Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (15)

จากกบฏพญาผาบภาคเหนือ
สู่มูลเหตุกบฏผู้มีบุญภาคอีสาน

ราษฎรชาวไร่ชาวนาเมื่อพ้นจากความเป็นไพร่ต้องเสียเงิน "ค่าราชการ" เพื่อไม่ต้องเข้าเวรใช้แรงงานให้ทางการ

พญาผาบไม่ยอมมอบตัวต่อข้าหลวงพิเศษ ซึ่งเท่ากับเป็นตัวแทนตัวแทนราชสำนักที่กรุงเทพฯหรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กำลังก่อรูปวางรากฐานและเสริมสร้างฐานอำนาจทางการเมืองการปกครองอยู่ในเวลานั้น คือ พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ มิหนำซ้ำยังวางแผนรวบรวมกำลังเข้าตีเมืองเชียงใหม่ในเช้าตรู่วันที่ 19 กันยายนพ.ศ. 2432 วางเป้าสังหารข้าราชการจากส่วนกลางและชาวจีนจากภาคกลางผู้เข้ามากอบโกยจากหัวเมืองล้านนา ซึ่งเดิมมีฐานะเป็นประเทศราชที่มีอำนาจการปกครองภายในอาณาเขตแว่นแคว้นของตน เป็นเจ้าภาษีนายอากรและเป็นนายทุน นายหน้า ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญคือน้อยวงษ์นั้นจะเอามาใส่ครกตำให้แหลก แต่แผนการล้มเหลว เนื่องจากในคืนก่อนถึงเวลาเข้าตีเมือง มีฝนตกหนักต่อเนื่อง น้ำท่วมสันทราย ราษฎรที่เข้าร่วมในกองกำลังของพญาผาบชวนกันหนีทัพกลับบ้านไปช่วยครอบครัวขนข้าวขนของหนีน้ำ

ในวันที่ 21 กันยายน เจ้าอุปราช เจ้าบุรีรัตน์ ยกกำลังออกปราบปรามจับกุมราษฎรและหัวหน้ากบฏได้โดยง่าย ส่วนตัวพญาผาบหนีไปได้พร้อมลูกเมีย หัวหน้า 12 คนถูกประหารชีวิต ราษฎรอื่นที่เข้าร่วมอีกหลายร้อยคน โดนเฆี่ยนคนละ 90 หวายบ้าง 60 หวายบ้าง และเบาสุด 30 หวาย แล้วปล่อยตัวไป พญาผาบหนีไปพึ่งเจ้าเมืองเชียงตุง และเข้ายึดเอาเมืองฝางใน วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2432 (สมัยนั้นเปลี่ยนศักราชในวันที่ 1 เมษายน) หนานอินต๊ะ เจ้าเมืองฝาง ยอมแต่โดยดี ยกเมืองฝางให้พญาผาบขึ้นปกครองแทน พญาผาบจึงรวบรวมชาวเขา ชาวไทใหญ่ ชาวฮ่อ และบริวารดั้งเดิมตั้งตนแข็งเมือง ประกาศแยกเมืองฝางเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อราชสำนักกรุงเทพฯ

กองทัพลำปางที่เจ้าหลวงลำปางส่งมาช่วยเจ้าหลวงเชียงใหม่ปราบกบฏในครั้งนี้ยกทัพไล่ตามไปถึงเมืองฝาง ปะทะกับกองทัพเมืองฝางใน วันที่ 16 มีนาคม ไปเผชิญหน้าทำศึกกันที่ผานกกิ่ว เขตเมืองพร้าว กองทัพฝางแตกพ่ายไป ลูกชาย 2 คนของพญาผาบตายในสนามรบ ส่วนตัวพญาผาบรอดตายหนีไปตั้งหลักที่เชียงตุงอีกครั้ง เจ้าเมืองเชียงตุงจึงตั้งให้เป็นเจ้าเมืองโก ผลที่สุด กบฏพญาผาบก็สลายตัวไปในปี พ.ศ. 2432 นั้นเอง

กบฏพญาปราบสงครามในครั้งนี้ ทำให้กรุงเทพฯหวาดระแวงและเริ่มไม่ไว้ใจพระเจ้าประเทศราชฝ่ายเหนือมากขึ้น เพราะมีความรู้สึกว่า พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไม่ค่อยจะกระตือรือร้นในการเข้าจัดการปราบปรามกบฏเท่าใดนัก เนื่องจากตอนแรกพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้ออกคำสั่งให้ เจ้าอุปราช (ซึ่งต่อมาคือ เจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ พระราชบิดาของ เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) นำทัพออกไปปราบพญาปราบ ซึ่งเป็นแม่ทัพในปกครองของเจ้าอุปราช เจ้าอุปราชถึงกับมีหนังสือตอบคำสั่งไปว่า "หากมีการศึกใด จักไปให้ แต่ศึกพญาปราบ ไม่ไป"

การลุกขึ้นก่อกบฏครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นผลมาจากการปฏิรูปการปกครองของกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ซึ่งกระทบกระเทือนถึงโครงสร้างทางการปกครองในระดับล่างทั้งหมด ซึ่งรวมถึงแคว่นและแก่บ้านด้วย ทั้งนี้เนื่องจากก่อนหน้าจะปฏิรูปการปกครอง ข้าราชการท้องถิ่นเหล่านี้เป็นกลุ่มที่เคยมีผลประโยชน์ต่อการเก็บรวบรวมภาษีอากรให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงเป็นผู้สูญเสียผลประโยชน์โดยตรง และรู้สึกว่ารัฐบาลกลางมีอำนาจเหนือเกือบจะครอบคลุมระบบและล้มล้างอำนาจรัฐแบบประเทศราชที่เป็นมาแต่เดิม หลักฐานที่สนับสนุนนั้นเห็นได้ชัดว่าผู้ร่วมก่อการกบฏครั้งนี้ล้วนเป็นข้าราชการระดับท้องถิ่นทั้งสิ้น นับจาก พระยาปราบสงคราม (พญาผาบ) แคว่นและแก่บ้าน ประกอบด้วย พระยาขัติยะ (แคว่นแม่คือ) ท้าวยาวิไชย (แก่บ้านป่าบง) พระยารัตนคูหา (แก่บ้านถ้ำ) พระยาจินใจ (แคว่นจ๊อม) พระยาชมภู (แก่หัวฝาย) ท้าวเขื่อนคำ (แคว่นกอก) และท้าวขัด ท้าวใจ ท้าวเขื่อนแก้ว ท้าวราช ท้าวขันคำ แสนเทพสุรินทร์ ฯลฯ

ต่อมาในปี ร.ศ.115 (พ.ศ.2439) รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ออกกฎหมายให้ราษฎรทุกคนเสียค่าราชการคนละ 6 บาท เป็นมาตรฐานเท่ากันทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้กล่าวอย่างถึงที่สุด อัตราดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นมาจากมาตรฐานเศรษฐกิจของภาคกลาง ซึ่งเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเงินตราแล้วอย่างชัดเจน จึงเป็นการยากลำบากที่จะใช้มาตรฐานดังกล่าวทั่วประเทศได้ เนื่องจากความลักลั่นของพัฒนาการทางการผลิตของแต่ละภูมิภาค ส่งผลให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ข้าหลวงต่างพระองค์เข้าจัดระบบภาษีทั้งหมด ตัวอย่างเช่นในปี ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน (ข้าหลวงใหญ่เมืองอุบลราชธานีระหว่าง ร.ศ. 112-130 หรือ พ.ศ. 2435-พ.ศ. 2453) ประกาศให้เก็บค่ารัชชูปการ (ค่าราชการ) ชายฉกรรจ์ผู้มีอายุระหว่าง 18-60 ปี คนละ 3 บาท 50 สตางค์ ยกเว้นคนพิการ ข้าราชการ เจ้านายระดับท้องถิ่นและครอบครัว ชาวต่างชาติ นักบวชและพระ ช่างผีมือและคหบดี

ถึงปี พ.ศ. 2442 กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงบัญญัติให้เก็บเงินค่าราชการจากชายฉกรรจ์เป็นคนละ 4 บาทต่อปี ในจำนวน 4 บาทนี้ให้กรมการพื้นเมืองหักเก็บไว้ 62.5 สตางค์ที่เหลือส่งให้พระคลังมหาสมบัติ เงิน 62.5 สตางค์ ต่อคนที่หักไว้นี้นายหมวด นายกองจะได้ไปเพียง 3.125 สตางค์เท่านั้น เป็นการก่อหวอดความไม่พอใจในหมู่นายหมวด นายกอง ตั้งแต่ตอนนั้น นอกจากนี้ภาษีผลผลิตก็ยังเพิ่มขึ้นด้วย เป็นอีกครั้งที่การปรับปรุงภาษีและระบบภาษีนี้เพิ่มภาระให้กับราษฎรหัวเมืองที่เป็นชาวนาชาวไร่อย่างมาก และนอกจากนี้ข้าหลวงเทศาฯ จากส่วนกลางยังมีคำสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นอีก อันมีผลโดยตรงต่อชาวนา ตัวอย่างเช่น ในปีเดียวกันนั้นเอง กรมหลวงสรรพสิทธิฯ กำหนดว่าการค้าขายสัตว์ใหญ่ต้องกระทำต่อหน้าข้าราชการ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชท้องถิ่นมีส่วนในการกำหนดราคาซื้อขายควาย ปศุสัตว์ ม้าและช้าง ฯลฯ อีกทั้งยังดำเนินการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมพื้นเมืองต่างๆ เช่น การสักยันต์ตามร่างกาย ซึ่งวัฒนธรรมกรุงเทพฯ มองว่าเป็นสิ่งป่าเถื่อน แต่คนพื้นเมืองทางภาคเหนือและภาคอีสานถือว่าเพื่อป้องโรคภัยไข้เจ็บและผีสาง

แม้กระนั้นก็ตาม ในช่วงที่รัฐสยามกำลังเปลี่ยนแปลงโดยรวม แต่สังคมอีสานนั้นก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางทั้งเศรษฐกิจและทางการเมืองที่เกิดขึ้นของรัฐสยามมากนัก ทั้งนี้ในทางสังคมยังคงรักษาลักษณะจารีตประเพณี ขณะที่ทางเศรษฐกิจเป็นสังคมแบบเลี้ยงตนเอง พึ่งตนเอง และสิ่งที่หมู่บ้านในสังคมอีสานได้รับผลกระทบในระยะแรก คือการเกิดขึ้นของโรงสี พ่อค้าชาวจีน การขยายตัวของระบบเงินตรา โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางเครื่องมือการผลิตบ้างเพียงเล็กน้อย

ขณะที่ผลจากการปฏิรูปการปกครอง สามารถรวมอำนาจทั้งทางการเมืองการปกครอง การเศรษฐกิจ และด้านการทหาร ซึ่งส่งผลให้เกิดเอกภาพความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในลักษณะรัฐชาติก็จริง คือ ก่อให้เกิดรัฐชาติ มีเอกภาพในการบังคับบัญชา แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ผู้เสียผลประโยชน์ทั้งทางอำนาจในการปกครองและการเงินจึงทำให้เกิดกบฏจากขุนนางท้องถิ่นเดิม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บเงินค่าราชการจากราษฎรในเวลาที่เกิดภัยแล้งติดต่อกัน 2-3 ปี ยังผลให้เกิดกบฏชาวนาหรือกบฏไพร่ โดยมีผู้นำที่อ้างตนเป็น "ผู้มีบุญ" หรือ "ผีบุญ" ตามมาอีกหลายระลอก.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 24-30 พฤศจิกายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (14)

ปฏิกิริยาจากเจ้าเมืองศักดินา :
กบฎพญาผาบเมืองเชียงใหม่

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ก่อนการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง พ.ศ. 2435 รัฐบาลมีอำนาจในการบังคับบัญชาแตกต่างออกไปตามระยะทางใกล้และไกลของพื้นที่ต่อส่วนกลาง เช่นหัวเมืองประเทศราชยิ่งไกลออกไปก็ยิ่งมีอำนาจของตนเองมากขึ้นเท่านั้น ราชสำนักที่กรุงเทพฯ หรือระบอบการปกครองใหม่ยังไม่อาจใช้อำนาจบังคับบัญชาอย่างแท้จริงแต่อย่างใด เมืองประเทศราชมีเพียงหน้าที่ในการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองเป็นเครื่องราชบรรณาการ ภาษีอากรต่างๆ ที่เก็บไม่ได้ต้องส่งมากรุงเทพฯ แต่อย่างใด ซึ่งเท่ากับว่าเมืองประเทศราชเหล่านี้จะสมัครใจขึ้นต่อราชสำนักสยามหรือไม่ก็ได้

ผลจากการเกิดราชอาณาจักรที่มีลักษณะเป็นรัฐประชาชาติคือ รูปแบบนครรัฐแบบโบราณก่อนการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง พ.ศ. 2435 ที่เคยรวมกันอย่างหลวมๆ ประกอบด้วยคนต่างเผ่าพันธุ์ ต่างวัฒนธรรมและภาษา ก็รวมกันเข้าเป็นรัฐชาติได้ โดยหัวเมืองต่างๆและบรรดาประเทศราชเดิมได้กลายเป็นจังหวัดหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม การบริหารก็มีลักษณะรวมศูนย์ โดยมีกระทรวงมหาดไทยที่รับผิดชอบการบริหารส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทย เป็นองค์ประธานที่สำคัญ พร้อมกับเสริมด้วยกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงการคลังมีหน้าที่เก็บภาษีหารายได้เข้ารัฐ และกระทรวงกลาโหมในด้านการจัดการกองกำลังทหารให้ทันสมัยและเป็นปึกแผ่นและเป็นเอกภาพขึ้นต่อพระมหากษัตริย์เพียงหนึ่งเดียว

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองส่วนท้องถิ่นจากระบบหัวเมือง ตลอดจนเมืองประเทศราชที่มีลักษณะการรวมเมืองขึ้นเข้ามาอยู่ภายในขอบเขตขัณฑสีมา เป็นมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศ เท่ากับเป็นการล้มเลิกเลิก "ระบบกินเมือง" การสืบทอดอำนาจปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตกทอดตามสายเลือดเช่นที่เป็นมาในระบอบจตุสดมภ์/ศักดินาเป็นอันสิ้นสุดลง เกิดรัฐประชาชาติเป็นครั้งแรกที่อำนาจการปกครองรวมศูนย์ที่ราชธานีของราชอาณาจักร หรือพูดอย่างถึงที่สุดคือภายใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในภูมิภาคนี้) หรือ "ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร" ซึ่ง สอ เสถบุตร (ชื่อเดิม สอ เศรษฐบุตร รับราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "รองเสวกเอก หลวงมหาสิทธิโวหาร" ด้วยวัยเพียง 26 ปี และดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง ต่อมาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นปลัดกรมองคมนตรี สังกัดกรมราชเลขาธิการในราชสำนัก) แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า royal protection โดยใช้ใน พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ฉบับ สอ เสถบุตร ซึ่งลักลอบจัดทำในคราวถูกคุมขังในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 ถูกถอดบรรดาศักดิ์ ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ที่ บางขวาง, เกาะตะรุเตา และเกาะเต่า

นับจากปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปรับปรุงการปกครองหัวเมืองโดย ยกหัวเมืองต่างๆที่เคยขึ้นกับสมุหกลาโหมและกรมท่ามาขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด ทำให้การบริหารราชการส่วนภูมิภาคสามารถรวมศูนย์และเป็นเอกภาพมากขึ้น การตั้งมณฑลเทศาภิบาลเป็นการเชื่อมต่ออำนาจการปกครองและอำนาจบังคับบัญชาจากส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาค ใช้ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ประสานงานระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับเจ้าเมืองต่างๆ ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยสามารถควบคุมข้าหลวงเทศาภิบาลให้ปฏิบัติตามนโยบายจากส่วนกลางไปในแนวทางเดียวกัน โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงเรียกประชุมข้าหลวงเทศาภิบาลทุกปี ทั้งมีประกาศต่างๆเกี่ยวกับการจัดการปกครองแบบเทศาภิบาล อาทิ ประกาศจัดแบ่งปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ร.ศ. 113 ซึ่งรวมหัวเมืองทั้งหมดไว้ใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย และในพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 และข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง ร.ศ. 117 ฯลฯ

ประกาศเหล่านั้น รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ใช้ปกครองหัวเมืองทั้งปวง โดยให้ราษฎรมีสิทธิในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน 10 หมู่บ้านมีสิทธิเลือกตั้งกำนันของตำบล ตำบลหลายตำบลมีราษฎร 10,000 คน รวมกันเป็นอำเภอ หลายอำเภอรวมกันเป็นเมือง หลายเมืองรวมกันเป็นมณฑล ทั้งหมดนั้นหมายถึงการยกเลิกระบบกินเมืองแบบศักดินา โดยให้ข้าราชการทุกคนรับเงินเดือนจากส่วนกลางคือกระทรวงมหาดไทย ส่วนประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ที่กำนันผู้ใหญ่บ้านจะได้รับ คือได้ส่วนลดจากการเก็บอากรค่าน้ำ อากรค่านา และเงินข้าราชการ

ผลกระทบจากการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะการเรียกเก็บเงินผลประโยชน์เข้ามายังส่วนกลาง โดยผ่านการจัดเก็บภาษีอากรแบบใหม่ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ผู้สูญเสียผลประโยชน์ ที่สำคัญคือกลุ่มเจ้าเมืองเก่า ซึ่งสนับสนุนให้เกิดการจลาจลขึ้นในแผ่นดิน เช่นกบฎพญาผาบ (ปราบสงคราม) ที่เชียงใหม่ใน พ.ศ. 2432 ซึ่งเริ่มจากขุนนางและเจ้านายฝ่ายเหนือเสียผลประโยชน์ ซึ่งเดิมก่อนที่พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากรจะทรงปฏิรูปการปกครองล้านนาระหว่าง พ.ศ. 2427-2432 นั้น เจ้านายฝ่ายเหนือเคยได้รับผลประโยชน์จากภาษีเต็มที่ แต่ระบบภาษีใหม่ ผลประโยชน์ต้องแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นเงินเดือนข้าหลวงฝ่ายไทยและใช้ในราชการ ส่วนที่ 2 สำหรับพระเจ้าเชียงใหม่และบุตรหลาน ส่วนที่ 3 คือส่วนที่เหลือทั้งหมดส่งไปยังรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ การขาดผลประโยชน์ดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่เจ้านายฝ่ายเหนือไม่พอใจวิธีแบ่งผลประโยชน์

เหตุการณ์การกบฏเริ่มจากในปี พ.ศ. 2432 ในสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าหลวงผู้ครองเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 7 (ระหว่าง พ.ศ. 2413-2440) น้อยวงษ์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าภาษีนายอากรผูกขาดภาษีหมาก ภาษีพลู มะพร้าว ข้าวเปลือก และวัวควาย ในแขวงเมืองเชียงใหม่ในอัตราปีละ 41000 รูปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าเจ้าเดิมถึง 16000 รูปี ทำให้น้อยวงษ์ต้องเก็บภาษีอย่างเข้มงวด เพื่อให้ได้เงินจนคุ้มทุนการผูกขาดสัมปทานภาษี ราษฎรเดือดร้อนกันไปทั่ว ในที่สุดความอดทนของราษฎรก็ถึงจุดสิ้นสุด ในเช้าวันที่ 3 กันยายน มีราษฎร 4 คนในหมู่บ้านหนองจ๊อม (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่) ไม่มีเงินเสียภาษีจึงถูกจับกุมใส่ขื่อมือเท้าทิ้งตากแดดตากฝนประจานที่กลางข่วงบ้านป้อแค่วน (บ้านกำนัน) อยู่ 4-5 วัน ราษฎรในพื้นที่โกรธแค้นมาก นำเรื่องไปปรึกษาพญาผาบ (พญาปราบสงคราม) แม่ทัพเมืองเชียงใหม่ ซึ่งปกครองแคว่นหนองจ๊อม แค่วนแม่คือ แคว่นกอก ที่ชาวบ้านนับถือในหมู่บ้านสันป่าสักซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน

พญาผาบไม่พอใจเป็นอย่างมากที่น้อยวงษ์ข่มเหงรังแกคนในปกครอง ประกอบกับราษฎรก็ทนไม่ไหว บุกเข้าปลดขื่อคาให้ชาวบ้านที่ถูกจับทั้งสี่คนออกทันที จากนั้นพญาผาบจึงรับเป็นหัวหน้า ไล่พวกเก็บภาษีออกไปจากพื้นที่ พร้อมกับประกาศว่า ต่อไปนี้ห้ามเข้ามาเก็บภาษีในเขตปกครองเด็ดขาด ราษฎรรวมกำลังกันได้ประมาณ 2,000 คน อาวุธครบมือ ทำพิธีสาบานดื่มน้ำสัจจะกันที่วัดฟ้ามุ่ย บ้านหนองจ๊อม พร้อมใจกันยกพญาปราบขึ้นเป็นเจ้าเมืองสันทราย มีข้าราชการพื้นเมืองระดับหัวหน้าที่เรียกว่า หมู่ป้อแคว่น แก่บ้าน ป้อหลวงบ้าน หลายบ้านมาร่วมสมทบเป็นกองทัพใหญ่ จากเริ่มต่อต้านการเก็บภาษี ก็ลามไปเป็นการแข็งเมือง ต่อต้านเจ้าหลวงและต่อต้านกรุงเทพ น้อยวงษ์ไปฟ้องเจ้าหลวง ในที่สุด พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ข้าหลวงพิเศษ ทรงออกคำสั่งลงวันที่ 15 กันยายน ให้พญาปราบเข้ามอบตัวภายใน 5 วัน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 17-23 พฤศจิกายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (13)

พัฒนาการของมณฑลเทศาภิบาล
รากฐานสมบูรณาญาสิทธิราชย์

https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhHlncWZ-egRYM7NeA0RxRUqVSpiVWk84MS5SHrcUkUpMHm3J-Ql8AVxt0rU6Ev3iQs34qy-veKLXPh14TwrJeHRlSJlI8iZscrfMcWS5vM3t8wQnY0L8vSH4mM2Q_0HTwbmYjapIot4w/w400-h323-no/
การประชุมเทศาภิบาล กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2439 แถวนั่ง 1. พระยาสุรินทร์ฦๅไชย (เทศ บุนนาค)  ต่อมาเป็นเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ 2. พระยาพงษาณุรักษ์ (แฉ่ บุนนาค) ต่อมาเป็นพระยาไกรเพชรัตนสงคราม 3. กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ 4. กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ 5. กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย แถวยืน 1. พระยาสฤษดิ์พจนกร (เสง วิริยศิริ)  ต่อมาเป็นพระยามหาอำมาตย์ 2. พระยาประสิทธิศัลยการ (สอาด  สิงหเสนี) 3. พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (เชย กัลยาณมิตร) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ 4. พระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร)

พ.ศ. 2439 ได้ตั้งมณฑลขึ้นใหม่อีก 2 มณฑล และจัดระเบียบมณฑลที่มีแต่เดิมให้เป็นมณฑลเทศาภิบาลอีก 1 มณฑล ดังนี้

        1. มณฑลนครศรีธรรมราช ประกอบด้วย 10 เมือง คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง ระแงะ รามันห์ สายบุรี และหนองจิก มีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองสงขลา
        2. มณฑลชุมพร (มณฑลสุราษฎร์ธานี) ประกอบด้วย 4 เมือง คือ ชุมพร ไชยา หลังสวน และกาญจนดิษฐ์ มีพระยาดำรงสุจริตมหิศวรภักดี (คอ ชิมก๊อง ณ ระนอง) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองชุมพร
        3. มณฑลบูรพา (มณฑลเขมรเดิม) เป็นมณฑลก่อน พ.ศ. 2437 เพิ่งมายกเป็นมณฑลเทศาภิบาลในปี พ.ศ. 2439 ประกอบด้วย 3 เมืองคือ พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ มีพระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เป็นข้าหลวงใหญ่คนแรก ช่วงแรก บัญชาการอยู่ที่เมืองพระตะบอง

        พ.ศ. 2440 ตั้งมณฑลไทรบุรี ประกอบด้วย 3 เมือง คือ ไทรบุรี ปลิส และสตูล มีพระยาฤทธิสงครามภักดี (อับดุล ฮามิด) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองไทรบุรี เป็นหัวเมืองไทยมลายูฝ่ายตะวันตกและ เป็นเมืองประเทศราช

        พ.ศ. 2442 ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ ประกอบด้วย 2 เมือง คือ เพชรบูรณ์และหล่มสัก มีพระยาเพชรรัตน์ราชสงคราม (เฟื่อง เฟื่องเพชร) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์

การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล จัดตั้งและปรับปรุงเรื่อยมาจน พ.ศ. 2449 จึงจัดได้เรียบร้อย มีทั้งหมด 18 มณฑล มณฑลที่ตั้งสุดท้ายคือ มณฑลจันทบุรีเพราะฝรั่งเศสยึดครองอยู่ เมื่อเป็นอิสระจึงได้จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2449 มณฑลเทศาภิบาลมีทั้งหมด ดัง นี้
1. มณฑลลาวเฉียง
2. มณฑลลาวพวน
3. มณฑลลาวกาว
4. มณฑลลาวกลาง
5. มณฑลเขมร
6. มณฑลภูเก็ต
7. มณฑลพิษณุโลก
8. มณฑลปราจีนบุรี
9. มณฑลราชบุรี
10. มณฑลนครชัยศรี
11. มณฑลนครสวรรค์
12. มณฑลกรุงเก่า
13. มณฑลฝ่ายตะวันตก
14. มณฑลนครศรีธรรมราช
15. มณฑลชุมพร
16. มณฑลปัตตานี
17. มณฑลไทรบุรี
18. มณฑลจันทบุรี
ในช่วงแรกของการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ในการปฏิรูปการปกครองหรือการเปลี่ยนผ่านจากระบอบจตุสดมภ์/ศักดินามาสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นอำนาจรัฐใหม่ที่มีศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหลายประการ นับจากปัญหาด้านการเงินสำหรับเงินเดือนของข้าราชการแบบใหม่ งบประมาณในการก่อสร้างสถานที่ทำการของราชการ ตลอดจนบ้านพักข้าราชการที่อาจส่งไปจากส่วนกลาง ซึ่งหาได้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่การปกครองแบบเดิม หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงวางรากฐานเพื่อรับมือกับปัญหานี้ไว้ตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ (ครั้งที่ 2) ในปี พ.ศ. 2416 แล้ว คือการปรับปรุง (ปฏิรูป) วิธีการเก็บภาษีอากรเพื่อให้ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามหัวเมืองต่างๆ โดยมีพนักงานไปจัดเก็บภายใต้การควบคุมของข้าหลวงเทศาภิบาล แทนการเก็บเงินค่าราชการแบบเดิม ซึ่งจะใช้การเกณฑ์แรงงานและการส่งส่วย การเปลี่ยนแปลงนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการปลดปล่อยทาสไพร่อันเป็นพลังการผลิตหลักในสังคมเกษตรกรรม เพื่อไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่ต้องการตลาดการค้าและการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อขายแทนที่การผลิตเพื่อใช้สอยในครัวเรือนหรือในชุมชนท้องถิ่น และประกอบกับรัฐบาลเองก็ต้องการเงินมากกว่าแรงงาน การเก็บเงินค่าราชการก็ได้เริ่มขึ้น โดยเริ่มต้นจากการเร่งรัดเงินส่วยจากมูลนายที่มีหน้าที่ในการรวบรวมเงินส่วยหรือเงินค่าราชการ เมื่อไม่มีเงินจ่าย มูลนายต้องคืนไพร่สมให้หลวงจนหมด (ไพร่หลวง) นโยบายนี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้ราษฎรในระดับรากหญ้ามากขึ้นทุกที เพราะพวกมูลนายไปเร่งรัดเอาเงินซึ่งเก็บมากบ้าง น้อยบ้าง ไม่เสมอกัน ใน ร.ศ.115 (พ.ศ.2439) จึงออกกฎหมายให้ราษฎรทุกคนเสียค่าราชการคนละ 6 บาทโดยเท่าเทียมกันเป็นมาตรฐานแต่นั้นมา

ปัญหาต่อมาคือปัญหาการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการรับใช้รูปแบบปกครองระบอบใหม่ ซึ่งรวมถึงกระบวนการฝึกฝนคนเพื่อเป็นขุนนางในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงโปรดฯให้ก่อตั้ง "โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน" ขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปี พ.ศ. 2442 โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ "พระเกี้ยว" มาเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน เพื่อฝึกหัดนักเรียนสำหรับรับราชการปกครองขึ้นในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนี้ จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการใกล้ชิด เพื่อเข้าศึกษางานในกรมมหาดเล็กก่อนที่จะออกไปรับตำแหน่งในกรมอื่นๆ ต่อมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนเป็น "โรงเรียนมหาดเล็ก" เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445

และสุดท้าย ปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนต้องใช้ความระมัดระวังและกุศโลบายในการรับมือแก้ไขคือ การเปลี่ยนแปลงที่ทรงริเริ่มนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนจนถึงขั้นสร้างความไม่พอใจแก่เจ้าเมืองเก่าที่เคยมีผลประโยชน์ มีอำนาจ โดยเฉพาะหัวเมืองที่ติดกับเมืองขึ้นของอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นอาจเกิดการต่อต้าน จนเจ้าอาณานิคมฉวยโอกาสเข้าแทรกแซงได้.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 10-16 พฤศจิกายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (12)

การปกครองส่วนภูมิภาค :
มณฑลเทศาภิบาลและข้าหลวง

https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjlG1h7cbRvF29TslBfeYt_j05XkTuDjGx4v-TWU4IuvqESBKFWDIufDYWbTwnUW0x2mQuefclJRt_gyePXnbBH9memONGCKQN2SmdXAQAT8zufqi9xU-fAA184KFThl_c6_LcNMa1usA/w400-h319-no/
การประชุมเทศาภิบาล กระทรวงมหาดไทย ครั้งแรก พ.ศ. 2438 (จากซ้ายไปขวา) แถวนั่ง 1. พระยาจ่าแสนยบดี (ไทย) 2. เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) แถวยืนแรก 1. พระยาสุรินทร์ฦๅไชย (เทศ  บุนนาค)  ต่อมาเป็นเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ 2. พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (สุข ชูโต) 3. พระยาประสิทธิ์ศัลการ (สอาด สิงหเสนี) 4. พระยาอภัยรณฤทธิ์ (บุศย์ บุญยรัตพันธ์) แถวยืนที่สอง 1. พระยาราชวรานุกูล (อ่วม) 2. กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) 3. กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ แถวยืนที่สาม 1. พระยาดัษกรปลาศ (อยู่) 2. พระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร) 3. พระยามหาอำมาตย์ (เส็ง วิริยศิริ)

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดระเบียบการปกครองส่วนกลางและกำหนดให้กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ควบคุมหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักรแล้ว ขั้นตอนต่อมาของการปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง เพื่อเป็นการกำกับดูแลหัวเมืองต่างๆตลอดจนสามารถควบคุมได้จากส่วนกลางอย่างแท้จริง ซึ่งในระบอบการปกครองแบบจตุสดมภ์/ศักดินาสวามิภักดิ์เดิมไม่สามารถทำได้ การปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคจึงเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2437 โดยรวมเมืองตั้งแต่สามเมืองขึ้นไปเป็นกลุ่มเมืองเรียกว่า มณฑลเทศาภิบาล โดยใช้ลำน้ำเป็นหลักบอกเขตมณฑล

ลักษณะการปกครองแบบเทศาภิบาล คือ การปกครองที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการประกอบด้วยข้าราชการทำหน้าที่รับและสนองนโยบายจากอำนาจการปกครองที่รวมศูนย์ที่ส่วนกลาง มีระบบการบังคับบัญชาเรียกว่าการเทศาภิบาล มีข้าราชการ (เดิมคือขุนนาง) จากส่วนกลาง (กระทรวง) ไปปกครองแต่ละมณฑล เรียกว่า "กองข้าหลวงเทศาภิบาล" ประกอบด้วย
1. ข้าหลวงใหญ่หรือข้าหลวงเทศาภิบาล เป็นหัวหน้าคณะปกครองดูแลข้าราชการ
2. ข้าหลวงมหาดไทย เป็นเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ การทะเบียนราษฎร์ และวางระเบียบข้อบังคับ คำสั่งทั้งปวงของข้าหลวงเทศาภิบาล
3. ข้าหลวงยุติธรรม มีหน้าที่ตรวจตราเร่งรัดคดีความทั้งมณฑล เพื่อให้การพิพากษาคดีรวดเร็ว สะสางคดีค้างเก่ามากมายให้เสร็จสิ้นไป และตั้งศาลชำระความอุทธรณ์ของศาลเมือง
4. ข้าหลวงคลัง มีหน้าที่เก็บและตรวจประโยชน์ของแผ่นดินซึ่งผู้ว่าราชการเมือง กรมการเมืองเรียกเก็บอยู่แต่ก่อน รวมทั้งรวบรวมผลประโยชน์ที่เคยตกเรี่ยเสียหายแต่ก่อนให้ได้มาเป็นของหลวง และจ่ายเงินเดือนพระราชทานแก่ผู้ว่าราชการเมือง กรมการเมือง
5. เลขานุการ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของข้าหลวงเทศาภิบาล
6. แพทย์ประจำตำบล มีหน้าที่ดูแลรักษาป้องกันโรคให้แก่ราษฎรของมณฑล
7. ผู้ช่วยเสมียนและคนใช้ จำนวนพอสมควรแก่งาน
ทั้งนี้ การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล มีการริเริ่มใช้มาแล้วก่อน พ.ศ. 2437 เริ่มจากหัวเมืองชายแดน เนื่องจากฝรั่งเศสกำลังเร่งขยายอำนาจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจุดมุ่งหมายในตอนแรกจึงเป็นการป้องกันพระราชอาณาจักรให้พ้นจากการคุกคามภายนอก และเพื่อให้การปกครองดำเนินไปโดยถูกต้องตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอย่างใหม่นั้น โดยในเบื้องต้นมี 6 มณฑล คือ

        1. มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ ประกอบด้วย 6 เมืองคือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ และเถิน (ภายหลังยุบเป็นอำเภอเถิน ขึ้นกับนครลำปาง เมื่อ พ.ศ. 2448) โดยมีเจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม ศรีไชยยันต์) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองเชียงใหม่
        2. มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร ประกอบด้วย 6 เมืองคือ อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม สกลนคร หนองคาย และเลย มีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่บัญชาการอยู่ที่เมืองอุดร
        3. มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน ประกอบด้วย 8 เมือง คือ อุบลราชธานี จำปาสัก ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ มีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่บัญชาการอยู่ที่เมือง จำปาสัก
        4. มณฑลลาวกลางหรือมณฑลนครราชสีมา ประกอบด้วย 3 เมืองคือ นครราชสีมา ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ มีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองนครราชสีมา
        5. มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา ประกอบด้วย 4 เมืองคือ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ และพนมศก (ปัจจุบันเป็นตำบล) มีพระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองพระตะบอง
        6. มณฑลภูเก็ต ประกอบด้วย 6 เมือง คือ ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ตะกั่วป่า พังงา และระนอง (ตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2418 แล้ว) มีพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุญนาค) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต

ต่อมาในปี พ.ศ. 2437 จัดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 4 มณฑลคือ

        1. มณฑลพิษณุโลก ประกอบด้วย 5 เมือง คือ พิษณุโลก พิจิตร พิชัย (อุตรดิตถ์) สวรรคโลก และสุโขทัย มีเจ้าพระยาสุรสีห์วิ ศิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองพิษณุโลก
        2. มณฑลปราจีน ประกอบด้วย 4 เมือง คือ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก และพนมสารคาม มีพลตรีพระยาฤทธิรงค์รณเฉท (สุข ชูโต) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองปราจีน
        3. มณฑลราชบุรี ประกอบด้วย 5 เมือง คือ ราชบุรี กาญจนบุรี ปราณบุรี เพชรบุรี และสมุทรสงคราม มีเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุญนาค) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองราชบุรี
        4. มณฑลนครราชสีมา เป็นมณฑลมีอยู่ก่อนแล้ว แต่เพิ่งได้รับการประกาศใน พ.ศ. 2437 มีพลตรีพระยาสิงหเสนี (สะอาด สิงหเสนี) เป็นข้าหลวงใหญ่

พ.ศ. 2438 โปรดเกล้าให้ตั้งขึ้นใหม่อีก 3 มณฑล และแก้ไขมณฑลที่มีอยู่แล้วให้เป็นแบบเทศาภิบาลอีก 1 มณฑล รวมเป็น 4 มณฑล คือ

        1. มณฑลนครชัยศรี ประกอบด้วย 3 เมือง คือ นครชัยศรี สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี มีพระยามหาเทพ (บุตร บุณยรัตพันธุ์) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองนครชัยศรี ต่อมาย้ายไปตั้งที่พระปฐม
        2. มณฑลนครสวรรค์ ประกอบด้วย 8 เมือง คือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาท ตาก อุทัยธานี พยุหะคีรี มโนรมย์ และสรรคบุรี มีพันเอกพระยาดัสกรปลาศ (ทองอยู่ โรหิตเสถียร) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองนครสวรรค์
        3. มณฑลกรุงเก่า (มณฑลอยุธยา) ประกอบด้วย 8 เมือง คือ กรุงเก่า พระพุทธบาท พรหมบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และอินทร์บุรี มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมุรพงศ์ศิริพัฒน์ เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่กรุงเก่า
        4. มณฑลภูเก็ต มีมาก่อนแล้วเพียงแต่ประกาศแก้ไขระเบียบและลักษณะการปกครอง ให้มี 6 เมืองตามเดิม.


พิมพ์ครั้่งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 3-9 พฤศจิกายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (11)

การเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง
ก่อนกบฏชาวนานาหรือกบฏผีบุญ

https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEi4115lhxVMw2s_MAtd_jbhUkYkkba3xR6VBo6soIgg421b9X0fzM8DeGCh7zOjcIi5YIHIFbTLMBFBU1Ke8wPPLZ8u6YLVFt8K9zdM2RF7nf_KgFwlLMzKZz66TSJq7oUch9pRK_Kajg/w400-h246-no/
เจ้านายเชื้อพระวงศ์ในรัฐมนตรีสภาและองคมนตรีสภา
ขั้นตอนในการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองเดิมจากระบอบ "จตุสดมภ์/ระบอบศักดินา" ที่อำนาจหาได้รวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ในระบอบ "ราชาธิไตย" ลำดับต่อมาหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในราชวงศ์จักรี ทรงปฏิรูประบบการเงินการคลังโดยสามารถจัดการให้ระบบภาษีอากรอยู่ภายใต้การจัดการของส่วนกลาง (ราชสำนัก) ตามมาด้วยการจัดการกับระบบทหารระบบ โดยยกเลิก "ระบบไพร่" ที่เจ้านายเชื้อพระวงศ์และขุนนางอำมาตย์สามารถมี "ไพร่สม" หรือ "ทหารส่วนตัว" ไปสู่ระบบเกณฑ์ทหารประจำการแบบตะวันตก กลายเป็นทหารของ "ส่วนกลาง" ที่ขึ้นต่อราชสำนักหรือพระมหากษัตริย์โดยตรง ประกอบกับเกิดการเคลื่อนไหว ร.ศ. 103 ซึ่งเจ้านายและขุนนางพยายามเคลื่อนไหวจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยเสนอระบอบการปกครองที่ "กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ"

ในปี พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าให้ดำเนินการในขั้นต่อไป ตามพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน โดยสรุปสาระสำคัญที่นำไปสู่การยกเลิกระบอบจตุสดมภ์ ที่การบริหารราชการแผ่นดินจำเป็นต้องผ่านขุนนางชั้นผู้ใหญ่หรืออำมาตย์ระดับสูงสุด  6 ตำแหน่ง คือ อัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง เสนาบดี 4 ตำแหน่งคือจตุสดมภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับตำแหน่งอัครเสนาบดีทั้ง 2 คือ
  1. สมุหนายกหรือกรมมหาดไทย ใช้ตราราชสีห์ เป็นตราประจำกรม หน้าที่หลักคือบังคับฝ่ายพลเรือน บังคับหัวเมืองทีขึ้นต่อสมุหนายก บังคับชำระคดีความในกรม
  2. สมุหพระกลาโหมหรือกรมกลาโหม ใช้ตราคชสีห์เป็นตราประจำกรม มีหน้าที่บังคับบัญชาฝ่ายทหาร บังคับหัวเมืองที่ขึ้นต่อสมุหพระกลาโหม และชำระคดีความในกรม
พระองค์ทรงอธิบายไว้ว่า กรมใหญ่ทั้งสองนี้ทำงานปะปนซ้ำซ้อนกัน ไม่ได้แบ่งแยกกันจริงๆเหมือนตำแหน่ง คือเรื่องเกี่ยวกับทหาร เมื่อมีราชการทหารในหัวเมืองของกรมมหาดไทยแทนที่จะใช้ทหารของสมุหพระกลาโหม ไปจัดการ กลับใช้ทหารของฝ่ายสมุหนายกในหัวเมืองนั้นเพราะเป็นผู้ที่รู้เรื่องในเมืองนั้นได้ดีกว่าฝ่ายกลาโหม หรือเมื่อมีศึกชายแดนหรือการคุกคามทางทหารจากมหาอำนาจตะวันตกที่เป็นเจ้าอาณานิคม ซึ่งต้องใช้กำลังมากๆ ก็ต้องเกณฑ์จากทั้งสองฝ่าย หน้าที่ที่แบ่งไว้แต่เดิมจึงหมดไป และอัครมหาเสนาบดีทั้งสองก็มีงานล้นมือกว่าตำแหน่งคือ เป็นทั้งเสนาบดีว่าการการเมือง ว่าการยุติธรรม ว่าการทหาร และว่าการการคลัง

ดังนั้น สำหรับการปรับปรุงการบริหารราชการในส่วนกลาง หรือการสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงโปรดฯให้ยกเลิก ตำแหน่งอัครเสนาบดีสอง รวมทั้งจตุสดมภ์อีกสี่ โดยการแบ่งการบริหารราชการออกเป็นกระทรวงตามแบบตะวันตก และให้มีเสนาบดีเป็นผู้ว่าการแต่ละกระทรวง กระทรวงที่ตั้งขึ้นทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2430 มี 12 กรม คือ

          1. กรมมหาดไทย บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาว (ในฐานะประเทศราษฎร์)
          2. กรมกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ หัวเมืองฝ่ายตะวันออก ตะวันตก และเมืองมลายู (ในฐานะประเทศราษฎร์)
          3. กรมท่า บังคับบัญชาว่าการฝ่ายการต่างประเทศ
          4. กรมวัง บังคับบัญชากิจการในพระราชวังและกรมใกล้เคียง
          5. กรมเมือง ว่าการเกี่ยวกับเรื่องตำรวจ (ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่าโปลิศ) และงานราชฑัณฑ์
          6. กรมนา กำกับดูแลการเพาะปลูก การค้าขาย ป่าไม้ บ่อแร่
          7. กรมพระคลัง กำกับดูแลการภาษีอากรและงบประมาณ
          8. กรมยุติธรรม บังคับศาลที่จะชำระความรวมทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา นครบาล อุทธรณ์ทั้งแผ่นดิน
          9. กรมยุทธนาธิการ จัดการกิจการทหารบก ทหารเรือ โดยมีผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือต่างหากอีกตำแหน่งหนึ่ง
          10. กรมธรรมการ กำกับดูแลเกี่ยวกับพระสงฆ์ การศึกษาในระบบโรงเรียน และการสาะรณสุขโดยผ่านทางโรงพยาบาลทั่วพระราชอาณาจักร
          11. กรมโยธาธิการ กำกับดูแลการก่อสร้าง ทำถนน ขุดคลองและการช่างทั่วไป รวมทั้งการไปรษณีย์ โทรเลข รถไฟ
          12. กรมมุรธาธิการ รักษาพระราชลัญจกรหรือตราแผ่นดิน กำกับดูและพระราชกำหนดกฎหมายและงานระเบียบสารบรรณ หนังสือราชการทั้งปวง

ภายหลังได้ยุบต่อมายุบเหลือ 10 กรม และในวันที่ 1 เมษายน 2435 ได้ยกฐานะกรมทั้ง 10 เป็นกระทรวง เจ้ากระทรวงเป็นเสนาบดี เสมอกันหมดและได้รับเงินเดือนประจำจากรัฐบาล โดยกรมยุทธนาธิการไปรวมกับกระทรวงกลาโหม และกรมมุรธาธิการไปรวมกับกระทรวงวัง คงเหลือเพียง 10 กระทรวง การเปลี่ยนแปลงอื่นคือ กรมเมืองเปลี่ยนเป็นกระทรวงนครบาล, กรมท่าเป็นกระทรวงการต่างประเทศ, กรมพระคลังเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ, กรมนาเป็นกระทรวงเกษตราธิการ กรมนอกจากนั้นคงใช้ชื่อตามที่เคยเป็นมา เสนาบดีทุกกระทรวงมีฐานะเท่าเทียมกัน และประชุมร่วมกันเป็น "เสนาบดีสภา" ทำหน้าที่ปรึกษาและบริหารราชการแผ่นดินตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมาย

การเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่ "ล้มล้างระบอบจตุสดมภ์/ศักดินา" ลงได้อย่างถึงรากคือการยุติการปกครองแบบเจ้าเมืองและ/หรือเจ้าประเทศราชลงในที่สุด เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมอบหมายให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยในระยะเริ่มต้น จัดแบ่งเป็น 3 กรม คือ กรมมหาดไทยกลาง มีหน้าที่ทั่วไป กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ มีหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้ายและงานด้านอัยการ และ กรมพลัมภัง มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองท้องที่ ทั้งนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำฯ ได้ทรงจัดระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่ เรียกว่า เทศาภิบาล แบ่งการปกครองเป็นมณฑล เมือง และอำเภอ

นอกจากนั้น ในปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนแปลงสภาที่ปรึกษาในพระองค์ จาก สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of state) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 เป็น "รัฐมนตรีสภา" ประกอบด้วยเสนาบดี หรือผู้แทนกับผู้ที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรวมกันไม่น้อยกว่า 12 คน จุดประสงค์เพื่อเป็นที่ปรึกษาและคอยทัดทานอำนาจพระมหากษัตริย์ แต่การปฏิบัติหน้าที่ในรัฐมนตรีสภาไม่กล้าที่จะโต้แย้งพระราชดำริ ส่วนใหญ่จะเห็นคล้อยตามพระราชดำริและนำไปสู่การปฏิบัติตามมากกว่าที่จะแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่น

สำหรับ ปรีวีเคาน์ซิล (Privy council) หรือ ที่ปฤกษาในพระองค์ ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น "องคมนตรีสภา" ประกอบขึ้นด้วยสมาชิกเมื่อแรกตั้งถึง 49 คน มีทั้งขุนนางที่เป็นสามัญชนตั้งแต่ชั้นหลวงถึงเจ้าพระยาและพระราชวงศ์ ทั้งนี้ องคมนตรีสภาจะมีสถานภาพรองจากรัฐมนตรีสภา เนื่องจากมติในองคมนตรีสภาเกี่ยวกับข้อราชการหรือการถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ ยังต้องนำเข้าที่ประชุมรัฐมนตรีสภาแล้วจึงจะเสนาเสนาบดีกระทรวงต่างๆ อีกชั้นหนึ่ง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 27 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8