปกครองบ้านเมืองในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ ขึ้นอยู่กับตัวผู้ปกครองหรือพ่อขุนซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง โดยที่ข้าราชการและประชาชนมีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายและรับเอาสิ่งที่เป็นความอุปถัมภ์จากรัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาล [ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, หน้า 165]
**********
การพิจารณาว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ "แกนกลาง" ของระบอบการปกครองหลังการรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นั้น เท่ากับเป็นการให้ความสำคัญไปที่ "ตัวบุคคล" ยิ่งกว่า "ระบบ" ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการศึกษาทางการเมืองโดยกระบวนการ "วิเคราะห์เชิงระบบ" ที่ชี้ให้เห็นว่าสำนักคิด "วิเคราะห์เชิงตัวบุคคล" มีบทบาทและฐานะครอบงำการซึกษาในระบบการเมืองการปกครองไทยมาช้านาน แม้แต่การพิจารณาว่าใน การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 นั้น เกิดจากความเรียกร้องต้องการทางอัตวิสัยของ คณะผู้ก่อการ หรือ คณะราษฏร เสียยิ่งกว่าความจำเป็นของพัฒนาการทางสังคม การเมืองการปกครอง และแม้กระทั่งทางเศรษฐกิจ หรือการปลดปล่อยพลังการผลิตจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจแบบทุนเสรีนิยม ที่ก้าวเข้ามาพร้อมกับการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ (ระบอบประชาธิปไตย).

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 28 มีนาคม-3 เมษายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8