Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนา ในสยาม-ไทย (69)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (2)

หะยีสุหลง ขอบคุณภาพจาก www.matichon.co.th
เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูล (บางส่วน) จากแหล่งข้อมูลต่างกัน จะนำเรื่องราวของ "หะยีสุหลง" ซึ่งเป็นชนวนเหตุของเหตุการณ์ "กบฏดุซงญอ" เชิงเปรียบเทียบจากมุมมองทั้งฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายไทยมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งในเบื้องต้นขอนำเสนอข้อมูลจากเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดย วรัญญา เพ็ชรคง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ คือ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต ได้ให้ข้อมูลของ "หะยีสุหลง" ไว้ในหัวข้อ "กรณีการจับตัวหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/กรณีการจับตัวหะยีสุหลง_อับดุลกาเดร์) ดังนี้
**********
กรณีการจับตัวหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์

คนรุ่นหลังอาจจะคุ้นเคยกับคนสกุล "โต๊ะมีนา" ในแวดวงการเมืองไทยค่อนข้างดี และคนในสกุลนี้ก็เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่อง หากเมื่อสืบย้อนไปก่อนหน้านั้น ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 บรรพบุรุษของคนในสกุลดังกล่าวคนหนึ่งที่ชื่อ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา ก็มีบทบาททางการเมืองโดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับของคนในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น้อย และถือว่าเป็นวีรบุรุษคนสำคัญคนหนึ่งก็ว่าได้ แต่ต่อสายตาของรัฐไทยแล้ว เขากลับถูกมองว่าเป็นผู้นำกบฏที่ทรงอิทธิพลต่อการที่จะทำให้เกิดปัญหาการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ออกเป็นรัฐอิสระ และในที่สุดเขาก็ถูกจับกุมตัวและหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เช่นเดียวกับกรณีทนายความสมชาย นีละไพจิตร ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อชาวมุสลิมแล้วหายตัวไปอย่างไร้ร่อยรอยเช่นกันในช่วงทศวรรษ 2540

ประวัติส่วนตัวของหะยีสุหลง

ในวัยเด็ก หะยีสุหลงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนปอเนาะ บ้านกรือเซะ ตำบลบานา ปัตตานี เป็นปอเนาะของโต๊ะครูแวมูซอ ที่โรงเรียนแห่งนี้เขาเริ่มได้รับการปูพื้นฐานความรู้ภาษามาลายู ภาษาอาหรับ และวิชาศาสนาอิสลาม

เมื่ออายุได้ 12 ปี บิดาส่งเขาไปศึกษาทางด้านวิชาศาสนาอิสลามที่นครมักกะห์ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย เขาได้มีโอกาสศึกษากับครูที่มีชื่อเสียงและเป็นนักปราชญ์ทางศาสนาอิสลามหลายคน หะยีสุหลงศึกษาภาษาอาหรับ คัมภีร์ และตำราอย่างแตกฉาน จนเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นเดียวกันและรุ่นหลัง จนมีเสียงเรียกร้องให้เปิดสำนักสอนศาสนาอิสลามขึ้นที่นครมักกะห์ เขากลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ จนสร้างลูกศิษย์ลูกหาได้เป็นจำนวนมาก

เมื่ออายุ 27 ปี หะยีสุหลงแต่งงานครั้งแรกกับนางสะบีเยาะห์ บุตรสาวของโต๊ะครูปะคอแอร์ในเมืองมักกะห์ แล้วภรรยาคนแรกก็เสียชีวิตในสองปีต่อมา เขาแต่งงานครั้งที่สองกับนางเจ๊ะเยาะห์ พร้อมๆ กับสถานะความเป็นครู และฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น แต่ในขณะที่เส้นทางการเป็นครูสอนศาสนากำลังดำเนินไปได้ด้วยดี ในด้านชีวิตครอบครัว เขาและภรรยาก็ไม่อาจจะทำใจกับการจากไปของบุตรชายคนแรกที่มีอายุแค่เพียงปีเศษได้ จึงต้องตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทยเป็นการชั่วคราว

ขณะที่หะยีสุหลงเดินทางกลับเมืองไทยในปี พ.ศ. 2470 หลังจากไปใช้ชีวิตยังต่างแดนเป็นเวลา 20 ปีเต็ม การเดินทางกลับในครั้งนี้ เขาไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าวิถีชีวิตของเขาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง จากสังคมของชาวมุสลิมนครมักกะห์ที่เคร่งครัดต่อศาสนาเป็นอย่างสูง เมื่อกลับมาถิ่นบ้านเกิดเขากลับพบว่าปัตตานีและสังคมมุสลิมในช่วงเวลานั้นยังคงสภาพเหมือนสังคมอาหรับในยุคศาสนาอิสลามเพิ่งเผยแพร่ ยังเป็นสังคมที่ล้าหลังและคนมุสลิมยังมีความเชื่อทางไสยศาสตร์และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของท้องถิ่นต่างๆ มากมาย ด้วยบริบททางด้านสังคมของชาวมุสลิมที่เป็นอยู่ดังกล่าว เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจปักหลักอยู่ที่ปัตตานีซึ่งเป็นถิ่นเกิดแทนการกลับไปใช้ชีวิตเช่นเดิมที่นครมักกะห์ดังที่เคยตั้งใจเอาไว้ และมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำหน้าที่เผยแพร่หลักคำสอนศาสนาอิสลามดังที่ตัวเองเคยร่ำเรียนและเป็นอาจารย์เผยแพร่ความรู้เหล่านี้อยู่ในนครมักกะห์มาก่อน ดังนั้นชั่วชีวิตที่เหลือของหะยีสุหลงทั้งหมดจึงตั้งใจที่จะทุ่มเทให้กับการเผยแพร่หลักคำสอนทางศาสนาให้กับชาวมุสลิมในพื้นที่เขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากที่สุด

เบ้าหลอมความคิดทางการเมือง

ก่อนที่หะยีสุหลงจะก้าวเข้ามามีบทบาททางด้านศาสนาและการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมากในทศวรรษ 2470-2490 หากย้อนกลับไปดูบริบทแวดล้อมทางการเมืองในโลกชาวอาหรับช่วงวัยรุ่นที่นครมักกะห์ จะพบว่าบริบททางการเมืองในขณะนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นมาก และส่งผลต่อความคิดความอ่านของเขาไม่น้อย

มักกะห์ในช่วงเวลาที่หะยีสุหลงกำลังเรียนและกำลังสอนอยู่นั้น ถือได้ว่าเป็นระยะแห่งการบ่มเพาะทางปัญญาและทางการเมือง โดยช่วงที่เขาเริ่มเข้าศึกษาที่นครมักกะห์เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมาอย่างต่อเนื่อง จากสองแนวคิดที่ทรงพลังที่กำลังขยายตัวอยู่ในดินแดนแถบนั้น นั่นก็คือลัทธิชาตินิยมและลัทธิฟื้นฟูอิสลาม โดยมีนครมักกะห์เป็นศูนย์กลางที่สำคัญ

โดยลัทธิชาตินิยมในช่วงนั้นมีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ ชาตินิยมในระบอบรัฐธรรมนูญของพวกเติร์ก และมีการปฏิวัติของกลุ่มยังเติร์กใน พ.ศ.2451 ให้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมในนครมักกะห์มากนัก อีกรูปแบบหนึ่งคือ ลัทธิรวมชาติอาหรับจากไคโร มักกะห์ และดามัสกัส เป็นความพยายามที่จะรวมชุมชนเผ่าอาหรับหลายกลุ่มเข้าเป็นประชาชาติอาหรับเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งมีผู้นำคนสำคัญอยู่ในนครมักกะห์ ส่วนลัทธิฟื้นฟูอิสลามมีหลายรูปแบบ เมื่อบรรดาชาวมุสลิมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไปมักกะห์จะค่อนข้างยอมรับนับถือความคิดนี้อยู่ในระดับหนึ่ง และเมื่อกลับมาก็มักจะมีเรื่องเล่าด้วยความชื่นชมเกี่ยวกับการปฏิบัติตนที่เคร่งครัดของชาวมุสลิมในแถบนั้น และลัทธิฟื้นฟูอิสลามหลายๆ รูปแบบที่เกิดขึ้น โดยลัทธิฟื้นฟูอิสลามเกือบทุกรูปแบบจะได้รับการกระตุ้นด้วย "อุดมการณ์วะห์ฮะบี" อุดมการณ์นี้ก็จะมีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่กลุ่มที่เห็นด้วยก็สามารถสร้างผู้นำทางการเมืองที่โดดเด่นขึ้นมาได้

ด้วยระยะเวลายาวนานที่หะยีสุหลงมาใช้ชีวิตอยู่ที่นครมักกะห์ ประสบการณ์ทางด้านการเมืองที่เขาได้รับจากปรากฏการณ์ในพื้นที่ที่เกิดขึ้น ทั้งอำนาจและแนวคิดของทั้งสองลัทธิที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่แถบนั้น ทั้งเล่ห์เพทุบาย ความเป็นพันธมิตร การทรยศหักหลังของกลุ่มต่างๆ การรุกคืบของอังกฤษเข้าหาดินแดนการปกครองในแถบอ่าวเปอร์เซีย เป็นต้น คงจะส่งอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของบรรดาผู้ที่ไปศึกษาในดินแดนแถบนั้นไม่น้อยรวมทั้งตัวหะยีหลงเอง

และยิ่งในวัยเด็กแค่เพียง 7 ขวบ ที่เคยเจอกับเหตุการณ์ที่บิดาถูกจำคุกเพราะต่อต้านระบอบการปกครองแบบใหม่ของรัฐไทยด้วยแล้ว คำถามถึงความถูกต้อง ความยุติธรรม คงจะก้องอยู่ในหัวของชายผู้นี้ตลอดมา และยิ่งเมื่อเขากลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับอำนาจของรัฐไทยด้วยแล้ว วิถีชีวิตของเขาจึงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง อันไม่อาจจะหลีกหนีไปไหนได้เลย
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 7-13 ธันวาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8